โดย: -
วันที่: 30 พฤษภาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: วลัยลักษณ์ ทรงศิริ | ปีที่พิมพ์: ปีที่11 ฉบับที่ 5 มี.ค. 2533
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: วลัยลักษณ์ ทรงศิริ | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 11 ฉบับที่ 5 (มี.ค. 2533)
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านดงคอน วัดโคกดอกไม้
บ้านดงคอนเป็นบ้านเมืองเก่าแก่ที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุและภาพถ่ายทางอากาศ ที่แสดงให้เห็นคูน้ำคันดินตามแบบฉบับของบ้านเมืองยุคทวารวดี แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่อยู่ใกล้เคียงเช่นบ้านดอนกระเบื้อง เตาเผาแม่น้ำน้อย มีการ ติดต่อค้าขายระหว่างเมืองเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่บริเวณพื้นดินบ้านดงคอน จะพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะยุคทวารวดี ทำให้พระครูวิจิตรชยานุรักษ์ (หลวงพ่อพร้า) เจ้าอาวาสวัดโคกดอกไม้ ต้องการเก็บรักษาโบราณวัตถุเหล่านี้ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กับชุมชนตนเอง และสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ขึ้นมาชุมชนบ้านดงคอนเป็นเขตติดต่อระหว่างสุพรรณบุรีและชัยนาท ชื่อดงคอนสันนิษฐานมาจากการหาบคอนของออกไปขายของชาวบ้าน เพราะไม่มีเส้นทางถนนออกจากหมู่บ้าน ส่วนวัดโคกดอกไม้วัดประจำชุมชน ก็ได้ชื่อมาจากการทำพลุ ตะไล ไฟพะเนียง จุดในเทศกาลต่างๆ ถ้าประกวดกันวัดนี้มักจะได้รางวัลเสมอ จึงชื่อว่าโคกดอกไม้ แต่ปัจจุบันไม่มีการทำดอกไม้ไฟแล้ว
พื้นที่ย่านนี้ในสมัย พ.ศ. 2500 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต ได้มีการเข้ามาหักร้างถางป่าและทำถนนเข้ามายังชุมชน ตลอดจนมีผู้คนเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อทำไร่อ้อยมากมาย ระหว่างนั้นเองก็ได้มีการพบโบราณวัตถุต่างๆ จากพื้นดิน จำพวกลูกปัด ตุ๊กตาดินเผา เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา หรือเหรียญเงินโบราณมากมาย บางครั้งมีผู้กลัวอาถรรพ์ของเก่าก็จะนำมาถวายให้วัดโคกดอกไม้ แต่ส่วนใหญ่จะขายหรือสูญหายและไม่เห็นค่า จนเมื่อมีนักโบราณคดีเข้ามาสำรวจและเขียนบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2517 ว่าเป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี ประวัติศาสตร์ในย่านบ้านดงคอนแห่งนี้จึงเริ่มแจ่มชัดขึ้น
หลวงพ่อพระครูวิจิตรชยานุรักษ์ (หลวงพ่อพร้า) ปัจจุบันอายุ 87 ปีแล้ว ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท สร้างเหรียญมงคลให้สาธุชนเช่าไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลมากมายหลายรุ่น พุทธคุณของท่านคือแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง แต่นอกจากท่านจะเป็นเกจิอาจารย์แล้วท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ได้หาทุนสร้างสาธารณะประโยชน์มากมายให้ชุมชน เช่นโรงพยาบาล โรงเรียน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในวัด รวมทั้งอาคารพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นอาคารที่แบ่งเป็นสองส่วน ด้านซ้ายของอาคารคือ ห้องสมุดของการศึกษานอกโรงเรียน ส่วนด้านขวาติดลูกกรงและเหล็กดัดเป็นอย่างดี นั่นคือ ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ไม่ค่อยได้เปิดให้ชม เพราะเคยถูกขโมยของไปจำนวนมาก หากมีผู้สนใจชมต้องมาติดต่อและพระจะเปิดให้เข้าชมเอง ของจัดแสดงภายในส่วนมากจะเป็นเครื่องปั้นดินเผา โอ่งขนาดใหญ่ทั้งโอ่งมังกรเคลือบ และโอ่งสังคโลกสีเขียว เครื่องมือหินบดยาโบราณ และเครื่องถ้วยชามกระเบื้องเก่าแก่ ซึ่งเดิมเคยเป็นหน้าบรรณของโบสถ์เก่า แต่เมื่อมีการซ่อมแซมบูรณะโบสถ์ จึงถอดเครื่องกระเบื้องเหล่านี้ลงมาบางชิ้นก็แตกหักเสียหาย ชิ้นที่สมบูรณ์ถูกลักขโมยไปบ้าง ปัจจุบันเหลือไม่มากแล้ว นอกจากนั้นก็มีหีบพระธรรมเก็บหนังสือใบลานเก่าและตำรายาโบราณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังไม่เคยมีนักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัด และยังไม่มีป้ายอธิบายหรือการจำแนกประเภทข้าวของ อีกทั้งปัจจุบันมีปัญหาการลักขโมยของในวัดมากขึ้น หลวงพ่อพร้าจึงได้นำของชิ้นสำคัญไปเก็บในที่ปลอดภัย สิ่งของจัดแสดงที่น่าสนใจมีอีกอย่างคือ ไม้นวดงวงตาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนบ้านดงคอนที่สมัยก่อนทำน้ำตาลโตนดกัน
นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วอาคารภายในวัดโคกดอกไม้ ก็มีความน่าสนใจ เช่นโบสถ์ที่มีคลองเล็กๆ ล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยม หลวงพ่อทำไว้เพื่อให้ชาวบ้านมาลอยกระทงในวันสงกรานต์ เมื่อถึงเทศกาลคนย่านสรรคบุรีและชัยนาทจะมาทำบุญลอยกระทงที่นี่เป็นจำนวนมาก ถัดมาเป็นวิหารและเจดีย์เก่าที่สร้างอยู่บนเนินดิน เล่ากันว่ามีคนลองดีนำปืนมายิงขึ้นฟ้าให้ข้ามเจดีย์ก็ยิงไม่ออก สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ได้บูรณะใหม่หลายครั้งจนไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว ที่น่าสนใจอีกอย่างคือโรงลิเกไม้ ที่อยู่คู่วัดมานาน เป็นโรงมหรสพพื้นบ้านที่เหลือให้เห็นไม่มากในประเทศไทย ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก แต่ทางวัดมีโครงการจะปรับขยายพื้นที่ อาจถูกรื้อในเร็วๆ นี้
นอกจากโบราณวัตถุและเรื่องราวสมัยทวาราวดีของบ้านดงคอนที่น่าสนใจแล้ว ประวัติศาสตร์ชุมชนยุคใหม่ก็น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากภูมิประเทศของวัดโคกดอกไม้และชุมชนบ้านดงคอนติดกับทางน้ำลำยายคลีที่ไหลเชื่อมต่อไปสู่แม่น้ำน้อย และไปไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นตลาดย่านการค้าเก่าที่โด่งดัง ว่ากันว่าสมัยที่โจรร้ายหรือที่เรียกว่าเสือชุกชุม เช่น เสือฝ้าย ที่ออกปล้นย่าน จ.สุพรรณบุรี จะมากบดานอยู่ที่บ้านดงคอนนี้ เนื่องจากเคยมาปล้นแล้วไม่สำเร็จเพราะวัดโคกดอกไม้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ไม่ว่าจะเสือร้ายรายไหนมาปล้นก็ไม่สำเร็จ ผู้มีวิชาอาคมก็ต้องมาพ่ายความขลังของที่นี่ จึงได้ใช้ที่แห่งนี้มากบดานเสียเลย แต่ในที่สุดก็ถูกขุนพันธ์ผู้มากด้วยคาถา ปราบเหล่าเสือจนสิ้นฤทธิ์ที่จังหวัดอื่น เป็นเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นกับเหตุการณ์บ้านเมืองอีกยุคหนึ่ง
หลักฐานความเฟื่องฟูของตลาดบ้านดงคอนก็คือ รอบๆ วัดยังคงมีบรรยากาศบ้านเรือนไม้เก่าหลังใหญ่ และห้องแถวตลาดแบบดั้งเดิมให้เห็นอยู่ไม่มากนัก หากใครสนใจอยากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และกราบหลวงพ่อพร้า ต้องติดต่อล่วงหน้ามาที่วัดโคกดอกไม้ ก่อนเพื่อความสะดวกในการเข้าชม
สำรวจเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2553
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี วัด เครื่องปั้นดินเผา แหล่งโบราณคดี ดงคอน ทวารวดี
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม
จ. ชัยนาท
พิพิธภัณฑ์โบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านเนินขาม
จ. ชัยนาท
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
จ. ชัยนาท