ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย


ศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ บ้านสะแกราย ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดสะแกราย โดยสร้างเป็นเรือนไทดำ ที่สร้างขึ้นจากไม้ มีโครงสร้างหลังคาเป็นเหล็ก และมุงด้วยจาก อันเป็นลักษณะเฉพาะของชาวไทยดำในแถบพื้นที่นี้ ชั้นบนศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชาวไทดำ เช่น ปานเผือน โห้ กระติ๊บข้าวเหนียว ลูกช่วง เชี่ยนหมาก และวางตำแหน่งวัตถุข้าวของบนเรือนในบริเวณพื้นที่ที่จะเกิดพิธีกรรมนั้นจริงๆ เรือนจำลองหลังนี้แบ่งพื้นที่ห้องเหมือนกับบ้านของชาวไทดำอย่างแท้จริง มีการแบ่งพื้นที่ห้องผีเรือน พื้นที่ด้านหลัง และทางขึ้นด้านหลังสำหรับการดำเนินพิธีกรรมต่างๆ รวมถึง การจัดวางวัตถุข้าวของในบริเวณที่สัมพันธ์กับการดำเนินพิธีกรรมนั้นจริงๆ ด้านล่าง จัดแสดงเครื่องทอผ้า กี่ปั่นด้าย อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทดำในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ที่อยู่:
วัดสะแกราย หมู่9 บ้านสะแกราย ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จ.นครปฐม
โทรศัพท์:
086 173 2307 (คุณวิทยา)
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
เรือนไทดำที่จำลองห้อง และข้าวของในพิธีกรรมในตำแหน่งที่เหมือนจริง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย...

โดย:

วันที่: 09 ตุลาคม 2563

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย...

โดย:

วันที่: 09 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย (บ้างก็เรียกไทยดำ) ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดสะแกราย โดยสร้างเป็นอาคารเรือนไทดำบนพื้นที่ประมาณ 60 ตารางเมตร ไม่มีรั้วกั้นในการแบ่งพื้นที่ของศูนย์วัฒนธรรม เพราะตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด ตัวเรือนของศูนย์วัฒนธรรม สร้างขึ้นจากไม้ มีโครงสร้างหลังคาเป็นเหล็ก และมุงด้วยจาก อันเป็นลักษณะเฉพาะของชาวไทยดำในแถบพื้นที่นี้ บนศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ บ้านสะแกราย จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยดำ เช่น ปานเผือน โห้ กระติ๊บข้าวเหนียว ลูกช่วง เชี่ยนหมาก โดยจัดแสดงบนเรือน และวางตำแหน่งวัตถุข้าวของบนเรือนในบริเวณพื้นที่ที่จะเกิดพิธีกรรมนั้นจริงๆ  เรือนจำลองหลังนี้แบ่งพื้นที่ห้องเหมือนกับบ้านของชาวไทดำอย่างแท้จริง มีการแบ่งพื้นที่ห้องผีเรือน พื้นที่ด้านหลัง และทางขึ้นด้านหลังสำหรับการดำเนินพิธีกรรมต่างๆ รวมถึง การจัดวางวัตถุข้าวของในบริเวณที่สัมพันธ์กับการดำเนินพิธีกรรมนั้นจริงๆ ด้านล่าง จัดแสดงเครื่องทอผ้า กี่ปั่นด้าย อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทดำในชุมชนได้เป็นอย่างดี
 
