ที่อยู่:
วัดศรีสโมสร หมู่ที่ 1 บ้านกุดจอก ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท
โทรศัพท์:
08-3330-9744, 08-9969-4518
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
วิถีชีวิตลาวคั่ง, ประวัติศาสตรการอพยพ, ผ้ามัดหมี่, ผ้าขิด, เครื่องมือเกษตรกรรม, เครื่องใช้ในครัวเรือน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์ลาวคั่ง บ้านกุดจอก
“อ้ายเก็บ” หรือ ผู้ใหญ่เก็บแห่งบ้านกุดจอก พาผู้สำรวจเข้าสักการะหลวงพ่อเดิม ซึ่งมีพุทธลักษณะที่คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปในสมัยอยุธยา อ้ายเก็บเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับวารสารศิลปวัฒนธรรมว่า “เมื่อครั้งที่ชาวบ้านกุดจอกได้ออกไปหาไม้มาเพื่อปฏิสังขรณ์วัด ได้พบกับโบสถ์เก่า และมีพระพุทธรูป ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อเดิม” จากนั้น อ้ายเก็บพาไปดูโบสถ์เก่า ซึ่งแสดงให้เห็นหลักฐานของการถาวรสถานที่บอกเล่าการตั้งถิ่นฐานของคนลาวคั่งบ้านกุดจอก ตั้งแต่สมัยของเส้นทางเดินทัพไทย-พม่า สมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยพิจารณาจากก้อนอิฐที่ใช้ในการสร้างโบสถ์ และจารึกบนผนังเบื้องหลังองค์พระประธานที่เป็นอักษรไทยน้อย“...เมื่อปี 1798 เจ้าอุปราชให้ทำโดยจะถวายเพื่อพลานิสงฆ์” อ้ายเก็บกล่าวว่าน่าจะเป็น ค.ศ. หรือประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว ตรงกับรัชสมัย ร.2 “ในสมัยนั้น ร.2 ขอกำลังจากกองทัพลาว ก็ให้พี่ชายของเจ้าอนุวงศ์ปกครอง โดยของกองทัพมาตีพม่าที่เมืองละแหง คือจังหวัดตาก มาช่วยขับพม่า เจ้าอนุวงศ์เป็นอุปราช ชอบสร้างวัดสร้างวา คนลาวอยู่ที่ไหนท่านก็จะบูรณะ แล้วคนลาวชอบหนีตามท่านกลับเวียงจันทน์ แล้วคิดว่าน่าจะเป็น ค.ศ. น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องว่า น่าจะเป็นคนลาวที่พระเจ้าตากกับ ร.1 เอามาอยู่ แล้วถูกพม่ากวาดเอาไปรุ่นหนึ่ง แล้วรุ่นนั้นคนลาวที่อยู่ล่างๆ ก็อพยพมาอยู่แทน พม่าจึงเรียกคนไทยที่ไปอยู่พม่าว่า คนโยเดีย ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่เป็นคนลาวเช่นกัน”
การพัฒนาโครงการพิพิธภัณฑ์และหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้รับการสนับสนุนอย่างจากหน่วยงานราชการ ตั้งแต่สมัยผู้ว่าราชการจังหวัด นายจำลอง โพธิ์สุข งบประมาณจำนวนหนึ่งใช้ในการบูรณะอาคารสำคัญภายในวัด เช่น หอกลอง และดัดแปลงพื้นที่ส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารที่เป็นกุฏิวัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ลาวคั่ง เพื่ออนุรักษ์วัตถุข้าวของจำนวนมากมายที่มีชาวบ้านนำมาถวายให้กับวัด และเป็นมรดกที่สำคัญของชุมชน ผู้ใหญ่เก็บขยายความเรื่องของมรดกและความหวงแหนสิ่งต่างๆ ของชุมชน “เริ่มจากที่ผู้ใหญ่อยากอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีเรา พอทำไปแล้ว ก็อยากประชาสัมพันธ์ให้คนมาดู คนที่มาก็ชอบมากๆ เพราะคิดว่าประการหนึ่งเราให้ข้อมูลได้ชัดเจน และมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์โดดเด่นเป็นรูปธรรมให้เขาเห็นได้ ทั้งๆ ที่ภายในเราก็ว่าจะหมดแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้มีคนมาซื้อผ้าโบราณ เขามาเข็นไปเป็นคันรถ แล้วเราต้องการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่อย่างพอเพียงของชาวบ้าน”
ภายในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการได้รับการจัดแบ่งเนื้อหาไว้สามสี่ส่วน อันได้แก่ประวัติความเป็นมาของชุมชนและโบราณวัตถุที่สำคัญของชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่งบ้านกุดจอก งานประเพณีและงานบุญของชุมชน วัตถุของพิพิธภัณฑ์ได้รับการจัดวางตามประเภท อันได้แก่ เครื่องทองเหลือง ผ้าทอมือ คัมภีร์ เครื่องกระเบื้อง ผู้ใหญ่เก็บตัวอย่างวัตถุที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ นั่นคือ ผ้าทอและหมอนอิง “หมอนเท้าพวกนี้ถวายพระผู้ใหญ่ในงานกฐิน งานบุญใหญ่ ถวายหมอนเท้าให้แก่พระอุปัชฌาย์ใช้ในวัด หมอนเท้า หากเป็นของไทยรูปทรงเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า มีห้าชั้น แต่หมอนเท้าของลาว เป็นสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า หมอนเท้าแสดงบรรดาศักดิ์ของผู้ใช้ นับได้ห้าชั้นเป็นทรงฉัตรแสดงตำแหน่งของผู้ใช้ แล้วเวลาใช้สารพัด [ตั้งและนอน-ผู้เขียน]สบายกว่าหมอนไทย ใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า แล้วหากเป็นเจ้า ก็เจ็ดชั้น เก้าชั้นขึ้นไป ลวดลายของหมอนจะมีแต่ของชั้นสูง ชั้นในสุดเป็นพระยานาค “พันมหา” พระยานาคมากมาย แล้วมาเป็นช้าง ม้า หมา หรือไม่ก็ดอกแก้ว ดอกพิกุล นอกจากนี้ ยังมีผ้าอาสนะเป็นผ้าจก”
ภายในตู้ธรรมแสดงให้เห็นใบลานจำนวนหนึ่ง อ้ายเก็บกล่าวว่า “ผ้าโบราณงามๆ ต้องมาดูผ้าห่อคัมภีร์ เป็นผ้าซิ่น ด้านในมีคัมภีร์ที่มีตัวอักษรโบราณ ทางกรมศิลป์ฯ เขาจัดสารระบบเรียบเรียงเรื่องให้ ผ้าซิ่นตีนจกใช้ห่อพระธรรม เป็นคตินิยมของผู้หญิงที่ไม่สามารถสืบทอดพระศาสนาด้วยการบวช จึงอธิษฐานผ้าแทนตนด้วยการทำผ้าซิ่น เพื่อสืบทอดพระศาสนา เลยอยู่ร่วมด้วยมาถึงสองร้อยปี ปรากฏเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ชาวบ้านไม่รู้เหตุผลตรงนี้ ชาวบ้านเก็บกวาดและทำความสะอาดวัด เจอว่าเอาผ้าถุงมาห่อพระธรรม ก็เผาทิ้ง” ผู้ใหญ่ยังขยายความด้วยว่า “เมื่อปีกราย ที่มีเล่นนางด้ง [ประเพณีการเชิญผีลงมาเข้าทรง-ผู้เขียน]ผีตัวนั้นยังมาเข้านางด้งอยู่เลย ยังไม่ได้ไปเกิด มาวนเวียนอยู่หน้าวัด เพราะไปทำลายของวัด เรามานึกๆ ดูว่า คงเป็นเพราะเขามาเผาผ้าห่อที่คนทอได้ตั้งอธิษฐานเอาไว้
