พิพิธภัณฑ์: เป้าหมายหรือเครื่องมือของนโยบายทางวัฒนธรรม

          มากกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วที่นโยบายทางวัฒนธรรมถือกำเนิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรสาธารณะในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สภาชุมชน จังหวัด รัฐบาล ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศในระดับทวีป(สภายุโรป) หรือกระทั่งระดับโลก (ยูเนสโก)

จุดเริ่มต้นและทิศทางในปัจจุบัน

          ตัวอย่างของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติเช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประเทศที่เพิ่มเรื่องสิทธิในการเข้าถึงวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส  อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1946 ใส่ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมไว้ในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน  “ประเทศชาติรับรองความเสมอภาคแก่เด็กและผู้ใหญ่ในการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอาชีพ และวัฒนธรรม” และข้อกำหนดนี้ยังคงรักษาไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับต่อมาที่ปรับปรุงใหม่ในสองปีหลังจากนั้น  คือวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948  และข้อกำหนดเช่นเดียวกันนี้ ได้รับการระบุไว้โดยสมัชชาสหประชาชาติในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในมาตรา 27(1) ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะและมีส่วนในความรุดหน้าและคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์” และข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบได้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (ค.ศ. 1989)

          อย่างไรก็ดีแนวคิดการใช้นโยบายวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อขนบประเพณีเสรีภาพประชาธิปไตยและคุณค่าในบางประเทศ โดยเฉพาะขนบประเพณีของชาติในรัฐบาลขนาดเล็ก หรือประเทศที่ที่ปกครองแบบระบบสหพันธรัฐ ที่มีฉันทามติรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งในการกระจายอำนาจไปสู่รัฐต่างๆ ภายใน เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ในหลายประเทศยังคงมีความทรงจำไม่ค่อยจะดีนักต่อการทำงานแบบสั่งการและระบบการควบคุมของรัฐต่อองค์กรทางวัฒนธรรม หรือการอยู่ภายใต้นโยบายทางวัฒนธรรมของระบบการปกครองแบบเผด็จการในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าฝั่งซ้ายหรือขวาในทางการเมือง  ทำให้ทั้งนักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องไม่ใคร่เต็มใจที่จะนิยามและสนับสนุนนโยบายทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนนัก ตัวอย่างเช่น ในต้นทษวรรษที่ 1990 รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของอังกฤษได้รายงานในวาระการประชุมรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของสหภาพยุโรป เขานำเสนอเหมือนกับรัฐมนตรีจากประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรเวลา 20 นาทีในนำเสนอบทสรุปอย่างย่อของนโยบายวัฒนธรรมของประเทศ  อย่างไรก็ตาม สุนทรพจน์ช่วงสุดท้ายไม่ถึงหนึ่งนาทีของเขามีใจความว่า “ประเทศของเราไม่มีนโยบายทางวัฒนธรรม และไม่เคยมี และมันเป็นนโยบายของรัฐบาลของเราที่ว่า เราไม่ควรจะมีนโยบายวัฒนธรรม ขอบคุณครับ” จากนั้นเขาก็นั่งลง

          แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะบอกว่าไม่มีการเขียนนโยบายวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งผู้เขียนมีข้อโต้แย้งต่อคำกล่าวนี้อย่างน้อยสามประการ ประการแรกจริงๆ แล้วประเทศอังกฤษตีพิมพ์นโยบายทางวัฒนธรรมในทศวรรษที่ 1960 ภายใต้รัฐบาลผสม   ประการที่สองแม้จะปฏิเสธว่าไม่มีนโยบายวัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมองหามาตราการทางการตลาดที่จะจูงใจให้คนทั่วไปสนับสนุนเงินสำหรับการขับเคลื่อนภาควัฒนธรรม   โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่สนับสนุน และการบริจาคเงินของบุคคล เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ  และเร็วๆ นี้ รัฐบาลยังผ่านกฎหมายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการจัดการภายในของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งชาติ โดยการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ภายใต้ดูแลของรัฐบาลกลางไปสู่การออกนอกระบบราชการ มีการบริหารกึ่งอิสระ สามารถจ้างงานและเลิกจ้างได้โดยตรง  นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีความต้องการอย่างแข็งขัน ในการแปรรูปองค์กรรัฐให้ดำเนินงานแบบเอกชน (privatization) อย่างน้อยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การให้บริการ และทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

