บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 83 บทความ

เยาวราช: คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม

22 มีนาคม 2556

หากพูดถึงเยาวราช หลายคนจะนึกถึงภาพบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยสินค้าและผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลสารทจีน หรือตรุษจีน ตลาดเก่าเยาวราชจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ รวมไปถึงกระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป เทียน เพื่อเตรียมการสำหรับพิธีไหว้บรรพบุรุษ ในยามค่ำคืน ถนนสายเยาวราชยังเต็มไปด้วยกลิ่นคละคลุ้งของอาหารหลากชนิด หลากรสชาติ ที่ตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวของถนนสายนี้ ตั้งแต่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะปลา ลูกเกาลัค จนถึงหูฉลาม รังนก ไก๋ตุ๋นยาจีนในภัตตาคารอันหรูหรา ทำให้ถนนสายเยาวราชแห่งนี้มีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชื่นชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบเดินไป ชิมไปได้เป็นอย่างดี นอกจากถนนสายเยาวราชจะเป็นย่านธุรกิจที่มีเงินไหลเวียนเข้าออกอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวันแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังถือเป็นชุมชนที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อาศัยมากที่สุด ตั้งแต่การอพยพมาจากโพ้นทะเลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่โดดเด่น ต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่นในเมือง อีกทั้งการรวมกลุ่มในรูปขององค์กรการค้า และองค์กรทางสังคม โดยผ่านแซ่ ผ่านความเป็นท้องถิ่นเดียวกัน ผ่านสำเนียงพูด ผ่านองค์กรการกุศล ทำให้คำสั่งสอน ความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียม พิธีปฏิบัติถูกถ่ายทอดมายังชนรุ่นหลังรุ่นแล้วรุ่นเล่า วัดจีนและศาลเจ้าจีนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่พึ่งด้านจิตใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันทางสังคม ของชาวจีน โพ้นทะเลที่อพยพเข้ามา ตลอดรวมถึงเป็นองค์กรการกุศลสงเคราะห์ ที่ช่วยเหลือคนยากจนและผู้ประสบภัยต่างๆ ดังเช่น มูลนิธิเทียนฟ้า ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 227 สามารถดำรงอยู่ได้จากการบริจาคของพ่อค้า นักธุรกิจ รวมทั้งยังเปิดเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย ทั้งทางแผนจีนและแผนปัจจุบัน อนึ่ง การเกิดขึ้นของศาลเจ้ายังแฝงไปด้วยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่ถูกเล่าขานและปฏิบัติต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้า การกราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข การกราบไหว้บูชาเทพทั้งหลาย ตลอดจนเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในการบูชา แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมาย นอกจากนี้ผลงานทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมได้สะท้อนพื้นฐานทางความเชื่อ และความเชื่อมโยงสอดคล้องกับตำนานในประวัติศาสตร์ของชาวจีน หากพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของ UNESCO แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนย่านเยาวราชถือเป็นชุมชนที่มีคุณค่ามากมายในหลายแง่มุม อันได้แก่ คุณค่าทางวัตถุ (Materialistic Value) ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมายผ่านทางวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นมังกรเป็นตัวแทนของความเป็นชาย โคมไฟสื่อถึงแสงที่ส่องสว่างในการส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Value) หลักฐานจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยริมถนนและในตรอกซอกซอยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเสื่อผืนหมอนใบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีระยะเวลายาวนานนับร้อยปี คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึก (Spiritual Value) ซึ่งปรากฏในคำสั่งสอนและการปฏิบัติที่มีสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้ชาวจีนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ มีความกตัญญู รู้คุณคน ขยัน พากเพียร หนักเอาเบาสู้ ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Value) และ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ที่ดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ถูกถ่ายทอดผ่านช่าง และศิลปินที่บรรจงสร้างงานศิลปะต่างๆ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม (Culture Value) ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดออกมาผ่านธรรมเนียม ปฏิบัติ รวมถึงคติธรรม คำสอน การใช้ชีวิตประจำวันที่ยึดถือกันมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพื่อลูกหลานได้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นชุมชนเยาวราช จึงถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม โดยสะท้อนผ่านทางธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี พิธีกรรม คำสอน ความเชื่อต่างๆ สถาปัตยกรรม ฯลฯ การเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นศูนย์รวมอีกจุดหนึ่งที่แสดงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ดั่งคำที่ว่า "สายสัมพันธ์ไทยจีน ถิ่นการค้าร่วมสมัย ไชน่าทาวน์เมืองไทย แหล่งประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจใหญ่รัตนโกสินทร์" จากการพูดคุยกับคุณรณวัฒน์ เอมะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร คุณปรีดา ปรัตถจริยา และคุณปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ วิทยากรชาวจีนในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ และความพร้อมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทำให้ยังคงมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ด้านงบประมาณบริหารจัดการ กิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดและจัดแสดงเรื่องราวในอดีตได้เพียงบางส่วน แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือชาวจีนในเยาวราชได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอด เรื่องราวในอดีตเพื่อเป็นเนื้อหาของนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ มิเพียงเท่านั้น คุณค่าทางวัฒนธรรมและความรู้นั้น ยังคงแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอย ในที่ต่างๆ ของย่านเยาวราช ตลอดรวมถึงผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีก็คือ ผู้คนที่อยู่ในชุมชนที่สืบทอดความรู้ ความเชื่อ ผ่านการบอกเล่าและการกระทำกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เรื่องที่น่ายินดีสำหรับพิพิธภัณฑ์ก็คือ ชาวจีนเยาวราชมีความตั้งใจที่จะร่วมบริจาคเงินก้อนใหญ่ในการขยาย "พิพิธภัณฑ์เยาวราช" ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องราวของชาวจีนต่อไปในอนาคต ปัจจุบันแม้เยาวราชจะเป็นถนนที่ทุกคนรู้จักกันดี มีความรุ่งเรืองทางด้านธุรกิจ การค้า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนที่เกิดจาก การถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนนั้นทรงคุณค่า แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างกำลังจะจางหายไป หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย การอนุรักษ์ รักษาศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อการเรียนรู้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างคุณค่า ความหมาย และความงาม เพื่อสืบสานให้แก่ชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เอกสารและหนังสืออ้างอิง ต้วนลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ . (2543). ความเป็นมาของวัดจีนปละศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา : กรุงเทพ ฯ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2540). "การรวมกลุ่มของจีนสยาม".ศิลปวัฒนธรรม , ปีที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ หน้า 104 - 109. * กุมารี ลาภอาภรณ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล  

วัตถุชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น มีค่าควรศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อเป็นต้นทุนทางความรู้ของพิพิธภัณฑ์

22 มีนาคม 2556

ถ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแล้ว หัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ก็คงจะไม่พ้น "เรื่องราว" ของโบราณวัตถุ หรือ สิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง "เรื่องราว" ที่ผมกล่าวถึงนี้ ก็คือ "ความรู้ที่เราได้รับจากตัววัตถุ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นมาว่ามาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้อย่างไร มีประโยชน์หรือหน้าที่การใช้สอยอย่างไร หรือ ความสำคัญของวัตถุชิ้นนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร เป็นต้น ถ้าพิพิธภัณฑ์ปราศจาก "เรื่องราวของวัตถุที่จัดแสดงแล้ว" การเดินเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ก็คงไม่ต่างไปจากการเดินเข้าไปในสวนสาธารณะ ที่ไม่มีป้ายบอกชื่อต้นไม้ เพราะท่านจะได้แต่ความรื่นรมย์ กับบรรยากาศกับความสวยงามของดอกไม้เท่านั้น แต่ท่านจะไม่ได้ความรู้กลับไปเลยว่า ดอกไม้สวยๆ เหล่านั้น ชื่อดอกอะไรกันบ้าง ในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งสิ่งของจัดแสดงอย่างเดียว โดยไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ เลย ท่านก็จะได้แต่ชื่นชมว่า สิ่งของเหล่านั้น "สวย" หรือ "แปลก" แต่จะไม่ได้ความรู้กลับไปประดับสมองเลย คำเปรียบเปรยที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ถึงพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวก็คือ "โกดังเก็บของ" ซึ่งผมคิดว่า ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ก็คงจะไม่มีใครชอบคำนี้กันนัก ดังนั้น เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยน "โกดังเก็บของของชุมชน" ให้กลายเป็น "พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ของชุมชน" ได้ ผมเข้าใจว่า ปัจจัยที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นถูกมองว่าเป็นโกดังเก็บของก็คงเป็นเพราะ การขาดการศึกษาสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ของตนเองอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ปัญหาหลักๆ น่าจะมาจาก     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และขาดทักษะในการหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ไม่มีเวลาในการดำเนินการศึกษาข้อมูล     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ขาดแคลนทุนทรัพย์     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ขาดที่ปรึกษาทางวิชาการ     ในเมื่อ "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" นั่นคือ มนุษย์อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับมนุษย์คนอื่นๆ จึงจะมีชีวิตยืนยาว ในทางเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นองค์กรสังคม" กล่าวคือ ถ้าจะให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่อย่างยั่งยืน เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแล้วนั้น ตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ต้องมีการติดต่อสื่อสาร และมีกิจกรรมร่วมกันกับองค์กรในท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัด และ อบต. โดยแนวทางการทำงานอาจพิจารณาถึง     - ความร่วมมือกับครูหรืออาจารย์ในท้องถิ่นในการศึกษาข้อมูลของวัตถุต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ฅ     - การหาอาจารย์หรือนักวิชาการมาเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่สื่อสารกับผู้ชมได้ง่าย     - ความร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่นในการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวมความรู้ในท้องถิ่น สำหรับให้นักเรียนมาเรียนมาศึกษา     - ความร่วมมือกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ในท้องถิ่น รวมไปถึง อบต. ในการจัดหาทุนเพื่อการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ แล้วจำเป็นด้วยหรือ ที่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นหน้าที่ของผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว ? คำตอบคือ ในช่วงแรกๆ นั้น ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์อาจจะต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยตัวเองไปก่อน ต่อมาเมื่อสามารถสร้างเครือข่ายกับชุมชนได้แล้ว ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์อาจรับสมัครเด็กนักเรียนที่สนใจในงานพิพิธภัณฑ์มาเป็นผู้ช่วยก็ได้ โดยอาจแบ่ง "เงินทุนเพื่อการดำเนินการพิพิธภัณฑ์" มาเป็นเงินเดือนให้แก่ผู้ช่วยในอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติอย่างกว้างๆ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในทางปฏิบัติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคล และองค์กรหลายฝ่าย ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน กว่าทุกอย่างจะลงตัว เพราะความร่วมมือเหล่านี้จะเกิดได้จาก จิตสำนึกของชุมชนที่มีต่อการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม แต่สำหรับสิ่งที่ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์สามารถลงมือทำได้ทันทีนั้น คือการ "ลงมือศึกษาวัตถุ" ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ "วัตถุทุกชิ้น ต่างก็มีเรื่องราวของตัวเอง ที่พร้อมให้ความรู้แก่ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์และผู้ที่เข้าชม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์จะสามารถ ค้นหามุมมองที่น่าสนใจในตัววัตถุเหล่านั้นพบได้หรือไม่" ยกตัวอย่างเช่น วัตถุที่มักจะถูกละเลย แต่สามารถพบได้โดยทั่วไปตามพิพิธภัณฑ์วัดบางแห่งคือ เครื่องมือหินขัดก่อนประวัติศาสตร์ ซากสัตว์ต่างๆ หรือ เหรียญกษาปณ์และธนบัตรเก่าๆ ของประเทศไทย หรือของต่างประเทศ หรือแม้แต่สมุดไทย ใบลานต่างๆ เป็นต้น สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาศึกษาขยายเนื้อหาเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนในชุมชนได้ทั้งสิ้น สำหรับในบทความนี้ ผมขอยกตัวอย่างการศึกษาซากสัตว์ประเภทกะโหลกควาย ว่าสามารถให้ความรู้อะไรกับเราได้บ้าง และจะจัดแสดงให้ผู้ชมรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของควายที่มีต่อพัฒนาการของวัฒนธรรมอย่างไร ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จัดโดยวัดอยู่หลายแห่ง และพบว่ามีอยู่หลายแห่งทีเดียว ที่มีกะโหลกควายแขวนอยู่ เสมือนเป็นเครื่องประดับตกแต่งพิพิธภัณฑ์มากกว่า ที่จะเป็นสิ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้าชม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์เอง ก็ไม่รู้ว่าจะเอากะโหลกควาย มาเสนออะไรให้เป็นความรู้แก่ผู้เข้าชม เพราะดูเหมือนว่ากะโหลกควาย จะไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มกับโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้ โดยทั่วไป "ซากสัตว์" มักจะเป็นวัตถุดิบในการจัดแสดงเนื้อหาทาง "ธรรมชาติวิทยา" ซึ่งเป็นการศึกษาแต่เพียงว่าสัตว์เหล่านั้น ชื่ออะไร มีถิ่นฐานอยู่ที่ไหน มีประโยชน์อย่างไรกับมนุษย์ ถ้าสัตว์ชนิดนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์แล้ว เราก็อาจจะนำเสนอเนื้อหาที่เน้นความสำคัญของสัตว์ชนิดนั้น ที่มีต่อมนุษย์ตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันก็ได้ด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้ กะโหลกควาย ก็อาจจำแนกเนื้อหาออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนข้อมูลทั่วไป ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับควาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างลักษณะ นิสัย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และอายุขัย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของคำว่า "ควาย" และ "กระบือ" ว่ามีที่ไปที่มาจากภาษาอะไร จากนั้น อาจเป็นเรื่องราวของควาย ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงรูปธรรม เช่น ใช้เป็นแรงงานในการทำการเกษตรกรรม โดยอาจอ้างอิงจากแหล่งโบราณคดีที่พบว่ามีการใช้แรงงานของควายในการทำการเกษตรกรรม จนกระทั้งถึงรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาใช้กับควายในการไถนาที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หรือ อีกแนวทางหนึ่งก็อาจนำเสนอเกี่ยวกับควายที่มีปรากฎในงานวรรณกรรมก็ได้ เช่น ทรพี-ทรพา ในเรื่องรามเกียรติ์ หรือ ทำไมเราจึงเลือก "ควาย" มาเป็นตัวแทนของ "ความโง่" ทั่งๆ ที่ควายมีคุณอนันต์ต่อคนไทยมากนัก เหล่านี้เป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่มีกะโหลกควายแขวนประดับอยู่ น่าจะลองนำไปค้นคว้ากันดู ผมมองว่ามี 2 แนวทางในการสร้างเรื่องราวคือ (1) เขียนเรื่องราวโดยอาศัยการค้นคว้าจากตำราต่างๆ ซึ่งก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือ หรือ ตามห้องสมุด วิธีนี้จะเป็นการฝึกฝนให้ผู้จัดพิพิธภัณฑ์รู้จัก ที่จะค้นคว้าข้อมูลไปด้วยในตัว ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อไป ในการศึกษาเรื่องราวส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน และ (2) ถ้าไม่รู้จะหาตำหรับตำราได้จากที่ไหน ก็อาจเขียนในเฉพาะส่วนที่ตนเองรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวข้องกันระหว่างควายกับคนในท้องถิ่น กล่าวคือ เป็นการบรรยายความผูกพันระหว่างผู้เขียน กับวิถีชีวิตในชนบทที่ต้องอาศัยควายในการดำเนินชีวิต ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องราวในอดีต หรือปัจจุบันของผู้เขียนก็ได้เช่นกัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะยั่นยืนได้นั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดทำพิพิธภัณฑ์จะต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าสิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของตนเป็นเบื้องต้น ถูกผิดไม่เป็นไร แต่ขอให้ลงมือค้นคว้า ถ้ามีข้อผิดพลาด ผู้รู้ที่มาพบเข้าก็จะช่วยแก้ไขให้ ที่สำคัญท่านสามารถส่งเรื่องราวที่ท่านค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ของท่านมายังจุลสารฯ "ก้าวไปด้วยกัน" ได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ของท่าน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของเรา ได้มีโอกาสได้สัมผัสความรู้จากท่าน หรือ ถ้ามีความรู้ด้านใดที่ท่านยังไม่ได้ศึกษา หรือ ตกหล่นไป พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ก็จะสามารถช่วยเหลือท่านโดยการแนะนำได้ อันถือเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกันและกัน     ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ** บทความนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม - กันยายน 2548 หน้า28-33.  

บทสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในพิพิธภัณฑ์และการอนุรักษ์วัตถุสะสมของกลุ่มชนพื้นถิ่น

