ที่อยู่:
เลขที่ 134 หมู่ที่ 3 บ้านดงประโดก ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน 7.00-20.00 น. (โปรดติดต่อล่วงหน้าสำหรับการทำกิจกรรมลงมือปฏิบัติ)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
ผ้าทอไท-ยวน, ม้าไม้จำลอง (ในพิธีแห่นาคม้าไม้), งานแทงหยวก, ศิลปะการตัดกระดาษ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์อนุรักษ์ไท-ยวน
เอกสารประชาสัมพันธ์ของชมรมไท-ยวน จังหวัดพิษณุโลก ระบุไว้ว่า พระบาทสมเด็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเมืองหลวง น่าน ลำปาง เชียงใหม่ และเวียงจันทน์ ขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน ส่งผลให้ชาวไท-ยวนบางส่วนเดินทางมาพำนักในบริเวณบางขุนพรหม กรุงเทพ และเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดราชบุรีในระยะต่อมา
ที่ฟังเขาเล่า พ่อคุณแม่คุณคิดถึงบ้าน จะกลับเชียงแสน อยู่ราชบุรีนั้นแห้งแล้ง อยากกลับบ้าน เอาวัวเอาควายมา ใช้เกวียน บางคนไปเจอที่ทางเหมาะ ก็อยู่ตรงนี้ อยู่นครสวรรค์ก็มี อยู่พิจิตรก็มี ที่นครสวรรค์ อยู่ที่ท่าตะโก ส่วนที่พิจิตร ที่เนินปอทับค้อ เท่าที่รู้มา แต่ว่าส่วนใหญ่ คนในตำบลสมอแขเป็นไท-ยวน แต่ว่าจะแตกออกไปอยู่หน้าเมือง โคกมะตูมก็มี แล้วก็เขาสมอแครง เนินสะอาด บ้านแผ่ว แตกกันมา เจอตรงไหนมีที่ทางก็เอากันเลย
แม่สิริพันธ์ เอี่ยมสาย เลขารุการชมรมไท-ยวน จังหวัดพิษณุโลก เกริ่นในช่วงเริ่มต้นบทสนทนาแสดงให้เห็นเส้นทางการเดินทางของคนไทยเชื้อสายไท-ยวน ที่แตกออกจากเมืองเชียงแสน และบางกลุ่มนั้นมาตั้งถิ่นฐานในตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี 4 หมู่บ้านสำคัญของชาวไท-ยวนในปัจจุบัน ได้แก่ บ้านลาดบัวขาว บ้านดงประโดก บ้านสมอแข และบ้านกรมธรรม์ ที่คงสืบทอดเอกลักษณ์การดำเนินชีวิตของชาวไท-ยวน จนกระทั่งมีการจัดตั้งชมรมที่ตั้งขึ้น ณ บ้านดงประโดก
ชมรมไท-ยวน จังหวัดพิษณุโลกและศูนย์อนุรักษ์
การจัดตั้งชมรมไท-ยวนมีวัตถุประสงค์สำคัญ ในการ “ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน, อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในคงอยู่ในชุมชน, ปลูกจิตสำนึก เยาวชนและประชาชนเกิดความตระหนัก และเข้ามามีสส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน และให้เด็กเยาวชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ความสำคัญ เรียนรู้วิถีชีวิตของท้องถิ่นและเกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตน” วัตถุประสงค์ทั้งสี่ประการนี้ได้รับการระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน และสะท้อนเห็นว่า “เยาวชน” เป็นใจกลางของการทำงานเพื่อความเข้าใจและการสืบทอดวัฒนธรรม
ฉะนั้น จึงสัมพันธ์กับการทำงานของชมรมที่เปิดพื้นที่ให้ศูนย์อนุรักษ์เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ มากกว่าจะเป็นสถานที่สำหรับจัดเก็บวัตถุทางวัฒนธรรมหรือเครื่องใช้พื้นบ้านในอดีต ศูนย์อนุรักษ์ตั้งอยู่ในบ้านพักส่วนบุคคลของพ่อสนั่นและแม่สิริพันธ์ สองพี่น้องที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งชมรมไท-ยวนจังหวัดพิษณุโกล โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกชมรมในการพัฒนาศาลา เพื่อเป็นสถานที่ต้อนรับและทำกิจกรรม แม่ ๆ ที่อาศัยการฝึกฝนทอผ้าจากครูเชื้อไท-ยวนจากจังหวัดราชบุรี จะมาทอผ้าอยู่เนื่อง ๆ ในบริเวณศูนย์อนุรักษ์ และยังมีส่วนช่วยในการให้ความรู้กับผู้ที่มาเยือน
นอกเหนือจากกี่ทอผ้าและทักษะการทอที่ผู้ชมสามารถศึกษาได้จากช่างทอผ้าแล้ว ยังมีมุมจัดแสดงภาพถ่ายบุคคลที่เป็นเสมือนบรรพชนที่บุกเบิกบ้านไท-ยวนในตำบลสมอแข เช่น ปู่ทวดน้อย ดอนตุ้มไพร ต้นตระกูลดอนตุ้มไพร พ่อคุณโห้ สอนสิทธิ์ แม่คุณปอง ดอนตุ้มไพร ป้าสวน จินดาเครือ โดยระบุช่วง พ.ศ. ที่ย้ายถิ่นฐานมาในจังหวัดพิษณุโลกในช่วงปลายทศวรรษ 2480 ภายในศาล ยังจัดแสดงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลาย ๆ วาระ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสิ่งที่สมาชิกชมรมให้ความสำคัญ
ใกล้กับศาลาดังกล่าว ปรากฏป้ายบอร์ดนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีไท-ยวน ในลักษณะเหมือนกับซุ้มขนาดย่อมที่มุงด้วยใบตองตึง อันได้แก่