          ซึ่งนี่ไม่ใช่กรณีเดียว ปัจจุบันส่วนใหญ่ประเทศในยุโรปกำลังเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการขององค์กรให้บริการทางวัฒนธรรมเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เคยรับคำสั่งโดยตรงจากส่วนกลางมาสู่การบริหารงานแบบมีคณะกรรมการบริการของตนเองที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาเรื่องงบใช้จ่ายจากส่วนกลางที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี  หรือในบางกรณีมีเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์และองค์กรที่ให้บริการด้านมรดกวัฒนธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน ด้วยการเปิดโอกาสให้หารายได้ด้วยตนเองในรูปแบบต่างๆ และการระดมทุน ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะได้รับการโปรโมทอย่างชัดแจ้งหรือไม่ก็ตาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในโยบายทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่นี่ก็ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายทางวัฒนธรรม

อาณาจักรที่พร่ามัวของนโยบายทางวัฒนธรรม

          อย่างไรก็ตามการที่ไม่ได้ตีพิมพ์หรือแถลงการณ์นโยบายทางวัฒนธรรมอย่างที่เป็นการทาง อาจจะดีในแง่ที่เราสามารถอนุมานนโยบายจากการปฏิบัติของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ ยกตัวอย่างในช่วงระหว่างสิบปีของการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดสาธารณรัฐประชาชนจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – 1989 มีเพียงประโยคเดียวที่เห็นความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม  มีงานวิจัยที่ศึกษาโดยนักศึกษาปริญญาเอกในความดูแลของผู้เขียนระบุว่า มีความเปลี่ยนแปลงและการพลิกกลับที่สำคัญหลายด้านในการปฏิบัติงานของรัฐบาลและพรรคที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ ด้านวัฒนธรรม  ซึ่งบ่งชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคู่ขนานในนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้พูดตรงๆ ของผู้นำจีน

          อย่างไรก็ตามแม้ที่ๆ มีนโยบายวัฒนธรรมที่ชัดเจนและนำไปใช้ แต่ก็ยังไม่มีความคงเส้นคงวาถึงรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น   สภายุโรปได้รวบรวมทำซีรีย์ชุดการรีวิววัตถุประสงค์ของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติของประเทศในยุโรปตั้งแต่ ค.ศ. 1986  สำหรับการรีวิวนี้ เริ่มจากองค์กรผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องภายในแต่ละประเทศเตรียมการสำรวจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของนโยบายวัฒนธรรมและข้อกำหนดทางวัฒนธรรม พร้อมกับการประเมินตนเอง   จากนั้นมีทีมขนาดเล็กของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศพิจารณานโยบายทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ดังกล่าวที่ส่งเข้ามา  โดยมีการศึกษา เก็บข้อมูล จดบันทึก และเยี่ยมเยือนแต่ละประเทศเพื่อพบปะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องข้ามหน่วยงานในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ก่อนที่จะเตรียมการรีวิวเอกสารที่มีจำนวนมากพร้อมกับทำข้อเสนอแนะ  นี่คือลำดับการทำงานของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรม ก่อนจะได้เวอร์ชั่นสุดท้ายของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่จะได้รับการเผยแพร่ออกมา   มากกว่ายี่สิบปีแล้วที่นโยบายวัฒนธรรมของ 27 ประเทศจากสมาชิก 46 ประเทศในปัจจุบันได้รับการรีวิวด้วยวิธีการนี้ คุณค่าที่ได้จากงานนี้คือ การได้เห็นความแตกต่างที่สำคัญในสิ่งที่รัฐบาลประเทศทั้งหลายเห็นว่าเป็นนโยบายวัฒนธรรม

          ในบางกรณีจะเห็นว่า ในระดับกระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงต่อนโยบายทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่มักใช้คำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เรียกว่า “ปัจจัยนำเข้า” (inputs) กับนโยบายทางวัฒนธรรม  ทั้งนี้สิ่งที่รัฐกระทำมีทั้งเชิงของการดูแล  ตั้งกฎระเบียบ การจัดการ และการให้งบประมาณกับสถาบันหรือองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ  เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงอุปรากร โรงภาพยนตร์ วงออเคสตรา อนุสาวรีย์และแหล่งมรดกวัฒนธรรม   ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องของการเขียนคำของบประมาณสำหรับการพัฒนาและกิจกรรมใหม่ๆ ด้านศิลปะและมรดกวัฒนธรรม   กรณีดังกล่าวนโยบายทางวัฒนธรรมหมายถึงบทบาทของภาครัฐในการจัดหาบริการทางวัฒนธรรมให้กับประชาชน เช่น ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ หรือการปกป้องมรดกวัฒนธรรม รวมถึงการก่อตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมระดับชาติที่รัฐกำกับดูแลหรือให้งบประมาณ  

สำหรับกรณีของพิพิธภัณฑ์ นโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเน้นการให้บริการไปยังกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ เช่น ข้อตกลงของรัฐที่จะให้การสนับสนุนสถาบันหรือองค์กรที่ให้บริการทางวัฒนธรรม รวมถึงการให้งบประมาณในการดำเนินงาน การก่อสร้างสร้างอาคารและการจัดหาคอลเล็กชั่น  อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งที่รัฐบาลระบุกลุ่มเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน โดยกระทรวงวัฒนธรรมนำเสนอต่อรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังก่อน เมื่อมีความชัดเจนแล้ว นโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังภาคส่วนวัฒนธรรม นำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการจัดสรรเงินงบประมาณและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนต่อไป  

          โมเดลของการนโยบายทางวัฒนธรรมและการบังคับใช้มีตัวอย่างเกิดขึ้นไม่เกินสิบกว่าปีมานี้เอง อย่างน้อยในระบอบปกครองประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งเป็นตัวอย่างของการฝืนใจที่จะมองวัฒนธรรมมากกว่าไปกว่าสินค้าและบริการสาธารณะที่มีสิทธิในตัวของมันเอง อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมาหลายประเทศและหลายระบอบมองว่าสถาบันและการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างชาติมากกว่าแค่เรื่องวัฒนธรรม

ข้อบกพร่องและจุดแข็งของนโยบายทางวัฒนธรรม

          ระบอบนาซีในเยอรมนีได้กำจัด ทำลาย หรือขายงานศิลปะจำนวนมหาศาลที่ถูกพิจารณาว่าเป็น “ความเสื่อม” หรือไม่ก็เพราะรูปแบบศิลปะแบบโมเดิร์นหรือผลงานเหล่านั้นถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินชาวยิว ระหว่างศตวรรษที่ยี่สิบ คอลเล็กชั่น การจัดแสดง และนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นสิ่งที่ถูกรัฐควบคุมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองของผู้อำนวยการหรือภัณฑารักษ์ หรืออย่างน้อยที่สุดจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับนโยบายและวาระของรัฐบาล หรือกระทั่งเกี่ยวพันกับอคติส่วนบุคคลหรือรสนิยมของผู้นำเผด็จการ  แม้กระทั่งในผู้นำประชาธิปไตยเสรีนิยม พิพิธภัณฑ์อาจอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหรืออย่างน้อยคำขู่เรื่องการลดงบประมาณจากรัฐและการช่วยเหลืออื่นๆ  ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1990 มีประเด็นร้อนที่ถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ รวมถึงประเด็นคำอธิบายในนิทรรศการบทบาทของเครื่องบินทิ้งระเบิด B 29 ที่ชื่อ อิโนลา เกย์ ที่ทิ้งระบิดที่เมืองฮิโรชิมา ขณะที่นิทรรศการงานศิลปะร่วมสมัยหลายแห่งได้รับผลกระทบจากความพยายามที่จะตัดงบสนับสนุนงานพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลและองค์กรศิลปะของรัฐ

          ต่อคำถามที่ว่าพิพิธภัณฑ์ควรถูกคาดหวังให้ทำงานที่ก้าวหน้าหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมหรือทางการเมือง  ไม่ว่าคำตอบนี้จะเป็นอะไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในหลายประเทศ พิพิธภัณฑ์ถูกคาดหวังการทำงานที่สำคัญอันดับแรกในเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคมมากกว่าเรื่องวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ในเกือบทุกประเทศถูกพิจารณาในฐานะ เป็นสิ่งที่มีมูลค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย  หลังจากพักผ่อนสนุกสนานจากชายหาด ชนบท และภัตตาคาร การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่เชิงมรดกวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แน่ล่ะว่าพิพิธภัณฑ์ต้องตอบสนองต่อสิ่งนี้และความต้องการต่างๆ ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ขึ้น  อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์และเป็นความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมการทำงานของพิพิธภัณฑ์  นักท่องเที่ยวต่างประเทศกระเป๋าหนักกลายกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ระดับชาติและท้องถิ่น น่าเศร้าใจที่พบความเป็นจริงที่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา พิพิธภัณฑ์ดูเหมือนให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มากกว่าประชาชนของประเทศ ซึ่งเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์

          ในหลายประเทศ ความต้องการของรัฐบาลขยายกว้างออกไปมากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นว่ารัฐบาลหรือองค์กรทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ให้เงินทุนสนับสนุน จะให้เงินเฉพาะบางรูปแบบของสัญญา  วางอยู่บนข้อเรียกร้องเฉพาะอย่าง สามารถวัดผลได้ในทางปฏิบัติและมีตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่มีปัจจัยที่กว้างมากขึ้น  ซึ่งหลายปัจจัยอาจไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์เลยก็ได้

ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร กระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาศิลปะ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ระดับชาติ รวมถึงสถาบันทางวัฒนธรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ   ถูกให้ทำงานภายใต้ขอบเขตของนโยบายที่พัฒนาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี   ลำดับความสำคัญจะเขียนไว้ในนโยบายและการให้เงินสนับสนุน  รวมถึงนโยบายของหน่วยบริการและข้อมูลทั้งหมดทั้งของหน่วยงานกลางและท้องถิ่นผ่านแอพลิเคชั่น “ e-government” ในระบบอินเตอร์เน็ต  โดยเน้นแก้ไขปัญหาการกีดกันทางสังคมที่หยั่งรากลึกในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส   ทั้งนี้ปัญหาการกีดกันทางสังคม ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหัวหน้าคณะรัฐมนตรี(senior minister) และส่วนงานอื่นทั้งหมดของการบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ใหม่สิบปีเน้นการกำจัดความด้อยโอกาสที่หยั่งรากลึก  กลุ่มเป้าหมายคือคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่มีเด็กและคนแก่, ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย, คนที่ผิดปกติทางสมอง และวัยรุ่นในกลุ่มเสี่ยงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของสหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับ  แต่การจะทำแบบนี้ได้จะมีต้ององค์กรรองรับนโยบายทางวัฒนธรรม และองคาพยพอย่างเช่นพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างจริงจังต่อเป้าหมายนี้

          ชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเกี่ยวข้องกับนโยบายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เป็นบทแถลงการณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  ในทางปฏิบัติ การแบ่งว่า เป้าหมายหรือเครื่องมือ ของนโยบายวัฒนธรรมตามชื่อบทความคงจะเลือนหายไป เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลที่มีการทำงานในเชิงขนบต่อนโยบายทางวัฒนธรรม  ยังเริ่มคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในเชิงการศึกษาและสังคมของประเทศชาติ.

หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจาก Patrick J. Boylan, 2006. “Museum: Targets or Instruments of Cultural Policies?” in Museum International. Vol. 58, No.4) โดย ปณิตา สระวาสี.

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 30 กันยายน 2562
วันที่แก้ไข: 30 กันยายน 2562