22 มีนาคม 2556

    บทคัดย่อ - พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาวัตถุจากกลุ่มชนพื้นถิ่นกำลังเปลี่ยนบทบาทและทิศทางไปพร้อมกับชุมชนที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมายถึงวิถีการทำงานใหม่ในพิพิธภัณฑ์ และหมายถึงข้อเรียกร้องใหม่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัตถุสะสม ผู้เขียนได้วิเคราะห์เหตุผลความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนข้อท้าทายใหม่ๆ ในจริยธรรม การปฏิบัติ คุณค่าของการอนุรักษ์ และข้อท้าทายเช่นนี้ยังส่งผลต่อความเป็นจริงของการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้สรุปว่า ข้อท้าทายส่งอิทธิพลต่อบทบาทและทัศนะของนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ การมองว่าสิ่งใดสำคัญต่อการอนุรักษ์ ใครควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และจะปฏิบัติการอย่างไร     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์     ในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย บริบทพิพิธภัณฑ์ที่มีนักอนุรักษ์วัตถุชาติพันธุ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมวัตถุจากชุมชนคนพื้นถิ่นในบริเวณพื้นที่ที่สัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการนำเสนอวัฒนธรรมทางวัตถุเป็นสถานที่ของการนำเสนอวัฒนธรรมที่มีชีวิต ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นการเอื้อให้เกิดการนำเสนอวัฒนธรรมโดยเจ้าของวัฒนธรรมทางวัตถุเอง     เป็นที่ทราบกันดีว่า พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาทำหน้าที่ในการอนุรักษ์และจัดแสดงวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่มากในงานพิพิธภัณฑ์คือ บทบาทของกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมที่มีต่อโครงสร้างอำนาจเดิมซึ่งพิพิธภัณฑ์เคยมี แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ในการทำงานระดับโครงการเฉพาะ เช่น การจัดนิทรรศการหรือการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมคืนต่อชุมชน มากกว่าที่จะเป็นการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ชนพื้นถิ่นมีโอกาสทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ และกลายเป็นคนในระบบงานพิพิธภัณฑ์ ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจและการควบคุมการนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาในขบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ชนพื้นถิ่น (First Nations) กลายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชนอเมริกันอินเดียน และสถาบันอื่นๆ ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นทั่วอเมริกาเหนือและนิวซีแลนด์ ฉะนั้น ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีโอกาสมากขึ้นที่จะสัมผัสเสียงของสมาชิกของวัฒนธรรมพื้นถิ่นหนึ่งๆ มิใช่การรับรู้เพียงเสียงจากอดีตหรือจากความรู้วิชาการของภัณฑารักษ์ที่มิใช่ชนพื้นถิ่น     เมื่อพิจารณาจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาในประเทศหนึ่ง (หรือระดับจังหวัด รัฐ หรือภาค) ในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นเป็นผู้เก็บรวบรวมวัตถุเอง เราควรทบทวนขนบในการมองพิพิธภัณฑ์ได้แก่ "พิพิธภัณฑ์ วัตถุ และการเก็บสะสม" (Pearce 1992) มาเป็นการมองเจ้าของวัฒนธรรมวัตถุเหล่านั้นด้วย (originators of the object) (Ames 1992) ในขณะเดียวกัน แนวทางการทำงานใหม่เริ่มก่อตัวในพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องหรือความต้องการใหม่ๆ เข้ามาสัมพันธ์กับวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การปรึกษาหารือหรือการต่อรองกับตัวแทนของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม หรือการขอคำแนะนำจากคณะกรรมการหรือกลุ่มผู้สูงวัยเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมที่หมายรวมถึงการส่งสมบัติทางวัฒนธรรมคืน การยืมสิ่งของเพื่องานพิธีกรรม การจัดเก็บหรือการจัดแสดงที่คำนึงถึงความรู้สึกทางวัฒนธรรม การจัดพิธีกรรมในพิพิธภัณฑ์ และการปฏิบัติต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงทางจิตใจด้วยธรรมเนียมอันเหมาะสม และการจับต้องวัตถุสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้มาจากประเด็นสิทธิชนพื้นถิ่นและความเป็นเจ้าของ และการควบคุมว่าสิ่งใดเป็นหรือเคยเป็นของพวกเขา เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้รับการพิจารณาใหม่ในศาลและความคิดเห็นสาธารณะในหลายประเทศ     ทิศทางใหม่ของพิพิธภัณฑ์ส่งผลต่องานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงบางประการกระทบต่อความคิดพื้นฐานงานอนุรักษ์ ที่ได้พัฒนาและสืบทอดงานพิพิธภัณฑ์วิทยาเดิม บทความนี้จะเน้นข้อท้าทายสำหรับนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ เมื่อข้อคำนึงทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เชิงกายภาพของวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาทำงานอยู่     ความเปลี่ยนแปลงในฐานะความท้าทายต่อการอนุรักษ์     งานอนุรักษ์พัฒนาเป็นสายงานเฉพาะ โดยเน้นไปที่การอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพของวัฒนธรรมทางวัตถุ ลักษณะหนึ่งของสายงานคือ ผู้ปฏิบัติจะยึดมั่นในงานที่ทำและ "ลูกค้า" ที่เขาจะต้องให้บริการ การยึดมั่นต่อความคิดดังกล่าวบางครั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงาน นักอนุรักษ์บางคนเห็นว่าวัตถุเป็นเสมือนลูกค้าคนสำคัญ ดังคำกล่าวที่ว่า "ความซื่อสัตย์ของเราไม่ได้เป็นของสถาบัน องค์กร หรือเพื่อร่วมงาน แต่เป็นของวัตถุที่เฉพาะและไม่สามารถหาทดแทน วัตถุซึ่งกุมเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความต้องการ (Pearce 1992, 2) สำหรับพิพิธภัณฑ์แล้ว แนวคิดพื้นฐานที่มองความสำคัญของการอนุรักษ์ของชนพื้นถิ่น ด้วยการสนับสนุนต่อการแสดงความหมายที่มีชีวิต (living expression) มากกว่าการมองไปที่การอนุรักษ์วัฒนธรรมทางวัตถุ แนวคิดดังกล่าวถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างลุ่มลึก นักอนุรักษ์บางคนที่มีประสบการณ์อาจมองว่า เป็นความเสี่ยงต่อวัตถุเพื่อจะรับใช้คนในปัจจุบัน     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้แสดงให้เห็นข้อท้าทายต่อการอนุรักษ์ตามประเพณี ซึ่งพอจะแบ่งเป็นประเด็นดังนี้     1.วิธีการและข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ในฐานะการปฏิบัติเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา การสร้างคลังที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหมายถึงการมีพื้นที่ที่อากาศจากภายนอกและแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ชาวเมารีจะนำใบไม้สดวางบนวัตถุหรือแท่นจัดแสดงสำหรับเหตุผลทางวัฒนธรรรมที่เกี่ยวโยงกับการรำลึกถึง     2. จริยธรรมของการอนุรักษ์ จะเป็นความถูกต้องหรือไม่ที่งานสายอาชีพอนุรักษ์ที่จะต้องยึดมั่นต่อจรรยาบรรณ จะต้องเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุเพื่อเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหมายเชิงวัฒนธรรม เช่น ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาช่วยสนับสนุนในขบวนการสร้างข้อตกลงสำหรับการยืมหน้ากากและตระกร้าที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์และเจ้าของวัฒนธรรม จุดประสงค์สำคัญเป็นไปเพื่อให้การยืมเป็นข้อคำนึงสูงสุด แม้ว่าการยืมนั้นจะรวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสวมใส่ หยิบจับ หรือการขนส่งภายใต้สภาพการขนส่งและสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ก็ตาม     3. สิทธิอำนาจของนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในคลัง การครอบครอง และการดูแลกายภาพวัตถุของพิพิธภัณฑ์ สิทธิอำนาจของชนพื้นถิ่นมีมากขึ้นและส่งอิทธิพลต่อประเด็นที่กล่าวมา ข้อท้าทายนี้เป็นหนึ่งในข้อท้าทายสิทธิอำนาจของพิพิธภัณฑ์โดยองค์รวม     4. วิถีการทำงานของนักอนุรักษ์ นักอนุรักษ์ในอเมริกาเหนือ ซึ่งต่างไปจากนักอนุรักษ์นิวซีแลนด์ โดยปกติแล้วจะไม่เริ่มต้นการอนุรักษ์โดยปราศจากวิธีการที่เหมาะสม และคำปรึกษาของเจ้าของวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิหรือมีข้อคำนึงทางวัฒนธรรม     ประเด็นทั้งสี่ประเด็นนี้ส่งผลต่อการปฏิบัติของนักอนุรักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ส่งผลต่อกรอบการมองงานอนุรักษ์ ข้อเรียกร้องจากชนพื้นถิ่น และพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถานที่รับใช้ต่อชุมชนหรือเจ้าของวัฒนธรรม ท้าทายต่อกรอบความคิดเดิมที่วางเอาไว้ว่า พิพิธภัณฑ์คืออะไร กรอบความคิดเหล่านี้เน้นถึงสมมติฐานพื้นฐานของงานอนุรักษ์ เช่น คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุในลักษณะที่ออกไปจากวัฒนธรรมเดิม คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุโดยมองว่าเป็นองค์รวมของสิ่งของมากกว่าที่จะเป็นองค์รวมทางวัฒนธรรม ความสำคัญของการย้อนกลับมามองการผนวกระหว่างสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน การให้คุณค่ากับวิทยาศาสตร์ในฐานะหนทางแรกของการหาคำตอบเกี่ยวกับการเก็บ การดูแลรักษา และในบางกรณีการปฏิบัติการต่อวัตถุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อท้าทายต่อพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นบททดสอบกรอบความรู้งานอนุรักษ์ "ซึ่งเคยฝังแน่นอยู่ในผู้ปฏิบัติ" คำถามเหล่านี้จะทำให้เราเห็นว่าสิ่งใดสำคัญ ชอบธรรม และมีเหตุมีผล และสิ่งใดที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำต่อไป     คำถามต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นข้อขัดแย้งทางคุณค่าที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้         สิ่งใดที่ควรอนุรักษ์เมื่อมีเพียงลักษณะทางกายภาพของวัตถุที่ควรได้รับการอนุรักษ์เท่านั้น         ความสำคัญของวัตถุเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดในกรอบการทำงาน ไม่ใช่เป็นเพียงรูปลักษณ์ทางกายภาพ แนวคิดนี้ได้รับการขยายความโดยปรัชญา Mabel McKay ที่กล่าวไว้ว่า คนจักสานตระกร้าของชนเผ่า Pomo "ไม่สามารถแบ่งแยกทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัสดุที่เธอใช้จักสานออกไปจากการพูดถึงความฝัน การเยียวยา การทำนายทายทัก และกฎของเครื่องจักสานจากอดีต ด้วยเหตุนี้ สำหรับ Mabel แล้ว สิ่งที่กล่าวถึงจึงไม่สามารถที่จะแยกประเด็นทำความเข้าใจได้แต่อย่างใด" (Sarris 1993, 51)         ระบบคุณค่าของใครมีความสำคัญมากกว่ากัน         โดยปกติแล้ว พิพิธภัณฑ์นิยาม "ความสำคัญและลักษณะเฉพาะ" (AIC 1995, 23) ของวัตถุตามความหมายที่มาจากการวิจัยของภัณฑารักษ์สำหรับวัตถุที่บริบทต่างๆ ในระบบค่านิยมของพิพิธภัณฑ์ (หายาก สภาพ ของจริง ความสำคัญ และอื่นๆ) พิพิธภัณฑ์ "ชีวิต" ในช่วงหลังสมัยใหม่พยายามอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมเจ้าของวัตถุ (หรือเรียกได้ว่า เป็นไปตามข้อประนีประนอมทางวัฒนธรรมสำหรับวัตถุศักดิ์สิทธิ์หรือมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมบางประการ) ดังนั้น ในพิพิธภัณฑ์เช่นที่กล่าวมา ความต้องการทางวัฒนธรรมที่ต้องการใช้วัตถุสักชิ้น และการดูแลวัตถุด้วยความเหมาะสมทางวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับต้นๆ มากกว่ากระบวนการมาตรฐานงานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ นักอนุรักษ์ควรจะให้ความเคารพต่อความหมายทางวัฒนธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงาน และเรียนรู้วิธีการที่ Mabel McKay ดูแลเครื่องจักสานของเธอในลักษณะ "เธอบอกกับฉันถึงวิธีการหล่อเลี้ยงเครื่องจักสานด้วยการให้น้ำ 1 ครั้งต่อเดือน และเธอยังบอกกับฉันด้วยว่าจะต้องมีการสวด และเพลงใดบ้างที่จะต้องร้อง" (Sarris 1993, 61)? วิธีการปฏิบัติเช่นนี้ควรได้รับการบันทึกหรือเป็นความเหมาะสมทางวัฒนธรรมหรือไม่?         ควรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า นักอนุรักษ์ในที่นี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นงานสะสมที่มาจากหลายหลากชาติและเงื่อนไขในเรื่องเวลา งบประมาณ และระยะทาง เหล่านี้คือเงื่อนไขที่อาจจะไปด้วยกันได้ไม่ดีนัก พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องพิจารณางานพิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับชนพื้นถิ่น ในขณะเดียวกันกับการทำความเข้าใจต่อความต้องการและการตัดสินใจของชนพื้นถิ่น ที่ไม่ใช่เฉพาะความต้องการของพิพิธภัณฑ์ ควรเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การพิจารณาถึงนัยสำคัญของเครื่องจักสานมิได้มองเพียงแต่ว่าวัตถุนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือมีเรื่องที่ควรระวังทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาไปถึงพิธีกรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่านักอนุรักษ์จะตัดสินโดยอยู่บนพื้นฐานทางทฤษฎีหรือการปฏิบัติไปในลักษณะใด การตัดสินและกระบวนการจะสะท้อนว่านักอนุรักษ์สามารถผนวก "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแนวคิด" ได้หรือไม่ นั่นคือ คุณค่าของวัฒนธรรมโปโมที่นักอนุรักษ์ได้รับทราบ พร้อมไปกับการอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพ ที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของงานอนุรักษ์ที่นักอนุรักษ์ได้รับการถ่ายทอดมา         คุณภาพของวัตถุที่นักอนุรักษ์ต้องการรักษาและทำนุบำรุงมีความสอดคล้องต่อวัตถุนั้นหรือความสำคัญในคุณค่าทางวัฒนธรรมนั้นหรือไม่         จรรยาบรรณสำหรับนักอนุรักษ์ของรัฐในประเทศแคนาดากล่าวไว้ว่า "ทุกอย่างที่นักอนุรักษ์ทำต้องเป็นไปตามการเคารพต่อองค์รวมของสิ่งนั้น ทั้งลักษณะทางกายภาพ ประวัติศาสตร์ กรอบความคิด และความงาม (IIC-CG and CAPC 1989, 5) Guidance for Conservation Practice (1981) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า "การอนุรักษ์เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แท้จริงของวัตถุนั้น" (UKIC 1981, 1) ในกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ องค์รวมที่แสดงให้เห็นความจริงเกี่ยวกับวัตถุเป็นการคำนึงถึงสภาพปัจจุบันและวัสดุที่ใช้ทำ และรวมถึงเวลาและเครื่องหมายบางอย่าง โดยปกติ การให้เหตุผลของภัณฑารักษ์เกี่ยวกับองค์รวมจะเน้นที่หลักฐานทางกายภาพที่ปรากฏในหรือบนวัตถุพอๆ กับงานบันทึก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าองค์รวมสาระสำคัญอยู่ที่การตีความมากกว่าคุณลักษณะที่ยึดติดกับตัววัตถุ ตัวอย่างเช่นข้อเท็จจริงที่มีการพิสูจน์ถึงเวลาและร่องรอยไม่ใช่ความจริงที่สำคัญกับตัววัตถุ ความหมายของวัตถุจึงไม่ปรากฏหากปราศจากการตีความ (Handler 1992; Pearce 1992) การตีความหมายถึงการเพิ่มเติมคุณค่าทางวัฒนธรรม และผลของการตีความปรากฏในฐานะของความจริง         ตัวอย่างต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นความคิดดังกล่าว ในปี 1993 พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัย บริติชโคลัมเบีย (MOA) ยินยอมให้ครอบครัวของชนพื้นถิ่นครอบครัวหนึ่งยืมหน้ากากเพื่อใช้ในพิธีพอทแลท์ช เพราะวัตถุนั้นๆ มีความแข็งแรงและมีอายุตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นกลุ่มวัตถุที่มาจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือเดียวกัน และมีสภาพที่ใช้การได้ดีเช่นเดียวกัน แต่กลับเป็นวัตถุที่สร้างขึ้นในช่วง 1825 หรือ 1790 วัตถุนั้นจะถูกมองเป็นสิ่งหายากที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ตรงนี้ คงเป็นเรื่องอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า พิพิธภัณฑ์จะยินยอมให้ยืมวัตถุเหล่านั้นเพื่อการร่ายรำ เวลาในกรณีที่ยกตัวอย่างมานี้แสดงให้เห็นคุณค่าที่สัมพัทธ์มากกว่าการยึดติดที่ข้อเท็จจริง         คำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของ "องค์รวม" สะท้อนให้เห็นถึงคำถามที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่านักอนุรักษ์ควรทำอย่างไรต่อวัตถุชิ้นหนึ่งที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ขณะที่คุณที่ผูกโยงกับวัตถุตัวนั้นขัดกับค่านิยมบางประการในงานอนุรักษ์         แล้วนักอนุรักษ์ในสายอาชีพจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด     จุดหมายใหม่สำหรับงานพิพิธภัณฑ์หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีเป็นการเพิ่มความยากลำบากที่ต้องยอมรับมากขึ้นในวิชาชีพการอนุรักษ์ โดยภารกิจสำคัญคือการอนุรักษ์ที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลง ("การอนุรักษ์ที่ต้านทางการเปลี่ยนแปลง" เป็นคุณค่าพื้นฐานของขนบพิพิธภัณฑ์วิทยา การอนุรักษ์ดังกล่าวนำเสนอวัฒนธรรมในกรอบเวลาหนึ่งและสัมพันธ์กับ "การปรากฏตัวของข้อมูลทางชาติพันธุ์" ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่ "แท้จริง")     อย่างไรก็ตาม ความหมายทางวัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไป และควรให้คุณค่าต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมที่หมายรวมถึงการยอบรับต่อ "ความจริง" ซึ่งแตกต่างกันในเวลาที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นเรือแคนนูที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์การใช้งาน แต่ในปัจจุบัน คุณค่าและความหมายเปลี่ยนไปเรือกลายเป็นสิ่งตกทอดที่เหลืออยู่ (Phillips 1991, อ้างใน Clavir 1992 และ Feest 1995)     ด้วยการยอมรับความหมายทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป นักอนุรักษ์กำลังถูกตั้งคำถาม ไม่ใช่เพียงคุณค่าที่จับต้องได้ยากของวัตถุ แต่ยังต้องตระหนักและยอมรับกระบวนการที่ต่อเนื่อง และสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่า อันหมายถึงการคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุ้นเคยในงานอนุรักษ์ แนวคิดใหม่นี้ส่งผลต่อนักอนุรักษ์ในหลายๆ ทาง ทั้งธรรมชาติที่เปลี่ยนไปของงานพิพิธภัณฑ์ และบทบาทของงานสะสมในพิพิธภัณฑ์     การสังเกตการณ์     บริบทที่ท้าทายสำหรับจริยธรรมและการปฏิบัติในงานอนุรักษ์นำไปสู่คำถามพื้นฐาน ได้แก่ การอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ ปัจจัยที่กำหนดเหมาะหรือไม่เหมาะสำหรับงานสะสมในทุกวันนี้ ไม่ว่าวัตถุเหล่านั้นจะได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป หรือหลังสมัยใหม่ หรือพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิถีชีวิต? คำตอบจะปรากฏอยู่กับการทำงานที่จะยอมรับหรือปฏิเสธพัฒนาการเหล่านี้ และการประยุกต์ใช้จริง     ข้อท้าทายต่อกรอบการทำงานพื้นฐานมักออกมาในลักษณะที่ขัดแย้งต่อคนที่เชื่อในคุณค่าตามกรอบการทำงาน อันที่จริงแล้ว นักอนุรักษ์ควรทำตัวเป็นผู้ท้าทายต่อระบบ การถกเถียงทั้งด้วยอารมณ์ ความเชื่อ และเหตุผลเป็นสิ่งที่จะต้องการขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ว่านักอนุรักษ์ควรเผชิญหน้ากับชนพื้นถิ่นเจ้าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อถกเถียงในประเด็นการอนุรักษ์ คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทัศนะเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกัน     ทางออกหรือจรรยาบรรณที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และปรับเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน นอกจากนี้ การลงมือกระทำขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่นในด้านกฏหมายและข้อเรียกร้องเชิงศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของ และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนพื้นถิ่นอย่างในแคนาดา นอกจากความซับซ้อนที่กล่าวถึง และการหาทางออกจากข้อกังขาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ ข้อสังเกตที่กล่าวถึงนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป         การสังเกตการณ์ประการแรก : การตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์         ในความเป็นจริง พิพิธภัณฑ์ต้องตัดสินใจทุกวันเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัตถุสะสม เราต้องพึงระลึกเสมอว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงการใส่ใจเฉพาะวัตถุของวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่เราจะต้องปฏิบัติการด้วยเท่านั้น แต่ข้อท้าทายนี้ยังผลต่อการทำงานอนุรักษ์โดยรวม ตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีวัตถุที่สามารถแตะต้องได้ในพิพิธภัณฑ์ การให้ยืมวัตถุบางชิ้นไปในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม การเปิดพื้นที่ให้เช่าที่สามารถนำอาหาร เครื่องดื่ม หรือดอกไม้เข้าในไปส่วนนิทรรศการ หรือแม้แต่การขาดแคลนเงินทุนหรือการริเริ่มที่จะจัดสภาพคลังวัตถุในลักษณะที่เหมาะสม จากความเป็นมา ไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดในทวีปอเมริกาเหนือที่สามารถเป็นตัวอย่างของมาตรฐานการดูแลที่สอดคล้องกับวัตถุวัฒนธรรมของชนอเมริกันและแคนาเดียนพื้นถิ่น         อนึ่ง การอนุญาตให้มีการใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดมาจากการเรียกร้องของชนพื้นถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเท่านั้น พิพิธภัณฑ์มากมายได้รับการเรียกร้อง "การสัมผัส" วัตถุที่กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทั่วไป ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิคเตอเรียแอนด์อัลเบริต์ที่จัดแสดงแจกันราชวงศ์หมิง ศตวรรษที่ 16 ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ในนิทรรศการที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี และแจกันเองกลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (Kerr 1995) หากให้ยกตัวอย่างอื่นเพิ่มเติม นักอนุรักษ์ยอมรับการใช้กลุ่มหนังสือเก่าและจดหมายเหตุในหอสมุด หรือการที่พิพิธภัณฑ์ให้ยืมวัตถุในการประกอบพิธีกรรม ในลักษณะเช่นนี้ มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอาคารและอยู่ภายใต้ข้อแนะนำเพื่อการอนุรักษ์         นักอนุรักษ์ผลงานศิลปะร่วมสมัยยอมรับการจัดแสดงผลงานของศิลปินที่มีชีวิตอยู่ในลักษณะที่เสี่ยงต่อความเสียหาย ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นความจงใจของศิลปินเอง และกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศยอมรับการกระทำดังกล่าว นักอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมยอมรับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อองค์รวมของอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบและแบบแผนการใช้งานใหม่ พิพิธภัณฑ์ทางการทหารเป็นตัวอย่างที่ดีแต่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ในอังกฤษและแคนาดา มีตัวอย่างการให้ยืมใช้วัตถุชั่วคราว เช่นเหรียญที่ระลึกให้ยืมชั่วคราวในพิธีรำลึกถึงอดีต ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่จะให้ยืมข้าวของในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการสู้รบประจำปี         คำสำคัญในที่นี้ ได้แก่ พิธีกรรม การใช้ การให้ยืมเพื่อใช้งาน การต่อรองกับผู้สร้างสรรค์งาน ผู้สร้างสรรค์ (เจ้าของ) มีสิทธิ์ไม่ใช่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ตัดสินใจในขณะที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากวัตถุ         การสังเกตการณ์ประการที่สอง : ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์         หลักฐานที่เห็นได้จากการปฏิบัติงานได้แก่ ฐานการคิดที่ปรับเปลี่ยนเนื่องจากการท้าทายชนพื้นถิ่นต่อพิพิธภัณฑ์ ณ วันนี้ เฉกเช่นในอดีต ปฏิบัติการในพิพิธภัณฑ์ยังคงมีลักษณะที่แตกต่างจากทฤษฎีงานพิพิธภัณฑ์ คำถามง่ายที่สามารถยกขึ้นมาเช่น ทำไมห้องคลังจึงมีสภาพที่แน่นมากเกินไป ทำไมชื่อชนพื้นถิ่นที่ใช้เรียกบ้านเกิดหรือผู้คนจึงไม่ปรากฎในนิทรรศการถาวรหรือทะเบียนวัตถุ ทำไมแมลงที่เข้ามาเป็นเหลือบไรต่อวัตถุยังคงมีอยู่ แม้จะมีกระบวนการป้องกันที่เหมาะสม ทำไมพิพิธภัณฑ์ที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียงจึงยังไม่สามารถรักษาสภาพที่ดีสำหรับวัตถุสะสม หรือไม่สามารถสร้างมาตรการที่จะลดผลกระทบของแผ่นดินไหวในบริเวณที่จำเป็น หากพิพิธภัณฑ์ยังไม่สามารถใช้ความรู้ความชำนาญการจากความรู้ที่ตนเองสะสมตลอดหลายปี ทำไมใครสักคนจะต้องเชื่อการเติบโตขององค์กรพิพิธภัณฑ์ เมื่อชนพื้นถิ่นจากชุมชนแห่งหนึ่งเข้ามาชมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่มาจากมรดกของชุมชน เขาอาจมีโอกาสพบข้อผิดพลาดในสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ปฏิบัติต่อวัตถุนั้นๆ         การสังเกตการณ์ประการที่สาม : ฐานร่วมกัน         แม้ว่าเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หรือนักอนุรักษ์จะแตกต่างจากเป้าหมายของชุมชนคนพื้นถิ่นหรือปัจเจกชน แต่ฐานที่ร่วมกันสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราไม่ควรสรุปความไม่ลงรอยโดยการวางการอนุรักษ์วัตถุไว้ตรงข้ามกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม         Deborah Doxtator ชาวแคนาเดียนพื้นถิ่นแสดงความคิดเห็นว่า จุดร่วมระหว่างชนพื้นถิ่นและพิพิธภัณฑ์แคนาเดียนที่ไม่ใช่ของชนพื้นถิ่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องมาจาก "ความจริงที่ว่าแต่ละฝ่ายมีจุดหมายที่ต่างกัน นั่นคือ จุดหมายที่คู่ขนานกันไป" (Doxtator 1994, 22) จริงๆ แล้ว แม้จุดหมายจะเดินทางคู่ขนานกันไป แต่ผลกลับเป็นบวกได้ หากผลนั้นตอบสนองต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นในห้องคลังสำหรับวัตถุที่มีเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์นิวเม็กซิโก แสดงให้เห็นความเคารพต่อวัตถุและผู้ชม ขณะที่ยังสามารถสะท้อนค่านิยมของงานอนุรักษ์ หรืออย่างศูนย์วัฒนธรรม U’mista อัลเบริต์ เบย์ ในบริติช โคลัมเบีย จัดแบ่งเครื่องประกอบพิธีกรรมพอทแลท์ชเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มวัตถุอายุเก่าและกลุ่มวัตถุร่วมสมัยที่สมาชิกในชุมชนสามารถยืมไปใช้ในพิธีกรรมได้ นักอนุรักษ์เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว         สุดท้าย ชนพื้นถิ่นยอมรับต่อมาตรฐานการดูแลและอนุรักษ์วัตถุที่อยู่พิพิธภัณฑ์ (Matlas 1993) ในจุดนี้ นักอนุรักษ์ยินยอมพร้อมใจ ลีโอนา สปาร์โร ที่ปรึกษากลุ่ม Masqueam ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว และได้เพิ่มเติมข้อพึงปฏิบัติด้วยว่า มาตรการใดๆ ที่ใช้ดำเนินการอนุรักษ์จะต้องไม่ขัดต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมของวัตถุ หรือความต้องการของชุมชนที่จะเข้าไปใช้วัตถุ (Sparrow 1995)         การสังเกตการณ์ประการที่สี่ : กฎจรรยาบรรณ     อย่างน้อยที่สุด หนึ่งในกฎจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์กล่าวไว้ว่า ชนพื้นถิ่นมีสิทธิ์ตัดสินใจต่อมรดกวัฒนธรรมของตนเอง แม้ว่าเขาจะมิได้มีสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย ข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้มาจากการอนุญาตของสภาอนุสรณ์สถานและแหล่งมรดกระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites - ICOMOS) ตามกฎบัตรนิวซีแลนด์สำหรับการอนุรักษ์สถานที่และคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม     "มรดกของชนพื้นถิ่นเมารีและเมาริโอริ…ไม่สามารถแยกออกได้จากตัวตนและความรุ่งเรือง และกอปรขึ้นเป็นความหมายทางวัฒนธรรมจำเพาะ     ข้อตกลงไวแทนกิเป็นเอกสารก่อร่างชาติของเรา และเป็นฐานรองรับการคุ้มครองชนพื้นถิ่นในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นมีส่วนรับผิดชอบต่อสมบัติ สถานที่สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง เนื้อหาขยายขอบเขตความเป็นเจ้าของตามกฎหมายที่มีอยู่ ความรู้ในคุณค่าของมรดกเฉพาะเป็นปัจจัยในการเลือกผู้ที่ดูแลรักษา การอนุรักษ์สถานที่ที่กอปรด้วยคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับการตัดสินใจของชุมชนคนพื้นถิ่น และควรที่จะเป็นไปในบริบทเช่นนี้เท่านั้น ข้อพึงระลึกในงานอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นถิ่นเลื่อนไหลและปรับเปลี่ยนไปตามความสืบเนื่องของชีวิต และความต้องการตามแต่ละปัจจุบันขณะ พร้อมไปกับความรับผิดชอบของการคุ้มครอง และความสัมพันธ์กับผู้คนที่จากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกล่าวถึงข้อปฏิบัติต่อการเข้าถึง สิทธิอำนาจ และพิธีกรรมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในระดับท้องถิ่น หลักพื้นฐานโดยทั่วไปของจรรยาบรรณและความเคารพทางสังคมย้ำให้เห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราจะต้องใส่ใจอยู่เสมอ (ICOMOS 1993, Sec. 2)"     สรุป สิ่งที่จะได้กล่าวต่อไปนี้สะท้อนทัศนะต่อการทำงานอนุรักษ์แบบที่เคยปฏิบัติกันมา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าความคิดเช่นนี้เป็นที่ยอมรับของนักอนุรักษ์วิชาชีพในช่วงเวลาที่ได้รับการบัญญัติขึ้นในปี 1986 "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะลดหรือเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับงานสะสม และต้านทานต่อทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การเสื่อมหรือทำลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งเชิงรุกหรือตั้งรับ สภาพที่ดีของวัตถุเป็นข้อคำนึงเบื้องต้นเหนือการพิจารณาประเด็นอื่นใด (Ward 1986, 9) ในช่วงทศวรรษสั้นๆ จากนั้น สายอาชีพงานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม ข้อตกลงที่สร้างขึ้นร่วมกับเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงหรือลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับวัตถุสะสมในบางสถานการณ์ หน้าที่ของนักอนุรักษ์ได้แก่การให้ข้อมูล (เช่น ความเลี่ยง ทางเลือกในการปฏิบัติ จรรยาบรรณการอนุรักษ์ และกระบวนการ) และเสนอการปฏิบัติต่อสถานการณ์ที่อาจจะเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุ ไม่ว่าเชิงรุกหรือรับ ขณะที่ข้อมูลและปฏิบัติการอนุรักษ์ดำเนินไปด้วยการพิจารณาสภาพของวัตถุที่เหมาะสมและเป็นการปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ควรดำเนินการคู่ขนานกันไปคือ การคำนึงถึงบริบทที่ใหญ่กว่าซึ่งเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมหรือผู้สืบทอดควรเข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานดังกล่าวด้วย" กรอบความคิดข้างต้นไม่ใช่การลบล้างกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ที่เห็นว่าสิ่งใดสำคัญในการตัดสินใจอนุรักษ์ แต่เป็นการพยายามเปลี่ยนจุดเน้นไปที่บริบทที่ใหญ่กว่า ความคิดเช่นนี้ยอมรับคณะทำงานที่ควรมาจากหลายสาขาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการอนุรักษ์ คณะทำงานที่กล่าวถึงควรประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมและวิชาชีพอื่นๆ กรอบความคิดที่ว่านี้พยายามจัดวางวิชาชีพนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์และเทคนิควิทยาในการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม แต่ความรับชอบของเขาและเธอควรเป็นการใช้ความรู้เพื่อคำนึงถึงบริบทแวดล้อมอื่นในแต่ละกรณี มากกว่าจะเป็นการใช้ความรู้จัดการทุกอย่างด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

