บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

พิพิธภัณฑ์: เป้าหมายหรือเครื่องมือของนโยบายทางวัฒนธรรม

30 กันยายน 2562

          มากกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วที่นโยบายทางวัฒนธรรมถือกำเนิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรสาธารณะในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สภาชุมชน จังหวัด รัฐบาล ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศในระดับทวีป(สภายุโรป) หรือกระทั่งระดับโลก (ยูเนสโก) จุดเริ่มต้นและทิศทางในปัจจุบัน           ตัวอย่างของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติเช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประเทศที่เพิ่มเรื่องสิทธิในการเข้าถึงวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส  อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1946 ใส่ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมไว้ในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน  “ประเทศชาติรับรองความเสมอภาคแก่เด็กและผู้ใหญ่ในการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอาชีพ และวัฒนธรรม” และข้อกำหนดนี้ยังคงรักษาไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับต่อมาที่ปรับปรุงใหม่ในสองปีหลังจากนั้น  คือวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948  และข้อกำหนดเช่นเดียวกันนี้ ได้รับการระบุไว้โดยสมัชชาสหประชาชาติในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในมาตรา 27(1) ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะและมีส่วนในความรุดหน้าและคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์” และข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบได้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (ค.ศ. 1989)           อย่างไรก็ดีแนวคิดการใช้นโยบายวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อขนบประเพณีเสรีภาพประชาธิปไตยและคุณค่าในบางประเทศ โดยเฉพาะขนบประเพณีของชาติในรัฐบาลขนาดเล็ก หรือประเทศที่ที่ปกครองแบบระบบสหพันธรัฐ ที่มีฉันทามติรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งในการกระจายอำนาจไปสู่รัฐต่างๆ ภายใน เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ในหลายประเทศยังคงมีความทรงจำไม่ค่อยจะดีนักต่อการทำงานแบบสั่งการและระบบการควบคุมของรัฐต่อองค์กรทางวัฒนธรรม หรือการอยู่ภายใต้นโยบายทางวัฒนธรรมของระบบการปกครองแบบเผด็จการในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าฝั่งซ้ายหรือขวาในทางการเมือง  ทำให้ทั้งนักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องไม่ใคร่เต็มใจที่จะนิยามและสนับสนุนนโยบายทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนนัก ตัวอย่างเช่น ในต้นทษวรรษที่ 1990 รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของอังกฤษได้รายงานในวาระการประชุมรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของสหภาพยุโรป เขานำเสนอเหมือนกับรัฐมนตรีจากประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรเวลา 20 นาทีในนำเสนอบทสรุปอย่างย่อของนโยบายวัฒนธรรมของประเทศ  อย่างไรก็ตาม สุนทรพจน์ช่วงสุดท้ายไม่ถึงหนึ่งนาทีของเขามีใจความว่า “ประเทศของเราไม่มีนโยบายทางวัฒนธรรม และไม่เคยมี และมันเป็นนโยบายของรัฐบาลของเราที่ว่า เราไม่ควรจะมีนโยบายวัฒนธรรม ขอบคุณครับ” จากนั้นเขาก็นั่งลง           แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะบอกว่าไม่มีการเขียนนโยบายวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งผู้เขียนมีข้อโต้แย้งต่อคำกล่าวนี้อย่างน้อยสามประการ ประการแรกจริงๆ แล้วประเทศอังกฤษตีพิมพ์นโยบายทางวัฒนธรรมในทศวรรษที่ 1960 ภายใต้รัฐบาลผสม   ประการที่สองแม้จะปฏิเสธว่าไม่มีนโยบายวัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมองหามาตราการทางการตลาดที่จะจูงใจให้คนทั่วไปสนับสนุนเงินสำหรับการขับเคลื่อนภาควัฒนธรรม   โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่สนับสนุน และการบริจาคเงินของบุคคล เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ  และเร็วๆ นี้ รัฐบาลยังผ่านกฎหมายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการจัดการภายในของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งชาติ โดยการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ภายใต้ดูแลของรัฐบาลกลางไปสู่การออกนอกระบบราชการ มีการบริหารกึ่งอิสระ สามารถจ้างงานและเลิกจ้างได้โดยตรง  นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีความต้องการอย่างแข็งขัน ในการแปรรูปองค์กรรัฐให้ดำเนินงานแบบเอกชน (privatization) อย่างน้อยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การให้บริการ และทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น           ซึ่งนี่ไม่ใช่กรณีเดียว ปัจจุบันส่วนใหญ่ประเทศในยุโรปกำลังเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการขององค์กรให้บริการทางวัฒนธรรมเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เคยรับคำสั่งโดยตรงจากส่วนกลางมาสู่การบริหารงานแบบมีคณะกรรมการบริการของตนเองที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาเรื่องงบใช้จ่ายจากส่วนกลางที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี  หรือในบางกรณีมีเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์และองค์กรที่ให้บริการด้านมรดกวัฒนธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน ด้วยการเปิดโอกาสให้หารายได้ด้วยตนเองในรูปแบบต่างๆ และการระดมทุน ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะได้รับการโปรโมทอย่างชัดแจ้งหรือไม่ก็ตาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในโยบายทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่นี่ก็ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายทางวัฒนธรรม อาณาจักรที่พร่ามัวของนโยบายทางวัฒนธรรม           อย่างไรก็ตามการที่ไม่ได้ตีพิมพ์หรือแถลงการณ์นโยบายทางวัฒนธรรมอย่างที่เป็นการทาง อาจจะดีในแง่ที่เราสามารถอนุมานนโยบายจากการปฏิบัติของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ ยกตัวอย่างในช่วงระหว่างสิบปีของการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดสาธารณรัฐประชาชนจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – 1989 มีเพียงประโยคเดียวที่เห็นความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม  มีงานวิจัยที่ศึกษาโดยนักศึกษาปริญญาเอกในความดูแลของผู้เขียนระบุว่า มีความเปลี่ยนแปลงและการพลิกกลับที่สำคัญหลายด้านในการปฏิบัติงานของรัฐบาลและพรรคที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ ด้านวัฒนธรรม  ซึ่งบ่งชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคู่ขนานในนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้พูดตรงๆ ของผู้นำจีน           อย่างไรก็ตามแม้ที่ๆ มีนโยบายวัฒนธรรมที่ชัดเจนและนำไปใช้ แต่ก็ยังไม่มีความคงเส้นคงวาถึงรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น   สภายุโรปได้รวบรวมทำซีรีย์ชุดการรีวิววัตถุประสงค์ของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติของประเทศในยุโรปตั้งแต่ ค.ศ. 1986  สำหรับการรีวิวนี้ เริ่มจากองค์กรผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องภายในแต่ละประเทศเตรียมการสำรวจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของนโยบายวัฒนธรรมและข้อกำหนดทางวัฒนธรรม พร้อมกับการประเมินตนเอง   จากนั้นมีทีมขนาดเล็กของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศพิจารณานโยบายทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ดังกล่าวที่ส่งเข้ามา  โดยมีการศึกษา เก็บข้อมูล จดบันทึก และเยี่ยมเยือนแต่ละประเทศเพื่อพบปะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องข้ามหน่วยงานในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ก่อนที่จะเตรียมการรีวิวเอกสารที่มีจำนวนมากพร้อมกับทำข้อเสนอแนะ  นี่คือลำดับการทำงานของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรม ก่อนจะได้เวอร์ชั่นสุดท้ายของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่จะได้รับการเผยแพร่ออกมา   มากกว่ายี่สิบปีแล้วที่นโยบายวัฒนธรรมของ 27 ประเทศจากสมาชิก 46 ประเทศในปัจจุบันได้รับการรีวิวด้วยวิธีการนี้ คุณค่าที่ได้จากงานนี้คือ การได้เห็นความแตกต่างที่สำคัญในสิ่งที่รัฐบาลประเทศทั้งหลายเห็นว่าเป็นนโยบายวัฒนธรรม           ในบางกรณีจะเห็นว่า ในระดับกระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงต่อนโยบายทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่มักใช้คำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เรียกว่า “ปัจจัยนำเข้า” (inputs) กับนโยบายทางวัฒนธรรม  ทั้งนี้สิ่งที่รัฐกระทำมีทั้งเชิงของการดูแล  ตั้งกฎระเบียบ การจัดการ และการให้งบประมาณกับสถาบันหรือองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ  เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงอุปรากร โรงภาพยนตร์ วงออเคสตรา อนุสาวรีย์และแหล่งมรดกวัฒนธรรม   ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องของการเขียนคำของบประมาณสำหรับการพัฒนาและกิจกรรมใหม่ๆ ด้านศิลปะและมรดกวัฒนธรรม   กรณีดังกล่าวนโยบายทางวัฒนธรรมหมายถึงบทบาทของภาครัฐในการจัดหาบริการทางวัฒนธรรมให้กับประชาชน เช่น ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ หรือการปกป้องมรดกวัฒนธรรม รวมถึงการก่อตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมระดับชาติที่รัฐกำกับดูแลหรือให้งบประมาณ   สำหรับกรณีของพิพิธภัณฑ์ นโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเน้นการให้บริการไปยังกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ เช่น ข้อตกลงของรัฐที่จะให้การสนับสนุนสถาบันหรือองค์กรที่ให้บริการทางวัฒนธรรม รวมถึงการให้งบประมาณในการดำเนินงาน การก่อสร้างสร้างอาคารและการจัดหาคอลเล็กชั่น  อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งที่รัฐบาลระบุกลุ่มเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน โดยกระทรวงวัฒนธรรมนำเสนอต่อรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังก่อน เมื่อมีความชัดเจนแล้ว นโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังภาคส่วนวัฒนธรรม นำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการจัดสรรเงินงบประมาณและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนต่อไป             โมเดลของการนโยบายทางวัฒนธรรมและการบังคับใช้มีตัวอย่างเกิดขึ้นไม่เกินสิบกว่าปีมานี้เอง อย่างน้อยในระบอบปกครองประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งเป็นตัวอย่างของการฝืนใจที่จะมองวัฒนธรรมมากกว่าไปกว่าสินค้าและบริการสาธารณะที่มีสิทธิในตัวของมันเอง อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมาหลายประเทศและหลายระบอบมองว่าสถาบันและการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างชาติมากกว่าแค่เรื่องวัฒนธรรม ข้อบกพร่องและจุดแข็งของนโยบายทางวัฒนธรรม           ระบอบนาซีในเยอรมนีได้กำจัด ทำลาย หรือขายงานศิลปะจำนวนมหาศาลที่ถูกพิจารณาว่าเป็น “ความเสื่อม” หรือไม่ก็เพราะรูปแบบศิลปะแบบโมเดิร์นหรือผลงานเหล่านั้นถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินชาวยิว ระหว่างศตวรรษที่ยี่สิบ คอลเล็กชั่น การจัดแสดง และนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นสิ่งที่ถูกรัฐควบคุมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองของผู้อำนวยการหรือภัณฑารักษ์ หรืออย่างน้อยที่สุดจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับนโยบายและวาระของรัฐบาล หรือกระทั่งเกี่ยวพันกับอคติส่วนบุคคลหรือรสนิยมของผู้นำเผด็จการ  แม้กระทั่งในผู้นำประชาธิปไตยเสรีนิยม พิพิธภัณฑ์อาจอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหรืออย่างน้อยคำขู่เรื่องการลดงบประมาณจากรัฐและการช่วยเหลืออื่นๆ  ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1990 มีประเด็นร้อนที่ถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ รวมถึงประเด็นคำอธิบายในนิทรรศการบทบาทของเครื่องบินทิ้งระเบิด B 29 ที่ชื่อ อิโนลา เกย์ ที่ทิ้งระบิดที่เมืองฮิโรชิมา ขณะที่นิทรรศการงานศิลปะร่วมสมัยหลายแห่งได้รับผลกระทบจากความพยายามที่จะตัดงบสนับสนุนงานพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลและองค์กรศิลปะของรัฐ           ต่อคำถามที่ว่าพิพิธภัณฑ์ควรถูกคาดหวังให้ทำงานที่ก้าวหน้าหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมหรือทางการเมือง  ไม่ว่าคำตอบนี้จะเป็นอะไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในหลายประเทศ พิพิธภัณฑ์ถูกคาดหวังการทำงานที่สำคัญอันดับแรกในเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคมมากกว่าเรื่องวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ในเกือบทุกประเทศถูกพิจารณาในฐานะ เป็นสิ่งที่มีมูลค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย  หลังจากพักผ่อนสนุกสนานจากชายหาด ชนบท และภัตตาคาร การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่เชิงมรดกวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แน่ล่ะว่าพิพิธภัณฑ์ต้องตอบสนองต่อสิ่งนี้และความต้องการต่างๆ ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ขึ้น  อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์และเป็นความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมการทำงานของพิพิธภัณฑ์  นักท่องเที่ยวต่างประเทศกระเป๋าหนักกลายกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ระดับชาติและท้องถิ่น น่าเศร้าใจที่พบความเป็นจริงที่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา พิพิธภัณฑ์ดูเหมือนให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มากกว่าประชาชนของประเทศ ซึ่งเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์           ในหลายประเทศ ความต้องการของรัฐบาลขยายกว้างออกไปมากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นว่ารัฐบาลหรือองค์กรทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ให้เงินทุนสนับสนุน จะให้เงินเฉพาะบางรูปแบบของสัญญา  วางอยู่บนข้อเรียกร้องเฉพาะอย่าง สามารถวัดผลได้ในทางปฏิบัติและมีตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่มีปัจจัยที่กว้างมากขึ้น  ซึ่งหลายปัจจัยอาจไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์เลยก็ได้ ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร กระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาศิลปะ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ระดับชาติ รวมถึงสถาบันทางวัฒนธรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ   ถูกให้ทำงานภายใต้ขอบเขตของนโยบายที่พัฒนาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี   ลำดับความสำคัญจะเขียนไว้ในนโยบายและการให้เงินสนับสนุน  รวมถึงนโยบายของหน่วยบริการและข้อมูลทั้งหมดทั้งของหน่วยงานกลางและท้องถิ่นผ่านแอพลิเคชั่น “ e-government” ในระบบอินเตอร์เน็ต  โดยเน้นแก้ไขปัญหาการกีดกันทางสังคมที่หยั่งรากลึกในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส   ทั้งนี้ปัญหาการกีดกันทางสังคม ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหัวหน้าคณะรัฐมนตรี(senior minister) และส่วนงานอื่นทั้งหมดของการบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ใหม่สิบปีเน้นการกำจัดความด้อยโอกาสที่หยั่งรากลึก  กลุ่มเป้าหมายคือคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่มีเด็กและคนแก่, ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย, คนที่ผิดปกติทางสมอง และวัยรุ่นในกลุ่มเสี่ยงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของสหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับ  แต่การจะทำแบบนี้ได้จะมีต้ององค์กรรองรับนโยบายทางวัฒนธรรม และองคาพยพอย่างเช่นพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างจริงจังต่อเป้าหมายนี้           ชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเกี่ยวข้องกับนโยบายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เป็นบทแถลงการณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  ในทางปฏิบัติ การแบ่งว่า ‘เป้าหมายหรือเครื่องมือ’ ของนโยบายวัฒนธรรมตามชื่อบทความคงจะเลือนหายไป เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลที่มีการทำงานในเชิงขนบต่อนโยบายทางวัฒนธรรม  ยังเริ่มคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในเชิงการศึกษาและสังคมของประเทศชาติ. หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจาก Patrick J. Boylan, 2006. “Museum: Targets or Instruments of Cultural Policies?” in Museum International. Vol. 58, No.4) โดย ปณิตา สระวาสี.

ความพัวพัน: ประวัติศาสตร์อาณานิคม ศิลปะ และวัตถุชาติพันธุ์ ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี*

11 เมษายน 2562

*แปลและเรียบเรียงจาก Iris Edenheiser, 2017, ‘Entanglements: colonial history, arts, and “ethnographic object”- examples from German Museums. In Zvjezdana Antos, Annette B. Fromm, Viv Golding (eds), Museum and Innovations. Newcastle-Upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.  โดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)--------------------เหมือนกันหรือแตกต่าง? การพัฒนาล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนี                 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมีการออกแบบการจัดแสดงใหม่และเปิดให้บริการอีกครั้ง ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Humboldt Forum  โครงการด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดจากรัฐบาลเยอรมนี  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้วางไว้ว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 เป็นการนำคอลเล็กชั่นของ Ethnologisches Museum หนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเล็กชั่นทางชาติพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุด มาจัดแสดงกลางเมืองเบอร์ลิน โดยแผนงานของโครงการ จะมีซีรี่ย์ของกลุ่มนิทรรศการชั่วคราวเชิงทดลอง  หลายอันจัดแสดงในเชิงศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรรค์ขึ้นเพื่อจะทดลองรูปแบบใหม่ของการนำเสนอวัตถุชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีในส่วนนิทรรศการถาวรจะยังคงนำเสนอวัฒนธรรมที่แบ่งตามภูมิภาคของคอลเล็กชั่นที่มี หลักการคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้ต่อมาโดยพิพิธภัณฑ์ Grassi Museum fur Volkerkunde zu Leipzig ที่เพิ่งเปิดบริการส่วนห้องจัดแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009             แนวโน้มในภาพรวมของการจัดแสดง ที่มีลักษณะการเชิญศิลปินและนักออกแบบมาทำงานกับคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ เป็นหลักการที่นำโดย Clementine Deliss ผู้อำนวยการคนก่อนของพิพิธภัณฑ์ Frankfurter Weltkulturen ผู้ซึ่งเสนอมุมมองที่ท้าทายของ “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์” (ethnographic museum) ที่เป็นการวางกรอบใหม่ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์หลังชาติพันธุ์” (post-ethnographic museum)  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Musuem-Kulturen der Welt ในเมืองโคโลญจน์ ที่เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปี ค.ศ. 2010 และได้ชื่อว่าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยุโรปแห่งปีใน ปี ค.ศ. 2012  สำหรับการจัดแสดงในนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินตามแนวทางการทำนิทรรศการของตนเองตั้งแต่ทศวรรษ 1980   โดยมุ่งเน้นการจัดแสดงแบบธีมมากกว่าการแบ่งตามภูมิภาค เช่น “พิธีกรรม” “พื้นที่อยู่อาศัย” “ศาสนา” “ความตายและชีวิตหลังความตาย” ซึ่งนำเสนอด้วยการเน้นวัตถุจัดแสดงที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างทรงพลัง  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Museum-Kulturen der Welt ที่มาภาพ: www.museenkoeln.de/rautenstrauch-joest-museum             ในสวิตเซอร์แลนด์  พิพิธภัณฑ์ Museum der Kulturen Basel  ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011  โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาร่วมสมัยเช่น เรื่อง “ผู้กระทำการ” (agency)  “ความรู้” (knowledge) และ “การสร้างความหมาย” (enactment) เป็นตัวร้อยเรียงนิทรรศการ และทำให้วัตถุแลดูพิเศษภายใต้การจัดแสดงในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว  เป็นการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากในแบบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนิยมกระทำกัน ส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Volkerkundemuseum der Universitat  Zurich ที่ทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 2004 ได้หันกลับไปสู่รากเดิม คือการวิเคราะห์ชาติพันธุ์จากวัฒนธรรมวัตถุ และเน้นไปที่ทักษะการผลิตและการใช้งานวัตถุ             การพัฒนาล่าสุดดังกล่าวนำไปสู่ความสนใจใหม่ต่อคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในความรับรู้เชิงสาธารณะของคนเยอรมัน ขอบเขตของบทความนี้จะไม่ได้สำรวจสถานภาพของแนวทางพัฒนาที่หลากหลายทั้งหมดเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุชาติพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่สองนิทรรศการที่เป็นโครงการโดยตรงของผู้เขียน นิทรรศการแรกจัดแสดงไปแล้ว ส่วนอีกนิทรรศการกำลังจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะแสดงให้เห็นสองธีมหลักของข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังแสดงถึงเป้าหมายสำคัญของการประชุม International Committee for Museums of Ethnography ปี ค.ศ. 2014  โดยในส่วนแรกจะแสดงตัวอย่าง World Cultures Collections ของพิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen ที่เมือง Mannheim ผู้เขียนมีข้อโต้เถียงเรื่องความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคม ปัจจุบันไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่อธิบายข้างต้นที่หันความสนใจในประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของตนเองยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ที่แฟรงค์เฟิร์ต  คือส่วนใหญ่นิทรรศการพิเศษเหล่านั้นมักที่ให้สุ้มเสียงศิลปินมากกว่าการตีความคอลเล็กชั่นในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานเชิงวิชาการ  ในส่วนที่สองผู้เขียนจะพลิกกลับแนวโน้มที่มักเชิญชวนศิลปะและศิลปินเข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยจะทำให้เห็นมานุษยวิทยาและการอภิปรายทางการเมืองในผลงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะ ความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์             คอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณานิคม กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นย้ำกันมากเมื่อไม่นานมานี้ในแวดวงวิชาการและการรับรู้สาธารณะของประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมนี ในเชิงวิชาการและสังคมโดยรวมให้ความสำคัญกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองเรื่องครอบงำวาทกรรมประวัติศาสตร์เยอรมันเป็นอย่างมาก เยอรมนีเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในยุคหลังๆแล้ว และปัจจุบันได้หยิบยกประวัติศาสตร์อาณานิคมขึ้นมาพิจารณากันใหม่  มีการดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตั้งแต่การวางแผนโครงการHumboldt-Forum โดยมีจุดยืนสำคัญที่เป็นแนวโพสต์โคโลเนียล/ถอดรื้อโคโลเนียลในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มาและการเมืองในการสร้างภาพตัวแทนในบริบทอาณานิคมระหว่างช่วงเวลาการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และหลังจากนั้น การวิพากษ์เหล่านี้ถูกพูดในวงกว้างโดยคนวงการต่างๆ แต่เกือบจะยังไม่มีมาจากคนในวงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์  ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ในแฟรงเฟิร์ต             การโต้เถียงในประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วกับ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) เมือง Mannheim ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนนำคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์กลับมาสู่การรับรู้สาธารณะผ่านการจัดแสดงชุดใหม่หลังจากที่ปิดตัวไปเกือบสิบปี ในกระบวนการดังกล่าว เป้าประสงค์หลักเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่นอย่างถี่ถ้วน โดยการเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับอาณานิคมในตัววัตถุและจดหมายหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง กรอบคิดใหม่นี้วางบนพื้นฐานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าการวิจัยหรือปฏิบัติการเชิงศิลปะ ที่นิยมประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้  ที่ในบางกรณีคนที่บุกเบิกแนวคิดนั้นมาใช้ มองราวกับว่าศิลปะในตัวมันเองไม่มีอคติ เข้าใจ “วัตถุทางชาติพันธุ์” ว่าเป็นสิทธิพิเศษมากกว่าเรื่องเความชอบธรรม             วัตถุและภาพถ่าย รวมถึงจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) พัวพันกับอาณานิคมในหลากหลายระดับ คอลเล็กชั่นพูดถึงผู้กระทำการระดับเมือง Mannheim และเมืองรอบๆ ซึ่งเกี่ยวพันในทางการเมืองและการค้าอาณานิคมระดับโลก เช่น Theodor Bumiller ผู้แทนของกองกำลัง Kaiserliche Schutztruppe อาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก และยังเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นใน Mannheim เขาเขียนบันทึกราชการประจำวันเกี่ยวกับกองทัพในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่ REM พร้อมกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของ Bumiller ในช่วงที่เขาบังคับการในอาณานิคม นอกจากนี้เขายังนำวัตถุจำนวนมหาศาลจากแอฟริกาตะวันออกกลับมา ซึ่งต่อมาเขาและภรรยาได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ วัตถุชิ้นหนึ่งคืองาช้างสีขาวใหญ่ยักษ์ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ที่สามารถอธิบายอีกแง่มุมของระบอบอาณานิคมนั่นคือ เรื่องของผู้กระทำการที่เป็นชนพื้นเมืองในอาณานิคมและกลยุทธ์ต่างๆ ของพวกเขาที่จะดีลกับอำนาจยุโรปและบรรดาตัวแทน  งาช้างดังกล่าวเป็นของขวัญที่ Bumiller ได้รับจากมือของ Tippu Tip พ่อค้าซื้อขายทาสและงาช้างที่สร้างตัวเองจากการค้าผูกขาดทั่วแอฟริกาตะวันออก เมื่อเกิดสงครามอาณานิคมและเกิดความระส่ำระสายในสถาบันทางสังคมและอำนาจของแอฟริกาตะวันออก เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในช่วงสุญญากาศ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสังคมอาณานิคมแอฟริกาตะวันอก ของขวัญชิ้นล้ำค่า เช่นงาช้าง สื่อถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ในเวลาเดียวกันทำให้เข้าใจถึงการกระชับมิตรของผลประโยชน์ของผู้ให้ในความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตของเขา Tippu Tip พ่อค้าทาสและงาช้างผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tippu_Tip_1889.jpg             คอลเล็กชั่นยังประกอบด้วยวัตถุที่หลากหลายจากคณะผู้เดินทางของ Franz และ Pauline Thorbecke ที่เมือง Bamender Grassfields ในแคเมรูน ซึ่งเป็นอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตก ในปี ค.ศ. 1912-13 รวมถึงคอลเล็กชั่นภาพสีน้ำของ Pauline Thorbecke ที่เป็นภาพกษัตริย์ Njoya แห่งอาณาจักร Bamum และพระมารดา Niapundunke ท่ามกลางสมาชิกสภาขุนนาง และยังมีวัตถุอีกราว 1,300 ขิ้น เช่น หน้ากากหมวกเหล็กจากคลังสมบัติของกษัตริย์  กษัตริย์ Njoya ใช้นโยบายที่เอาอกเอาใจเจ้าอาณานิคมเยอรมัน โดยการยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคมและยอมรับกฎทางการค้าใหม่ เขาหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อย่างสันติ ที่จะไม่ทำให้โลกศาสนา การเมือง และสังคมของอาณาจักร Bamum ถูกรบกวน จากการบุกรุกของเจ้าอาณานิคม             เหตุการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามิเบีย อดีตอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ที่รู้จักกันในนาม Herero and Nama uprising นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ล้มตายเป็นพันคน  คอลเล็กชั่นของ REM เก็บรักษาลายมือของ Samuel Maharero และจดหมายของ Jacob Morenga ผู้นำของเผ่า Herero และ Nama ระหว่างการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคม และวัตถุทางวัฒนธรรมของชาว Herero ซึ่งได้มาจากทหารเยอรมันที่ตั้งกองทัพระหว่างการทำสงครามในปี ค.ศ. 1904 และ 1908             นอกจากนี้การบอกเล่าเรื่องราวของอาณานิคมเยอรมัน คอลเล็กชั่นและนิทรรศการเผยให้เห็นการพัวพันของเจ้าอาณานิคมเยอรมันและเครือข่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากเขตแดนของประเทศตนเองเช่น การเกี่ยวข้องในการปราบปรามกบฎนักมวยในเมืองจีนระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ 1901 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าด้วยวัตถุที่มาจากพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งและที่อื่นๆ             ท้ายสุด  กระบวนวิธีในการสะท้อนย้อนตนเองของคอลเล็กชั่นและนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ REM เมือง Mannheim ก็สามารถเริ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าบันทึกข้อมูลของนิทรรศการเกี่ยวกับอาณานิคมในปี ค.ศ. 1937 เพื่ออธิบายให้เห็นวิธีการที่นิทรรศการสนับสนุนเป้าหมายของการล่าอาณานิคมอย่างไร โดยวิธี “การขุดค้นคอลเล็กชั่น” และการย้อนหาเรื่องราวของสถานการณ์ในอาณานิคมซึ่งผูกติดกับวัตถุต่างๆ ชีวประวัติ และความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่สำคัญ  วัตถุจึงมิได้ใช้เป็นเพียงภาพแทนของชาวยุโรปที่เหนือกว่า หรือมีความเป็นวัฒนธรรมที่มีขอบเขตชัดเจนตายตัวและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอีกต่อไป ความเป็นมานุษยวิทยาของนิทรรศการศิลปะ                 ในปี ค.ศ. 2010 คอลเล็กชั่น Staatliche Ethnographische Sammlungen Sachsena (SES, คอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ของเมืองแซกโซนี) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Staatliche Kunstsammlungen Dresden (SKD) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างการทำงานกัอย่างในกล้ชิดระหว่างศิลปะและคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ สิ่งหลักที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ โครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วาติกันในการทำ “พิพิธภัณฑ์อินเดียน” ของ Ferdinand Pettrich(1798-1872) ศิลปินประติมากรที่กำเนิดในเมืองเดรสเดน ผลงานประติมากรรมของเขาได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิก  ช่วงทศวรรษ 1830  Pettrich อาศัยและทำงานในวอชิงตันดีซีและฟิลาเดลเฟีย เขาผลิตงานปูนปั้นชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อไปต่อรองสนธิสัญญาเรื่องที่ดินและสันติภาพ พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ โดยจัดแสดงที่ Albertinum ในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บรักษาผลงานศิลปะโมเดิร์นและร่วมสมัยและคอลเล็กชั่นรูปปั้นที่มีชื่อเสียง    โดยทำนิทรรศการชื่อ “Tecumseh, Keokuk, Black Hawk: Portrayals of Native American in Times of Treaties and Removal”  จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อลักษณะนี้ ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับศิลปะหรือตัวศิลปินแต่อย่างใด             ประติมากรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของ Pettrich ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลนีโอคลาสสิก เป็นกลาง และแปลกตาในฉบับศิลปะยุคอาณาจักรโรมัน ภัณฑารักษ์ต้องการแสดงถึงบริบททางการเมืองระหว่างที่ Pettrich สร้างผลงานและนำเอาเสียงชนพื้นเมืองอเมริกันในตอนนั้นออกมาให้เห็น  โดยในปี ค.ศ. 1830 กฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกันเพิ่งผ่านสภาคองเกรส ตัดสินว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชาติสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิทรรศการ Cherokee Trail of Tears เป็นผลพวงมาจากการบังคับย้ายถิ่นครั้งนั้นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง ผลงานศิลปะในตัวมันเองไม่ได้ส่งผ่านหรือแสดงถึงบริบททางการเมือง ดังนั้นวิธีการที่เราเอามาใช้จัดแสดงคือการให้ผู้ชมเข้าใจบริบทในการสร้างงาน             ทางเข้านิทรรศการนำเสนอตัวบทกฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกัน จัดแสดงติดกันต่อจากภาพวาดลายเส้นของ Pettrich ที่วาดชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้กับปิศาจแห่งท้องทะเล ทั้งนี้มีมุมมองสองอย่างที่นำเสนอไปพร้อมกันในผลงานศิลปะนี้  คือมองศิลปะในแง่ความเก่าแก่และแปลกตา และความเป็นจริงทางการเมืองไปพร้อมกัน   ส่วนต่อมาเป็นผลงานประติมากรรมที่นำเสนอในโถงนิทรรศการหลัก เน้นรูปแบบความงาม  ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงาม ความแปลกตาต่อชิ้นงาน ขณะที่ฝาผนังโดยรอบจะโค้ดคำพูดของชนพื้นเมืองที่ปรากฏในงานของ Pettrich รวมถึงคำพูดนักการเมืองอเมริกัน-ยุโรปและบรรดาศิลปินด้วย คล้ายกับเป็นแนวนำเรื่องเพื่อให้เห็นบริบทการเมือง ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ถูกคุกคามของชนพื้นเมืองในตอนนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายผลงานรายชิ้นจะสนทนากับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบปั้น โดยแทบจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะเลย             การจัดแสดงในส่วนการดำเนินชีวิตของ Pettrich เป็นรูปปั้นครึ่งตัวเขา หนึ่งในวัตถุส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับบน แสดงถึงสถานภาพในสังคมและความสำเร็จในชีวิตของเขา คู่ขนานไปความหมายดังกล่าวเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและศิลปะของชนพื้นเมือง เราเลือกวัตถุจากช่วงเวลาเดียวกันจากชนพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน คือเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สถานภาพทางสังคม, อำนาจ, และชื่อเสียงในสังคมของชนพื้นเมือง  นำเสนอวัตถุที่ตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับรูปปั้นครึ่งตัวในบริบทสังคมยุโรปที่มักเป็นมรดกในครอบครัว วัตถุพื้นเมืองในนิทรรศการดังกล่าวยังรวมถึงเสื้อคลุมที่ทำจากหนังควายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของเจ้าของและสร้อยคอที่ทำจากอุ้งตีนหมี             ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการนี้คือ งานประติมากรรมที่ชื่อ “Dying Tecumseh”  Shawnee Tecumseh เป็นทั้งผู้นำทางการเมือง นักรบ นักคิด ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองอเมริกัน-ยุโรป เขาพยายามจะรวมกลุ่มพันธมิตรชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีการสู้รบ เขาตายในสงครามบริติช-อเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1813  Pettrich ปั้นเขาในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  ทั้งนี้การหลอมรวมความเป็นชนพื้นเมืองร่วมสมัยและการให้มุมมองที่ไม่สิ้นหวังของเขาถูกนำเสนอไปพร้อมๆ กันผ่านการนำเสนอหนังเรื่อง “Tecumseh’s Vision”  ซึ่งฉายในห้องแยกต่างหากออกไป ในหนังเล่าถึง Shawnee และนักคิดชนพื้นเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงความหมายของ Tecumseh ที่มีต่ออัตลักษณ์ชนพื้นเมืองอเมริกันในปัจจุบัน             Black Hawk เป็นหัวหน้าอีกชนเผ่าหนึ่งที่ Pettrich ปั้นขึ้น ความทรงจำในชีวิตของเขาถูกเล่าและให้ล่ามบันทึกตามคำพูดของเขา ซึ่งทุกวันนี้บันทึกดังกล่าวถือเป็นอัตชีวประวัติชิ้นแรกของชนพื้นเมืองอเมริกัน คล้ายกับการจัดแสดงของ Tecumseh คือมีการติดตั้งห้องสี่เหลี่ยมดำที่เปิดเสียงของผู้ที่อ่านบันทึกของ Black Hawk ขณะที่เขาเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังวอชิงตัน ซึ่งเป็นบริบทสำคัญของชิ้นงานนี้ของ Pettrich ผลงาน Dying Tecumseh ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ferdinand_Pettrich_-_The_Dying_Tecumseh_-_Smithsonian.jpg             ท้ายสุดคือการนำเสนอผลงานร่วมสมัยชื่อ “Ghost in the machine” เป็นรูปปั้นเทพีอาเธนาของไมรอนที่ถูกผูกติดอยู่กับตู้เย็น โดยศิลปินชื่อ Jimmie Durham ซึ่งตั้งแสดงอยู่บริเวณทางออกนิทรรศการ หากภาพตัวแทนของชนพื้นเมืองโดยผลงานของ Pettrich ได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิกที่หยังรากลึกในประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรป ผลงานของ Durham ก็ได้นำเอาพื้นฐานรากศิลปะของยุโรปดังกล่าวมาบิดอย่างเย้ยหยัน             ตลอดข้อเขียนข้างต้น ผู้เขียนมองความพัวพันในสองลักษณะ คือ ทั้ง “วัตถุชาติพันธุ์” และผลงานศิลปะ พัวพันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์อาณานิคมกระแสหลักและประวัติส่วนบุคคล ซึ่งสามารถนำเสนอความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาในศิลปะในการจัดแสดงนั้น แต่สิ่งที่เป็นความพัวพันระหว่างกระบวนการวิจัยและการจัดแสดงวัตถุเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงหลักวิชาต่างๆ ที่ต้องมองวัตถุด้วยการตั้งคำถาม  ทั้งนี้ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากหลายสาขาวิชา เราสามารถแสดงให้เห็นความต่าง ทั้งจากมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานและจากผู้ใช้งาน.

กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์กับความพยายามของภัณฑารักษ์

22 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ หรือ พิพิธภัณฑสถาน เป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาเก็บและจัดแสดงอย่างเป็นระบบ ซึ่งแต่ละแห่งแต่ละที่ ต่างก็มีแนวทางของตนเอง ตามปัจจัยทางด้านวัตถุและบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ดังในกรณีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทหน้าที่ในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นภารกิจหลัก ดังนั้นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมจึงมุ่งที่จะรวบรวมหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการขุดค้น ขุดแต่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเป็นหลัก เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์วิจัยวัตถุเหล่านั้น และนำผลการศึกษาที่ได้ เผยแพร่ในลักษณะของการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ตามหลักการของพิพิธภัณฑสถานวิทยา อันเป็นลักษณะเฉพาะของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งหนึ่งในสังกัดกรมศิลปากร ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ภายในเขตเมืองโบราณท้าวอู่ทอง อันเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีความสำคัญร่วมสมัยกับเมืองโบราณนครปฐม เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ มีอายุของแหล่งมากว่า 1,500 ปีล่วงมาแล้ว พิพิธภัณฑสถานฯ อู่ทองจัดตั้งขึ้นจากผลการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตภาคกลางฝั่งตะวันตกและภาคตะวันตก ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2509 วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ เป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ จัดอยู่ในรูปแบบศิลปะทวารวดี ที่เจริญขึ้นในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย กลุ่มศิลปะดังกล่าวมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โบราณวัตถุ ที่จัดแสดงและเก็บรักษาภายในความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ มีมากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในฐานะตัวแทนวัฒนธรรมยุคแรกเริ่มบนผืนแผ่นดินไทย และยังเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดานักศึกษาและนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่จะต้องเดินทางเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมวัตถุเหล่านี้ เป็นประจำทุกปี ทว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กลับประสบปัญหามีจำนวนผู้เข้าชมน้อย อันเป็นปัญหาเดียวกับพิพิธภัณฑสถานอื่นๆ ในประเทศไทย แนวทางที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เลือกใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การจัดกิจกรรมเชิงรุก ทั้งภายในและภายนอกพิพิธภัณฑ์ มุ่งสร้างสรรค์ให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต กระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นที่เยาวชนไทยเป็นหลัก เนื่องจากเห็นความสำคัญของการจัดทำพิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในรากฐานทางวัฒนธรรม และความเข้มแข็งของสังคม ดังคำกล่าวว่า "การรักษาวัฒนธรรมไทย คือการรักษาชาติ ผู้ทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับทหาร คือการรักษาความเป็นชาติ ในที่นี้ก็คือวัฒนธรรมประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในการบ่งบอกถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน และเยาวชนในฐานะผู้สืบทอด จึงควรได้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีรวมถึงวัฒนธรรมประจำชาติไว้เป็นพื้นฐานก่อนที่จะรับเทคโนโลยีจากภายนอกซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไป ในช่วงต้นปีการศึกษาของแต่ละปี ประมาณเดือนพฤษภาคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จะจัดทำหนังสือเชิญชวนให้คณะครูและนักเรียนภายในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทวารวดีที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และในแต่ละช่วงของปีงบประมาณยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งวัฒนธรรมในด้านอื่นๆ ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับพิพิธภัณฑ์หลายโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนเกิดความคุ้นเคยและกล้าที่จะเข้ามาใช้บริการภายในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างโครงการต่างๆ เช่น     - การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ในเดือนมกราคม     - กิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เดือนเมษายน     - กิจกรรมวันไทยทรงดำ เดือนเมษายน     - กิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติและวันพิพิธภัณฑ์ไทย(จัดเป็นกิจกรรมเดียวกันเนื่องจากเป็นวันที่ต่อเนื่อง)     - การจัดบรรยายและจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายทางด้านโบราณคดีสมัยทวารวดี     - โครงการเสริมสร้างความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแก่ครูสังคมศึกษา     - การจัดทำนิทรรศการพิเศษในวันสำคัญต่างๆ     - โครงการยุวชนพิพิธภัณฑ์ ให้ความรู้แก่นักเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ     - โครงการอบรมศิลปะภาคฤดูร้อน (แตกต่างกันในแต่ละปี เช่น ฝึกการทำเครื่องจักสาน ฝึกสอนดนตรีไทย ฯลฯ)     - พิพิธภัณฑ์สัญจรสู่สถานศึกษาและชุมชน ภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบงานด้านวิชาการและการศึกษา เป็นผู้กำหนดกิจกรรมและโครงการเหล่านี้ขึ้นโดยความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการจำนวนหนึ่ง ในขณะที่หลายกิจกรรมมุ่งเน้นให้เยาวชนมาร่วมกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ แต่กิจกรรมบางโครงการ มุ่งเผยแพร่ความรู้และสานต่อความรู้เหล่านั้นสู่สังคม เช่น การให้ความรู้แก่ครูผู้สอนสังคมศึกษาและผู้นำเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้มีความรู้ความสามารถ และปราชญ์ชุมชนหลายท่านหลายหน่วยงาน อาทิ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี รวมไปถึงศิลปินอาวุโสของจังหวัด ในจำนวนกิจกรรมเหล่านี้ กิจกรรมหนึ่งที่จัดภายนอกเขตพิพิธภัณฑ์ นั่นคือโครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร รูปแบบการดำเนินงานเป็นการนำนิทรรศการพิเศษและนิทรรศการเกี่ยวกับการแนะนำการให้บริการของพิพิธภัณฑ์ไปจัดแสดงยังโรงเรียนต่างๆ ทั้งภายในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยมุ่งที่จะปลูกจิตสำนึกในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดี โบราณสถานและโบราณวัตถุให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป เพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญของพื้นที่ตนที่มีต่อประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาติ และรู้จักพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากขึ้น กิจกรรมภายในโครงการจะแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา ใช้ระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์ ช่วงแรกเป็นกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีในแต่ละท้องถิ่น เป็นการแนะนำแหล่งโบราณคดีและความสำคัญของแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัดอย่างคร่าวๆ ประกอบนิทรรศการที่นำไปจัดแสดง และทิ้งป้ายนิทรรศการเหล่านั้นไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้ครูผู้สอนทำกิจกรรมกับนักเรียนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นอีก 1 - 2 สัปดาห์จะกลับไปเก็บนิทรรศการ เป็นช่วงเวลาของการประเมินผลการติดตั้งป้ายนิทรรศการว่านักเรียนได้เข้ามาศึกษามากน้อยเพียงใด โดยการแบ่งกลุ่มตอบคำถาม และออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน นอกจากการประเมินดังกล่าวจะเป็นการทดสอบความรู้แล้ว ยังเป็นการสร้างความกล้าแสดงออกให้กับเยาวชนและเพิ่มความสนิทสนมระหว่างภัณฑารักษ์และกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย หลังจากกิจกรรมตอบคำถามผ่านไป จะเป็นการประมวลความรู้ เพื่อนำไปใช้ได้จริง เช่นการแนะนำสถานที่ต่างๆ ให้กับเพื่อนต่างถิ่น เป็นต้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก รองศาสตราจารย์ชนัญ วงษ์วิภาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์สว่าง เลิศฤทธิ์ และ อาจารย์อมรชัย คหกิจโกศล จากคณะโบราณคดี ร่วมให้ความรู้กับเยาวชนเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาจะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดที่พิพิธภัณฑ์ไปทำกิจกรรม เช่น ถ้าทำกิจกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี ก็จะมีเนื้อหาการบรรยายที่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสุพรรณบุรีในด้านต่างๆ คือ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภาษาและวรรณกรรม ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ได้จัดกิจกรรมที่โรงเรียนต่างๆ ทั้งในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และต่างจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนบรรหาร-แจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์, โรงเรียนสระยายโสมวิทยา อำเภออู่ทอง, โรงเรียนสงวนหญิง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี,โรงเรียนสวนแตงวิทยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี, โรงเรียนสรวงสุทธาวิทยา อำเภอศรีประจันต์, โรงเรียนทุ่งคลีโคกช้างวิทยา อำเภอเดิมบางนางบวช, โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี และโรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมนิทรรศการสัญจร คือ เยาวชนในแต่ละท้องถิ่นมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยรวมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักพิพิธภัณฑ์และการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์มากขึ้น นักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนติดต่อกับพิพิธภัณฑ์เมื่อต้องการค้นคว้าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ขณะที่นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมของชาติต่อไป แนวทางการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์ออกสู่สายตาชุมชน ที่นอกจากจะกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์มีมากขึ้นแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ภัณฑารักษ์หวังไว้ ยังต้องการที่จะเสริมสร้างความรู้และต้องการแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่น เมื่อเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้พบเห็น จะได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์ * ลักษมณ์ บุญเรือง ภัณฑารักษ์ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี

บทสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในพิพิธภัณฑ์และการอนุรักษ์วัตถุสะสมของกลุ่มชนพื้นถิ่น

22 มีนาคม 2556

    บทคัดย่อ - พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาวัตถุจากกลุ่มชนพื้นถิ่นกำลังเปลี่ยนบทบาทและทิศทางไปพร้อมกับชุมชนที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมายถึงวิถีการทำงานใหม่ในพิพิธภัณฑ์ และหมายถึงข้อเรียกร้องใหม่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัตถุสะสม ผู้เขียนได้วิเคราะห์เหตุผลความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนข้อท้าทายใหม่ๆ ในจริยธรรม การปฏิบัติ คุณค่าของการอนุรักษ์ และข้อท้าทายเช่นนี้ยังส่งผลต่อความเป็นจริงของการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้สรุปว่า ข้อท้าทายส่งอิทธิพลต่อบทบาทและทัศนะของนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ การมองว่าสิ่งใดสำคัญต่อการอนุรักษ์ ใครควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และจะปฏิบัติการอย่างไร     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์     ในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย บริบทพิพิธภัณฑ์ที่มีนักอนุรักษ์วัตถุชาติพันธุ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมวัตถุจากชุมชนคนพื้นถิ่นในบริเวณพื้นที่ที่สัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการนำเสนอวัฒนธรรมทางวัตถุเป็นสถานที่ของการนำเสนอวัฒนธรรมที่มีชีวิต ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นการเอื้อให้เกิดการนำเสนอวัฒนธรรมโดยเจ้าของวัฒนธรรมทางวัตถุเอง     เป็นที่ทราบกันดีว่า พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาทำหน้าที่ในการอนุรักษ์และจัดแสดงวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่มากในงานพิพิธภัณฑ์คือ บทบาทของกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมที่มีต่อโครงสร้างอำนาจเดิมซึ่งพิพิธภัณฑ์เคยมี แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ในการทำงานระดับโครงการเฉพาะ เช่น การจัดนิทรรศการหรือการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมคืนต่อชุมชน มากกว่าที่จะเป็นการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ชนพื้นถิ่นมีโอกาสทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ และกลายเป็นคนในระบบงานพิพิธภัณฑ์ ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจและการควบคุมการนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาในขบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ชนพื้นถิ่น (First Nations) กลายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชนอเมริกันอินเดียน และสถาบันอื่นๆ ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นทั่วอเมริกาเหนือและนิวซีแลนด์ ฉะนั้น ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีโอกาสมากขึ้นที่จะสัมผัสเสียงของสมาชิกของวัฒนธรรมพื้นถิ่นหนึ่งๆ มิใช่การรับรู้เพียงเสียงจากอดีตหรือจากความรู้วิชาการของภัณฑารักษ์ที่มิใช่ชนพื้นถิ่น     เมื่อพิจารณาจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาในประเทศหนึ่ง (หรือระดับจังหวัด รัฐ หรือภาค) ในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นเป็นผู้เก็บรวบรวมวัตถุเอง เราควรทบทวนขนบในการมองพิพิธภัณฑ์ได้แก่ "พิพิธภัณฑ์ วัตถุ และการเก็บสะสม" (Pearce 1992) มาเป็นการมองเจ้าของวัฒนธรรมวัตถุเหล่านั้นด้วย (originators of the object) (Ames 1992) ในขณะเดียวกัน แนวทางการทำงานใหม่เริ่มก่อตัวในพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องหรือความต้องการใหม่ๆ เข้ามาสัมพันธ์กับวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การปรึกษาหารือหรือการต่อรองกับตัวแทนของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม หรือการขอคำแนะนำจากคณะกรรมการหรือกลุ่มผู้สูงวัยเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมที่หมายรวมถึงการส่งสมบัติทางวัฒนธรรมคืน การยืมสิ่งของเพื่องานพิธีกรรม การจัดเก็บหรือการจัดแสดงที่คำนึงถึงความรู้สึกทางวัฒนธรรม การจัดพิธีกรรมในพิพิธภัณฑ์ และการปฏิบัติต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงทางจิตใจด้วยธรรมเนียมอันเหมาะสม และการจับต้องวัตถุสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้มาจากประเด็นสิทธิชนพื้นถิ่นและความเป็นเจ้าของ และการควบคุมว่าสิ่งใดเป็นหรือเคยเป็นของพวกเขา เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้รับการพิจารณาใหม่ในศาลและความคิดเห็นสาธารณะในหลายประเทศ     ทิศทางใหม่ของพิพิธภัณฑ์ส่งผลต่องานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงบางประการกระทบต่อความคิดพื้นฐานงานอนุรักษ์ ที่ได้พัฒนาและสืบทอดงานพิพิธภัณฑ์วิทยาเดิม บทความนี้จะเน้นข้อท้าทายสำหรับนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ เมื่อข้อคำนึงทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เชิงกายภาพของวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาทำงานอยู่     ความเปลี่ยนแปลงในฐานะความท้าทายต่อการอนุรักษ์     งานอนุรักษ์พัฒนาเป็นสายงานเฉพาะ โดยเน้นไปที่การอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพของวัฒนธรรมทางวัตถุ ลักษณะหนึ่งของสายงานคือ ผู้ปฏิบัติจะยึดมั่นในงานที่ทำและ "ลูกค้า" ที่เขาจะต้องให้บริการ การยึดมั่นต่อความคิดดังกล่าวบางครั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงาน นักอนุรักษ์บางคนเห็นว่าวัตถุเป็นเสมือนลูกค้าคนสำคัญ ดังคำกล่าวที่ว่า "ความซื่อสัตย์ของเราไม่ได้เป็นของสถาบัน องค์กร หรือเพื่อร่วมงาน แต่เป็นของวัตถุที่เฉพาะและไม่สามารถหาทดแทน วัตถุซึ่งกุมเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความต้องการ (Pearce 1992, 2) สำหรับพิพิธภัณฑ์แล้ว แนวคิดพื้นฐานที่มองความสำคัญของการอนุรักษ์ของชนพื้นถิ่น ด้วยการสนับสนุนต่อการแสดงความหมายที่มีชีวิต (living expression) มากกว่าการมองไปที่การอนุรักษ์วัฒนธรรมทางวัตถุ แนวคิดดังกล่าวถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างลุ่มลึก นักอนุรักษ์บางคนที่มีประสบการณ์อาจมองว่า เป็นความเสี่ยงต่อวัตถุเพื่อจะรับใช้คนในปัจจุบัน     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้แสดงให้เห็นข้อท้าทายต่อการอนุรักษ์ตามประเพณี ซึ่งพอจะแบ่งเป็นประเด็นดังนี้     1.วิธีการและข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ในฐานะการปฏิบัติเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา การสร้างคลังที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหมายถึงการมีพื้นที่ที่อากาศจากภายนอกและแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ชาวเมารีจะนำใบไม้สดวางบนวัตถุหรือแท่นจัดแสดงสำหรับเหตุผลทางวัฒนธรรรมที่เกี่ยวโยงกับการรำลึกถึง     2. จริยธรรมของการอนุรักษ์ จะเป็นความถูกต้องหรือไม่ที่งานสายอาชีพอนุรักษ์ที่จะต้องยึดมั่นต่อจรรยาบรรณ จะต้องเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุเพื่อเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหมายเชิงวัฒนธรรม เช่น ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาช่วยสนับสนุนในขบวนการสร้างข้อตกลงสำหรับการยืมหน้ากากและตระกร้าที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์และเจ้าของวัฒนธรรม จุดประสงค์สำคัญเป็นไปเพื่อให้การยืมเป็นข้อคำนึงสูงสุด แม้ว่าการยืมนั้นจะรวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสวมใส่ หยิบจับ หรือการขนส่งภายใต้สภาพการขนส่งและสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ก็ตาม     3. สิทธิอำนาจของนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในคลัง การครอบครอง และการดูแลกายภาพวัตถุของพิพิธภัณฑ์ สิทธิอำนาจของชนพื้นถิ่นมีมากขึ้นและส่งอิทธิพลต่อประเด็นที่กล่าวมา ข้อท้าทายนี้เป็นหนึ่งในข้อท้าทายสิทธิอำนาจของพิพิธภัณฑ์โดยองค์รวม     4. วิถีการทำงานของนักอนุรักษ์ นักอนุรักษ์ในอเมริกาเหนือ ซึ่งต่างไปจากนักอนุรักษ์นิวซีแลนด์ โดยปกติแล้วจะไม่เริ่มต้นการอนุรักษ์โดยปราศจากวิธีการที่เหมาะสม และคำปรึกษาของเจ้าของวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิหรือมีข้อคำนึงทางวัฒนธรรม     ประเด็นทั้งสี่ประเด็นนี้ส่งผลต่อการปฏิบัติของนักอนุรักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ส่งผลต่อกรอบการมองงานอนุรักษ์ ข้อเรียกร้องจากชนพื้นถิ่น และพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถานที่รับใช้ต่อชุมชนหรือเจ้าของวัฒนธรรม ท้าทายต่อกรอบความคิดเดิมที่วางเอาไว้ว่า พิพิธภัณฑ์คืออะไร กรอบความคิดเหล่านี้เน้นถึงสมมติฐานพื้นฐานของงานอนุรักษ์ เช่น คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุในลักษณะที่ออกไปจากวัฒนธรรมเดิม คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุโดยมองว่าเป็นองค์รวมของสิ่งของมากกว่าที่จะเป็นองค์รวมทางวัฒนธรรม ความสำคัญของการย้อนกลับมามองการผนวกระหว่างสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน การให้คุณค่ากับวิทยาศาสตร์ในฐานะหนทางแรกของการหาคำตอบเกี่ยวกับการเก็บ การดูแลรักษา และในบางกรณีการปฏิบัติการต่อวัตถุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อท้าทายต่อพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นบททดสอบกรอบความรู้งานอนุรักษ์ "ซึ่งเคยฝังแน่นอยู่ในผู้ปฏิบัติ" คำถามเหล่านี้จะทำให้เราเห็นว่าสิ่งใดสำคัญ ชอบธรรม และมีเหตุมีผล และสิ่งใดที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำต่อไป     คำถามต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นข้อขัดแย้งทางคุณค่าที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้         สิ่งใดที่ควรอนุรักษ์เมื่อมีเพียงลักษณะทางกายภาพของวัตถุที่ควรได้รับการอนุรักษ์เท่านั้น         ความสำคัญของวัตถุเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดในกรอบการทำงาน ไม่ใช่เป็นเพียงรูปลักษณ์ทางกายภาพ แนวคิดนี้ได้รับการขยายความโดยปรัชญา Mabel McKay ที่กล่าวไว้ว่า คนจักสานตระกร้าของชนเผ่า Pomo "ไม่สามารถแบ่งแยกทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัสดุที่เธอใช้จักสานออกไปจากการพูดถึงความฝัน การเยียวยา การทำนายทายทัก และกฎของเครื่องจักสานจากอดีต ด้วยเหตุนี้ สำหรับ Mabel แล้ว สิ่งที่กล่าวถึงจึงไม่สามารถที่จะแยกประเด็นทำความเข้าใจได้แต่อย่างใด" (Sarris 1993, 51)         ระบบคุณค่าของใครมีความสำคัญมากกว่ากัน         โดยปกติแล้ว พิพิธภัณฑ์นิยาม "ความสำคัญและลักษณะเฉพาะ" (AIC 1995, 23) ของวัตถุตามความหมายที่มาจากการวิจัยของภัณฑารักษ์สำหรับวัตถุที่บริบทต่างๆ ในระบบค่านิยมของพิพิธภัณฑ์ (หายาก สภาพ ของจริง ความสำคัญ และอื่นๆ) พิพิธภัณฑ์ "ชีวิต" ในช่วงหลังสมัยใหม่พยายามอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมเจ้าของวัตถุ (หรือเรียกได้ว่า เป็นไปตามข้อประนีประนอมทางวัฒนธรรมสำหรับวัตถุศักดิ์สิทธิ์หรือมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมบางประการ) ดังนั้น ในพิพิธภัณฑ์เช่นที่กล่าวมา ความต้องการทางวัฒนธรรมที่ต้องการใช้วัตถุสักชิ้น และการดูแลวัตถุด้วยความเหมาะสมทางวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับต้นๆ มากกว่ากระบวนการมาตรฐานงานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ นักอนุรักษ์ควรจะให้ความเคารพต่อความหมายทางวัฒนธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงาน และเรียนรู้วิธีการที่ Mabel McKay ดูแลเครื่องจักสานของเธอในลักษณะ "เธอบอกกับฉันถึงวิธีการหล่อเลี้ยงเครื่องจักสานด้วยการให้น้ำ 1 ครั้งต่อเดือน และเธอยังบอกกับฉันด้วยว่าจะต้องมีการสวด และเพลงใดบ้างที่จะต้องร้อง" (Sarris 1993, 61)? วิธีการปฏิบัติเช่นนี้ควรได้รับการบันทึกหรือเป็นความเหมาะสมทางวัฒนธรรมหรือไม่?         ควรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า นักอนุรักษ์ในที่นี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นงานสะสมที่มาจากหลายหลากชาติและเงื่อนไขในเรื่องเวลา งบประมาณ และระยะทาง เหล่านี้คือเงื่อนไขที่อาจจะไปด้วยกันได้ไม่ดีนัก พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องพิจารณางานพิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับชนพื้นถิ่น ในขณะเดียวกันกับการทำความเข้าใจต่อความต้องการและการตัดสินใจของชนพื้นถิ่น ที่ไม่ใช่เฉพาะความต้องการของพิพิธภัณฑ์ ควรเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การพิจารณาถึงนัยสำคัญของเครื่องจักสานมิได้มองเพียงแต่ว่าวัตถุนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือมีเรื่องที่ควรระวังทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาไปถึงพิธีกรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่านักอนุรักษ์จะตัดสินโดยอยู่บนพื้นฐานทางทฤษฎีหรือการปฏิบัติไปในลักษณะใด การตัดสินและกระบวนการจะสะท้อนว่านักอนุรักษ์สามารถผนวก "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแนวคิด" ได้หรือไม่ นั่นคือ คุณค่าของวัฒนธรรมโปโมที่นักอนุรักษ์ได้รับทราบ พร้อมไปกับการอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพ ที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของงานอนุรักษ์ที่นักอนุรักษ์ได้รับการถ่ายทอดมา         คุณภาพของวัตถุที่นักอนุรักษ์ต้องการรักษาและทำนุบำรุงมีความสอดคล้องต่อวัตถุนั้นหรือความสำคัญในคุณค่าทางวัฒนธรรมนั้นหรือไม่         จรรยาบรรณสำหรับนักอนุรักษ์ของรัฐในประเทศแคนาดากล่าวไว้ว่า "ทุกอย่างที่นักอนุรักษ์ทำต้องเป็นไปตามการเคารพต่อองค์รวมของสิ่งนั้น ทั้งลักษณะทางกายภาพ ประวัติศาสตร์ กรอบความคิด และความงาม (IIC-CG and CAPC 1989, 5) Guidance for Conservation Practice (1981) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า "การอนุรักษ์เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แท้จริงของวัตถุนั้น" (UKIC 1981, 1) ในกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ องค์รวมที่แสดงให้เห็นความจริงเกี่ยวกับวัตถุเป็นการคำนึงถึงสภาพปัจจุบันและวัสดุที่ใช้ทำ และรวมถึงเวลาและเครื่องหมายบางอย่าง โดยปกติ การให้เหตุผลของภัณฑารักษ์เกี่ยวกับองค์รวมจะเน้นที่หลักฐานทางกายภาพที่ปรากฏในหรือบนวัตถุพอๆ กับงานบันทึก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าองค์รวมสาระสำคัญอยู่ที่การตีความมากกว่าคุณลักษณะที่ยึดติดกับตัววัตถุ ตัวอย่างเช่นข้อเท็จจริงที่มีการพิสูจน์ถึงเวลาและร่องรอยไม่ใช่ความจริงที่สำคัญกับตัววัตถุ ความหมายของวัตถุจึงไม่ปรากฏหากปราศจากการตีความ (Handler 1992; Pearce 1992) การตีความหมายถึงการเพิ่มเติมคุณค่าทางวัฒนธรรม และผลของการตีความปรากฏในฐานะของความจริง         ตัวอย่างต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นความคิดดังกล่าว ในปี 1993 พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัย บริติชโคลัมเบีย (MOA) ยินยอมให้ครอบครัวของชนพื้นถิ่นครอบครัวหนึ่งยืมหน้ากากเพื่อใช้ในพิธีพอทแลท์ช เพราะวัตถุนั้นๆ มีความแข็งแรงและมีอายุตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นกลุ่มวัตถุที่มาจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือเดียวกัน และมีสภาพที่ใช้การได้ดีเช่นเดียวกัน แต่กลับเป็นวัตถุที่สร้างขึ้นในช่วง 1825 หรือ 1790 วัตถุนั้นจะถูกมองเป็นสิ่งหายากที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ตรงนี้ คงเป็นเรื่องอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า พิพิธภัณฑ์จะยินยอมให้ยืมวัตถุเหล่านั้นเพื่อการร่ายรำ เวลาในกรณีที่ยกตัวอย่างมานี้แสดงให้เห็นคุณค่าที่สัมพัทธ์มากกว่าการยึดติดที่ข้อเท็จจริง         คำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของ "องค์รวม" สะท้อนให้เห็นถึงคำถามที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่านักอนุรักษ์ควรทำอย่างไรต่อวัตถุชิ้นหนึ่งที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ขณะที่คุณที่ผูกโยงกับวัตถุตัวนั้นขัดกับค่านิยมบางประการในงานอนุรักษ์         แล้วนักอนุรักษ์ในสายอาชีพจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด     จุดหมายใหม่สำหรับงานพิพิธภัณฑ์หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีเป็นการเพิ่มความยากลำบากที่ต้องยอมรับมากขึ้นในวิชาชีพการอนุรักษ์ โดยภารกิจสำคัญคือการอนุรักษ์ที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลง ("การอนุรักษ์ที่ต้านทางการเปลี่ยนแปลง" เป็นคุณค่าพื้นฐานของขนบพิพิธภัณฑ์วิทยา การอนุรักษ์ดังกล่าวนำเสนอวัฒนธรรมในกรอบเวลาหนึ่งและสัมพันธ์กับ "การปรากฏตัวของข้อมูลทางชาติพันธุ์" ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่ "แท้จริง")     อย่างไรก็ตาม ความหมายทางวัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไป และควรให้คุณค่าต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมที่หมายรวมถึงการยอบรับต่อ "ความจริง" ซึ่งแตกต่างกันในเวลาที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นเรือแคนนูที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์การใช้งาน แต่ในปัจจุบัน คุณค่าและความหมายเปลี่ยนไปเรือกลายเป็นสิ่งตกทอดที่เหลืออยู่ (Phillips 1991, อ้างใน Clavir 1992 และ Feest 1995)     ด้วยการยอมรับความหมายทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป นักอนุรักษ์กำลังถูกตั้งคำถาม ไม่ใช่เพียงคุณค่าที่จับต้องได้ยากของวัตถุ แต่ยังต้องตระหนักและยอมรับกระบวนการที่ต่อเนื่อง และสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่า อันหมายถึงการคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุ้นเคยในงานอนุรักษ์ แนวคิดใหม่นี้ส่งผลต่อนักอนุรักษ์ในหลายๆ ทาง ทั้งธรรมชาติที่เปลี่ยนไปของงานพิพิธภัณฑ์ และบทบาทของงานสะสมในพิพิธภัณฑ์     การสังเกตการณ์     บริบทที่ท้าทายสำหรับจริยธรรมและการปฏิบัติในงานอนุรักษ์นำไปสู่คำถามพื้นฐาน ได้แก่ การอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ ปัจจัยที่กำหนดเหมาะหรือไม่เหมาะสำหรับงานสะสมในทุกวันนี้ ไม่ว่าวัตถุเหล่านั้นจะได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป หรือหลังสมัยใหม่ หรือพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิถีชีวิต? คำตอบจะปรากฏอยู่กับการทำงานที่จะยอมรับหรือปฏิเสธพัฒนาการเหล่านี้ และการประยุกต์ใช้จริง     ข้อท้าทายต่อกรอบการทำงานพื้นฐานมักออกมาในลักษณะที่ขัดแย้งต่อคนที่เชื่อในคุณค่าตามกรอบการทำงาน อันที่จริงแล้ว นักอนุรักษ์ควรทำตัวเป็นผู้ท้าทายต่อระบบ การถกเถียงทั้งด้วยอารมณ์ ความเชื่อ และเหตุผลเป็นสิ่งที่จะต้องการขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ว่านักอนุรักษ์ควรเผชิญหน้ากับชนพื้นถิ่นเจ้าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อถกเถียงในประเด็นการอนุรักษ์ คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทัศนะเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกัน     ทางออกหรือจรรยาบรรณที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และปรับเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน นอกจากนี้ การลงมือกระทำขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่นในด้านกฏหมายและข้อเรียกร้องเชิงศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของ และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนพื้นถิ่นอย่างในแคนาดา นอกจากความซับซ้อนที่กล่าวถึง และการหาทางออกจากข้อกังขาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ ข้อสังเกตที่กล่าวถึงนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป         การสังเกตการณ์ประการแรก : การตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์         ในความเป็นจริง พิพิธภัณฑ์ต้องตัดสินใจทุกวันเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัตถุสะสม เราต้องพึงระลึกเสมอว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงการใส่ใจเฉพาะวัตถุของวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่เราจะต้องปฏิบัติการด้วยเท่านั้น แต่ข้อท้าทายนี้ยังผลต่อการทำงานอนุรักษ์โดยรวม ตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีวัตถุที่สามารถแตะต้องได้ในพิพิธภัณฑ์ การให้ยืมวัตถุบางชิ้นไปในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม การเปิดพื้นที่ให้เช่าที่สามารถนำอาหาร เครื่องดื่ม หรือดอกไม้เข้าในไปส่วนนิทรรศการ หรือแม้แต่การขาดแคลนเงินทุนหรือการริเริ่มที่จะจัดสภาพคลังวัตถุในลักษณะที่เหมาะสม จากความเป็นมา ไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดในทวีปอเมริกาเหนือที่สามารถเป็นตัวอย่างของมาตรฐานการดูแลที่สอดคล้องกับวัตถุวัฒนธรรมของชนอเมริกันและแคนาเดียนพื้นถิ่น         อนึ่ง การอนุญาตให้มีการใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดมาจากการเรียกร้องของชนพื้นถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเท่านั้น พิพิธภัณฑ์มากมายได้รับการเรียกร้อง "การสัมผัส" วัตถุที่กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทั่วไป ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิคเตอเรียแอนด์อัลเบริต์ที่จัดแสดงแจกันราชวงศ์หมิง ศตวรรษที่ 16 ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ในนิทรรศการที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี และแจกันเองกลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (Kerr 1995) หากให้ยกตัวอย่างอื่นเพิ่มเติม นักอนุรักษ์ยอมรับการใช้กลุ่มหนังสือเก่าและจดหมายเหตุในหอสมุด หรือการที่พิพิธภัณฑ์ให้ยืมวัตถุในการประกอบพิธีกรรม ในลักษณะเช่นนี้ มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอาคารและอยู่ภายใต้ข้อแนะนำเพื่อการอนุรักษ์         นักอนุรักษ์ผลงานศิลปะร่วมสมัยยอมรับการจัดแสดงผลงานของศิลปินที่มีชีวิตอยู่ในลักษณะที่เสี่ยงต่อความเสียหาย ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นความจงใจของศิลปินเอง และกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศยอมรับการกระทำดังกล่าว นักอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมยอมรับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อองค์รวมของอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบและแบบแผนการใช้งานใหม่ พิพิธภัณฑ์ทางการทหารเป็นตัวอย่างที่ดีแต่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ในอังกฤษและแคนาดา มีตัวอย่างการให้ยืมใช้วัตถุชั่วคราว เช่นเหรียญที่ระลึกให้ยืมชั่วคราวในพิธีรำลึกถึงอดีต ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่จะให้ยืมข้าวของในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการสู้รบประจำปี         คำสำคัญในที่นี้ ได้แก่ พิธีกรรม การใช้ การให้ยืมเพื่อใช้งาน การต่อรองกับผู้สร้างสรรค์งาน ผู้สร้างสรรค์ (เจ้าของ) มีสิทธิ์ไม่ใช่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ตัดสินใจในขณะที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากวัตถุ         การสังเกตการณ์ประการที่สอง : ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์         หลักฐานที่เห็นได้จากการปฏิบัติงานได้แก่ ฐานการคิดที่ปรับเปลี่ยนเนื่องจากการท้าทายชนพื้นถิ่นต่อพิพิธภัณฑ์ ณ วันนี้ เฉกเช่นในอดีต ปฏิบัติการในพิพิธภัณฑ์ยังคงมีลักษณะที่แตกต่างจากทฤษฎีงานพิพิธภัณฑ์ คำถามง่ายที่สามารถยกขึ้นมาเช่น ทำไมห้องคลังจึงมีสภาพที่แน่นมากเกินไป ทำไมชื่อชนพื้นถิ่นที่ใช้เรียกบ้านเกิดหรือผู้คนจึงไม่ปรากฎในนิทรรศการถาวรหรือทะเบียนวัตถุ ทำไมแมลงที่เข้ามาเป็นเหลือบไรต่อวัตถุยังคงมีอยู่ แม้จะมีกระบวนการป้องกันที่เหมาะสม ทำไมพิพิธภัณฑ์ที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียงจึงยังไม่สามารถรักษาสภาพที่ดีสำหรับวัตถุสะสม หรือไม่สามารถสร้างมาตรการที่จะลดผลกระทบของแผ่นดินไหวในบริเวณที่จำเป็น หากพิพิธภัณฑ์ยังไม่สามารถใช้ความรู้ความชำนาญการจากความรู้ที่ตนเองสะสมตลอดหลายปี ทำไมใครสักคนจะต้องเชื่อการเติบโตขององค์กรพิพิธภัณฑ์ เมื่อชนพื้นถิ่นจากชุมชนแห่งหนึ่งเข้ามาชมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่มาจากมรดกของชุมชน เขาอาจมีโอกาสพบข้อผิดพลาดในสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ปฏิบัติต่อวัตถุนั้นๆ         การสังเกตการณ์ประการที่สาม : ฐานร่วมกัน         แม้ว่าเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หรือนักอนุรักษ์จะแตกต่างจากเป้าหมายของชุมชนคนพื้นถิ่นหรือปัจเจกชน แต่ฐานที่ร่วมกันสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราไม่ควรสรุปความไม่ลงรอยโดยการวางการอนุรักษ์วัตถุไว้ตรงข้ามกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม         Deborah Doxtator ชาวแคนาเดียนพื้นถิ่นแสดงความคิดเห็นว่า จุดร่วมระหว่างชนพื้นถิ่นและพิพิธภัณฑ์แคนาเดียนที่ไม่ใช่ของชนพื้นถิ่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องมาจาก "ความจริงที่ว่าแต่ละฝ่ายมีจุดหมายที่ต่างกัน นั่นคือ จุดหมายที่คู่ขนานกันไป" (Doxtator 1994, 22) จริงๆ แล้ว แม้จุดหมายจะเดินทางคู่ขนานกันไป แต่ผลกลับเป็นบวกได้ หากผลนั้นตอบสนองต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นในห้องคลังสำหรับวัตถุที่มีเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์นิวเม็กซิโก แสดงให้เห็นความเคารพต่อวัตถุและผู้ชม ขณะที่ยังสามารถสะท้อนค่านิยมของงานอนุรักษ์ หรืออย่างศูนย์วัฒนธรรม U’mista อัลเบริต์ เบย์ ในบริติช โคลัมเบีย จัดแบ่งเครื่องประกอบพิธีกรรมพอทแลท์ชเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มวัตถุอายุเก่าและกลุ่มวัตถุร่วมสมัยที่สมาชิกในชุมชนสามารถยืมไปใช้ในพิธีกรรมได้ นักอนุรักษ์เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว         สุดท้าย ชนพื้นถิ่นยอมรับต่อมาตรฐานการดูแลและอนุรักษ์วัตถุที่อยู่พิพิธภัณฑ์ (Matlas 1993) ในจุดนี้ นักอนุรักษ์ยินยอมพร้อมใจ ลีโอนา สปาร์โร ที่ปรึกษากลุ่ม Masqueam ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว และได้เพิ่มเติมข้อพึงปฏิบัติด้วยว่า มาตรการใดๆ ที่ใช้ดำเนินการอนุรักษ์จะต้องไม่ขัดต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมของวัตถุ หรือความต้องการของชุมชนที่จะเข้าไปใช้วัตถุ (Sparrow 1995)         การสังเกตการณ์ประการที่สี่ : กฎจรรยาบรรณ     อย่างน้อยที่สุด หนึ่งในกฎจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์กล่าวไว้ว่า ชนพื้นถิ่นมีสิทธิ์ตัดสินใจต่อมรดกวัฒนธรรมของตนเอง แม้ว่าเขาจะมิได้มีสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย ข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้มาจากการอนุญาตของสภาอนุสรณ์สถานและแหล่งมรดกระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites - ICOMOS) ตามกฎบัตรนิวซีแลนด์สำหรับการอนุรักษ์สถานที่และคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม     "มรดกของชนพื้นถิ่นเมารีและเมาริโอริ…ไม่สามารถแยกออกได้จากตัวตนและความรุ่งเรือง และกอปรขึ้นเป็นความหมายทางวัฒนธรรมจำเพาะ     ข้อตกลงไวแทนกิเป็นเอกสารก่อร่างชาติของเรา และเป็นฐานรองรับการคุ้มครองชนพื้นถิ่นในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นมีส่วนรับผิดชอบต่อสมบัติ สถานที่สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง เนื้อหาขยายขอบเขตความเป็นเจ้าของตามกฎหมายที่มีอยู่ ความรู้ในคุณค่าของมรดกเฉพาะเป็นปัจจัยในการเลือกผู้ที่ดูแลรักษา การอนุรักษ์สถานที่ที่กอปรด้วยคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับการตัดสินใจของชุมชนคนพื้นถิ่น และควรที่จะเป็นไปในบริบทเช่นนี้เท่านั้น ข้อพึงระลึกในงานอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นถิ่นเลื่อนไหลและปรับเปลี่ยนไปตามความสืบเนื่องของชีวิต และความต้องการตามแต่ละปัจจุบันขณะ พร้อมไปกับความรับผิดชอบของการคุ้มครอง และความสัมพันธ์กับผู้คนที่จากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกล่าวถึงข้อปฏิบัติต่อการเข้าถึง สิทธิอำนาจ และพิธีกรรมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในระดับท้องถิ่น หลักพื้นฐานโดยทั่วไปของจรรยาบรรณและความเคารพทางสังคมย้ำให้เห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราจะต้องใส่ใจอยู่เสมอ (ICOMOS 1993, Sec. 2)"     สรุป สิ่งที่จะได้กล่าวต่อไปนี้สะท้อนทัศนะต่อการทำงานอนุรักษ์แบบที่เคยปฏิบัติกันมา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าความคิดเช่นนี้เป็นที่ยอมรับของนักอนุรักษ์วิชาชีพในช่วงเวลาที่ได้รับการบัญญัติขึ้นในปี 1986 "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะลดหรือเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับงานสะสม และต้านทานต่อทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การเสื่อมหรือทำลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งเชิงรุกหรือตั้งรับ สภาพที่ดีของวัตถุเป็นข้อคำนึงเบื้องต้นเหนือการพิจารณาประเด็นอื่นใด (Ward 1986, 9) ในช่วงทศวรรษสั้นๆ จากนั้น สายอาชีพงานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม ข้อตกลงที่สร้างขึ้นร่วมกับเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงหรือลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับวัตถุสะสมในบางสถานการณ์ หน้าที่ของนักอนุรักษ์ได้แก่การให้ข้อมูล (เช่น ความเลี่ยง ทางเลือกในการปฏิบัติ จรรยาบรรณการอนุรักษ์ และกระบวนการ) และเสนอการปฏิบัติต่อสถานการณ์ที่อาจจะเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุ ไม่ว่าเชิงรุกหรือรับ ขณะที่ข้อมูลและปฏิบัติการอนุรักษ์ดำเนินไปด้วยการพิจารณาสภาพของวัตถุที่เหมาะสมและเป็นการปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ควรดำเนินการคู่ขนานกันไปคือ การคำนึงถึงบริบทที่ใหญ่กว่าซึ่งเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมหรือผู้สืบทอดควรเข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานดังกล่าวด้วย" กรอบความคิดข้างต้นไม่ใช่การลบล้างกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ที่เห็นว่าสิ่งใดสำคัญในการตัดสินใจอนุรักษ์ แต่เป็นการพยายามเปลี่ยนจุดเน้นไปที่บริบทที่ใหญ่กว่า ความคิดเช่นนี้ยอมรับคณะทำงานที่ควรมาจากหลายสาขาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการอนุรักษ์ คณะทำงานที่กล่าวถึงควรประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมและวิชาชีพอื่นๆ กรอบความคิดที่ว่านี้พยายามจัดวางวิชาชีพนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์และเทคนิควิทยาในการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม แต่ความรับชอบของเขาและเธอควรเป็นการใช้ความรู้เพื่อคำนึงถึงบริบทแวดล้อมอื่นในแต่ละกรณี มากกว่าจะเป็นการใช้ความรู้จัดการทุกอย่างด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

บทบาทของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในการรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

20 มีนาคม 2556

ยูเนสโก(UNESCO) เป็นองค์กรแรกๆ ที่นำเสนอเรื่องของการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้(intangible culture heritage: ICH) และได้นิยามความหมายของ ICH ว่า หมายถึง วิถีปฏิบัติ  การแสดงออก  การแสดงความคิด ความรู้  ทักษะ  ของชุมชน กลุ่มคน หรือแม้กระทั่งบุคคล ที่ตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมนั้น  และมีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น  มีการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม  ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ของพวกเขา  นำไปสู่อัตลักษณ์และความสืบเนื่องของวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นแนวทางที่สนับสนุนการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ของมนุษย์[1]      ตัวอย่าง ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่า เช่น บทกวี นิทาน  วรรณกรรม   การแสดง เช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง การเต้นรำ การเชิดหุ่น และการละคร   พิธีกรรมและงานเฉลิมฉลอง  งานช่าง งานฝีมือ  ระบบความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยารักษาโรค ดาราศาสตร์  และโลกธรรมชาติ  รวมไปถึงแหล่งและเพื้นที่ที่ใช้จัดกิจกรรมและเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรม[2]   ทราบกันดีว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ  วัตถุชาติพันธุ์  วัตถุร่วมสมัย ฯลฯ ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (tangible heritage)  อย่าง ไรก็ดีปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์มีแนวโน้มพยายามขยายวงหน้าที่ของตนเองไปสู่การนำเสนอเรื่อง ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ด้วยเจตนารมณ์อันดีในการจะปกป้องหรืออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นที่กำลัง จะสูญหาย   ในกรณีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย ที่มีราว 700 แห่งในปัจจุบัน[3] ดำเนิน การโดยชาวบ้าน ชุมชน วัด หรือแม้แต่เอกชน  มีเนื้อหาการจัดแสดงที่หลากหลายมาก  จำนวนกว่าครึ่งจัดแสดงข้าวของและเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตท้องถิ่น  ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น งานฝีมือ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายและแนวคิดของยูเนสโกในการทำคลังข้อมูล(inventory) ของมรดก วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  ในชื่อโครงการภูมิบ้านภูมิเมือง ให้สำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัดเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลและคัดเลือกมรดก วัฒนธรรมวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในจังหวัดของตนเอง  ซึ่งหลายจังหวัดก็เข้ามาเก็บข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง   อย่างไรก็ดีบรรดาชาวพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านั้นคงไม่ทราบว่า ICH หมายถึงอะไร (และอาจไม่จำเป็นต้องรู้) เนื่อง ด้วยการที่วัฒนธรรมใดจะอยู่รอด  มีชีวิตชีวา และสืบทอดอย่างยั่งยืนในสังคมนั้นไม่ใช่เพราะการได้เข้าไปอยู่ในบัญชีราย ชื่อขององค์กรใด แต่ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย อาทิ การตัดสินใจของชุมชนเองว่าอะไรคือวัฒนธรรมของพวกเขา และวัฒนธรรมอะไรที่พวกเขาต้องการรักษา รวมไปถึงสภาพแวดล้อม  ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน  บริบททางสังคมและการเมืองที่เข้มแข็ง    ในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีคุณลักษณะบางประการที่ ทำให้เห็นประเด็นของการปกป้องและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ด้วย ตัวเองอย่างชัดเจน ลองมาพิจารณาร่วมกันว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะเป็นเครื่องมือที่จะปกป้องและ อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม รวมถึงจะถ่ายทอดความรู้กันได้อย่างไร   พิพิธภัณฑ์ผ้า : การสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของชุมชน             การทอผ้าถือเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกันไปทั้งในด้าน วัตถุดิบ สี ลวดลาย เทคนิคการทอ ขึ้นกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนการผสมผสานค่านิยมในสังคม ผ้าทอผืนหนึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความสามารถ จินตนาการ เวลา และความอดทนของผู้ทอ  ผ้าทอผืนหนึ่งจึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาสาขาต่างๆ มากมายเข้าด้วยกัน ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ ฯลฯ ผ้าทอแต่ละผืนจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน   โกมล พานิชพันธ์  เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ เคยกล่าวไว้ในคราวงานประชุมพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษหน้า ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรว่า “ผ้าที่ทำขึ้นมาร้อยชิ้นพันชิ้นไม่มีวันเหมือนกัน โดยที่โลโก้ไม่เหมือนกัน เหมือนลายเซ็นต์แต่เซ็นต์ด้วยเส้นใยผ้า” [4]   ความงดงามของผ้าผืนหนึ่งที่เกิดจากการฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ของ คนๆ หนึ่ง อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ช่างทอคนหนึ่งมิได้มีชีวิตยาวนานตราบชั่วฟ้าดินสลาย แม้ลวดลายดั้งเดิมที่เคยทำไว้จะเลียนแบบกันได้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ที่ประกอบกันอยู่ในหัวของช่างทอที่จะสามารถคิดค้นลวดลายต่างๆ ได้อีกมากนั้นเลียนแบบกันลำบาก     อย่างไรก็ดี การทอผ้าตามครัวเรือนในหมู่บ้านของไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เริ่มลดน้อยลง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เมื่อระบบเงินตราเข้ามาแทนที่ระบบการค้าแบบดั้งเดิม โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเข้ามาแทนที่หัตถกรรมที่ผลิตได้ช้ากว่า  นอกจากนี้ประเพณีบางอย่างที่สัมพันธ์กับการทอผ้าเปลี่ยนไปหรือสูญหายไปทำ ให้การทอผ้าสูญหายตาม เช่น การถวายผ้าห่มพระธาตุ ผ้าห่มพระพุทธรูป และผ้ากฐิน และที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อโลกกลายเป็นหนึ่งเดียว วัฒนธรรมท้องถิ่นหลายอย่างปรับเปลี่ยน ผสมผสานกับวัฒนธรรมที่เข้ามาจากข้างนอก  ชีวิตประจำวันของคนในสังคมส่วนใหญ่เป็นแบบสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา การนุ่งห่มเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงาน ราคาไม่แพง ซื้อหาได้ง่ายตามท้องตลาดเป็นที่นิยม  ทำให้ดูเหมือนว่าผ้าทอแบบดั้งเดิมอยู่ในภาวะที่เสียงต่อการสูญหาย  แต่ท่ามกลางความทันสมัยก็เกิดปรากฏการณ์ท้องถิ่นนิยม และอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผ้าไทยหรือผ้าทอมือได้รับความนิยม[5]  หัตถกรรม การทอผ้าที่อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมในบางชุมชน จึงสามารถดำรงอยู่และสืบต่อมาได้   โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการ  รูปแบบ หน้าที่การใช้งานกันขนานใหญ่  โดยการตลาดได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกกระบวนการตั้งแต่การผลิต  เริ่มจากวัสดุ  สี  ลวดลาย เทคนิค   พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผ้าและสิ่งทอมีเกือบ 30 แห่งกระจาย อยู่ทั่วประเทศ พิพิธภัณฑ์ผ้าหลายแห่งเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์ ภูมิปัญญาแขนงนี้เอาไว้ เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน  ที่ ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยการนำของพระครูไพศาลพัฒนาภิรัต และคณะศรัทธาที่ห่วงใยว่าการทอผ้าลายพื้นเมืองเชียงแสนกำลังจะหมดไป จึงสร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสนขึ้น  ใช้เป็นที่จัดแสดงและบอกเล่ากระบวนการทอผ้า ลวดลาย และเทคนิคต่างๆ พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539อาคาร พิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้สองชั้นใต้ถุนโล่ง ชั้นบนจัดแสดง ผ้าทอลวดลายแบบต่าง ๆ อาทิ ผ้าลายน้ำไหล ผ้าลายดอกผักแว่น ผ้าลายขวางดำแดง กี่ทอผ้าที่ใช้ในสมัยโบราณเป็นกี่ทอมือ 4 ไม้ ผ้าปักพระเวสสันดร  ที่นอนของชาวไทยวน ตุง  วัตถุจัดแสดงที่มีตัวตนต่าง ๆ เหล่านี้คือ รูปธรรมที่เกิดจากความรู้และทักษะของช่างทอผ้าในอดีต นิทรรศการและข้าวของที่จัดแสดงอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสนแต่เพียง อย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งผ่านความรู้ ภูมิปัญญา ตามวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้งได้  กิจกรรมและการทอผ้าที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ถุนของอาคารด้านล่าง ของกลุ่มแม่บ้านชาวสบคำ ที่รวมตัวกันทอผ้าแบบดั้งเดิม เป็นกิจกรรมสำคัญที่เสริมสร้างกระบวนการอนุรักษ์มรดกดังกล่าว แม้เป็นการทอเพื่อขาย  แต่การแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด เทคนิค ลวดลาย ระหว่างช่างทอรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ยังคงปรากฏให้เห็น  และการที่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนนอก เข้ามาชื่นชมและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาแขนงนี้ เป็นสิ่งค้ำจุนภายนอกส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงการทอผ้าและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ ทอให้มีชีวิตอยู่ได้   การอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้าที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าลวดลายและเทคนิคแบบดั้งเดิมยังดำรงอยู่ได้  แต่ต้องกล่าวไว้ด้วยว่าการทอผ้าของที่นี่ไม่ได้เป็นการรับใช้หรือมีหน้าที่ เฉพาะในประเพณีหรือสังคมเจ้าของวัฒนธรรมเหมือนเดิมอีกต่อไป  ชาวบ้านไม่ได้ทอผ้าไว้สวมใส่เองในชีวิตประจำ หรือในงานบุญ หากแต่ถูกเน้นและพัฒนาไปไปสู่การพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ      พิพิธภัณฑ์ ก็เช่นเดียวกับการทอผ้า ทำอย่างไรพิพิธภัณฑ์จึงจะอยู่รอดและยั่งยืน  ทางหนึ่งดังที่กล่าวข้างต้นคือ การหารายได้เข้ามาจุนเจือการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ด้วย  พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปรับเปลี่ยนหน้าที่ของผ้าที่มีต่อสังคม   หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์นี้จึงไม่เพียงแต่เก็บรักษาของเก่า  ของโบราณ  แต่นำความรู้ที่คนรุ่นหนึ่งสั่งสมมาแล้วนำมาประยุกต์รับใช้คนปัจจุบัน  โดยเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นคนในชุมชนและเป็นนักสะสมผ้าด้วย  และต้องการที่จะอนุรักษ์ลายผ้าโบราณของอ.ลอง จ.แพร่ ไม่สูญหาย รวมถึงการทอด้วย โดยใช้วิธีการลอกแบบลายผ้าโบราณทั้งหมด แล้วนำกลับไปให้ชาวบ้านแกะลายเดิมขึ้นมา นำเอาลายผ้าเก่ามาทำซ้ำ แต่อาจจะพัฒนาในแง่  สีใหม่  เปลี่ยนฟืมและเทคนิคการทอให้แน่นขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายและฟอร์มจังหวะของผ้าคือ  หัวซิ่น  ตัวซิ่น  และตีนซิ่น นำขายออกสู่ตลาดในกรุงเทพฯ และผู้ที่สนใจผ้าทอลายโบราณ   พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ หนังตะลุง : สถาบันสืบทอดความรู้และภูมิปัญญา หนังใหญ่ มหรสพชั้นครู เป็นการผสมผสานศิลปะหลายแขนงทั้งการออกแบบลวดลาย การฉลุลาย ที่ก่อให้เกิดความอ่อนช้อยงดงาม เสมือนหนึ่งมีชีวิตยามผสมผสานกับลีลาการเชิดที่เข้มแข็งและอ่อนช้อยการแสดง หนังใหญ่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนสะท้อนถึงจิตวิญญาณของผู้เชิดที่ ผูกพันลึกซึ้งกับศิลปะการแสดงแขนงนี้   หนังใหญ่ก็ประสบภาวะการณ์เช่นเดียวกับศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมหลายแขนงที่ กำลังสูญหาย เมื่อเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่ทรงพลังในโลกสมัยใหม่อย่าง รายการทางโทรทัศน์  ละคร  และภาพยนตร์   ปัจจุบันในประเทศไทย การแสดงหนังใหญ่เหลือเพียงสามคณะเท่านั้นที่ยังคงสืบสานการแกะสลักตัวหนัง และการเชิดหนังใหญ่เอาไว้ ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี  หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี หนังใหญ่ทั้งสามคณะ สร้างพิพิธภัณฑ์ของตนเองขึ้น เพื่อจัดแสดงตัวหนังโบราณอายุหลายร้อยปี พร้อมๆ ไปกับสืบทอดการเชิด และการแกะสลักตัวหนัง   พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2542 จัดแสดงตัวหนังใหญ่ที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี ตามประวัติหนังชุดนี้รับงานแสดงอยู่ทางภาคใต้ จนกระทั่งพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม(เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองในสมัยนั้น ได้ทราบกิตติศัพท์ของหนังใหญ่ชุดนี้ จึงได้ติดต่อซื้อมาทั้งชุดประมาณ 200 ตัว และจ้างครูหนังหรือนายโรงนี้มาเป็นครูฝึกถ่ายทอดให้กับคนในปกครองของพระยาศรีสมุทรฯ ราว พ.ศ. 2430  เมื่อ วัดบ้านดอนสร้างเสร็จ จึงมีการนำหนังใหญ่ชุดดังกล่าวมาถวายวัดบ้านดอน เพื่อง่ายต่อการนัดฝึกซ้อมของครูหนังและวงปี่พาทย์ ภายหลังเมื่อความบันเทิงสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ความบันเทิงแบบโบราณ การเล่นหนังใหญ่ค่อยๆ ซบเซาลง เมื่อตัวหนังไม่ได้ถูกนำออกมาเล่นและขาดการจัดเก็บอย่างถูกต้อง ตัวหนังและตัวคาบที่ทำด้วยไม้จึงผุกร่อนไปตามเวลา พร้อมๆ กับคนเชิดรุ่นเก่าที่ค่อย ๆ ทยอยเสียชีวิตไป   หนังใหญ่วัดบ้านดอนกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งราวปี พ.ศ. 2523 ใน คราวประกวดหมู่บ้านดีเด่น เมื่อชาวบ้านนึกถึงหนังใหญ่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของบ้านดอน จึงร่วมกันฟื้นฟูศิลปะการแสดงแขนงนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และในครั้งนั้นทางคณะได้รับรางวัลรวมถึงการแสดงเป็นที่ถูกอกถูใจของผู้ดู  ทำให้คณะหนังใหญ่มีกำลังใจในการพลิกฟื้นตำนานหนังใหญ่และออกแสดงตามงาน ต่างๆ  การพลิกฟื้นของหนังใหญ่ทำให้ทางวัดบ้านดอน สร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ขึ้น พร้อมกับทำห้องประชุมเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับฟังบรรยายสรุปและชมวิดี ทัศน์การแสดงหนังใหญ่  นอกจากนี้ยังอนุรักษ์ตัวหนังชุดเก่าเบื้องต้นโดยการจัดทำตู้เก็บตัวหนัง และเปลี่ยนตับหนังทั้งหมดและจัดทำตัวหนังใหม่เพิ่มเติมอีก 77 ตัว เพื่อใช้แสดงร่วมกับตัวหนังเก่า ซึ่งยังคงใช้แสดงอยู่ในปัจจุบัน   ปัจจุบัน ผู้เชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอนเป็นเยาวชนบ้านดอนที่รักและสนใจศิลปะพื้นบ้านเก่า แก่แขนงนี้  อย่างไรก็ดีแม้การแกะสลักตัวหนังใหญ่มิได้เป็นความรู้ดั้งเดิมในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านดอนเห็นว่าการแกะสลักหนังใหญ่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การ อนุรักษ์และสืบทอดการแสดงหนังใหญ่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงริเริ่มโครงการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอนในรูปแบบของการสอนแกะสลักตัว หนังและการลอกลายขึ้น  โดยเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้าน คนในชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน ที่มาสอนให้ชาวบ้านได้รู้จักวิธีการแกะสลักหนังใหญ่ การลงสี การลอกลายด้วยกระดาษไข และการทำสำเนาพิมพ์เขียวเพื่อเก็บไว้ใช้ในการแกะสลักหนังใหญ๋ในอนาคร กิจกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กๆ ผู้ปกครอง ครู และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนใช้เวลาว่างวันเสาร์อาทิตย์มาฝึกฝน ทำให้ความสนใจในมรดกท้องถิ่นของคนในชุมชนเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นไม่เฉพาะ แต่คนในคณะหนังใหญ่ นอกจากนี้ยังทำให้การแกะหนังกลายเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนวัดบ้านดอน ในปัจจุบันด้วย   การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือมีคอลเล็กชั่นหนังใหญ่โบราณอยู่แต่ถูกทิ้งร้างเอาไว้โดยไม่ได้ถูกหยิบมา แสดงเป็นเวลานาน กว่าหนังใหญ่วัดขนอนจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทางคณะล้วนเผชิญกับปัญหานานับประการ เริ่มจากความนิยมในเล่นหนังใหญ่ที่ซบเซาลง เนื่องจากการเข้ามาทดแทนของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ ทำให้ตัวหนังถูกทอดทิ้งและอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ปรากฏการณ์การร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้ของทั้งวัดที่นำโดยพระครู พิทักษ์ศิลปาคม ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ชาวบ้าน หน่วยงานราชการในจังหวัด เริ่มขึ้นในปี 2532  เมื่อ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ทดแทนชุดเก่าที่ชำรุด ทำให้คณะหนังใหญ่วัดขนอนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ฝึกฝนศิลปะการทำตัวหนัง การเชิดหนัง การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงหนัง รวมถึงสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ โดยปรับปรุงบูรณะหมู่เรือนไทยที่เป็นกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ชุด เก่าที่ล้ำค่าอย่างถูกวิธี สามารถใช้เป็นแหล่งค้นคว้าวิทยาการแขนงนี้แก่ผู้สนใจได้โดยทั่วไป   ปัจจุบัน หนังใหญ่วัดขนอน อยู่ภายใต้การดูแลของท่านเจ้าอาวาส ที่มีการบริหารจัดการและพัฒนาหนังใหญ่วัดขนอนให้เป็นที่รู้จัก วิธีการหนึ่งที่ท่านเจ้าอาวาสนำมาใช้ จนทำให้หนังใหญ่วัดขนอนมีการอนุรักษ์และสืบทอดอย่างต่อเนื่อง ใช้แนวคิดที่เริ่มจากการมองว่า ถ้าจะอนุรักษ์หนังใหญ่ให้ยั่งยืนสืบไปต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในมิใช่ พึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ทางวัดจึงส่งลูกศิษย์ที่มีแววและสนใจศิลปะแขนงนี้อยู่แล้วศึกษาต่อด้านการ เขียนลายไทยที่วิทยาลัยเพาะช่าง เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้กลับมาลอกลายหนังชุดเก่าและพัฒนาหนังชุดใหม่ได้ ด้วยตนเอง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ลูกศิษย์ผู้นี้เป็นผู้จัดการคณะหนังใหญ่ นำคณะออกแสดงตามงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ   วิธีการอีกทางหนึ่งที่ทำให้การแสดงหนังใหญ่สืบทอดอย่างไม่ขาดตอน คือ เปิดการแสดงหนังใหญ่และเผยแพร่มหรสพแขนงนี้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งทางวัดร่วมกับบริษัททัวร์ ให้นำนักท่องเที่ยวเข้ามาชมการแสดงหนังใหญ่ และเปิดแสดงหนังใหญ่อย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์ นอกจากเยาวชนนักแสดงจะได้ฝึกฝนวิชา ยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ออกสู่สายตาประชาชนทั่วไปด้วย ความพยายามของวัดขนอนในการสืบทอดและฟื้นฟูมรดกแขนงนี้มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก ประกาศให้การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน ได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)ยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (The Safeguarding of Intangible Cultural Heritage: ICH) เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา   อย่างไรก็ดี สื่อพื้นบ้านอย่างการแสดงหนังตะลุงของทางภาคใต้ กำลังเสื่อมความนิยมในหมู่คนดู ด้วยเหตุผลเดียวกับมหรสพแบบดั้งเดิมแขนงอื่น ๆ คือ การเข้ามาของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ เสน่ห์ที่แท้ของหนังตะลุงคือ ลีลาการเชิดและเล่าเรื่องที่นำเหตุการณ์ร่วมสมัยเข้ามาสอดแทรกและมีมุขตลก เป็นระยะ  หนังตะลุงในปัจจุบันพยายามรักษาการแสดงของตัวให้อยู่รอดด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการเล่น ใช้การร้องและดนตรีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน  บางคณะแสดงแบบสองภาษาไทยอังกฤษเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าใจ  มีนายหนังที่มีชื่อบางคนเปิดบ้านตัวเอง ถ่ายทอดวิธีการเชิด การพากษ์ และ ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจ อาทิ หนังฉิ้น อรรถโฆษิต นายหนังชื่อดังแห่งสงขลา  และหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นายหนังชาวนครศรีธรรมราช   สุชาติ ทรัพย์สิน เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในภาคใต้ ความพิเศษของหนังสุชาติ คือ นอกเหนือจากความสามารถในการแสดงที่มีอยู่อย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีฝีมือเชิงช่างในการแกะตัวหนัง  อาชีพการเป็นช่างแกะหนังนี้เองเป็นจุดเริ่มของการสะสมตัวหนังตะลุงของหนัง สุชาติ เพราะจำเป็นต้องสะสมตัวหนังเพื่อใช้เป็นตัวอย่าง ง่ายต่อการออกแบบรูปภาพหนังตะลุง ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสม ถ่ายทอดไปสู่คนในครอบครัวคือบุตรชายทั้งสองคน รวมถึงลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจที่ขอเข้ามาฝึกฝน   แรงบันดาลใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528  เมื่อ ได้มีโอกาสถวายการแสดงหนังตะลุงต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว และพระองค์ท่านทรงตรัสกับนายหนังสุชาติว่า ขอบใจมากที่รักษาศิลปะการแสดงแขนงนี้ไว้ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวจึงกลายเป็นแรงบันดาล ใจให้นายหนังสุชาติเปิดบ้านของตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงสูญหายไป    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมหนังตะลุงไว้ของหลายชาติหลายภาษา ทั้งตัวหนังตะลุงเก่าที่หาดูได้ยากอายุกว่า 200 ปี เป็นรูปเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ตัวหนังจากประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตุรกี เป็นต้น ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีป้ายคำบรรยาย เพราะเจ้าของต้องการให้ผู้ชมเข้ามาพูดคุยและซักถามด้วยตนเองซึ่งจะได้ความ รู้ติดตัวไป โดยทั้งนายหนังสุชาติ ภรรยา และบุตร สามารถให้ความรู้และตอบข้อซักถามของผู้ชมได้ทุกคน   นอก เหนือจากการจัดแสดงและให้ความรู้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว ที่นี่ถือเป็นขุมความรู้ใหญ่ในการถ่ายทอดวิชาการแกะตัวหนังให้แก่ผู้สนใจ เสมือนเป็นโรงเรียนนอกระบบ ที่เปิดให้ผู้คนทั่วไปสนใจเข้ามาหาความรู้ หรือแม้กระทั่งนำไปเป็นวิชาชีพเลี้ยงตัวเอง พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชิงช่าง: ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ           พิพิธภัณฑ์ สองแห่งที่จะกล่าวถึงต่อไป แห่งแรกเกิดขึ้นจากความพยายามของช่างแกะสลักหินคนหนึ่งที่ต้องการเผยแพร่ ความรู้ในการทำประมงในท้องทะเล และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ให้กับผู้ชมและคนในสังคม ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งที่สองเกิดขึ้นจากความต้องการหันกลับไปนำของเด็กเล่นท้อง ถิ่นในอดีตที่เกิดจากภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายในหมู่บ้าน มาให้เด็กในยุคปัจจุบันได้รู้จัก องค์ความรู้ที่มีอยู่ในทั้งสองพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอผ่านข้าวของที่เป็น รูปธรรมอันเกิดจากการผสมผสานของ จินตนาการ ประสบการณ์ ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ที่ได้สั่งสมเข้ามาอยู่ในตัวช่างและได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่และสังคมได้ รู้จักและเรียนรู้             พิพิธภัณฑ์ปลาหิน จ.สุ ราษฏร์ธานี เกิดขึ้นด้วยฝีมือ และความวิริยะอุตสาหะของคุณลุงกิตติ สินอุดม ที่นำหินมาแกะสลักเป็นรูปปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ได้อย่างสวยงามและเหมือนจริง เดิมคุณลุงกิตติทำอาชีพประมงและทำแพปลา เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกษียณตัวเอง แต่ชีวิตยังผูกพันอยู่กับท้องทะเล ในปี พ.ศ.2533 จึง เริ่มใช้เวลาว่างนำหินมาแกะสลักเป็นรูปปลาต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้ในศิลปะการแกะสลักมาก่อน  เวลาร่วมสิบปีที่ทำงานนี้ด้วยใจรัก จำนวนปลาที่แกะสลักด้วยสองมือของคุณลุง เพิ่มจำนวนมากขึ้น  คุณลุงจึงคิดก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นและชื่นชมปลาทะเลสวยงามที่หลากหลายพันธุ์  โดยเฉพาะปลาที่หายากหรือสูญพันธุ์ไปแล้ว               ด้วย ประสบการณ์ยาวนานในการทำอาชีพประมง ใช้ชีวิตออกทะเลหาปลา ความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่ออาชีพและท้องทะเลของลุงกิตติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงทำหน้าที่บันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ เหล่านั้นไว้ โดยมีก้อนหิน ที่แกะสลักเป็นปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นสื่อในการบอกเล่า ปลาบางตัวหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน  นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงภาพที่วาดด้วยฝีมือของคุณลุงเอง บอกเล่าวิธีการทำประมงแบบต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมจนถึงวิธีการสมัยใหม่ อาทิ การวางลอบ วางอวน การทำโพงพาง การวางเบ็ดราว การยกยอ ทอดแห การทำโป๊ะ กระชังปลา การทำนากุ้ง นอกเหนือจากจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในท้องทะเลแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังเล่าอดีตของดอนสักและอ่าวสุราษฎร์ที่แม้กระทั่งปัจจุบันคนใน พื้นที่เองก็เกือบจะหลงลืมไปหมดแล้ว     ปัจจุบันคุณลุงกิตติยังสละเวลาส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ ส่งผ่านความรู้วิธีการแกะสลักปลาให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนในท้องถิ่นอีกด้วย  อย่าง ไรก็ดีเป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์กำลังประสบปัญหาเรื่องสถานที่ และเงินทุนในการเลี้ยงตัวเอง เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน การขอรับความสนับสนุนจากภาครัฐจึงทำได้ยาก จึงยังไม่แน่นอนว่าในวันข้างหน้าความรู้และภูมิปัญญาทั้งเรื่องการแกะสลัก หิน และการประมงพื้นบ้านที่สั่งสมอยู่ในตัวคุณลุงกิตติจะเป็นอย่างไร หากทั้งชุมชนและรัฐไม่ได้มองว่านี่เป็นมรดกวัฒนธรรมหนึ่งของชุมชนที่ควรช่วย กันรักษาไว้   พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จ.เชียงราย เป็นการรวมตัวกันของคนสามวัย คือผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มสาว และเด็ก ๆ ที่บ้านป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนจากนักพัฒนาและองค์กรทางสังคมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต โดยเริ่มจากการใช้การฟื้นการประดิษฐ์ของเล่นพื้นบ้านขึ้นเป็นตัวแทนของการ ฟื้นฟูวิถีชิวตท้องถิ่น กระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพทำของเล่นส่งขาย และสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อแสดงตัวตนของกลุ่ม   พิพิธภัณฑ์ หลายแห่งมักจะห้ามจับสิ่งของ ห้ามนำอาหารเข้าไป แต่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ถอดกติกาเหล่านั้นหมดสิ้น ให้ทุกคนได้เรียนรู้ผ่านการเล่นทางรูป รส กลิ่น สี เสียง และการสัมผัส ภายในพิพิธภัณฑ์มีของเล่นพื้นบ้านโบราณที่ใครหลายๆ คนไม่เคยเล่น เช่น ลูกข่าง กำหมุน กังหันลม และของเล่นที่คิดประดิษฐ์ใหม่มากมายจัดแสดง และสามารถหยิบจับทดลองเล่นได้ทุกชิ้น บริเวณตู้ที่จัดแสดงจะมีป้ายชื่อเรียกและคำอธิบายแบบง่าย อ่านสนุก บอกที่มาที่ไป วิธีการใช้ และแฝงความหมายที่มากกว่าของเล่น ที่ล้วนสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงในสังคม อาทิ ลูกข่างสตางค์ ที่มีคำอธิบายว่า "สมัยที่สตางค์มีรู ปู่ย่านำเหรียญมามัดกันทำเป็นลูกข่าง สมัยนี้ไม่มีสตางค์รู ก็เหลาไม้ใส่แทน?" นอก จากนี้ยังมี สัตว์ล้อต่างๆ สัตว์ชัก พญาลืมแลง พญาลืมงาย เต่ากระต่ายวิ่ง จานบิน โหวด อมรเทพ ครกมอง ควายกินหญ้า งู คนตำข้าว ถึ่มถึ้ม เป็นต้น ของเล่นเหล่านี้เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดัดแปลง พลิกแพลง วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ให้กลายเป็นของเล่น ที่เล่นสนุกไม่ว่าจะเป็นเด็กยุคไหนก็ตาม   พิพิธภัณฑ์ แห่งนี้นอกจากจะจัดแสดงของเล่นพื้นบ้านแล้ว  จึงยังเป็นสถานที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์คนต่างรุ่นที่แทบจะเลือนหายไปจาก สังคม โดยใช้ของเล่นโบราณเป็น ตัวเชื่อมโยงคนระหว่างรุ่น สร้างบทบาทให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ผ่านการถ่ายทอดประดิษฐ์ของเล่นแก่เด็กๆ และผู้ที่สนใจ กระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพผลิตของเล่น ของเล่นพื้นบ้านจากป่าแดดกลายเป็นที่รู้จักและส่งขายไปยังที่ต่าง ๆ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน   ส่งท้าย ความ รู้สึกว่าวัฒนธรรมหรือประเพณี หรือสิ่งที่เรานิยามว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการที่วัฒนธรรมเหล่านั้นจะสูญสลายไป ทำให้เกิดความพยายามในการที่จะปกป้อง รักษา อนุรักษ์ มรดกวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านั้นไว้ ความรู้สึกและการตระหนักและเห็นความสำคัญ กระจายออกไปตั้งแต่ระดับนานาชาติที่วางกรอบนโยบาย นิยาม ความหมาย และแนวคิด อย่างองค์การยูเนสโก(UNESCO) ระดับ ประเทศ ภูมิภาค และตัวเจ้าของวัฒนธรรมเอง พิพิธภัณฑ์เป็นความพยายามหนึ่งของเจ้าของวัฒนธรรม ที่ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะช่วยปกป้อง อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับภาวะการสูญสลายนั้น ในขณะเดียวกันก็ส่งผ่านและถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คน อีกรุ่นหนึ่ง   เป็น ธรรมดาที่วัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒน์ไปตามกาลเวลา  วัฒนธรรมประเพณีในอดีตที่ไม่มีประโยชน์ในเชิงหน้าที่การใช้งานก็ค่อยๆ สูญสลายไป  การปกป้องและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะการแสดง ที่เราเห็นจากพิพิธภัณฑ์ข้างต้น ไม่ใช่การแช่แข็งมรดกวัฒนธรรมที่ไม่มีหน้าที่ต่อสังคมแล้ว  เหมือนกับที่เราเห็นจากพิพิธภัณฑ์ของรัฐตามหน่วยงานราชการหรือที่จัดสร้าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่อาคารใหญ่โตหรูหรา   หากแต่เนื้อในไร้ชีวิตชีวา  จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นอย่างแข็งทื่อไม่ตรงกับ สภาพความเป็นจริง  ขาดการต่อยอดองค์ความรู้จากข้าวของที่จัดแสดง และที่สำคัญคือขาดการเชื่อมโยงกับชุมชนหรือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน     อย่าง ไรก็ดีมรดกวัฒนธรรมบางอย่างที่แม้จะอยู่ในภาวะอันตราย แต่ยังมีศักยภาพที่จะมีชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวของมันเองเช่นกัน เราเห็นพลวัต การปรับตัว การพัฒนา การนำการตลาดเข้ามาช่วย ทำให้มรดกเหล่านั้นยังคงมีชีวิตต่อไป บางอย่างก็เฟื่องฟูขึ้นมาทันตาเช่น การทอผ้าที่สุโขทัย หรือการทำของเล่นที่เชียงราย ควรกล่าวด้วยว่าการอนุรักษ์และปกป้องมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นจะยั่งยืนได้ก็ ต่อเมื่อเริ่มมาจากฐานความรู้ของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือมาจากพื้นฐานความต้องการของเจ้าของวัฒนธรรมเอง ชุมชนมีส่วนร่วมในการพยายามปกปักรักษา เป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ที่ตรงกับความ

