จารึกวัดอโสการาม

จารึก

จารึกวัดอโสการาม

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 12:53:05 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดอโสการาม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาไทย จากวัดอโสการาม สุโขทัย (ด้านที่ 1), ศิลาจารึก อักษรขอม ภาษามคธ จากวัดอโสการาม สุโขทัย (ด้านที่ 2), หลักที่ 93 ศิลาจารึกวัดอโสการาม, ศิลาจารึกวัดอโสการาม พุทธศักราช 1942, สท. 26

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย, ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1942

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 98 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 47 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 51 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินแปร

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 54 ซม. สูง 134 ซม. หนา 15 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 26”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2507) กำหนดเป็น “ศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาไทย จากวัดอโสการาม สุโขทัย” (ด้านที่ 1)
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2508) กำหนดเป็น “ศิลาจารึก อักษรขอม ภาษามคธ จากวัดอโสการาม สุโขทัย” (ด้านที่ 2)
4) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดเป็น “หลักที่ 93 ศิลาจารึกวัดอโสการาม”
5) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดอโสการาม พุทธศักราช 1942”
6) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น "99/301/2550"

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2498

สถานที่พบ

วัดสลัดได (ในจารึกปรากฏชื่อวัดอโสการาม) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 6 กันยายน 2566)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2507) : 61-66.
2) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2508) : 71-78.
3) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 41-56.
4) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 319-334.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ กองโบราณคดี กรมศิลปากร พบที่วัดสลัดได (ในจารึกปรากฏชื่อวัดอโสการาม) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2498 เดิมศิลาจารึกวัดอโสการาม เก็บรักษาและตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ต่อมาปี พ.ศ. 2515 นายนุ่ม อยู่ในธรรม อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร สั่งให้เจ้าหน้าที่นำศิลาจารึกวัดอโสการาม จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ลงมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิราวุธ (หอสมุดแห่งชาติเดิม) ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้อ่านจารึกทำการอ่าน และตรวจสอบเลขศักราชที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร, นายประสาร บุญประคอง, นายเทิม มีเต็ม ร่วมกันดำเนินการ

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 กล่าวถึงสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระอัครมเหสี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงมีพระราชศรัทธาประดิษฐานพระสถูปไว้ในวัดอโสการาม ด้านที่ 2 ท่านกวีราชบัณฑิตศรีธรรมไตรโลก ได้รจนาเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงการบำเพ็ญกุศลในวัดอโสการาม และการตั้งความปรารถนาเป็นบุรุษ ความเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยรูป ยศ และอายุของสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์

ผู้สร้าง

กวีราชบัณฑิตศรีธรรมไตรโลก

การกำหนดอายุ

ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-2 ปรากฏศักราช เป็นจุลศักราช 761 ตรงกับ พุทธศักราช 1942

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาไทย จากวัดอโสการาม สุโขทัย,” ศิลปากร 8, 2 (กรกฎาคม 2507) : 61-66.
2) ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านศิลาจารึก อักษรขอม ภาษามคธ จากวัดอโสการาม สุโขทัย,” ศิลปากร 9, 3 (กันยายน 2508) : 71-78.
3) ประสาร บุญประคอง, ประเสริฐ ณ นคร และแสง มนวิทูร, “ศิลาจารึกวัดอโสการาม พุทธศักราช 1942,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 319-334.
4) ประสาร บุญประคอง, ประเสริฐ ณ นคร และแสง มนวิทูร, “หลักที่ 93 ศิลาจารึกวัดอโสการาม,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 41-56.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 8 กันยายน 2566