ที่อยู่:
บ้านเลขที่ 170 หมู่ที่ 4 บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 42110
โทรศัพท์:
083-3322828 , 084-9250771 (คุณเพชรตะบอง)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
ppaisoon@hotmail.com
ของเด่น:
เสื้อชาวไทดำ (เสื้อฮี) สำหรับใส่ในงานพิธีกรรมสำคัญ และข้าวของเครื่องใช้ของชาวไทดำ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด
บ้านนาป่าหนาดมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายไทดำ ที่เคยตั้งรกรากอยู่ที่เมืองแถง ปัจจุบันคือเดียนเบียนฟู บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเขตเวียดนามเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2423 เกิดศึกสงครามฮ่อ และหลังจากสงครามยุติลง ชาวไทดำส่วนหนึ่งจึงได้อพยพผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย ตั้งบ้านเรือนชั่วคราวอยู่ในเขตจังหวัดลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ไททรงดำ ไทดำ ผู้ไทดำ ลาวโซ่ง โซ่งดำ ส่วนหนึ่งจะอาศัยอยู่ทางภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ลพบุรี นครปฐม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้อพยพกลับเมืองแถงอีกครั้ง และในช่วงนั้นเองทั้ง ลาว และเวียดนาม ล้วนตกอยู่ภายใต้อาณานิคม การปกครองของฝรั่งเศส ชาวไทดำจึงได้อพยพกลับเข้ามาในประไทยในราว พ.ศ. 2450 ส่วนไทดำที่บ้านนาป่าหนาดได้เข้าตั้งบ้านเรือนครั้งแรก เมื่อราวปี พ.ศ.2460 โดยการนำของ “เพียหก” หรือเจ้าคนที่หกเป็นผู้นำ ในการตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ ตั้งอยู่ที่ 170 หมู่ที่ 4 บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลจัดตั้งเป็นชมรมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ โดยผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์คนแรกคือ นายเพชรตะบอง ไพศูนย์ ประธานชมรมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด เนื่องด้วยเห็นว่าชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาดมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นหมู่บ้านไทดำเพียงแห่งเดียวในจังหวัดเลย มีภาษาพูด และภาษาเขียน การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ นับวันสิ่งเหล่านี้จะลืมเลือนหายไปจากชุมชนบ้านนาป่าหนาด โดยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สิ่งใหม่ๆเข้ามาแทนที่ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ดังนั้น จึงได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นในปี พ.ศ.2554 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของนายเพชรตะบอง ไพศูนย์ ร่วมกับญาติพี่น้องในตระกูล บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ครั้งแรกนั้นที่พิพิธภัณฑ์มีเพียงบ้านไม้เก่าๆ เพียงหลังเดียว ภายในเก็บรวบรวมข้าวเครื่องใช้เก่าๆของคนในหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 มีคนเริ่มให้ความสนใจและมีคนนำของเก่ามาบริจาค จึงได้ขยับขยายปลูกสร้างอาคารต่างๆขึ้น
นายเพชรตะบอง ไพศูนย์ ประธานชมรมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ ได้ให้สัมภาษณ์ที่มาถึงการสร้างบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา มีจุดประสงค์หลัก คือ 1) เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาของไทยดำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 2) เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า ประวัติ วัฒนธรรมชาวไทดำ 3) เป็นแหล่งสร้างจิตสำนึกให้กับชาวไทดำให้เห็นคุณค่าวัฒนธรรมของตน 4) เป็นแหล่งสืบสานอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิม ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาดได้ตั้งแต่ เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ไม่มีค่าบริการ คือค่าธรรมเนียมใดๆ มีบริการน้ำดื่ม มีห้องน้ำภายให้พิพิธภัณฑ์ และนอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถแต่งกายด้วยชุดไทดำ สำหรับถ่ายภาพได้ฟรี
ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ ประกอบไปด้วยอาคารสถานที่หลายส่วน ได้แก่
1. เรือนหลังที่ 1 ห้องสมุด ตัวอาคารเป็นบ้านไม้ทรงไทดำ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจัดเก็บหนังสือเก่าของชาวไทดำ 1 หลัง เป็นเรือนที่มีลักษณะแบบลาดตูบใช้เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์ อักษรไทดำที่มีในอดีตถึงปัจจุบัน ใต้ถุนเรือนใช้สำหรับรับแขกและชมการแสดง
2. เรือนหลังที่ 2 บ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตัวอาคารเป็นบ้านไม้แบบไทดำ 1 หลัง มีการจำลองลักษณะบ้านของชาวไทดำมีบันไดบ้าน ขึ้น-ลง สองทาง คือ ด้าน “กว้าน” สำหรับผู้ชาย ด้าน “จ๋าน” สำหรับผู้หญิง มีการแบ่งส่วนต่างๆของบ้านออกเป็นแบ่งห้องๆ ได้แก่ 1) ห้องผีบรรพบุรุษ (ผีเรือน) 2) ห้องลูกชาย จัดแสดงชุดการแต่งกายของชาวไทดำ โดยผู้ชายจะสวมเสื้อที่ทอด้วยผ้าสีดำผ่าหน้าแขน กระบอกติดกระดุมเงินรูปดอก กางเกงจะเป็นขายาวลักษณะรูปทรงคล้ายกางเกงจีนจะใช้ผ้าที่ทอด้วยสีดำเข้มในการตัดเย็บ ส่วนส่วนเสื้อผู้หญิงจะนุ่งเสื้อที่เป็นสีดำคอกลมผ่าหน้าแขนกระบอกเข้ารูปติดกระดุมเงินรูปผีเสื้อ และนุ่งผ้าซิ่นทอเป็นลายพื้นเมือง 3) ห้องลูกสาว จัดแสดงอุปกรณ์ทำไร่ ทำนา เช่น ไถ คราด เป็นต้น 4) ห้องหมอมด ถัดมาเป็นบริเวณโล่งในบ้านมีพื้นที่กว้างสำหรับจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของชาวไทดำ เช่น เครื่องประดับ อุปกรณ์ทำมาหากิน กระติบข้าว ไซ ข้อง ปืน หน้าไม้ เป็นต้น ใต้ถุนเรือนเป็นจำหน่ายของที่ระลึก
3. เรือนหลังที่ 3 โฮมสเตย์ ที่พักนักท่องเที่ยว จำลองเป็นบ้านไม้แบบไทดำใต้โบราณ บ้านไทดำจำลอง ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นแบบเฉพาะของตน ลักษณะแบบลาดเต่า แบบลาดตูบ แบบโค้ง ส่วนใหญ่เรียกว่า “บ้านทรงหลังเต่า” ลักษณะบ้านทรงหลังเต่านี้มีสาเหตุจากความเชื่อของชาวไทดำเชื่อว่าว่าเต่าอายุยืน เมื่อสร้างบ้านทรงหลังคาเต่าแล้วจะอายุยืน หลังบ้านคามุงด้วยหญ้าคามีลักษณะโค้งเป็นกระโจม มียอดจั่วบนหลังคาบ้านประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควาย หรือเขากวางไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งใช้แบ่งตามฐานะและตระกูลของชาวไทดำ เช่น ขอกุดจิม ขอกุดบัว ขอกุดหม้าย เป็นต้น ส่วนใต้ถุนบ้านจะสูงโล่งกว้าง ใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้ ภายในตัวบ้านเปิดโล่ง และจะมีการจัดแบ่งเป็นห้องเป็นสัดส่วน เช่น ห้องบรรพบุรุษ พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาวใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่ทอผ้า สำหรับกลุ่มทอผ้าประจำชมรมโฮมสเตย์ ทั้งหมดภายในบริเวณบ้านพิพิธภัณฑ์มีจำนวน 3 หลัง สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการพัก และเที่ยวชมวิถีชีวิตหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่ทอผ้าของกลุ่มทอผ้าประจำชมรม
4. ยุ้งข้าว 3 หลัง
5. ลานการแสดง การละเล่น
6. อาคารโรงอาหาร 1 หลัง
7. อาคารชมการแสดง 1 หลัง
8. ร้านกาแฟ ให้บริการนักท่องเที่ยว 1 หลัง
9. ห้อง 2 หลัง แบ่งเป็น ห้องน้ำชาย 1 หลัง ห้องน้ำหญิง 1 หลัง
ภายในบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำแห่งนี้จะให้สมาชิกในชมรมแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวไทดำ คอยบริการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวประจำทุกวันและที่พิพิธภัณฑ์ไทดำแห่งนี้ยังมีการสอนภาษาไทดำเด็กๆลูกหลานไทดำในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ รักษาภาษา ตัวอักษรไทดำเอาไว้ไม่ให้สูญหาย และก็ช่วยต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการอนุรักษ์รักษาจัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีหลายสิ่งหลายอย่างเอาไว้ได้ เช่น การทอผ้าสวยงามลักษณะต่างๆ ผ้าเปียว ผ้าซิ่น ผ้านุ่งลวดลายของชาวไทดำ การทำโมบายประดับตกแต่ง ตุ้มนก ตุ้มหนู โคมไฟ บ้านอนุรักษ์ทรงไทดำ เครื่องประดับประกอบพิธีกรรม และพิธี “แซปาง” คือ พิธีกรรมสำคัญของชาวไทดำที่แสดงความเคารพต่อ “หมอมด” ประจำหมู่บ้าน พิธีแซปางยังเป็นการฉลองความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันไม่มีพิธีกรรมนี้ในหมู่บ้านแล้ว แต่มีการจำลองการละเล่นพิธีแซปาง ไว้ให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาที่พิพิธภัณฑ์ได้ชมการแสดงแซปางเพื่อถือเป็นการต้อนรับแขกที่มาเยือน นอกจากนั้นยังมี การฟ้อนแคนหรือแซแก้น แซไต ต้อนรับนักท่องเที่ยว และการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เดินไม้แจงแจ๊ะ มะกอนลอดห่วง เดินกระโป๊ะ เป็นต้น
บริเวณใต้ถุนเรือนพิพิธภัณฑ์ ยังมีร้านค้าขายของฝาก ของที่ระลึก สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ จากกลุ่มชมรมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ เช่น เสื้อไทดำ ผ้าเปียว ถุงย่าม สบู่สมุนไพร โมบายตุ้มนกตุ้มหนู เครื่องจักสานต่างๆ และที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังชุดเสื้อผ้าไทดำไว้ให้นักท่องเที่ยวใส่ถ่ายรูป โดยไม่เสียค่าบริการเปลี่ยนชุด
นายเพชรตะบอง ไพศูนย์ ประธานชมรมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ กล่าวว่า “สาเหตุที่ไม่คิดค่าบริการเพราะ ต้องการให้นักท่องเที่ยวที่มาได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวไทดำจริงๆ เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำของเรา บ้างคนเดินทางมาไกล เมื่อมาแล้วอยากให้ใส่ชุดไทดำสวยๆถ่ายรูป เก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมาบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำแล้ว”
นอกจากนี้ บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ นาป่าหนาด ยังมีกิจกรรมเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทดำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั้นก็คืองาน “ตุ้มโฮมพี่น้องไทดำ” จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ มีทั้งชาวไทดำจาก เวียดนาม สปป.ลาว เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี มาร่วมงานซึ่งในงานจะการแสดงประเพณีและการละเล่นพื้นเมือง ตัวอย่างเช่น ฟ้อนแซปาง แซแคน การจัดนิทรรศการวิถีชีวิตชาวไทดำ การเลี้ยงอาหารไทดำ การสาธิตภาษาไทดำ
กิจกรรมบริการนักท่องเที่ยวทางบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ ได้แบ่งเป็นกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1. วิทยากรบรรยายให้ความรู้ประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ
2. ชมพิพิธภัณฑ์
3. ละเล่นมะกอน เดินแจ่งแจะ เดินกระโป๊ะ
4. ชมการแซปาง แซแก้น แซไต (มีค่าชม)
5. ทำตุ้มนกตุ้มหนู (มีค่าวิทยากรและวัสดุฝึก)
6. อาหาร (มีค่าตามเมนูที่เลือก)
7. แต่งชุดไทดำ
8. จุดบันทึกภาพ
9. ที่พัก โฮมสเตย์ (ค่าใช้จ่ายตามรายหัว หลัง)
10. รถนำเที่ยวชมสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน (มีค่าพาหนะต่อคัน)
11. สู่ขวัญแบบไทดำ (มีค่าอุปกรณ์และผู้ทำพิธีกรรม)
การบริหารจัดการบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ จัดแบ่งเป็นฝ่ายในการบริการนักท่องเที่ยว ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายร้านค้า ฝ่ายรักษาความสะอาด ฝ่ายอาคารสถานที่ ฝ่ายพิธีกรรม ฝ่ายการแสดง ฝ่ายการละเล่น ฝ่ายการเรียนการสอน ฝ่ายหอเจ้าบ้าน ฝ่ายที่พัก ฝ่ายพาหนะนำเที่ยว ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายติดต่อประสานงาน
สถานที่สำคัญอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด อยู่ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ 40 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเชียงคาน 17 กิโลเมตร จากตัวจังหวัดเลยขับรถมาตามถนนเส้นทางถนน เลย-เชียงคาน หรือทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านสามแยกบ้านธาตุ ตรงไปผ่าน อบต.นาซ่าว ถึงสามแยกโรงเรียนชุมชนบ้านนาบอน แล้วเลี้ยวขวา 11 กิโลเมตรโดยใช้ทางหลวงชนบท ที่ ลย.3011 นาบอน-สงเปือย ผ่านบ้านโพน บ้านโสกเก่า บ้านโสกใหม่ บ้านนาเบน และถึงบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด
อ้างอิง
ทองคำ บานชื่น. ความหมายและประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อตำบล หมู่บ้านและสถานที่สำคัญต่างๆ ในเขตจังหวัดเลย. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2527.
เพชรตะบอง สิงห์หล่อคำ. หมู่บ้านไทดำ. เลย : เมืองเลยการพิมพ์, 2548.
บุญยงค์ เกศเทศ. “ไทดำ” เมืองแถง “ทรงดำ” ถิ่นสยาม จากหนองแฮดถึงหนองปรง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อินทนิล, 2554.
สัมภาษณ์
นายเพชรตะบอง ไพศูนย์ ประธานชมรมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด. เลขที่ 191 หมู่ 12 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 24 สิงหาคม 2562
นายสุทธิสอาน นามกอง ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาป่าหนาด. บ้านเลขที่ 171 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 24 สิงหาคม 2562.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ไทดำ
พิพิธภัณฑ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จ. เลย
เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร
จ. เลย
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ วัดศรีจันทร์
จ. เลย