ความเป็นมาของชุมชนไทดำ บ้านสะแกราย

เป็นเรื่องเล่าที่คล้ายกันในหมู่ชาวไทดำเกือบทุกแห่งในเขต จ.นครปฐม นั่นคือ ชาวไทดำเคลื่อนย้ายมาจาก เขาย้อย จ.เพชรบุรี ในส่วนของชุมชนบ้านสะแกรายก็เช่นกัน การอพยพมาจากบ้านทับคาง เขาย้อย คือกลุ่มชาวไทดำกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกรากที่ สะแกราย โดยในครั้งแรกมาตั้งรกรากที่บ้านโคกตาเป็ด โดยการตั้งถิ่นฐานเกิดจากความบังเอิญที่ความจริงต้องการเคลื่อนย้ายไปที่พิษณุโลก แต่แวะที่บ้านสะแกรายเสียก่อนจึงตั้งรกรากตั้งแต่นั้นมา โดยคุณวิทยา มียอด เกษตรกร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย เล่าว่า


          “แม่ผมเล่าให้ฟังว่า คุณตา คุณยายอพยพมาจากบ้านทับคาง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เดินและหาบของมาครั้งแรกมาตั้งรกรากที่บ้านโคกตาเป็ด พอได้เสบียงก็เดินทางไปหาพี่น้องที่พิษณุโลก แต่ก็มาแวะที่นี่ก่อน (บ้านสะแกราย) เริ่มมีการถากถาง ปรากฏว่าพ่อแม่ป่วย เสียชีวิต เลยไม่ไป เลยจับจองพื้นที่แถวนี้ ตอนที่มาจากเพชรบุรีก็เรียกตัวเองว่าไทยทรงดำแล้ว มีอยู่สองครอบครัว ตระกูล “มีดี” อยู่ที่เพชรบุรีนั่นแหละ มากับคุณตา คุณยาย (ตาทวด)  ผม “มียอด” แต่ “มีดี” เป็นตระกูลใหญ่”

 

โดยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของบ้านสะแกราย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่ม ใกล้แม่น้ำนครชัยศรี ในตอนต้นระบบชลประทานยังไม่ดีนัก ทำนาได้ปีละหน ต้องอาศัยน้ำจากฝนฟ้าเพียงอย่างเดียว ในระยะหลังระบบชลประทานเริ่มเข้ามาถึงบ้านสะแกราย ทำให้ชาวบ้านที่เคยปลูกข้าวสามารถปลุกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้มีเกษตรกรจำนวนมากหันไปทำการเกษตรอย่างอื่นเช่น เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และทำสวน

ความเป็นมาของศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2549 โดยชาวบ้านในชุมชนร่วมกันสร้าง ก่อตั้ง โดยมีเป้าหมายของการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมไทดำ โดยกระบวนการก่อตั้งเริ่มจากชาวบ้านบริจาคข้าวของที่ใช้ในพิธีกรรม จึงก่อตั้งขึ้นมา โดยนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกรายมีการ Renovate ไปแล้ว 3 ครั้ง โดยแรกเริ่ม ตัวศูนย์วัฒนธรรมไทดำถูกสร้างด้วยไม้ไผ่ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลง
ในครั้งล่าสุด มีการเปลี่ยนหลังคาจากมุงจาก เป็นหลังคาหญ้าคา ซึ่งมีความแข็งแรงและมีความตรงกับแบบแผนของชาวไทดำ และโครงสร้างหลังคาก็จะเปลี่ยนเป็นเหล็ก ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น คุณวิทยากล่าวในเรื่องนี้ว่า

          “ต้องการให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาหาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรม แรกเลยชาวบ้านเขาอยู่ แต่เขาไม่เคยได้สร้าง เพราะพ่อแม่ของเขาเคยสร้างให้เขาอยู่ คนเฒ่าคนแก่เขาเลยรวมกลุ่มกัน บริจาคพวกเสายุ้งข้าว ซึ่งเสายุ้งข้าวนี้ไม่สามารถนำไปสร้างบ้านได้เลยบริจาคมาทำกิจกรรมร่วมกัน ใครมีอะไรก็มาช่วยกัน ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.
2549 แล้วจึงมีการซ่อมแซมครั้งที่สาม งวดนี้คือครั้งที่3 ครั้งแรกที่ซ่อมแซมเป็นหลังคาหญ้าคา คือเราไม่สามารถทำเอง ไปซื้อหญ้าคามา มันบาง พื้นจะเป็นไม้ไผ่ปูเขาเรียกว่า ฟาก แล้วมันก็เป็นมอด (น่าจะหมายถึงมีตัวมอดมากิน) ครั้งที่ 2 ก็ใช้ไม้ไผ่ แต่หลังคาเปลี่ยนจากหญ้าคามาเป็นจาก มีการต่อเติมอีกห้อง พอครั้งที่ 3 โครงสร้างจะเป็นเหล็ก”

