ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต อยู่บริเวณเดียวกับบ้านผู้ใหญ่กำจร เพชรยวน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 และทำหน้าที่ดูแลศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้ เดิมทีศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 20 ปี โดยผู้ก่อตั้งคือกำนันไพศาล หรือกำนันแดง ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว จากนั้นผู้ใหญ่กำจรจึงรับช่วงต่อการดูและศูนย์ฯ จากกำนันแดง โดยเป้าหมายของการจัดตั้งคือ ผู้คนในหมู่บ้านวิตกกังวลว่าความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน จะทำให้ประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับไทยดำจะสูญหายไป จึงริเริ่มที่จะก่อตั้งศูนย์นี้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านไทดำ และยังช่วยสืบต่อความรู้ไทดำไปยังกลุ่มคนอื่นๆ อาคารศูนย์ฯ เป็นอาคารชั้นเดียว จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับไทดำ เช่น เชี่ยนหมาก อุปกรณ์จับปลา โห้ ปานเผือน ที่ปั่นด้าย และชุดการแต่งกายของชาวไทดำทั้งชายและหญิง โดยมีการนำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมที่ผลิตขึ้นจากนักศึกษาที่เข้ามาเก็บข้อมูลมาจัดแสดงด้วย ด้านข้างของศูนย์ฯ เป็นศาลาเปิดโล่งชั้นเดียว จัดแสดง เครื่องสีข้าวมือ และครกกระเดื่อง ที่ผู้ชมสามารถทดลองเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้
โดย:
วันที่: 09 ตุลาคม 2563
โดย:
วันที่: 09 ตุลาคม 2563
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต ตั้งอยู่ที่ หมู่11 ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านเกาะแรต และบริเวณเดียวกับบ้านผู้ใหญ่กำจร เพชรยวน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 และทำหน้าที่ดูแลศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้ ตัวศูนย์ฯ เป็นอาคารชั้นเดียว มีพื้นที่จัดแสดงประมาณ 40 ตร.ม. จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับไทดำ เช่น เชี่ยนหมาก อุปกรณ์จับปลา โห้ ปานเผือน ที่ปั่นด้าย และชุดการแต่งกายของชาวไทดำทั้งชายและหญิง โดยมีการนำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมที่ผลิตขึ้นจากนักศึกษาที่เข้ามาเก็บข้อมูลจัดแสดงด้วย ด้านข้างของศูนย์ฯ เป็นศาลาเปิดโล่งชั้นเดียว จัดแสดง เครื่องสีข้าวมือ และครกกระเดื่อง ที่ผู้ชมสามารถทดลองเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้
ความเป็นมาของการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต
ผู้ใหญ่กำจร ซึ่งเป็นผู้ดูแลศูนย์แห่งนี้เล่าว่า เดิมทีศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 20 ปี โดยผู้ก่อตั้งคือกำนันไพศาล หรือกำนันแดง ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว จากนั้นผู้ใหญ่กำจรจึงรับช่วงต่อการดูและศูนย์ฯ จากกำนันแดง โดยเป้าหมายของการจัดตั้งคือ ผู้คนในหมู่บ้านวิตกกังวลว่าความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน จะทำให้ประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับไทยดำจะสูญหายไป จึงริเริ่มที่จะก่อตั้งศูนย์นี้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านไทดำ และยังช่วยสืบต่อความรู้ไทดำไปยังกลุ่มคนอื่นๆ และกลุ่มคนในหมู่บ้านที่กำลังเติบใหญ่
“ความเจริญคืบคลานเข้ามา กลัวว่าวัฒนธรรมของเราเสื่อมสูญสลายไป ต้องการให้เด็กรุ่นหลังรู้ประวัติความเป็นมาของตัวเอง ใช้วิถีชีวิตอย่างไร อีกทั้งเครื่องมือต่างๆ เราต้องใช้ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องใช้ เสื้อ ผ้าซิ่นต้องใช้ในพิธีกรรมตลอด ไม่ใช่ทำแค่ไว้ดู แต่ต้องใช้ อย่างเช่น ขมุก เป็นที่ใส่ของเสื้อผ้า เป็นเหมือนหีบ ลัง สานด้วยไม้ไผ่ เวลาขึ้นบ้านใหม่ เขาก็ต้องใช้วิธีหาบ ขมุก ข้าวของเดินวนรอบบ้าน มันต้องใช้ จึงต้องเก็บ ต้องสร้างและอนุรักษ์ไว้ ทำไว้ ไม่งั้นไม่มีจะใช้อย่างอื่นทดแทนก็ไม่ได้...”
