พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือ


ชุมชนวัดมะเกลือตั้งอยู่บริเวณตำบลคลองโยงอยู่ริมคลองนราภิรมย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชโองการให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421 ที่มาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือมาจากคนในท้องถิ่นเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาภายนอกนั้นนับวันก็จะรุนแรงและรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ แกนนำเริ่มมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษที่ 2540 จนกระทั่งเริ่มมีการทำงานร่วมกันระหว่างโครงการศิลปศาสตร์อาสา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับเครือข่ายกลุ่มคนรักษ์ถิ่น (บ้านวัดมะเกลือ) เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือ มีจุดประสงค์เพื่อต้องการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชน ไม่ให้ชุมชนลืมรากเหง้าของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างจิตสำนึก และความผูกพันกับชุมชน ครอบครัว และบ้านเกิดของตน ในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ การจัดแสดงนำเสนอประวัติความเป็นมาของคลองนราภิรมย์ ประวัติชุมชนและวัดมะเกลือ เครื่องมือในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ที่อยู่:
วัดมะเกลือ ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
โทรศัพท์:
089-892-6822 คุณวลี สวดมาลัย
วันและเวลาทำการ:
เสาร์-อาทิตย์ และช่วงที่มีงานของวัด กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
maklua_museum@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
เอกสารทางราชการโบราณ หนังแอกน้อยและโขนง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 21 สิงหาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือ

ชุมชนวัดมะเกลือตั้งอยู่บริเวณตำบลคลองโยงอยู่ริมคลองนราภิรมย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชโองการให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421 มีขนาดกว้าง 4 วา ลึก 4 ศอก ยาว 540 เส้น (กว้าง  8 เมตร  ลึก 2 เมตร ยาว 21.6 กม.) โดยได้ว่าจ้างให้แรงงานชาวจีนเข้ามาดำเนินการขุด คลองทางด้านทิศเหนือเริ่มต้นแยกจากแม่น้ำนครไชยศรี ที่บ้านลำพระยา (หรือตลาดน้ำลำพระยาในปัจจุบัน) ไปชนกับคลองทวีวัฒนา (เป็นแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้) เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำนาของประชาชนในแถบนี้ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2423 พระราชทานนามให้ว่าคลองนราภิรมย์ตามชื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระราชมารดาของพระองค์ พร้อมๆ กับพระบรมราชโองการเปิดใช้คลองอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2423 คุณวลี สวดมาลัย หนึ่งในผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ เล่าว่าคนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่าคลองนี้เป็นคลองทวีวัฒนา แต่ในความเป็นจริงมีชื่อต่างหากจากนามที่ได้รับพระราชทานนามมา
 
ก่อนที่จะมีการขุดคลองนราภิรมย์พื้นที่แถบนี้เป็นที่ลุ่มขนาดใหญ่และอยู่ในเขตการปกครองของ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดมะเกลือส่วนหนึ่งอพยพมาจากบ้านใหม่ เมื่อประมาณ 100 กว่าปีก่อน[1] แต่ไม่ทราบปีที่อพยพมาแน่ชัด แต่ถ้าหากเทียบกับปีที่สร้างวัดมะเกลือใน พ.ศ. 2410-2411 ก็เชื่อว่าชุมชนคงอพยพเข้ามาก่อนหน้านั้นไม่นานนัก (อย่างน้อยก็พอจะคำนวณคร่าวๆ ว่าชุมชนอพยพมาไม่ต่ำกว่า 146 ปีที่แล้ว) เมื่อมีการขุดคลองขึ้นจึงเริ่มมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น และเขตการปกครองของชุมชนแห่งนี้ก็ย้ายมาสังกัดกับ จ.นครปฐม โดยใช้คลองนราภิรมย์เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
       
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชน ไม่ให้ชุมชนลืมรากเหง้าของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างจิตสำนึก และความผูกพันกับชุมชน ครอบครัว และบ้านเกิดของตน ในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ แนวคิดในการรวมตัวของชุมชนแห่งนี้เริ่มจากการที่กลุ่มผู้ใหญ่หลายๆ คนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาภายนอกนั้นนับวันก็จะรุนแรงและรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเยาวชนในชุมชนที่พบเจอกับสิ่งเร้าต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นร้านเกมส์ และการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่สะดวกรวดเร็ว แกนนำเริ่มมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษที่ 2540 จนกระทั่งเริ่มมีการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับเครือข่ายกลุ่มคนรักษ์ถิ่น (บ้านวัดมะเกลือ) มีการจัดประชุมและเวทีสนทนากันภายในชุมชนที่เริ่มทำมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2543-2544
 
