จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1

จารึก

จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2550 17:01:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 16:48:19 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลย. 3

อักษรที่มีในจารึก

ธรรมอีสาน, ขอมอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2106

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 54 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 28 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 26 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมาชำรุดแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ รวม 4 ชิ้น

ขนาดวัตถุ

กว้าง 50 ซม. ยาว 62 ซม. (วัดจากภาพสำเนาที่มีอยู่)

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลย. 3”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 กำหนดเป็น “จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1”

ปีที่พบจารึก

ประมาณ พุทธศักราช 2449

สถานที่พบ

เจดีย์ศรีสองรัก วัดพระธาตุศรีสองรัก ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

ผู้พบ

ม. ปาวี ชาวฝรั่งเศส

ปัจจุบันอยู่ที่

หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

พิมพ์เผยแพร่

จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 289-298.

ประวัติ

จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1 เป็นจารึกหลักจริงที่ ม. ปาวี ชาวฝรั่งเศส ขนย้ายไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ พ.ศ. 2449 สภาพจารึกชำรุดแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกัน 4 ชิ้น ทำให้มีข้อความขาดหายไปหลายช่วง และมีไม่ครบจบเรื่อง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้เดินทางไปสำรวจเอกสารโบราณในจังหวัดภาคอีสาน จึงทำให้มีโอกาสทราบว่า จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก หลักจริงนั้นอยู่ที่หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1 เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษา ประวัติ และวิวัฒนาการของอักษร ภาษา รวมทั้งประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยอยุธยาตอนต้น กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของเอกสารโบราณชิ้นนี้เป็นอย่างดี จึงได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหนังสือที่ ศธ 0709/27441 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2522 เพื่อขอให้จัดทำสำเนา หรือถ่ายภาพจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก และต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มีหนังสือ ที่ กต 0703/41633 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2523 นำส่งสำเนาภาพถ่ายจารึกจำนวน 2 ชุด รวม 4 แผ่น โดยกรมศิลปากร ต้องจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาจารึกนั้นเป็นเงิน 1,688 กีบ คิดเป็นเงินไทยในเวลานั้น 3,444.20 บาท สำเนาจารึกดังกล่าว เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ รับไว้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2523 การได้ภาพสำเนาจารึกวัดพระธาตุศรีสองรักครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบว่า อักษรในจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ด้านที่ 1 ใช้อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย เหลือเพียง 28 บรรทัด ส่วนด้านที่ 2 ใช้อักษรขอม ภาษาไทย เหลือเพียง 26 บรรทัด อักษรข้อความในจารึกตรงกันทั้ง 2 ด้าน เป็นการประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา กับ พระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งศรีสัตนาครหุต (ล้านช้าง) ซึ่งได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานว่า กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงรักและสนิทสนมกันตามนามของพระเจดีย์องค์นี้ อักษรสองแบบในจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1 บอกให้รู้ว่าความนิยมในการใช้รูปอักษรของสองอาณาจักรนี้ต่างกัน แม้จะมีภาษาไทยใช้ร่วมกันก็ตาม ด้านที่ใช้อักษรธรรมอีสานเป็นของฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต ส่วนด้านที่ใช้อักษรขอมเป็นของฝ่ายกรุงศรีอยุธยา อักษรทั้งสองรูปแบบสามารถนำมารวมไว้ในจารึกหลักเดียวกันได้ โดยมีภาษาไทยเป็นสื่อกลาง อีกทั้งจารึกข้อความตรงกันทั้งสองรูปแบบอักษร ลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในโลกเท่านั้น ยังบ่งบอกถึงอารยธรรม ความนิยมในการใช้รูปอักษรของอาณาจักรนั้นอีกด้วย

เนื้อหาโดยสังเขป

ในปี พ.ศ. 2103 มีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา กับ พระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ได้นิมนต์มหาอุบาลี มหาเถรวิริยาธิกมุนี และพระสงฆ์อีก 10 รูป พร้อมเชิญมหาอุปราชและเสนาอมาตย์ของทั้งสองอาณาจักร มาร่วมพิธีกระทำสัตยาธิษฐาน แล้วทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักไว้เป็นสักขีพยาน

ผู้สร้าง

พระไชยเชษฐาธิราช และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์

การกำหนดอายุ

ข้อความจารึกบรรทัดที่ 1 บรรทัดที่ 25 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2106 และด้านที่ 2 บรรทัดที่ 20 ระบุมหาศักราช 1485 อันเป็นสมัยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. 2093-2115) และสมัยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ปกครองราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2091-2111)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2550, จาก : -
1) เทิม มีเต็ม และก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1,“ ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 289-298.
2) ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 53 พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543), 105-111.
3) สิลา วีระวงส์, เรียบเรียง ; สมหมาย เปรมจิตต์, แปล, ประวัติศาสตร์ลาว, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มติชน, 2540), 84-106.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)