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

22 กันยายน 2558

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์             ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน   ปฐมบทของการเดินทาง           แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง           ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล           วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม    ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน           รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย            เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง   หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต  ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย        ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ  ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ            ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา” ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว(น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย)            ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ  เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย             นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น           ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!      เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง           คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995   กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย   ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน  การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง    การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ            เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”   ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด           กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 – 19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม           กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร  ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ           ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”           “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง           ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน    ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา           ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 – 18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง           อาข่า             ความหลากหลายของชาติพันธุ์           ม้ง                ปีใหม่ม้ง           ไทลื้อ             จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า           เมี่ยนเย้า          ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย           มุนเย้า            พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า           ไทดำ             การทำเตียงนอน           ขมุ                การจักสานและทอผ้ากี่เอว           การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน  เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน           การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย             หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Tara เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น             ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARA บอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์            ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว           ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Tara บอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก    นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า           ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง  พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี           “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง  นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-on และเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว    มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป  ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”.             

การตอบโต้ของโลกตะวันออก การท่องเที่ยว เสน่ห์ตะวันออก และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์

20 มีนาคม 2556

นักวิจัยจำนวaนมากให้ความสนใจกับผลกระทบทางสังคมของการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ประกอบด้วยแนวทางการสิวิจัยกระแสหลักๆ มีอย่างน้อย3 แนว ได้แก่ แนวแรกซึ่งพบมากจะกล่าวถึงประเด็นที่สัมพันธ์กับปัญหาต่างๆ เช่น ปริมาณความหนาแน่นของแหล่งมรดก การลดคุณค่าของงานหัตถกรรมท้องถิ่น การขายวัฒนธรรมพื้นถิ่น การสร้างให้คติชนของชนพื้นถิ่นเป็นเรื่องน่าพิศมัย ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อและปัญหาการลักลอบขนถ่ายวัตถุวัฒนธรรม (Cohen 1988; Philo and Kearns 1993; Van der Borg, Costa and Gotti 1996; Watson and Kropachevsky 1994) หรือนักวิชาการบางคนถึงขนาดมองการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบหนึ่งของการล่าอาณานิคมและ “การขายตัว” (Mathews 1975: 201)   แต่ใช่ว่าผลกระทบทางสังคมของการท่องเที่ยวจะเป็นไปในเชิงลบเสียทั้งหมด การศึกษาจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบเชิงวัฒนธรรมที่เกิดจากการท่อง เที่ยวกลับได้รับความชื่นชมและการต้อนรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจุดหมายปลาย ทาง(Boissevain 1996; Erb 2000; Martinez 1996; Picard 1995) และนักวิจัยอีกหลายคนพยายามสร้างสรรค์แนวทางการจัดการที่สมดุลย์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว (Chang 1997; Jenkins 1997; Newby 1994; Teo and Yeoh 1997)   งานวิจัยกระแสที่สองมองไปที่มิติทางการเมืองในการนิยามและจัดการสิ่งที่เรียก ว่าเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สมดุลย์และให้ความเป็นธรรม ในขณะที่นักวิจัยและผู้ปฏิบัติบางคนกลับไม่เห็นด้วยกับความต้องการที่จะ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสมดุลย์ เพราะคำถามอยู่ที่ว่าแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ตัวอย่างเช่นการใช้แนวคิด “ทางเลือกที่สาม” ของกิดเดน ในงานเขียนของเบิร์น (2004) ได้กล่าวถึงมุมมองแบบแยกขั้วของการท่องเที่ยว ในมุมมองหนึ่ง หากมองแบบ “ซ้ายจัด” การพัฒนาต้องมาก่อน (leftist development first) นั่น หมายความว่า “การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยจะต้องมาจากคนในท้องถิ่นและความรู้จากถิ่นที่นั้น” คำถามหลักของการพัฒนาต้องมองว่า “สิ่งใดบ้างที่การท่องเที่ยวให้กับเราได้โดยไม่ทำร้ายเรา” (Burn 2004: 6) ส่วนมุมมองที่สองมองจาก “ขวาจัด” ที่การท่องเที่ยวต้องมาก่อน (rightist tourism first) มุม มองที่เน้นว่าการตลาดต้องได้ผลประโยชน์อย่างสูงสุด และทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด ผลิตภัณฑ์จากทุกแหล่งทุกลักษณะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดโดยนักวางแผนภายนอกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ (Burns 2004: 26)   ทางเลือกที่สามได้หาทางออกให้กับผลประโยชน์และเป้าหมายที่ต่างกันให้เป็น ฉันทามติร่วมกัน ทางเลือกที่สามของเบิร์นส์ยังคงเป็นแนวคิดที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ สังคมที่เป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว(host society) แต่ละแห่งได้พบทางออกของตนเองในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างเดนมาร์กกับสิงคโปร์ กลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวของเดนมาร์กเน้นไปที่การป้องกันผลกระทบทาง สังคมอันเกิดจากการท่องเที่ยว ในขณะที่ สิงคโปร์กลับซึมซับผลกระทบและจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยโครงการวิศวกรรมทาง สังคม2  (Ooi 2002a) ทั้งทางการสิงคโปร์และเดนมาร์กกล่าวอ้างถึงโครงการต่างๆ ของตนว่าได้สร้างความสมดุลย์ ระหว่างการท่องเที่ยวและความต้องการของท้องถิ่น (Ooi 2002a) วิถี ทางที่สมดุลย์ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและการเมืองของสังคมที่เป็นเจ้าบ้าน กระบวนการทางการเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดผลประโยชน์ว่าจะตกแก่กลุ่ม ใด   กระแสการวิจัยที่สามที่ศึกษาผลกระทบของการท่องเที่ยวมองไปที่ว่า “ตะวันตก” จินตนาการอย่างไรถึงภาพของแหล่งการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ตะวันตกและที่มีว่า สภาพพัฒนาน้อยกว่า จินตนาการของสังคมตะวันตกส่งผลต่อสังคมเจ้าบ้านและกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง การล่าอาณานิคม นอกไปจากงานเขียนจำนวนน้อยนิด เช่นงานของมอร์แกนและพริตชาร์ด (1998) อุย, คริสเตนเซน และพีเดอเซน (2004) เซวีน (1993) และซิลเวอร์ (1993) แนวทางการวิจัยแนวนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างจำกัด บทความนี้จัดวางตัวเองอยู่ในกระแสการวิจัยสายนี้ด้วยเช่นกัน   การศึกษาในกระแสดังกล่าวสนใจศึกษาผลกระทบที่ซับซ้อนของภาพลักษณ์แหล่งท่อง เที่ยวของสังคมเจ้าบ้าน ไม่ใช่เพียงภาพตื้นๆ และภาพที่มองอย่างล้อเล่น แต่เป็นภาพส่งอิทธิพลต่อสังคมเจ้าบ้าน และได้รับผลจากสิ่งที่เรียกว่าอิทธิพลตะวันตกต่อชุมชนเจ้าบ้านที่พัฒนาน้อย กว่า การศึกษาดังกล่าวนี้มาจากมุมมองเชิงวิพากษ์ของเอดเวิร์ด ดับเบิลยู. ซาอิด ที่กล่าวถึงแนวคิดนิยมตะวันออก (Orientalism) (Said 1979)   บทความชิ้นนี้จะเปรียบเทียบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ (SHM) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (SAM) และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (ACM) ทั้ง สามแห่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นเอเชียและแตกต่างกันไปในแต่ละทิศทาง ผู้เขียนขอกล่าวว่ากระบวนการนี้เป็นการสร้างภาพของความเป็นตะวันออกด้วยตนเอง (self-Orientalization) ใน สิงคโปร์ บทความจะแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเรียกร้องอย่างไรต่อแหล่ง ท่องเที่ยวอย่างสิงคโปร์ให้เป็นมากกว่าเอเชีย จุดเน้นของบทความจะอยู่ที่การพิจารณาว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวสิงคโปร์และ รัฐบาลสร้างภาพความเป็นตะวันออกของสิงคโปร์ผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง สามแห่งอย่างไร เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวและการสร้างชาติสิงคโปร์ บทความจะย้อนกลับไปตั้งคำถามตามมุมมองของซาอิดเกี่ยวกับอิทธิพลตะวันตกต่อ ตะวันออกในประเด็นที่ว่า สังคมเจ้าบ้านได้ยอมรับและประดิษฐ์สร้างภาพความเป็นตะวันออกในโครงการสร้าง อัตลักษณ์ของตนเองอย่างไร การอภิปรายแนวคิดนิยมตะวันออกไม่ควรจำกัดอยู่เพียงการมองว่าตะวันตกส่ง อิทธิพลต่อตะวันออกที่ “อยู่ใต้อาณัติ” อย่างไร กลุ่มอำนาจในสังคมแหล่งท่องเที่ยวได้เลือกรับและปรับใช้ภาพความเป็นตะวันออก ที่จะยังประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างภาพอัตลักษณ์ท้อง ถิ่นขึ้นใหม่อย่างไร การสร้างภาพของความเป็นตะวันออกของสังคมเจ้าบ้านจะต้องได้รับการศึกษาและทำ ความเข้าใจจากบริบททางสังคมและการเมืองของท้องถิ่นแห่งนั้น   ในลำดับถัดไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นรูปแบบของอิทธิพลภายในกรอบการ มองของซาอิด ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอกรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์3 แห่งของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑสถานสามแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (STB) เพื่อ สร้างสิงคโปร์ให้เป็นเอเชียมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้สร้างให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความโดน เด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้ขุดรากเหง้าของบรรพชนสิงคโปร์ที่เชื่อมโยง กับจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง   จากนั้น เป็นการสำรวจว่าพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งสร้างภาพความเป็นตะวันออกของสิงคโปร์ อย่างไร และแต่ละแห่งสร้างเรื่องเล่าใหม่เพื่อปั้นแต่งจินตนาการสนองการท่องเที่ยว และท้องถิ่นอย่างไร ในทำนองเดียวกัน การจะเข้าใจเรื่องเล่าเหล่านี้จะต้องคำนึงสภาพและเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของสิงคโปร์ ส่วนสุดท้ายจะสรุปข้อโต้แย้งและข้อสนับสนุนความเข้าใจที่คลุมเครือของการ ท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นรูปแบบทรงอิทธิพลในการศึกษาการท่องเที่ยวเชิง วิพากษ์   การท่องเที่ยวและแนวคิดนิยมตะวันออก จากแนวทางการวิพากษ์ของฟูโกต์ ซาอิด(1979) ได้ ตั้งคำถามและท้าทายแนวคิดนิยมตะวันออก ซาอิดได้ควบเกลียวของจักรวรรดินิยมทั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองเข้าด้วยกัน และได้กล่าวว่า ผู้ที่สร้างภาพของความเป็นตะวันออก ทั้งนักเขียนและนักวิชาการ ‘ตะวันตก’ ผู้ที่ศึกษาความเป็นตะวันออก ได้เคยเสนอภาพที่ผิดพลาด และยังคงนำเสนอภาพที่ผิดพลาดของโลกอิสลามในตะวันออกกลางในลักษณะที่ดูเหมือน ว่าตะวันตกจะครอบงำความเป็นตะวันออกได้ง่ายดาย ซาอิดเชื่อว่าความเป็นตะวันออกไม่ใช่เพียงสาขาวิชา แต่เป็นวาทกรรมเชิงอุดมการณ์ที่ยังคงพันเกี่ยวกับอำนาจของโลกตะวันตกอย่าง ไม่สิ้นสุด ซาอิดให้เหตุผลว่า นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาตะวันออกได้นำเสนอและแพร่ขยายภาพเฉพาะบางอย่างของ โลกตะวันออก โดยเน้นที่ความแตกต่างของจิตวิญญาณของโลกตะวันออกที่ต่างออกไปจากsinvตรง ข้ามกับจิตวิญญาณของโลกตะวันตก ภาพเช่นนั้นได้สร้าง คัดสรร และกล่าวถึงโลกตะวันออกในลักษณะที่เกินจริง และภาพต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามความจริงเชิงประจักษ์ และลดทอนความสำคัญของความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม รูปแบบสังคม และโครงสร้างการเมืองในสิ่งที่เรียกว่าเป็นตะวันออก แนวคิดที่ซ่อนไว้เมื่อกล่าวถึงความเป็นตะวันออก จึงเป็นภาพของความต่ำต้อย การแสดงอำนาจบาทใหญ่ และไร้ซึ่งอารยธรรม   ตรรกะและหลักการที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีของซาอิดเกี่ยวกับความเป็นตะวันออก บันดาลใจให้นักวิชาการหลายคนได้ขบคิดเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการที่ผู้คนคิดกับ สังคมอื่นอย่างไร และผู้คนเหล่านั้นจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไรในกิจกรรมต่างๆ การอภิปรายด้วยแนวคิดนิยมตะวันออกได้จับประเด็นการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ แอฟริกา(Jeyifo 2000; Mazuri 2000) เอเชียตะวันออก (Clarke 1997; Dirlik 1996; Hill 2000; Hung 2003) และยุโรปตะวันออก (Ash 1989; Kumar 1992; Ooi et al. 2004) การ วิเคราะห์ด้วยมุมมองนิยมตะวันออกยังผลักดันให้นักวิชาการกำหนดกรอบการนำเสนอ ความเป็นอื่นอย่างผิดพลาดและกล่าวอย่างกวาดรวมๆ ไป ทั้งเรื่องเพศและเพศสภาพ (ในงานของ Albet-Mas and Nogue-Font 1998; Lewis 1996; Mann 1997; Prasch 1996) เชื้อชาติและสำนึกชาติพันธุ์ (Jeyifo 2000; Mazrui 2000) และศาสนา (Amstutz 1997; Burke III 1998; Kahani-Hopkins and Hopkins 2002; Zubaida 1995) การ จัดแบ่งระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกไม่ได้แตกต่างไปจากการแยกขั้ว ระหว่างเหนือกับใต้และความจนกับความรวย ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการตอบโต้ต่อโลกาภิวัตน์ ทั้งอิทธิพลทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกตะวันตก (Chua 2003; Klein 2000; Shipman 2002) นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเช่น Clifford (1997) Echtner และ Prasad (2003) Morgan และ Pritchard (1998) Ooi และคณะ (2004) และ Silver (1993) ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของซาอิดทั้งสิ้น   ข้อท้าทายของซาอิดต่อแนวคิดนิยมตะวันออกมีความสำคัญและมีนัยทางการเมือง มุมมองเชิงวิพากษ์แสดงให้เห็นว่าใครได้ประโยชน์ ใครถูกทำลาย ใครเป็นผู้แพร่ภาพ/ แนว คิดเกี่ยวกับตะวันตก และผลจากการรับภาพนั้น แนวทางในการวิเคราะห์จึงเป็นการมองหาสารที่อยู่ในภาพจากการเผยแพร่และความ หมายเชิงอุดมการณ์ที่อยู่ในสารดังกล่าว สารทั้งหมดถูกพิจารณาในฐานะของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างกลุ่มที่นำเสนอภาพความเป็นอื่นอย่างผิดพลาดและตัวผู้ที่ “เป็นอื่น” นั้นเอง คำบางคำจะถูกเลือกเพื่อนำเสนอในสาร ความหมายถูกทำให้เข้มข้นขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีความหมายหลายอย่างที่ถูกเลือกทิ้งไป อย่างเช่นภาพของสิงคโปร์ที่ถูกกล่าวถึงในสถานีวิทยุอังกฤษเกี่ยวกับรายการ ท่องเที่ยวพักร้อน งานเขียนของ Morgan และ Pritchard (1998: 225-228) แสดงให้เห็นความน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับว่าสิงคโปร์ถูกสร้างขึ้นอย่างไร ภาพอดีตอาณานิคม ยาแผนจีน (สัตว์เลื้อยคลาน ม้าน้ำ และแมงป่องตากแห้ง) และ กฎเกณฑ์ที่เด็ดขาดเข้มงวด วิทยุไม่ได้พูดถึงว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ขับไล่เจ้า อาณานิคมอังกฤษออกไปในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ มีคนสิงคโปร์จำนวนน้อยมากที่ใช้แพทย์แผนจีนเพื่อการรักษาเป็นทางเลือกแรกใน ปัจจุบัน ส่วนกฎและระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวดก็ปรากฏในทุกประเทศรวมทั้งอังกฤษด้วย ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏในสื่อจึงเป็นการเสนอว่า สิงคโปร์คือความสำเร็จของอาณานิคมที่ชอบธรรม (ขอบคุณอังกฤษ) สิงคโปร์ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่เปี่ยมด้วยเสนอเอเชียอย่างไม่เสื่อมคลาย และสิงคโปร์ไม่เป็นประชาธิปไตย คนที่มองภาพของสิงคโปร์จะเห็นถึงประสบการณ์ของมรดกอาณานิคมอังกฤษในสิงคโปร์ ได้มองเห็นการเยียวยารักษาของคนเอเชีย และชีวิตที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ภาพและสารประเภทนี้จะเร้าผู้ชม ขายจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยว และให้ภาพของสังคมเจ้าบ้านอย่างดาดๆ   ภาพเช่นว่านี้มีลักษณะที่เป็นแนวคิดนิยมตะวันออก(การสร้างภาพของเสน่ห์ตะวันออก) ประการ แรกภาพดังกล่าวมีลักษณะที่ผิวเผินและมาจากการนำเสนอภาพที่ผิดพลาด แต่กลับถูกนำเสนอด้วยสื่อที่น่าเชื่อถือและปรากฏในลักษณะที่เป็นข้อเท็จจริง ประการที่สอง ภาพดาดๆ ดังกล่าวมุ่งหมายในการย้ำภาพกว้างๆ ของ “ความเป็นอื่น” อยู่แล้ว ในกรณีของสิงคโปร์ก็คือเป็นมรดกอาณานิคมที่ยังคงมีความเคลื่อนไหว ชาวสิงคโปร์ชอบการรักษา “แปลกๆ” และสิงคโปร์ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเสียทีเดียว ประการที่สาม การนำเสนอภาพที่ผิดพลาดกลับได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและผ่านสถาบัน ต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน กิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และสิ่งที่ได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ประการที่สี่ สารที่สร้างความเป็นอื่นถูกสร้างผ่านมุมมองของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตัดสินคนอื่นจากสายตาของโลกตะวันตก ผู้เขียนขอชี้แจงดังนี้   สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแล้ว การได้รู้จักกับสังคมที่พวกเขาจะเดินทางไปนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทั้งนี้เพราะการเดินทางมีระยะสั้น พวกเขาขาดความรู้ท้องถิ่น และได้รับข้อมูลที่ผ่านการกรองแล้วจากสื่อการท่องเที่ยวต่างๆ(Ooi 2002b) นัก ท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีภาพที่ฉาบฉวย ซ้ำซาก และคัดสรรมาแล้วเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะภาพเหล่านั้นสร้างขึ้นจากแหล่งข้อมูลจำเพาะ จากบทความแนะนำการท่องเที่ยว เรื่องในข่าว หนังสือท่องเที่ยว และเรื่องเล่าจากครอบครัวและเพื่อน แหล่งข้อมูลเหล่านี้จำนวนมากไม่น่าเชื่อถือ เช่น ภาพยนตร์ที่สร้างความน่าสนใจและสร้างเรื่องเล่าต่างๆ เพื่อกระตุ้นความปรารถนาที่จะไปยังสถานที่นั้นๆ ภาพยนตร์อย่างเรื่อง Braveheart และ Lord of the Ring ทำ ให้สก็อตแลนด์และนิวซีแลนด์กลายเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว แต่ใช่ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องจะสร้างเรื่องและภาพในเชิงบวกและถูกต้องตามที่ เป็นจริง ภาพยนตร์ทำเงินของฮอลลีวูด เช่น Tomb Raider ได้ใช้สถานที่บางส่วนของนครวัด (กัมพูชา) และนำไปเชื่อมโยงสถานที่ลึกลับ (ที่ไม่มีจริง) แต่กลับปรากฏอักษรภาพอียิปต์ (ในศาสนสถานทางพุทธศาสนา!) และเป็นสถานที่ของคนพื้นถิ่น (ที่ไปสัมพันธ์กับคนเลว) สำหรับ นักอนุรักษ์ การอ้างอิงเช่นนี้สร้างเรื่องเล่าใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งความพยายามในการอนุรักษ์ศาสนสถานทางพุทธศาสนา และเป็นวิถีทางที่จะชักนำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Winter 2003)   ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมุ่งมองหาภาพเสน่ห์ตะวันออก ภาพเหล่านี้ก็ได้การสร้างอย่างเป็นทางการและส่งเสริมโดยองค์กรในประเทศนั้นๆ เอง ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยมีบทบาทสำคัญยิ่งกับ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่น และการที่นักท่องเที่ยวมีภาพฝังใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเป็นดังที่ว่านี้ จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางดัง กล่าว เช่น สิงคโปร์มีความสะอาด ได้รับการพัฒนา และพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่การโฆษณาที่พูดถึงเฉพาะความทันสมัยกลับไม่เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ มาเยือนสิงคโปร์(Ooi 2002b) ทั้ง ที่ความสะดวกสบายทันสมัยเยี่ยงในทุกวันนี้ ยังมีความสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คือ ภาพความเป็นเอเชียยังเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอขายการท่องเที่ยวให้กับนักท่อง เที่ยวชาวตะวันตก แน่นอนว่าความทันเสมัยและความสะดวกสบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว (Ooi 2002b: 127) นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนมากที่สนใจไปเยือนสถานที่ที่แตกต่างและไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปกับความเป็นสมัยใหม่ (Errington and Gewertz 1989; Jacobsen 2000; MacCannell 1976; Silver 1993; Srrensen 2003) และภาพที่ได้รับการเผยแพร่ยิ่งย้ำเข้าไปใน “ความสำนึกของตะวันตก” (Silver 1993:303)   นอกไปจากภาพนำเสนอตามที่นักท่องเที่ยวต้องการ ตัวแทนส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้ภาพที่ตรึงอยู่ในความคิดของนักท่อง เที่ยวว่าส่งผลต่อประสบการณ์ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมองหาภาพในจินตนาการระหว่างการท่องเที่ยวของเขา(McLean and Cooke 2003; Prentice 2004; Prentice and Andersen 2000; Waller and Lea 1999) แต่ ภาพในจินตนาการของนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นไปแบบเดี่ยวหรือแข็งทื่อ ตัวแทนส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงพยายามมองหาภาพในจินตนาการที่ชาวตะวันตกหวัง จากแหล่งท่องเที่ยวนั้น ตัวแทนเหล่านี้อาศัยความช่วยเหลือของบริษัทโฆษณาที่มีฐานอยู่ในประเทศตะวัน ตก ดังที่ Pritchard และ Morgan (2000) ได้สำรวจความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวตะวันตก (และมิใช่ตะวันตก) ตัว แทนเหล่านี้ไม่เพียงนำเสนอภาพของเสน่ห์ตะวันออก แต่ยังทำภาพเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นั่นคือการสร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็น “ความจริงแท้” เพื่อนักท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีตั้งแต่การแสดง “วูดู” ในไฮติ (Goldberg 1983) จนถึงการขายวัตถุ “ทางศาสนา” ของยิว (เช่น หมวกครอบศีรษะและเทียน) ในอิสราเอล (Shenhav-Keller 1995) และการเยี่ยมเยือนหมู่บ้านมังกาไร “ดั้งเดิม” ในอินโดนีเซีย (Allerton 2003) ภาพลึกลับและน่าพิศมัย (exotic images) แช่ แข็งสังคมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้กับอดีต และไม่ได้สนใจความเปลี่ยนแปลงและสังคมที่เคลื่อนไปสู่การพัฒนา ภาพและการสร้างให้เป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้ย้ำจินตนาการของนักท่องเที่ยวที่ใฝ่ หาเสน่ห์ตะวันออก ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยอย่าง Echter และ Prasad (2003) และ Silver (1993) วิเคราะห์ ให้เห็นว่าภาพตัวแทนที่นำเสนอเกี่ยวกับโลกที่สามในการท่องเที่ยวจัดช่วงชั้น ความสัมพันธ์ของประเทศกำลังพัฒนาไว้ในลักษณะที่ด้อยกว่า สถานที่ต่างๆ มีสภาพที่ล้าหลัง ผู้คนกระตือรือร้นที่จะให้บริการ และแหล่งท่องเที่ยวเช่นนั้นก็เป็นเพียงสนามเด็กเล่นทางวัฒนธรรม   แม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและความเป็นวิชาการ ยังคงตอกย้ำกับภาพจินตนาการเสน่ห์ตะวันออก พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็น“บริเวณสัมพันธ์” (contact zones) (Clifford 1997: 188-219) บริเวณสัมพันธ์คือสถานที่ที่ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของกลุ่มถูกแยกออกไปจากกัน ทั้งๆ ที่ยังคงมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง Clifford (1997) ได้ กล่าวถึงสังคม “ดั้งเดิม” ที่ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ “อารยะ” การจัดแสดงได้ผลิตซ้ำภาพของชนเผ่า “ดั้งเดิม” ตามที่คนในสังคม “อารยะ” รับรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สร้างภาพของความเป็นอื่นด้วยข้อสมมติฐานและโลกทัศน์ของตนเอง และความเป็นอื่นกลับสร้างภาพของตนเองตามสิ่งจัดแสดงนั้น และสนองตอบต่อการจัดแสดงเช่นนั้น พิพิธภัณฑ์กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสร้างจินตนาการว่าเขาเป็นใคร และแม่พิมพ์ที่อยู่เบื้องหลังตัวตนที่จัดแสดงนั้นมาจากจินตนาการที่มีต่อผู้ อื่น   โดยสรุปแล้ว นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบของอิทธิพล ไม่ใช่เพียงแค่การปรากฏตัวของนักท่องเที่ยวหรือความต้องการต่างๆ แต่การท่องเที่ยวยังได้สืบทอดวาทกรรมที่ไม่เที่ยงตรงและการนำเสนอภาพที่ผิด เพี้ยนของประเทศด้อยพัฒนาและไม่ใช่ตะวันตก(Morgan and Pritchard 1998; Ooi et al. 2004; Selwyn 1993; Silver 1993)   ผลลัพธ์หนึ่งคือ“ตลาดการท่องเที่ยวกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอภาพของโลกที่สาม ซึ่งในบางครั้งเป็นไปอย่างซับซ้อน แต่ไม่จริงจัง ภาพที่สืบทอดและย้ำเน้นภาวะอาณานิคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” (Echtner and Prasad 2003: 672) ไม่ ทางใดก็ทางหนึ่ง ภาพที่นำเสนออย่างหยาบๆ สร้างแหล่งข้อมูลพื้นฐานให้แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ตะวันตกได้จินตนาการ ประดิษฐ์สร้าง และเปลี่ยนแปรตัวพวกเขาเอง (Morgan and Pritchard 1998; Ooi et al. 2004)   เมื่อพิจารณาการท่องเที่ยวในรูปแบบของจักรวรรดินิยม แนวโน้มของการวิเคราะห์มักมองอิทธิพลของนักท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อแหล่งท่อง เที่ยว ประหนึ่งว่าสังคมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นฝ่ายตั้งรับและยอมจำนนแต่เพียง แง่เดียว การมองสังคมต้อนรับในลักษณะของฝ่ายตั้งรับและยอมจำนนอาจไม่ถูกต้องนัก ดังที่จะได้แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสิงคโปร์ได้สร้างเสน่ห์ ตะวันออกให้กับรัฐเมือง(city-state) อย่างไร โลกตะวันออกตอบโต้ในเชิงรุกและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์   การสร้างความเป็นเอเชียให้กับสิงคโปร์อย่างเป็นรูปธรรม ในปี1995 ขณะที่สิงคโปร์เผชิญหน้ากับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3  คณะกรรมการสนับสนุนการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourist Promotion Board – STPB) 4  และกระทรวงข่าวสารและศิลปะ (Ministry of Information and the Arts – MITA) แถลงแบบโครงร่างการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็น “นครแห่งศิลปะ” (Global City for the Arts) หนึ่งในโครงการต่างๆ คือ สิงคโปร์จะมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ 5  พิพิธภัณฑ์ศิลปะ สิงคโปร์ 6  และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย 7  (Chang 2000; Chang and Lee 2003; STPB and MITA 1995; STPB 1996) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งจะแสดงอัตลักษณ์จำเพาะของรัฐเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะ ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 สิงคโปร์ ค้นพบว่าภาพของความทันสมัยลดความดึงดูดลง นักท่องเที่ยวกลับเดินทางไปดินแดนที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจอื่นๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ (National Tourism Plan Committees 1996) สิงคโปร์จึงกลายเป็นดินแดนที่เคยถูกมองและยังคงได้รับการพิจารณาว่าเป็นเมืองที่ทันสมัยเมืองหนึ่งเท่านั้น   แรงผลักของกลยุทธ์การท่องเที่ยวตั้งแต่กลางทศวรรษที่1990 คือการสื่อสารภาพของสิงคโปร์ในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวที่ความทันสมัยคลุกเคล้าไปกับความเก่าแก่ ตะวันออกกลั้วไปกับตะวันตก (Ooi 2004) แม้ จะพบเห็นความทันสมัยอย่างดาดดื่นทั่วสิงคโปร์ แต่คณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์พยายามสร้างภาพของโลกตะวันออกที่น่าพิศ มัยและฝังอยู่ในการพัฒนาและความก้าวหน้าของสิงคโปร์ ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจะได้รับการบอกเล่าถึงตึกระฟ้าในสิงคโปร์ในทำนองของการสร้าง ตามหลักฮวงจุ้ยของจีนโบราณ ร้านค้ามากมายที่ให้บริการอาหารตะวันตกกับเครื่องเทศเอเชีย และชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษในแบบฉบับของตนเอง (อย่างที่รู้จักกันว่า Singlish) นอกไปจากภาษาอังกฤษแบบมาตรฐาน ความพยายามอื่นๆ ที่ทำให้สิงคโปร์มีความเป็นเอเชียมากขึ้น ด้วยการอนุรักษ์และส่งเสริมเขตจีน (Chinatown) อินเดียน้อย (Little India) และ หมู่บ้านมาเลย์ รวมไปถึงการขายทัวร์นำเที่ยวไปสัมผัสกับวิญญาณเอเชียท่ามกลางเมืองที่ทัน สมัย รวมไปถึงการผลิตของที่ระลึกซึ่งตอกย้ำความเป็นเอเชีย (Chang and Teo 2001; Leong 1997; Ooi 2002b) การ สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสามแห่งยังเป็นความพยายามในการสร้างสิงคโปร์ที่ มีความเฉพาะตัวและเป็นเอเชียมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งได้รับการจัดการโดยคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ (National Heritage Board) พิพิธภัณฑ์ เหล่านี้จะกล่าวถึงคนท้องถิ่นและชาวต่างประเทศเกี่ยวกับ “ความเป็นเอเชีย” แบบสิงคโปร์ แต่ละพิพิธภัณฑ์ก่อร่าง ตีความ และสร้างความเฉพาะตัวของความเป็นเอเชียที่แตกต่างกันไปสำหรับสิงคโปร์   อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อคณะกรรมการมรดกแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติLim Siok Peng กล่าวในรายงานประจำปีขององค์กรของเธอ ดังนี้   ในเดือนพฤษภาคม2003 มีโรคซาร์ (Severe Acute Respiratory Syndrome) ระบาด จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 177,808 คน หรือมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนในปี 2002 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีจำนวนลดลงตามไปด้วย คือมีจำนวนผู้เข้าชมเพียง 17,073 คนในเดือนพฤษภาคม จำนวนดังกล่าวน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้าชมโดยเฉลี่ยต่อเดือน (NHB 2004: 4)   เธอยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการตลาดของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติและการประสานงาน กับกรมการคมนาคมสื่อสารที่ร่วมมือกับหน่วยงานการท่องเที่ยวอื่น ได้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงวิกฤต   เราได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ด้วยโปรแกรม ก้าวสู่! สิงคโปร์ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรต่างๆ สายการบินสิงคโปร์มีข้อเสนอพิเศษสำหรับเที่ยวบิน เทศกาลสินค้าลดราคา และโปรแกรมการท่องเที่ยวต่างๆโดยสมาคมแหล่งท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Association of Singapore Attractions - ASA) (NHB 2004: 4)   และนอกไปจากนี้คณะกรรมการมรดกแห่งชาติยังพยายามตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เช่น ตลาดนักท่องเที่ยวจากเมืองจีน   เพื่อการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน เราได้ผลิตแผ่นพับทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เอกสารหนึ่งแสนชุดได้รับการจัดพิมพ์และแจกไปยังสมาคมแหล่งท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ และศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ตามจุดต่างๆ แผ่นพับยังส่งไปยังศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ทั่วทั้งทวีปเอเชีย(NHB 2004:4)   บททบทวนในรายงานประจำปีที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงท่านนั้นยังเน้นถึงการท่องเที่ยวอย่างมาก(NHB 2004: 4-5) นอกจากนี้ยังมีเงินทุนสนับสนุนองค์กรต่างๆ สำหรับการจัดนิทรรศการด้วย   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์เป็นอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแบบนีโอ-คลาสสิค พิพิธภัณฑ์มีประวัติที่ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่การเริ่มตั้งเมื่อปี 1887 และเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายใต้ชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อปี 1965 ภายหลังจากที่สิงคโปร์ได้รับอิสรภาพ ต่อมาจึงปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ในปี 1996 และในปี 2006 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการขนานนามอีกครั้งว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนและขยายรูปทรงอาคาร (SHM 2005)   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ตอบโต้ต่อภาพที่ผู้คนมักคิดถึงสิงคโปร์ในลักษณะที่ เหมือนๆ กับประเทศอื่นในเอเชีย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์แสดงแนวโน้มและพัฒนาการสร้างบุคลิกภาพและ ส่งอิทธิพลต่อความเป็นสิงคโปร์ ด้วยการเน้นย้ำถึงสิงคโปร์ร่วมสมัย(STPB and MITA 1995: 17) อดีตอาณานิคมของสิงคโปร์ (ค.