จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกพ่อขุนรามพล

จารึก

จารึกพ่อขุนรามพล

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 11:19:25 )

ชื่อจารึก

จารึกพ่อขุนรามพล

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 285 จารึกพ่อขุนรามพล

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย, ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1890-1900

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวน 4 ด้าน มี 240 บรรทัด แต่ละด้านมี 60 บรรทัด (มีคำอ่าน-แปลเฉพาะด้านที่ 1 จารึกอีกสามด้านที่เหลือ อักษรลบเลือนมาก ยังไม่มีการอ่าน-แปล)

วัตถุจารึก

หินทรายหยาบสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

ทรงกระโจม 5 เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

สูง 154 ซม. แต่ละด้านกว้าง 10 ซม., 40 ซม., 11.5 ซม., 25 ซม. และ 25 ซม. มี 60 บรรทัดทุกด้าน

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นฐ. 12”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 กำหนดเป็น “หลักที่ 285 จารึกพ่อขุนรามพล”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 3-10.

ประวัติ

พิจารณาจากข้อความจารึกแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล เดิมเคยอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎหลักฐานว่าใครย้ายมาไว้ที่ระเบียงคต องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่เมื่อใด เดิมนายประสาร บุญประคอง ได้เคยทำแผ่นสำเนาจารึกหลักนี้ไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และได้ขึ้นทะเบียนวัตถุไว้ เลขที่ นฐ. 12 แต่สำเนาจารึกเลือนลางมาก ในครั้งนั้นนายประเสริฐ ณ นคร ได้อ่านในชั้นต้นแล้วได้ความแต่เพียงว่าเป็นจารึกตัวอักษรสมัยสุโขทัย และเป็นเรื่องการทำบุญ ครั้นเมื่อ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำริที่จะจัดพิมพ์ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ดร. ประเสริฐ ณ นคร จึงได้เสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบและได้พยายามอ่านข้อความจากสำเนาจารึกอีกครั้งหนึ่ง และพบว่ามีคำ พ่อขุนรามพล อยู่เป็นที่สนใจเป็นพิเศษ จึงมอบหมายให้นายเทิม มีเต็ม ไปอ่านตัวอักษรจารึกที่หลักศิลาจริง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม และ วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2534 ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบการถ่ายอักษรจารึกและการอ่านทั้งจากหลักศิลาจริง แผ่นสำเนากดทับ และภาพถ่ายประกอบกัน ข้อความจารึกที่นำมาลงพิมพ์ข้างท้ายนี้ เป็นผลมาจากการอภิปราย และความเห็นชอบตรงกันของผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกทั้งสองท่าน เมื่อตรวจสอบตามบัญชีศิลาจารึกต่างๆ ในภาคผนวกของ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 (พิมพ์ พ.ศ. 2467 และ พิมพ์ พ.ศ. 2521) นายเทิม มีเต็ม และ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ทั้งสองมีความเห็นว่า จารึกพ่อขุนรามพล น่าจะตรงกับจารึกจากอำเภอวังไม้ขร จังหวัดสวรรคโลก ซึ่งในบัญชีอยู่ในลำดับที่ 94 (ในเวลานั้น) ซึ่งเข้าใจว่าพบที่วัดมหาธาตุ เมืองเชลียง และมีจารึกอยู่ 3 ด้าน ด้านละ 60 บรรทัดเช่นกัน จารึกจากอำเภอวังไม้ขรหลักนี้ มีหลักฐานว่านำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ แต่เมื่อสอบถามดู ภัณฑารักษ์ก็ไม่ทราบและมีหลักฐานว่า ย้ายไปอยู่ ณ ที่ใดแล้ว ดังนั้นจึงใคร่สันนิษฐานว่า จารึกหลักวังไม้ขร หรือ จารึกพ่อขุนรามพล อาจจะถูกขนย้ายลงมาพร้อมกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ ภายหลังเมื่อย้ายพระร่วงโรจนฤทธิ์ไปประดิษฐานที่องค์พระปฐมเจดีย์ จารึกพ่อขุนรามพล ได้ถูกขนย้ายไปด้วยก็เป็นได้ ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล ได้ถูกย้ายจากระเบียงคตด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ เข้ามาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื่องจากจารึกนี้ทั้ง 4 ด้านที่มีคำจารึกอยู่นั้น อยู่ในสภาพที่ตัวอักษรเลือนหายไปมาก จึงทำให้อ่านได้เพียงด้านเดียว จึงได้ข้อมูลที่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้ทำให้สันนิษฐานในชั้นต้นว่า พ่อขุนรามพลอาจเป็นองค์เดียวกันกับพระยาราม อนุชาของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) (โปรดดู ศิลาจารึกหลักที่ 11) และพ่อขุนศรี อาจเป็นพระยางั่วนำถุมก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์อาจหมายถึงกษัตริย์คู่อื่นก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้คงต้องพิจารณาจากรายละเอียดที่อาจอ่านได้เพิ่มเติมในโอกาสข้างหน้า เนื้อความเท่าที่อ่านได้กล่าวถึงประวัติของกษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่งพระนามว่า “พ่อขุนรามพล” ด้วยข้อความที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงสันนิษฐานได้คร่าวๆ เพียงว่า ในปีระกา พ.ศ. 1888 พ่อขุนรามพลคงได้เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัยมาก่อน ต่อมามีพ่อขุนอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า พ่อขุนศรี อาจมาร่วมครองเมืองด้วย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีสวรรคต เมืองจึงตกเป็นของพ่อขุนรามพลเพียงผู้เดียว พ่อขุนรามพลน่าจะมีพี่หรือน้องชายอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งต่อมาทั้งสองพระองค์ คงจะร่วมกันปกครองเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย โดยพ่อขุนรามพลไปครองเมืองศรีสัชนาลัย

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกพ่อขุนรามพล ควรมีอายุก่อนหรือใกล้กับ พ.ศ. 1900 ทั้งนี้เนื่องจาก
(1) คำว่า “พ่อขุน” ซึ่งใช้เรียกกษัตริย์สุโขทัยก่อนปี พ.ศ. 1900
(2) สุโขทัยได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “พรญา (พระยา)” เรียกกษัตริย์แทนตั้งแต่ จารึกหลักที่ 3 พ.ศ. 1900
(3) “จารึกพ่อขุนรามพล” ไม่ได้ใช้ “ไม้หันอากาศ” ซึ่งเริ่มใช้ระหว่าง พ.ศ. 1902-1904 และ ยังใช้ตัวอักษรคล้ายกับ จารึกหลักที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวอักษร “ธ” และ “ฃ” เป็นรูปที่ใช้อยู่ก่อน พ.ศ. 1935

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, “บัญชีศิลาจารึกต่างๆ,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 171.
2) เทิม มีเต็ม และประเสริฐ ณ นคร, “หลักที่ 285 จารึกพ่อขุนรามพล,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 3-10.
3) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 11 ศิลาจารึกวัดเขากบ เมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 135-139.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534)