นอกจากนี้ การเก็บรวมรวมข้าวของยังทำให้ผู้คนในหมู่บ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตอนทำพิธีกรรมต่างๆ ได้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์เก็บไว้แล้ว จึงยังช่วยให้ผู้คนไทยดำในบ้านเกาะแรต ทำพิธีกรรม ประเพณีได้อย่างสะดวกราบรื่นมากขึ้น
“...ดังนั้นนอกจากจะเก็บเพื่อเรียนรู้ ยังสามารถยืมสิ่งของไปใช้ได้ เราจึงต้องสร้างไว้ เพื่อคนที่ไม่ได้เตรียม อย่างคนที่สานขมุกนี้ ก็ไม่มีแล้ว เราก็ทำไว้เป็นสมบัติส่วนกลางเผื่อใครมาหยิบยืม อย่างงอบที่สานด้วยไม้ไผ่ ก็ต้องมี เวลาแต่งงาน ทำพิธี มีกะเหล็บ ที่เป็นเป้ ก็ต้องใช้ โดยฝ่ายเจ้าสาวต้องสะพายกะเหล็บ ผู้ชายก็มีงอบ มีด ฝัด เป็นต้น...”
ผู้ริเริ่มการทำข้อมูลไทดำบ้านเกาะแรต
ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต นี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้เข้ามาเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ด้วยการพูดคุย สัมภาษณ์และฝังตัวอยู่ในพื้นที่บ้านเกาะแรต จนสามารถเก็บรวมข้อมูลไทดำบ้านเกาะแรตได้อย่างเป็นระบบ นั่นคือ อาจารย์นุกูล ชมพูนิช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยช่วงที่ อ.นุกูลเข้ามาเก็บข้อมูล เป็นช่วงที่ ผู้ใหญ่กำจร เข้าพิธีแต่งงาน จึงทำให้ อ.นุกูลเก็บข้อมูลพิธีแต่งงานของ ผู้ใหญ่กำจรอย่างละเอียด ซึ่งเป็นข้อมูลการแต่งงานของชาวไทดำที่มีความครบถ้วนครั้งหนึ่ง และข้อมูลการแต่งงานของผู้ใหญ่กำจร ก็ปรากฏอยู่ในรายงานการวิจัยของ อ.นุกูลด้วย
“...ที่นี่ก็มีหนังสือสามารถบันทึกความเป็นมาโดยละเอียด โดยมีการรวบรวมข้อมูลโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ได้แก่ อาจารย์นุกูล เขามาทำประวัติบ้านเกาะแรต มาค้างอยู่ที่นี่ จำได้ว่าเมื่อปี 2528 ที่ท่านมาค้างที่นี่ แล้วก็ร่วมศึกษาวัฒนธรรมเกี่ยวกับไททรงดำ วันนั้นจำได้ว่าตรงกับวันแต่งงานของผมพอดี ก็จะมีพิธีของไททรงดำครบ ละเอียด ครบขั้นตอนตั้งแต่บ้านเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว จนรับเจ้าสาวมาทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าวต่อ ใช้เวลาตั้งแต่ 8 โมง จนถึงการรับเจ้าสาวมาทำพิธีที่บ้านก็ไปที่เวลาบ่ายสอง เป็นขั้นตอนที่ละเอียดมาก ตอนผมแต่งงานมีพิธีกรรมครบเต็มรูปแบบ ละเอียดไม่มีการย่นย่อ อาจารย์นุกูลก็เก็บข้อมูลในงานแต่งงานนี้เต็มที่ มีการไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่ มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งคู่กันแล้วก็ไหว้ แต่นี่ต่างคนต่างไหว้ เจ้าบ่าวก็ไหว้ของเจ้าบ่าว เจ้าสาวก็ไหว้ของเจ้าสาว แยกคนไหว้ แต่ก็อยู่ภายในบ้านเดียวกัน ในบ้านเดียวกัน ก็เลยทำให้งานเป็นที่น่าภูมิใจ น่าทึ่ง...”
