ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ตั้งอยู่ในภายในบริเวณวัดลัฎฐิวนารามหรือวัดไผ่คอกเนื้อ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนเชื้อสายชาวไทดำบ้านไผ่คอกเนื้อ ต้องการสร้างสถานที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลชาวไทดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ไม่ให้ต้องการให้สูญหายไปตามกาลเวลา ในช่วงหนึ่งมีโรงเรียนวัดไผ่คอกเนื้อกำลังถูกยุบเพราะไม่มีเด็กเรียน ชาวบ้านจึงขอใช้ไม้จากอาคารดังกล่าวนำมาสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการเตรียมงาน ดังนั้น ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ จึงมีเพียงแค่สถานที่ อันได้แก่ เรือนไทยดำขนาดใหญ่ ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่พื้นที่ด้านบน ยังเป็นพื้นที่โล่งๆ ยังไม่มีการจัดแสดงข้าวของ โดยปัจจุบันกำลังเตรียมการณ์เรื่องข้าวของที่จะนำมาจัดแสดง ซึ่งจะขอรับบริจาคจากคนในชุมชน
โดย:
วันที่: 09 ตุลาคม 2563
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ซึ่งตั้งอยู่ในภายในบริเวณวัดลัฎฐิวนาราม มีลักษณะเป็นเรือนไทดำ สองชั้น ขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่จัดแสดงประมาณ 800 ตร.ม. มีโครงสร้างเป็นคอนกรีต และหลังคาเป็นโครงเหล็กและมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการสร้างเรือนไทแบบโบราณ แต่ด้วยความใหญ่ของตัวเรือน จึงเลือกใช้หลังคาที่ทำด้วยกระเบื้อง ด้านบนพื้นเป็นไม้ และยังเป็นพื้นที่โล่งๆ ยังไม่มีการจัดแสดงข้าวของอะไรอย่างเป็นทางการ ทางคณะทีมงานผู้ดำเนินการวางแผนไว้ว่า จะเปิดให้เข้าชมภายใน 2 ปี ระหว่างนี้กำลังดำเนินการซ่อมแซมข้าวของ รวมถึงการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่จะดำเนินการบนศูนย์ฯ
การดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ
การสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ซึ่งตั้งอยู่ในภายในบริเวณวัดลัฎฐิวนาราม นั้น เกิดขึ้นจากกลุ่มคนชาวไทดำ ที่ต้องการสร้างสถานที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลชาวไทดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ไม่ให้ต้องการให้สูญหายไปตามกาลเวลา ในช่วงหนึ่งมีโรงเรียนที่กำลังยุบเพราะไม่มีเด็กเรียน กลุ่มคนนี้จึงเริ่มขอใช้ไม้จากอาคารนำมาสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ โดยคุณนคร พรหมจรรย์ ประธาน ศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ วัดลัฎฐิวนาราม เป็นผู้ดำเนินเรื่องการก่อสร้าง โดยได้รับความร่วมมือจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด นครปฐม โดยก่อนหน้านี้ พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลุ่มๆ ก็ต้องมาปรับพื้นที่ โดยงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากการทำผ้าป่า และคุณนครก็คือคนบริจาคเงินเริ่มต้นในการก่อสร้างของตนเองประมาณ 6 ล้านบาท โดยไม่มีเงินงบประมาณจากทางรัฐบาลเลย โดยแนวคิดในการสร้างศูนย์ คือ อยากให้เป็นสถานที่ที่รวบรวมข้อมูลชาติพันธุ์ไทยดำทั่วโลก เพราะคนไทยดำมีกระจายอยู่ทั่วไปบนโลกนี้ น่าจะมีศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลไทยดำไว้ในที่ที่เดียว นายสังวาลย์ สระทองพร้อม กรรมการศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำ วัดไผ่คอกเนื้อกล่าวว่า