ในช่วงแรกชาวบ้านหลายคนขอถอนตัวออกจากวงสนทนาเนื่องจากยังไม่เห็นประโยชน์ของกิจกรรม แต่ทางเครือข่ายฯ ก็ยังมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเริ่มมีการหยิบยกปัญหาเรื่องการชำรุดทรุดโทรมของสะพานไม้ข้ามคลองนราภิรมย์ด้านหน้าวัด ที่ชาวบ้านทางฝั่งวัด และชุดชนตลาดวัดมะเกลือใช้เดินทางข้ามติดต่อค้าขายระหว่างกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ประเด็นเรื่องการซ่อมแซมสะพานได้ดึงให้ชาวบ้านที่เคยห่างเหินกลับมาพูดคุยปรึกษาหารือจนกลายมาเป็นแนวคิดการทำผ้าป่าเพื่อระดมทุน วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 วันฉัตรมงคลชาวบ้านถือเป็นฤกษ์ดีในการจัดงานทอดผ้าป่า ในงานดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในการฟื้นฟูการแสดงเพลงเรือ การทำขนมจีน และอาหารที่มีชื่อของชุมชนจัดเลี้ยงผู้มาร่วมงาน ได้เงินมาครั้งแรก 260,000 บาท แต่ก็ยังเพียงพอต่อการซ่อมสะพาน หลังจากนั้นได้กับการบริจาคมาเพิ่มเติมจนสามารถซ่อมสะพานได้เป็นเงินทั้งสิน 320,000 บาท ในวันที่ 30สิงหาคม พ.ศ. 2552[2]เมื่อการซ่อมแซมเสร็จสิ้นจึงได้จัดงานฉลอง 100 ปีสะพานไม้แห่งนี้
 
หลังงานฉลองสะพาน 100 ปีชาวบ้านหันกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งเรื่องปัญหาต่างๆ ในชุมชน และเริ่มเกิดแนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นขึ้นภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณการปรับปรุงอาคารใต้ถุนของวัดให้เป็นห้องจัดแสดโดยวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม และทางมหาวิทยาลัยมหิดลโดยอ.ดร.อภิลักษณ์ ในการนำนักศึกษาเข้ามาเก็บข้อมูล การออกแบบห้องจัดแสดง และจัดทำเนื้อหาในห้องจัดแสดง พิพิธภัณฑ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555 วันเดียวกับการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “กาลครั้งหนึ่ง...ถึงกาลครั้งนั้น” ภายใต้โครงการ ศิลปศาสตร์อาสา:พัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือ ของคณะอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และชาวบ้านชุมชนบ้านวัดมะเกลือ
 
วัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มีที่มาจากของสะสมของเจ้าอาวาสวัดมะเกลือคือ พระครูบวรธรรมานุสิฐ และวัตถุที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวบ้าน เช่น เอกสารแต่งตั้งผู้นำของทางราชการ ตั๋วแสดงรูปพรรณควาย เอกสารในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง และตู้เก็บสมุนไพร
 
ในส่วนของเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
        1.ส่วนแรกเป็นส่วนรับแขกและมีป้ายนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างของคลองนราภิรมย์ รวมถึงชุมชนบ้านวัดมะเกลือ
        2.เมื่อเดินเข้าไปด้านในเป็นเนื้อหาจัดแสดงเกี่ยวกับชุมชนบ้านวัดมะเกลือ ดังนี้
 
ส่วนจัดแสดงเอกสารสำคัญของทางราชการ วัตถุเด่นของการจัดแสดงส่วนนี้คือ ตั๋วแสดงรูปพรรณควาย ซึ่งคุณวลี สวดมาลัยให้คำอธิบายว่าสมัยก่อนควายถือเป็นสัตว์สำคัญในสังคมเกษตรกรรม และมักจะเกิดกรณีลักขโมยกันบ่อยๆ ทางราชการจึงได้จัดทำตั๋วแสดงรูปพรรณควายให้กับเกษตรกรเก็บไว้เป็นหลักฐานแสดง รวมถึงใช้ในการแจ้งความ
 
เครื่องใช้แสดงวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยเฉพาะเครื่องมือจับสัตว์น้ำ (ไซ ลอบ ชนาง ฯลฯ)  เรือบิณฑบาต เครื่องมือทำเกษตรกรรม (สีฝัด, ครกตำข้าว) เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน (เครื่องจักสาน หม้อต้มยา ป้านน้ำชา กาน้ำชา) การรักษาพยาบาล (ตู้ยาสมุนไพรโบราณ ของหมอชาวจีนในชุมชนที่ทายาทนำมาบริจาคให้ ใบลานบันทึกเกี่ยวกับตำรายาโบราณ ซึ่งได้รับการคัดลอกและตีพิมพ์แล้วโดยมหาวิทยาลัยมหิดล)
 