ส่วนเรื่องราวที่ปรากฏในพระธรรม มีทั้งที่เป็นตัวอักษรไทยน้อย หรือตัวลาวก่อนยุคปัจจุบันนี้ เนื้อหาเป็นตำนาน บ้างเป็นอักษรธรรมลาว ธรรมขอม เช่นอันนี้อักษรธรรมลาวคือสุพรมโมกขา ตำนานพระธาตุพนม ตำนานพระแก้วเจ้า ลำพญาสี่เสา ลำพระบาง เรื่องราวได้รับการเขียนไว้เป็นผญาหรือคำกลอน ด้วยการเล่าเรื่องพระบางว่าได้บางอย่างไร อยู่ในวัดเชียงทอง วัดวิชุน เมื่อให้พระลาวอ่านเนื้อหา ก็เห็นว่าทั้งสำนวน ตัวอักษร เหมือนที่อยู่ในลาว จึงสันนิษฐานว่า น่าจะลอกมาหรือเอามาจากทางลาว มีทั้งหมดประมาณสามร้อยผูก ตัวลาวเป็นเรื่องตำนาน ตัวขอมเป็นเรื่องตำรายา”
ที่หมู่บ้านกุดจอกนี้ ยังมีสถานที่ต่างๆ สำหรับการเรียนรู้อีกหลายแห่ง ทั้งคุ้มผ้าทอมือ โดยมีคุณยายซ้อง จบศรี ที่ได้รับการเชิดชูเป็นครูภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิทยากรที่ให้ความรู้ หรือแม้แต่บ้านของ “อ้ายเก็บ”ได้รับการจัดตั้งเป็นคุ้มที่ให้การอบรมเรื่องดนตรีแคนและกลองยาว เพื่อสืบสานให้เอกลักษณ์อยู่ในชุมชน และบอกเล่าสู่ผู้มาเยี่ยมเยือนได้เรียนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนอีกกลุ่มหนึ่งในบ้านเรา นอกจากนี้ยังมีซุ้มภูมิปัญญาด้านขนมจีนน้ำยาปลาร้า ซุ้มภูมิปัญญาด้านจักสาน ซุ้มภูมิปัญญาด้านทอผ้าพื้นเมือง ซุ้มภูมิปัญญาด้านพิธีกรรมความเชื่อและการละเล่นตามประเพณี ซุ้มภูมิปัญญาด้านข้าวซ้อมมือ ซุ้มภูมิปัญญาด้านสมุนไพรพื้นบ้าน/แพทย์แผนไทย และซุ้มภูมิปัญญาด้านอาหารท้องถิ่น กระจายอยู่อีกหลายจุดในบ้านกุดจอกนี้
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 10 มีนาคม 2556
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
พิพิธภัณฑ์ "ลาวครั่ง" มรดกผสมผสานอารยธรรมไทย-ลาว
ในปี 2554 จังหวัดชัยนาทประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเมืองชัยนาท ได้ถือโอกาสนี้เปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่บ้านกุดจอก อำเภอหนองมะโมง และหนึ่งในนั้นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ลาวครั่งบ้านกุดจอก" ซึ่งตั้ง ณ วัดศรีสโมสร โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่เน้นจัดแสดง 3 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงเรื่องราวด้านศาสนา ที่นำเอาความรู้เรื่องศาสนาแสดงผ่านพระพุทธรูปปางต่างๆ ส่วนที่สองเป็นการบอกเล่าที่มาของชุมชนลาวครั่งตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และส่วนที่สามเป็นส่วนของการจัดแสดงของใช้สะสมของบรรพบุรุษ ที่ชาวชุมชนลาวครั่งสะสมกันมาและมอบให้เป็นของวัแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
พระพุทธรูป ชาติพันธุ์ ผ้าทอ ลาวครั่ง อักษรไทยน้อย ผ้าห่อคัมภีร์ ลาวคั่ง บ้านกุดจอก หลวงพ่อเดิม งาช้าง ผ้าทอลายตีนจก หมอนอิง
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม
จ. ชัยนาท
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านดงคอน วัดโคกดอกไม้
จ. ชัยนาท
พิพิธภัณฑ์โบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านเนินขาม
จ. ชัยนาท