สนุกสนานบนแผ่นกระดาษ: เรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต และงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน สถาบันสมิธโซเนียน

09 พฤษภาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ ดูจะมีความหมายในเชิงลบสำหรับบุคคลทั่วไป เพราะพิพิธภัณฑ์ เป็นเพียงสถานที่จัดแสดงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ โบราณวัตถุ หรืออื่นๆ เพื่อการศึกษาในพื้นที่จำกัด ซึ่งอาจจะกว้างมาก เช่นพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ และไม่กว้างมากเช่นพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย พื้นที่จัดแสดงนี้ประกอบไปด้วยรายละเอียดหรือที่มาของวัตถุนั้นๆ ทั้งหมดจัดวางแบบนิ่งๆ รอให้คนทั่วไปเข้ามาชมวัตถุ สิ่งของเหล่านี้ ความที่พิพิธภัณฑ์ ดูเป็น "ของนิ่ง" จึงทำให้ภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสิ่งน่าเบื่อ ล้าสมัย ไม่ตื่นเต้นเร้าใจ เท่ากับการได้ไปชมภาพยนตร์ หรือการละเล่นอื่นๆ ในขณะที่เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ต้องการให้เยาวชนได้รับความรู้จากพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว การดำเนินการเพียงแค่จัดให้เยาวชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นการให้เยาวชนเข้าไปพบกับความน่าเบื่อหน่ายในห้องสี่เหลี่ยม ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งจึงไม่สัมฤทธิ์ผล ทุกคนคงทราบว่าการเรียนรู้ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจมากที่สุดก็คือ การเรียนรู้โดยการลงมือทำ ดังนั้นถ้าต้องการให้เยาวชนได้รับความรู้ด้วยความเข้าใจจากพิพิธภัณฑ์ ก็คงต้องให้เยาวชนได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างที่เราตั้งเป้าหมายไว้ และการลงมือทำในครั้งนี้ควรมีรูปแบบของความสนุกสนาน กลมกลืนกับสาระที่ต้องการให้เยาวชนได้รู้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องใช้กลอุบายในการผสมผสานความรู้ลงไปในกิจกรรมที่เยาวชนจะได้ทำในการชมพิพิธภัณฑ์ นั่นเอง วิธีการอย่างง่ายที่สุด ที่ทุกพิพิธภัณฑ์สามารถทำได้ก็คือ การพัฒนาแผ่นพับเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ให้กลายเป็น แผ่นพับแสนสนุก เพราะธรรมชาติของเด็ก คือการค้นคว้า อยากรู้อยากเห็น การผจญภัย และการเอาชนะในเกม เช่น แผ่นพับเยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของพิพิธภัณฑ์ คือต้องการให้ทุกคนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ได้รับความสนุกสนานจากการสำรวจ พร้อมกับชมสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทาง วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต คาดหวังว่าการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้ผู้ชมเกิดแรงบันดาลใจ และแนวความคิดใหม่ๆ ที่ร่วมสมัย แผ่นพับที่ออกแบบมามีลักษณะ 3 - 4 ตอน และพิมพ์ด้วยสีสองสีบนกระดาษแข็ง ห้องแสดง 1 ห้องจะมีแผ่นพับ 1 ชุด เนื้อหาภายในจะไม่บอกรายละเอียดใดๆ มากมาย มีเพียงข้อความแนะนำว่าห้องพิพิธภัณฑ์นี้นำเสนออะไร แต่ที่น่าสนใจคือเนื้อหาภายในแผ่นพับเป็นเกมให้เด็กได้คิดและเขียนจากความรู้ของตน ในขณะเดียวกันได้เนื้อหาความรู้จากห้องพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกัน เช่น การเติมคำ การหาคำศัพท์ในตารางตัวอักษร การวาดรูปบนพื้นที่ว่าง กิจกรรมต่างๆบนแผ่นพับนี้เป็นอุบายเพื่อให้เด็กได้สนใจในเนื้อหาสาระของพิพิธภัณฑ์ เป็นการเพิ่มความน่าสนใจและน่าสนุกให้กับพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้น เช่นเดียวกับหนังสือนำชมงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน สถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Smithsonian Folklife Festival) ที่จัดเป็นประจำทุกปี เช่น ในปี 2005 นำเสนอเนื้อหาเป็น 3 กลุ่ม คือ วัฒนธรรมอาหารของสหรัฐอเมริกา (Food Culture USA) โอมาน: ทะเลทราย แหล่งน้ำ และทะเล (Oman : Desert, Oasis and Sea) และงานป่าไม้ วัฒนธรรม และชุมชน (Forest Service : Culture and Community) หนังสือนำชมในงานออกแบบมาเพื่อการเข้าชมสำหรับครอบครัว ขนาดเท่าฝ่ามือ ใช้สีแบ่งแยกแต่ละ Theme ในการนำเสนอ สีที่ปรากฏในหนังสือนำชมอาจไม่ฉูดฉาด แต่ก็เด่นชัดพอที่จะทำให้ผู้ชมทราบว่ากำลังอยู่ในส่วนใดของงานเทศกาล เนื้อหาในหนังสือนำชมคือการค้นหาคำตอบจากการเดินชมงาน เช่น การเติมคำ จับคู่ หาคำปริศนา พร้อมกับแทรกเนื้อหาสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ชมงาน เพียงเท่านี้การเดินชมงานที่กว้างใหญ่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป สิ่งที่โดดเด่นของแผ่นพับของพิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต และหนังสือชมงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้านไม่ได้อยู่ที่กระดาษพิมพ์เนื้อดี หรือภาพกราฟิกที่ชวนมอง แต่เป็นการนำเนื้อหาความรู้จากห้องพิพิธภัณฑ์ หรือจากงานเทศกาลมาปรับให้เป็นเกม ที่ชวนให้คิดค้นหาคำตอบ โจทย์หลายข้อในแผ่นพับ ก็คือ กลอุบาย เพื่อให้เยาวชนได้อ่านเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ โจทย์บางข้อให้เยาวชนวาดภาพลายเครื่องปั้นดินเผาลงบนลายเส้นภาชนะที่ว่างเปล่า ด้วยคาดหวังว่าการวาดลวดลายจะทำให้เยาวชนเกิดการจดจำจากการกระทำ (วาดลายเส้น) และโจทย์บางข้อ ก็เป็นเกมส์ลากเส้นตามตัวเลข ซึ่งภาพที่ได้สุดท้ายก็คือภาพวัตถุชิ้นหนึ่งในห้องพิพิธภัณฑ์นั้นๆ หากจะมองว่าการกระทำแบบนี้เยาวชนจะได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าเทียบกับการให้เด็กเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ แล้วครูสั่งให้หาข้อมูลในเรื่องที่กำหนด กับการให้เยาวชนเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยความสุขและสบายใจ การกระทำแบบใดที่เยาวชนจะให้ความสนใจมากกว่ากัน? ความสนุกสนานที่พวกเขาได้รับจากพิพิธภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม จะเป็นตัวจุดประกายให้เยาวชนเหล่านี้ได้รักในการศึกษาหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์ แล้ววันหนึ่ง มุมมองของเยาวชนที่มีต่อ พิพิธภัณฑ์ จะเปลี่ยนไป ข้อมูลอ้างอิง www.vam.ac.uk www.folklife.si.edu

เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน : ชุดการสอนในฐานะหนทางแห่งการเรียนรู้จากโคลัมเบีย