อาหารโบราณ ในตู้จัดแสดงแผ่นหนังและเส้นหนัง 2 ชิ้นไว้ด้วยกัน คือ หนังแอกน้อย (เส้นหนังที่ควั่นเป็นเกลียว) และโขนง (แผ่นหนัง) หนังทั้ง 2 ชิ้นทำจากหนังควายที่แก่และตายลง ชาวบ้านจะนำเนื้อมากินและแล่หนังไว้ใช้งาน หนังแอกน้อยนั้นจะนำไปใช้สนตะพายควายในการไถนา ส่วนโขนงนับเป็นการถนอมอาหารของชาวบ้านรูปแบบหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดก็จะไปจบที่เดียวกันคือเป็นอาหาร (แม้แต่หนังแอกน้อย เมื่อใช้งานจนหมดสภาพแล้วก็ถูกนำมาประกอบอาหารด้วยเช่นกัน) อาหารที่นิยมประกอบขึ้นจากหนังควายทั้ง 2ชิ้นนี้ได้แก่ แกงขี้เหล็ก และยำโขนง ดังนั้น หนังทั้ง 2 ชิ้นนี้ก็นับได้ว่าเป็นวัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
 
โบราณวัตถุทางทะเล (เครื่องถ้วยจากแหล่งเรือจม) ได้รับบริจาคจากชาวบ้านที่ไปประกอบอาชีพประมง ให้กับทางวัด และเจ้าอาวาสนำมาจัดแสดง
 
การบริหารจัดการในปัจจุบันมีผู้รับผิดชอบ (ถือกุญแจ) อยู่ 2 คน คือ เจ้าอาวาสวัด และคุณวลี (เครือข่ายกลุ่มคนรักษ์ถิ่น) ความต้องการในอนาคตที่ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์กังวลเล็กน้อยคือคนที่จะมาสืบทอดงานทั้งหลายในปัจจุบันเริ่มสร้างกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบทอดกันบ้างแล้วโดยจัดตั้งเป็นกลุ่มเด็กมะเกลือพิทักษ์รักษ์ถิ่น มีสมาชิกประมาณ 30คน (ทำกิจกรรมทั้งด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม) และในอนาคตคือการจัดทำกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยที่สามารถนำชมพิพิธภัณฑ์และชุมชนได้ (โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล)
 
อันที่จริงคุณวลีให้สัมภาษณ์ว่าพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักแค่การจัดแสดงแต่ต้องการให้เป็นพื้นที่ของการพูดคุย การสานสัมพันธ์ให้กลับมาใกล้ชิดกันเหมือนเช่นในอดีตของชาวบ้าน ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักของผู้เข้าชมอันดับแรกจึงเป็นชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง
 
การเดินทาง
จากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าออกถนนบรมราชชนนีไปทางจังหวัดนครปฐม จนกระทั่งถึงสะพานเลี้ยวขวาบอกทางไปพุทธมณฑลสาย 4 ชิดซ้ายเพื่อขึ้นสะพานเข้าสู่พุทธมณฑลสาย 4 หรือถนนหมายเลข 3310 วิ่งต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร เบี่ยงออกซ้ายเพื่อเข้าสู่ถนนธรรมสพน์ (ถนนหมายเลข นฐ.4006) วิ่งต่อไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาสู่ถนนหมายเลข นฐ.3004 ตรงไปประมาณ 10 กม. จะเห็นซุ้มวัดมะเกลืออยู่ทางด้านขวามือ หาที่กลับรถเพื่อข้ามกลับไปยังฝั่งตรงกันข้าม (มีเกาะกลางถนนกั้นอยู่) หลังจากเข้าประตูซุ้มวัดเข้าไปแล้ววิ่งตรงไปเรื่อยๆ ด้านซ้ายมือจะเป็นกำแพงโรงเรียนวัดมะเกลือจนสุดทางเลี้ยวขวา จะเห็นประตูทางเข้าวัด อาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ติดกับลานจอดรถของทางวัด
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 8 เมษายน 2556
 
อ้างอิง: สัมภาษณ์คุณวลี สวดมาลัย อายุ 58 ปี ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์และหนึ่งในเครือข่ายกลุ่มคนรักษ์ท้องถิ่น
 

[1] ชุมชนบ้านใหม่นี้ชาวบ้านสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นบ้านใหม่ที่อยู่ในเขต จ.นนทบุรี ในปัจจุบัน
[2] วันที่ 30 สิงหาคม เป็นวันที่ทางชุมชนมักจะยึดเป็นฤกษ์ในการจัดงานทางวัฒนธรรมต่างๆ ด้วยตรงกับวันที่เปิดใช้คลองนราภิรมย์เป็นครั้งแรก 
ชื่อผู้แต่ง:
-