จารึกนายศรีโยธาออกบวช

จารึก

จารึกนายศรีโยธาออกบวช

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 10:22:58 )

ชื่อจารึก

จารึกนายศรีโยธาออกบวช

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึก อักษรขอมโบราณ ภาษาบาลีและภาษาไทย, หลักที่ 86 ศิลาจารึกอักษรขอมภาษาบาลีและภาษาไทย, ศิลาจารึกนายศรีโยธาออกบวช พุทธศักราช 2071, สท. 28, ท. 40

อักษรที่มีในจารึก

ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 2071

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 77 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 39 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 38 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินชนวน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 26 ซม. สูง 89 ซม. หนา 12 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 28”
2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง กำหนดเป็น “ท. 40”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2506) กำหนดเป็น “ศิลาจารึก อักษรขอมโบราณ ภาษาบาลีและภาษาไทย”
4) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดเป็น “หลักที่ 86 ศิลาจารึกอักษรขอมภาษาบาลีและภาษาไทย”
5) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกนายศรีโยธาออกบวช พุทธศักราช 2071”

ปีที่พบจารึก

พ.ศ. 2505 นายจิตร พ่วงแผน ส่งสำเนาให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2505

สถานที่พบ

เจดีย์วัดโบสถ์ (วัดร้าง) อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

นายจิตร พ่วงแผน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2506) : 62-66.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 11-15.
3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 269-276.

ประวัติ

ศิลาจารึกนายศรีโยธาออกบวช เป็นแผ่นหินชนวน ลักษณะรูปใบเสมา จารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี และภาษาไทย จารึกเมื่อปีพุทธศักราช 2071 ศิลาจารึกหลักนี้พบที่วัดโบสถ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ปี พ.ศ. 2505 นายจิตร พ่วงแผน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความที่จารึกกล่าวถึง นายศรีโยธาถูกแมงคาเข้าหู แล้วป่วยจนไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ จึงได้อำลาพระญาศรีไสยรณรงค์สงครามออกจากราชการ แล้วออกบวชเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 868 และได้กล่าวถึงมหาสัทธาปุญโญขอทีดินจากพระญาศรีไสยรณรงค์สงคราม เพื่อสร้างอารามในตำบลพระศรีมหาโพธิ์ ต้นศรีมหาโพธิ์ดังกล่าวนี้ พระมหาสวามีอนุราชได้อัญเชิญมาแต่ลังทวีป ซึ่งปลูกไว้ในระหว่างกลางบ้านอ้ายรอกและบ้านมตเพ็ง นอกจากนี้แล้วยังได้กล่าวถึงการบำเพ็ญกุศลอื่นๆอีก

ผู้สร้าง

นายศรีโยธา

การกำหนดอายุ

มีศักราชบอกในด้านที่ 2 บรรทัดที่ 35-36 “…เมื่อต้องจารึกนี้ ชวดนักษัตรสัมฤทธิศก เดือน 12 แรม 8 ค่ำ วันพุธ…” ตรงกับ ปีชวด จุลศักราช 890 พุทธศักราช 2071

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ประสาร บุญประคอง, “ศิลาจารึกนายศรีโยธาออกบวช พุทธศักราชที่ 2071,” จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 269-276.
2) ประสาร บุญประคอง, “ศิลาจารึก อักษรขอมโบราณ ภาษาบาลีและภาษาไทย,” ศิลปากร 6, 6 (มีนาคม 2506) : 62-66.
3) ประสาร บุญประคอง, “หลักที่ 86 ศิลาจารึกอักษรขอมภาษาบาลีและภาษาไทย,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 11-15.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-18, ไฟล์; St_2801_c และ St_2802_c)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566