พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม


ที่อยู่:
9/2 หมู่ 6 ตำบลเนินขาม กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท 17130
โทรศัพท์:
0-5645-1337, 081-0444641
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
preechakong@yahoo.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม...

โดย:

วันที่: 09 กรกฎาคม 2556

ไม่มีข้อมูล

ผ้าทอไทครั่งชัยนาท.

ชื่อผู้แต่ง: - | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 20, ฉบับที่ 12 (ต.ค. 2542) : หน้า 135

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม.

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ผ้าทอบ้านเนินขาม.

ชื่อผู้แต่ง: สืบโกศาธิ์ เผ่าบุญญา. | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 36, ฉบับที่ 3 (ธ.ค. 2541) : หน้า 31-33

ที่มา: วัฒนธรรมไทย.

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม

ลาวครั่งหรือไทครั่ง ถูกกวาดต้อนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนสยามในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวปี พ.ศ. 2371 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ปราบศึกเจ้าอนุวงศ์ ได้กวาดต้อนกลุ่มคนลาวเข้ามาในสยาม โดยชาวลาวครั่งก็เป็นกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนั้น ทั้งนี้กลุ่มลาวครั่งได้กระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท กาญจนบุรี เป็นต้น 

วัฒนธรรมหนึ่งที่โดดเด่นของกลุ่มลาวครั่งคือ การทอผ้า ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งหรือไทครั่งยังคงสืบทอดการทอซิ่นลวดลายแบบดั้งเดิมอยู่ ผ้าซิ่นของชาวไทครั่งนั้นมี 4 แบบคือ 1.ผ้าซิ่นหมี่โลด ทำขึ้นโดยที่ตัวซิ่นจะใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอแบบต่อเนื่อง โดยไม่นำเอาเทคนิคอื่นมาขั้น ลายหมี่ที่ทอก็จะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นิยมทำเป็นลายหมี่สำเภา หมี่จรวด หมี่โคม2.ผ้าซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่นิยมใช้สีแดงก่ำ ตัวลายเป็นสีเหลือง เขียว ม่วง สลับกับการทอขิดด้วยไหม และนิยมทำเป็นลายนาค ลายหงส์ ส่วนลายขิดนิยมทำเป็นลายดอกจันทร์ ดอกแก้ว ขิดฟันปลา 3.ผ้าซิ่นหมี่น้อย ใช้เทคนิคการมัดหมี่ทอด้วยไหมสีพื้น ทำให้เกิดลายริ้ว เป็นแนวขนานกับลำตัวนิยมทำเป็นลายนาค 4.ผ้าซิ่นก่าน เป็นซิ่นสองตะเข็บ ทอด้วยฝ้ายใช้เส้นยืนและเส้นพุ่มเป็นสีดำ ใช้เทคนิคการจกด้วยฝ้ายหรือไหมเป็นหลักโดยเฉพาะสีเหลืองกับเขียว ส่วนที่เป็นหัวซิ่นนั้นจะนิยมเป็นผ้าฝ้ายหรือไหมกว้างประมาณ 1 คืบทอเป็นลายริ้วขนานกับลำตัว เป็นสีแดงสลับกับสีเหลืองบ้าง ขาวบ้างหรืออาจจะมีการทอพื้นสลับกับการทอขิดก็ได้

แรงบันดาลใจของคุณวนิดา โปแก้ว เจ้าของพิพิธภัณฑ์ ที่เก็บสะสมผ้ามากมายจนต้องทำเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น คุณวนิดาเล่าว่า ตัวเองเกิดและเติบโต ณ ที่แห่งนี้คือตำบลเนินขาม ได้เห็นและเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวไทครั่งมาตั้งแต่เด็ก ที่สนใจเรื่องของผ้าซิ่นนั้นเนื่องมาจากว่าในสมัยที่ยังเป็นเด็ก ยังได้ทันเห็นแม่ ยายและผู้หญิงในหมู่บ้าน นั่งทอผ้า และมีผ้าซิ่นสวยๆ เอาไว้ใส่ จึงอยากมีผ้าซิ่นบ้าง เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็จะได้นุ่งผ้าธรรมดา จำพวกผ้าถุงไม่ค่อยมีลวดลายอะไรมากนัก เมื่อโตเป็นสาวจึงมานั่งเรียนทอผ้า เพื่อจะได้ทอไว้ใส่เองในช่วงเวลาสำคัญ ทั้งนี้ชาวไทครั่งมีความเชื่อหรือประเพณีสืบกันมาว่า สาวๆ หรือแม่บ้านที่มีลูกสาวก็ต้องเตรียมทอผ้าสำหรับลูกสาว หรือสอนให้ลูกสาวทอผ้าเป็น เพื่อจะทอผ้าที่จะใช้ในงานแต่งของตัวเอง ทอผ้าปูที่นอน ทอซิ่นแต่งงาน ทอผ้าเพื่อทำที่นอนสำหรับปูนอนในวันเข้าเรือนหอ 

ความสนใจของคุณวนิดาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบเห็นผ้าทอผืนสวยมากมาย ทำให้เริ่มสะสมผ้าซิ่นเก่าๆ จากในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน จนได้ผ้ามาครอบครองเกือบหนึ่งพันผืน จากนั้นจัดชั้นบนของบ้านเป็นห้องจัดแสดงผ้าทอที่ได้สะสมไว้ โดยประมาณ 3-4 เดือน จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนผ้าผืนอื่นๆ ออกมาแสดง เพื่อเป็นการรักษาผ้าไปด้วยในตัว ถือว่าเป็นการเอาออกมาผึ่งลม เพื่อไล่ความชื้นในเนื้อผ้าออกไป

วัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าทอ และผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น หมอนหก หมอนขวาน ขนาดแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เป็นหมอนที่เย็บตกแต่งด้วยผ้าทอ ด้านข้างเป็นสีแดง พื้นของผ้าเป็นสีขาว นอกจากนี้ก็มีหีบใส่ผ้าทำจากไม้ ผ้าทอไทครั่งที่ใช้ในโอกาสต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ก็จะจัดแสดงในหุ่นเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่แต่งกายในชุดไทครั้ง การจัดเตรียมทำที่นอนนุ่นและการทอผ้าปูที่นอนที่ทำจากผ้าฝ้ายของเจ้าสาวเป็นต้น การแต่งกายเพื่อไปทำบุญ การแต่งกายอยู่กับบ้าน และผ้าทอไทครั่งที่มีลวดลายการทอที่สวยงามและปราณีต คำอธิบายส่วนใหญ่ของผ้าแต่ละชิ้น จะอธิบายถึงลายผ้าที่ทอในผืนเป็นลายอะไรบ้าง อายุของผ้า ส่วนใหญ่ผ้าที่คุณวนิดาสะสม จะเป็นผ้าเก่าอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป การจัดแสดง การนำชม และการออกร้านตามโอกาสต่างๆ คุณวนิดาจะเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด 

นอกจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นที่แสดงผ้าสะสมของคุณวนิดาแล้ว ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของงานผ้า วิธีการทอและรูปแบบการทอของไทครั่ง มีนักเรียนนักศึกษาหลายคณะสนใจมาดูงาน และมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรู้เรื่องผ้ากันเป็นจำนวนมาก

มัณฑนา ชอุ่มผล / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 12 มิถุนายน 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-