ว่าด้วยพิธีกรรม

ชาวไทดำ ในเขต จ.นครปฐม มีประเพณีและพิธีกรรม ที่คล้ายๆ กัน อาจมีความแตกต่างในรายละเอียด รวมถึงความเข้มข้นในการปฏิบัติในพิธีกรรมแตกต่างกัน สำหรับที่บ้านสะแกราย พิธีกรรมที่ทำกันเป็นประจำของชาวไทดำบ้านสะแกรายก็คือ พิธีเสนเรือน หรือ พิธีเสนแก้เคราะห์บ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพราะชาวไทดำมีความเชื่อมั่นและเคารพในระบบอาวุโส หากผู้อาวุโสในบ้านตาย จึงมีพิธีกรรม เสนเรือน หรือเสนแก้เคราะห์ เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ด้วยข้าวปลาอาหาร ราวกับผู้อาวุโสนั้นยังมีชีวิตอยู่ โดยในการทำพิธีกรรม จะมีตัวแทนที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างคนตาย กับ คนเป็น เรียกว่า “แม่มด” เป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่กำหนดช่วงเวลาในการทำพิธีกรรม คุณวิทยา กล่าวถึงการสรรหาแม่มดอย่างน่าสนใจว่า การที่จะมาเป็น แม่มด ได้ จะต้องมีผู้สืบเชื้อสายมาก่อน หรือมิเช่นนั้น คนคนนั้นที่จะมาเป็นแม่มด จะต้องผ่านเรื่องเลวร้ายจนเกือบถึงชีวิต จึงต้องยกตัวเองให้เป็นแม่มด เพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างคนตายกับคนเป็น จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ โดยส่วนใหญ่ แม่มดก็จะถ่ายทอดให้กับลูกหลานในรุ่นต่อๆ มา

          “คนที่จะมาเป็น ว่ากันว่าบรรพบุรุษคนนั้นมีเชื้อสายมาก่อน จะมาหาลูกหาหลานเพื่อสืบทอด โดยการทำให้ลูกหลานเจ็บป่วย พอไปหาหมอปัจจุบันก็ไม่หาย ต้องไปหาเสี่ยงทายที่บ้านดอนทอง กำแพงแสน เขาจะทักมาว่าบรรพบุรุษอยากมา “นั่งตั่ง” หมายถึงการที่แม่มดอยากมาทำพิธี โดยเขาอยากจะถ่ายทอดเวทย์มนต์ให้กับลูกหลาน ก็จะหาผู้หญิงคนนี้สืบทอดต่อ…”

สิ่งที่น่าสนใจใน ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย ถูกสร้างเป็นเรือนของชาวไทดำ โดยมีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะ เช่นหลังคา การแบ่งพื้นที่ใช้สอย ซึ่งสัมพันธ์กับพิธีกรรมที่ชาวไทดำต้องปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง การสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ให้มีรูปแบบเดียวกับบ้านของชาวไทดำสมัยก่อน คุณวิทยา มีเหตุผลในการสร้างแบบนี้เพราะว่า ต้องการจำลองวิถีชีวิตของชาวไทดำ รวมถึง การจัดวางข้าวของให้ตรงกับตำแหน่งของการดำเนินชีวิตของชาวไทดำ เช่น ในพิธีแต่งงานคนที่เป็นเขยจะต้องขึ้นบ้านทางหลังบ้าน ห้ามไม่ให้เดินผ่านห้องผีเรือนได้ จึงต้องอยู่ในบริเวณบ้านด้านท้ายที่เรียกว่า “กว้าน” ดังนั้นหากจำลองศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ให้เหมือนกับบ้านของชาวไทดำจริง ก็จะสามารถเล่าเรื่อง พิธีกรรมให้สัมพันธ์กับพื้นที่ได้
 
