จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

จารึกวัดตะพาน

จารึก

จารึกวัดตะพาน

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 13:05:40 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดตะพาน

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

สฎ. 5, ศิลาจารึกอักษรและภาษาไทยได้มาจากวัดตะพาน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, หลักที่ 304 จารึกวัดแวง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 1935-1970

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 42 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 22 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 20 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทรายสีแดง

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 45 ซม. สูง 95 ซม. หนา 22 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สฎ. 5”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (กรกฏาคม 2511) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกอักษรและภาษาไทยได้มาจากวัดตะพาน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 กำหนดเป็น “หลักที่ 304 จารึกวัดแวง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น "99/25/2560"

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดตะพาน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารศิลปากร ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2511) : 94-99.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 106-110.

ประวัติ

จารึกนี้ถูกพบที่ วัดตะพาน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการพิมพ์เผยแพร่คำอ่านใน วารสารศิลปากร ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2503) ชื่อบทความ “คำอ่านศิลาจารึกอักษรและภาษาไทยได้มาจากวัดตะพาน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมี ประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่านและอธิบาย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ให้คำปรึกษาและตรวจแก้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอพระสมุดวชิราวุธ กรุงเทพมหานคร จารึกหลักนี้เป็นจารึกภาษาไทยหลักแรกที่พบในภาคใต้ จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ตัวอักษรสุโขทัยแพร่ไปสู่อยุธยา ล้านนา ลาว และพม่าพร้อมกับพุทธศาสนานิกายรามัญวงศ์ในสมัยพระยาลิไท (ดู “ตำนานมูลศาสนา”) ในสมัยโบราณ วัดเป็นโรงเรียนที่สอนการอ่าน-เขียนของพระสงฆ์ ตัวอักษรสุโขทัยจึงแพร่หลายไปในแคว้นต่างๆ ส่วนทางภาคใต้นั้น มีการนับถือศาสนาพุทธที่มั่นคงอยู่แล้ว ดังหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 จึงไม่จำเป็นต้องรับศาสนาพุทธไปจากสุโขทัยในสมัยพระยาลิไทอีก ทางภาคใต้มีการใช้อักษรขอมเรื่อยมาจนในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระราชดำริที่จะรวมอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง เลิกตั้งเจ้าประเทศราช แต่ส่งขุนนางจากกรุงศรีอยุธยาไปปกครองแทน ตัวอักษรจากสุโขทัยจึงน่าจะแพร่หลายไปสู่ภาคใต้ในช่วงเวลานี้เอง แต่หากการวิเคราะห์อายุสมัยของตัวอักษรไม่ผิดพลาด นโยบายดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) อนึ่ง ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวอักษรในจารึกนี้ว่า เป็นอักษรที่แสดงถึงอิทธิพลของอักษรธรรมล้านนาและอักษรธรรมอีสาน โดยจะเห็นได้จากการที่ปรากฏการใช้รูปพยัญชนะ “อย” แต่รูปแบบอักษรมีลักษณะคล้ายคลึงกับอักษรฝักขามที่ปรากฏในจารึกทางภาคเหนือ

เนื้อหาโดยสังเขป

เจ้าเมืองทองและครอบครัวร่วมกันสร้างพระวิหาร โดยอาราธนาเจ้าเถรเทพเมาลีและพระสงฆ์ มาชุมนุมพระศรีรัตนมหาธาตุ มีการเชิญพระพุทธรูปสู่คูหาแก้วและถวายที่ดินแก่วัด ตอนท้ายอธิษฐานขอให้ได้พบพระศรีอาริย์ และฝากวัดแห่งนี้ไว้กับผู้ครองเมืองคนต่อไป

ผู้สร้าง

เจ้าเมืองทองและครอบครัว

การกำหนดอายุ

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กำหนดอายุโดยพิจารณาจากการพบรูปสระ อะ และ นิคหิต รูปที่เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 1935 และมีคำว่า พระญา ที่ประวิสรรชนีย์ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 1935 เช่นกัน ส่วนรูปพยัญชนะ ถ และ ป ที่พบในจารึกนี้ เป็นรูปที่ใช้มาจนถึง พ.ศ. 1970 จึงสันนิษฐานว่าจารึกนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1935-1970

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ประสาร บุญประคอง, “ศิลาจารึกอักษร และภาษาไทย ได้มาจากวัดตะพาน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี,” ศิลปากร 12, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2511) : 94-99.
2) ประสาร บุญประคอง, “หลักที่ 304 จารึกวัดแวง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 106-110.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534)