จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด)

จารึก

จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 16:58:51 )

ชื่อจารึก

จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลพ. 2, inscription de Văt Kŭkŭt, Vat Kukut (I), ศิลาจารึกมอญวัดกู่กุด หรือ วัดจามเทวี, จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ (วัดกู่กุด) (ลพ./2, พช. 21, 354), จารึกวัดกู่กุฏหรือจามเทวี หลักที่ 1,

อักษรที่มีในจารึก

มอญโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 17

ภาษา

บาลี, มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 38 บรรทัด แต่ละด้านมี 19 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 98 ซม. สูง 124 ซม. หนา 29 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลพ. 2”
2) ในวารสาร Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXV (1925) กำหนดเป็น “Inscription de Văt Kŭkŭt”
3) ในวารสาร Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) กำหนดเป็น “Vat Kukut (I)”
4) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (พ.ศ. 2522) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกมอญวัดกู่กุด หรือ วัดจามเทวี”
5) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (พ.ศ. 2533) กำหนดเป็น “จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ (วัดกู่กุด)” (ลพ./2, พช. 21, 354)
6) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 กำหนดเป็น “จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด)”
7) ในวารสาร โบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2515) กำหนดเป็น “จารึกวัดกู่กุฏหรือจามเทวี หลักที่ 1”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2465

สถานที่พบ

ฐานพระเจดีย์ด้านทิศตะวันออกของวัดจามเทวีหรือกู่กุด ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ผู้พบ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

พิมพ์เผยแพร่

1) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXV (1925) : 189-200.
2) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) : 6-105.
3) วารสารโบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2515) : 163-166.
4) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2522), 14-17.
5) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 123-126.
6) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533), 15-17.
7) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 161-171.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ถูกพบพร้อมกับจารึกอาณาจักรปุนไชยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ตามทะเบียนบัญชีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้ระบุไว้ว่าพบที่วัดดอนแก้ว (บัญชีเดิมกล่าวว่าวัดต้นแก้ว) ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่พบจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ (วัดดอนแก้ว) แต่ในบทความชื่อ “Liste des Chroniques et autres Documents Relatifs à l’Histoire du Laos Yuen Conservés à la Bibliothéque Nationale de Bangkok” ของ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ในวารสารของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (BEFEO) ปีที่ 25 (EFEO : 1925) (พ.ศ. 2468) ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกที่มีการตีพิมพ์คำอ่าน-แปล จารึกดังกล่าวได้ระบุไว้ว่าท่านและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ค้นพบจารึกดังกล่าวใต้พื้นดิน บริเวณเชิงพระธาตุเจดีย์กู่กุด ด้านทิศตะวันออก ซึ่งขัดแย้งกับสถานที่พบซึ่งระบุในทะเบียนบัญชีของทางพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่า น่าจะเป็นข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เนื่องจากท่านเป็นผู้พบจารึกดังกล่าวด้วยตนเอง อีกทั้งเนื้อหาในจารึกก็มีความสอดคล้องกับโบราณสถาน คือ พระธาตุเจดีย์ที่วัดจามเทวี ต่อมา ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้ส่งรูปถ่ายของจารึกหลักนี้ไปให้ ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ (Robert Halliday) อ่านและแปลอีกครั้ง โดย ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ อ๊อตโต บล็ากเด็น (Charles Otto Blagden) อ่าน-แปลจารึกนี้อีกครั้ง และลงตีพิมพ์ในวารสารของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (BEFEO) ปีที่ 30 (EFEO : 1930) (พ.ศ. 2473) ซึ่ง ต่อมา ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปล และเรียบเรียงเป็นภาษาไทยลงในบทความชื่อ “ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 2, 3 และ 4” ใน วารสารโบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2515 โดยเรียกจารึกหลักนี้ว่า “จารึกวัดกู่กุฏ หรือ จามเทวี หลักที่ 1” ต่อมากรมศิลปากรได้ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกดังกล่าวลงในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมื่อ พ.ศ. 2522 โดยเรียกว่า “ศิลาจารึกมอญ วัดกู่กุด หรือวัดจามเทวี” และจารึกในประเทศไทย เล่ม 2 ในปี 2529 โดยให้ชื่อว่า “จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 วัดกู่กุด” จากนั้นมีการพิมพ์หนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 โดยในเล่มนี้ใช้ชื่อว่า “จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ (วัดกู่กุด)”