“คือความคิดของเราที่คุยกัน เรามองดูภาพของศูนย์ชาติพันธุ์ไทดำ มันจะไม่มีที่ไง ท่านประธาน คุณสามารถ คุณนคร ก็มาคิดกับชาวบ้าน ว่าตรงนี้เราทำเป็นส่วนกลาง ของศูนย์ชาติพันธุ์ดีไหม มันกึ่งกลางแล้วที่อื่นไม่มี จะได้รวบรวมชาติพันธุ์ของไททรงดำทั่วโลก เพราะคนประเทสนอกก็เคยมาเที่ยว จากเวียดนาม ลาว คนที่เคยอพยพไปอยู่ไอโอวาก็เคยมาเที่ยว แล้วหลังคาเนี่ย มันมีคนไปอยู่อเมริกาไปอยู่ตั้งแต่อายุ 23 ตอนที่เขามาอายุ 77 เขาก็มาดู ก็คุยกับผมกับคุณนครว่า ทำนี่มีวัตถุประสงค์อะไร ผมก็ตอบว่าทำเพื่อชาติพันธุ์ไททรงดำ เราจะรวบรวมเผ่าพันธุ์ไว้เป็นจุดศูนย์กลาง ใครมีอะไรก็มาปรึกษาที่ศูนย์ เราจึงตั้งศูนย์ตรงนี้ว่าเป็นศูนย์ชาติพันธุ์ไทดำทั่วโลก”
การเตรียมการการจัดแสดงข้าวของ
เนื่องจากอยู่ในช่วงของการเตรียมงาน ดังนั้น ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ จึงมีเพียงแค่สถานที่ อันได้แก่ เรือนไทยดำขนาดใหญ่ ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่พื้นที่ด้านบน ยังเป็นพื้นที่โล่งๆ ยังไม่มีการจัดแสดงข้าวของ โดยปัจจุบันกำลังเตรียมการณ์เรื่องข้าวของ โดยการนำข้าวของมาซ่อมแซม คุณสังวาลยืกล่าวถึงการเตรียมการณ์ว่า
“ตอนนี้อยู่ในการตระเตรียม กว่าที่เราทำเรื่อยๆ ทุกวันนี้เพิ่งจะลงพื้นน้ำมันข้างบนเพิ่งเสร็จ ใช้เวลามาปีกว่าไม่เคยหยุดนิ่งเลยนะ ทำตลอดทุกวัน ตอนนี้กำลังเริ่มเก็บสะสมของไทดำ สร้างขึ้นมาให้เด็กรุ่นหลังได้ศึกษา วิถีชีวิตไทดำการอยู่กิน ทอหุง ก็ทำให้ลูกหลาน พอทอผ้าแล้วเอามาทำอะไรบ้าง ให้รุ่นหลังได้รู้ได้ศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ของไทดำ ก็จะทำเป็นห้องสมุดด้วย ทำทุกอย่าง ทำพิธีกรรมต่างๆ จัดไว้เสร็จ คือเราทำไม่ได้หยุดการก่อสร้าง ทีนี้การใช้จ่ายได้จากไหนก็คือ คุณนครผู้มีจิตใจกว้างขวาง ต้องยอมรับว่าแกรักในชาติพันธุ์มาก ค่าใช้จ่ายก่อนหน้านั้นประสาน แสนสอง แสนสาม เริ่มตั้งแต่ 23 เมษายน ปี 2561 ไม่เคยหยุดเลย คนงานวันละ 7 คน 8 คน ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดจะเสร็จ มีการจำลองพื้นที่ทำพิธีกรรมด้วย ซึ่งจะอยู่ด้านบน”
การได้มาซึ่งข้าวของและวัตถุทางวัฒนธรรม
คุณวิภาพร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ วัดไผ่คอกเนื้อบอกว่า ได้ข้าวของเพื่อการจัดแสดงมาจากชาวบ้านในชุมชน โดยเมื่อมีการไปพบปะพูดคุยก็จะมีการบริจาค หรือให้กันมา เพราะว่าคนไทยทรงดำจะรักกัน แต่ถึงอย่างไร เมื่อดูจากสภาพพื้นที่แล้วก็คิดว่า น่าจะต้องมีการหาข้าวของมาเพิ่มเติม
“เป็นของชาวบ้านในชุมชนค่ะ เราเข้าไปพบปะพูดคุยเขาก็มีของเก่าๆ ก็ให้มาโดยการบริจาค ก็จะร่วมด้วยช่วยกัน พอมาถึงเราก็มีซ่อมบ้าง ส่วนใหญ่โซ่งด้วยกันก็จะรักกัน สามัคคีกัน เห็นว่ามีการสร้างศูนย์ก็บริจาคกัน เพิ่งเริ่มหาของเข้ามา จึงยังไม่มีการทำทะเบียนวัตถุ ก็จะมีการวางแผนว่าจะทำทะเบียนวัตถุ แต่ยังต้องการคำแนะนำจากหน่วยงานราชการเพราะยังไม่เคยทำแบบนี้ค่ะ ยังไม่มีความรู้ด้านนี้ ที่นี่น่าจะมีของมาเพิ่มเรื่อยๆ”