20 มีนาคม 2556

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ คือสถานที่สำหรับกอบกู้และรักษาสิ่งของจากอดีต แต่ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงบทบาทตนเองจากผู้รับและรักษา "ของเก่า" ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น และหนึ่งในคืบก้าวที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกับสถานศึกษา จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนการสอนทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบันกำลังเดินสู่หนทางวิกฤต นับเป็นปีๆ ที่การท่องจำชื่อ วันเวลา และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ทำให้เด็กนักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจที่จะเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ขาดการตอบสนองหรือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมรอบตัว พวกเขาจึงกลายเป็นผู้รับข้อมูลที่รอคอยเพียงวันสอบไล่เท่านั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กๆ รู้เรื่องราวในอดีต แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาตระหนักถึงอดีตที่อยู่รอบตัวของเขา การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ควรถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมโดยตรง การศึกษาชุมชนสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์และมองย้อนกลับไปยังชุมชนตนได้ พวกเขาจะเข้าใจว่าเรื่องราวจากอดีตมีผลต่อปัจจุบันอย่างไร ในการนี้ครูสามารถใช้โบสถ์ วัด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่เก่าแก่ของชุมชน มาเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนได้ กิจกรรมนอกห้องเรียนเปิดโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสกับสภาพรอบตัว อันจะช่วยพัฒนากระบวนการคิดจากข้อเท็จจริงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และจากการสังเกตการณ์ไปสู่การพรรณนา พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทางสังคม โดยมุ่งเน้นการสำรวจด้วยตนเองมากกว่าการสั่งสอนให้เด็กเป็นผู้รับแต่เพียงถ่ายเดียว ในขณะเดียวกันโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างความรู้ เพราะสิ่งของเหล่านั้นคือตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติในอดีต องค์ความรู้อันทรงคุณค่าเหล่านี้ไม่สมควรถูกเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ควรมีบทบาทเข้ามาพัฒนาทัศนคติและทักษะของคนในชุมชนไปพร้อมกัน ตัวอย่างของการนำพิพิธภัณฑ์เข้ามาสู่โครงการเรียนรู้ของโรงเรียน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ Museo del Oro สถานที่เก็บรักษาภาชนะทองคำในสมัยโบราณจากประเทศโคลัมเบีย พิพิธภัณฑ์เข้ามาปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการวิเคราะห์และตีความมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการหนีห่างออกจากทัศนคติเดิมๆ ที่เน้นแต่เพียงเรื่องราวของวีรบุรุษและเหตุการณ์สำคัญๆ แต่เชื้อเชิญให้ปัจเจกบุคคลตระหนักว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นของเขาเอง โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" (The Museum Comes to Your School Project) จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นโครงการที่ใช้ชุดการเรียนรู้ที่ออกแบบเฉพาะ มากระตุ้นทักษะการสำรวจของเด็กนักเรียนเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ตามวิธีการวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม ปลูกฝังความสามัคคีและฝึกฝนการร่วมมือกันในสังคมเล็กๆ ของพวกเขา และแบบฝึกหัดนี้เองจะช่วยให้เด็กนักเรียนเรียนรู้คุณค่าในโลกเก่าของพวกเขาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยมีชุดการสอนเป็นแบบฝึกหัดในห้องเรียน แต่ละชุดการสอนบรรจุด้วยตัวอย่างของวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ของจริง, คู่มือประกอบคำอธิบาย, โปสเตอร์ ,กติกา, เกมและกิจกรรมล่วงเวลา ตัวอย่างชุดการสอนที่เกี่ยวกับเมืองโบโกต้า ถิ่นอินเดียแดงยุคโบราณ ประกอบด้วย วัตถุ - ตัวอย่างของวัสดุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสินค้า เช่น ชั่งถ่วงน้ำหนัก สร้อยคอ ตุ้มหู เครื่องประดับ เครื่องสังเวยเทพเจ้า กระดูก เครื่องดินเผา เครื่องมือหิน เปลือกหอย เครื่องทอง และเครื่องใช้โลหะต่างๆ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้นำมาจากแหล่งโบราณคดีชื่อว่า Muisca เป็นชนเผ่าโบราณเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่แถบประเทศโคลัมเบียเมื่อประมาณหนึ่งพันปีแล้ว (ค.ศ. 900 - ค.ศ. 1500) รวมถึงโบราณวัตถุในอารยธรรมยุคก่อนโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ มาใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน วัตถุโบราณเหล่านี้ได้กระตุ้นความสนใจของเด็ก และการศึกษาสิ่งประดิษฐ์ที่เห็นอยู่ข้างหน้าเพื่อค้นหาผู้สรรค์สร้างวัตถุ ครั้งนี้เด็กๆ ไม่เพียงแต่สามารถจับต้องวัตถุได้เท่านั้น แต่ยังสามารถออกแบบนิทรรศการของพวกเขาได้ ด้วยอุปกรณ์ที่นำมาจากบ้าน หรือที่เขาคิดสร้างสรรค์เอง คู่มือ - คู่มือที่นำมาประกอบพร้อมวัตถุโบราณ จะทำให้เด็กทราบว่ายังมีความรู้อีกมากมายเกินกว่าที่ตาเห็นอันน่าค้นหาจากสิ่งประดิษฐ์จากยุคอดีต ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความหมายของวัตถุและการใช้งานของมันในพิธีกรรมตามตำนาน หรือเทพนิยายต่างๆ อาทิ คติการสร้างโลก กำเนิดมนุษย์และสัตว์ การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น ในหน้าสุดท้ายของคู่มือจะมีคำแนะนำถึงกิจกรรมต่อเนื่องแก่ครูเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนต่อไป ทั้งการอ่านและการเขียน ทำให้เด็กสามารถสร้างโลกแห่งจินตนาการของพวกเขาได้จากเรื่องราวในคู่มือดังกล่าว โปสเตอร์ - สิ่งของทุกอย่างในชุดการสอน รวมทั้งภาพโปสเตอร์ล้วนพัฒนาความสามารถของเด็กนักเรียนให้เปิดรับและคัดสรรความรู้จากสิ่งที่ตาเห็น อันเป็นขั้นแรกสุดของการเรียนรู้โลกใบนี้ กิจกรรม - ธรรมชาติของเด็กทุกคนคือนักสำรวจ ดังนั้นกิจกรรมหลักในคู่มือจึงให้นักเรียนเล่นบทบาทสมมุติเป็นนักค้นคว้า รู้จักเปรียบเทียบประเพณีปัจจุบันกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และค้นหาโลกสมัยใหม่ที่อาจพบได้ในประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนอยู่ โดยครูจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 6 คน ให้สำรวจวัตถุโบราณที่มอบหมาย กระตุ้นให้อภิปราย ถกเถียงอย่างอิสระในกลุ่ม เพื่อแสวงหาความหมายและวัตถุชิ้นน่าจะถูกใช้งานอย่างไร รวมถึงเสาะหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของจากอดีตกับที่เห็นในชีวิตประจำวัน จากจุดนี้เด็กนักเรียนเริ่มเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบวัฒนธรรมของพวกเขาเข้ากับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วยตัวเขาเอง อาจกล่าวได้ว่าหลักเปรียบเทียบเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง นอกจากเด็กจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งแล้ว พวกเขายังเรียนรู้ว่าผู้คนในสถานที่ต่างกัน ในเวลาต่างกันมีการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผู้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน เกมและกิจกรรมล่วงเวลา - เกมการละเล่นนอกจากนำความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กๆ แล้วยังสามารถเป็นสื่อการสอนอย่างดี ตัวอย่างเกม เช่น ตัวต่อ ภาพปริศนาสื่อถึงสัตว์ในยุคโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมของชนเผ่าดั้งเดิม เป็นต้น โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เด็กนักเรียนให้ความสนใจและตอบสนองต่อวัฒนธรรมดั่งเดิมของชุมชนพวกเขามากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กบางคนที่ฐานะไม่เอื้อให้ไปพิพิธภัณฑ์ได้ใกล้ชิดโบราณวัตถุของจริง พวกเขาต่างตอบสนองด้วยความสงสัยใคร่รู้ และค้นหาคุณค่าของประวัติศาสตร์พื้นบ้านที่อยู่รายล้อมตัวเขามากขึ้น ดังนั้น การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่อาจจำกัดเพียงแค่ตำราเรียน แต่การก้าวหาพันธมิตรจากโรงเรียนไปสู่พิพิธภัณฑ์ และสามารถพัฒนาทักษะความรู้ การคิดพิเคราะห์ของเด็กๆ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ พัฒนาทัศนคติและคุณค่าของครูและนักเรียนต่อประวัติศาสตร์ชุมชนอันเป็นรากฐาน เพื่อหยั่งรู้ถึงอนาคต ** แปลและเรียบเรียงจาก  Ivonne Delgado Ceron & Clara Isabel Mz- Recaman, "The Museum comes to school in Columbia: teaching package as a method of learning," The Presented Past:  heritage, museums and education. Peter G. Stone and Brian L. Molyneaux (ed.), (New York; London: Routledge, 1994.), pp. 148 - 158.

เขาสร้าง "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" กันอย่างไร ในเคปทาวน์

20 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์เขตหกใน Central Methodist Mission Church เปิดทำการในเดือนธันวาคม 1994 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สืบเนื่องจากโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ในเขตหก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการได้ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความทรงจำที่ได้เก็บรวบรวม และกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และความเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ผลงานดังกล่าวเป็นผลมาจากความเพียรพยายามของแผนงาน 5 ปีในการจัดตั้งมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เขตหก โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งคณะกรรมการ Hands Off District Six (HODS) คณะกรรมการดังกล่าวมาจากนโยบายการเมืองท้องถิ่นภาคประชาชน และจัดตั้งขึ้นในแถบกลางเมืองเคป ทาวน์ เมื่อปี 1989 ในครั้งนั้น มีการรณรงค์ต่อต้านการพัฒนาเมืองโดยนายทุน ผลของการรณรงค์ในครั้งดังกล่าวนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเขตหกเพื่อคนชนชั้นกลางที่มาจากกลุ่มเชื้อชาติที่หลากหลาย ความพยายามเช่นนี้ถือเป็น "การปฏิรูป" การเลือกปฏิบัติทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคยเป็นมา มูลนิธิมีรูปแบบเป็นองค์กรโดยเอกชนและดำเนินการเป็นโครงการวัฒนธรรม ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ถึง 1990 โดยวัตถุประสงค์หลักคือ การเก็บรักษาความทรงจำของเขตหก อันเป็นพื้นที่ชั้นในของเมืองเคป ทาวน์ และตั้งอยู่ใกล้กับเทเบิล เมาท์เทน (Table Mountain) บริเวณดังกล่าวมีการย้ายถิ่นของประชากรไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ในปี 1992 มูลนิธิจัดนิทรรศการภาพถ่ายณ โบสถ์เซ็นทรัล เมโธดิสท์ มิซซัง (Central Methodist Mission Church) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผู้ที่เคยอาศัยในพื้นที่ได้รวมตัวกันในโบสถ์ และใช้ที่นั่งไม้แถวยาวจัดแสดงภาพถ่ายที่ทรงคุณค่า ภาพขยายใหญ่ฉายผ่านสไลด์ รวมทั้งภาพยนตร์เก่าบางส่วน นำพาทุกคนย้อนกลับไปยังอดีต กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อการรวบรวมและการย้อนหาเอกภาพของเขตหกผ่านความทรงจำ จนในที่สุด พิพิธภัณฑ์เขตหกได้ถือกำเนิดในอีกสองปีต่อมา งานวัฒนธรรมของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เขตหกยังรวมถึงการเรียกร้องพื้นที่จากเทศบาล ภายใต้รัฐบัญญัติสิทธิที่ดิน การเรียกร้องดังกล่าวมาจากการรวมตัวของคนที่เคยอาศัยในเขตหกและสมาคมภาคประชาชนเขตหก จุดประสงค์สำคัญคือการรวบรวมผู้คนและผนึกความเป็นชุมชนเขตหกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในปี 1950 ชุมชนได้รับผลกระทบจากรัฐบัญญัติจัดการพื้นที่ กลุ่ม "คนขาว" ได้เรียกร้องการเข้าครอบครองพื้นที่ในเขตหกเมื่อปี 1966 การเคลื่อนย้ายของผู้คนออกจากพื้นที่ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 ได้ทำลายสายใยทางสังคมที่มีมา หรือทำลายกระทั่งอาคารและภูมิทัศน์ สิ่งที่เหลือไว้ก็เพียงมัสยิดและโบสถ์เท่านั้น ในระหว่างกระบวนการเรียกร้องที่ดิน พิพิธภัณฑ์ได้ตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องว่า การฟื้นฟูความเป็นชุมชนและพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและกายภาพขึ้นอีกครั้งจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่เมือง รวมถึงประวัติศาสตร์ความทรงจำ พิพิธภัณฑ์เขตหกยังเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสมานฉันท์และสัจจะ (Truth and Reconciliation Commission) ที่ต้องการบันทึกประสบการณ์อันเจ็บปวด แต่กิจกรรมเช่นนี้ไม่ได้ดำเนินไปด้วยแนวคิดของการ "ฝังใจเจ็บ" หากแต่เป็นการใช้มุมมองเชิงศีลธรรมเพื่อการเยียวยาและการให้อภัย พิพิธภัณฑ์ชุมชน (A community-based museum) พิพิธภัณฑ์เขตหกมีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงการพิพิธภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ ในเมืองเคป ทาวน์ ไม่ว่าจะเป็น ลเวนเดิล, ซอมเมอร์เซ็ท เวสท์, ครอสโรดส์ และ โปรที วิลเลจ หรือ อิสแบงก์ในอีสต์ลอนดอน และ เซ้าท์ แอนด์ในพอร์ต อลิสเบธ โครงการเหล่านี้อยู่ชายขอบหรือนอกอาณาจักรของโครงสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและมรดกของชาติ หรือกระทั่งการสนับสนุนของงบประมาณแผ่นดินสำหรับงานศิลปะ วัฒนธรรม และมรดก แต่ด้วยลักษณะที่มิได้พึ่งพิงต่อทรัพย์สินและงบประมาณของมรดกแห่งชาติ และอาศัยทุนบริจาค โครงการพิพิธภัณฑ์ชุมชนกลับเป็นเวทีวัฒนธรรมอิสระ และท้าทายต่อวัฒนธรรมประชาในระดับกว้าง ในประเทศแอฟริกาใต้ พิพิธภัณฑ์ชุมชนได้สถาปนาตนขึ้นมาในฐานะดังกล่าว ด้วยงานวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์เขตหกอย่างแข็งขัน จริงๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์ชุมชนปรากฏมากขึ้นในส่วนต่างๆ ของประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องเพราะต้นแบบพิพิธภัณฑ์เขตหกที่ทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของ "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" และเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะแบบ การทำความเข้าใจต่อข้อถกเถียงและข้อขัดแย้งที่สัมพันธ์กับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประเภท "ชุมชน" จะทำให้เราเห็นเหตุผลและลำดับของการขยายตัวขององค์กรดังกล่าวในภูมิทัศน์วัฒนธรรมของประเทศแอฟริกาใต้ ด้วยเหตุนี้ เราจะกลับไปสำรวจสิ่งที่เรียกว่า "ชุมชน" รวมถึงกระบวนการ รูปแบบ และการสร้างอัตลักษณ์ และวิธีการสร้างโครงการทางวัฒนธรรม การสืบค้นดังกล่าวไม่ใช่เพียงการพยายามนิยามประเภทองค์กรในวงศ์วานพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่การริเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองเคป ทาวน์ พิพิธภัณฑ์เขตหกมีสถานภาพที่เป็นอิสระ นั่นหมายถึง พื้นที่ที่สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบของสิ่งต่างๆ ในยุคหลังการเลือกปฏิบัติในทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เป็นการพิจารณาความสัมพันธ์และกรอบแนวคิด รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นพื้นที่ของการวิจัย การจัดแสดง และการให้ความรู้ ด้วยชุดความรู้และแบบแผนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย นิทรรศการที่เปิดตัวพร้อมกับการเปิดประตูพิพิธภัณฑ์สู่สาธารณชนในปี 1994 ได้แก่ "ถนนหลายสายสู่การย้อนมองเขตหก" เศษซากและสิ่งที่เหลืออยู่ของพื้นที่เขตหก ยังรวมถึงการใช้เอกสาร รูปถ่าย บันทึกความทรงจำ และวัตถุที่หลากหลาย แทรกสลับแผนที่อันสีสรรร้อนแรงในนิทรรศการ ป้ายชี้เส้นทางเก่าแขวนตามเสาในตำแหน่งเดิม ป้ายเหล่านี้มาจากทีมงานที่เคยทำหน้าที่ทำลายอาคารในเขตหก หากแต่พวกเขาเก็บไว้ส่วนตัว ป้ายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัตถุที่ทำให้เราย้อนพินิจถึงเขตหกอย่างเป็นรูปธรรม ทิวแถวของภาพถ่ายผู้คนที่เคยอาศัยขนาดใหญ่พิมพ์ลงพลาสติกขาวขุ่น และแขวนตามเสาที่เรียงราย ผู้ชมจึงเฝ้ามองตามจังหวะที่ต่างกันไปบนแผนที่ ห้องย่อยต่างๆ จัดแสดงภาพถ่ายจากการบริจาคของผู้อาศัยเดิม เนื้อหาของภาพทำหน้าที่เป็นปากคำของวิถีชีวิตทางสังคมและการแสดงออกทางวัฒนธรรมในเขตหก และเมื่อเดินทางถึงปลายทางของแผนที่ ตู้ใสขนาดใหญ่บรรจุดินและหินจากเขตหก กลับเผยให้เห็นชิ้นส่วนจากการขุดค้นที่สัมพันธ์กับชีวิตในครัวเรือน ทั้งขวด เศษหม้อ ไห แก้ว เครื่องครัว และของเล่นเด็ก เมื่อพิจารณาสิ่งจัดแสดงเหล่านี้ ทั้งวัตถุและเอกสารสร้างที่กู้พื้นที่เขตหกกลับคืนมา พิพิธภัณฑ์สถาปนาตนขึ้นในฐานะ "โบราณคดีของความทรงจำ" ซึ่งถือเป็นการขุดค้นสายใยของสิ่งที่จับต้องเข้ากับภูมิทัศน์ทางสังคมวัฒนธรรมของเขตหกในห้วงภาษาแห่งจินตนาการ การลงรากปักฐานใน "พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกทำลาย" ของโบสถ์แห่งอิสรภาพเดิม (Freedom Church) สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ปฏิบัติศาสนพิธีของทายาททาสและทาสี และต่อมา ในฐานะฐานที่มั่นของผู้เรียกร้องสิทธิทางการเมือง ยังให้ชี้เห็นถึงชั้นทับถมของประสบการณ์ ทั้งความหมายและการตีความ กระทั่งเป็นโอกาสการเยียวยา "ชุมชนที่มล้างไป" ของเขตหก ฉะนั้น คงไม่ต้องแปลกใจแต่ประการใด หากเมื่อผู้ชมจำนวนมากเรียกพิพิธภัณฑ์ด้วยชื่อ "เขตหก" ซึ่งมีความหมายถึงกระบวนการสร้างความทรงจำและการรำลึกถึง พิพิธภัณฑ์ได้สร้างพื้นที่สำหรับชุมชนในการรวมตัวและแบ่งปันประสบการณ์และความทรงจำร่วมกัน การกระทำและกระบวนการเช่นนี้ดำเนินไปเพียงชั่วยาม หากแต่เสียงของการเล่าขานจะติดตรึงอยู่ในห้องต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ หรือเรียกว่า "พยานของเรื่องเล่าที่ทรงคุณค่าแต่กลับไม่มีใครพูดถึง" เสียงที่เปล่งออกเช่นนี้ได้มอบนัยสัมพันธ์กับถิ่นที่ของเขต พิพิธภัณฑ์จึงแสดงตัวตนเฉกเช่น "พื้นที่สาธารณะของการปฏิสัมพันธ์" สถานที่ "ของผู้คนที่ตอบสนองต่อเขตหก" ให้ก่อเกิดเป็น "เรื่องราวและสายใย" ของตัวมันเอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้กลายเป็นปฐมบทของขบวนการพิพิธภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ และการเมืองของความทรงจำ พื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์จะมีข้อถกเถียงและข้อโต้แย้ง อันถือเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตทางการเมืองในเขตหก ประว้ติศาสตร์ท้องถิ่นกลับสะท้อนอดีตของชาติในการจัดการทางสังคมของเคป ทาวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ของ "การเคลื่อนย้ายถิ่นแกมบังคับ" พิพิธภัณฑ์เขตหกกลายเป็นสัญลักษณ์อ้างอิงประสบการณ์ของการย้ายพื้นที่ในบริเวณอื่นๆ ของเคป ทาวน์ และของประเทศแอฟริกาใต้ และยังหมายความถึงกระบวนการเรียกร้องที่ดินของเขตหก พิพิธภัณฑ์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทุ่มเถียงถึงอนาคตของเมืองเคป ทาวน์ อันถือเป็นกระบวนการภาคประชาชนและปฏิบัติการทางสังคมในพื้นที่เมือง การดำเนินการที่ทรงพลังมากที่สุดของพิพิธภัณฑ์เขตหกได้แก่ การสร้างเวทีประชาชนเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน ในปี 1997 ศาลการเรียกร้องที่ดิน (Land Claims Court) จัดการพิจารณาคดีเป็นพิเศษในพิพิธภัณฑ์เพื่อการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างแผนการพัฒนาที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่นและเอกชน นั่นหมายถึง การทำให้ข้อเรียกร้องของเอกชนเป็นที่รับรู้ และอยู่ในการพิจารณาของรัฐบาลท้องถิ่น ในปีถัดมา อาคารพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นพยานของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกลาง เมือง และคณะกรรมการผลประโยชน์ (Beneficiary Trust) สาระสำคัญคือ กระบวนการแก้ปัญหากรณีพิพาทในการจัดการที่ดินจะต้องเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนมีส่วนร่วม พิพิธภัณฑ์เขตหก พื้นที่สายพันธุ์ใหม่ การจะทำความเข้าใจพิพิธภัณฑ์เขตหกจะต้องมองเป็น "พื้นที่สายพันธุ์ใหม่" พื้นที่ที่มีความเป็นวิชาการ งานวิจัย คลังสะสมและสุนทรียะของพิพิธภัณฑ์ ขั้นตอนการทำงานอยู่ภายใต้การทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการและผลตอบแทน รวมไปถึงความเป็นพื้นที่ทางการเมืองในการเรียกร้องที่ดิน ทั้งเชิงสัญลักษณ์และปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมเอาพลังความคิดและพละกำลังของผู้คนที่หลากหลาย นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ชาวชุมชนบางคนที่มองตนเองเป็น "นักเรียกร้องระดับหัวเรือใหญ่" ที่ไม่ชอบพิธีรีตองอย่างนักวิชาการ และคนอีกจำนวนมากที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ ผู้ทำหน้าที่เรียกร้องอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่นับทศวรรษ ด้วยรากเหง้าของพวกเขาในองค์กรทางการเมืองและวัฒนธรรมในเขตหก โครงสร้างส่วนต่างๆ และกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง การแลกเปลี่ยนและส่งผ่านความรู้และการแสดงออกทางวัฒนธรรม และร้อยรัดเอาผู้คนไปในจังหวะของการทำงาน ขุมพลังทางปัญญาจากสมาชิกที่หลากหลายได้ฝังลึกอยู่ในหัวใจของปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์และการวิพากษ์วิจารณ์ของพิพิธภัณฑ์เขตหกแห่งนี้ นิทรรศการเรื่อง ขุดให้ถึงรากเหง้า (Digging Deeper) เปิดแสดงในโบสถ์แห่งเสรีภาพ (Freedom Church) ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ ในปี 2000 นำไปสู่วิธีการจัดแสดงและนัยสำคัญต่อวัฒนธรรมประชาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นิทรรศการดังกล่าวตั้งคำถามต่อผู้ที่เข้าชมด้วยความไม่ชัดเจนและซับซ้อนในการพูดถึงเขตหก เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกอึดอัดและคลางแคลงใจ จนปรารถนาที่จะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับเขตหกด้วยตนเอง แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างนิทรรศการทั้ง 2 ชุด คือ "ถนนหลายสาย" เน้นการพูดถึงพื้นที่ต่างๆ และชีวิตของผู้คนในความเป็นชีวิตสาธารณะ ในขณะที่ "ขุดให้ถึงรากเหง้า" กลับมุ่งไปยังเรื่องส่วนตัวและพื้นที่เฉพาะของบุคคล ในการออกแบบ ขุดให้ถึงรากเหง้า พิพิธภัณฑ์เลือกเจาะลึกไปในรายละเอียดของคลังสะสม และเลือกตั้งคำถามที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเขตหก ณ ทางเข้าของนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ "ยิง" ประเด็นคำถามที่สร้างความอึดอัดต่อให้กับผู้ที่เข้าชม "เราปรารถนาที่จะค้นหาและทำความเข้าใจกับความทรงจำของเรา ความสำเร็จ และความอัปยศ ทั้งห้วงเวลาแห่งชัยชนะ ความกล้าหาญ และความรัก แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่อัดแน่นอยู่ในใจเรา" เมื่อกล่าวถึงการออกแบบ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และผู้ออกแบบ เพ็กกี้ เดลพอร์ต (Peggy Delport) กำหนดแนวคิดในการออกแบบโดยใช้ความละเอียดอ่อนและความหยาบของวัสดุในงานภาพ ภาพที่ขยายใหญ่ติดตั้งบนกำแพงฟื้นบรรยากาศชีวิตในอดีต ขณะที่ป้ายอธิบายประวัติศาสตร์ ระยะเวลา ลำดับแผนที่ และข้อความชีวประวัติที่มาจากการวิจัยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า เหล่านี้สะท้อนพัฒนาการทางวัฒนธรรม วิถีคิด และการเมืองที่ซับซ้อนของเขตหก ป้ายผ้าที่เขียนขึ้นเองอย่างง่ายเชื่อมโยงสถาบันของชีวิตสาธารณะ ทั้งศาสนาและการเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม เสียงปล่อยตามโดมเสียงหลายจุดสะท้อนเสียงของผู้เล่า อันถือเป็น "สาระถัตหลักและแหล่งชีวิตของพิพิธภัณฑ์" การจัดสรรห้องเฉพาะในนาม "ห้องโนมวูโย" (Nomvuyo’s Room) สำรองไว้เพื่อการวิจัยชีวประวัติ ซึ่งเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ที่ยังชีวิตให้แก่คนมากมายจากความยากจน แผนที่ เสื้อผ้า ป้ายบอกทางตามท้องถนน และภาพบุคคลที่ขยายใหญ่ ยังคงเป็นเนื้อความสำคัญของนิทรรศการ ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นการพูดคุยเพื่อการอนุรักษ์และการจัดสรรพื้นที่ นอกไปจากงานวิจัยและงานภัณฑารักษ์ที่ได้กำหนดไว้ พิพิธภัณฑ์ยังเปิดโอกาสให้ศิลปิน นักวิจัย อาสาสมัคร กลุ่มจัดตั้ง และผู้คนที่เคยอาศัยในเขตหกเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ กรอบการทำงานคือ การสร้างนิทรรศการมาจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ และทำหน้าที่ร้อยรัดส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน พิพิธภัณฑ์จะเป็นพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม จนเกิด "พื้นที่ของชีวิตและพลังสร้างสรรค์" ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ปฏิเสธความเป็น "วัตถุที่แน่นิ่ง รอเพียงการโลมเลียจากการเฝ้ามอง หากแต่ห่างไกล" ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์ต้อง "วิวัฒน์อย่างต่อเนื่องด้วยผู้ชมของพิพิธภัณฑ์" ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์เขตหกจึงมิใช่พื้นที่ที่เดียงสา และไม่ใช่พื้นที่ที่สร้างความจริงเดี่ยวๆ หากแต่พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่อิสระของการปรับเปลี่ยนด้วยกระบวนการ "ไป-กลับ" ระหว่างพิพิธภัณฑ์ ผู้ชม และเจ้าของวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้คือสาระของพิพิธภัณฑ์ ผลที่จะตามมาคือ ความเป็นชุมชนในพิพิธภัณฑ์จะปรากฏขึ้นเพื่อสานต่อการพูดคุย ตีความ และถกเถียงอย่างไม่จบสิ้น จุดนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อสถานภาพของพิพิธภัณฑ์ เพราะกรอบการดำเนินงานเช่นนั้นจะสนับสนุนให้กระบวนการฟื้นฟูที่ดิน หรือเรียกว่า "การกลับสู่บ้าน" ในเขตหกดำเนินไปอย่างลุล่วง เมื่อเขตหกได้วางแผนการพัฒนาและฟื้นฟูชุมชน พิพิธภัณฑ์ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงานทางวัฒนธรรมและการเมือง เพื่อ "ฟื้นคืนชีวิตชุมชน" ให้กับผู้ที่เคยจากถิ่นที่ในช่วงเวลาของอดีตที่มีการเลือกปฏิบัติ พิพิธภัณฑ์คาดหวังอย่างมากในการทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางของชุมชนในอนาคต ข้อท้าทายในงานพิพิธภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของวัฒนธรรมมีส่วนร่วมในทุกด้าน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การศึกษาและเผยแพร่ความทรงจำ และการบันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้สัมพันธ์โดยตรงต่อการฟื้นคืนภูมิทัศน์ทางกายภาพและทางสังคม ทิศทางขององค์กรและพันธะสัญญาต่อสังคม แม้จะมีการทำงานที่ยากลำบากและซับซ้อนปรากฏในงานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์เขตหกนี้ แต่การทำงานเช่นนี้เองคือ "กระบวนการทำให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์" (museumization) ที่วางเอาไว้ตั้งแต่แรกก่อตั้ง การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ได้กำหนดลักษณะการดำเนินการแบบองค์กร มีการจัดแบ่งส่วนงานอย่างชัดเจน งานคลังสะสม งานนิทรรศการ และงานการศึกษา รวมถึงการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครไปในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบัน สร้างพื้นที่สาธารณะที่ให้เกิดการวิเคราะห์ วิจารณ์ และนำไปสู่การสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพื่อตอกย้ำต่อการสร้างพื้นที่สำหรับความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมอย่างจริงแท้ ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์เขตหกมองตนเองว่าเป็น "พิพิธภัณฑ์ของกระบวนการ" นั่นหมายถึง พื้นที่ที่จะต้องการความสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยการบันทึก โต้แย้ง และตรวจสอบในหลากรูปแบบ ผลลัพธ์คือ สาระของพิพิธภัณฑ์ที่มาจากการจัดการอย่างเป็นขั้นตอน ความเป็นศูนย์กลางของพิพิธภัณฑ์อยู่ที่การรวบรวมความรู้ และแสดงออกผ่านการออกแบบนิทรรศการ การบันทึกและจัดเก็บเรื่องเล่าและดนตรี รวมถึงภาพถ่ายอย่างเป็นระบบ อนึ่ง การทำงานทั้งหมดนี้มาจากสมาชิกที่เคยอยู่อาศัยในชุมชน ความเชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์เพิ่มพูนขึ้น ด้วยการใช้ความรู้เชิงวิชาการเข้าไปกับสถานการณ์ของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ได้สถาปนาตนเองในฐานะขององค์กรเพื่อสาธารณะกิจ ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์จึงมีลักษณะที่โดดเด่นมิใช่น้อย จากมุมมองต่างๆ ที่ได้กล่าวถึง "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" สามารถใช้อธิบายลักษณะของพิพิธภัณฑ์เขตหก และยังเป็นแนวคิดที่ใช้กำหนดการทำงานของพิพิธภัณฑ์ในเรื่องการเมืองทางวัฒนธรรมสำหรับการศึกษาความทรงจำ พิพิธภัณฑ์มิได้ใช้แนวความคิด "ชุมชน" อย่างดาดๆ หากกลับเป็นความพยายามผลักดันให้การทำงานของพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบและการเคลื่อนไหวทางสังคม นิยามประเภทพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวสร้างกรอบการทำงานอย่างมีส่วนร่วมและนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งการตีความ การสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน และการมองงานพิพิธภัณฑ์ว่าเป็นกระบวนการที่เดินหน้าต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด พิพิธภัณฑ์ในฐานะโครงการจะดำเนินไปชั่วชีวิตของพิพิธภัณฑ์ ด้วยความสามารถและความเชี่ยวชาญของการจัดการภายในองค์กร และด้วยขบวนการโต้แย้งและโต้ตอบที่เคียงคู่ แนวคิดชุมชนของพิพิธภัณฑ์เขตหกมีลักษณะเชิงกลยุทธ์ และแสดงออกถึงความประสงค์ในการฟื้นฟูโครงสร้างสังคม ชุมชนด้วยตัวของมันเองเป็นจินตนาการมีที่ผลประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น ทั้งนิทรรศการ กิจกรรม และการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งกระบวนการเจรจาต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เขตหกจะวิวัตน์ต่อเนื่องด้วยการนิยามและการกำหนดกรอบของแนวคิด "ชุมชน" เรื่อยไป พิพิธภัณฑ์จะเป็นสถานที่ของการนิยามตัวตนของคนในสังคมภายหลังยุคการเลือกปฏิบัติ พิพิธภัณฑ์จะไม่ใช่สิ่งตายตัวเหมือนดั่งที่การเลือกปฏิบัติมักเลือกกระทำ **แปลและเรียบเรียงจาก Ciraj Rassol, "Making the District Six Museum in Cape Town," Museum International, No. 229-230 (vol. 58. No. 1-2, 2006), pp. 9 – 18. *** Ciraj Rassol ดำรงตำแหน่งอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เคป และเป็นผู้ดำเนินโครงการแอฟริกันในสาขาวิชาพิพิธภัณฑ์และมรดกศึกษา ท่านยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์เขตหก และประธานคณะกรรมการวิชาการของสภาการพิพิธภัณฑ์แอฟริกาสากล (International Council of African Museums - AFICOM) และมีงานวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษา มรดก ประวัติศาสตร์สื่อทัศน์ และประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับการต่อสู้

กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์กับความพยายามของภัณฑารักษ์

22 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ หรือ พิพิธภัณฑสถาน เป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาเก็บและจัดแสดงอย่างเป็นระบบ ซึ่งแต่ละแห่งแต่ละที่ ต่างก็มีแนวทางของตนเอง ตามปัจจัยทางด้านวัตถุและบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ดังในกรณีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทหน้าที่ในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นภารกิจหลัก ดังนั้นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมจึงมุ่งที่จะรวบรวมหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการขุดค้น ขุดแต่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเป็นหลัก เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์วิจัยวัตถุเหล่านั้น และนำผลการศึกษาที่ได้ เผยแพร่ในลักษณะของการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ตามหลักการของพิพิธภัณฑสถานวิทยา อันเป็นลักษณะเฉพาะของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งหนึ่งในสังกัดกรมศิลปากร ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ภายในเขตเมืองโบราณท้าวอู่ทอง อันเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีความสำคัญร่วมสมัยกับเมืองโบราณนครปฐม เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ มีอายุของแหล่งมากว่า 1,500 ปีล่วงมาแล้ว พิพิธภัณฑสถานฯ อู่ทองจัดตั้งขึ้นจากผลการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตภาคกลางฝั่งตะวันตกและภาคตะวันตก ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2509 วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ เป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ จัดอยู่ในรูปแบบศิลปะทวารวดี ที่เจริญขึ้นในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย กลุ่มศิลปะดังกล่าวมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โบราณวัตถุ ที่จัดแสดงและเก็บรักษาภายในความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ มีมากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในฐานะตัวแทนวัฒนธรรมยุคแรกเริ่มบนผืนแผ่นดินไทย และยังเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดานักศึกษาและนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่จะต้องเดินทางเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมวัตถุเหล่านี้ เป็นประจำทุกปี ทว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กลับประสบปัญหามีจำนวนผู้เข้าชมน้อย อันเป็นปัญหาเดียวกับพิพิธภัณฑสถานอื่นๆ ในประเทศไทย แนวทางที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เลือกใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การจัดกิจกรรมเชิงรุก ทั้งภายในและภายนอกพิพิธภัณฑ์ มุ่งสร้างสรรค์ให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต กระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นที่เยาวชนไทยเป็นหลัก เนื่องจากเห็นความสำคัญของการจัดทำพิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในรากฐานทางวัฒนธรรม และความเข้มแข็งของสังคม ดังคำกล่าวว่า "การรักษาวัฒนธรรมไทย คือการรักษาชาติ ผู้ทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับทหาร คือการรักษาความเป็นชาติ ในที่นี้ก็คือวัฒนธรรมประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในการบ่งบอกถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน และเยาวชนในฐานะผู้สืบทอด จึงควรได้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีรวมถึงวัฒนธรรมประจำชาติไว้เป็นพื้นฐานก่อนที่จะรับเทคโนโลยีจากภายนอกซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไป ในช่วงต้นปีการศึกษาของแต่ละปี ประมาณเดือนพฤษภาคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จะจัดทำหนังสือเชิญชวนให้คณะครูและนักเรียนภายในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทวารวดีที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และในแต่ละช่วงของปีงบประมาณยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งวัฒนธรรมในด้านอื่นๆ ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับพิพิธภัณฑ์หลายโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนเกิดความคุ้นเคยและกล้าที่จะเข้ามาใช้บริการภายในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างโครงการต่างๆ เช่น     - การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ในเดือนมกราคม     - กิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เดือนเมษายน     - กิจกรรมวันไทยทรงดำ เดือนเมษายน     - กิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติและวันพิพิธภัณฑ์ไทย(จัดเป็นกิจกรรมเดียวกันเนื่องจากเป็นวันที่ต่อเนื่อง)     - การจัดบรรยายและจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายทางด้านโบราณคดีสมัยทวารวดี     - โครงการเสริมสร้างความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแก่ครูสังคมศึกษา     - การจัดทำนิทรรศการพิเศษในวันสำคัญต่างๆ     - โครงการยุวชนพิพิธภัณฑ์ ให้ความรู้แก่นักเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ     - โครงการอบรมศิลปะภาคฤดูร้อน (แตกต่างกันในแต่ละปี เช่น ฝึกการทำเครื่องจักสาน ฝึกสอนดนตรีไทย ฯลฯ)     - พิพิธภัณฑ์สัญจรสู่สถานศึกษาและชุมชน ภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบงานด้านวิชาการและการศึกษา เป็นผู้กำหนดกิจกรรมและโครงการเหล่านี้ขึ้นโดยความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการจำนวนหนึ่ง ในขณะที่หลายกิจกรรมมุ่งเน้นให้เยาวชนมาร่วมกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ แต่กิจกรรมบางโครงการ มุ่งเผยแพร่ความรู้และสานต่อความรู้เหล่านั้นสู่สังคม เช่น การให้ความรู้แก่ครูผู้สอนสังคมศึกษาและผู้นำเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้มีความรู้ความสามารถ และปราชญ์ชุมชนหลายท่านหลายหน่วยงาน อาทิ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี รวมไปถึงศิลปินอาวุโสของจังหวัด ในจำนวนกิจกรรมเหล่านี้ กิจกรรมหนึ่งที่จัดภายนอกเขตพิพิธภัณฑ์ นั่นคือโครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร รูปแบบการดำเนินงานเป็นการนำนิทรรศการพิเศษและนิทรรศการเกี่ยวกับการแนะนำการให้บริการของพิพิธภัณฑ์ไปจัดแสดงยังโรงเรียนต่างๆ ทั้งภายในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยมุ่งที่จะปลูกจิตสำนึกในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดี โบราณสถานและโบราณวัตถุให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป เพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญของพื้นที่ตนที่มีต่อประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาติ และรู้จักพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากขึ้น กิจกรรมภายในโครงการจะแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา ใช้ระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์ ช่วงแรกเป็นกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีในแต่ละท้องถิ่น เป็นการแนะนำแหล่งโบราณคดีและความสำคัญของแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัดอย่างคร่าวๆ ประกอบนิทรรศการที่นำไปจัดแสดง และทิ้งป้ายนิทรรศการเหล่านั้นไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้ครูผู้สอนทำกิจกรรมกับนักเรียนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นอีก 1 - 2 สัปดาห์จะกลับไปเก็บนิทรรศการ เป็นช่วงเวลาของการประเมินผลการติดตั้งป้ายนิทรรศการว่านักเรียนได้เข้ามาศึกษามากน้อยเพียงใด โดยการแบ่งกลุ่มตอบคำถาม และออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน นอกจากการประเมินดังกล่าวจะเป็นการทดสอบความรู้แล้ว ยังเป็นการสร้างความกล้าแสดงออกให้กับเยาวชนและเพิ่มความสนิทสนมระหว่างภัณฑารักษ์และกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย หลังจากกิจกรรมตอบคำถามผ่านไป จะเป็นการประมวลความรู้ เพื่อนำไปใช้ได้จริง เช่นการแนะนำสถานที่ต่างๆ ให้กับเพื่อนต่างถิ่น เป็นต้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก รองศาสตราจารย์ชนัญ วงษ์วิภาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์สว่าง เลิศฤทธิ์ และ อาจารย์อมรชัย คหกิจโกศล จากคณะโบราณคดี ร่วมให้ความรู้กับเยาวชนเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาจะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดที่พิพิธภัณฑ์ไปทำกิจกรรม เช่น ถ้าทำกิจกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี ก็จะมีเนื้อหาการบรรยายที่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสุพรรณบุรีในด้านต่างๆ คือ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภาษาและวรรณกรรม ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ได้จัดกิจกรรมที่โรงเรียนต่างๆ ทั้งในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และต่างจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนบรรหาร-แจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์, โรงเรียนสระยายโสมวิทยา อำเภออู่ทอง, โรงเรียนสงวนหญิง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี,โรงเรียนสวนแตงวิทยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี, โรงเรียนสรวงสุทธาวิทยา อำเภอศรีประจันต์, โรงเรียนทุ่งคลีโคกช้างวิทยา อำเภอเดิมบางนางบวช, โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี และโรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมนิทรรศการสัญจร คือ เยาวชนในแต่ละท้องถิ่นมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยรวมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักพิพิธภัณฑ์และการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์มากขึ้น นักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนติดต่อกับพิพิธภัณฑ์เมื่อต้องการค้นคว้าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ขณะที่นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมของชาติต่อไป แนวทางการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์ออกสู่สายตาชุมชน ที่นอกจากจะกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์มีมากขึ้นแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ภัณฑารักษ์หวังไว้ ยังต้องการที่จะเสริมสร้างความรู้และต้องการแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่น เมื่อเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้พบเห็น จะได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์ * ลักษมณ์ บุญเรือง ภัณฑารักษ์ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑ์กับชีวิตของเมือง กลยุทธ์สำหรับการทำงานร่วมกับชุมชนเมือง