ศ. 1819 – ค.ศ. 1963) สงครามโลกครั้งที่ 2 และ การต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองจากเจ้าปกครองอาณานิคมอังกฤษ ประวัติศาสตร์ที่ผันผวนกับประเทศมาเลเซียและการเรียกร้องอิสรภาพของสิงคโปร์ เมื่อปี 1965 เรื่อง ราวเหล่านี้เป็นจุดเน้นของพิพิธภัณฑ์ เมื่อเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์อีกสองแห่ง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์มีส่วนร่วมในโปรแกรมการศึกษาแห่งชาติมากที่ สุด พิพิธภัณฑ์ได้ต้อนรับกลุ่มนักเรียนจำนวนมาก นิทรรศการทำหน้าที่เป็นบทเรียนเสริมประวัติศาสตร์ที่สอนกันในโรงเรียน   อัตลักษณ์เฉพาะของสิงคโปร์ถูกไล่เรียงไปตามลำดับ ดังนี้ สิงคโปร์ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่อังกฤษไม่สามารถปกป้องสิงคโปร์ได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่2 สิงคโปร์ ตกอยู่ในสภาพที่หดหู่ระหว่างการครอบงำของญี่ปุ่น และดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของอังกฤษ จนเปลี่ยนสถานภาพของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์รัฐมาเลเซีย (1963-1965) แต่ การณ์กลับไม่ดีขึ้น ในท้ายที่สุด แนวคิดของการเป็นรัฐสิงคโปร์เบิกบาน และนำไปสู่การสร้างประเทศให้มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง นี่เองแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ทั้งของอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย แต่มีองค์อธิปัตย์เป็นของตนเอง ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์บอกกับผู้เข้าชมเกี่ยวสถานการณ์ของสิงคโปร์ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ว่า   ญี่ปุ่นก้าวล่วงมายังดินแดนแห่งนี้และประกาศตนเป็นผู้ปลดปล่อยเอเชียจากชาติเจ้า อาณานิคม แต่พวกเขากลับทำตนเป็นปฏิปักษ์ด้วยเช่นกัน กระทั่งปฏิบัติต่อราษฎรเลวร้ายยิ่งไปกว่าที่อังกฤษเคยกระทำเสียอีก(NHB 1998: 31)   ข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ย้ำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในอุษาคเนย์ คือ ความไม่กลมกลืนและไม่เป็นเนื้อเดียวกันของภูมิภาคแห่งนี้ มาเลเซียเกิดขึ้นในปี1963 ด้วย การรวมมาลายา ซาบา ซาราวัค และสิงคโปร์ ประเทศที่เกิดใหม่นี้ไม่ได้รับการต้อนรับจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ยังคงอ้างสิทธิอำนาจเหนือซาบาเมื่อปี 1962 อินโดนีเซีย ไม่ต้องการให้มาเลเซียมีอิทธิพลเหนือเกาะบอร์เนียว ความรุนแรงและการจับตัวประกันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของมาเลเซียรวมทั้ง สิงคโปร์ เมื่อมีการสถาปนาสหพันธรัฐใหม่เมื่อกันยายน 1963 ความรุนแรงทั้งหลายยุติลงเมื่อซูฮาร์โตก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อตุลาคม 1965 (NHB 1998: 70-71)   พิพิธภัณฑ์บอกกับผู้ชมเกี่ยวกับเรื่องราววุ่นวายต่างๆ ของสิงคโปร์ และขณะเดียวกัน ได้เฉลิมฉลองความสำเร็จทางสังคมและเศรษฐกิจ และภาวะผู้นำของพรรคกิจประชาชน พรรคการเมืองนี้ปกครองสิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงปกครองตนเองภายใต้การปกครองของ อังกฤษในปี1959   นโยบายสิงคโปร์เพื่อคนสิงคโปร์เป็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนสิงคโปร์โดยไม่ เลือกชาติพันธุ์ สนับสนุนให้คนสิงคโปร์ยังคงรักษาความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และการสร้างรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม เหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ยังมองว่าที่สิงคโปร์ก้าวหน้าและพัฒนาไปได้มากกว่าเพื่อนบ้านเช่น นี้ เป็นผลมาจากรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีความซื่อสัตย์   โดยสรุป เรื่องราวที่บอกเล่าในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์บอกกับผู้ชมว่า ชาวสิงคโปร์มีอัตลักษณ์ของตนเอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้อวดอ้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจของรัฐ เมือง และกล่าวกระทบกระเทียบถึงเพื่อนบ้านที่พัฒนาไปได้น้อยกว่า สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือการพยายามบอกเล่าให้เห็นว่าสิงคโปร์ก็เหมือนกับประเทศ เพื่อนบ้านในอุษาคเนย์   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ด้วยลักษณะที่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์แสดงอัตลักษณ์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์เปิดเมื่อปี1996 และจัดแสดงงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยของอุษาคเนย์   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งแรกๆที่มีการจัดการในระดับ มาตรฐานสากลในภูมิภาคอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้สร้างคลังสะสมและจัดแสดงงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ของศิลปินในสิงคโปร์และอุษาคเนย์ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังเข้าร่วมกับพิพิธภัณฑ์กระแสใหม่ในการสร้างสรรค์นิทรรศการและ การทำกิจกรรมที่ออกไปพบปะกับชุมชน พิพิธภัณฑ์ได้ดูแลคลังศิลปะของชาติสิงคโปร์และเรียกได้ว่ามีคลังศิลปะศตวรรษ ที่20 ของภูมิภาคนี้ที่ใหญ่ที่สุด และดำเนินการโดยองค์กรสาธารณะอันเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ (SAM 2005)   พิพิธภัณฑ์ศิลปะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สิงคโปร์เป็นเมืองแห่งศิลปะและเป็นศูนย์ กลางกิจกรรมทางวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ นอกจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ยังมีโรงละครแห่งใหม่ หรือEsplanade – Theatres on the Bay (ศูนย์ครบวงจรขนาดมหึมาริมทะเลและอยู่ใจกลางเมือง) สถาบัน แห่งนี้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สิงคโปร์เป็นแหล่งศิลปะร่วมสมัย รวมไปถึงทัศนศิลป์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์วางแผนขยายงาน นอกไปจากการใช้โรงเรียนเก่าของมิชชันนารี พิพิธภัณฑ์จะขยายไปยังศาลาว่าการและอาคารเก่าของศาลสูงสุด   สารที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ส่งไปยังผู้ชมแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ สิงคโปร์ในประเด็นลักษณะเฉพาะของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์นำเสนอสิงคโปร์ในแง่ของความสัมพันธ์ที่ร้อยรัดภูมิ ภาคอุษาคเนย์เอาไว้อย่างมั่นคง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ผูกร้อยอุษาคเนย์ไว้เป็นองค์รวมเชิงสุนทรียะ อุษาคเนย์คือความหลากหลายและไม่ได้มีอัตลักษณ์ที่กลั่นรวมเป็นหนึ่งเดียว แม้ผู้คนมากมายจะมองอุษาคเนย์ในฐานะที่เป็นภูมิภาคหนึ่ง และด้วยเหตุที่ประเทศต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันในทางภูมิศาสตร์ จึงทำให้ผู้คนเหมารวมเอาว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการตั้งสมาคมอาเซียน อันประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เพื่อผนึกรวมกันในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เมื่อปี1967 ต่อมาภายหลังบรูไน พม่า (เมียนมา) กัมพูชา ลาว และเวียดนามได้เข้าร่วมสมทบ ในปัจจุบันประเทศสมาชิก 10 ประเทศ นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน พูดภาษาที่แตกต่างกัน และเคยตกเป็นอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมที่ต่างกันเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่บางประเทศเพิ่งกลายสภาพจากคู่อริกันเมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างกรณีเวียดนามที่เข้าครอบครองกัมพูชาระหว่างปี 1979 – 1989 และ ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศก่อตั้งสมาคมอาเซียนเดิม ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์จึงได้สร้างอัตลักษณ์ของอุษาคเนย์ขึ้นอีกประการ หนึ่งคือ ภูมิภาคแห่งสุนทรียะ   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์สร้างการรับรู้ว่าชุมชนศิลปะในอุษาคเนย์และประสบการณ์ของชุมชนมีทั้งความหลากหลายและรุ่มรวย(Sabapathy 1996) พิพิธภัณฑ์ จึงใช้ยุทธศาสตร์ของความกลมกลืนในความหลากหลายในการสร้างอุษาคเนย์เป็นองค์ รวมสุนทรียะ ประเด็นที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานอย่างเอกอุร่วมกันคือ “ชาตินิยม ปฏิวัติ และความคิดทันสมัย” “ประเพณีของความจริง” “วิถีนามธรรม” “เทพปกรณัมและศาสนา : ประเพณี ในความอัดอั้น” “ฉันและความเป็นอื่น” และ “ความเป็นเมืองและวัฒนธรรมสามัญนิยม” ประเด็นเหล่านี้เชื่อมต่อนิทรรศการหลากหลายในพิพิธภัณฑ์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์พึงระลึกว่า พวกเขาจะต้องนำเสนอลักษณะเฉพาะของพิพิธภัณฑ์ด้วยการกล่าวถึงอัตลักษณ์อุษา คเนย์ในนิทรรศการ   อย่างไรก็ตาม การสร้างความเป็นภูมิภาคแห่งสุนทรียะเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แม้จะมีการประกาศถึงมิตรภาพที่สนิทชิดเชื้อระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอาเซียนประกาศว่า“ด้วยความเคารพต่ออธิปไตยและสิทธิทรัพย์สินแห่งชาติของประเทศสมาชิก สมาคมอาเซียนเห็นพ้องให้มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติของประเทศสมาชิก สถาปนาเป็นมรดกของอุษาคเนย์ที่จะได้รับการปกป้องจากอาเซียนในฐานะของความ ร่วมมือที่เป็นหนึ่งเดียวกัน” (ASEAN 2000: point1) แต่ กิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ดำเนินการ กลับแสดงให้เห็นถึงจักรวรรดิทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์ที่ครอบงำประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ แต่ละประเทศต้องการเก็บสมบัติศิลปะไว้ที่ประเทศของตน และประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ก็ต้องการเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยด้วยเช่นกัน หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้มีสิทธิ์เช่นเดียวกันในการที่จะสร้างอัตลักษณ์อุษา คเนย์ และเป็นคู่แข่งในการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของภูมิภาค   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย(ACM) เป็น พิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคที่นำเสนอมุมมองที่กว้างแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียว กันของอารยธรรมและวัฒนธรรมเอเชีย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในกำกับของคณะกรรมการมรดกแห่ง ชาติ เราพยายามสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มากและหลากหลาย ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสังคมสิงค-โปร์ที่หลากชาติพันธุ์ (ACM 2005b).   ปีกแรกของพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียเปิดขึ้นเมื่อปี1997 ที่อาคารโรงเรียนเถ้าหนานบนถนนอารเมเนียน และได้ขยายไปยังอาคารยุคอาณานิคมที่เอมเพรส เพลส (Empress Place) ด้วยพื้นที่ 14,000 ตารางเมตร เมื่อปี 2003 สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำสิงคโปร์ ใจกลางของพื้นที่ด้านธุรกิจการเงิน   ขณะที่บรรพบุรุษของสิงคโปร์จากหลายๆ พื้นที่ในเอเชีย ได้เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะสิงคโปร์ในช่วง200 ปี ที่ผ่านมา วัฒนธรรมนั้นถูกนำเข้ามายังดินแดนแห่งนี้โดยผู้คนหลากหลายมีความเก่าแก่ อย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ในแง่นี้จึงเป็นจุดรวมความสนใจของพิพิธภัณฑ์อารยธรรม เอเชีย งานสะสมของพิพิธภัณฑ์จึงเน้นไปที่วัตถุทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่มีรากเหง้ามาจากจีน อุษาคเนย์ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก (ACM 2005b).   นอกเหนือจากการเป็นชาวสิงคโปร์ พลเมืองชาวสิงคโปร์ยังถูกกำหนดอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ พวกเขาถูกวางตัวแบบชาติพันธุ์(ethnic model) ให้เป็นชาวจีน (Chinese) มาเลย์ (Malay) อินเดีย (Indian) และอื่นๆ (Others) หรือ CMIO ประชากรสิงคโปร์จำนวน 99% ได้รับการพิจารณาว่าเป็นชาวจีน (77%) มาเลย์ (14%) หรืออินเดีย (8%) และยังมีประเภทเบ็ดเตล็ด (1%) ตัวแบบชาติพันธุ์ CMIO มีนัยทางการเมืองและเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นรัฐชาติ และโครงการจัดการวิศวกรรมทางสังคม (Benjamin 1976; Chua 1995; Pereira 1997; Rudolph 1998; Siddique 1990) บรรพบุรุษของชุมชนจีน มาเลย์ และอินเดียได้รับการนิยามกว้างๆ ว่ามาจากพื้นที่ต่างๆ ของทวีปเอเชีย จีน มาเลเซีย/อินโดนีเซีย และอินเดีย ตามลำดับ การกำหนดตัวแบบชาติพันธุ์กลายเป็นการมองแบบแผนการอพยพและวัฒนธรรมของ บรรพบุรุษอย่างง่ายๆ เกินไป เพราะอันที่จริงแล้ว ประเทศหรือภูมิภาคทั้งสามไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันในตัว พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียใส่ใจต่อความหลากหลาย แต่ไม่ได้พิถีพิถันนัก ตัวอย่างเช่น   จีนเป็นภาคส่วนที่กอปรด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละภูมิภาค และได้รับการร้อยรัดด้วยระบบต่างๆ เช่น ระบบปกครองจักรพรรดิ ระบบการเขียนร่วมกัน และการจัดช่วงชั้นทางสังคมที่มาจากแนวคิดของลัทธิเต๋า จีนมิได้เป็นประเทศที่มีกำเนิดเป็นหนึ่งเดียวที่อารยธรรมถูกครอบงำด้วย วัฒนธรรมฮั่น(ACM 2005b)   ด้วยการย้ำแนวคิดกว้างของการเป็นจีน อินเดีย มาเลย์มุสลิม พิพิธภัณฑ์เสนอว่าชาวสิงคโปร์ควรภูมิใจกับอดีตของบรรพบุรุษ เพราะอดีตเหล่านั้นเป็นแหล่งของการสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เอเชียของชาว สิงคโปร์ กรอบการมองสิงคโปร์ดังกล่าวต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่มอง สิงคโปร์ในฐานะของประเทศเกิดใหม่ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียอ้างอิงสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ขณะที่สิงคโปร์ตั้งอยู่ท่ามกลางโลกมุสลิมมาเลย์ แต่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียเลือกย้อนรอยประชากรสิงคโปร์ที่เป็นมุสลิมมา เลย์ไปยังตะวันออกกลาง มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง การย้ำอัตลักษณ์ของสิงคโปร์โดยผูกโยงกับอดีตของประเทศอื่นนั้นเป็นเหมือนดาบ สองคม ขณะที่ชาวสิงคโปร์เชื่อมโยงตัวเขาเองกับอดีตของประเทศต่างๆ ตามที่พิพิธภัณฑ์ได้เสนอไว้ พวกเขากลับเชื่อมโยงตัวเองกับสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันของ ประเทศนั้นๆ ได้ง่ายกว่า ด้วยเหตุที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด รัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับอย่างชัดแจ้งว่า ชาวสิงคโปร์มาเลย์สามารถละทิ้งสำนึกรัฐชาติไปได้ ในกรณีที่สิงคโปร์เกิดขัดแย้งกับประเทศใดในสองประเทศนั้น(Ooi 2003: 82-83) ด้วยเหตุว่ามาเลย์ทั้งหมดในสิงคโปร์เป็นมุสลิม พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียจึงมุ่งมองประชากรสิงคโปร์มาเลย์โดยเชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้รวบรวมมรดกวัตถุที่ประเมินค่ามิได้จากสถานที่ที่กล่าวไว้ แล้ว และนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็น “มรดกบรรพบุรุษ” ของชาวสิงคโปร์ (STPB and MITA 1995: 17) วัตถุจัดแสดงบางชิ้นหมายรวมถึง วัตถุที่ปรากฏลายมือเขียนศตวรรษที่ 18 จากอิหร่านและตุรกี ประติมากรรมราชวงศ์ถังศตวรรษที่ 7 จาก จีน และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจากวัดนาคหลายแห่งในอินเดีย ในการประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ได้จัดส่วนที่เรียกว่านิทรรศการยอดนิยมเพื่อดึงดูดผู้ชมให้มาก ขึ้น นิทรรศการเหล่านี้รวมถึงพุทธศิลป์จากอินโดจีนและสมบัติจากวาติกัน   ดังนั้น พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียจึงเป็นแหล่งที่แสดงมรดกเอเชียเก่าอันยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่และชัยชนะของบรรพบุรุษสิงคโปร์ได้รับการกล่าวขวัญ และคุณค่าที่บอกเล่าผ่านมรดกวัตถุได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนสิงคโปร์ทุก วันนี้ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่เน้น ความแตกต่างของสิงคโปร์จากประเทศเพื่อนบ้าน ต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ที่พยายามนำเสนอความเป็นอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเซียกลับสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของสิงคโปร์ด้วยการ อ้างอิงสายสัมพันธ์บรรพบุรุษกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่คัดเลือกกับ บางกลุ่มประเทศและบางชุมชน สายสัมพันธ์เหล่านี้คือรากลึกของความเป็นเอเชียของสิงคโปร์   กระบวนการการสร้างนักท่องเที่ยวและเสน่ห์ตะวันออกในบริบท (Touristification and Orientalization processes in context) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย เป็นสถาบันในระดับประเทศที่สร้างความเป็นเอเชียของสิงคโปร์ สถาบันเหล่านี้ไม่ได้เพียงแสดงบทบาทตามโครงการวิศวกรรมทางสังคม(social engineering programmes) แต่ ยังแสดงบทบาทสำคัญต่อการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเอเชียมากขึ้นสำหรับนักท่อง เที่ยวชาวตะวันตก อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สิงคโปร์ได้พัฒนาสู่เมืองที่ทันสมัย และกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ตระหนักว่า สิงคโปร์ได้สูญเสียเสน่ห์ตะวันออกซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวคาดหวังและ เรียกร้อง พิพิธภัณฑ์จึงพยายามสร้างเสน่ห์ตะวันออกให้กับสิงคโปร์เสียเอง   Adorno และ Horkheimer (1972) วิเคราะห์ ไว้ว่ามีแนวโน้มของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในการแทรกความหมายที่สองอย่างเป็นระบบ และเข้าไปแทนที่ความหมายเดิม กระบวนการสร้างเสน่ห์ตะวันออกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์สามารถทำความเข้าใจได้ในบริบทนี้ ผู้เขียนขออธิบายดังต่อไปนี้ ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เรื่องราวจะถูกนำเสนอ และความหมายจะถูกผนวกเข้าไปในวัตถุทางวัฒนธรรม การตีความใหม่และความหมายใหม่นี้เกิดขึ้นในการจัดแสดง ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์สก็อตแลนด์บอกเล่าเรื่องราวและนำเสนอนิยายปรัมปราของสก็อตแลนด์ใน สภาพแวดล้อมของความเข้าใจทางวัฒนธรรมการเมืองร่วมสมัยของประเทศ (Cooke and McLean 2002; Mclean and Cooke 2003; Newman and McLean 2004) ความหมายและบริบทเบื้องหลังสิ่งจัดแสดงถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ นักวิชาการอย่าง Hudson (1987) และ O’Doherty (1986) ชี้ ให้เห็นว่าสิ่งจัดแสดงชิ้นหนึ่ง เช่น ภาพเขียนเก่าหรือประติมากรรม มักมีหน้าที่บางอย่างในความหมายแวดล้อมเดิม เช่น โบสถ์ วัด หรือบ้าน เพื่อสร้างศรัทธาและอารมณ์ร่วม แต่เมื่อกลายมาเป็นสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ วัตถุกลับถูกถอนรากและเข้ามาอยู่ใน “บรรยากาศว่างเปล่าและไม่เป็นธรรมชาติ ในพื้นที่ท่ามกลางงานศิลปะอื่นๆ และแข่งขันกันดึงดูดความสนใจ ในสภาพและเงื่อนไขเช่นนั้น ความรู้สึกกลับหมดความหมาย ความรู้เข้ามาแทนที่และพิพิธภัณฑ์กลายเป็นอารามแห่งความเป็นวิชาการ (temple of scholarship)” (Hudson 1987: 175) พิพิธภัณฑ์ ในฐานะพื้นที่ที่นำเสนอภาพตัวแทน ได้เข้าไปตีความและสร้างบริบทให้กับวัตถุจัดแสดงใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้สร้างและสอดใส่เรื่องราวและคำบรรยายเข้าไปใน วัตถุจัดแสดง เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสน่ห์ตะวันออกของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในกระบวนการสร้างเสน่ห์ตะวันออกในพิพิธภัณฑ์ ทั้งสามแห่งนี้   ประการแรกและสำคัญยิ่ง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียใช้กระบวน “การสร้างเอเชียใหม่” (‘reasianization’ process) (Hein and Hammond 1995) กระบวน การนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสิงคโปร์ กระบวนการสร้างเอเชียใหม่พบได้ในประเทศต่างๆ ของเอเชียที่ต้องการค้นหาและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในเอเชีย (Hein and Hammond 1995) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 เมื่อ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลายประเทศในเอเชีย อย่างญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ พยายามแสดงอิทธิพลของตน นักวิชาการและนักวิจัยหลายคนทำนายถึงเศรษฐกิจของตะวันออกไกลที่จะเข้ามามี อิทธิพลเหนือเศรษฐกิจตะวันตก มุมมองดังกล่าวบันดาลใจให้เกิดกระบวนการสร้างเอเชียใหม่ ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการ เมืองในศตวรรษที่ 21 กระบวนการสร้างเอเชียใหม่เป็นกระบวนการ “เสน่ห์ตะวันออกแบบย้อนกลับ”   กระบวนการ(เสน่ห์ตะวันออกย้อนกลับ) นี้ นำมาซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมชุดใหม่ให้กับสังคมในเอเชียตะวันออกและอุษาคเนย์ โดยนักสังคมศาสตร์ชาวตะวันตก เพื่อเทียบให้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นล่าสุดในเอเชียกับความนิ่งสนิทและ ความไร้ระเบียบของระบบเศรษฐกิจและสังคมตะวันตกร่วมสมัย การเปรียบดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายการสร้างชาติของผู้นำทางการ เมืองในประเทศเหล่านั้น เช่น สิงคโปร์ และนำไปสู่ความพยายามในการนิยามและสร้างความเป็นสถาบันให้กับคุณค่าหลัก (Hill 2000).   ผู้คนจำนวนมากมองว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเหมือนการแตก กิ่งก้านจากลัทธิเต๋า คุณค่าของเต๋าอย่างที่ปรากฏในญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเสือเอเชีย(ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง) ได้สร้างชุดจริยธรรมของการทำงานคือ การทำงานหนัก คิดถึงกลุ่มร่วมงาน สะสมทรัพย์ เรียกได้ว่ามีความใกล้ชิดกับลัทธิทุนนิยม (Hofheinz and Calder 1982; Kahn and Pepper 1979; Vogel 1979) ลัทธิเต๋าและคุณค่าแบบเต๋าได้รับการยอมรับในเชิงบวกขึ้นมาในบัดดล   คุณค่าเหล่านี้เคยถูกมองว่าต่อต้านความก้าวหน้าและต่อต้านการพัฒนา(Hill 2000) เมื่อทศวรรษ 1980 นี้เองที่รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มให้ความสำคัญกับรากความเป็นเอเชียของสิงคโปร์ และเริ่มกระบวนการสร้างเสน่ห์ตะวันออกแบบย้อนกลับ (Hill 2000) กระบวนการไม่เคยหยุด ลัทธิเต๋าเบ่งบานขึ้นมาจากวาทกรรมตะวันออกอีกชุดหนึ่ง (Chua 2005) คุณ ค่าแบบเต๋ากลายความหมายมาเป็นคุณค่าแบบเอเชียของสิงคโปร์ การเน้นที่ลัทธิเต๋าเพียงประการเดียวในสิงคโปร์ ได้มอบสิทธิพิเศษให้กับชาวจีน และกันชาวมาเลย์และอินเดียให้อยู่ชายขอบ โดยมิได้ตระหนัก รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้สร้างโปรแกรมวิศวกรรมสังคม ที่ได้กลายรูปไปตามแนวคิดของเต๋า เพื่อให้ชาวสิงคโปร์ได้เรียนรู้วินัยทางสังคม เอกภาพของสังคม และความรับผิดชอบต่อชุมชน (Chua 1995; Hill 2000; Lam and Tan 1999) ความภาคภูมิใจในความเป็นเอเชียได้รับการถ่ายทอดไปสู่การท่องเที่ยว ตามแบรนด์ของการประชาสัมพันธ์สิงคโปร์ “เอเชียใหม่” เมื่อปี 1996 (Ooi 2004) ทั้งแบรนด์นั้นและแบรนด์ปัจจุบัน “สิงคโปร์ที่เป็นหนึ่ง” (Uniquely Singapore) ต้องการสื่อสารให้เห็นว่าสิงคโปร์อยู่ในภูมิภาคที่มีพลวัตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Ooi 2004)   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอเชียใหม่เพื่อฉลองการผงาดขึ้นของเอเชีย สิงคโปร์สร้างเสน่ห์ตะวันออกอย่างภาคภูมิใจ เพราะภาพลักษณ์ในสายตาโลกกำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์รู้จักเลือกใช้ส่วนดีของวาทกรรมตะวันออกในการวางโครงการสร้าง ความคล้อยตาม และเชิญชวนชาวสิงคโปร์ให้เป็นประชากรที่ทำงานหนักและเคารพต่อฝ่ายบ้านเมือง(Chua 1995) แต่กลยุทธ์ในการสร้างเสน่ห์ตะวันออกก็แตกต่างกันไปในพิพิธภัณฑ์ทั้งสามแห่ง   ขณะที่ให้ความสำคัญกับความเป็นสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้พยายามถอดภาพเดิมของตะวันออกจากสายตาของ ผู้มาเยือนที่มีต่อสิงคโปร์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ภาพลักษณ์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กล่าวถึงสิงคโปร์คือภาพจำเพาะเจาะจงและลงลึก ในรายละเอียด พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์มุ่งแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของสิงคโปร์ในอุษา คเนย์ สิงคโปร์มีความแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ให้ตัวอย่างประวัติศาสตร์ทั้งของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเชีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นซึ่งมีความไม่ลงรอยและความขัดแย้งอย่างรุนแรง นิทรรศการยังมีส่วนที่บอกเล่าความแตกต่างของชุมชนชาวจีนในสิงคโปร์ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าชาวจีนเหล่านั้นพูดภาษาที่ต่างกัน และมีแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ และการปฏิบัติที่แตกต่างกัน นอกไปจากนี้ สิงคโปร์ได้รับการนำเสนอถึงความพิเศษ เพราะได้พัฒนาเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเนื่องด้วยมีรัฐบาลที่ ดี ไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ หรือกล่าวได้ว่าสิงคโปร์ทั้งเป็นเอเชียและทั้งทันสมัยด้วยวิถีทางของตนเอง   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ท้าทายภาพของเสน่ห์ตะวันออกที่นักท่องเที่ยวอาจมีอยู่ เกี่ยวกับสิงคโปร์ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย พิพิธภัณฑ์อวดอ้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐเมืองทั้งที่ต้อง เผชิญหน้ากับความขัดแย้งและสถานการณ์ที่คลุมเครือของเอเชีย   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์มีลักษณะที่แย้งกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์กลับสร้างวาทกรรมเสน่ห์ตะวันออกขึ้นใหม่ พิพิธภัณฑ์ได้สร้างภาพของตะวันออกให้กับสิงคโปร์และภูมิภาค พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์พยายามยืนยันการเป็นผู้นำในอุษาคเนย์และสร้างเรื่อง เล่าแบบเสน่ห์ตะวันออก ด้วยการสร้างให้อุษาคเนย์เป็นภูมิภาคแห่งสุนทรียะ(aesthetic region) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ภูมิภาคมีความหลากหลาย และมีประชากรมากกว่า 500 ล้านคนในปัจจุบัน ภูมิภาคประกอบด้วย 10 ประเทศ ที่ต่างกัน และในแต่ละแห่ง มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม หากกล่าวถึงศิลปะร่วมสมัย ก็มีรูปแบบที่หลากหลายในทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ภาพเขียนหมึกจีนจนถึงผ้าบาติกชวา ภาพอิมเพรสชั่นนิสม์เวียดนามจนถึงประติมากรรมเชิงนามธรรมของสิงคโปร์ ด้วยเหตุที่การสร้างลักษณะของศิลปะที่เรียกว่าเป็นของอุษาคเนย์โดยแท้ ไม่ใช่เรื่องง่าย พิพิธภัณฑ์จึงนำเสนอความหลากหลายของรูปแบบทัศนศิลป์ที่ปรากฏในภูมิภาคอย่าง ตรงไปตรงมา แล้วจึงจัดแบ่งกลุ่มของผลงาน   คณะกรรมการมรดกแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ยังต้องทำงานไปตามแผนงานของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย(STPB and MITA 1995) ด้วย เหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์จึงเชิดชูกับความหลากหลายในอุษาคเนย์ พร้อมกันนั้นก็ต้องสร้างภาพของภูมิภาคที่มีความกลมกลืนทางศิลปะ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ได้ประดิษฐ์สร้างอัตลักษณ์ภูมิภาคอุษาคเนย์ ไปอีกลักษณะหนึ่ง เรื่องเล่าที่นำเสนอดังกล่าวสถาปนาให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางศิลปะของภูมิภาค ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์จึงพยายามเข้ามาลบภาพเสน่ห์ตะวันออกเก่าที่มีต่อ อุษาคเนย์ ซึ่งปฏิเสธศิลปะในภูมิภาค และทดแทนด้วยภาพในมุมมองใหม่ที่สร้างให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางศิลปะและ วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สร้างภาพตะวันออกใหม่ให้กับสิงคโปร์และภูมิภาคด้วยเรื่องเล่าของ ตนเอง   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียย้ำภาพเสน่ห์ตะวันออกบางภาพ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียมีความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ สิงคโปร์ ด้วยการนำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมของอารยธรรมใหญ่ของเอเชีย พิพิธภัณฑ์ไม่ได้อ้างถึงรากทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ร่วมกัน ระหว่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง แต่เป็นการสร้างกรอบของภาพร่วมระหว่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง

"ภาพลักษณ์" เกย์-เลสเบี้ยน ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษ

25 มีนาคม 2556

หากมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเกย์-เลสเบี้ยนเกิดขึ้น คงมีไม่กี่แห่งที่นำเสนอชีวิตของเกย์-เลสเบี้ยนได้อย่างถูกต้องตามที่พวกเขาเป็นอยู่ในสังคม เหตุผลประการหนึ่ง คือ สังคมยังคงเกลียดและหวาดกลัวคนเหล่านี้ บทความนี้จะชี้ให้เห็นตัวอย่างการนำนิทรรศการที่เสนอภาพลักษณ์ของเกย์และเลสเบี้ยนในเชิงบวก รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าการทำงานของภัณฑารักษ์ยุ่งยากมากแค่ไหนต่อการเก็บข้อมูล และประชาชนมีปฏิกิริยาต่อนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์-เลสเบี้ยนอย่างไรบ้าง บทความนี้จะมุ่งศึกษาวิธีการของการเก็บสะสมข้อมูลหลักฐานต่างๆจากเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสควบคุมการนำเสนอภาพลักษณ์ของพวกเขาเอง   วัตถุหลักฐานของเกย์และเลสเบี้ยนในพิพิธภัณฑ์   ในปี ค.ศ. 1994 เกเบรียล เบิร์นได้ติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษ และถามว่าพิพิธภัณฑ์มีวัตถุหลักฐานอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยนเก็บไว้บ้าง เกเบรียลพบว่าพิพิธภัณฑ์ที่ไลเซสเตอร์มีหน้ากากของโจ ออร์ตัน และพิพิธภัณฑ์บางแห่งก็มีตราสัญลักษณ์ของชาวเกย์เลสเบี้ยน นอกจากนั้น ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ตมีเสื้อผ้าแนว "แฟชั่นท้องถนน" (street style) เก็บไว้หลายชุดเพื่อจัดทำนิทรรศการ และมีพิพิธภัณฑ์อีก 5 แห่งที่เก็บสะสมวัตถุในทำนองเดียวกันนี้ คือ กลาสโกว์, สโตค ออน เทร็น, แฮ็คนีย์, อีสลิงตัน และ เอ็นฟีลด์   6 ปี ต่อมา ผู้เขียนได้ติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวมาแล้วข้างตน และพบว่าข้อมูลหลักฐานและวัตถุเกี่ยวกับเกย์ เลสเบี้ยนยังคงมีอยู่เท่าเดิม ยกเว้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอนจะมีของสะสมเกี่ยวกับเกย์เลสเบี้ยนประมาณ 50 รายการซึ่งถูกจัดแสดงในนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice พิพิธภัณฑ์ทีนและแวร์ คือพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวที่มีการเก็บสะสมวัตถุหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีโครงการที่ชื่อว่า "สร้างประวัติศาสตร์" (Making History) จึงทำให้มีการเก็บหลักฐานเกี่ยวกับเกย์เลสเบี้ยนร่วมด้วย โครงการดังกล่าวนี้ใช้เวลาหลายปีและมีคนเข้ามาร่วมประมาณ 200 คน แต่ละคนจะถูกขอให้บริจาคสิ่งของคนละ 5 อย่าง และสิ่งนั้นจะต้องสื่อความหมายหรือเป็นตัวแทนชีวิตของพวกเขา ในกลุ่มคนจำนวนนี้ จะมี 20 คนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล คนแปลงเพศ และคนที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงกับเพศตามธรรมชาติ   เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ของสะสมทางประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษส่วนใหญ่ยังไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวแทนของชาวเกย์และเลสเบี้ยนมากนั้น มีภัณฑารักษ์ไม่กี่คนที่จะช่วยเก็บสิ่งของเหล่านี้ ภัณฑารักษ์มักจะอ้างเหตุผลที่แตกต่างกันไป บางคนมีความต้องการที่จะขอยืมวัตถุสิ่งเหล่านี้มาจากสมาคมและชมรมเกย์เลสเบี้ยนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมวัตถุเหล่านี้จะเป็นอาสาสมัครที่ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงาน แม้แต่ในกลุ่มอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุดก็ยังมีอนาคตที่หล่อแหลม การยืมวัตถุสิ่งของในลักษณะนี้ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกย์และเลสเบี้ยน เพื่อที่จะคอยชี้นำว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ แต่กลุ่มอาสาสมัครส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจต่อการเก็บสะสมวัตถุเหล่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือ ใครคือคนที่เหมาะสมสำหรับการทำหน้าที่จัดระเบียบวัตถุหลักฐานเหล่านี้   เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ในที่อื่นๆ เคยบอกว่าในพิพิธภัณฑ์ที่เขาทำงานอยู่มีวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยน แต่สิ่งของเหล่านี้จะไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเกย์เลสเบี้ยน ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจำแนกวัตถุที่เป็นของเกย์และเลสเบี้ยน ในปี ค.ศ.1994 พิพิธภัณฑ์เอ็นฟีลด์ คือพิพิธภัณฑ์ที่มีการเก็บรวบรวมวัตถุที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ยังขาดความรู้เกี่ยวกับเกย์ พวกเขารู้จักแต่เพียงเสื้อผ้าและกางเกงยีนส์ของเกย์เท่านั้น วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์จึงขาดข้อมูลและคำอธิบาย จึงทำให้ตัวตนของเกย์และเลสเบี้ยนขาดหายไปหรือกลายเป็นคนที่สาบสูญ   ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บางคนให้ความเห็นว่าสิ่งของหลายอย่างในพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งของธรรมดาๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งไม่ต่างไปจากสิ่งของที่ผู้ชายผู้หญิงใช้กันทั่วไป ทัศนคตินี้อาจจะเป็นจริง เนื่องจากสิ่งของต่างๆเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ และไม่มีเครื่องหมายทางเพศคอยกำกับ อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวว่าผู้ใช้สิ่งของเหล่านั้นน่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่ถ้าของสิ่งนั้นบ่งบอกถึงความเป็นเกย์และเลสเบี้ยนอย่างเปิดเผย เช่น สัญลักษณ์ของเกย์ไพรด์ (Gay Pride Badges) สิ่งของเหล่านี้ก็จะไม่มีเรื่องราวความเป็นมา หรือขาดความหมายในตัวมันเอง   ภัณฑารักษ์บางคนอธิบายว่าวัตถุบางชิ้นในพิพิธภัณฑ์อาจจะถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยน และยกตัวอย่างวัตถุ เช่น เครื่องประดับที่ใช้กับคนที่ชอบเจาะหู เจาะจมูก เจาะลิ้น หรือโปสเตอร์เกี่ยวกับโรคเอดส์ วัตถุเหล่านี้จะถูกอธิบายว่าเป็นของเกย์และเลสเบี้ยน เพราะความหมายของการเป็นเกย์และเลสเบี้ยนอยู่ที่เพศรสและความปรารถนา แต่วัตถุสิ่งของเหล่านี้จะถูกอธิบายจากมิติทางเพศเพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกย์และเลสเบี้ยน ในขณะที่เกย์และเลสเบี้ยนมีส่วนที่เหมือนกับคนทั่วไปหลายอย่าง เช่น เกย์ส่วนใหญ่นิยมใช้เตารีดไอน้ำมากกว่าสวมห่วงไว้ที่อวัยวะเพศ แต่ชาวเกย์ก็มีการแต่งกายและพื้นที่พบปะสังสรรค์ต่างไปจากคนทั่วไป ชาวเกย์มีรสนิยมในการฟังเพลง และอ่านนิยายต่างไปจากคนอื่นๆ   อาจกล่าวได้ว่า เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งค่อนข้างสับสนว่าใครควรจะเป็นผู้ที่เก็บรวบรวม วัตถุหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยน จะจดบันทึกวัตถุเหล่านี้อย่างไร และเรื่องอะไรบ้างที่ควรบันทึกไว้   การเก็บสะสมวัตถุของเกย์-เลสเบี้ยนในครอยดอน   ในปี ค.ศ 1995 พิพิธภัณฑ์ครอยดอนซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ได้เปิดนิทรรศการเรื่อง Lifetimes นิทรรศการเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนท้องถิ่นในช่วงปี ค.ศ.1830 จนถึงปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำเสนอชีวิตคนกลุ่มต่างๆ ในเขตครอยดอนซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าประทับใจในอดีต คนกลุ่มต่างๆเหล่านี้เคยจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ ช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีลมหายใจต่อไปได้ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ก็ยินดีที่จะนำเสนอชีวิตของพวกเขาตอบแทน ไม่ว่าพวกเขาจะกลับมาใช้บริการของพิพิธภัณฑ์หรือไม่ก็ตาม นิทรรศการส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ครอยดอนมักจะมาจากเรื่องราวและสิ่งของของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะลงไปสอบถาม พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของต่างๆมาจัดแสดงนิทรรศการ คำสัมภาษณ์ชาวบ้านจะถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ เพื่อเป็นคำอธิบายบนจอคอมพิวเตอร์ (touch screens) ใช้ประกอบนิทรรศการ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางคนที่บอกว่าตัวเองเป็นเกย์และเลสเบี้ยนจะไม่มีการนำข้อมูลมาแสดงในนิทรรศการด้วย   ในขณะที่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาทำนิทรรศการ นโยบายของพิพิธภัณฑ์ครอยดอยได้ตัดทิ้งข้อมูลของคนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนออกไป หลักฐานจากคำสัมภาษณ์บอกให้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ครอยดอนมีความรังเกียจเกย์และเลสเบี้ยน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดนิทรรศการแล้ว สภาแรงงานแห่งครอยดอนก็พยายามที่จะนำเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนเข้ามาอยู่ในนิทรรศการด้วย เมื่อมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้นิทรรศการสมบูรณ์ขึ้น จึงมีการเริ่มโครงการพิเศษเพื่อเก็บข้อมูลจากคนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน ทั้งนี้เนื่องจากในเมืองครอยดอนมีประชากรที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 4 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็มีผู้ที่วิจารณ์กลับมา   กลุ่มเกย์ที่รณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมในทศวรรษที่ 70 มีพลังเข้มแข็งมากในลอนดอน และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อเนื่องผมรู้สึกชอบนิทรรศการเรื่องนี้ แสดงความคิดนิทรรศการที่ครอยดอนไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนเกย์และเลสเบี้ยปรากฎอยู่เลย ทำให้เกย์และเลสเบี้ยนกลายเป็นพวกไร้ตัวตน   เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ชื่อ จอห์น บราวน์ ตัดสินใจที่จะสัมภาษณ์เกย์ ส่วนราเชล เฮสเตด หัวหน้าฝ่ายบริการของพิพิธภัณฑ์เลือกที่จะสัมภาษณ์เลสเบี้ยน พิพิธภัณฑ์มีนโยบายที่จะใช้คนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ เนื่องจากคนกลุ่มเดียวกันจะมีความรู้สึกเป็นมิตรกันมากกว่า จอห์น บราวน์ กล่าวว่าถ้าคนไม่มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน คนๆนั้นก็จะไม่กล้าพูดเรื่องส่วนตัว ดังนั้นบราวน์จึงพยายามปรับหัวข้อสัมภาษณ์ให้สอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของคนกลุ่มนี้ ตัวอย่างคำถามเช่นเรื่องทางเพศอาจจะต้องปรับให้เหมาะสมกับคนแต่ละคน ราเชล เฮสเตดรู้สึกว่าการที่คนสัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นพวกเดียวกัน พวกเขาจะรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกันและมีอะไรเหมือนกัน ถ้าใช้คนสัมภาษณ์เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อาจทำให้คนๆนั้นไม่กล้าเปิดเผยความเป็นเกย์และเลสเบี้ยนออกมา   อย่างไรก็ตาม ราเชลได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เธอต้องมีอัตลักษณ์หรือค่านิยมเหมือนกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ตัวอย่างเช่น หญิงชราบางคนที่ถูกราเชลสัมภาษณ์ค่อนข้างยึดถือแม่แบบของเลสเบี้ยนเป็น 2 แบบคือ แบบชายชาตรีและแบบสตรีอ่อนหวาน นักวิจัยลงไปสัมภาษณ์เกย์และเลสเบี้ยน18 คน และพบว่าผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งอยู่ในสมาคมเกย์เลสเบี้ยนแห่งเมืองครอยดอน อีกส่วนหนึ่งมาจากภายนอก ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์มีอายุตั้งแต่ 18-85 ปี ในจำนวนนี้มี 4 คนเป็นผู้พิการ และมีหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นไอริช จาไมกา และอินเดีย ผู้หญิงที่ถูกสัมภาษณ์ครึ่งหนึ่งมีบุตร ถึงแม้ว่าพวกเขาอยากจะนำเสนอเรื่องราวของตัวเองในนิทรรศการแต่ก็ยังกังวลเกี่ยวกับรูปแบบของการนำเสนอ เพราะพวกเขากลัวจะกลายเป็น "สูตรสำเร็จ" ของผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน เกย์บางคนออกมาเตือนว่าพวกเขามิใช่พวกที่ชอบล่อลวงเด็กมาปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ บางคนก็ไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง ในกลุ่มเลสเบี้ยนที่ทำงานช่วยเหลือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ออกมาเตือนว่าประชาชนอาจโจมตีพวกเธอ เมื่อรู้ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน เกย์บางคนก็อาจไม่กล้าเปิดเผยตัวเองเพราะว่าพ่อแม่ของเขายังไม่เข้าใจเพศสภาพที่เขาเป็น   จอน คือคนที่มองโลกในแง่ดีเมื่อเริ่มต้นโครงการนี้ใหม่ๆ แต่เมื่อโครงการได้ดำเนินไปสักระยะหนึ่ง เขาก็เริ่มหดหู่เมื่อได้ทราบข้อมูลว่าเกย์ถูกกดขี่ข่มเหง และมีชีวิตที่ย่ำแย่ เกย์คนหนึ่งอายุประมาณ 80 ปี ยังคงรู้สึกเจ็บปวดทางใจตลอดเวลาเนื่องจากถูกสังคมรังเกียจมาตั้งแต่เด็ก จอนกล่าวว่าเขาไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกสังคมรังเกียจเท่าไรนัก แต่เกย์สูงอายุผู้นี้ยังคงมีความทรงจำที่ปวดร้าว ในขณะที่ ราเชลรู้สึกว่าเรื่องราวของเลสเบี้ยนค่อนข้างมีความสุข ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะรู้สึกกลัวต่อการถูกกีดกันจากสังคมบ้าง เลสเบี้ยนผู้หนึ่งเคยเข้าไปรักษาสุขภาพจิตในโรงพยาบาลในช่วงทศวรรษที่ 70 เนื่องจากเธอเป็นเลสเบี้ยน อย่างไรก็ตามเลสเบี้ยนยังคงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อต้านการถูกกดขี่ข่มเหง และการทำงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายของเลสเบี้ยน เพื่อให้พวกเธอมีชีวิตรอดในสังคมได้   ทั้งราเชลและจอนได้ใช้เรื่องราวชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของผู้ให้สัมภาษณ์ คำถามที่ใช้ถามเกย์และเลสเบี้ยนเป็นคำถามเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ในช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ และแต่ละช่วงอายุจะมีสิ่งใดบ้างที่บ่งบอกถึงความทรงจำและนำมาแสดงในนิทรรศการ จะไม่มีการถามถึงเรื่องราวที่เป็นส่วนตัว เพื่อทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สบายใจต่อการเล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะใช้วัตถุบางชิ้นเพื่อแสดงชีวิตวัยเด็กของเธอในประเทศจาไมก้า ช่วงชีวิตวัยรุ่นของเธอเป็นช่วงที่เธอจะได้เป็นแม่ชี แต่เธอต้องประสบเคราะห์กรรมและต่อสู้กับโรคร้าย   วัตถุส่วนใหญ่ที่มาจากความทรงจำของเกย์และเลสเบี้ยน เป็นวัตถุที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีวัตถุบางชิ้นที่มาจากยุคก่อนสงคราม วัตถุเหล่านี้จะถูกนำมาจัดแสดงเพื่อชี้ให้เห็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเกย์และเลสเบี้ยน และทำให้สังคมรู้ว่าคนกลุ่มนี้มีตัวตนมาช้านานแล้ว มิใช่เพียงปรากฏการณ์ในยุคสมัยใหม่ หนังสือของ Havelock Ellis เรื่อง Sexual Inversion ในปี ค.ศ.1896 ได้ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรก ที่อธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่อาชญากรรมหรือเป็นโรค เอลลิสเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นโฮโมเซ็กช่วล เอลลิสเคยอาศัยอยู่ในเมืองครอยดอนในช่วงวัยหนุ่ม และรู้จักกับอีดิธ ลีส์ ซึ่งเป็นแม่แบบให้เอลลิสอธิบายบุคลิกลักษณะของผู้ที่เป็นเลสเบี้ยน   ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุสิ่งของกับชีวิตของเกย์เลสเบี้ยนจะถูกสื่อสารออกมา ในเรื่องเล่าบนจอคอมพิวเตอร์แบบใช้นิ้วสัมผัส หรือ Touch Screens เรื่องราวต่างๆ จะมาจากความทรงจำของผู้เป็นเจ้าของวัตถุ ถึงแม้ว่าผู้วิจัยจะเลือกเรื่องราวบางตอนมานำเสนอ แต่เจ้าของเรื่องเล่านั้นจะมีส่วนปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมก่อนนำมาแสดงจริง เจ้าของเรื่องจึงเป็นผู้มีส่วนควบคุมในการแสดงนิทรรศการ   เรื่องเล่าในนิทรรศการ จะชี้ให้เห็นประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายของผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน เช่น เลสเบี้ยนบางคนพูดถึงการเป็นนางพยาบาล เช่นเดียวกับพูดถึงการมีบุตรโดยการทำเด็กหลอดแก้ว เกย์บางคนพูดถึงการฝังเข็ม และการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม อาจกล่าวได้ว่าตัวตนทางเพศของเกย์และเลสเบี้ยนเป็นเพียงแง่มุมหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นในชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยน เรื่องราวในนิทรรศการจึงเป็นเพียงเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตามที่เจ้าของเรื่องคิดว่าสำคัญ ตัวอย่างเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของเลสเบี้ยนคนหนึ่ง   เม็ก วิลเลียมส์ ที่ชุมชนธอร์นตัน ฮีธ เธอเกิดและเติบโตในเขตเวลส์ เล่าว่า "พ่อของฉันสร้างบ้านขึ้นมาหลังหนึ่ง ฉันช่วยพ่อสร้างมันขึ้นมาและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันสนใจงานก่อสร้าง" เมื่อเม็กออกจากโรงเรียนในปี ค.ศ.1969 เธอเข้าไปทำงานในร้านขายของแห่งหนึ่ง "ไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้หญิงจะเข้าไปทำงานก่อสร้าง ฉันเคยฝึกงานด้านนี้มาก่อน แต่ตัวเลือกที่ทำได้ก็คือการเป็นช่างทำผม การเป็นคนงานก่อสร้าง หรือว่าเป็นลูกจ้างในร้านค้า" หลังจากที่เม็กย้ายมาอยู่ลอนดอนในปี ค.ศ.1981 "องค์กรแลมเบ็ธแนะนำให้ฉันฝึกงานเป็นผู้ช่วยก่อสร้าง ซึ่งมีผู้หญิงทำงานอยู่ด้วย ฉันจึงสมัครเข้าไปเป็นช่างก่อสร้าง มันค่อนข้างยากมากเพราะว่าฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวเข้ามาเรียนเรื่องช่างไฟฟ้า ทั้งๆ ที่มีผู้หญิงคนอื่นเรียนการเป็นช่างไม้และช่างทาสีอยู่แล้ว คนงานผู้ชายบางคนก็เข้าใจดี แต่บางคนก็นิสัยไม่ดี ผู้ชายประเภทนี้มักจะไม่ชอบเรียกเราว่า "เธอ" แต่พวกเขาคิดว่าผู้หญิงที่ทำงานก่อสร้าง คือพวกที่ต้องการเป็นผู้ชาย ดังนั้นเขาจึงเรียกฉันว่า "นาย" ตลอดเวลา" พวกเราสามคนที่เป็นผู้หญิงจึงถูกลวนลามทางเพศ ถึงแม้ว่าจะถูกฟ้องแต่ผู้ชายเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการลงโทษ ศาลสั่งให้พวกเราย้ายไปอยู่ที่เมืองโคเว็นทรี สองปีสุดท้ายของการฝึกงานของเม็กเป็นช่วงเวลาที่เลวร้าย มีผู้หญิง 2 คนที่ยกเลิกการฝึกงานก่อสร้าง เหลือเพียง 6 คนเท่านั้นที่ยังคงทำต่อไป เม็กเกือบจะยอมแพ้หลายครั้งเพราะความเครียด แต่ในที่สุดเม็กก็ได้รับประกาศนียบัตรและได้เป็นช่างไฟฟ้า   สิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการบางอย่าง เช่น เอกสารรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมของโฮโมเซ็กช่วล คือสิ่งของที่เป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นถึงตัวตนทางเพศของเกย์และเลสเบี้ยน ในขณะที่สิ่งของอื่นๆอาจไม่ได้บ่งบอกตัวตนทางเพศของพวกเขา เช่น ใบผ่านการฝึกงานเป็นช่างไฟฟ้า สิ่งที่ตามมาก็คือ นิทรรศการนี้อาจจะทำลายตัวตนของผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน พิพิธภัณฑ์พยายามหลีกเลี่ยงปัญหานี้โดยการเก็บข้อมูลส่วนตัว ของเกย์เลสเบี้ยนไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อให้ประชาชนเข้ามาค้นคว้า พร้อมกับทำเอกสารประกอบนิทรรศการเพื่ออธิบายถึงชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยน   พิพิธภัณฑ์หวังไว้ว่านิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนจะเป็นเครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมและลดอคติ ซึ่งสังคมเคยกีดกันพวกเขาออกไป ราเชล เฮสเตดกล่าวถึงนิทรรศการนี้ว่า   ผู้มาชมนิทรรศการอาจต้องทบทวนสิ่งที่ตนเองเคยเชื่อและเคยมีอคติ เพราะพวกเขาจะได้พบเห็นชีวิตของคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาจะรู้ว่าเกย์เลสเบี้ยนมิใช่หุ่นแต่เป็นมนุษย์ที่กล้าพูด มีอารมณ์ขัน มีอารมณ์เศร้า และมีความรู้สึกโกรธเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะกดดัน เสียงพูดของเกย์และเลสเบี้ยนกว่า 300 ชีวิตในนิทรรศการนี้ได้สะท้อนเรื่องราวในอดีตที่พวกเขาเคยพบเจอมา และเรื่องราวของพวกเขาก็เป็นเรื่องราวปกติธรรมดาเหมือนกับคนอื่นๆ เพียงแต่ว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าคนทั่วไป   การนำชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนมาไว้ในประวัติศาสตร์ทางสังคม จำเป็นจะต้องอธิบายถึง "เพศวิถี" (Sexuality) ในมิติทางสังคมด้วย   วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนในนิทรรศการถาวรและชั่วคราว   ในปี ค.ศ.1994 แกเบรียล บอร์น ตั้งคำถามว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนบ้างไหม คำตอบคือมีนิทรรศการประเภทนี้อยู่ 8 ครั้ง ได้แก่ นิทรรศการเรื่อง Vera the Visible Lesbian ฐานข้อมูลของ The Hall Carpenter Archives ที่พิพิธภัณฑ์บรูซ แคสเซิล นิทรรศการเกี่ยวกับโจ ออร์ตันที่เมืองไลเซสเตอร์ นิทรรศการเรื่อง Street Style ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต นิทรรศการเรื่อง Love Stories และเรื่อง Fighters and Thinkers ในเมืองอีสลิงตัน นิทรรศการเรื่อง Glasgay ในเมืองกลาสโกว์ และนิทรรศการเรื่อง Positive Lives ในเมืองแบรดฟอร์ด   หลังจากปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา มีนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนอีก 13 ครั้ง นิทรรศการส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกว้างๆ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนเพียงเล็กน้อย ได้แก่นิทรรศการเรื่อง Dressing the Male ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต เรื่อง Surrealism และ Fetishism ที่เมืองบริจตัน นิทรรศการเรื่อง North East Communities นิทรรศการสัญจรของไทน์และแวร์ นิทรรศการเกี่ยวกับหน้ากากของโจ ออร์ตันในเมืองไลเซสเตอร์ และนิทรรศการเรื่อง Every Object Tells a Story ที่พิพิธภัณฑ์น็อตติงแฮม แคสเซิล ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความรักของเกย์   ในนิทรรศการบางเรื่อง เรื่องราวของเกย์จะเกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ เช่น นิทรรศการเกี่ยวกับสุขภาพที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ งานเทศกาลรำลึกโรคเอดส์ที่เมืองไลเซสเตอร์ นิทรรศการเรื่อง Brenda and Other Stories ที่พิพิธภัณฑ์วัลซัล และพิพิธภัณฑ์น็อตติงแฮม แคสเซิล นิทรรศการเรื่อง Graphic Responses ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต อาจมีการโต้แย้งว่าพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายต้องการทำให้เกย์เป็นเหยื่อของสังคม เพื่อที่จะทำให้นโยบายสุขภาพของชุมชนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามอันตรายที่แท้จริง ก็คือเมื่อเรื่องราวในแง่ลบของเกย์ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สังคมแล้ว ผู้ที่เป็นเกย์จะถูกมองว่าคือผู้ป่วย และสังคมก็จะตีตราว่าเพราะความเป็นเกย์จึงทำให้พวกเขาเป็นโรคเอดส์   มีนิทรรศการชั่วคราว 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนโดยตรง ได้แก่ นิทรรศการเรื่อง Pride Scotland ในเมืองกลาสโกว์ นิทรรศการภาพถ่ายเรื่อง London Pride ที่พิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน และนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice ในปี ค.ศ.1999 ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกย์เลสเบี้ยนในสังคมอังกฤษที่เต็มรูปแบบ ในนิทรรศการเรื่อง Capital Concerns ในพิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่บริเวณประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีคนเดินผ่านอยู่ตลอดเวลา นิทรรศการนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โรมันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้มีอุปกรณ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เช่นยกหูโทรศัพท์เพื่อฟังเสียงบรรยาย ประชาชนเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจมีการถามว่า "คุณคิดอย่างไร" "คุณคิดว่าเกย์และผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมายหรือไม่"   ในนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice มีเกย์หรือเลสเบี้ยนเข้าไปช่วยจัดการ อย่างไรก็ตาม การใช้บุคคลที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อทำหน้าที่เพียงเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก ถ้าเจ้าหน้าที่ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้นในนิทรรศการนี้ พวกเขาอาจต้องพบกับความกดดันมหาศาล เจ้าหน้าที่ที่เป็นเกย์คนหนึ่งไม่พอใจนิทรรศการเกี่ยวกับนักเขียนที่เป็นเกย์ เพราะการพูดถึงตัวตนทางเพศของนักเขียนในนิทรรศการเป็นการพูดเพียงมิติเดียว เพราะนักเขียนที่เป็นเกย์ยังเขียนนิยายแนวอื่นๆ ด้วย เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์รู้สึกว่าตนเองทำงานอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยคนที่มีจิตใจคับแคบ เพราะชาวบ้านคิดว่านิทรรศการเรื่องนี้เป็นออกมาเรียกร้องของชาวเกย์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์คิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ แต่ก็รู้สึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้ตระหนักว่าสังคมยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน จากการถูกทำร้ายอย่างรัดกุมและเข้มงวด   ปราการและขวากหนาม   วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนที่ถูกจัดแสดงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณมากกว่าก่อนช่วงหน้านั้น แต่พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์สังคมส่วนใหญ่ยังคงสนใจจัดแสดงชีวิตของเกย์เลสเบี้ยนน้อยเกินไป หรือติดทิ้งเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนไปจากนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์บางแห่งถูกนักการเมืองท้องถิ่นแทรกแซงจนทำให้ไม่กล้าจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยน ประมาณ 2-3 ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในอังกฤษและเวลส์ต่างได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น มาตรา 28 ที่ระบุในกฎหมายรัฐบาลท้องถิ่นในปี ค.ศ.1988 ได้บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมโฮโมเซ็กช่วล หรือจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล ถึงแม้ว่าจะไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดถูกฟ้องร้องตามกฎหมายนี้ แต่กฎหมายนี้ก็เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่รังเกียจเกย์และเลสเบี้ยน   อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สนใจที่จะทำนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยน ในมาตรา 28 ระบุว่าเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับกับเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยน เจ้าหน้าที่บางคนบอกว่าถ้ามีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์เลสเบี้ยนแล้ว พวกเขาก็อาจตกงาน หรือไม่ได้รับงบประมาณ แต่เจ้าหน้าที่หลายคนก็ไม่สนใจเรื่องประเภทนี้เลย บางคนเชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถจัดนิทรรศการประเภทนี้ได้เนื่องจากไม่มีวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนเก็บไว้ การพูดแบบนี้แสดงว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดเลยที่จะสนใจเก็บรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนไว้ศึกษา พิพิธภัณฑ์บางแห่งหวาดกลัวว่าสังคมจะตำหนิ และคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับจัดนิทรรศการที่มีผู้ชมเป็นสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์ยังคุ้นเคยที่จะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องความรักหรือการแต่งงานมากกว่าจะพูดถึงเกย์และเลสเบี้ยน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความสนใจจากพิพิธภัณฑ์ต่อการจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเพศโดยตรง อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงวัตถุทางเพศก็ยังเป็นเรื่องของผู้หญิงและผู้ชายทั่วไป   พิพิธภัณฑ์บางแห่งไม่เคยสนใจประเด็นเรื่องเพศ หรืออาจปกปิดความจริงเกี่ยวกับเพศที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการนั้น ในปี ค.ศ.1990 ที่ชิบเด็น ฮอลล์ ในเมืองฮาลิแฟ็ก มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตของแอนน์ ลิสเตอร์ซึ่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการนี้มีการเปิดเผยชีวิตทางเพศของลิสเตอร์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นที่เมืองเคนซิงตันบ้านเกิดของลอร์ด ลีห์ตัน ก็มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับตัวเขา โดยมีการเปิดเผยว่าเขาไม่เคยแต่งงาน เพราะเขาอุทิศชีวิตให้กับงานศิลปะ นิทรรศการนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีการเปิดเผยตัวตนทางเพศของลอร์ด ลีห์ตัน ในเมืองครอยดอน มีการอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเลสเบี้ยนที่เป็นแม่ชี ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีบาปเพราะเป็นเลสเบี้ยน แต่ในความจริงแล้วเธอถูกไล่ออกเพราะรู้ว่าคนรักของเธอที่เป็นแม่ชีคนหนึ่งแอบไปนอนกับบาทหลวง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปสอบถามความจริงกับหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นพวกรังเกียจเกย์และเลสเบี้ยน และพยายามใช้อำนาจของตัวเองบิดเบือนซ่อนเร้น หรือทำลายความจริงเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำไปโดยไม่เจตนาก็ตาม   สิ่งที่น่าหวาดกลัวคืออะไร พิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่พยายามจัดนิทรรศการที่มีเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนรวมอยู่ด้วย ยังไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย และหวังว่ามาตรา 28 จะถูกแก้ไข นอกจากนั้น นิทรรศการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนต่างได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก ที่พิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 95 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยที่มีการจัดนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice อีกประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์คิดว่าพิพิธภัณฑ์ควรจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเกย์และเลสเบี้ยน   พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เชื่อว่าตัวเองเป็นสถาบันที่สร้างและเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กับสังคม ดังนั้นพิพิธภัณฑ์จึงแสดงบทบาทเป็นตัวแทนของสังคมรักต่างเพศ แต่ในกรณีของเกย์และเลสเบี้ยน พิพิธภัณฑ์คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็น "คนอื่น" ที่แตกต่าง ผู้ชมที่ได้ชมนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice ตั้งข้อสังเกตว่า นิทรรศการนี้ควรทำให้ชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือเป็นมนุษย์คนหนึ่งในโลกนี้   นิทรรศการเกย์และเลสเบี้ยน บทเรียนจากครอยดอน   การยากในการแก้ไขข้อมูลในคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนที่ใช้ประกอบนิทรรศการเรื่อง Lifetime เป็นผลเนื่องมาจากความล้าช้าในการวางแผนงานที่จำนำเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนไปแสดงในนิทรรศการ ดังนั้นเพื่อมิให้เจ้าของเรื่องและวัตถุสิ่งของเกิดความไม่พอใจ พิพิธภัณฑ์จึงต้องจัดนิทรรศการชั่วคราวเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด 3 เรื่อง คือ เรื่อง Communion ถ่ายภาพโดยโรติมี ฟานี คาโยดี นิทรรศการเรื่องนี้เป็นการนำเสนอชีวิตของชาวไนจีเรียที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตก นิทรรศการเรื่องที่สอง คือ Ain’t Ya Hungary? เป็นผลงานภาพถ่ายของเลสเบี้ยน ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของเลสเบี้ยนในชุดคาวเกิร์ล ไปจนถึงเสื้อผ้าแบบดาราฮอลลีวู้ด นิทรรศการเรื่องที่สาม คือ Dyke’s Delight เป็นภาพเขียนฝีมือของเลสเบี้ยนในเมืองครอยดอน หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สนับสนุนให้จัดนิทรรศการเหล่านี้ แต่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นเสียก่อน   เมื่อมีการเปิดนิทรรศการ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนพอใจ แต่บางคนไม่เห็นด้วยที่ให้มีการจัดนิทรรศการเรื่องนี้ พิพิธภัณฑ์จะต้องส่งเนื้อหาของนิทรรศการ ไปให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบก่อนที่จะมีการเปิดนิทรรศการหลายเดือน หลังจากนั้นอีกหลายเดือน นักกฎหมายของรัฐออกมาเสนอว่านิทรรศการดังกล่าวนี้ขัดต่อมาตรา 28 ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายท้องถิ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 ดังนั้นรัฐจึงสั่งให้ยกเลิกนิทรรศการนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของเกย์และเลสเบี้ยนจากยูนิสัน ซึ่งเป็นองค์กรให้บริการเชิงพาณิชย์แก่สาธารณะก็ออกมาต่อต้านเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม และขอพบเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐบาล ตัวแทนชี้แจงว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เคยนำมาปฏิบัติ และทัศนคติของรัฐบาลต่อกฎหมายนี้ก็เชื่อว่าเป็นการแบ่งแยกกีดกัน ซึ่งควรจะยกเลิกกฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐเสนอ  

การศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย

19 กุมภาพันธ์ 2564

การศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย[1] บุรินทร์ สิงห์โตอาจ [2]   บทคัดย่อ ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย โดยเฉพาะขั้นตอนการแต่งเติมเขียนลายลงบนเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ทักษะทางศิลปะ และการฝึกฝนของนักอนุรักษ์ ผู้เขียนจึงประยุกต์เทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมคือ การใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือก สำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับลวดลายบนเครื่องกระเบื้องชิ้นสมบูรณ์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ลวดลายที่ได้จากการศึกษาจะนำมาปรับแต่งสีและขนาดให้ใกล้เคียงกับส่วนที่หายไปของวัตถุโดยใช้โปรแกรมแต่งภาพ จากนั้นนำลายที่พิมพ์ลงบนกระดาษสามาลอกลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไป ซึ่งเป็นวัสดุไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุในระยะยาว ผลปรากฏบนวัตถุจะมีความใกล้เคียงกับภาชนะดั้งเดิม วิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้เลียนแบบการพิมพ์ลายนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ โดยไม่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะขั้นสูง  ช่วยในการศึกษาลักษณะที่สมบูรณ์ และในการจัดนิทรรศการ รวมถึงจับต้องวัตถุเพื่อการเรียนรู้ได้ ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันได้   คำค้น : การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย   1. บทนำ เครื่องปั้นดินเผาเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและสุนทรียะ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบร่วมกัน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นวัตถุที่มีการผุพังสูญสลายน้อยมาก เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันสามารถคงสภาพได้ดีกว่าวัตถุที่ทำจากวัสดุอื่น เครื่องปั้นดินเผาตรงกับคำว่า เซรามิกส์ (Ceramics) หมายถึง วัตถุทุกชนิดที่ทำด้วยดินเหนียวและส่วนผสมอื่น เช่น ทราย แกลบ เป็นต้น มาขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ หลังจากนั้นจะนำมาเผาเพื่อให้เกิดความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม สังเกตได้จากเครื่องปั้นดินเผาที่พบจากแหล่งขุดค้นโบราณคดีเกือบทุกแห่งยังคงสภาพถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี เครื่องปั้นดินเผาจัดเป็นวัสดุสังเคราะห์ชนิดแรกที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นผลจากการค้นพบว่าดินเมื่อได้รับความร้อนจะเปลี่ยนสภาพและมีความแข็งแรงขึ้น (Buys and Oakley, 2014, p.3) ซึ่งการค้นพบว่าดินสามารถใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ได้สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรกผ่านกาลเวลาหลายพันปี สะท้อนเรื่องราวของอารยธรรมและสังคมที่ผลิตขึ้น ในหลายส่วนของโลกเทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขณะที่ในบางพื้นที่มีพัฒนาการเข้าไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เครื่องปั้นดินเผาจึงจัดเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและสุนทรียะ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบร่วมกัน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นวัตถุที่มีการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติค่อนข้างน้อย และจัดเป็นสิ่งของเครื่องใช้สามัญอย่างหนึ่งที่พบอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ทุกแห่ง เทคโนโลยีของการผลิตและรูปทรงสัณฐานของเครื่องปั้นดินเผา จึงสามารถนำมาใช้เป็นคุณลักษณะพื้นฐานสำหรับการจัดแบ่งยุคสมัยหรือศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี (บุรินทร์ สิงห์โตอาจ, 2556, หน้า 12) จิราภรณ์ อรัณยะนาค ให้ความเห็นว่าแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นที่นิยมในอดีตเน้นกระบวนการหยุดยั้งการเสื่อมสภาพ ซ่อมแซม เสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงโดยใช้วิธีเคมีและวิธีซ่อมเชิงช่างเป็นส่วนใหญ่ ใช้สารเคมีในการทำความสะอาดและเน้นซ่อมแซมต่อเติมส่วนที่ชำรุดหรือทำของใหม่ขึ้นแทนที่ของเดิม โดยขาดการศึกษาวิจัยพิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพหรือพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำโดยบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ โดยมองข้ามผลเสียในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นและมักไม่มีการประเมินและติดตามผลซึ่งบางครั้งพบว่าก่อให้เกิดความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันนี้แนวคิดในการอนุรักษ์ตามหลักสากลจะมุ่งเน้นวิธีการที่ป้องกันการเสื่อมสภาพของวัตถุเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เสมอไป แนวคิดในการอนุรักษ์เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์วิจัยหาเหตุผลที่ทำให้วัตถุเสื่อมสภาพ แล้วใช้ความรู้หลายสาขามาพิจารณาหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้นักอนุรักษ์ยังต้องตระหนักถึงขอบเขตศักยภาพ ความรู้ความสามารถ ความถนัดของตนเอง หากสิ่งใดที่ตนเองไม่ถนัดต้องแสวงหาความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักอนุรักษ์จะใช้สารเคมีก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นและจะใช้อย่างระมัดระวัง มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของสารเคมีและวิธีการแต่ละวิธีอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์วิจัยหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุและวิธีการผลิตดั้งเดิม แล้วเลือกใช้วิธีการและเคมีที่สามารถทำให้ย้อนกลับได้ (Reversible) หากยังไม่แน่ใจว่าวิธีการหรือเคมีที่มีอยู่ขณะนี้จะช่วยอนุรักษ์วัตถุที่กำลังเสื่อมสภาพได้หรือไม่จะยังไม่ใช้วิธีการเหล่านั้น แต่จะใช้วิธีการป้องกันหรือชะลอการเสื่อมสภาพแทนเพื่อที่ว่าในอนาคต หากมีการค้นพบวิธีการและเทคโนโลยีที่ดีกว่าจะสามารถใช้วิธีการใหม่ที่ดีกว่าได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อวัสดุเดิม (จิราภรณ์ อรัณยะนาค, 2558, หน้า 8) ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ คุณสมบัติของวัตถุ สาเหตุและกระบวนการชำรุดเสื่อมสภาพ วิธีการอนุรักษ์ วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการอนุรักษ์จึงมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาซึ่งประยุกต์ใช้ความรู้หลายสาขา และเนื่องด้วยความรู้ด้านการอนุรักษ์ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและทดลองพบข้อมูลใหม่อยู่ตลอดเวลา วิธีการที่เคยเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงในอดีตอาจกลายเป็นวิธีการที่เพิ่งค้นพบว่าทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวได้ นักอนุรักษ์จึงต้องศึกษาและเข้าใจวัสดุที่ผลิตและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ สาเหตุการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผา และวิธีการป้องกัน การศึกษาในปัจจุบันพบว่ามีหลายกระบวนการที่ส่งผลให้วัสดุเกิดการเสื่อมสภาพ เช่น การดูแลรักษา การจัดเก็บ การจัดแสดง การปฏิบัติการอนุรักษ์ เป็นต้น และเมื่อวัตถุเกิดการเสื่อมสภาพจึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อหาแนวทางป้องกันและเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพ ซึ่งสาเหตุการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผาใน The Conservation and Restoration of Ceramics (Buys and Oakley, 2014, pp.18-28) ประกอบด้วย การเสื่อมสภาพทางกายภาพ (Physical deterioration) และการเสื่อมสภาพทางเคมี ( Chemical deterioration ) และแบ่งได้ตามปัจจัยสนับสนุนอย่าง ปัจจัยภายในวัสดุและปัจจัยภายนอก อย่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมซึ่งมีได้หลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมสภาพทางกายภาพเนื่องจากการผลิต เครื่องปั้นดินเผามีหลายประเภทและแตกต่างกันในเรื่องอุณหภูมิการเผา ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินที่เผาอุณหภูมิต่ำ ชนิดเนื้อแกร่ง ไปจนถึงเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องที่เผาอุณหภูมิสูง เครื่องปั้นดินเผามีทั้งแบบเคลือบและแบบไม่เคลือบ องค์ประกอบของเนื้อดินและวิธีการผลิต ซึ่งระดับความเสียหายที่เกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อเครื่องปั้นดินเผาแต่ประเภทแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผาที่เผาไฟอุณหภูมิต่ำจะเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่าการเผาในอุณหภูมิที่สูงกว่า สาเหตุประกอบอื่น เช่น วัสดุเนื้อดินที่ไม่บริสุทธิ์ (Compositional defects ) ความผิดพลาดจากการขึ้นรูปทรง (Construction failures ) ความผิดพลาดจากการเผา (Firing flaws) ความผิดพลาดจากการเคลือบ (Glazing errors) ปัจจัยภายในที่มีส่วนต่อการเสื่อมสภาพในตัวเองโดยธรรมชาติจากความไม่เสถียรของวัสดุ และส่วนประกอบของเครื่องปั้นดินเผา สามารถนำไปสู่การเสื่อมสภาพทางกายภาพในตัวเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติภายในตัววัสดุเองจึงเป็นการยากที่จะป้องกัน และการเสื่อมสภาพของวัตถุนี้สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่วัตถุนั้นจะถูกใช้งาน ซึ่งจะรวมถึงวัสดุที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ข้อบกพร่องอีกประการมาจากการออกแบบและการผลิตที่ไม่ดี เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่มีหูจับที่บางเกินกว่าที่จะรองรับน้ำหนักของภาชนะได้ ข้อบกพร่องประการสุดท้ายที่จากการผลิต คือ การเผาภาชนะที่ไม่ระมัดระวัง เครื่องปั้นดินเผาที่ถูกเผาเร็วเกินไป หรือปล่อยให้แห้งเร็วเกินไปจะแตกหรือร้าวได้ การเสื่อมสภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสียหายจากน้ำ (Aqueous attack) ความเสียหายจากกรด (Acid attack) ความเสียหายจากด่าง (Alkaline attack) ความเสียหายจากเกลือที่ละลายน้ำได้ (Soluble salts) ความเสียหายจากการฝังดินหรือแช่น้ำ (Encrustations burial or flood) ความเสียหายจากความร้อน (Thermal shock) ความเสียหายจากการกดทับ (Compression damage) ความเสียหายจากฝุ่น (Museum dirt and dust) ความเสียหายจากเชื้อรา (Mold growth) ความเสียหายจากคราบที่เกิดจากไฟ (Fire stains/deposits) เครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ อาคารประวัติศาสตร์หรือที่อยู่อาศัยทั่วไปจะมีความเสี่ยงมากจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาอ่อนไหวต่อแรงกระแทกทางกล ที่ทำให้เกิดแตกหัก รอยแตกร้าวและบิ่น ส่วนการใช้งานทั่วไปและการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะอาจทำให้เกิดคราบสกปรก หรือร่องรอยบนเครื่องปั้นดินเผา เมื่อเครื่องปั้นดินเผาต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้จะเกิดความร้อนที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง หรือน้ำท่วมจะทำให้เกิดคราบเปื้อนและความเสียหายทางเคมีอาจเกิดขึ้นได้ เครื่องปั้นดินเผาเมื่อถูกพบร่วมในแหล่งโบราณคดีและถูกนำขึ้นมาสัมผัสกับสภาพแวดล้อมใหม่ทันที อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีซึ่งอาจรุนแรงมากจนทำให้โครงสร้างของเครื่องปั้นดินเผาแตกหักและร่วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย การเสื่อมสภาพทางเคมียังนำไปสู่ความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับหรือปกปิดได้ เช่น ชั้นเคลือบเปลี่ยนสีหรือเสื่อมสภาพ ความชื้นสามารถทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้ เมื่อเครื่องปั้นดินเผาอยู่ในที่มีความชื้น เกลือในธรรมชาติอาจจะแทรกซึมเข้าสู่เนื้อดินที่เป็นรูพรุนและจะขยายตัวเมื่อได้รับความชื้น ทำให้เกิดแรงกดลงบนเนื้อดินของเครื่องปั้นดินเผาและทำให้วัสดุแตกร้าว ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เกลือที่ละลายน้ำได้จะละลายและเมื่อความชื้นต่ำเกลือจะตกผลึก การเปลี่ยนจากการละลายไปตกผลึกกลับไปมาทำให้พื้นผิวเครื่องปั้นดินเผาเสียหาย เนื่องจากผลึกเกลือจะมีขนาดใหญ่กว่าเกลือในรูปของสารละลายซึ่งจะเกิดการหดตัวและขยายตัวในเนื้อดินของเครื่องปั้นดินเผา ระยะเวลาผ่านไปองค์ประกอบทางกายภาพของเนื้อดินจะแตกร่วนจนกระทั่งถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ (จิราภรณ์ อรัณยะนาค, 2559, หน้า 95-97) แสงไม่เป็นอันตรายต่อเครื่องปั้นดินเผา แต่ผงสีที่ใช้ในการตกแต่งพื้นผิวเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีอาจได้รับความเสียหายจากการสัมผัสกับแสงมากเกินไป เครื่องปั้นดินเผาเขียนสีสามารถซีดจางหรือเปลี่ยนสีได้อย่างรวดเร็ว หากสัมผัสกับแสงมากเกินไปเช่นกัน โดยแสงสามารถทำอันตรายกับอินทรียวัตถุทุกชนิด โดยทำลายโครงสร้างโมเลกุลของอินทรีย์สาร เกิดการชำรุดเสื่อมสภาพอ่อนแอหรือแตกหักลงได้ อันตรายที่เกิดจากแสงเมื่อวัสดุดูดซับพลังงานจากแสงและความร้อนถูกสะสมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้วัสดุเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีออกซิเจน โอโซน และความชื้นร่วมด้วย อย่างไรก็ตามแสงมีผลกระทบอย่างมากต่อวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ เช่น กาว หรือวัสดุเติมเนื้อ เช่น อีพอกซี อะคริลิค เรซิ่น อาจเปลี่ยนสีเหลืองได้ไวขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสงยูวี การเสื่อมสภาพทางกายภาพเนื่องจากการใช้งาน แรงกระแทกและการเสียดสี เนื่องจากด้วยธรรมชาติของเครื่องปั้นดินเผาที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะปรากฏร่องรอยจากการใช้งาน เช่น รอยแตก รอยร้าว และรอยด่าง นอกจากนี้ในสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์อาจสร้างความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บ การบรรจุการหยิบยกและ เคลื่อนย้ายที่ผิดพลาด (Impact damage) ความเสียหายจากรอยขีดข่วน (Abrasion) ความเสียหายจากคราบอาหาร (Food staining) ความเสียหายจากคราบสนิมโลหะ (Metal staining) ความเสียหายจากคราบสะสม (Accretions) การเสื่อมสภาพเนื่องจากการซ่อมแซมก่อนหน้า (Previous restoration) เช่น ความเสียหายจากการซ่อมแซมอย่างไม่เหมาะสม (Improperly applied ) ความเสียหายที่เกิดจากกาว (Adhesives overpaint) ความเสียหายจากการใช้เครื่องมือ (Mechanical damage) และความเสียหายจากการใช้สารเคมี (Chemical damage) การเสื่อมสภาพทางเคมีของวัตถุโดยทั่วไปไม่ได้เกิดขึ้นในโครงสร้างทางกายภาพของวัตถุ แต่อยู่ในระดับเคมีหรือสารประกอบ การเสื่อมสภาพขององค์ประกอบทางเคมีของวัตถุจะขัดขวางหรือลดความคงทนของวัตถุเมื่อสัมผัสกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ มลพิษ ความร้อน ความชื้น และสิ่งอื่น ๆ จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุหลักของการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทย คือ การใช้งาน หยิบ ยก เคลื่อนย้ายที่ผิดพลาด และการเสื่อมสภาพเนื่องจากการซ่อมแซมก่อนหน้า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมยังมีบทบาทสำคัญในการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผา ขณะที่การเสื่อมสภาพเชิงกายภาพอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่การเสื่อมสภาพทางเคมีมักจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และด้วยเครื่องปั้นดินเผามีความเสถียรทางเคมีมาก ด้วยเหตุนี้เครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากจึงคงสภาพอยู่ได้ในระยะเวลานับพันปี และเมื่อถูกค้นพบในการขุดค้นทางโบราณคดียังคงมีสภาพดี สำหรับเครื่องปั้นดินเผาจีนประเภทเนื้อกระเบื้องที่ตกแต่งพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย (Transfer printed) หรือเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย มักพบเป็นรูปทรงชามปากผายเล็กน้อยที่ด้านนอกมีการพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตจากกลุ่มเตาย่อยในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25 และส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นวัตถุที่พบได้มากในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ตามหลักการที่เหมาะสม   รูปที่ 1 เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย   2. การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบัน การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผามีประวัติยาวนานและมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งเพื่อประโยชน์ในการใช้งานคงทนถาวร รักษาไว้เพื่อคุณค่าทางด้านจิตใจ ชื่นชมความงามทางสุนทรียะ หรือแม้กระทั่งความเชื่อ การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่การจัดการกับความเสียหายทั่วไปแต่ยังเกี่ยวกับความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การเก็บรักษา การจัดการหยิบยกเคลื่อนย้ายวัตถุ เทคนิคการจัดแสดง และแผนการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน   เป็นต้น นักอนุรักษ์ต้องสำรวจวัสดุและวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในอดีตและปัจจุบัน ต้องทำการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาโดยใช้พื้นฐานมาจากความเข้าใจ เห็นคุณค่าของทั้งวัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและวัสดุที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ เครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับการอนุรักษ์ที่พบในประเทศไทยทั้งในงานโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และวัตถุสะสมของเอกชน       มีวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์แตกต่างกัน กรรมวิธีและวัสดุที่ใช้ยังมีความหลากหลายซึ่งวัสดุอาจเกิดการเสื่อมสภาพ และส่งผลกระทบต่อตัววัตถุ เมื่อนักอนุรักษ์ต้องดำเนินการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา จึงต้องเลือกใช้วิธีการ วัสดุที่มีการพัฒนา และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งจะช่วยลดการเสื่อมสภาพและช่วยยืดอายุของเครื่องปั้นดินเผาให้มีสภาพดีให้ยาวนานที่สุด เพื่อแสดงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป อีกทั้งต้องเป็นทางเลือกที่ไม่ขัดแย้งต่อหลักการอนุรักษ์ จริยธรรมและสุนทรียะ นิยามของการอนุรักษ์ตามที่คณะกรรมการเพื่องานอนุรักษ์ สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM-CC (International Council of museums-Committee for conservation) (ICOM -CC, 2015) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ การอนุรักษ์ (Conservation) เป็นมาตรการและการดำเนินการที่มุ่งเน้นการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการเข้าถึงในปัจจุบันและอนาคต การอนุรักษ์รวมถึง การอนุรักษ์เชิงป้องกัน การอนุรักษ์เชิงสงวนรักษาและการบูรณะฟื้นฟู มาตรการและการดำเนินการทั้งหมดควรเคารพในคุณค่า ความสำคัญและคุณสมบัติทางกายภาพของมรดกวัฒนธรรม การอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventive Conservation) เป็นการทำงานเพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาพแวดล้อม การจัดการความเสี่ยงที่ส่งผลต่อวัสดุ ผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาจะต้องคอยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเก็บรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเสื่อมสภาพนั้นหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง มลพิษ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้วัตถุเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก มาตรการและการดำเนินการเหล่านี้เป็นทางอ้อม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัสดุและโครงสร้างของมรดกวัฒนธรรม นักอนุรักษ์ไม่ได้แก้ไขลักษณะที่ปรากฏของวัตถุ การอนุรักษ์เชิงสงวนรักษา (Conservation Treatment) เป็นการดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมที่สุดในการดำเนินงาน เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพและแก้ไขปัญหาที่เกิดความเสียหายขึ้นกับวัตถุ โดยต้องอาศัยหลักทางวิชาการ ในการดำเนินงานอนุรักษ์ต้องแน่ใจว่าหลังจากที่มีการดำเนินงานแล้ว วัตถุจะต้องได้รับการอนุรักษ์เชิงป้องกันหลังจากที่ปฏิบัติงานแล้วทันที การบูรณะ (Restoration) เป็นการดำเนินการที่กระทำกับวัตถุโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อความงามทางสุนทรียะ เพื่อความเข้าใจและการใช้ประโยชน์ การกระทำเหล่านี้จะดำเนินการได้ต่อเมื่อวัตถุนั้นเสียหาย และทำให้ความสำคัญหรือหน้าที่ของวัตถุมีการเปลี่ยนแปลงหรือวัตถุมีการเสื่อมสภาพ การดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความเคารพวัสดุดั้งเดิม การบูรณะส่วนใหญ่จะแก้ไขลักษณะที่ปรากฏของวัตถุ เมื่อต้องทำการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผามีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและอาศัยทักษะทางศิลปะ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการแต่งเติมสีหรือเขียนลวดลายลงบนเครื่องปั้นดินเผา ขั้นตอนการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาทุกประเภทจะขึ้นอยู่กับหลักการพื้นฐานการดำเนินงานที่เหมือนกัน โดย Repairing pottery and porcelain: a practical guide. Second Edition ได้เสนอขั้นตอนการอนุรักษ์ไว้ (Acton and McAuley, 2003) ดังนี้ 1.       การตรวจสภาพวัตถุ บันทึกภาพ ทำรายงานการตรวจสภาพ และระบุอัตลักษณ์เครื่องปั้นดินเผา (Examination and identification) 2.       การความสะอาด (Cleaning) ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับเนื้อวัสดุของเครื่องปั้นดินเผา3.       การนำวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ก่อนหน้าออก (Removal of previous restoration) 4.       การเสริมความแข็งแรง (Reinforcement and consolidation)5.       การเชื่อมต่อ (Bonding) การใช้วัสดุเติมเต็มส่วนที่สูญหาย เช่น เติมพื้นที่ การหล่อแบบ การจำลองแบบ และการขึ้นรูป (Replace of lost materials, Filling, Casting,Modelling and Moulding)7.       การแต่งเติมสีหรือลวดลาย (Retouching)  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทักษะทางศิลปะและการฝึกฝน เพื่อให้เกิดผลงานอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ ในขั้นตอนสุดท้าย ผู้เขียนมีแนวคิดที่จะนำวิธีการเดียวกันกับเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม คือใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือกสำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับลวดลายดั้งเดิมบนเครื่องกระเบื้องชิ้นสมบูรณ์และจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ลวดลายที่ได้จากการศึกษาจะนำมาปรับแต่งสีและขนาดให้ใกล้เคียงกับส่วนที่หายไปโดยใช้โปรแกรมแต่งภาพ จากนั้นเป็นการทดลองหาวิธีการลอกลายที่แตกต่างกันจากลายที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษหลายชนิด เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและไม่เกิดผลกระทบต่อวัสดุในระยะยาว ซึ่งความรู้ในปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับวิธีการที่เลือกใช้ คืองานของนักอนุรักษ์ Gregory S. Byrne (1995) และ Tiago Oliveira (2015) Gregory S. Byrne นักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาของ U.S. National Park Service สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองใช้ฟิล์มที่ทำจากกาวโพลียูรีเทน ฉีดพ่นทับหลายชั้นลงบนกระดาษที่พิมพ์ลวดลายด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์ แล้วใช้ความชื้นลอกชั้นกระดาษออกให้เหลือเพียงชั้นสีและชั้นฟิล์ม เพื่อนำมาติดแทนที่ลวดลายที่สูญหายไปของเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นแบบอิมาริ เป็นความพยายามที่จะหาเทคนิคและวัสดุ มาใช้ในกระบวนการอนุรักษ์ในขั้นตอนการตกแต่งลวดลายบนเครื่องกระเบื้องเขียนลาย โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพ ตกแต่งลวดลาย และสร้างฟิล์มรูปลอกโดยใช้วัสดุสำหรับการอนุรักษ์ Tiago Oliveira นักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในประเทศอังกฤษ เสนอผลการศึกษาเทคนิคการลอกลายชั่วคราว ทางเลือกในงานอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาใน Temporary Transfer Papers as Retouching Media for Ceramics Conservation โดยอธิบายถึงการใช้กระดาษรูปลอกแบบชั่วคราว มาเป็นทางเลือกสำหรับการตกแต่งเติมลวดลายลงบนปูนปลาสเตอร์ ที่ใช้เป็นวัสดุเติมเต็มในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้อง นอกจากนี้ยังนำเสนอผลการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของสีที่ใช้ในการพิมพ์โดยการเร่งปฏิกิริยาจากแสง ตัวอย่างใช้ในการศึกษาคือ โถลายคราม (Tureen) ที่ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยการลอกลาย โดยมีหลักการสำคัญคือ นำลวดลายในส่วนที่หายไปมาปรับแต่งด้วยโปรแกรมแต่งภาพ Adobe Photoshop เพื่อให้ตรงกับสีและรูปร่างของวัตถุ พิมพ์ลายลงบนกระดาษรูปลอกและลอกลายลงบนพื้นที่ที่ต้องการ เทคนิควิธีที่ใช้ในการศึกษา คือ การตรวจสอบคุณสมบัติและความสามารถในการใช้งาน (workability) ของกระดาษรูปลอกโดยประเมินจากรูปลักษณ์ที่ปรากฏ การทดสอบประเภทกระดาษรูปลอกและวิธีการลอกลาย การทดสอบความคงทนต่อแสง โดยนำตัวอย่างของกระดาษรูปลอกมาเร่งอายุให้มากขึ้นภายใต้แสงไฟนีออน และวัดค่าการเปลี่ยนสีด้วยเครื่องวัดการดูดกลืนแสง (UV-Vis spectrophotometer ) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่วัดการดูดกลืนแสงของสารในช่วงความยาวคลื่นอัลตราไวโอเลต และช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ และวิธีการทดสอบความคงทนต่อแสง (light fastness ) ที่อ้างอิงกับผ้าขนสัตว์ย้อมสีน้ำเงินมาตรฐาน (Blue wool standard : BWS) ที่วางไว้คู่กับตัวอย่าง โดยผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่ากระดาษรูปลอกมีระยะเวลาการสัมผัสกับแสงที่เทียบเท่าระยะเวลา 50 ถึง 100 ปี ตัวอย่างของกระดาษรูปลอกที่ยังไม่ผ่านการพิมพ์ถูกวางทดสอบภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์และวัดการเปลี่ยนสีด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ ตัวอย่างทั้งหมดแสดงค่าความแตกต่างของสีต่ำกว่า 1 (0.6-0.8) แสดงถึงคุณภาพความคงทนต่อแสงที่ดีมากหากจัดแสดงและจัดเก็บอย่างเหมาะสม   3. วิธีการศึกษา ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย จึงต้องทำความเข้าใจกระบวนการผลิตเพื่อที่จะสามารถเลียนแบบกระบวนการตกแต่งเครื่องกระเบื้องด้วยการพิมพ์ลาย ผู้เขียนจึงศึกษาวิธีการตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายแบบดั้งเดิม ซึ่งปรากฏครั้งแรกในยุโรปช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 (ค.ศ. 1750) เทคนิคการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย เป็นการพิมพ์ลวดลายโดยใช้แม่พิมพ์โลหะลงบนกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่มีลายอยู่มาติดกับภาชนะ ตัวอย่างที่สำคัญของการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาอังกฤษและสกอตแลนด์ อีกเทคนิคการสร้างลายบนเนื้อกระเบื้องที่ใกล้เคียงกันคือ การพิมพ์ลายด้วยเทคนิคสเตนซิล (Stencil) เป็นการพิมพ์ลวดลายโดยใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยลายฉลุ แล้วใช้สีทาลงบนลายฉลุ ตัวอย่างที่สำคัญของการพิมพ์ลายด้วยเทคนิคสเตนซิล ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น เรียกศิลปะการพิมพ์ลายประเภทนี้ว่า คาตากามิ (Katagami stencils) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พบได้ในงานย้อมผ้า งานไม้และเครื่องปั้นดินเผา   รูปที่ 2 เปรียบเทียบเทคนิคการตกแต่งลวดลายเครื่องกระเบื้อง   การศึกษาวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาโดยเฉพาะวัสดุเติมเต็ม(Filler) การใช้วัสดุเพื่อเติมเต็มพื้นที่ที่ขาดหายไปในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงหรือเพื่อเหตุผลด้านสุนทรียภาพ เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในการอนุรักษ์และซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผา การใช้วัสดุเติมเต็มมีประวัติอันยาวนานเพื่อการยึดเกาะหรือแทนที่ส่วนที่สูญหายขนาดใหญ่ มีการใช้วัสดุจำนวนมากเป็นวัสดุเติมเต็มเนื้อเครื่องปั้นดินเผาและมีเทคนิคที่หลากหลายตั้งแต่ การทากาวหนาหลายชั้น การนำชิ้นส่วนจากภาชนะอื่นมาติดแทนที่ การใช้ชิ้นส่วนทำจากเซรามิคส์ที่ผลิตขึ้นเฉพาะ การใช้ชิ้นส่วนเรซิ่นหล่อและขี้ผึ้ง วัสดุและเทคนิคการเติมเต็มพื้นที่ในช่วงแรกเหล่านี้แม้จะมีประสิทธิภาพ สามารถคาดเดาการเสื่อมสภาพได้และสามารถนำออกได้ แต่วิธีการเหล่านี้ถูกจัดว่าล้าสมัย ถึงกระนั้นนักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาก็จะต้องพบกับวัสดุเหล่านี้อยู่เสมอ วัสดุและเทคนิคที่ใช้ในการเติมเนื้อของเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันที่พบมากที่สุด คือ วัสดุที่ทำจากแคลเซียมซัลเฟต (Calcium sulfate) เช่น ปูนปลาสเตอร์ (Plaster of Paris) ในขณะที่วัสดุสังเคราะห์จากอีพอกซี (Epoxy) อะคริลิคเรซิ่น (Acrylicresins) นิยมใช้แต่มีผลกระทบในระยะยาวต่อวัตถุและมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง หรือวัสดุที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น โพลีเอสเตอร์เรซิ่น (Polyester resins ) ซึ่งมีความแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อวัตถุเดิม วัสดุเติมเต็ม เช่น ปูนปลาสเตอร์และวัสดุเติมเต็มที่มีอะคริลิกเป็นส่วนประกอบหลัก (acrylic - based fillers ) ใช้สำหรับเติมช่องว่างในเครื่องปั้นดินเผาที่เนื้อดินอ่อนและมีรูพรุน ส่วนอีพอกซี่เรซิ่นและโพลีเอสเตอร์ เรซิ่น ใช้ในกรณีของเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องที่มีความหนาแน่น ในขณะที่การใช้วัสดุเซรามิคส์ เช่น ดินเหนียวหรือดินขาวเพื่อการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผานั้นไม่ได้รับการนิยม เนื่องจากการหดตัวของเนื้อดินในระหว่างการอบแห้งและการเผา การนำวัสดุเติมเต็มที่ใช้ในอนุรักษ์ก่อนหน้าออก ทำได้ทั้งโดยวิธีกลหรือใช้สารเคมี การแทนที่ด้วยวัสดุเติมเต็มใหม่สามารถช่วยให้เครื่องปั้นดินเผาแข็งแรงและมั่นคง วัสดุเติมเต็มที่สามารถนำออกได้ทางกายภาพโดยวิธีการกลขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ เช่น ปูนซีเมนต์สามารถสกัดด้วยค้อนและสิ่วทีละน้อย ปูนปลาสเตอร์จะถูกเอาออกได้อย่างง่ายดายผ่านวิธีกล เช่น สกัดและแกะออกด้วยเครื่องมือที่มีคม สามารถใช้เลื่อย สว่านและเครื่องมืออื่นๆ อย่างไรก็ตามการนำวัสดุเติมเต็มที่ใช้ก่อนหน้าจำนวนมากออกไป ต้องระมัดระวังรอยขีดข่วน ชิ้นส่วนหลุด รอยร้าว และรอยแยกที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวเลือกที่สองในการนำวัสดุเติมเต็มออกคือใช้สารเคมี โดยทั่วไปแล้วสารเคมีจะถูกใช้เมื่อวัสดุเติมเต็มเดิมถูกนำออกไปแล้วให้เหลือเพียงส่วนน้อย วัสดุเติมเต็มมีความแตกต่างจากกาวคือมีแนวโน้มที่จะนำออกจากเครื่องปั้นดินเผาได้ง่ายกว่ากาว เช่น ปูนปลาสเตอร์ที่แยกออกมาได้ง่าย การใช้ปูนปลาสเตอร์ในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา มีข้อดีหลายประการ เนื่องจากปูนปลาสเตอร์มีความแข็งแรงและผิวหน้าเรียบ สามารถเก็บรายละเอียดได้ดี มีความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity, SG) ใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน คือ ยิปซัมมี SG 2.32 ขณะที่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินมี SG 2.4 ถึง 2.6 (Buys and Oakley, 2014, p.198) นอกจากนั้นยังมีราคาถูกอีกด้วย ข้อควรระวังในการทำแบบปูนปลาสเตอร์คือ จะต้องกำจัดฟองอากาศที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนปลาสเตอร์กับน้ำออกให้หมด มิฉะนั้นจะทำให้เกิดรูพรุนขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลต่อความแข็งแรง และการดูดซึมน้ำ เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกใช้ปูนปลาสเตอร์ในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากมีคุณสมบัติในการขึ้นรูปหล่อแบบเป็นชิ้นงานได้ง่าย สามารถเพิ่มผงสีเพื่อทำให้ใกล้เคียงกับเนื้อเครื่องปั้นดินเผา เป็นวัสดุที่สามารถทำการเคลือบผิวได้ เป็นวัสดุที่มีความสามารถยึดเกาะกับเนื้อภาชนะเครื่องปั้นดินเผา มีความแข็งแรงและความหนาแน่นที่เหมาะสมกับเนื้อเครื่องปั้นดินเผา มีความทนทานและไม่สร้างความเสียหายให้กับภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เป็นวัสดุที่สามารถเอาออกจากวัตถุได้ง่าย มีความปลอดภัยในการใช้งาน หาง่ายและราคาถูก แต่ปูนปลาสเตอร์มีข้อจำกัดในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เช่น ไม่เหมาะที่จะใช้กับเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องเพราะไม่มีแรงยึดเกาะเพียงพอ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผสมสารเติมแต่งเพื่อช่วยในการยึดเกาะ ในบางกรณีไม่สามารถเอาออกจากวัตถุได้สมบูรณ์เมื่อปูนอยู่ตัวเต็มที่ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้พาราลอยด์ บี 72 (Palaroid B-72) หรือ กาวโพลีไวนิลแอซีเตต (PVA) ทาเคลือบพื้นผิวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการเอาออกจากวัตถุภายหลังได้ ปูนปลาสเตอร์มีระยะเวลาในการทำงานที่สั้น และคุณภาพของน้ำมีผลต่อคุณสมบัติ การใช้ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่มีการตกแต่งผิวจะมีเนื้อพรุนมากและดูดความชื้นได้ดี ความชื้นอาจทำให้เกลือซัลเฟตถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อภาชนะดินเผาที่มีรูพรุน น้ำอาจละลายฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเข้ามาสะสมในเนื้อปูนได้ กล่าวโดยสรุป ปูนปลาสเตอร์เป็นวัสดุเติมเต็มในงานอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก สามารถผสมสารเติมแต่งเพื่อช่วยในการยึดเกาะหรือผสมผงสีและตกแต่งสีทับได้ถ้าต้องการ ขึ้นรูปทรงและตกแต่งได้ง่าย ปัจจุบันมีวัสดุที่ใช้ปูนปลาสเตอร์เป็นส่วนผสมหรือวัสดุเติมเต็มที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก (Calcium - based fillers) ที่พัฒนาเพื่อลดข้อจำกัดของปูนปลาสเตอร์ เช่น Polyfilla (Polycell) เป็นต้น ผู้เขียนทำการศึกษาตัวอย่างเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์เดิมและเก็บรักษาไว้ที่ห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญของพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ กล่าวคือเป็นพื้นที่ตั้งของกลุ่มวังจำนวน 5 วัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกเธอเรียกรวมกันว่า วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทำการศึกษาประวัติความเป็นมา วิเคราะห์แหล่งที่มาของเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย ศึกษากระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องที่ตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย ศึกษากระบวนการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา ทดลองวัสดุและวิธีการที่ทดแทนการเขียนตกแต่งลวดลาย ผู้เขียนได้คัดเลือกตัวอย่างเพื่อทดลองวิธีการและวัสดุที่เลียนแบบการผลิตดังเดิมที่เหมาะสม โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกตัวอย่างกลุ่มเครื่องกระเบื้องที่สามารถขึ้นรูปทรงให้ใกล้เคียงรูปทรงเดิมมากที่สุด เครื่องกระเบื้องส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเตาย่อยในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ในราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25 และส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และเป็นวัตถุที่พบได้มากในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ตามหลักการที่เหมาะสม เครื่องกระเบื้องจีนกลุ่มตัวอย่างใช้กระบวนการผลิตด้วยเทคนิคการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย โดยใช้แม่พิมพ์โลหะแกะลวดลายจีนที่เป็นเอกลักษณ์ พิมพ์ลายลงบนกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่มีลายอยู่มาติดกับภาชนะ ใช้ขั้นตอนเดียวกับเครื่องถ้วยยุโรป เมื่อนำเข้าเตาเผา หมึกที่เหลือจากการเผาไหม้ได้ออกมาเป็นสีน้ำเงินจากปฏิกิริยาของหมึกที่ส่วนผสมของโคบอลต์ออกไซด์รูปที่ 3 ขั้นตอนการอนุรักษ์   ผู้เขียนได้ทดลอง 1) คัดเลือกและทำความสะอาดตัวอย่าง 2) ต่อชิ้นส่วนตัวอย่างที่สามารถนำกลับมาติดได้                    3) ทำการขึ้นแบบส่วนที่สูญหายด้วยขี้ผึ้งสำหรับทันตกรรม ( Dental wax) 4) หล่อแบบด้วยปูนปลาสเตอร์ 5) ติดส่วนที่หล่อแบบเข้ากับตัวอย่าง 6) ตัวอย่างที่พร้อมสำหรับเทคนิคการเลียนแบบการพิมพ์ลาย จากนั้นผู้เขียนนำภาพแบบลายที่หลงเหลือจากตัวอย่างและแบบลายชิ้นสมบูรณ์ที่ได้จากการศึกษาจากแหล่งข้อมูล มาปรับแต่งลายด้วยโปรแกรมแต่งภาพให้ได้ขนาด สัดส่วนและสีใกล้เคียงกับแบบลายบนตัวอย่าง เพื่อเตรียมเลียนแบบการลอกลายลงบนเนื้อปูนปลาสเตอร์ต่อไป ขั้นตอนการปรับแต่งลวดลายด้วยโปรแกรมแต่งภาพ Photoshop โดยมีแนวทางการเลือกลวดลายที่จะมาใช้คือ ลวดลายที่คงเหลืออยู่บนชิ้นตัวอย่างที่มีลายละเอียดเพียงพอ หรือลวดลายตกแต่งจากแหล่งข้อมูลอื่นที่เป็นลายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จากนั้นใช้โปรแกรมตัดภาพพื้นหลังออกได้เป็นภาพพื้นหลังแบบโปร่งแสง (transparent background ) จากนั้นปรับขนาดสัดส่วนและสีใกล้เคียงให้กับแบบลายบนชิ้นตัวอย่าง และสลับรูปภาพด้วยคำสั่ง เมนู Edit > Transform > เลือก Flip Horizontal เป็นการสลับ ซ้าย – ขวา ก่อนสั่งพิมพ์ลงบนกระดาษลอกลายต่อไป           กระดาษสาเป็นวัสดุอีกชนิดที่ผู้เขียนเลือกใช้เป็นกระดาษลอกลายในการศึกษา กระดาษสาเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกของต้นปอสา เป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน มีชื่อเรียกกันหลายชื่อตามท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ปอสา ปอกะสา ภาคใต้ เรียก ปอฝ้าย เป็นต้น เส้นใยปอสาส่วนใหญ่ได้จากเปลือกของลำต้น ใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพดีในการผลิตกระดาษสา เปลือกลำต้นสาที่ผ่านกระบวนการต้มเยื่อแล้วขึ้นแผ่นกระดาษบนตะแกรง นำไปตากให้แห้ง มีลักษณะเป็นแผ่นมีความเหนียวนุ่มไม่ขาดง่าย มีคุณสมบัติดีคือ ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน ปัจจุบันผลผลิตปอสาส่วนใหญ่ใช้ทำกระดาษด้วยมือ (hand - made paper) และเป็นวัสดุในงานอนุรักษ์ โดยผู้เขียนใช้กระดาษสาเป็นสื่อในการพิมพ์แบบลายที่ได้จากการปรับแต่ง ซึ่งแบบลายที่ได้จะถูกพิมพ์กลับด้านด้วยเครื่องพิมพ์ ตัดส่วนลายที่ต้องการ นำวางทาบลงบนตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นใช้ มีเดียมเจล (Acrylic Gel Medium) เป็นสื่อผสมชนิดเจล ซึ่งใช้ผสมสีเพื่อทำให้เป็นมันเงาและมีความหนืด เหมาะกับงานเทคนิค Mix Media และสามารถใช้งานเหมือนกาว ทาลงบนกระดาษพิมพ์ลายที่ด้านหน้าที่มีหมึกพิมพ์ แล้วนำไปทาบบนลงลงบนเนื้อปูนปลาสเตอร์ ทิ้งไว้จนแห้งสนิท จากนั้นใช้ความชื้นช่วยในการลอกเนื้อเยื่อกระดาษสาออก และเหลือชั้นหมึกพิมพ์บนเนื้อปูนปลาสเตอร์   รูปที่ 4 การทดลองใช้กระดาษและหมึกพิมพ์ต่างชนิดและลอกลายลงบนชิ้นงาน   4. ความเป็นไปได้และข้อเสนอแนะ ผู้เขียนได้นำเทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมคือ ใช้กระดาษลอกลายที่ทำจากกระดาษสามาเป็นทางเลือกสำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา มาลอกแบบลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุในระยะยาว ผลที่ได้วัตถุจะมีลวดลายใกล้เคียงกับภาชนะดั้งเดิมที่ใช้วิธีการพิมพ์ลาย วิธีการนี้ยังไม่เคยนำมาใช้กับการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายที่พบในประเทศไทย วิธีการเลียนแบบการพิมพ์ลายนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ไม่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะขั้นสูง ช่วยในการศึกษาลักษณะที่สมบูรณ์และในการจัดนิทรรศการ หรือแม้แต่เพื่อการผลิตของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันอื่นๆ เช่น ภาชนะเขียนลายสีดำใต้เคลือบจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย หรือเครื่องปั้นดินเผาเขียนลายบนเคลือบ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น การอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลายในบทความนี้ เป็นหนึ่งในวิธีการที่เป็นทางเลือกสำหรับการตกแต่งลวดลายเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการทดสอบและดำเนินการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับอิทธิพลของอุณหภูมิและความชื้นที่มีต่อชิ้นงาน การทดลองกับวัสดุกระดาษประเภทอื่น เช่น กระดาษฟอกสีที่ใช้ในงานพิมพ์ทั่วไป กระดาษไข กระดาษสติ๊กเกอร์ที่ใช้ในการลอกลายโดยเฉพาะ รวมถึงกระดาษลอกลายที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกส์ปัจจุบัน รวมถึงการตรวจสอบการเสื่อมสภาพในระยะยาวของหมึก สีที่ใช้ในการพิมพ์ ประเภทของหมึกและเครื่องพิมพ์ เป็นต้น ผู้เขียนได้รวบรวมและเปรียบเทียบเทคนิคการอนุรักษ์ภาชนะดินเผาในขั้นตอนตกแต่งลวดลาย Retouching ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกใช้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในขั้นตอนนี้ย่อมต้องผ่านการตกลงร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ว่าต้องการผลสุดท้ายที่ขั้นตอนใด เนื่องจากการตกแต่งลวดลายเป็นกระบวนการที่ทำการเปลี่ยนแปลงสภาพของวัตถุ วิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นวิธีการที่สามารถทำซ้ำได้ง่ายและทำให้ย้อนกลับได้ (reversible) ในกรณีที่วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือเมื่อเกิดความเสียหายกับวัสดุที่นำมาใช้ และในอนาคตอาจมีวิธีการที่เหมาะสมสะดวกรวดเร็วกว่า   ตารางที่ 1 เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของเทคนิคการอนุรักษ์ภาชนะดินเผาในขั้นตอนสุดท้าย เทคนิค ข้อดี ข้อด้อย เติมวัสดุทดแทน ไม่ลงสี ทำงานง่าย รวดเร็ว ไม่กลมกลืน ไม่สวยงาม ตกแต่งสีพื้นเลียนแบบของเดิม ดูกลมกลืน ไม่มีรายละเอียด ตกแต่งสีพื้นและเขียนลายแบบของเดิม กลมกลืน มีรายละเอียด ใช้เวลา และทักษะทางศิลปะ ตกแต่งสีพื้นและลอกลายแบบของเดิม ค่อนข้างกลมกลืน ประหยัดเวลา ใช้ทักษะทางการตกแต่งภาพ   เอกสารอ้างอิง จิราภรณ์ อรัณยะนาค. (2558). การดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ———. (2559). การทำความสะอาดวัตถุพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. บุรินทร์ สิงห์โตอาจ. (2556). คู่มือพิชิตองค์ความรู้ "เครื่องปั้นดินเผา". กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ปรีดา พิมพ์ขาวขำ. (2547). เซรามิกส์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วันชัย เพี้ยมแตง. (2547). การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาด้วยรูปลอกเซรามิก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. สันติ พงษ์พรต. (2562). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปูนปลาสเตอร์. เข้าถึงได้จาก e-Learning มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์: http://elearning.nsru.ac .th/web_elearning/ceramic/lesson1.php อายุวัฒน์ สว่างผล. (2543). วัตถุดิบที่ใช้แพร่หลายในงานเซรามิกส์ (Raw Materials of Ceramics). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.   Acton, Lesley. and McAuley, Paul. (2003). Repairing pottery and porcelain: a practical guide. Second Edition . London: Lyons & Burford. Atkinson, .Josephine. (2009). Practical Conservation: Our guide to caring for your treasures. Kuala Lumpur: Islamic Arts Museum Malaysia. Buys, Susan. and Oakley, Victoria. (2014). The Conservation and Restoration of Ceramics. London: Routledge. Byrne, Gregory S. (1995). Compensating for losses in design with decals. Objects Specialty Group Postprints, Volume Three, 1995, 86-93. Caple, Chris. (2012). Conservation Skills: Judgement, Method and Decision Making. London: Routledge. Geschke, Rainer. (2004). Ceramic gap-fills for ceramic restoration. The Conservator, 74-83. ICOM-CC. (2015). Terminology to characterize the conservation of tangible cultural heritage. เข้าถึงได้จาก icom-cc.org: http://www.icom-cc.org /242/about/terminology-for-conservation/#.XfUmNmQzZhE Oliveira, Tiago. (2015). Stick it on! Temporary Transfer Papers as Retouching Media for Ceramics Conservation. e-conservation Journal 3. Sokha, Tep. (2011). Conservation of Ceramics from Phnom Borei Burials. GLASS & CERAMICS CONSERVATION Williams, Nigel. (2002). Porcelain Repair and Restoration: A Handbook. London: British Museum Press.   [1]บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [2] หลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร E-mail: burinsingtoaj@gmail.com