ลำดับแรก ประวัติไท-ยวนบ้านสมอแขที่เคลื่อนย้ายมาจากเชียงแสน กรุงเทพ และราชบุรี ตามลำดับที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
ลำดับต่อมา มรดกแห่งวัฒนธรรม “แห่นาคม้าไม้” ที่เป็นประเพณีการแห่นาคที่นิยมจัดกันหนึ่งถึงสองวัน เพื่อพานาคขอขมาผู้อาวุโสในชุมชน ซึ่งนับวันจะมีการปฏิบัติที่ลดน้อยลง ด้วยเพราะต้องเสียค่าอุปกรณ์ในการจัดทำม้าไม้และช่างไม้ที่มีทักษะในชุมชนลดจำนวนลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ภายในศูนย์อนุรักษ์ ผู้ชมสามารถชมม้าไม้จำลองพร้อมกับเรื่องเล่าที่แม่สิริพันธ์ถ่ายทอดให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของประเพณี
จากนั้น ผ้าทอไท-ยวน ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ชายจะสวมเสื้อและกางเกงในแบบผ้าฮ่อมล้านนา และมีผ้าเคียนเอวเรียกว่า ผ้าหัว และสะพายกระเป๋าย่ามแดง ส่วนผู้หญิงนั้นสวมเสื้อสีน้ำเงินกรมท่า ขลิบชายเสื้อด้วยด้ายสีแดง ใช้ผ้าหัวนุ่งเป็นสไบ และนุ่งซิ่นตีนจก” ทั้งนี้กล่าวไว้ว่า ผ้าจกมีแบบฉบับที่แตกต่างกัน 3 ตระกูล ได้แก่ ผ้าจกตระกูลคูบัว เช่นลายดอกเซีย ลายหักนกคู่ ผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโด ที่มีลวดลายใกล้เคียงกับตระกูลคูบัว แตกต่างกันที่ชายของตีนซิ่น และผ้าจกตระกูลดอนแร่ เช่น ลายกาบ ลายกาบดอกแก้ว เป็นต้น
สุดท้าย งานแทงหยวก ที่เคยเป็นงานฝีมือสำคัญสำหรับประกอบในเมรุเผาศพ งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ และการตกแต่งต่าง ๆ และงานตัดกระดาษที่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมแขวนไว้รอบศาลาหลักของศูนย์อนุรักษ์
แม่สิริพันธ์กล่าวถึงการต้อนรับคณะนักเรียนและนักศึกษาจากสถานศึกษาหลายแห่งในพื้นที่ ที่เดินทางเข้ามาเรียนรู้งานฝีมือ พร้อมกับการทำความเข้าใจความหมายของสิ่งต่าง ๆ นับเป็นการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการศึกษากับเยาวชนดังที่จุดประสงค์ที่ตั้งต้นในการทำงาน พ่อสนั่นยังกล่าวเสริมในระหว่างการสนทนาด้วยว่า นอกเหนือจากการต้อนรับ ๆ เด็ก ๆ ในศูนย์อนุรักษ์แล้ว ยังมีโอกาสเดินทางไปให้ความรู้ในสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดพิษณุโลก เช่น โรงเรียนคูหาสวรรค์ โรงเรียนเฉลิมขวัญ ทั้งนี้ ครูที่ทำหน้าดูแลชั่วโมงท้องถิ่นศึกษาให้ความสำคัญและร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกหลาน ที่เรียนรู้งานฝีมือเหล่านี้อย่างขะมักเขม้น
ภายในศูนย์อนุรักษ์ ยังมีส่วนของการจำหน่ายผ้าทอพื้นเมืองทั้งที่มาจากการทอของสมาชิกชมรมและที่จัดหาซื้อมาจากราชบุรี และผู้ชมยังสามารถใช้เวลาเดินชมพื้นที่ของสวนหรือถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในมุมที่จัดแสดงวิถีชีวิตพื้นบ้าน แคร่ไม้และกองฟางเป็นพื้นหลัง
พ่อสนั่นกล่าวในช่วงท้ายว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดมาจากน้ำพักน้ำแรงของสมาชิกชมรม โดยไม่ได้หวังค่าตอบแทนใด ๆ นอกจากให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้ร่วมใช้เวลากับผู้ใหญ่ในชุมชน และจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการลงมือปฏิบัติ ในส่วนของชุมชนนั้น ชมรมพยายามฟื้นฟูประเพณีอีกหลายอย่างให้กลับมาทำหน้าที่ผูกโยงผู้คนและแสดงความเป็นอัตลักษณ์ไท-ยวน เช่น การกวนขนมสารท ในวันสารทไทย ทั้งหมดนี้คงพอแสดงให้เห็นความตั้งใจของชาวชมรมไท-ยวน จังหวัดพิษณุโลกในการกระตุ้นเตือนให้ลูกหลานใส่ใจกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตน และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับคนนอกได้สนุกสนาน พร้อมการรับรู้ถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างในความเป็นไทที่หลากหลาย.
อ้างอิง
เอกสารประชาสัมพันธ์ “ศูนย์อนุรักษ์ไท-ยวน ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก”, ม.ป.ป.
สัมภาษณ์
สนั่น เอี่ยมสาย, ชมรมไท-ยวน จังหวัดพิษณุโลก บ้านเลขที่ 134 หมู่ที่ 3 ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561.
สิริพันธ์ เอี่ยมสาย, ชมรมไท-ยวน จังหวัดพิษณุโลก บ้านเลขที่ 134 หมู่ที่ 3 ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ผ้าทอ ไทยวน
พิพิธภัณฑ์พระบารมีปกเกล้าฯ ชาวพิษณุโลก
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ
จ. พิษณุโลก