22 มีนาคม 2556

(ตอนที่ 1) บทความที่จะปรากฏต่อไปนี้มาจากการเก็บความจากหนังสือ "Museums in the Life of a City" Strategies for community partnerships. Washington D.C.: American Association of Museum, 1995. หนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ปี 1992 บทเรียนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยในการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อสาธารณชนในการให้การศึกษาอย่างแท้จริง มากไปการสร้างห้องนิทรรศการที่มีแต่ภาพ ป้ายบรรยาย หรือวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย แล้วกลับนิยามสถานที่ดังกล่าวนั่นว่า "พิพิธภัณฑ์" ปฐมบท การริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์กับชีวิตของเมืองมิได้ดำเนินการสะดวกและง่ายดายตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ระยะกลาง จนกระทั่งปิดโครงการ โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองหรืออาจจะเรียกว่าการพิสูจน์ให้เห็นถึงบริบทขนาดใหญ่ของความเป็นไปในสังคมอเมริกันและทัศนคติที่เปลี่ยนไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 คำว่า "เชื้อชาตินิยม" (racism) ยังเป็นประเด็นเล็กๆ ที่พูดคุยกันในพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นเมื่อเราเริ่มเขียนเค้าโครงการทำงานในปี 1989 เราได้ตั้งเป้าหมายไว้แต่ต้นว่า "โครงการจะพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และลดอคติและการเลือกปฏิบัติไปพร้อมกัน" เราได้เน้นย้ำถึง "การสร้างความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และชุมชนและความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมือง รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวผู้คนและวัฒนธรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น และเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองมากยิ่งขึ้น" เอกสารฉบับนี้เป็นการย้อนรอยการทำงานในทุกๆ ขั้นตอนจากแนวคิดจนถึงการประเมินการทำงาน รวมไปถึงข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อการทำงานของเรา โครงการเริ่มต้นมาจากการพูดคุยระหว่างตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อฤดูร้อนปี 1988 จากการริเริ่มของโจแอล แอน. บลูม (Joel N. Bloom) ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสมาคมพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกาและประธานพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สถาบันแฟรงคลิน ความคิดในขณะนั้นคือการริเริ่มโครงการที่จะเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์กับชุมชนที่รายล้อม ภายใต้ความอุปถัมภ์ของสมาคมพิพิธภัณฑ์อเมริกาและความร่วมมือกับเครือข่ายสถานที่เพื่อการพำนักอาศัย (Partners for Livable Places) คณะทำงานได้รับเงินสนับสนุนเมื่อปี 1990 จาก The Pew Charitable Trusts for Museums in the Life of a City: The Philadelphia Initiative for Cultural Pluralism หรือกองทุนสำหรับการสร้างความเข้าใจ้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในเมืองฟิลาเดลเฟีย การทำงานในโครงการนำร่องมาจากหลายฝ่าย ตั้งแต่สถาบันวัฒนธรรมและองค์กรงานเพื่อสังคมและศิลปะชุมชน โดยมีสำนักงานเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ประสานงานในเมือง ช่วงปีแรกเป็นห้องเวลาของการเก็บข้อมูล พัฒนาโครงสร้างการจัดการ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเมืองฟิลาเดลเฟียและองค์กรชุมชน เรานิยาม "ชุมชน" ที่กลุ่มคนที่ไม่ได้จัดว่าเป็นกลุ่มคนหลักตามที่มีการระบุไว้ในการสำรวจสำมโนประชากรสหรัฐอเมริกาปี 1990 (nonmajority categories used in the 1990 U.S. Census) ผู้ที่ถูกกระทำและเลือกปฏิบัติจากชนอเมริกันกระแสหลัก อันได้แก่ แอฟริกันอเมริกัน ลาติโนส์ เอเชียนอเมริกัน และชนพื้นเมืองอเมริกัน ส่วน "พิพิธภัณฑ์" กินความกว้างไปถึงห้องสมุด สวนสัตว์ และองค์กรทางประวัติศาสตร์ ระหว่างสองปีถัดมา เราได้ทำกิจกรรม 11 ครั้งเพื่อการนำร่องในการประสานความร่วมมือ ด้วยการสร้างศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอกิจกรรมกับสาธารณชน การผลิตจดหมายข่าว และการจัดประชุมความร่วมมือเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในอนาคต หน่วยงานต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือพันธมิตรเพื่อที่พำนัก (Partners for Livable Places) ได้จัดประชุมระดับชาติในฟิลาเดลเฟียโดยเน้นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสหรัฐอเมริกาและที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ จากการเริ่มต้น คณะกรรมการที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์และองค์กรชุมชนรวม 14 แห่งได้วางแนวทางปฏิบัติทั่วไป โดยมีโรเบริต์ ซอร์เรลล์ (Robert Sorrell) ประธานสันนิบาตเมืองฟิลาเดลเฟีย และโจแอล บลูม (Joel Bloom) เป็นประธานคณะกรรมการ ในช่วงปลายปี 1994 สองปีหลังจากโครงการนำร่องสำเร็จลง ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างที่มีการประชุมร่วมกับสมาคมพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา ข้อคิดแสดงถึงการริเริ่ม ความเสี่ยงและผลที่ได้รับ ความผิดหวังและความพึงพอใจ ความสนุกและความกังวล เพื่อเป็นข้อคิดให้กับองค์กรทางวัฒนธรรมและชุมชนในเมืองอื่นๆ เช่นฟิลาเดลเฟียได้ทดลองลงแรงในทิศทางเดียวกันบ้าง ความคิดริเริ่มของพวกเรางอกเงยมาจากการสนทนา ทั้งการรู้จักที่จะรับฟัง รับผิดชอบ และการโต้ตอบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามหรือการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง นั่นหมายถึง ความเคารพต่อผู้อื่นและการแสดงความคิดเห็นในบรรยากาศที่ไว้ใจซึ่งกัน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการสนทนา ถ้อยคำเหล่านี้มาจากผู้ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการระหว่างโครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมือง เริ่มต้นสำรวจความเป็นไปได้ โดย แอนน์ มินท์ซ (Ann Mintz) พิพิธภัณฑ์สามารถแสดงบทบาทในการเชื่อมสายใยของชุมชนได้อย่างไร? ประเด็นทางสังคมใดที่พิพิธภัณฑ์สามารถช่วยในการเปิดสู่สาธารณะ? โครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองออกเดินด้วยคำถามข้างต้นนี้ เมื่อตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในฟิลาเดลเฟียจัดการประชุมในระยะแรกๆ พวกเรามีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่สองประการ ได้แก่ การบ่งบอกถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เมืองกำลงเผชิญอยู่ และอภิปรายแนวทางที่พิพิธภัณฑ์สามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย เราได้พูดคุยกันให้ประเด็นที่หลากหลายแม้จะต้องใช้เวลานาน ทั้งเรื่องของยาเสพติดและอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเคหะและปัญหาการเร่ร่อน เด็กๆ ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง การตกงาน การแบ่งแยกทางเชื้อชาติและการเมือง ปัญหาความร่ำรวยของเมืองแต่ขาดความใส่ใจต่อลักษณะพหุวัฒนธรรม ทุนสนับสนุนที่ลดลง การให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ต่อชุมชนและครอบครัว รวมไปถึงการสร้างความตระหนักในความภาคภูมิของการเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อพื้นที่ด้วยการลงมือต่อต้านความยุ่งเหยิง เราได้อภิปรายถึงจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ที่เรามีและเราจะสร้างความแตกต่างอย่างไร "พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์" ใครคนหนึ่งในการประชุมกล่าวขึ้นมา เราเห็นด้วย แต่ปัญหาของเมืองอีกจำนวนไม่น้อยที่พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจะช่วยได้ พิพิธภัณฑ์กลับจะต้องผลักดันให้ตนเองเป็นหน่วยงานที่มีบทบาททางสังคม (social agencies) ตัวอย่างเช่น ขอบเขตการทำงานบางประเภทอยู่ในวิสัยที่พิพิธภัณฑ์ชำนาญการ การศึกษาและการสร้างความภาคภูมิใจของชุมชน หรือประเด็นอื่นอย่างการแบ่งแยกเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ที่เราสามารถเข้าไปเล่นบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ใครอีกคนหนึ่งในที่ประชุมกล่าวว่า "วัฒนธรรมเป็นจุดศูนย์กลางของการเยียวยาประเทศ" เราสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ และสรุปจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแบบฉบับคือ การจัดแสดง การตีความ และการสดุดีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฟิลาเดลเฟียอยู่ในข่ายของเมืองที่มีชุมชนหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างและหลากหลายเช่นนี้สามารถนำไปสู่การแบ่งแยก และหลายๆ ครั้ง ก็หมายถึงความขัดแย้ง เราจึงตัดสินใจว่า พิพิธภัณฑ์ควรสำรวจตนเองเพราะเหตุใดจึงมีกำแพงระหว่างเราและชุมชน แล้วเราจะสามารถสร้างเชื่อมต่อได้อย่างไร เราควรหาวิธีที่จะสดุดีความหลากหลาย เมื่อเรามองออกไปยังภายนอกคือ ชุมชนต่างๆ ในฟิลาเดลเฟีย แลมองกลับเข้ามาในระบบการทำงานของเรา เราควรพยายามเรียนรู้ว่าเหตุใดพิพิธภัณฑ์ไม่เคยจะสะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรม เราควรที่จะมีโอกาสเรียนรู้กันและกัน และเชื่อมโยงให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นแหล่งการเรียนรู้อย่างไม่เป็นอย่างทางการ รวมถึงรู้จักใช้ "มนต์มายา" ที่ตนมี สิ่งที่เราเรียนรู้ในเบื้องต้นนี้สามารถสรุปได้ 3 คำ คือ ขบวนการ ความอดทน และการเป็นหุ้นส่วนซึ่งกัน ขบวนการมีความสำคัญ เพราะเราจะต้องทำงานไปด้วยกัน เมื่อเราต้องใช้เวลาและความใส่ใจ ความอดทนก็เป็นสิ่งที่จะต้องมีในลำดับต้นๆ และในแต่ละขั้นตอนของการตัดสินใจ ทั้งเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือการพัฒนาโครงการ หุ้นส่วนที่แท้จริงก็คือกุญแจสำคัญ เราเริ่มออกเดินทาง โดย พอร์เทีย ฮามิลตัน-สเปียร์ (Portia Hamilton-Sperr) ในการเริ่มต้นโครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองเมื่อปี 1990 เรามองไปที่ลักษณะประชากร การเมือง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฟิลาเดลเฟีย รวมถึงบริบททางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เมืองมีแต่ความวุ่นวาย รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญกับปัญหาการเงิน ศีลธรรมของพลเมืองตกต่ำจนขีดสุด ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ค่านิยมดั้งเดิมกลายเป็นประเด็นไปทั่วประเทศ ประเด็นพหุนิยม ความหลากหลาย และพหุวัฒนธรรมนิยม และ "จริยธรรมการเมือง" กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อพิจารณาไปที่ประชากรในเมืองของอเมริกา เราไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นพหุนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่ 1980 ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุด กลุ่มประชากรเอเชียที่อยู่ในเมืองมากขึ้นเป็นสองเท่า หรือมากกว่า 43,000 คน และประชากรกลุ่มละตินเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 90,000 คน ตามข้อมูลที่อ้างอิงของบทความหนึ่งใน ฟิลาเดลเฟีย อินเควอรี เดือนมีนาคม 1991 "เมื่อต้นศตวรรษนี้ ประชากรในขณะนั้นประมาณ 1.6 ล้านคน ประกอบด้วยคนขาวร้อยละ 54 และคนดำร้อยละ 40 แต่ในยามนี้ 3 ใน 4 คือประชากรคนดำอาศัยในกลุ่มประชากรที่ 9 ใน 10 คนเป็นคนดำ" และอีกบทความหนึ่งพูดไปในทำนองเดียวกัน "ดังจะเห็นได้ว่าการแบ่งแยกมีมากขึ้นในเมืองต่างๆ อย่างฟิลาเดลเฟีย คนดำจำนวนหนึ่งขาดความสัมพันธ์กับคนดำชนชั้นกลางที่ย้ายไปยังชุมชนใหม่… จากเครือญาติระหว่างครอบครัวและเพื่อนที่เคยอยู่ในลักษณะข้อมูลช่องทางการทำงาน หรือวาระโอกาสอื่น กลายมาเป็นทะเลาะแบ่งแยก ชุมชนกลายสภาพเป็นโดดเดี่ยวมากขึ้น" เมื่อพิจารณาถึงบทบาทขอสถาบันทางวัฒนธรรมที่ควรจะมีหรือจะเป็นเพื่อการพัฒนาเมืองในยามที่ปัญหาแย่ลงเรื่อยๆ สถาบันควรคิดที่จะเข้าหามวลชนโดยตรงมากกว่าที่จะตระหนักถึงประเด็นทางสังคมบางประการ นั่นหมายถึง การคำนึงถึงการอยู่รอดทางการเงิน พิพิธภัณฑ์หลายแห่งคิดถึงความต้องการทางสังคมในลักษณะกว้างๆ หลายแห่งสนับสนุนการเข้าชมของเด็กที่มีรายได้ต่ำ หลายแห่งทำงานกับโรงเรียนรัฐหรือมีการจัดรายการท่องเที่ยว ในขณะที่อีกหลายแห่งจัดนิทรรศการที่ดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้เข้าชมหลักของพิพิธภัณฑ์ แต่มีพิพิธภัณฑ์น้อยแห่งมากที่ใคร่ครวญถึงปัญหาสังคมให้ตรงมากกว่านี้ จากเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งหมด การเริ่มต้นโครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองจึงเป็นความกล้าหาญจะทำสิ่งที่ต่าง และด้วยเจตนารมย์ที่ดี ข้าพเจ้าจำได้ดีว่าเมื่อเริ่มต้นการทำงาน ตัวแทนพิพิธภัณฑ์หลายแห่งกลับแสดงทีท่าที่ถ่อมตนหรือแอบระแวงสงสัย บางคนแสดงความไม่กระตือรือร้นแต่เริ่มแรก แล้วกล่าวกับพวกเราว่า "ก็ลองดูเพื่อความอยู่รอด" และอีกหลายคนแสดงความวิตกจริตเมื่อพวกเขาได้รับมอบหมายบางประการ เสมือนว่าเป็นความรับผิดชอบที่เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกไปจากนี้ เรายังต้องคอยที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงผลการทำงานที่จะแตกต่างไปจากกิจกรรมเพิ่มจำนวน "ผู้เข้าชมที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชมหลัก" ในพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ดี เราคงยืนยันถึงการทำงานแบบเข้าหามวลชนว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมและการศึกษาของชุมชนต่างๆ ในเมือง กุญแจสำคัญคือ พยายามรั้งเด็กๆ ไว้ที่โรงเรียน สอนให้พวกเขาเข้าใจความหมายของการทำงาน กิจกรรมสร้างสรรค์ การต่อสู้กับยาเสพติดและความรุนแรง และการฟันฝ่าเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการสุขภาพ เราจึงเสนอแนะว่าในกระบวนการศึกษา พิพิธภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมควรย้อนสำรวจทรัพยากรที่จะเชื้อเชิญให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ในความพยายามครั้งใหม่นี้ คณะกรรมการวางแผนวางเป้าหมายสำหรับโครงการนำร่องไว้ ดังนี้     โครงการจะพัฒนาการสื่อสารระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในฟิลาเดลเฟีย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งในคุณค่าของชุมชน และความต้องการอื่นๆ     โครงการจะสาธิตให้เห็นวิธีการและช่องทางในการรับใช้ต่อพลเมืองซึ่งมีวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กระแสหลัก เช่น อเมริกันแอฟริกัน เอเชียนแอฟริกัน ลาติน และชนพื้นถิ่นอเมริกัน     โครงการจะก่อร่างรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างคู่สัมพันธ์ (ชุมชนและพิพิธภัณฑ์) พร้อมไปกับหัวหน้าชุมชนและคนทำงานพิพิธภัณฑ์สามารถตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ร่วมกัน     โครงการจะเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑ์และชุมชนในการเข้าไปแก้ปัญหาร่วมสมัยด้วยกลยุทธ์แบบมีส่วนร่วม ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่     โครงการจะผลักดันให้ชุมชนเข้ามาร่วมงาน และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์และกรรมการคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมือง     โครงการมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงโครงการนำร่องเท่านั้น     กิจกรรมจำนวน 41 กลุ่มเข้าร่วมในโครงการ 11 กลุ่มได้รับเงินสนับสนุนจากข้อแนะนำของผู้นำต่างๆ ของข่ายงานวัฒนธรรมที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม อันประกอบด้วย     โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 โครงการ ด้านหนึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์และอีกด้านหนึ่งเป็นทัศนศิลป์ โครงการให้เด็กในวัยเรียนเข้ามามีส่วนร่วม     โครงการประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า โครงการหนึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเคหะสาธารณะ และอีกโครงการหนึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มเพื่อนบ้านที่ต่างกันสองกลุ่ม     โครงการวิจัยในการสำรวจแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมกัมพูชา     โครงการสำรวจประเด็นทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์การเดินเรือที่จะให้เด็กและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม     โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับวัฒนธรรมแอฟริกาและกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อนักเรียนระดับประถมศึกษา     โครงการกิจกรรมปฏิบัติการอำนวยความสะดวกในการเข้าใช้ศูนย์บริการชุมชน สวน และห้องสมุด     โครงการปฏิบัติการละครและทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการภาพวาดโดยศิลปินแอฟริกันอเมริกันที่มีชื่อเสียง รวมถึงการจัดอบรมศิลปะการแสดงให้กับกลุ่มวัยรุ่น     โครงการกิจกรรมครอบครัวเพื่อสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมในกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติที่หลากหลาย (ตอน 2) บทความที่จะปรากฏต่อไปนี้มาจากการเก็บความจากหนังสือ "Museums in the Life of a City" Strategies for community partnerships. Washington D.C.: American Association of Museum, 1995. หนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ปี 1992 บทเรียนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยในการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อสาธารณชนในการให้การศึกษาอย่างแท้จริง มากไปการสร้างห้องนิทรรศการที่มีแต่ภาพ ป้ายบรรยาย หรือวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย แล้วกลับนิยามสถานที่ดังกล่าวนั่นว่า "พิพิธภัณฑ์" การสนับสนุนเครือข่าย ซินเธีย พริมาส์ (Cynthia Primas) เมื่อมีการรวมตัวเป็นองค์กรใหม่ๆ องค์กรในเครือข่ายอภิปรายถึงความหวังและความคาดหวัง แน่นอนฟังดูน่าตื่นเต้นและในบางครั้งกลับกระตือรือร้นจนเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นให้มีความภูมิใจในตนเองและการฝึกฝนอาชีพ การสร้างเครือข่ายงานพิพิธภัณฑ์ การรณรงค์ค่านิยมของชุมชน การทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมในระดับที่ลึก หรืออะไรก็ตามแต่ จริงๆ แล้วเมื่อเราจะต้องทำงานร่วมกัน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่บุคลิกภาพส่วนบุคคล และของกลุ่มเอง จากนั้นเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มในระดับต่างๆ กลุ่มที่ทำงานร่วมกันได้ดีย่อมมีวิญญาณเป็นของกลุ่มเอง เมื่อนั้นบรรยากาศของการทำงานจะนำพาให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างแต่ละคนที่เข้ามาทำงาน เราค่อนข้างตื่นเต้นในยาแรกเห็นการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นระหว่างคนในชุมชนและคนพิพิธภัณฑ์ ประสบการณ์ดังกล่าวไม่เคนเกิดขึ้นมาก่อน ทีมงานไม่ได้กำหนดการทำงานตามที่ได้วางแผนไว้แล้ว หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแท้จริง ทั้งทรัพยากรที่มีอยู่และความร่วมมือ สิ่งนี้เองที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ในระยะยาว เราตระหนักได้ถึงอิสระในการลงมือทำและการตั้งคำถามที่มาจากสมาชิกที่เข้าร่วมงาน แม้เราจะเล็งเห็นถึงอุปสรรคที่เกิดมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่เรายังคงยืนยันที่จะไม่ทำงานภายใต้การวางแผน ซึ่งอาจจะทำให้งานลุล่วงไปได้มากกว่า เรากลับใช้ระบบที่เรียกว่า "วิจัยเชิงปฏิบัติการ" (action research) นั่นหมายถึง กระบวนการเก็บข้อมูลที่มาจากมุมมองของสมาชิกในกลุ่มที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานจริง ในกระบวนการเช่นนี้ สมาชิกแต่ละคนสามารถใช้ข้อมูลที่พวกเขาได้สังเคราะห์ด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตามแนวคิดที่กล่าวไว้นี้ ผลลัพธ์ที่เราปรารถนาคือ กระบวนการมาจากกลุ่มที่ทำงานเอง และจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติงานในขั้นริเริ่มได้ทำหน้าที่ในการผลักดัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปบอกให้สมาชิกในทีมงานทำเช่นนั้นเช่นนี้ ในการทำงาของเรา เราเน้นที่ความเท่าเทียมและนำเอาคนที่มีค่านิยมและการมองโลกที่แตกต่างมาเสริมการทำงานซึ่งกัน ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มใจไม่น้อยเมื่อได้รับข้อความหนึ่งจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ "ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และความพยายามในการผลักดันการทำงานไปในกระแสของสายน้ำต่างวัฒนธรรม เพื่อให้กลายเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่มีพลวัต" คำตอบที่ข้าพเจ้าได้มานี้ย้ำความจริงหนึ่งที่ว่าผลงานและกระบวนการจะต้องดำเนินไปด้วยกัน เพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จอังที่ตั้งหวังไว้   การทำงานร่วมกัน   โครงการวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของบ้านจอห์นสัน (Johnson Homes Oral History Video Project) โดยสภาผู้อยู่อาศัยในบ้านจอห์นสัน สมาคมเคหะสถานของวาล์เลย์เดอลาแวร์ และห้องสมุดสาธารณะฟิลาเดลเฟีย (Johnson Homes Tenant Council, Housing Association of Delaware Valley, Free Library of Philadelphia) โครงการวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการเคหะสถานเจมส์ เวลดอน จอห์นสัน (James Weldon Johnson Homes) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการแรกในฟิลาเดลเฟียเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากตัวแทนจากห้องสมุดสาธารณะฟิลาเดลเฟียและสมาคมเคหะสถานของวาล์เลย์เดลลาแวร์ ผู้ที่อาศัยในบ้านจอห์นสันเข้ารับการอบรมการวิจัยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า การผลิตวีดิทัศน์ และภาวะผู้นำ ผู้ที่ร่วมโครงการวางแผนการผลิตวีดิทํศน์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและความทรงจำจากผู้อยู่อาศัยอาวุโสเกี่ยวกับช่วงปีแรกๆ เข้ามาอยู่ในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งวันหนึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสูญหายไป แม้ว่าในช่วงแรกโครงการบ้านจัดสรรจะมีสวัสดิการสังคมและกิจกรรมพักผ่อนไม่น้อย แต่งบประมาณกลับถูกตัดและกิจกรรมหลายอย่างงดไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะผู้นำที่มีพลังจากสมัยของ แนลลี่ เรย์โนลด์ส (Nellie Reynolds) ซึ่งต่อมาประธานได้เป็นประธานสภาผู้อาศัย ทำให้บ้านในโครงการหลีกพ้นหลุมพลางจากโครงการพัฒนาอื่นๆ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเป็นเรื่องราวของพวกเขา เรื่องราวที่บ่งบอกความสำเร็จ การต่อสู้กับความขัดแย้ง และความเคลื่อนไหวในสิทธิของการตัดสินใจที่จะจัดการการพำนักอาศัยในสถานที่ดังกล่าวด้วยตนเอง ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ ลินดา โชเปส (Linda Shopes) นักประวัติศาสตร์คำบอกเล่าจากคณะกรรมการประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เมืองฟิลาเดลเฟีย ได้จัดการอบรมการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่า และตัวแทนจากศูนย์สคริปววิดีโอ (Scribe Video Center) ได้สอบเทคนิคการผลิต รวมไปถึงความร่วมมือจากตัวแทนของห้องสมุดสาธารณะและที่ปรึกษาจากสาขาต่างๆ ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคการทำวิจัยประวัติศาสตร์บอกเล่า เรียกได้ว่าเป็นทักษะที่มีคุณค่าที่เปิดประตูให้พวกเขาได้สร้างสรรค์แผนที่และข้อมูลอื่นๆ ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจเกี่ยวกับพื้นที่ที่เขาพำนักอาศัย คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าสมุดเลยหลังจากออกจากรั้วโรงเรียนกลับพบความน่าสนใจและส่งผลให้พวกเขากลับไปอีกหลายต่อหลายครั้ง     การเข้าหาชุมชนด้วยมุมมองทางศิลปะและการถ่ายทอดความรู้     โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย, Taller Puertorriqueno, Congresso de Lqtinos Unidos โครงการนี้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนในการทำกิจกรรมกับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 5 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดย Taller Puertorriqueno และ Congresso de Lqtinos Unidos และนักเรียนในระดับวิทยาลัย ผู้ได้รับการคัดเลือกโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย การอบรมดังกล่าวมีระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่จะจัดกิจกรรมให้กับเด็กจำนวนหลายพันคนตามค่ายในเมืองและศูนย์พักผ่อนและกีฬาต่างๆ ในสามอาทิตย์แรกเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เข้ารับการอบรม พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ดำเนินการอย่างไรด้วยการพบปะภัณฑารักษ์และผู้บริหาร ได้สังเกตการการจัดรายการกิจกรรมต่างๆ ได้สำรวจแง่มุมต่างๆ จากงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นที่ตั้งอยู่ในฟิลาเดลเฟียและนิวยอร์ก เอมมี่ ยาเรด (Amy Jared) และเจ้าหน้าที่ในแผนกการศึกษาบรรยายและสาธิตการใช้ประโยชน์ในห้องจัดแสดงและห้องปฏิบัติงานศิลป์ และบอกเล่าถึงวิธีการวางแผนกิจกรรมเพื่อการศึกษา ในระหว่าง 5 สัปดาห์ที่เหลือ เด็กๆ จะได้รับผิดชอบอยู่ในทีมการสอนอย่างเป็นอิสระ แต่ละคนจะมีโอกาสได้สังเกตการณ์ซึ่งกันและกัน และประเมินผลการทำงาน เด็กมีห้องที่ใช้เตรียมบทเรียนที่จะนำกลับไปยังชุมชนของตนเอง พวกเขาได้จัดอบรมการพิมพ์ให้กับเด็กๆ ในโครงการภาคฤดูร้อนเทเลอร์จำนวน 45 คน ส่วนในช่วงเปิดเทอม เด็กจากโรงเรียนทั้ง 5 แห่งจะพบกันที่ Taller Puertorriqueno เพื่อเตรียมการและสอนกิจกรรมให้กับชุมชน จากนั้นพวกเขาได้เตรียมงานศิลปะบนกำแพงสำหรับฤดูใบไม้ผลิ อัลแบร์โต แบร์เซอรา (Alberto Becerra) ศิลปินเชื้อสายลาตินผู้ที่เป็นที่รู้จัก ทำหน้าที่ผู้ประสานงานของโครงการ เขาได้นำนักเรียนเข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยบริน มอร์ และเฮเวอฟอร์ด (Bryn Mawr and Haverford Colleges) ทั้งผลงานศิลปะ การตระเวนในวิทยาเขต และการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเรียนเชื้อสายสเปน จุดประสงค์สำคัญอยู่ที่การเพิ่มความตระหนักของนักเรียนต่อช่องทางการทกำงานในอนาคต เมื่อพิจารณาโครงการในมิติของความร่วมมือ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้สร้าง "สะพาน" ที่เชื่อต่อไปยังชุมชนในระดับที่กว้างมากขึ้น โครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองผลักดันให้ส่วนงานที่รับผิดชอบกิจกรรมความร่วมมือนอกองค์กรจัดทำโครงการที่หลากหลายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสานต่อไปในอนาคต กิจกรรมหนึ่งที่ทำให้พันธกิจเกี่ยวกับการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นไปได้ดีคือการจัดพิมพ์จดหมายข่าว เนื้อหาสาระที่ปรากฎในจดหมายข่าวเกี่ยวข้องกับการสำรวจศิลปินเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่มีงานสะสมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อสานสร้างความสัมพันธ์กับองค์ชุมชนแอฟริกัน-อเมริกัน กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน และเอเชีย     เสียงจากชุมชนพอยต์ บรีซ โดยพิพิธภัณฑ์ แอทวอเตอร์ เคนท์ (Atwater Kent Museum) ศูนย์การเรียนระหว่างชั่วคน มหาวิทยาลัยแทมเปิล สมาพันธ์พอยต์ บรีซ และศูนย์ศิลปะการแสดงพอย์ต บรีซ ความร่วมมือดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากความพยายามในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าในย่านพอยต์ บรีซ เมืองฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่ช่วงปี 1920 จนถึงปัจจุบัน ทีมงานที่เป็นคู่จะได้รับการอบรมให้สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ทั้งคนที่เคยอาศัยอยู่และยังที่พำนักอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มาจากกลุ่มเชื้อสายและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ได้รับการถ่ายทอดในเอกสารเพื่อใช้พัฒนาเป็นดนตรี ละคร และการแสดงสำหรับการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนในอนาคต จุดประสงค์ของโครงการคือ การช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยด้วยการสำรวจเรื่องราวของชุมชนด้วยตนเอง สิ่งที่ผู้จัดโครงการย้ำต่อคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ "พวกเธอทั้งหลายเป็นเจ้าของเรื่องราวของตนเอง ไม่มีใครที่จะแย่งชิงไปได้… สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบันทึกและแบ่งปันเรื่องราวให้กับผู้คนรุ่นต่อไปที่จะเกิดขึ้นมา" กลยุทธ์อักประการหนึ่งของโครงการคือ การจับคู่ระหว่างคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ให้ทำงานเคียงคู่กันไป คนสองชั่วอายุจะเรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน และพัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ่งมากขึ้นตลอดการทำงาน ตัวอย่างเช่น เราให้ทั้งคู่มาปฏิบัติการร่วมกันในการสร้าง "แผนภาพในจินตนาการ" ของพอย์ต บรสที่แตกต่างไปในแต่ละชั่วอายุคน นั่นหมายความว่าคนในพื้นที่รับรู้ต่อพื้นที่แตกต่างกันไปอย่างไร พวกเขาจะได้เรียนรู้เทคนิคการสัมภาษณ์กับลินดา โชเปส คือผู้ที่เคยดำเนินโครงการในแบบเดียวกันนี้ที่บัลติมอร์ 4 ใน 8 คณะได้เข้าร่วมการอบรมตลอดโครงการ และได้สัมภาษณ์มีจำนวนถึง 45 ชุด เทปจากการสัมภาษณ์ได้รับการถอดเป็นเอกสารการสนทนาเพื่อใช้จัดพิมพ์ต่อไป แม้ว่าคนที่ให้สัมภาษณ์จะมีความแตกต่างในเรื่องขออายุ แต่ผู้จัดก็ดูจะผิดหวังเล็กน้อยกับกลุ่มชาติพันธุ์ของคนที่ให้สัมภาษณ์กลับไม่หลากหลายเท่าไร คนขาวผู้เคยอาศํยในพอย์ต บรีซกลับไม่ยินดีมากนักในการร่วมมือสัมภาษณ์ และผู้ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่เป็ยเชื้อสายเอเชียก็ไม่ได้ใส่ใจต่อโครงการมากเช่นกัน แต่งานยังคงดำเนินต่อไป กิจกรรมและความตั้งใจเช่นนี้ต้องการเวลา อย่างน้อยๆ ข่าวคราวที่ได้ยินมาล่าสุดนี้ก็ดูจะพัฒนามาจากการทำงานก่อนหน้านั้น ผู้คนในย่านดังกล่าวเริ่มเคลื่อนไหวจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชุมชนเล็กๆ ของตนเอง     เราเคยเป็นใคร เราคือใครในปัจจุบัน โครงการฝึกปฏิบัติงานนี้พัฒนาขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลายประการ ทั้งการสร้างฐานความร่วมมือสำหรับการวิจัยระหว่างองค์กรที่เข้าร่วมการทำงาน การจัดอบรมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมปลายในการเขียนและการตรวจแก้ไข รวมไปถึงทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการเริ่มต้นสำรวจประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้เคยมีการเก็บรวบรวมมาก่อนในย่านเยอรมันทาวน์-ลีไฮในตอนเหนือของกลางฟิลาเดลเฟียกลาง ข้อมูลจากการสำรวจและบันทึกเน้นไปที่พื้นที่โรงเรียน ย่านธุรกิจ และโครงการบ้านจัดสรร ผู้ที่อาศัยมาเป็นเวลานานจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับกลุ่มเชื้อสายต่างๆ โรงเรียน ก๊วน และความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงระหว่างอเมริกันเชื้อสายยิวและอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในช่วงทศวรรษที่ 1960 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะเขียนบทความและจัดพิมพ์ในจดหมายข่าวของชุมชนหรือ Community Messenger พวกเขาจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อการใช้งานของชุมชนในอนาคต เนื้อหาได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปในกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เลน เซงวิลล์ (Len Zengwill) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จัดทำรายชื่อผู้ที่อาศัยในพื้นที่ระยะเวลายาวนานจำนวน 20 คน นอกจากนี้ เขาได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนในพื้นที่อื่นๆ เข้ามาร่วมโครงการด้วย เซงวิลล์และ คาเรน มิทเทลแมน (Karen Mittleman) จากพิพิธภัณฑ์ทำงานร่วมกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการในการบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ จับกลุ่มเนื้อหาในประเภทเดียวกัน และเสนอแนะคำถามใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูล เมื่อเด็กๆ ที่เข้

เด็ก ๆ เพลินใจในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร?

15 พฤษภาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือวิทยาศาสตร์โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ" จากความหมายที่บัญญัติ พิพิธภัณฑ์จึงน่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเยาวชนจะได้รับความรู้จากพิพิธภัณฑ์แล้ว พวกเขาควรจะได้รับความเพลิดเพลินใจจากการชมพิพิธภัณฑ์กลับไปด้วย แต่สิ่งที่ปรากฏในความเป็นจริง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เยาวชนอย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับความเพลิดเพลินใจ พิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่? ความหมายของพิพิธภัณฑ์ อาจเป็นแนวทางให้พิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปได้คิด และทบทวนว่า พิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าของตนเองดีแล้วหรือยัง ภัณฑารักษ์ อาจกำลังคิด และหาแนวทางสำหรับการนำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ หรือกำลังคิดจัดทำนิทรรศการชั่วคราวในเรื่องต่อไป แต่ความเพลิดเพลินใจที่เยาวชนควรได้รับก็น่าจะเป็นหน้าที่ที่ภัณฑารักษ์ควรพัฒนาด้วยเช่นกัน ในพิพิธภัณฑ์ Australian Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และการศึกษาเรื่องคนพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงของประเทศออสเตรเลีย ได้จัดให้มีโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเด็กขึ้นในทุกๆ สุดสัปดาห์และในทุกๆวันหยุด โดยจัดเป็นเหตุการณ์พิเศษ กิจกรรมพิเศษ และ กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เช่นกิจกรรมในวันครอบครัว (Family Day) ที่พิพิธภัณฑ์เป็นผู้จัด เป็นกิจกรรมฝึกการทำผลงานหัตถกรรม เกมปริศนา และการเล่นเกม โดยกิจกรรมดังกล่าวจะมีความแตกต่างกันตามส่วนต่างๆของพิพิธภัณฑ์ และ Theme เนื้อเรื่องของพิพิธภัณฑ์ การดำเนินกิจกรรม Family Day ของพิพิธภัณฑ์ Australian Museum ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมกิจกรรม แต่อาศัยลักษณะการเข้าร่วมกิจกรรมแบบ "ใครมาก่อนได้ก่อน" และมีการกำหนดอายุเยาวชนในการเข้าร่วมกิจกรรม คืออายุไม่เกิน 5ปี อีกตัวอย่างสำหรับ พิพิธภัณฑ์ Australian Museum คือ การสร้าง "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" (Kids Island) สำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเปิดเมื่อกลางปี ค.ศ.1999 "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" เป็นสวนสนุกแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แบบ Interactive ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทุกอย่างจากการปฏิบัติ การก่อสร้าง "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" นี้ เป็นการระดมความคิดจากทีมงานพิพิธภัณฑ์ นักการศึกษา นักนิเวศวิทยา และสถาปนิก ทั้งหมดได้ประชุมและหารือเพื่อสร้างและออกแบบ ภายใน "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมมากมาย เช่นการล่องเรือจำลองเพื่อใช้เครื่องมือจำลองในการจับปลาของเล่น การไต่ ขึ้นลงทางลัดชันภายในบอลลูนจำลอง กิจกรรมการสำรวจชีวิตของตัววอมแบท (Wombat) ในโพรงไม้ เป็นต้น ความรู้ที่เด็กได้รับจากสถานที่นี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสแห่งความสนุกสนานให้กับเด็กไปพร้อมกัน กิจกรรมตัวอย่างที่กล่าวมานี้ สามารถตอบโจทย์ของงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างดีว่า พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจได้อย่างไร การกำหนดกรอบเนื้อเรื่อง และเนื้อหาคือสิ่งแรกที่พิพิธภัณฑ์ต้องคิดออกมาให้ได้ว่าจะนำเสนอเรื่องใดที่เหมาะสมกับเด็ก เช่นเดียวกับที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ท (Victoria and Albert Museum) ประเทศอังกฤษ โปรแกรมสำหรับกิจกรรมเยาวชนเริ่มต้นที่ช่วงอายุ 11-18 ปี โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นการสร้างสรรค์ (Create Workshop) และส่วนที่เป็นการแข่งขัน (Competitions) ส่วนที่เป็นการสร้างสรรค์จะจัดเป็นกิจกรรม Workshop ในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน โดยในช่วงเวลานี้พิพิธภัณฑ์จะกำหนดโปรแกรมกิจกรรมภายใต้หัวเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ หรืออาจจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงไปสู่นิทรรศการที่จัดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เช่นในช่วงตุลาคม - ธันวาคม 2006 พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ท ได้จัดนิทรรศการ ลีโอนาโด ดาร์วินชี : การทดลอง และประสบการณ์จากการออกแบบ (Leonardo da Vinci : Experience, Eeperiment and Design) การจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก จึงมีการเชื่อมโยงเนื้อหาจากนิทรรศการออกมาดังนี้     กิจกรรมช่างคิดช่างประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมที่ประยุกต์เทคโนโลยีมาผสานกับเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดให้กับเด็ก โดยให้เด็กได้ออกแบบประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ โดยให้ได้แรงบันดาลใจจาก ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เมื่อออกแบบได้แล้วเด็กๆจะนำผลงานนั้นสแกนลงเครื่องคอมพิวเตอร์และออกแบบอีกครั้งด้วยโปรแกรม Phototoshop เมื่อได้ผลงานมาแล้วจะนำผลงานนั้นสกรีนลงเสื้อยืด หรือสิ่งของอื่นๆ เช่นแก้วน้ำ กล่องดินสอ เป็นต้น     - กิจกรรมสร้างการ์ตูนลีโอนาร์โด ดาร์วินชี โดยเด็กจะสร้างตัวการ์ตูนโดยเรียนรู้ลักษณะนิสัย การดำเนินชีวิตของ ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี เพื่อสร้างเป็นตัวการ์ตูน ตามจินตนาการของเด็กแต่ละคน โดยการวาดลงบนกระดาษแล้วจึงเปลี่ยนภาพที่ได้ให้อยู่ในรูปแบบดิจิตัล และตกแต่งด้วยโปรแกรม Photoshop อีกครั้ง กิจกรรมดังกล่าว ได้เชื่อมโยงเนื้อหาที่พิพิธภัณฑ์ต้องการถ่ายทอดไปสู่เด็ก ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และน่าสังเกตว่ากิจกรรมทั้งหลายได้ผสมผสานระหว่างการทำงานด้วยมือ และกิจกรรมที่ทำด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เข้ากันอย่างลงตัวและ ผลงานที่ได้จากกิจกรรมยังสามารถนำไปแสดงในนิทรรศการดังกล่าวได้อีกด้วย สำหรับในส่วนของการแข่งขัน พิพิธภัณฑ์อาจกำหนดหัวข้อในการแข่งขัน เพื่อให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมสร้างผลงาน และการแข่งขัน จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความตื่นตัวที่จะสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด เช่นการแข่งขันการออกแบบเสื้อผ้า ที่ให้เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 11 - 18 ปี มาแข่งขันออกแบบเสื้อผ้า และผู้ชนะเลิศยังสามารถตัดเย็บและจัดงานแฟชั่นที่เป็น Collection ของตัวเองได้อีกด้วย การแข่งขันอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนักในทางมานุษยวิทยา เพราะการแข่งขันทำให้เกิดการเอาชนะ และเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก แต่ในชีวิตจริงเด็กๆเหล่านี้ก็ต้องพบกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงกว่ากิจกรรมในพิพิธภัณฑ์หลายเท่านัก การเลือกเอาส่วนดีของกิจกรรมการแข่งขันมาใช้จึงน่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Science Museum) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานและเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ มีโปรแกรมสำหรับเด็กและเยาวชนมากมาย นอกเหนือจากกิจกรรมในรูปแบบครอบครัวซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญเป็นตัวหลักในการจัดกิจกรรมแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดโปรแกรม "ค่ำคืนแห่งวิทยาศาสตร์" (Science Night) ซึ่งเป็นกิจกรรมเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กอายุ 8 - 11 ปี โดยใช้เวลา1วัน1 คืนที่พิพิธภัณฑ์ เพื่อเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วยกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่นกิจกรรม Workshop การสาธิตทางวิทยาศาสตร์ การสะกดรอยแนวทางนักสืบภายในพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆไม่เคยได้พบเห็นในเวลากลางวัน การอยู่รวมกัน และการได้พบเห็นสิ่งที่แปลกใหม่ทั้งเพื่อน และสิ่งรอบกาย จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมากมายแก่เด็ก เพียงหนึ่งคืนสำหรับกิจกรรม "ค่ำคืนแห่งวิทยาศาสตร์" จึงเป็นค่ำคืนที่น่าประทับใจไม่น้อย ไม่เพียงแค่ที่พิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่เด็กๆจะสามารถทำกิจกรรมได้ การให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ แล้วกลับไปทำแบบฝึกที่บ้านผ่านทางเทคโนโลยีเครือข่าย ก็เป็นแนวทางกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Science Museum) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ได้ดำเนินกิจกรรมนี้เช่นกัน โดยเนื้อหาภายในเวบไซต์ ของ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (www.sciencemuseum.org.uk/education) จะมีส่วนของกิจกรรมที่ให้เด็กทำที่บ้าน จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมที่ให้เด็กได้ทำคือการเป็นนักสืบโดยดูวัตถุสิ่งของในเวบไซต์ แล้วเขียนบอกรายละเอียด โดยวัตถุเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้วทั้งสิ้น การดำเนินการเช่นนี้อาจมีการเตรียมตัวจากผู้ปกครอง หรือ ครู ไว้ก่อนว่าเด็กควรจะสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ เพราะจะมีแบบฝึกหัดให้เด็กๆ ได้ทำในเวบไซต์ หรืออาจให้เด็กได้ดูภาพจากเวบไซต์ก่อน แล้วจึงให้เด็กไปค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มตามจากพิพิธภัณฑ์อีกทีก็ได้ กิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดขึ้นและสามารถทำได้ในพิพิธภัณฑ์ การศึกษาเรียนรู้กิจกรรมจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ จึงเป็นแนวทางให้ภัณฑารักษ์ และผู้ที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็กพัฒนากิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ และระดับอายุของเด็ก เพราะถึงอย่างไร การเรียนรู้สำหรับเด็กที่ดีที่สุดก็คือ การปฏิบัติกับสิ่งของที่อยู่รอบตัว สิ่งที่ผู้ใหญ่จะทำได้ก็คือ การกำหนดกรอบ ขอบเขต และเนื้อหาของกิจกรรมเพื่อเป็นตัวจุดประกายให้กับเด็กในการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองต่อไป แล้วพิพิธภัณฑ์ก็สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ข้อมูลประกอบการเขียน www.austmus.gov.au www.vam.ac.uk และ http://www.sciencemuseum.org.uk