ลักษณะทางภูมิศาสตร์และบรรพบุรุษไทดำของบ้านเกาะแรต
พื้นที่บ้านเกาะแรต เป็นที่ราบ และจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่กำจรต้องถือว่า ชาวไทดำสมัยก่อนที่ตั้งถิ่นฐานที่นี่มีความฉลาดหลักแหลมมาก เพราะที่เพชรบุรีที่ย้ายมา เป็นพื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร แต่พื้นที่ที่บ้านเกาะแรต มีความเหมาะสมกับการทำการเกษตรมาก เพราะใกล้กับแม่น้ำท่าจีน อีกทั้งยังมีคลองธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เอื้อต่อการทำการเกษตรอย่างมาก อีกทั้งในระยะหลัง ระบบชลประทานเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของชาวไทยดำมากขึ้น ทำให้แทบจะไม่มีฤดูแล้ง จึงทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ดีมากยิ่งขึ้น
“...เป็นที่ราบ โชคดีที่บรรพบุรุษที่บ้านเกาะแรตฉลาดแหลมคมมาก ดั้งเดิมอยู่เพชรบุรี เราอพยพมาจากเพชรบุรี เพราะเพชรบุรีเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตร ลุ่มๆ ดอนๆ เป็นภูเขา ก็เลยมุ่งสู่ท่าจีนทางทิศตะวันออกมาผ่านทางบางคนที สมุทรสงคราม เลยมาปักหลักที่ใกล้กับลุ่มน้ำท่าจีน เพราะเป็นพื้นที่ราบ มีคลองธรรมชาติใหญ่ ที่ระบายน้ำมาจากแม่กลองลงสู่ท่าจีน ระยะหลังกรมชลประทานมาบริหาร จากคลองธรรมชาติ ก็มาขุดลอก ตอนนี้มีถนนสองฝั่งคลอง สมัยก่อน ทุกคนจะทำบ่อไว้ สองข้างเป็นบ่อปลา คือบางปลา ปลาชุมมาก มีคลองกว้างลึก น้ำเป็นน้ำที่จะต้องเป็นเส้นหลักในการนำน้ำไปผลักดันน้ำเค็ม ก็ต้องใช้น้ำที่นี่เป็นคลองเส้นหลัก ที่นี่จึงไม่มีฤดูแล้ง คือแม่น้ำบางครั้งไม่มีน้ำแม่น้ำแห้ง แต่คลองมีน้ำตลอด...”
โดยบรรพบุรุษไทดำที่มาอยู่ที่บ้านเกาะแรตนั้น คาดว่าน่าจะอยู่มาแล้วกว่า 110 ปี เพราะการที่ผู้ใหญ่กำจรได้เคยพูดคุยกับชาวไทดำที่อายุกว่า 90 ปี เมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว จึงทำให้ทราบว่าชาวไทดำกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาที่บ้านเกาะแรตมาอยู่ในช่วงเวลาใด
“...อย่างที่ผมพูดคือมาจากเพชรบุรี น่าจะเป็น 100 ปีขึ้น เพราะเคยได้คุยกับไทดำอายุ 90 กว่าปี เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เขามาอยู่นี่ คือ หมู่บ้านนี้เปลี่ยนกระเบื้องแล้ว จากมุงจาก มุงแฝก มาเป็นกระเบื้อง มีช่างมาปั้นกระเบื้องในหมู่บ้าน แสดงว่าตอนที่มาอยู่ น่าจะถึงประมาณ 110 ปี เพราะเราทำการเกษตร ก็ต้องมีไร่นา ปลูกผักสวนครัว แต่หมู่บ้านจะอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ความสามัคคีที่ทำกินที่หนึ่ง ที่หมู่บ้านอีกที่หนึ่ง นี่คือวิถีชีวิต”
โดยชาวไทดำในแถบบ้านเกาะแรต จะมีนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เพชร” ซึ่งมีการใช้สืบทอดกันมา
