จารึกวัดพระยืน

จารึก

จารึกวัดพระยืน

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 18:41:31 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดพระยืน

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึกวัดพระยืน, หลักที่ 62 ศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน, ศิลาจารึกวัดพระยืน พ.ศ. 1913, ลพ. 38

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1913

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 81 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 40 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 41 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินดินดาน หรือหินชนวนสีเทา?

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 55 ซม. สูง 90 ซม. หนา 10.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลพ. 38”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2500) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดพระยืน”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น “หลักที่ 62 ศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน”
4) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดพระยืน พ.ศ. 1913”
5) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กำหนดเป็น “จารึกวัดพระยืน”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2457

สถานที่พบ

วัดพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ผู้พบ

หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2500) : 61-69.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 135-144.
3) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533), 78-80.
4) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 92-101.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล ทรงส่งสำเนาจารึกมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ต่อมา กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้อ่านจารึก แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ คือ นายฉ่ำ ทองคำวรรณ กับ นายประสาร บุญประคอง เดินทางไปที่จังหวัดลำพูน ทำการอัดสำเนาจารึก เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2500 ศิลาจารึกวัดพระยืน เป็นหลักฐานทางเอกสารอันสำคัญ และเป็นศิลาจารึกหลักเดียวเท่านั้น ที่บ่งบอกการแผ่อิทธิพลของอักษรสุโขทัย เข้าไปสู่อาณาจักรล้านนาไทย ในรัชสมัยของพระเจ้ากือนา โดยพระสุมนเถระ พระภิกษุสุโขทัย เป็นผู้นำขึ้นไป ในชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งแปลโดย ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ได้กล่าวถึงการมาเมืองเชียงใหม่ของพระสุมนเถรว่า ครั้งเมื่อพระเจ้ากือนากษัตริย์แห่งล้านนามีความ ปรารถนาใคร่ได้พระภิกษุ อันอาจมาเพื่อจะกระทำสังฆกรรมทั้งปวง มาไว้ในเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ (เชียงใหม่) จึงได้ส่งราชทูตไปยังสำนักแห่งพระครูอุทุมพรมหาสามี ในรามัญประเทศ เพื่อขอพระภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อพระอานนท์ภิกษุซึ่งเป็นศิษย์ พระเจ้ากือนาทรงมีความยินดียิ่ง และปฏิบัติพระอานนท์เป็นเจ้าด้วยจตุปัจจัย แต่พระอานนท์ยังไม่ได้ปรารถนาเพื่อจะกระทำสังฆกรรมมาก่อน เพราะพระครูยังไม่ได้อนุญาต จึงบอกให้พระเจ้ากือนานิมนต์พระสุมนเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์แห่งตนจากเมืองสุโขทัย พระเจ้ากือนาจึงส่งราชทูตไปสุโขทัย เพื่อนิมนต์พระสุมนเถระจากพระยาลิไทย ซึ่งพระองค์ก็ให้พระสุมนเถระนั้นไป และได้นำเอาพระบรมธาตุไปสู่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ เมื่อพระสุมนเถระออกจากเมืองสุโขทัย และไปจำวัดในที่ใด พระบรมธาตุก็บังเกิดพระรัศมีเป็นอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้าก็อุปัฏฐากบูชาพระบรมธาตุ ด้วยความเคารพเป็นอย่างดี ฝ่ายพระเจ้ากือนามหากษัตริย์ โปรดให้สร้างพระพุทธรูป 4 องค์ไว้ในพระมหาวิหารใหญ่ ด้านทิศบูรพาแห่งเมืองหริภุญชัย ในศักราช 731

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความที่จารึก คำขึ้นต้นของจารึกด้านที่ 1 บรรทัดแรก เป็นคำนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยภาษาบาลี ข้อความต่อจากนั้นไปเป็นภาษาไทย กล่าวถึงพระนามกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายบางพระองค์ ได้กล่าวถึงมูลเหตุที่ไปอาราธนาพระสุมนมหาเถร จากนครสุโขทัย มาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังล้านนา ในปี พ.ศ. 1912 และได้นิมนต์ท่านมาอยู่ที่วัดพระยืน ในหริภุญไชยนคร คือ จังหวัดลำพูน และได้กล่าวสรรเสริญเกียรติคุณแห่งพระมหาเถร ด้านที่ 2 กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดพระยืน รวมทั้งพระเจดีย์ที่มีพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชย ประดิษฐานประทับยืนอยู่ในซุ้มคูหา

ผู้สร้าง

พระเจ้ากือนา

การกำหนดอายุ

ในด้านที่ 2 บรรทัดที่ 19 “…ปีจอ…” ตรงกับ จ.ศ. 732 (พ.ศ. 1913)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศมส., 2546, จาก :
1) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม, และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “จารึกวัดพระยืน,” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2533), 78-80.
2) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “ศิลาจารึกวัดพระยืน พุทธศักราช 1913,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 92-101.
3) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “หลักที่ 62 ศิลาจารึกวัดพระยืน,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 135-144.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 8 กันยายน 2566