จากงานชิ้นเอกสู่วัตถุจัดแสดง: ของศักดิ์สิทธิ์และของสามัญในพิพิธภัณฑ์

22 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์มีหลากหลายประเภท อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทั้งที่เป็นพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ ภูมิภาค หรือกระทั่งในสถานศึกษา พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต่างมีแนวทางความต้องการของตนเอง รวมถึงการเลือกวัตถุที่จะนำมาจัดแสดง นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นตัวกำหนดแนวทางการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ อย่างไรก็ดีอาจยังมีคำถามตามมาอีกว่า "ทำไมต้องเป็นวัตถุชิ้นนั้น ทำไมไม่เลือกวัตถุชิ้นนี้ ? ทำไมต้องเก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย ? แล้วในการจัดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการขนาดเล็กหรือใหญ่ ทำไมเราไม่จัดแสดงวัตถุตามบริบทและวัตถุประสงค์การใช้งานดั้งเดิมของวัตถุ ? พิพิธภัณฑ์ควรจะส่งคืนคอลเล็กชั่นที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ให้กับชุมชนพื้นถิ่นเดิมหรือเปล่า ? หรือในทางตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์ไม่ควรปรับเปลี่ยนความหมายของของศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งสำหรับการจัดแสดงใช่รึเปล่า ? ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ "งานชิ้นเอก สมบัติล้ำค่า และของบรรดามี…" ( Masterpieces, Treasures and What Else… ) ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยาเมืองลียง (ฝรั่งเศส) ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คนที่อยู่ในวงการพิพิธภัณฑ์ ต่อประเด็นในนิทรรศการดังกล่าว Krzysztof Pomain ผู้อำนวยการสถาบัน Ecole des Hautes Etudes en Sciences Sociales in Paris มีความเห็นว่า "เราเก็บรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ด้วยเหตุผลเดียวกับการที่เราฝังศพ ในระยะยาวเราสามารถไปเคารพหลุมศพ เป็นการเก็บรักษาสมบัติไว้กับวัด…มนุษย์เรามักจะแบ่งแยกทุกสิ่ง ตัวอย่างที่ชอบพูดกันบ่อย ๆ คือ สิ่งที่มองเห็น และมองไม่เห็น" แต่เมื่อเราพูดถึงพิพิธภัณฑ์ ความคิดเกี่ยวกับงานชิ้นเอก(masterpiece) กับความศักดิ์สิทธิ์(sacred)ไม่เคยแยกจากกัน Pomain ชี้เห็นให้เห็นว่า การแบ่งหรือจัดระดับชั้นของวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้นมีพัฒนาการ คือเริ่มจากของชิ้นเอก (หายาก, พิเศษ, ไม่ธรรมดา, น่าดู) เคลื่อนไปสู่ของธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัจจุบันไม่มีของชิ้นใดที่จะไม่สามารถจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ Jacques Hainard ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เจนีวา เสริมทับว่า "วัตถุใด ๆ ก็ตามสามารถแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ ตราบเท่าที่มันเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่จัดแสดง" วัตถุไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มันถูกเลือก ถูกตีความ ถูกจัดแสดง ถูกจ้องมองและให้ความหมาย โดยบุคคลแต่ละคนและด้วยเหตุผลบางอย่าง Shaje’a Tshiluila ประธานสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศแห่งแอฟริกา(AFRICOM) เล่าถึงความคับข้องใจของเธอต่อพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาหลายแห่ง ที่ลดทอนความเป็นสังคมแอฟริกันให้เป็นเพียงแค่ของแปลกที่หาดูยาก และเธอยังบอกว่าประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมยังคงมีผลต่อความคิดของคนในทุกวันนี้ "แอฟริกาถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นของแปลก เรายังสัมผัสได้ถึงนัยของการดูถูกที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากยุคประวัติศาสตร์การค้าทาส" นอกเหนือไปจากการตระหนักถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว ก่อนการส่งผ่านความคิดของตัวเองสู่สาธารณะ ภัณฑารักษ์ควรกระทำการด้วยการเคารพ เพราะในหลาย ๆ สังคมมีความซับซ้อนและมีพลวัตสิ่งที่ถูกตีความใหม่ที่ปรากฏในพื้นที่หน้าฉากของนิทรรศการ อาจจนำมาซึ่งมายุ่งยากได้ มีภัณฑารักษ์มากมายที่มีความคิดสร้างสรรค์ บ่อยครั้งนำเสนอนิทรรศการที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม Girolamo Rammunni อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลียง กล่าวว่า "วัตถุต่าง ๆ เหล่านั้นเผยให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งพัฒนาการขององค์ความรู้ คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม และความสามารถของมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อันเกิดจากจินตนาการ การค้นพบและนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นหนทางแรกที่จะทำให้เราเห็นถึงกลวิธีในการสร้างสรรค์วัตถุ หลังจากนั้นเราจะประหลาดใจที่พบว่าของเหล่านั้นทำขึ้นมาได้อย่าง ‘ไม่มีที่ติ’ " ผลงานของศิลปิน ช่างฝีมือ หรือนักประดิษฐ์เป็นของที่มีเสน่ห์ เป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์งานชิ้นอื่นต่อมา เราจะทึ่งเมื่อได้เห็นความงดงามที่ปรากฏอยู่ในกระบวนการทำ ความสร้างสรรค์ ความเรียบง่าย และการผสมผสานที่ลงตัว Bernard Ceysson อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใน Saint-Etienne สะท้อนว่า ความคิดในการสร้างความแตกต่างกัน ระหว่างงานชิ้นเอกจากโรงงานอุตสาหกรรม กับงานชิ้นเอกจากช่างฝีมือนั้นเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 Jean-Hubert Martin ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Kunst Palace กล่าวเสริมว่า "ตัวผมเองพบว่าของที่ดูโดดเด่น…เป็นวัตถุทางมานุษยวิทยา(anthropological item)ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์หนึ่ง ในเวลาต่อมาของชิ้นเดียวกันนี้ถูกมองว่าเป็นศิลปะวัตถุ (work of art) ดังนั้นในศตวรรษที่ 20 การมองวัตถุต่าง ๆ ด้วยแว่นของความงามจึงกลายเป็นปรากฎการณ์ธรรมดา…" ข้อถกเถียงเรื่องเกณฑ์ในการแบ่งแยกว่า ทำไมของชิ้นหนึ่งดีกว่า หรือมีความหมายมากกว่าของชิ้นอื่นนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบ "ยิ่งพื้นที่ของการสำรวจยิ่งกว้างใหญ่ เราก็ยิ่งพบวัตถุมากขึ้น ยิ่งได้เห็น ประเมิน เลือก และเปรียบเทียบได้มากขึ้น" สำหรับเรื่องคุณค่าของศิลปะวัตถุนั้น เมื่อมันเข้าสู่ระบบตลาด มีการผลิตคราวละมาก ๆ และถูกทำให้เป็นของสามัญ "การผลิตของคราวละมาก ๆ มีผลกระทบตามสูตรสำเร็จที่มักคิดกัน คือ ลดคุณค่าของวัตถุให้เป็นเพียงของประดับ และทำลายแนวคิดเรื่องงานชิ้นเอก(masterpiece) ไปด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายว่ามันทำลายตัวงานชิ้นเอกนั้นใช่หรือไม่?" ของบางอย่างไม่ได้ถูกลดคุณค่าไปสู่แค่มิติประโยชน์ใช้สอยหรือความงาม เนื่องจากของสิ่งนั้นเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ มีการให้ความหมาย Denis Cerclet อาจารย์จากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยลียง II ให้ทัศนะว่า "ของศักดิ์สิทธิ์(sacred objects) ต่างจากของสามัญ (profane objects) ตรงที่มันเรื่องของคนหมู่มาก มากกว่าเป็นของส่วนบุคคล…ของศักดิ์สิทธิ์ยังถูกให้ค่าว่าเป็นทรัพย์สมบัติด้วย เนื่องจากมันถูกเก็บรักษาไว้ มีเพียงผู้ได้รับอนุญาตไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้เห็นหรือได้ใช้โดยไม่นำมาซึ่งภัยพิบัติ สิ่งดังกล่าวเป็นแบบแผนของมวลมนุษย์ที่ต้องเคารพและธำรงไว้" ในแง่นี้ บ่อยครั้งพิพิธภัณฑ์มีความยุ่งยากในการสื่อสารและส่งผ่านความคิดเกี่ยวกับเครื่องรางหรือวัตถุจำพวกข้ามยุคข้ามสมัย การตีความของเรา(พิพิธภัณฑ์-ผู้แปล)ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ บ่อยครั้งเจือด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำของเราก็มีหลากหลายแง่มุม ทั้งความทรงจำที่โหยหาอดีต(วันวานที่ดีงาม) ความทรงจำที่ต้องมี (พิพิธภัณฑ์เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้) และความทรงจำที่ถูกกดทับไว้ (เรื่องที่เราไม่กล้าพูด) พิพิธภัณฑ์ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในประเด็นเหล่านี้ เราพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพิพิธภัณฑ์ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องของอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม แต่พิพิธภัณฑ์ก็ยังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องราวของปัจจุบันและอนาคตด้วย โดยดึงเอาข้อถกเถียงในปัจจุบันออกมา ดังที่ Jean Guibal ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์อนุรักษ์มรดก Is?re region of France กล่าวว่า "ดังนั้นพิพิธภัณฑ์มีบทบาทในฐานะเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมที่แท้จริง เป็นที่ ๆ ข้อถกเถียง คำถาม และการเผชิญหน้าเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมใดก็ตามที่กำลังค้นหาวิถีทางและความต้องการของตน ซึ่งต้องตั้งคำถามต่อตัวเองอีกมากมาย" "ทำไมฉันคิดแบบนี้ ทำไมฉันบอกแบบนี้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ?" เป็นคำถามที่เกิดขึ้น แล้วทำให้พิพิธภัณฑ์และวัตถุต่าง ๆ มีความหมาย ในที่สุด หลังฉากของวัตถุที่จัดแสดง เกี่ยวข้องทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีปัจเจกบุคคลมากมาย ทั้งที่เข้ามาเรียนรู้ พยายามทำความเข้าใจ อธิบายและเชื่อมโยงตนเองต่อสิ่งที่จัดแสดง ใครคือคนที่พิพิธภัณฑ์กำลังพูดถึง และใครที่พิพิธภัณฑ์ต้องการส่งสารนั้นไปถึง? เรากำลังปกปักรักษาอะไรและทำไม ? ดังนั้นข้อถกเถียงอมตะ เรื่องพิพิธภัณฑ์ - วัด และ พิพิธภัณฑ์ - เวทีถกเถียง บางทีอาจไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไปแล้ว (โอ้ ไม่?) จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ ถ้าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่สามารถพบเห็นสิ่งของที่ประหลาด มาจากแดนไกล และแปลกตาแล้ว จะเห็นว่าความคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไป ในทุกวันนี้ความน่าสนใจมุ่งไปยังการตีความใหม่ในความจริงชุดเดียวกัน แม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวันของทุกคน และจะดีกว่าหรือเปล่าที่ความแปลกตา(exotic)น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเรา? และจะดีกว่าไหมที่จะตั้งคำถามว่าต่อสิ่งรอบตัวว่า สิ่งเหล่านั้นมีอะไรผิดปกติรึเปล่า? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก เกิดขึ้นในนามของชุมชนหรือคนในกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะ ภัณฑารักษ์ไม่ต้องพูดคนเดียวอีกต่อไปแล้ว บางโอกาสเขา/เธอ เปิดเวทีให้เกิดการอภิปรายขึ้น สิ่งของได้เปลี่ยนผ่านสู่มิติใหม่และถ่ายทอดความหมายใหม่ ความหมายของวัตถุไม่ได้มีความหมายเดียว แล้วแต่ว่ามันจะถูกสวมลงในวาทกรรมใด ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเมืองลียง แผนกจัดทำนิทรรศการได้ชวนเยาวชนมาแสดงความเห็นเรื่องความรับรู้ของพวกเขาที่มีต่อคนกลุ่มอื่น หลายเดือนที่พวกเขาทำงานร่วมกันตามกรอบแนวคิดที่วางไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ผลที่ได้จากการทดลองนี้ถูกทำเป็นนิทรรศการเปิดให้สาธารณะเข้าชม คงไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งคำถามว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นแนวทางการทำงานพิพิธภัณฑ์แบบใหม่หรือเปล่า หากแต่สิ่งที่น่าสนใจคือพิพิธภัณฑ์เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงตัวตนและความคิดของตนเองบนพื้นฐานแนวคิดเรื่องความเป็นอื่น นอกจากนี้ มันไม่ยุติธรรมและไม่ควรสำหรับพิพิธภัณฑ์ ที่จะเป็นแค่เวทีถกเถียงหรือพูดได้แค่วาทกรรมเกี่ยวกับความเป็นอื่น พิพิธภัณฑ์ควรพูดว่า "เรามีสิทธิที่จะพูด(บนพื้นฐานของความนอบน้อม เคารพ ฯลฯ) และด้วยความเคารพ เราเข้าใจว่าความเชื่อเกี่ยวกับงานชิ้นเอกและทรัพย์สมบัตินั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยวาทกรรมเดียว และเราเข้าใจว่าความศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัตถุมีความหมายเชิงสัญญะร่วมกัน ความศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัตถุนั้นเป็นของที่พิเศษ(ด้วยหน้าที่ คุณค่าในด้านความงาม และหายากฯลฯ) และความศักดิ์สิทธิ์ยังอธิบายชุมชน และผู้คนไม่ว่าหญิง หรือ ชาย อาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการอธิบายเพื่อให้เกิดความกระจ่าง หากแต่ยังตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ พร้อมกับให้ความมั่นใจแก่เราด้วยว่า ยังมีสถานที่หนึ่งในสังคม ที่ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษยชาติถูกวางไว้บนภาระกิจสำคัญของสถานที่แห่งนี้ แปลและเรียบเรียงจาก Michel Cote. ‘From Masterpiece to Artefact: the Sacred and the Profane in Museum.’ Museum International. Vol.55 no. 2, 2003; pp 32-37. โดย ปณิตา สระวาสี ภาพประกอบจาก UNESCO , Museum of Natural history of Lyon, Erdeni Zuu Museum(Mongolia) และ Vietnam Museum of Ethnology ประวัติผู้เขียน - Michel Cote มีพื้นฐานการศึกษาด้านวรรณกรรม ศึกษาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เขามีประสบการณ์การทำงานหลายปีเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม โดยเป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้บริหาร ตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้แก่ ผู้อำนวยการโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม ของรัฐควิเบก ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการพิพิธภัณฑ์อารยธรรมในควิเบก และปัจจุบันดำรงตแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยา เมืองลียง