          “ทางนี้เป็น “กว้าน” ลูกเขย หลานเขย จะขึ้นมาทางนี้ กว้านคือพื้นที่บริเวณท้ายบ้าน…เป็นพื้นที่ให้ลูกเขยที่แต่งงานกับลูกสาวมาอาศัยอยู่ตรงนี้ หลังจากที่แต่งงานแล้ว โดยช่วงแต่งงาน ลูกเขยไม่สามารถเดินผ่านห้องผีเรือน พ่อตาแม่ยายได้ จึงต้องเดินผ่านทางนี้มาอยู่ตรงนี้”


ข้าวของที่ถูกจัดวางในศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ก็ถูกจัดวางในตำแหน่งที่สามารถสร้างเรื่องราวเวลามีผู้มาชมศูนย์ฯ ได้ อย่างต่อเนื่อง เช่น ขมุก ซึ่งเป็นเครื่องจักสานของชาวไทดำ ใช้สำหรับใส่เสื้อผ้า ก็ถูกจัดวางในพื้นที่ห้องนอน บนชั้น หรือ การสร้างหิ้งมด ซึ่งเป็นหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ ก็ถูกสร้างขึ้นในตำแหน่งและรูปแบบที่ไม่มีความละเอียดเหมือนกับของจริง เป็นต้น โดยคุณวิทยาเวลานำชมพร้อมกับพาเดินชมห้องต่างๆ ก็จะสามารถชี้ไปที่ข้าวของเพื่อบอกเล่าเรื่องราวได้ทันที เช่น ข้อความต่อไปนี้ ที่คุณวิทยาพาไปชมห้องนอนที่มีมุ้งสีดำกางอยู่ และมี ไต๊ หรือ หอระย้าเสียบเข้ากับผนัง

          “เห็นเขาว่า เวลาไปไร่ไปนา มุ้งเขาจะไม่เก็บ จะกางไว้ในห้องตลอด คือให้ผีเรือนเฝ้าบ้าน แต่พอกลางคืนก็มานอนได้ …มุ้งสีดำนี่แหละ เขาจะให้ลูกสาวนอนในห้องผีเรือน ตอนที่ลูกสาวยังไม่แต่งงาน เวลาพิธีเสนก็จะมีเครื่องจักสานเรียกว่า “หอระย้า” ที่สานด้วยใบตาล เรียกว่า “ไต๊” แทนตัวเรา ถ้าของผู้ชายจะมีธนู ของผู้หญิงไม่มีธนู เวลาพิธีเสนเรือนจะเอาข้าวสาร หมากพลูใส่ตรงนี้ เพื่อคนที่ยังอยู่ บ้านไหนมีกี่คนก็ทำไต๊ตามจำนวนคนที่อยู่ในบ้าน ไต๊ ประกอบไปด้วยตะกร้าสำหรับยัดข้าวเหนียว เวลาทำเสนเรือนเขาจะยัดข้าวเหนียว ข้าวสาร หมากพลู บางคนก็ใส่ตัง เขาก็จะเก็บไว้ เสียบไว้กับ กะล๊อฮ่อง เวลาใครเสียชีวิต ก็เอาออกไปไว้บนฝาโลง และนำไปเผาตามโลงไป”