“ก็สืบทอดกันมาจากผู้รู้ ผู้เป็นผู้ใหญ่บ้านก่อนๆ ก็สืบทอดกันมา พอมาอยู่ที่นี่ก็ใช้นามสกุลว่า “เพชร” ขึ้นหน้า เพราะเรามาจากเพชรบุรี แต่มันก็มีตระกูลเดียวกันกับเพชรบุรีก็มี เขาเรียก ผีเรือนเดียวกัน คือเชื้อสายเดียวกัน คือบางทีเขาก็เรียก ซิงก์ คล้ายกับ แซ่ ของจีน แต่ไททรงดำจะเรียกว่า “ซิงก์” หรือตระกูล เป็นตระกูล ที่มาจากดึกดำบรรพ์ แทนคำว่าแซ่ในจีน”
อาชีพ ความเป็นอยู่ของผู้คนบ้านเกาะแรต
ผู้คนที่บ้านเกาะแรต ทำการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำนา ทำไร่และสวน ผสมกับการเลี้ยงสัตว์บ้างเล็กๆ น้อยๆ ผู้ใหญ่กำจรให้ทัศนะว่า คนบ้านเกาะแรต ไม่ชอบทำอาชีพจุกจิก แต่ชอบทำอาชีพที่เป็นอาชีพหลักๆ อีกทั้งยังดำเนินชีวิตในแนวความพอเพียงมานานแล้ว สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนเกาะแรตดำรงชีวิตอย่างพอเพียงคือ การทำไร่นา และมีการขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดเวลา การมีน้ำอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลาทำให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้จากฟางที่ใช้เลี้ยงวัวควาย ก็สามารถมีน้ำไว้ดับไฟได้ตลอดเวลา การที่มีปัจจัยพื้นฐานครบเช่นนี้จึงทำให้ผู้คนบ้านเกาะแรต แทบไม่ต้องพึ่งพาจากของภายนอกเลย จนผู้ใหญ่ถึงกับบอกว่า ไปตลาดเพียงแค่ซื้อ น้ำตาลกับน้ำมันหมูเท่านั้น
“...ประกอบอาชีพหลักเลย อาชีพการเกษตรทำนา เพราะชาวไททรงดำเขาไม่ชอบอาชีพจุกๆ จิกๆ อย่างอื่น เขาจะทำนาเป็นหลัก เลี้ยงสัตว์ก็มีน้อย บอกตรงๆ นะ ชาวไททรงดำยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ดั้งเดิม เชื่อแน่ว่าเขาไปอยู่ที่ไหนเขาใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง เขาอยู่ได้เลย ทำไร่ทำนา ปลูกผักสวนครัวไว้รอบบ่อ ทุกบ้านมีบ่อทุกบ้าน เพราะไม่มีน้ำประปา มีบ่อน้ำไว้ใช้ ไว้อาบ ไว้กิน คือจะตักขึ้นมาใช้โดยตักขึ้นมาใส่ตุ่มให้วัวควาย กิน เลี้ยงวัวควาย อีกอย่างคือไว้ดับเพลิง เพราะมันมีกองฟาง ทุกบ้านเลี้ยงวัวควายเขาจะมีกองฟาง ติดกันไปหมด เผื่ออัคคีภัยก็ต้องมีน้ำทุกบ้าน...”
พิธีกรรมไทดำ ที่บ้านเกาะแรต
พิธีกรรมที่ชาวไทดำบ้านเกาะแรต ยังคงยึดถือปฏิบัติ นั่นคือการทำป้าดตง โดยทุกๆบ้านจะมีการทำป้าดตงแล้วแต่กำหนด อาจจะ ทุก 5 หรือ 10 วัน ผู้ใหญ่กำจรบอกว่า การป้าดตง คือพิธีกรรมที่แสดงถึงความผูกพันระหว่างผู้อาวุโสที่ตายไปแล้วกับลูกหลานที่ยังอยู่ หากลุกหลานได้กินอะไร ผู้อาวุโสที่ล่วงลับก็ควรจะได้กินเช่นนั้น
“...พิธีป้าดตง ต้องทำทุกบ้าน ทุกวันทุกๆ10 วัน เพราะเป็นการคือความผูกพันของไททรงดำระหว่างมีชีวิตอยู่กับตายไปแล้วเนี่ย ไม่ได้แตกต่างกัน ยังมีคือผูกพันเชื่อมโยง สื่อสารกันตลอด เหมือนกับเรารักสามัคคีเหนียวแน่นมาก หากเราอยากกินอะไร เราก็ให้เขากินด้วย ใครมีคนเอาอะไรมาฝาก เราไม่กินก่อนนะ เราจะเอาไว้ป้าดตงก่อน เราถึงจะเอามากิน...”