เนื้อหาโดยสังเขป

พระเจ้าสววาธิสิทธิโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์พระรัตนเจดีย์ซึ่งพังทลายลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหว มีการกล่าวถึงการสร้างบ่อน้ำในอารามโดยพระราชมารดา การถวายข้าพระ กัลปนาที่ดิน และสิ่งของต่างๆ อนึ่ง เจดีย์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณวัดจามเทวี จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ในบริเวณวัดแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชย 2 แห่งได้แก่ (1) รัตนเจดีย์ คือเจดีย์ ทรงปราสาท 8 เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐ มีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ (2) กู่กุด หรือ กู่กุฏิ คือเจดีย์ทรงปราสาท 4 เหลี่ยมซ้อนชั้น ลดหลั่นกัน 5 ชั้น ทุกชั้น มีพระพุทธรูปยืน ปางประทานอภัยประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ ด้านละ 3 องค์ รวม 60 องค์ บริเวณมุมประดับด้วยเจดีย์จำลอง (สถูปิกะ) ชื่อเจดีย์องค์นี้มีการสะกดแตกต่างกันไป โดย “กู่กุด“ หมายถึง เจดีย์ที่ไม่มียอด เหมือนรูปทรงของเจดีย์ดังกล่าวซึ่งยอดหักหายไปส่วน “กู่กุฏ” หมายถึง เจดีย์ที่มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป เจดีย์ทั้งสองมีรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะทวารวดี และพุกาม

ผู้สร้าง

พระเจ้าสววาธิสิทธิ

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรมอญโบราณ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรที่ปรากฏบนศิลาจารึก “มยเจดีย์” (Mayazedi) ของพระเจ้าจันสิตถา (Kyanzittha) (อักษรโรมัน Ky ในภาษาพม่าแทนเสียง /c/ ซึ่งเท่ากับ “จ” ในภาษาไทย) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 1628 และ 1630 ดังนั้นจารึกหลักนี้จึงน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นเดียวกัน ในการกำหนดอายุจารึกอักษรมอญโบราณนี้ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เคยแสดงความคิดเห็นไว้ในบทความ “Liste des Chroniques et autres Documents Relatifs a l'Histoire du Laos Yuen Conservés à la Bibliothéque Nationale de Bangkok” ในวารสารของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เล่มที่ 25 ค.ศ. 1925 ไว้ว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 แต่จากหลักฐานด้านต่างๆ ทั้งรูปอักษร และประวัติศาสตร์ศิลปะ ชี้ให้เห็นว่าน่าจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 อนึ่ง อาณาจักรพุกามมีการรับอิทธิพลด้านตัวอักษรไปจากมอญ เมื่อพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ทรงยกทัพไปตีเมืองสะเทิม (ถะทน หรือสุธรรมวดี) ซึ่งเป็นราชธานีของหัวเมืองมอญฝ่ายใต้สำเร็จ พระองค์ทรงกวาดต้อนผู้คน ช่างฝีมือ ตลอดจนภิกษุสงฆ์ และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในดินแดนดังกล่าวไปสู่พุกาม จึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมมอญแพร่หลายสู่พุกาม ทั้งนี้รวมไปถึงการใช้ตัวอักษรด้วย เรื่องการหยิบยืมตัวอักษรนี้ ศาสตราจารย์ เรอชินาล์ด เลอ เมย์ (Reginald Le May) กล่าวว่า พม่ารับวัฒนธรรมการเขียนหนังสือไปจากมอญ เมื่อราว พ.ศ. 1606 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าจันสิตถา พระมหากษัตริย์ผู้ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) นั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) George Cœdès, “Liste des Chroniques et autres Documents Relatifs à l’Histoire du Laos Yuen Conservés à la Bibliothéque Nationale de Bangkok,” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXV (1925) : 189-200.
2) Okell John, A reference grammar of colloquial Burmese (Oxford : Oxford University Press, 1969), 16.
3) Robert Halliday, “Les Inscriptions Môn du Siam,” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) : 6-105.
4) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “ศิลาจารึกมอญวัดกู่กุดหรือวัดจามเทวี,” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2522), 14-17.
5) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด),” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2533), 11-14.
6) เทิม มีเต็ม, “จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด),” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 123-126.
7) ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, “ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 2, 3 และ 4,” โบราณคดี 4, 2 (ตุลาคม 2515) : 163-168.
8) สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญไชย-ล้านนา (กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2538), 27-35.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-27, ไฟล์; LPh_0201_c1 และ LPh_0202_c)