นอกจากนี้ พิธีป้าดตง หรือการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ก็เป็นพิธีที่ชาวไทดำทุกคนต้องทำเป็นประจำไม่ขาด เพราะการทำป้าดตง มี 2 นัยยะ นัยยะแรก คือการเคารพผู้อาวุโสถึงแม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว นัยยะที่ 2 คือ การทำป้าดตง คือเป็นการแสดงให้คนในครอบครัวรู้สึกว่า ผู้อาวุโส ไม่ได้จากไปไหน เพียงแต่อยู่ในอีกภพ แต่ลุกหลานก็สามารถติดต่อกันได้ ดังนั้นการนำข้าวมาเซ่นไหว้ ก็เหมือนกับการนำข้าวปลาอาหารไปให้ผู้อาวุโสรับประทานนั่นเอง

          “นี่คือขันหมากเวลาป้าดตง เอามาเซ่นไหว้ พ่อแม่ คนตาย ถ้าผู้ต๊าว (ผีใหญ่) เป็นชนชั้นสูง จะป้าดตง
5 วัน ต่อ 1 ครั้ง แค่มือกลางวันมื้อเดียว ส่วนผู้น้อย เช้าก็ป้าด กลางวันบ่ายโมงก็ป้าด ก็คือ เอาข้าวที่ทำมาเลี้ยง มาบอกให้พ่อแม่ที่เสียชีวิตมากิน ทุกครึ่งชั่วโมงให้พ่อแม่กิน ไปทำงาน พอนึกได้ เราก็มายกสำรับออกเราก็เอาไปกิน พอตกกลางวัน เราก็แบ่งกับข้าว ขนม แกง ตกกลางวันบ่ายโมง เราก็เลี้ยงอีกที บ่ายโมงกว่าๆ ก็เอาไปกินกัน ถ้าผู้ต๊าว 5 วัน ทำครั้งหนึ่ง เลี้ยงเฉพาะกลางวัน บ้านผมทำทุก 10 วัน (หัวเราะ) แล้วก็ลืม บางทีก็ทำตอนค่ำ เพราะชอบลืม อาศัยญาติพี่น้องที่ทำพร้อมกัน”

 

พิธีกรรม เสนเรือน เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่ง ที่ชาวไทดำทุกคนจะต้องทำ คล้ายกับการทำบุญบ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ เพราะในการทำเสนเรือน จะต้องมีการล้มหมู (ฆ่าหมู) เพื่อนำชิ้นส่วนของหมูทั้งหมดมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ แล้วจึงนำหมูทั้งหมดนั้นมากิน โดยในพิธีกรรม จะมีการเชิญญาติพี่น้อง และ คนในชุมชนมาทำพิธี และกินอาหารร่วมกันด้วย ในการทำเสนเรือน นั้น ชั่วชีวิตของชาวไทดำ จะทำกี่ครั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชาวไทดำแต่ละคน คุณวิทยา กล่าวถึง การทำพิธีเสนเรือน ดังนี้
          “ก็มีพิธีเสนเรือนนี่แหละ ยังอนุรักษ์ไว้ บ้านไหนพอมีเงินก็จะทำพิธีกรรมเสนเรือน คือเลี้ยงหมูไว้ เมื่อก่อนเขาเลี้ยงหมูใต้ถุนบ้าน โดยหมูนั้นต้องเป็นตัวผู้ เมื่อตัวใหญ่พอที่จะเลี้ยงแขกพี่น้องได้ เขาก็นัดวันเวลา ไปหาหมอเสนเรือนทำพิธี ทุกบ้านยังทำกันอยู่
3-5 ปี บ้าง บางบ้านไม่มีตังก็ 10 ปี ทำครั้งหนึ่ง เป็นการทำเพื่อให้บรรพบุรุษ เหมือนกับปู่ย่าตายายทำกันมา เราก็เห็นเขาทำกันมา ต่อไปพอพ่อแม่เสียชีวิต เราก็ต่อยอดทำตรงนั้นให้เขาเหมือนกัน”