นอกจากนี้ การป้าดตง อาจมีที่มาจาก การที่ชาวไทดำสมัยก่อนนับถือผี ยังไม่มีการนับถือศาสนา โดยเฉพาะผีในบ้าน หรือผีบรรพบุรุษ จึงเปรียบเสมือนว่าผีบรรพบุรุษเป็นพระในบ้าน เป็นผู้คอยดูแลรักษาครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข
“...คือดั้งเดิมไทยทรงดำยังไม่มีศาสนา เรานับถือผีบรรพบุรุษเป็นหลัก เหมือนพระในบ้าน เขาจะให้เกียรติและยกย่องผู้สูงอายุ และผู้อาวุโสกว่าเสมอ ไทยทรงดำจะไม่ก้าวร้าวกับผู้อาวุโสกว่า เขาจะเคารพนบนอบและถือว่าส่วนบุญกุศลเราก็จะแผ่ให้ท่านไป ทำบุญจากไหนเราก็แผ่บุญกุศลกรวดน้ำให้ท่านตลอดเวลา แม้แต่เงินที่ได้จากการขายข้าวแต่ละครั้งเป็นก้อน แต่ก่อนจะใช้เราก็เอาเงินไปป้าดตงก่อน มันผูกพันเหมือนไม่ได้ตายจากไปไหน เวลาออกจากบ้านก็บอกให้คุ้มครอง พอมีศาสนาพุทธ ชาวไทยทรงดำก็นับถือศาสนาพุทธ เป็นหลัก รองจากบรรพบุรุษ”
การกำหนดวันพิธีเสนเรือน งานมงคล และการครองคู่ของชาวไทดำ
พิธีเสนเรือนเป็นพิธีหนึ่งที่ชาวไทดำปฏิบัติยึดถือกันมานาน การเสนเรือนเหมือนกับการทำบุญบ้านครั้งใหญ่ โดยช่วงเวลาการทำอาจขึ้นอยู่กับฐานะของชาวไทดำคนนั้น หากมีฐานะก็อาจทำได้บ่อยครั้งขึ้น การทำเสนเรือนคือการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากบ้าน มีการเลี้ยงอาหารคนในหมู่บ้านและญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่กำจรบอกว่า การเลือกวันทำเสนเรือนจะต้องเป็นวันมงคล โดยวันมงคลของชาวไทดำต้องดูในปฏิทินที่มีกำหนดไว้ เช่น วันก๋า หรือวันเต๋า นอกจากนี้ วันที่เลือกทำพิธีเสนเรือน หรืองานมงคลอื่นๆ นอกจากจะเลือกวันที่มีชื่อความเป็นมงคลแล้ว ยังต้องเลือกวันไม่ให้ตรงกับวันที่อยู่ในช่วงของการทำพิธีเกี่ยวกับศพ เพราะชาวไทดำในแต่ละบ้าน จะถือว่าพิธีที่เกี่ยวข้องกับงานศพคือวันอัปมงคล และพอจะเริ่มทำพิธีมงคล ชาวไทดำจะไม่เลือกวันอัปมงคลนั้นมาทำพิธีที่เป็นมงคล
“...เขาก็ดูวันว่าเป็นวันมงคล โดยดูวันที่ ไม่ใช่วันอัปมงคล ชาวไทยทรงดำมีปฏิทินให้นับ มี 10 วัน มีวันคด เขาก็จะไม่ใช้เพราะมันคดงอ ส่วนใหญ่ใช้วันก๋า วันเต๋า เป็นคำที่มีความหมายเชิงบวก นอกจากนี้ก่อนจะเลือกวัน เขาก็ต้องไปดูบันทึกของการเสียชีวิตของคนตายคนสุดท้ายที่เป็นพ่อบ้าน ว่าตายวันที่เท่าไร โดยนับวันก่อนที่เผาศพ จะไม่เอาช่วงวันเวลานั้นมาใช้ในพิธีงานมงคลต่างๆ รวมทั้งเสนเรือนด้วย ดังนั้นเวลาพ่อบ้านตายเขาจะไม่เก็บไว้หลายคืนเต็มที่ 3คืน ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งไม่มีช่วงเวลาที่เป็นวันมงคล หากเป็นงานแต่ง ก็ต้องดูฤกษ์ทั้งเจ้าบ่าว เจ้าสาว แล้วก็ต้องดูฤกษ์ไม่ให้ตรงกับวันอัปมงคลอีก”
การครองคู่ของชาวไทดำ ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงที่แต่งงานเข้าไปกับชาวไทดำ จะอยู่กับพ่อผัวแม่ผัวไปจนกว่าจะตายจากกัน หากระหว่างนั้น ผู้เป็นสามีตายจากไปก่อน ฝ่ายเมียก็จะอยู่กับพ่อผัวแม่ผัวไปตลอด ไม่มีคู่ครองใหม่ แต่ในทางกลับกัน หากฝ่ายหญิงจากไปก่อน ฝ่ายชายก็จะมีใหม่ แต่ก็ต้องเอาเมียใหม่เข้ามาอยู่ภายในบ้านเพื่อปฏิบัติตามเกณฑ์ของชาวไทดำต่อไป
“ส่วนใหญ่ชาวไททรงดำแต่งงานทีก็อยู่ยาว เขาจะไม่มีคู่ใหม่ บางคนที่เป็นหม้ายตั้งแต่อายุ 30 เขาก็อยู่บ้านพ่อผัวแม่ผัวไปตลอดชีวิต แต่ถ้าผู้หญิงตาย ผู้ชายก็อาจจะมีใหม่แต่ก็ยึดประเพณีของตัวเอง หากตัวเองไปอยู่บ้านคนอื่น เพราะไม่มีลุกชาย ถึงเวลาสุดท้ายเวลาที่ไม่มีพ่อแม่ เราต้องเอาพ่อแม่ไปเลี้ยงด้วยนะ คือบรรพบุรุษต้องอยู่อาศัยไปอยู่กับลูกชาย ด้วยการที่ต่างต้องเลี้ยงผีของตัวเอง จึงมีการปลูกบ้านขึ้นอีกหลังหนึ่ง อาจจะเล็กกว่าเพื่อพอทำพิธีเป็นการเลี้ยงผีของตระกูล การนับถือมันโยงใย”
งบประมาณการดำเนินการ และการคาดหวัง
เริ่มต้นการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมการเรียนรู้ไทดำ บ้านเกาะแรต มาจากหน่วยราชการผ่านทางวัฒนธรรมจังหวัด แต่ตอนนี้ไม่มีงบประมาณมาดูแลแล้ว ก็อาศัยการดูแลกันเองของตัวผู้ใหญ่บ้าน และผู้คนในชุมชน ต่อคำถามที่ว่า หากมีการช่วยเหลือจากทางรัฐ ต้องการอะไรเป็นพิเศษ ผู้ใหญ่กำจรบอกว่า ต้องการอาคารศูนย์ที่เป็นหลักเป็นฐาน โดยอาจสร้างเป็นเรือนไทดำ เพื่อที่จะสามารถนำข้าวของไปจัดแสดงให้สวยงามมากขึ้นกว่านี้
“อยากได้บ้าน อยากได้เรือนไทดำมาตรฐาน เราจะได้เอาข้าวของไปอยู่ในนั้น หากเอาขึ้นไปบนบ้านจะได้มองเห็นได้หมด ว่าทำอะไรบ้าง ใต้ถุนมีคันไถ เกวียน คือเอาของใช้สมัยโบราณ คนจะได้เห็นวิถีชีวิตของเรา ว่าเราใช้สิ่งของต่างๆ อย่างไร”
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ไทยทรงดำ ไทดำ
สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก
จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑ์บุญราศีนิโคลาส
จ. นครปฐม
หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
จ. นครปฐม