จารึกวัดบูรพาราม

จารึก

จารึกวัดบูรพาราม

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 14:49:45 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดบูรพาราม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

สท. 59, หลักที่ 286 จารึกวัดบูรพาราม

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศตวรรษ 20

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 115 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 59 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 56 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินชนวนสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

ลักษณะใบเสมา ส่วนล่างชำรุดหักหายไป

ขนาดวัตถุ

กว้าง 59 ซม. สูง 146 ซม. หนา 12 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 59”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2532) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกสุโขทัยหลักใหม่ : วัดบูรพาราม”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 กำหนดเป็น “หลักที่ 286 จารึกวัดบูรพาราม”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/302/2550”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

พระครูปลัดสนธิ จิตฺตปญฺโณ วัดศาลาครืน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 6 ตุลาคม 2566)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2532), 38-43.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 11-23.

ประวัติ

ศิลาจารึกวัดบูรพาราม พบที่จังหวัดสุโขทัย พระครูปลัดสนธิ จิตฺตปญฺโญ วัดศาลาครืน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรรับมาในวันดังกล่าว ด้วยมีพระราชประสงค์ให้จัดแสดงเพื่อการศึกษา ณ อาคารหอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 ว่าด้วยพระราชประวัติพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย นับแต่การประสูติ จบการศึกษาศิลปศาสตร์ การเสวยราชย์ การปราบดาภิเษก การขยายพระราชอาณาเขตไปยังทิศานุทิศ มีเมืองฉอด เมืองพัล ลุมบาจาย ยโสธร นครไทย เชียงดง เชียงทอง เป็นต้น จากนั้นกล่าวถึงสมเด็จมหาธรรมราชาธิราช เสด็จออกทรงผนวช และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1951 นอกจากพระราชประวัติ ยังได้กล่าวถึงสายสัมพันธ์ราชสกุลแห่งพระราชวงศ์ การประดิษฐานพระมหาธาตุใน “บูรพาราม” การสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา ท้ายของด้านที่ 1 นี้กล่าวถึง สมเด็จพระราชเทวีเจ้าทรงกัลปนาอุทิศบุณยโกฏฐาส เพื่อทรงอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแด่สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระศรีธรรมราชมาตาพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จปู่พระยา พ่อออก แม่ออก เป็นต้น ส่วนข้อความจารึกด้านที่ 2 กล่าวถึงพระเทวีสังฆมารดาและพระเทวี ร่วมกันบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวถึงพระราชประวัติพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงประสูติจากพระครรภ์พระศรีธรรมราชมารดา พระอัครมเหสีของ “สิริราชา” เมื่อเดือน 8 ศักราช 730 (พ.ศ. 1900)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ด้านที่ 1 มีศักราชปรากฏอยู่ 5 แห่ง ศักราช (จ.ศ.) 730-พ.ศ. 1911 ศักราช (จ.ศ.) 758-พ.ศ. 1939 ศักราช (จ.ศ.) 770-พ.ศ. 1951 ศักราช (จ.ศ.) 774-พ.ศ. 1955 ศักราช (จ.ศ.) 775-พ.ศ. 1956

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) เทิม มีเต็ม และคนอื่นๆ, “ศิลาจารึกสุโขทัยหลักใหม่ : วัดบูรพาราม,” ศิลปากร 33, 2 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2532), 38-43.
2) เทิม มีเต็ม และคนอื่นๆ, “หลักที่ 286 จารึกวัดบูรพาราม,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 11-23.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 8 กันยายน 2566