การเชื่อมโยงอดีตและอนาคต ท่ามกลางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์เอเชีย 4 แห่ง(บทความแปล)

23 สิงหาคม 2556

แปลจากบทความ Caroline Turner. "Linking Past and Future: Cultural Exchanges and Cross-Cultural Engagement in Four Asian Museums" . Humanities Research. Vol.IX. No.1,2002. โดยวรวรรณ  กัลยาณมิตร ช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 เอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น ภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในหัวข้อนี้เราจะมาดูกันว่าพิพิธภัณฑ์ในเอเชียทั้ง 4 แห่ง (2 แห่งในญี่ปุ่นและ 2 แห่งในจีน) จะนำกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเข้ามาใช้ในงานนิทรรศการและการจัดการงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ไม่ละทิ้งการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับอนาคตเพื่อการเรียนรู้ภายในชุมชนด้วย นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 21 จะเลือกนำเสนอประวัติศาสตร์อย่างไร และพิพิธภัณฑ์จะสามารถผลิตผลงานอันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เป็นสากล รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศในลักษณะที่ไม่มีอคติได้อย่างไร ในเวลานี้พิพิธภัณฑ์ทั้งตะวันออกและตะวันตกกำลังเผชิญอยู่กับกระแสอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติและบางครั้งยังรวมถึงเรื่องสังคมและวัฒนธรรมของคนในชาติที่จะต้องเหมือน ๆ กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ Enshrined กล่าวว่าวัฒนธรรมกระแสหลักและมุมมองด้านชาติพันธุ์ที่เอาแต่มุ่งไปสู่เรื่อง “ความเป็นอื่น” โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โดยมากแล้วเป็นปัจจัยที่ร่างภาพของวัฒนธรรมในปัจจุบัน รวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหายุ่งยากของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ออสเตรเลีย คือเรื่องการผสมผสานกลุ่มชนดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ภายในกรอบแนวคิดเรื่องสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย แม้ว่าแนวคิดนี้จะได้รับการตระหนักมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม สำหรับพิพิธภัณฑ์ในเอเชียซึ่งเป็นจุดหลักของบทความนี้ เราจะพูดถึงการมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงอดีตกับอนาคตเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน และยังเปรียบเสมือนตัวแบบของการพัฒนาในด้านการจัดนิทรรศการที่คำนึงถึงวัฒนธรรมอื่น ๆ ในระดับสากล หรือวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ พิพิธภัณฑ์จะต้องเปรียบดั่งบริบทหนึ่งที่จะแปรรูปประวัติศาสตร์ให้ออกมาเป็นวัตถุที่จัดแสดงอยู่ได้ส่วนบทบาทของรัฐและชุมชนคือตัวชี้วัดที่จะบ่งถึงความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาผ่านพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1952 เปรียบเหมือนผลิตผลของระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนแต่ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ได้ถูกก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปี 1996 และแน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางวัฒนธรรมสากลของจีนในอนาคต พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสากล โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ว่าจะให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผู้นำของพิพิธภัณฑ์ศิลปะในจีนในศตวรรษที่ 21 ดีหรือไม่ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่น (Minpaku) โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นในปี 1974 ในสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและมีความมั่นใจที่จะก้าวเข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจระดับโลก และการท้าทายตะวัน ตกต่อประเด็นที่ว่าเอเชียนั้นด้อยทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวัตถุ ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ 20 จากพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก และยัง พัฒนานโยบายที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ในการนำเสนอเรื่องราวธรรมชาติและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกูโอกะแห่งใหม่ที่เปิดเมื่อปี 1990 ถือเป็นผลิตผลในยุคหลังสมัยใหม่ของญี่ปุ่น โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่บุกเบิกการให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเอเชียอย่างเป็นสากล รวมทั้งการพัฒนาศิลปะเอเชียใหม่ๆ ด้วย พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ : นกหงส์ไฟแห่งเอเชีย หากพูดถึงเอเชียในศตวรรษที่ 21 แล้วคงไม่มีที่ใดเปลี่ยนแปลงมากไปกว่าเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชากร 19 ล้านคนซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของจีน บ้างก็ว่าเมืองนี้เปรียบได้กับไข่มุกแห่งเอเชีย และนอกจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ที่เปิดเมื่อปี 1996 ถือเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่เหมาะสมยิ่งของเซี่ยงไฮ้ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้นี้ก่อสร้างขึ้นโดยความเห็นชอบของนายกเทศมนตรีเชนหยีในปี 1952 โดย Jason Kaufman ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในปี 1996 ลงใน Art Newspaper ได้ระบุว่าสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จำนวนมากมาจากต่างประเทศ เนื่องจากวัตถุหลายชิ้นถูกขายออกนอกประเทศไปในราคาถูกๆ วัตถุทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายไปที่ไต้หวัน ต่อมาเมื่อมีการค้นพบทางโบราณคดีจึงทำให้เกิดการประสานงานระหว่างพิพิธภัณฑ์ในจีนพิพิธภัณฑ์ในฮ่องกงและแม้แต่พิพิธภัณฑ์ของตะวันตก อาคารของพิพิธภัณฑ์ได้รับการออกแบบโดยสถาบันสถาปัตยกรรมเซี่ยงไฮ้ โดยเงินลงทุนในการก่อสร้างส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หากพิจารณาตัวอาคารแล้วจะพบว่าเป็นอาคารสัณฐานกลมตั้งอยู่บนฐานรูป สี่เหลี่ยม อันสะท้อนให้เห็นถึงหลักปรัชญาของชาวจีนที่เชื่อว่าโลกของเราเป็นสี่เหลี่ยมและอยู่ใต้สวรรค์ที่เป็นวงกลม ในปี 1990 พิพิธภัณฑ์มีความเป็นอิสระมากขึ้นในการทำงานร่วมกับต่างชาติ นอกจากนี้ วัตถุที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มีความเป็นสากลและมีส่วนในการขยายงานวิจัยและงานทางวิชาการอันจะนำไปสู่การอธิบายถึงตัววัตถุนั้นๆ ได้ หากเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะมีการปรับปรุง ผู้ชมพบแต่ความเสื่อมโทรมและสกปรก ซึ่งถือเป็นลักษณะทั่วไปขององค์กรอยู่ในความดูแลของรัฐ นอกจากนี้การนำเสนอเรื่องราวที่มีคุณภาพหรืองานในแวดวงวิชาการออกสู่สาธารณชนก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากภัณฑารักษ์หรือเจ้าหน้าที่มากนัก ดร. หม่าเชงหยวน ผู้ดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1984 และเป็นบุคคลที่ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ขึ้นในเวลาต่อมา บอกกับเราว่า ในระยะของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน เขาถูกกลุ่ม Red Guards จับตัวไปและกักขังไว้ในพิพิธภัณฑ์นานหลายเดือนเนื่องจากถูกต้องสงสัยว่าจะเป็นฝ่ายศัตรู อย่างไรก็ตาม กลุ่มRed Guards ไม่ต้องการที่จะทำลายวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ต้องพบกับความผันผวนทางการเมืองมาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ดร.หม่าคงเริ่มวางแผนการปรับปรุงและเปิดพิพิธภัณฑ์อีกครั้งในปี 1996 เนื่องมาจากที่เขาได้มีโอกาสดูแลการค้นพบทางโบราณคดี และกระแสการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ในปัจจุบันได้รับการพิจารณาว่ามีการเปลี่ยนแปลงสูงและเติบโตขึ้นมาในช่วงยุ่งยากอย่างสูง เพราะอิทธิพลของงานพิพิธภัณฑ์ในระดับโลกที่มุ่งเน้นความเป็นสากลผ่านการจัดนิทรรศการมาตั้งแต่ปี 1980 ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มีวัตถุที่จัดแสดงกว่า 120,000 ชิ้น โดยแบ่งออกเป็น 11 ห้องจัดแสดงถาวร ซึ่งแต่ละห้องก็ล้วนแล้วแต่มีของที่น่าสนใจ รวมทั้งยังมีการใช้เทคนิคและการจัดแสงไฟที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในโลก แต่ทว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเอเชียยังคงสลัดภาพลักษณ์ที่แข็งทื่อและโบราณออกไป ไม่ได้เสียทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าแม้วัตถุที่นำมาจัดแสดงจะทรงคุณค่า แต่นำไปใช้ในการตีความหรือต่อยอดไปสู่การทำงานวิจัยได้เพียงเล็กน้อยเท่า นั้น ด้วยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้จึงแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสถานที่สำหรับเป็น ห้องสมุด และพื้นที่สำหรับงานวิจัย อันประกอบด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับงานวิจัยครบครัน นอกจากนี้ยังถือว่าการให้ความรู้และฝึกอบรมเป็นภารกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ได้ส่งผลงานนิทรรศการไปร่วมแสดงยังต่างประเทศ อันถือเป็นความพยายามที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าในวงวิชาการได้ การดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นภารกิจหลักของพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 1980 ด้วย อย่างไรก็ตามการจัดแสดงในต่างประเทศต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและกรอบแนวคิดเรื่องชาติ ยกตัวอย่างเช่น การใช้สีขาวและดำเพื่อแสดงพรมแดนแผนที่ของจีนกับไต้หวันแทนการใช้สีที่แตกต่าง เพื่อจะได้ไม่ต้องระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ เป็นต้น ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ที่ได้รับความสนใจมากคือ พื้นที่ในการจัดแสดงศิลปะของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งไม่อาจจัดแยกออกมาเป็นเอกเทศ แต่มักจะรวมอยู่ในการจัดแสดงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะในห้องที่นำเสนอเกี่ยวกับยุคสำริด ดร.หม่าเป็นผู้ริเริ่มนโยบายการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งแว่นแคว้นที่เป็นอิสระและอยู่รายล้อมจีนอย่างเช่น ซินเจียง มองโกเลียและธิเบต โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอความเป็นจริงทางวัฒนธรรม หรือนำเสนอภาพเพื่อจะนำไปสู่ความปรองดองกันในทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้เป็นผู้นำในด้านการเปิดมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์อิสระต่างๆ ให้กับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในจีน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคตะวันตกของจีนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มชนที่อยู่ภาคตะวันออกอย่างเซี่ยงไฮ้มากนัก โดยรวมแล้วพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มุ่งจุดสนใจไปที่การแลกเปลี่ยนอย่างมีพลวัตตลอดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีน เนื้อหาสาระในพิพิธภัณฑ์กล่าวถึงบริบททางวัฒนธรรมของจีนกว่า 4,000 ปี อันเป็นการให้ความสำคัญกับอดีตที่สามารถเชื่อมโยงกับปัจจุบันและอนาคตได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ใครก็ตามที่รู้จักอดีตเขาคนนั้นก็จะกำหนดอนาคตได้” นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการวิจัยและค้นคว้า ทาวิชาการ ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ของวิชาการ อันหมายถึงการดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้และงานแสดงศิลปะ : ณ ทางแยก ถ้าหากว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้คือการผสมผสานกันระหว่างอดีตและอนาคต พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้ก็ถือเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและหลากหลายภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความคิดที่จะรวบรวมศิลปินในยุคปัจจุบันเพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกันในการนำเสนอความซับซ้อนของงานศิลปะร่วมสมัย นอกจากนี้การแสดงงานศิลปะแห่งเซี่ยงไฮ้ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2006 ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอแนวทางแห่งศิลปะจีนยุคใหม่ ถึงแม้ว่าจีนจะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใดอย่างสมบูรณ์ แต่ความเจ็บปวดจากการสงครามที่เกิดขึ้นจากญี่ปุ่นและชาติตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจลบเลือนไปได้ นับแต่นั้นเซี่ยงไฮ้จัดว่าเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอิทธิพลทางการค้าของตะวันตกและญี่ปุ่นที่แผ่กระจายเข้ามาจนสิ้นสุดลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง แม้แต่การเปิดแสดงงานศิลปะ 2000 ซึ่งนับว่าเป็นการนำเสนอแนวทางการจัดแสดงศิลปะแนวใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์นั้น ก็ยังจัดขึ้นในพื้นที่ของห้องสมุดศิลปะที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นยุคอิทธิพลต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาหลังยุคอาณานิคมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมงานศิลปะของจีน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของงานศิลปะแบบเซี่ยงไฮ้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อีกด้วย ส่วนการแสดงศิลปะเซี่ยงไฮ้ครั้งที่ 3 ยังได้รวบรวมการนำเสนอผลงานผ่านดาวเทียม เพื่อตอบสนองกระแสโลกาภิวัตน์รวมทั้งการแสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่นในโลกสมัยหลังอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ การแสดงในครั้งดังกล่าวเป็นที่รู้จักของภัณฑารักษ์ชาวต่างประเทศอย่างรวดเร็ว และยังทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองสำคัญในสายตาของพวกเขาด้วย การจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์แต่ละครั้งมักจะเป็นการร่วมงานกันของภัณฑารักษ์จากหลายประเทศรวมทั้งจากเซี่ยงไฮ้เองด้วย อย่างไรก็ตามหัวหน้าทีมงานยังคงเป็น ฟางเซงเสียน ภัณฑารักษ์ชาวจีน โดยมีผู้ร่วมทีมเป็นชาวญี่ปุ่นรวมทั้งภัณฑารักษ์ชาวจีนที่ไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสอย่าง หัวฮั่นหลู ร่วมงานด้วย ลักษณะการทำงานเช่นนี้เท่ากับเป็นการลบล้างความคิดเกี่ยวกับว่า ใครคือผู้ครอบครองและมีอิทธิพลต่องานศิลปะจีนเพราะทุกชาติต่างก็มีส่วนร่วมในการจัดแสดงศิลปะจีนได้เท่าๆ กัน แม้กระนั้นก็เป็นที่น่าสนใจว่า ศิลปินส่วนมากที่มีผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นชาวจีน รองลงมาคือญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีศิลปินจากชาติอื่นในเอเชียบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ด้วยความพยายามดึงชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมงานนี้เอง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในการเปิดพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะ 2000 อย่างเป็นทางการ กล่าวคือ มีการกีดกันไม่ให้ชาวจีนบางส่วนเข้าร่วมงาน ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากมาย แต่จากรายละเอียดในบทความ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้จะต้องไม่กลายเป็นตลาดแสดงศิลปะจีนโดยการนำของชาวตะวันตก” ของ วังหนานหมิง ระบุว่า โลกตะวันตกอาจจะกดดันงานศิลปะของจีนเพื่อให้ยอมตามภาพลักษณ์ที่พวกเขาวาดไว้ให้ อย่างที่แสดงให้เห็นแล้วในงานเปิดพิพิธภัณฑ์ ทำให้สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคืองานศิลปะของจีนจะต้องไม่ใช่สินค้าในตลาดของชาวตะวันตก ดังนั้นการจัดแสดงศิลปะการหลุดพ้นจากการยึดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการพยายามเข้าหากระแสชาตินิยมให้มากขึ้นด้วยอย่างที่หัวฮั่นหลูได้แสดงความเห็นสำคัญไว้ว่า “ในโลกยุคหลังสมัยใหม่อย่างปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้ถูกมองว่ามีหน้าที่ในการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าด้วยกัน โดยไม่มีสังคมแบบตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นกระแสความเป็นตะวันออกที่ทันสมัยจึงเป็นบริบทที่การแสดงศิลปะเซี่ยงไฮ้ต้องเลือกมาใช้ ทำให้หลายคนมองว่าการแสดงงานศิลปะนี้มีความน่าสนใจและแตกต่างจากการแสดงศิลปะร่วมสมัยของนานาประเทศ หรือแม้แต่การแสดงงานศิลปะของจีนเองก็ตาม อ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินคนหนึ่งที่เข้าร่วมการจัดแสดงงานศิลปะดังกล่าว ระบุไว้ในงานเขียนของเขาเมื่อปี 1997 ว่า ประวัติศาสตร์งานศิลปะสมัยใหม่ของจีน เป็นงานที่แสดงออกถึงการถูกทำลายตัวตนและจิตวิญญาณของตนเองอย่างเห็นได้ชัด เพราะการกลืนกลายทางวัฒนธรรมไปมาก โดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นอ้ายเหว่ยเหว่ยจึงเป็นตัวแทนของศิลปินคนหนึ่งที่พยายามแก้ไขความคิดเกี่ยวกับคุณค่าที่ทางจิตใจของงานศิลปะที่ตกต่ำ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับความอิสระและการแสดงแนวทางแบบชาตินิยมที่มีอยู่ในงานศิลปะจีน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่งานแสดงศิลปะของเซี่ยงไฮ้จะเป็นงานที่มีอิทธิพลต่องานแสดงศิลปะทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นนิมิตหมายใหม่แห่งการแสดงงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันด้วย ก้าวเข้าสู่กระแสโลก : พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งชาติ (Minpaku) โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1974บนพื้นที่ซึ่งเคยจัดงานโอซาก้า 1970 เวิลด์เอกซ์โปมาก่อน และเปิดอย่างเป็นทางการในปี 1977 ด้วยการมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวในมุมมองด้านมานุษยวิทยาท้องถิ่นและชาติพันธุ์วิทยาเป็นสำคัญ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยอื่นๆ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ที่มีงานสถาปัตยกรรมอันน่าสนใจ อาคารของพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดย คิโชะคุโรคาวะ ที่จัดสร้างหลังคาให้เป็นแนวราบตามลักษณะหลังคาของสถาปัตยกรรมเฉพาะแบบญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งนี้มีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ที่นำเสนอแต่เรื่องราวของประเทศจีนในส่วนนิทรรศการถาวร และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของญี่ปุ่นหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Tohaku ที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนำเสนองานศิลปะตะวันออกรวมทั้งพระราชวังโบราณแบบต่างๆ Minpaku จัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมวัฒนธรรมทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้และมีความตระหนักถึงความสำคัญในวัฒนธรรมอันแตกต่าง อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ไม่ได้เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ด้านชาติพันธุ์ทั่วไปที่นิยมจัดแบ่งการแสดงเรื่องราวทางชาติพันธุ์ออกเป็นลำดับชั้นแต่จะเน้นที่การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่าวัฒนธรรมเมือแบบสมัยใหม่ อีกทั้งยังพยายามลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอันสืบเนื่องมาจากเรื่องราวทาง ประวัติศาสตร์ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าของชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์คือการให้ความรู้กับประชาชนในทุกถิ่นที่ของญี่ปุ่น ทำให้การจัดการประชุมทางวิชาการเป็นกิจกรรมสำคัญของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้ปรารภถึงบทบาทของสารคดีทางโทรทัศน์ที่มีมากขึ้น อันถือเป็นข้อยุ่งยากประการสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ แต่กระนั้นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นได้เปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานด้วยการมุ่งเน้นที่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศเกาหลีและวิถีชีวิตของชาวเกาหลีเมื่อครั้งที่เกาหลีและญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดฟุตบอลโลก ซึ่งการจัดนิทรรศการเช่นนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกาหลีต้องตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้เกิดการส่งเสริมความเท่าเทียมกันให้แก่คนเกาหลีส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ในญี่ปุ่นด้วยจากตัวอย่างนี้คงพอทำให้เราเห็นภาพได้บ้างว่าการจัดนิทรรศการและการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความท้าทายต่อการบันทึกและบอกเล่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร เราพอทราบกันแล้วว่าการผูกติดอยู่กับกระแสแนวคิดชาติ ที่พยายามให้สังคมมีวัฒนธรรมเหมือน ๆ กันหมด ประกอบกับการให้คุณค่าในวัฒนธรรมกระแสหลักและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักจะถูกมองว่าเป็น “คนอื่น” นั้นมีอิทธิพลต่องานพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงวัฒนธรรมในปัจจุบันบ้างไม่มากก็น้อย พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นพยายามให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไอนุ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่มีจำนวนไม่มากนักในประเทศญี่ปุ่น ทางพิพิธภัณฑ์ได้เชิญชาวไอนุจำนวนหนึ่งที่เป็นทั้งศิลปินและนักกิจกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้วย ไม่ได้เป็นเพียงแค่การดำเนินงานกันเฉพาะภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น การดำเนินงานเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ รวมทั้งทำให้พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าเชิงนโยบายมากกว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในโลก พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศิลปะและงานชาติพันธุ์ รวมทั้งความหมายของงานชาติพันธุ์วิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาในบริบทของศตวรรษที่ 21 ด้วย เนื่องจากพิพิธภัณฑ์บางแห่งในศตวรรษที่ 19 ยังคงมีลักษณะของแนวคิดแบบอาณานิคมแฝงอยู่ อย่างไรก็ตามแม้แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เองกลับมีความคิดแบบชาวตะวันตกที่มักจะมองคนชาติอื่นว่าล้าหลังและแปลกประหลาด ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงพยายามที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะแบบญี่ปุ่นกับลักษณะแบบตะวันตกรวมทั้งการแสดงภาพที่มีพลวัตไม่หยุดนิ่งตายตัวของวัฒนธรรมด้วยด้วยเหตุนี้ความรู้สึกเมื่อได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นคือ การเปิดมุมมองที่สามารถสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลายได้ ด้วยเจ้าหน้าที่ที่มากความสามารถของพิพิธภัณฑ์ และมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ชุมชนเป็นสำคัญ สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง : พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะและการแสดงศิลปะฟูกุโอกะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1999 โดยเป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งฟูกุโอกะ ตั้งอยู่บนชั้นที่ 7 และ 8 ของอาคาร Hakata Riverain Complex ในย่านธุรกิจที่มีชื่อเสียงของคาวาบาตะ พิพิธภัณฑ์รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของเอเชียจากการแสดงงานศิลปะเอเชียที่มีชื่อเสียงซึ่งเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1970 – 1980 งานศิลปะที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใช้เวลาในการรวบรวมมากว่า 20 ปี โดยจัดเป็นงานศิลปะเอเชียที่มีคุณค่าในระดับโลกเลยทีเดียวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีห้องสมุดที่ทันสมัย สื่อโสตทัศนศึกษาและศูนย์การวิจัย อันนับเป็นภารกิจหนึ่งที่มุ่งจะให้ศิลปินเอเชียมีความชำนาญในงานศิลปะของตนมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านศิลปะให้กับชุมชน โรงเรียนและเด็กๆ ด้วย การจัดแสดงงานศิลปะแห่งฟูกุโอกะที่จัดขึ้นทุก 3 ปีได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งกองทุนญี่ปุ่นที่ภายหลังกลายมาเป็น กองทุนญี่ปุ่นแห่งเอเชียที่ก่อตั้งขึ้นในเมืองโตเกียวเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา การก่อตั้งกองทุนนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของชาวญี่ปุ่นจากที่เคยมองว่าตนเองเหนือกว่าชาติอื่นในเอเชีย ตามแบบที่อังกฤษมองชาติอื่นในยุโรป มาเป็นการมองว่าญี่ปุ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย ทำให้กองทุนแห่งนี้พร้อมที่จะให้การสนับสนุนงานศิลปะทั้งในด้านการจัดนิทรรศการและการประชุมของประเทศต่างๆ ในเอเชียอย่างเต็มใจ ดังนั้นการจัดแสดงงานศิลปะแห่งฟูกุโอกะจึงเป็นเวทีหนึ่งในการแสดงออกว่าญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียและการผสมผสานกับศิลปะเอเชียอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสมัครสมานปรองดองกันมากขึ้น มาซาฮิโร โยชิโรซึจิ หัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแสดงศิลปะเอเชียแนวใหม่ ได้มุ่งเน้นว่าศิลปะเอเชียมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ตนเองหลุดออกมาจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ ที่รับมาจากยุโรป โดยสิ่งสำคัญคือการกลับไปตั้งคำถามเกี่ยวกับการพยายามทำให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางของระบบคุณค่าที่มีอิทธิพลต่อระบบคุณค่าของงานศิลปะในเอเชียไปด้วย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้คงจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อปรับให้เข้ากับระบบสังคมและการเมืองของญี่ปุ่น แม้ว่าการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดนัก แต่วัตถุประสงค์ประการหนึ่งที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตที่เชื่อมโยงสังคมเพื่อการร่างภาพในอนาคตของชุมชนที่เต็มไปด้วยลักษณะความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวโดยสรุปแล้วพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 แห่งมุ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดการจัดการพิพิธภัณฑ์แบบตะวันออกทั้งในส่วนของการทำให้ความเป็นตะวันออกได้รับการพัฒนา รวมทั้งการศึกษาข้ามวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดพยายามเชื่อมโยงลักษณะแบบเอเชียเข้ากับแนวทางการจัดพิพิธภัณฑ์สากลที่ให้ ความสำคัญมากไปกว่าการยึดติดกับพื้นที่ทางกายภาพ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ถือเป็นศูนย์กลางของการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ถาวร รวมทั้งการวิจัยและจัดแสดงวัฒนธรรมในอดีตที่มีความเชื่อมโยงกับปัจจุบัน ตลอดจนการนำเสนอเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมุ่งเน้นที่การปฏิสัมพันธ์อันเท่าเทียมกัน พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นพยายามลบภาพวัฒนธรรมที่ม่เปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมที่มีชีวิตโดยผ่านกระบวนการของการตัดสินร่วมกันของชนทุกกลุ่มในวัฒนธรรมนั้น ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้ ได้ให้ความสำคัญระหว่างความเป็นสากลกับความเป็นท้องถิ่นแบบจีนอันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผู้นำของพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั้งในจีนและในระดับสากล ด้วยการร่วมงานกันของศิลปินจากนานาประเทศในการจัดนิทรรศการ สำหรับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะ ให้ความสำคัญกับลักษณะแบบสากลนิยมที่เข้ามามีอิทธิพลและควบคุมการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่มุ่งความโดดเดี่ยวของญี่ปุ่น ในการที่จะให้ความสนใจต่องานศิลปะของญี่ปุ่นในมุมมองแบบตะวันออกให้มากขึ้น หมายเหตุ ภาพประกอบจาก http://www.pbase.com/al309/museum http://www.minpaku.ac.jp http://faam.city.fukuoka.lg.jp/home