          “ก็ทำเรื่อยๆ จนกว่าเสียชีวิต ไม่มีกำหนดในการทำ อาจจะ
3-5 ปี แล้วแต่บ้านแล้วแต่คน ถ้าคนที่คิดจะทำก็ต้องมีวาระเหมือนทำบุญเลี้ยงพระบ้านในศาสนาพุทธ เหมือนการเซ่นหมูให้บรรพบุรุษนั่นแหละ ทุกบ้านก็ไปหาซื้อหมู ใช้หมูตัวผู้ เดี๊ยวนี้ทันสมัยเราก็ไปชี้เอาที่เล้าที่โรงเชือดแล้วให้ทางโรงเชือดฆ่าให้ แล้วจากนั้นก็เอาหมูกลับมาบ้าน ก็ให้คนหามขึ้นมา หรือใช้ลูกเขยหามหมูขึ้นมา เดี๊ยวนี้ส่วนใหญ่ซื้อหมูเอา เขาไม่เลี้ยงกันแล้ว ตอนกลางคืนทำหมูเสร็จ พวกผู้หญิงก็เอาหมูตัวนั้นมาทำกับข้าวต้อนรับแขกตอนเช้ากับตอนบ่ายก็เสร็จพิธี”

งบประมาณ และการจัดการ

งบประมาณในการจัดการ และดำเนินการ ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย ไม่มีที่มาที่แน่นอน ในตอนต้นของการสร้างศูนย์ฯ ได้งบประมาณมาจาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5 แสนบาท ให้ อบต. มาเหมาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจำนวนเงินก็ไม่เพียงพอ แต่คนในชุมชนก็มาช่วยกัน โดยเบื้องต้นเมื่อก่อสร้างโครงสร้างศูนย์ฯ เรียบร้อยแล้ว ยังเหลือเงินอีกประมาณ 2-3 หมื่นบาท ก็นำไปซื้อข้าวของ และอุปกรณ์อื่นๆ 

          “ในการปรับปรุงครั้งล่าสุด ได้งบจาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มา
5 แสน ก็จะเอามาให้ อบต. มาเหมาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งไม่พอหรอก ก็เลยเอาคนในชุมชนมาช่วยกันทำ จนเงินจะใช้ก็ยังเหลืออีกประมาณ 2-3 หมื่น แต่ผู้ใหญ่เก็บไว้เผื่อมาซ่อมแซมซื้อของ ที่ชำรุด ไฟที่เห็นทุกวันนี้ต่อมาจากวัด”


นอกจากนี้ คุณวิทยา ยังอาศัยเงินจากคนในชุมชน เวลาทำพีกรรมต่างๆ เช่น พิธีเสนเรือน ชาวบ้านก็จะบริจาคเงินมาช่วยเหลือการดำเนินการศูนย์ฯ โดยเงินดังกล่าว อาจนำไปบริจาคให้เป็นค่าไฟกับวัด หรือ บางส่วนก็นำเงินไปซื้อข้าวของมาจัดแสดงเพิ่ม เพราะข้าวของที่ใช้จัดแสดงนี้ บางทีชาวบ้านก็มาหยิบยืมเพื่อนำไปใช้ประกอบพิธีกรรม จึงต้องมีการซื้อใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอยู่ตลอด

          “เงินที่ได้ส่วนมากผมบริหารจัดการคนเดียว เวลาได้เงินมา เวลาเสนเคราะห์บ้านเขาให้มา
500 เราก็ซื้อของใหม่ๆ มาเพิ่ม มาเติม แต่ผมจดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ ได้เงินจากชาวบ้านที่มายืมของของเรา อย่างงานเสนแก้เคราะห์บ้าน ก็ต้องใช้หมอนเยอะ ก็เลยให้ชาวบ้านมาเปลี่ยนตรงนี้แล้วนำไปทำพิธีกรรมที่บ้านเขา เสร็จแล้วก็เอามาคืน ก็นับเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ในการทำพิธี ก็มายืมตรงนี้” 




ชื่อผู้แต่ง:
อานุภาพ สกุลงาม
คำสำคัญ: