ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าโบราณลาวเวียงบ้านเนินขาม


ที่อยู่:
วัดเนินขาม หมู่ที่ 1 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท
โทรศัพท์:
0916628365(คุณทิฆัมพร) 0802006887(คุณวันเพ็ญ)
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2559
ของเด่น:
ผ้าทอลาวครั่ง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าโบราณลาวเวียงบ้านเนิน...

โดย:

วันที่: 06 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าโบราณลาวเวียงบ้านเนินขาม

ในเอกสารประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ตำบลเนินขาม กล่าวถึงการฟื้นวัฒนธรรมลาวเวียง ที่ระบุว่า บ้านเนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท เป็นชุมชนลาวเวียงที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อสมัยพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวลาวถูกกวาดต้อนมาเป็นจำนวนมาก และตั้งรกรากกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของภาคกลางและอีสาน ตามเส้นทางอพยพ ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า ชุมชนดั้งเดิมนั้นอยู่ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และย้ายมาทำมาหากินในแหล่งใหม่ในบ้านเนินขามแห่งนี้ เมื่อกว่า 150 ปีแล้ว

การก่อตัวในการฟื้นฟูวัฒนธรรม

ทิฆัมพร ศรีเดช ทั้งในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเนินขามและลูกหลานลาวเวียงที่เรียนรู้การทอผ้าพื้นบ้าน กล่าวถึงการทอผ้าลาวเวียงนั้นมีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่เป็นการทอผ้ากันภายในครัวเรือน และเป็นธุรกิจของเอกชนภายในพื้นที่ มีความพยายามในการจัดกิจกรรมการสืบสานการทอผ้าให้กับเด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2528-2529 ณ โรงเรียนอนุบาลของอำเภอ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในการเอื้อเฟื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ แต่ในที่สุดกิจกรรมดังกล่าวเลิกลาไปด้วยเหตุผลของความต่อเนื่องในการสนับสนุน และกระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะการทอผ้าย้ายไปยังบ้านของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายทศวรรษ 2550 วันเพ็ญ ภูฆัง อดีตอาจารย์โรงเรียนบ้านเนินขาม เกิดความพยายามในการพัฒนากิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” เรียกว่า ต้นกล้าลาวเวียง ในการเชิญผู้อาวุโสที่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาลาวเวียง อาหารท้องถิ่น เป็นวิทยากรในกิจกรรม สิ่งที่เกิดต่อเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวคือ แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ขึ้น ส่งผลให้สมาชิกภายในชุมชนตื่นตัวในกิจกรรมการฟื้นฟูวัฒนธรรมและการทอผ้าลาวเวียงมากยิ่งขึ้น

สท. ทิฆัมพร กล่าวถึงความตั้งใจของผู้นำชุมชนร่วมกับตัวแทนจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยนาทในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมแห่งนี้ “ราว พ.ศ. 2559 ความร่วมมือระหว่างสำนักงานท่องเที่ยว ตัวแทนอำเภอเนินขาม และชาวชุมชนผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม ข้อปัญหาสำคัญในตอนนั้น คือการขออนุญาตใช้พื้นที่วัดสำหรับการจัดตั้ง จึงเกิดการประชาคมและขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดเนินขาม จากนั้น มีการทำหนังสือขออนุญาตไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนา และในที่สุดได้รับการตอบรับอนุญาต”

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าโบราณแห่งบ้านเนินขาม

 เดือนมกราคม 2560 ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเปิดอย่างเป็นทางการ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ต้อนรับผู้มาเยือนทั้งนักท่องเที่ยว นักศึกษา นักเรียน ในการเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังเปิดให้เป็นสถานที่ประชุมที่บุคคลภายนอกมาใช้และให้เงินสนับสนุนสำหรับกิจการของศูนย์เรียนรู้

ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ตั้งอยู่ภายในวัดเนินขาม โดยเป็นอาคารชั้นเดียวไม่ไกลจากอุโบสถ พื้นที่หลักภายในอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน พื้นที่ส่วนแรกเป็นบริเวณสำหรับการจัดประชุม มีการประดับพื้นหลังด้วยไวนิลพิมพ์ภาพผ้าทอลาวเวียง และ พื้นที่ส่วนที่สอง ทำหน้าที่เสมือนห้องนิทรรศการนำเสนอชิ้นงานต่าง ๆ ที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น

เมื่อเข้าไปยังห้องนิทรรศการ ฉากสำหรับการถ่ายภาพตั้งแยกไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้มาเยือนใช้บันทึกภาพความทรงจำในการมาเยี่ยมเยือนศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ใกล้กันนั้น กี่ทอผ้าตั้งเป็นเอกลักษณ์สำคัญ สท. ทิฆัมพร ให้ข้อมูลว่า ในบางช่วงเวลามีสมาชิกชุมชนแวะเวียนมาทอผ้า เพื่อแสดงให้เห็นขั้นตอนการทอและทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายลักษณะของผ้าทอเนินขาม ที่ประกอบด้วยหัว ตัว และตีนซิ่น ส่วนเทคนิคสำคัญของผ้าลาวเวียงได้แก่ การจก เมื่อใดที่มีผู้มาเยือนจึงจะมีการนำผ้าที่ทอสำเร็จแล้วจัดวางให้เห็นความหลากหลายของงานฝีมือ

อย่างไรก็ดีในการสำรวจในวันนั้น สท. ทิฆัมพร นำผ้าทอที่เป็นของกลุ่มสมาชิกมาสำเสนอ พร้อมให้คำอธิบายถึงเอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านเนินขาม “ที่นำมานี้เป็นผ้าพื้นและผ้ามัดหมี่ ผ้าถุงของเรามีลายช่อใบมะขาม เป็นลายลิขสิทธิ์ของบ้านเนินขาม เป็นการจดสิทธิบัตร ตรงนี้เป็นใบสองทาง มีหลายลาย ส่วนผืนนี้เป็นการมัดย้อมและนำมาทอเป็นผืน ผืนนี้เป็นเทคนิคการจกเรียก ผ้าตีนจก” แม่วันเพ็ญให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ผ้าที่โดดเด่นของลาวเวียงคือ ผ้าข้าวม้าห้าสี นั่นหมายถึง “ขันห้า เป็นผ้าที่ใช้ในงานมงคล เช่นในพิธีทำบุญ งานแต่งงาน สีเขียวหมายถึงความเจริญงอกงาม สีเหลืองหมายถึงความอบอุ่น เป็นมิตร สีแดงหมายถึงความเจริญเหมือนดวงอาทิตย์ สีขาวแทนความสงบ และสีส้ม แสด ...เป็นเอกลักษณ์บ้านเรา ยิ่งใช้ยิ่งทน ยิ่งซักยิ่งแน่น”

จากนั้น เป็นส่วนการจัดแสดงหมอนขวาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวลาวเวียง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีแต่งงาน แม่วันเพ็ญอธิบายว่า “หมอนขวางเป็นของสมมา ที่รับไหว้ญาติผู้ใหญ่ในพิธีสมรส ฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมให้กับญาติฝ่ายเจ้าบ่าว” สท. ทิฆัมพร อธิบายเพิ่มเติมถึงกลุ่มหมอนที่จัดแสดงในตู้กระจกมาจากพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งหลังวัด ตอนนี้ ไม่ได้รับการดูแลนัก เพราะอยู่ในพื้นที่ไกล ทำให้ต้องย้ายข้าวของมาไว้ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้” ใกล้กันนั้น จึงปรากฏสิ่งจัดแสดงที่เป็นของพื้นบ้านอื่น ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน

ทุกวันนี้ชุมชนเปิดรับผู้มาเยี่ยมเยือนจากภายนอกมากยิ่งขึ้น เพราะการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลเนินขาม มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวทั้งแบบค้างคืนและการท่องเที่ยวแบบวันเดียว ในกรณีที่เป็นการท่องเที่ยวค้างคืน มีขบวนนางรำต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ศาลาร้อยปี ซึ่งเป็นศาลาที่สร้างมาคู่กับวัดเนินขาม จากนั้น นำนักท่องเที่ยวไหว้หลวงพ่อพุทธมาลีศรีเนินขาม พระพุทธรูปสำคัญของชุมชน ชมศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอลาวเวียง แล้วออกนอกวัดด้วยอีแน เพื่อชมบ่อน้ำแร่ธรรมชาติ และบ้านห้าสาว ซึ่งเป็นบ้านดั้งเดิมและยุ้งข้าวโบราณได้รับการอนุรักษ์ไว้ ในตอนบ่ายเข้าสู่โฮมสเตย์ซึ่งเป็นบ้านของสมาชิกในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ในเวลาเย็นมีการบายศรีสู่ขวัญที่ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอลาวเวียง และรับประทานอาหารเย็นหรือที่เรียกในภาษาลาวว่าง “พาแลง” พร้อมการชมการแสดงดนตรีและฟ้อนรำพื้นบ้าน ในเวลาเช้า ใส่บ้านพระสงฆ์และเลือกซื้อสินค้าพื้นบ้าน

ส่วนการท่องเที่ยวแบบวันเดียว เป็นการจัดกิจกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้เป็นหลัก บรรยายประวัติความเป็นมาของชุมชนและไหว้พระพุทธรูปสำคัญของชุมชน จากนั้นเป้นการเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้บ้านมอเวียง เพื่อชมการสาธิตขั้นตอนการทอผ้า รับประทานอาหารกลางพร้อมชมการแสดงและเลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง โปรแกรมการท่องเที่ยวทั้งสองมีค่าใช้จ่าย โดยสามารถประสานงานกับกำนันตำบลเนินขาม และสท. ทิฆัมพร รองประธานศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองลาวเวียงบ้านเนินขาม.


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