ขณะที่คุณสังวาลกล่าวเสริมว่า การที่ได้ข้าวของพวกนี้มาก หากคนที่เก็บไว้มันอาจจะไม่มีคุณค่า แต่หากนำมาเก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์ มันอาจจะเป็นประโยชน์กับคนหมู่มากได้
“ด้านคุณค่าของพวกนี้ จะไปเก็บไว้มันก็ไม่มีราคา ถ้ามันอยู่ที่นี่มันมีคุณค่าด้านการศึกษา ถ้าอยู่ที่บ้านมันก็ไม่มีความหมายอะไร ก็ทิ้งขว้าง มาอยู่ที่ศูนย์มีค่าให้ลูกหลานไททรงดำได้ศึกษา”
การวางแผนการจัดการศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ในอนาคต
ปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ เป็นศูนย์ฯที่ดำเนินการโดยมูลนิธิไทยทรงดำแห่งประเทศไทย ไม่มีสถานะเป็นศูนย์ที่หน่วยงานของรัฐรองรับ เพราะไม่มีกฎหมายรับรอง โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ พยายามยื่นเอกสารเพื่อให้มีการรับรองตามกฎหมายแต่ก็ไม่สามารถทำได้ มีเพียงแค่หนังสือรับรองสมาคม หรือมูลนิธิเท่านั้น คุณวิภาพรกล่าวว่า อยากให้ศูนย์มีสถานะที่ถูกรับรองด้านกฎหมาย อยากจะได้การรับรองให้เป็นศูนย์วัฒนธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าติดที่เอกสารอะไร หรืออย่างไร
“เราก็อยากทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจากส่วนต่างๆ เราเคยไปถามเขาบอกว่าไม่สามารถจดทะเบียนเป็นศูนย์วัฒนธรรมได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าติดที่เอกสารอะไรหรือเปล่า”
ขณะที่คุณสังวาลย์ ก็กล่าวเสริมว่า ทางราชการให้สามารถใช้ชื่อนี้ได้ แต่ไม่มีกฎหมายรับรอง
“ผมได้ไปอำเภอ เขาแนะนำให้ไปจังหวัด ทีนี้ศูนย์เขาบอกว่าใช้ชื่อได้ แต่ทางด้านกฎหมายการรับรอง มันไม่มีแต่ก็สามารถใช้ชื่อศูนย์ได้เลย ก็เลยมีแค่หนังสือรับรองสมาคม มูลนิธิ อาจจะเริ่มใหม่ให้ทำเป็นหนังสือรับรองให้ได้ให้เป็นศูนย์วัฒนธรรม ก็จะเริ่มมาให้จะไล่มาตั้งแต่ตำบล มาอำเภอ จนถึงจังหวัด คือต้องการให้ทางการรับรองเป็นศูนย์ฯ ให้ได้”
อุปสรรค และความต้องการของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ
โดยส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้คนที่ให้ข้อมูลทั้งหมด ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องงานทางด้านวัฒนธรรมในภาพรวม หรือแม้แต่งานการจัดการข้อมูล หรือ เกี่ยวกับวัตถุทางวัฒนธรรม ทั้งในเรื่องการดูและรักษา และการจัดกิจกรรม จึงมีความต้องการได้รับความรู้เหล่านี้ ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม โดย คุณไสว เพชรรุน ประธานมูลนิธิไทยทรงดำแห่งประเทศไทย บอกว่า ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมเท่าใดนัก และอยากให้มีคนมาช่วยเสริมความรู้ตรงนี้เพื่อที่จะได้ทำงานต่อไปได้
“อะไรก็ตามเกี่ยวกับวัฒนธรรมผมยังไม่ค่อยเข้าใจ อยากได้คนที่มีความรู้ทางด้านชาติพันธุ์มาแนะนำ การทำยังไง พิธีกรรมนั้นเป็นยังไง ประเพณีเป็นยังไง ผมอยากได้ตรงนี้ ผมคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง ไม่ได้แนะนำต่อว่าต้องทำยังไง ผมอยากได้คนที่มีความรู้ตรงนี้มาช่วย ช่วยเสริมความคิด เพิ่มเติมตรงไหน อยากให้นำคณะมาเที่ยวชมอยากให้แนะนำ”
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ไทดำ ไทยทรงดำ เรือนไทดำ
หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก
จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง
จ. นครปฐม
สวนศิลป์มีเซียม ยิบอินซอย
จ. นครปฐม