พิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญ


พิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญ จัดสร้างเพื่ออนุรักษ์ของพื้นบ้าน อาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ที่หอเรียนพระปริยัติธรรมหลังเก่า เดิมเรียกว่า “ตึกใหญ่” ชั้นบนจะจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด อย่างเช่น พระพุทธรูปเก่าตกแต่งฐานชุกชีลวดลายปูนปั้นปิดทอง พระพุทธรูปบูชาได้มาจากกรุเจดีย์ทรงกลมด้านหลังอุโบสถเก่า เป็นต้น ส่วนชั้นล่างจะจัดแสดงเครื่องใช้ที่ทางวัดได้เก็บสะสมมาตั้งแต่อดีต เช่น ชุดน้ำชา “จปร” จุลศักราช 1250 เครื่องถ้วยลายครามจากประเทศจีน ถาดเคลือบและเครื่องแก้วเจียระไนจากยุโรป กาน้ำชาแบบต่าง ๆ เป็นต้น

ที่อยู่:
วัดสรรเพชญ ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210
โทรศัพท์:
0-3431-1800
วันและเวลาทำการ:
ปิดปรับปรุง
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ประวัติวัดสรรเพชญ

ชื่อผู้แต่ง: สัญญา สุดล้ำเลิศ | ปีที่พิมพ์: 2545

ที่มา: กรุงเทพฯ: วีรพงษ์การพิมพ์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญ

“วัดตาเพชร”
“วัดสามเพชร” 
“วัดสรรเพชญ” 
 
ทั้ง 3 วัดนี้ที่จริงแล้วคือวัดเดียวกัน อยู่ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ตามตำนานของวัดแห่งนี้ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาล้อม และตีกรุงศรีอยุธยาแตก บรรดาเหล่าอำมาตย์น้อยใหญ่พาครอบครัวอพยพหนีเอาตัวรอด บางครอบครัวได้อพยพหนีข้าศึกมาอาศัยอยู่ที่ริมแม่น้ำนครชัยศรี และตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพจนได้เป็นคหบดี อย่างครอบครัวของอำมาตย์ ชื่อ “เพชร” เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ย้ายกลับไปกรุงศรีอยุธยาอีก เมื่อคิดจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษก็ไม่สะดวก ตาเพชรจึงคิดสร้างที่พักและนิมนต์ให้พระธุดงค์ที่ผ่านไปมาอยู่จำพรรษา เมื่อมีพระมาจำพรรษามากขึ้นจนเป็นที่พึ่งของชาวบ้านใกล้เคียงกลายเป็นวัดเรียกกันว่า “วัดตาเพชร” ต่อมา ตาเพชรได้นำเอาเพชรของตระกูลมาฝังไว้บนหน้าบันอุโบสถถึง 3 เม็ด จึงได้ชื่อวัดว่า “วัดสามเพชร” ในปี 2450 พระเถรานุเถระมาเยี่ยมได้ถามความเป็นมาของวัดจึงแนะนำให้เจ้าอาวาสตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดสรรเพชญ” ซึ่งแปลว่า “ผู้รู้จริง เห็นจริง" สืบมาจนทุกวันนี้
 
พระอธิการเกษม กนตสีโร เจ้าอาวาส ได้ให้สัมภาษณ์ว่าพิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญ ท่านเจ้าอาวาสได้คิดริเริ่มที่จัดสร้างเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่ออนุรักษ์ของพื้นบ้านที่ชาวบ้านบริจาคถวายวัดมา ทางวัดได้เก็บรักษาไว้เพื่อให้โยมรุ่นหลังได้ดู เพราะของที่มีอยู่เริ่มหายไป จึงคิดจะเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีกว่านี้ 
 
อาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ที่หอเรียนพระปริยัติธรรมหลังเก่า เดิมเรียกว่า “ตึกใหญ่” เป็นอาคาร 2 ชั้นที่อยู่คู่กับวัดมาแต่เดิมซึ่งมีอายุร่วม 100 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการซ่อมแซมหลายครั้ง ครั้งล่าสุดใช้งบประมาณของวัดสรรเพชญ 1 ล้านบาท บนอาคารชั้นบนจะจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด อย่างเช่น พระพุทธรูปเก่าตกแต่งฐานชุกชีลวดลายปูนปั้นปิดทอง ซึ่งสวยงามมากๆ พระพุทธรูปบูชาซึ่งได้มาจาก กรุเจดีย์ทรงกลมด้านหลังอุโบสถเก่า เป็นต้น
 
ส่วนชั้นล่างจะจัดแสดงเครื่องใช้ที่ทางวัดได้เก็บสะสมมาตั้งแต่อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ และของบริจาคจากชาวบ้าน เช่น ชุดน้ำชา “จปร” จุลศักราช “1250” สมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องถ้วยลายครามจากประเทศจีน ถาดเคลือบจากยุโรป เครื่องแก้วเจียระไนจากยุโรป กาน้ำชาแบบต่างๆ กาน้ำชาลายครามจากประเทศจีน กระโถนปากแตร และกระโถนใบบัวทองเหลือง เตียงโบราณ ทำด้วยไม้แกะสักทั้งหลังขนาดนอนได้ 2 คน มีเสา 4 มุม และบริเวณพื้นที่นอน ผู้ด้วยแผ่นไม้สักที่สามารถเปิด ปิด เพื่อเอาไว้ซ่อนสิ่งของสำคัญ ยังมีตู้พระธรรมขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยลายปิดทองรดน้ำน้ำ ตอนล่างเขียนภาพเรื่อง “ทศชาติชาดก” ตู้โบราณสมัย ร,ศ๓๒ก ๑๑๖ ปรากฏอักษรบนตู้ ความว่า “สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานในการพระศพ พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปัก ร, ศ๓๒ก ๑๑๖” นอกจากนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่ขุดพบในแม่น้ำท่าจีนอีกด้วย
 
นอกจากภายใน “ตึกใหญ่” แล้ว ยังจัดแสดงของสำคัญๆ ของวัดสรรเพชญซึ่งจัดแสดงอยู่ด้านนอกของตึกใหญ่ เช่น เรือสำปั้นจ้างของพระครูถาวรวิทยาคม (เพิ่ม) สำหรับเดินทางเรือไปตามกิจนิมนต์ เรือมาดเก๋ง ของพระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) ซึ่งอยู่ใต้ศาลาการเปรียญหลังใหม่ ธรรมาสน์ยอดมณฑป บนศาลาการเปรียญ ที่บูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2542
และสถาปัตยกรรม อย่าง “มณฑป” อาคารทรงไทยแบบจัตุรมุขยอดมณฑป หอระฆัง หอเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ และด้วยวัดสรรเพชญ อยู่ติดแม่น้ำ จึงมีศาลาท่าน้ำที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2465 อย่าง “ศาลาตาแสง ยายไผ่ สนบำรุง”
 
ท่านเจ้าอาวาสได้กล่าวกับเราว่า ปัญหาตอนนี้ในการดูแลรักษาสิ่งของเหล่านี้ คือ เรื่องความปลอดภัย ก่อนที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ จะต้องมีการบันทึกสิ่งของทุกชิ้นอย่างถูกต้อง และแจ้งให้ทางจังหวัด และตำรวจเพื่อทราบว่าทางวัดสรรเพชญมีของชิ้นใดบ้าง ถ้าหายไปจะได้ทราบได้ว่าเป็นของวัดสรรเพชญจริงๆ แต่อยากจะทราบจริงๆ เมืองไทย เมืองพุทธศาสนา ใครหนอช่างกล้าที่จะหยิบฉวยของจากวัดที่เป็นสถานที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนเช่นนี้ กฎแห่งกรรม ไม่ต้องรอถึงชาติหน้าหรอก ช่วยกันดูแล อนุรักษ์ให้รุ่นลูก รุ่นหลานเราได้ศึกษาหาความรู้กันจะดีกว่า
 
เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์  ทองคำ
สำรวจ : 9 พฤษภาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-