พิพิธภัณฑ์เดอลามอตต์ตั้งอยู่ที่ตึกอำนวยการศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นศูนย์สำหรับจัดอบรมสัมมนาสำหรับคาทอลิค และบุคคลทั่วไป พิพิธภัณฑ์อยู่ภายในห้องสมุดสำหรับผู้ที่จะมาค้นคว้าเกี่ยวกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค และหนังสือทั่วไป ด้านในสุดของห้องสมุดได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เดอลามอตต์ พิพิธภัณฑ์ตั้งชื่อตามพระสังฆราชองค์ที่เข้ามาเผยแผ่ และปกครองคณะมิสซังแห่งสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อพระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ วัตถุจัดแสดงมีทั้ง หนังสือเก่าที่ใช้เผยแพร่ศาสนา เครื่องประกอบพิธีศาสนา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระสังฆราชองค์ต่างๆ ได้รับจากทางวาติกัน
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์เดอลามอตต์
ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค ได้กำเนิดขึ้นมาได้ 2011 ปีแล้ว และนอกจากความเชื่อที่มีผู้ยอมรับนับถือเป็นคริสต์ศาสนิกชนกันทั่วโลก อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือประวัติศาสตร์ของการเผยแผ่ศาสนา ในประเทศไทยนั้นถ้านับจุดเริ่มต้น น่าจะเป็นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชองค์ที่เข้ามาเผยแผ่และปกครองคณะมิสซังแห่งสยามชื่อพระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ อันเป็นที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้พิพิธภัณฑ์เดอลามอตต์ตั้งอยู่ที่ตึกอำนวยการศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นศูนย์สำหรับจัดอบรมสัมมนาสำหรับคาทอลิค และบุคคลทั่วไป พิพิธภัณฑ์อยู่ภายในห้องสมุดสำหรับผู้ที่จะมาค้นคว้าเกี่ยวกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค และหนังสือทั่วไป ด้านในสุดของห้องสมุดได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เดอลามอตต์ ส่วนแรกเป็นรูปภาพของสังฆราชท่านต่างๆ ตั้งแต่ท่านพระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ สังฆราชปัลลือ สังฆราชลาโน และสังฆราชท่านต่อๆ มาที่มาปกครองอย่างต่อเนื่องแต่ละท่านก็จะมีการบรรยายประวัติความเป็นมาและผลงานของท่าน
ในส่วนจัดแสดงใกล้เคียงกันจัดเป็นตู้หนังสือเก่า ที่ใช้ในการเผยแผ่ศาสนา มีหนังสือที่เขียนแบบภาษาคาราโอเกะหรือที่เรียกว่าภาษาวัด หากอ่านตัวหนังสือภาษาอังกฤษทั้งหมดจะออกเสียงเป็นภาษาไทย ถูกจัดพิมพ์ขึ้นในยุคที่ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้มีการตีพิมพ์ความเชื่อศาสนาอื่นเป็นภาษาไทย เล่มที่โดดเด่นก็คือสัพพะพะจะนะพาสาไทย(เล่มจำลอง) หรือดิกชันนารีเล่มแรกของไทย ที่พระสังฆราชปาลเลอกัว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เรียบเรียงภาษาไทยทุกคำแปลเป็นภาษาลาติน ฝรั่งเศสและอังกฤษ และหนังสือสอนศาสนาอีกหลายเล่มซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้บางเล่มนั้นเริ่มโดนมอดปลวกแทะเสียหายไปบ้างแล้วเนื่องจากยังไม่ทราบวิธีบำรุงรักษาที่ถูกต้อง
ถัดมาเป็นเครื่องทำแผ่นศีลหรือแผ่นขนมปัง ที่ทำขึ้นโดยแม่ชีลับ ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาหรือพิธีมิซซา พระสงฆ์ผู้ทำพิธีจะเสกแผ่นขนมปังแทนเนื้อของพระเยซูและเสกเหล้าองุ่นให้กลายเป็นเลือดของพระองค์สำหรับคนที่มาร่วมพิธีได้รับไป ขั้นตอนและวิธีทำขนมปังมีป้ายบอกขั้นตอนไว้อย่างละเอียด
ส่วนต่อมามีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระสังฆราชองค์ต่างๆ ได้รับจากทางวาติกันเพื่อแต่งตั้ง เมื่อท่านสิ้นชีวิตของเหล่านั้นจะเก็บรวบรวมมาไว้ที่ส่วนกลาง ของส่วนใหญ่จะเป็นชุดของที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมเช่นจอกกาลิกสำหรับใส่เหล้าองุ่น กล่องใส่แผ่นศีล ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ล้วนแล้วแต่มีมีความงดงามเข้าชุดกันเป็นอย่างดี
