จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม

จารึก

จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 13:29:25 )

ชื่อจารึก

จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

อย. 76-80

อักษรที่มีในจารึก

ขอมอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2192

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด

วัตถุจารึก

แผ่นทองแดง

ลักษณะวัตถุ

รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 11.3 ซม. ยาว 47.2 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “อย. 76-80”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 35 ฉบับที่ 6 (2535) กำหนดเป็น “จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม”
3) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กำหนดเป็น "7/2543"

ปีที่พบจารึก

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535

สถานที่พบ

บริเวณท้ายทอยพระพุทธรูปทรงเครื่อง องค์ที่ 7 วัดชัยวัฒนาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้พบ

นายประทีป เพ็งตะโก

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สำรวจเมื่อ 22-24 กุมภาพันธ์ 2565)

พิมพ์เผยแพร่

วารสารศิลปากร ปีที่ 35 ฉบับที่ 6 (2535) : 103-108.

ประวัติ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 นายประทีป เพ็งตะโก นักโบราณคดี 5 และ นายถนอมศักดิ์ แจ่มวิมล นักวิชาการช่างศิลป์ 5 เจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พบจารึกขณะทำการสำรวจและศึกษาลวดลายปูนปั้นประดับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประดิษฐานที่เมรุทิศ เมรุรายรอบพระปรางค์ วัดไชยวัฒนาราม แผ่นจารึกอยู่ในลักษณะม้วนแบบตะกรุด บรรจุอยู่ตรงพระอุระด้านพระปฤษฎางค์ ซึ่งใกล้กับท้ายทอย มีลายปูนปั้นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนช่วงที่เป็นกรองศอปิดทับอยู่ ตัวจารึกบรรจุอยู่ในลักษณะแปะติดกับแกนพระพุทธรูปซึ่งทำด้วยไม้ มีปูนหุ้มภายนอก พบครั้งแรกจำนวน 2 ชิ้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 คือ พระพุทธรูปหมายเลข 2 และหมายเลข 11 ซึ่งตำแหน่งที่พบตรงกัน คือ บริเวณท้ายทอยและจารึกม้วนอยู่ในภาพเดียวกันด้วย เมื่อตรวจสอบลักษณะสภาพของพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์อื่นๆ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เมรุทิศ เมรุราย โดยรอบปรางค์ประธานแล้ว เชื่อว่าน่าจะยังมีจารึกหลงเหลือจากการถูกทำลายอีก หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จึงดำเนินการขออนุมัติไห้ดำเนินการได้ โดยมอบหมายให้ นายณรงค์ โคกสันเที้ยะ นายช่างศิลปกรรม 6 เป็นผู้ดำเนินการ จึงได้พบจารึกเพิ่มอีก 3 ชิ้น ที่พระพุทธรูปหมายเลข 4, 7 และ 9 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2535 จำนวนจารึกที่พบทั้งหมด 5 แผ่น จารึก 3 ชิ้น ที่พบคราวหลังนี้ มีอยู่ 1 ชิ้น คลี่ออกแล้วและอ่านได้ความว่า เป็นคำจารึกที่จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาบาลีและภาษาไทย ขึ้นต้นด้วย พระธรรมบท สมฺพุทฺเธ จำนวน 1 บรรทัด ต่อด้วยบท ปฏิจฺจสมุปฺปาท อีก 4 บรรทัด ส่วนบรรทัดสุดท้ายบอกวัน เดือน ปี แรกสร้าง เมื่อ วันพุธ เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ พุทธศักราช 2192 ซึ่งตรงกับวันทางสุริยคติ วันที่ 16 มีนาคม

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อหาในจารึกแสดงหลักธรรมที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา คือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งว่าด้วยกฎธรรมชาติของชีวิต ส่วนประกอบของปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และชรามรณะ

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 6 บอกพุทธศักราช 2192

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
“จารึกแผ่นทองแดง วัดไชยวัฒนาราม,” ศิลปากร 35, 6 (2535) : 103-108.

ภาพประกอบ

ภาพคัดจำลองอักษรจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 35 ฉบับที่ 6 (2535)