ตรงกลางห้องมีโต๊ะตัวใหญ่ตั้งด้านหลังมีภาพพระสันตะปาปาจอนปอลที่ 2 ครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อ ปีค.ศ. 1984 หรือ พ.ศ. 2527 เป็นโต๊ะที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก เพราะท่านได้ลงนามเสด็จเยือนไทยที่โต๊ะนี้ เมื่อท่านสิ้นพระชนม์แล้วหากท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักบุญราศี โต๊ะตัวนี้ก็จะกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ทันที
เชิงเทียนที่มีมากมายในห้องก็มีความหมายเช่นกัน ในสมัยโบราณยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้การทำพิธีในโบสถ์ต้องใช้เทียน ทำให้เชิงเทียนขนาดใหญ่เป็นของจำเป็น ทั้งไว้อ่านคัมภีร์และทำพิธีต่างๆ เชิงเทียนรุ่นแรกๆ นั้นนำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส รูปแบบคือมีสามขาและสลักลวดลายงดงาม อันที่เก่าแก่อายุเป็นร้อยปีนั้นมาจากวัดลำไทร จ.ปทุมธานี และเชิงเทียนรุ่นใหญ่ซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วจากหลายๆ โบสถ์ก็ได้ถูกส่งเข้ามาเก็บที่ส่วนกลางและได้นำมาจัดแสดงเป็นบางชิ้นเท่านั้น หลังจากหมดยุดเชิงเทียนอันใหญ่ก็ได้พัฒนามาเป็นเชิงเทียนขนาดเล็ก เป็นลวดลายดอกไม้พรรณพฤกษาหรือกิ่งข้าวบาเล่ห์ 7 กิ่ง และ 9 กิ่ง ซึ่งมีความหมายแฝงคือ แบบ 7 กิ่ง หมายถึง วันของชาวยิว และเป็นสัญลักษณ์ถึง 7 วัน แห่งการสร้างโลก บางแห่งในพระคัมภีร์ แปลว่า “เชิงตะเกียง” เชิงเทียนแบบ 9 กิ่ง ใช้โดยชาวยิวในพิธีฉลองของ HANUKKAH ที่บางครั้งเรียกว่า งานฉลองความสว่าง และพิธีฉลองของการอุทิศ มันคือชิ้นส่วนของเครื่องตกแต่งวิหาร เชิงเทียนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่คุ้นเคยในจารีตประเพณีของชาวคริสต์ แทนพระเยซูคริสต์หมายถึง “ความสว่างของโลก” สัญลักษณ์ของตะเกียงที่จุดอยู่ คือสิ่งที่มีปรากฏในประวัติศาสตร์ของความรอดพ้น และมันยังเป็นสัญลักษณ์ของ “เสาเพลิง” ซึ่งส่องสว่างหนทางให้แก่ประชากร ยิ่งไปกว่านั้น เชิงเทียน 7 กิ่ง ยังหมายถึงกษัตริย์ดาวิด ผู้ได้รับการเจิมโดยพระจิต พระองค์คือ “ตะเกียงของอิสราเอล”
เชิงเทียนสำคัญที่น่าสนใจคือเชิงเทียนพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เนื่องในงานสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกโบสถ์สำคัญจะได้รับเชิงเทียนนี้ 1 คู่ พร้อมใบประกาศจากพระราชวัง
ของใช้อีกอย่างที่สำคัญของพระสังฆราชที่นำมาจัดแสดงคือไม้เท้า หรือคฑาที่ใช้ทำพิธี แต่ละอันจะมีตราสัญลักษณ์ตามชื่อของท่านสังฆราชแต่ละคน ซึ่งทางวาติกันเป็นคนแต่งตั้งให้ ซึ่งท่านยวง นิตโย เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชจากทางสำนักวาติกัน และเนื่องจากท่านเป็นนักเขียนที่มักใช้นามปากกาว่า “ผู้หว่าน”จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อของศูนย์แห่งนี้ เพื่อรำลึกและแสดงความเคารพแก่ท่าน
ส่วนกลางของห้องมีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์สมัยโบราณ เนื่องจากพระสงฆ์สมัยก่อนต้องเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาและบางคนเคยเป็นแพทย์มาก่อน อาจใช้การรักษาโรคช่วยเหลือคนพื้นเมืองเพื่อแสดงความโอบอ้อมอารีและชักชวนคนให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการเผยแผ่ศาสนาที่น่าสนใจ
สิ่งที่พิพิธภัณฑ์รวบรวมไว้ได้ค่อนข้างละเอียดคือเครื่องแต่งกายของพระสงฆ์และพระสังฆราชในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งแต่ละชิ้นมีความหมายแฝงอยู่ทั้งสิ้น เครื่องแต่งกายของพระเหล่านี้ในยุคแรกจะไม่มีการเก็บไว้เพราะจะถูกเผาทำลายไปพร้อมกับเจ้าของ มาในยุคหลังจึงได้เริ่มเก็บเพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์และทำพิพิธภัณฑ์ ชุดที่นำมาจัดแสดงเช่น กาซูลาหรืออาภรณ์ชิ้นนอกของพระสังฆราชใช้ใส่ในพิธีมิซซา ผ้าคลุมไหล่ เชือกคล้องคอ สร้อยกางเขน มาลาสังฆราช บิเรตต้า ซึ่งมีคำอธิบายและความหมายต่างๆ อธิบายไว้อย่างชัดแจ้ง
ส่วนในสุดของห้อง จำลองแท่นประกอบพิธีในโบสถ์ยุคต่างๆ ซึ่งยุคแรกพระผู้ประกอบพิธีจะหันหน้าเข้าหารูปปั้นพระเยซูและหันหลังให้สัตบุรุษ ไม่มีการพูดคุยกัน ยุคต่อมาจึงเริ่มหันหน้ามาหาผู้คนและพูดคุยหรือเทศน์แบบเห็นหน้าเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง ตลอดจนห้องสารภาพบาป
เครื่องใช้ของพระที่น่าสนใจคือชุดประกอบพิธีเคลื่อนที่ ซึ่งจำลองแท่นพิธีลงในกล่องหนึ่งใบ กางออกมาด้านในจะมีแท่นวางของ จอกกาลิกใส่เหล้าองุ่น ตลับเล็กใส่แผ่นศีล ไม้กางเขน หรือแม้แต่ออแกนเครื่องดนตรีก็เป็นแบบเคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าพระสงฆ์จะเดินทางไปที่ใดก็สามารถประกอบพิธีได้ ด้านข้างของห้องตู้ไม้เล็กๆ ใบหนึ่ง เมื่อเปิดออกมากลายเป็นแท่นสวดภาวนาของคริสเตียนหญิงคนหนึ่ง ในยุคที่ประเทศไทยยังไม่เปิดกว้างทางศาสนา จนทำให้ต้องแอบซ่อนความเชื่อทางศาสนาไว้
อีกส่วนหนึ่งคือพระธาตุศักสิทธิ์ของนักบุญต่างๆ ในประเพณีของคริสต์ มีการใช้ประโยชน์ของร่างกาย หรือส่วนของร่างกายของนักบุญหลังจากที่ตายไปแล้ว เสื้อผ้าหรือสิ่งของที่เขาใช้ในชีวิต หรือสิ่งของต่างๆ เช่น ส่วนของเสื้อผ้าที่เขาได้สัมผัสที่ยังเหลืออยู่ หรือสุสาน พระธาตุมีด้วยกัน 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ส่วนของร่างกายนักบุญซึ่งเป็นชนิดที่ถูกวางไว้ในแท่นหิน ชั้นที่ 2 ส่วนของเสื้อผ้าหรือสิ่งอื่นๆที่ใช้ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ชั้นที่ 3 คือวัตถุอื่นๆ การบูชาพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น คือสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ซากศพหรือพระธาตุเหล่านี้จะต้องไม่นำมากราบไหว้โดยมิได้พิสูจน์
ส่วนด้านใกล้ทางออกเป็นภาพวาดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่หน้าสำนักวาติกัน เป็นภาพวาดจำลองเหตุการณ์ที่วาดขึ้นจากจินตนาการของพระสงฆ์ เนื่องจากครั้งพระองค์เสด็จประพาสยุโรปและเยือนนครวาติกันไม่ได้มีการบันทึกภาพถ่ายไว้ แต่หลักฐานการเสด็จเยือนที่พระสงฆ์ชั้นสูงได้ไปเห็นคือแผ่นหินสลักชื่อของพระองค์ที่ประดิษฐานไว้ที่จุดสูงสุดของอาคารที่วาติกัน เพื่อเป็นการให้เกียรติอันสูงสุดแก่พระมหากษัตริย์ของไทย
นอกจากนี้ยังมีสิ่งของจัดแสดงที่มีรายละเอียดอีกมากมาย ที่บางครั้งป้ายบรรยายก็ไม่สามารถเล่าได้หมด จึงนับว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะเป็นคลังความรู้ที่ดีของผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันแคทอลิค ที่เข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้น แต่ในแง่ของพิธีกรรมนั้นต้องเป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าไปก่อนระดับหนึ่งจึงจะเข้าใจถึงเครื่องประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งแต่ละชิ้นมีคุณค่าทั้งในแง่ศิลปะ ความเชื่อ และวัฒนธรรม
มัณฑนา ชอุ่มผล เขียน/ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก: การสำรวจเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เดอลามอตต์
หลังจากพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ (Mgr Lambert de la Motte) สังฆราชในนิกายโรมันคาทอลิก เข้ามายังสยามในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๖๒ ต่อมาอีกกว่าสามร้อย นามของท่านก็ได้กลายมาเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อัครมณฑลกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในสิบของสังฆมณฑลในประเทศไทยปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ที่นี่แสดงเรื่องราวในขอบข่ายครอบคลุมราวห้าสิบวัดในสังกัดทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ศาสนาคริสต์ คริสตศาสนา
พิพิธภัณฑ์สงฆ์วัดเทียนดัด
จ. นครปฐม
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดบางหลวง
จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยและเมืองมายา
จ. นครปฐม