จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

ชุดคำค้น 15 คำ

อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 12, ยุคสมัย-จารึกอาณาจักรเจนละ, ยุคสมัย-จารึกอาณาจักรเจนละ-พระเจ้าอิศานวรมันที่ 1, วัตถุ-จารึกบนหิน, ที่อยู่ปัจจุบัน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ปทุมธานี, ศาสนา-จารึกในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, ศาสนา-จารึกในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-กัลปนา, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายข้าพระ, เรื่อง-ความเป็นอยู่และประเพณี, เรื่อง-ความเป็นอยู่และประเพณี-สร้างศิลาจารึก, เรื่อง-ความเป็นอยู่และประเพณี-ประดิษฐานศิลาจารึก, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองอาณาจักรเจนละ, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองอาณาจักรเจนละ-พระเจ้าอิศานวรมันที่ 1,

จารึกจันทบูร

จารึก

จารึกจันทบูร

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 09:55:52 )

ชื่อจารึก

จารึกจันทบูร

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จบ. 3, จบ. 4, K. 502, จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล, Nouvelles Inscriptions de Chantaboun, Inscription de Văt Thong Thuâ, Inscription du Văt Săbāb, No. 23 Vat Sabab Inscription of Īśānavarma, เลขทะเบียนโบราณวัตถุที่ 99/275/2550, จารึกวัดทองทั่ว, จารึกวัดไชยชุมพล

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต, เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 24 บรรทัด ชำรุดแตกหัก เหลืออยู่ 2 ชิ้น ชิ้นแรกมี 8 บรรทัด ชิ้นที่ 2 มี 16 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

เป็นชิ้นส่วนที่แตกหัก

ขนาดวัตถุ

ชิ้นที่ 1 กว้าง 66 ซม. สูง 100 ซม. หนา 12 ซม. ชิ้นที่ 2 กว้าง 13 ซม. สูง 40 ซม. หนา 13 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “จบ. 3” และ “จบ. 4”
2) ในวารสาร Bulletin de l'École Française d’Éxtrême-Orient XXIV กำหนดเป็น “Nouvelles Inscriptions de Chantaboun : Inscription de Văt Thong Thuâ” และ “Inscription du Văt Săbāb”
3) ในหนังสือ Inscriptions of Kambuja กำหนดเป็น “No. 23 Vat Sabab Inscription of Īśānavarman”
4) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VIII กำหนดเป็น “K. 502”
5) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2541) กำหนดเป็น “จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล”
6) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น "99/275/2550" และ 99/276/2550"

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2462

สถานที่พบ

วัดทองทั่ว และ วัดไชยชุมพล ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

ผู้พบ

le Frère Hilaire เป็นผู้พบจารึกวัดทองทั่ว และ พระวิภาชวิทยาสิทธิเป็นผู้พบจารึกวัดสระบาป

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) Bulletin de l'École Française d’Éxtrême-Orient XXIV (1924) : 352-355.
2) Inscriptions of Kambuja (Calcutta : The Asiatic Society, 1953), 28-29.
3) Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 158-159.
4) วารสารศิลปากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2541) : 41-54.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในวารสารสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ (Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient) ฉบับที่ 24 ปี พ.ศ. 2467 โดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้รายงานเกี่ยวกับจารึกใหม่ 3 ชิ้น ที่พบในมณฑลจันทบูร คือ จารึกขลุง จารึกวัดทองทั่ว และ จารึกวัดสระบาป ไว้ในบทความชื่อ กัมพูชาศึกษา (Etudes Cambodgiennes) หัวข้อที่ 18 เรื่อง “การขยายตัวของอาณาจักรกัมพูชาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ในคริสตศตวรรษที่ 7 (ราวพุทธศตวรรษที่ 13) (จารึกหลักใหม่พบที่จันทบูร)” โดยท่านได้กำหนดรหัสให้จารึกทั้ง 3 ใช้รหัสเดียวกันคือ “K. 502” จารึกจันทบูร (K. 502) นี้ ประกอบด้วยชิ้นส่วนจารึก 2 ชิ้น ซึ่งพบอยู่กันคนละแห่ง คือชิ้นหนึ่งพบที่วัดทองทั่ว ส่วนอีกชิ้นหนึ่งพบที่วัดสระบาป แต่เมื่อศึกษาถึงรูปอักษรและเนื้อความแล้ว ศ. ยอร์ช เซเดส์ สรุปว่าชิ้นส่วนจารึกทั้ง 2 ชิ้นนี้มาจากจารึกหลักเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกล่าวถึงจารึกที่พบที่วัดทองทั่วก็เรียกกันว่า “จารึกวัดทองทั่ว” เมื่อกล่าวถึงจารึกที่พบที่วัดสระบาป ก็เรียก “จารึกวัดสระบาป” นอกจากนี้ ในบทความของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ เมื่อกล่าวถึงจารึกทั้ง 2 ชิ้น นี้ในฐานะที่เป็นจารึกหลักเดียว ก็จะเรียกว่า “จารึกจันทบูร” ดังนั้น ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยจึงขอใช้ชื่อที่ ศ. ยอร์ช เซเดส์ เรียกมาแต่เดิมว่า “จารึกจันทบูร” สำหรับคำอ่านและคำแปลที่หอสมุดแห่งชาติได้พิมพ์เผยแพร่นั้น ได้ใช้ชื่อว่า “จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล” คือเรียกรวมทั้งจารึกวัดทองทั่ว และ จารึกวัดสระบาป รวมไปด้วยกัน แต่เหตุที่ใช้ชื่อ “ไชยชุมพล” นั้น เนื่องมาจากว่า วัดสระบาป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชัยชมภูพล” หรือ “ไชยชุมพล” เมื่อปี พ.ศ. 2485 เข้าใจว่าหอสมุดแห่งชาติคงเรียกชื่อจารึกตามชื่อใหม่นี้นั่นเอง จารึกจันทบูร ชิ้นส่วนที่ได้มาจากวัดทองทั่วนั้น เป็นชิ้นส่วนจารึกชิ้นเล็กที่แตกออกมาจากจารึกชิ้นใหญ่ ประกอบด้วยตัวอักษรปัลลวะ 8 บรรทัด ศ. ยอร์ช เซเดส์ วิเคราะห์ว่าเป็นคำเขมร และอ่านไว้เพียงบางคำคือ จมฺเรง ตฺมุรฺ เสฺร โกนฺ โวฺระ เป็นต้น จากประวัติเล่าว่าจารึกชิ้นนี้ พบที่วัดทองทั่วโดยหลวงพี่อิลาอีร์ อาจารย์วิทยาลัยอัสสัมชัญ (กรุงเทพฯ) เมื่อราวเดือนมกราคม พ.ศ. 2462 สำหรับ จารึกจันทบูร ชิ้นส่วนที่ได้มาจากวัดสระบาป เป็นชิ้นส่วนจารึกชิ้นใหญ่มีอยู่ด้วยกัน 16 บรรทัด ศ. ยอร์ช เซเดส์ วิเคราะห์ว่ามีทั้งส่วนที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร จากประวัติเล่าว่า ไม่ทราบถึงที่มาที่แน่นอนของจารึกหลักนี้ แต่ทราบว่า พระวิภาชวิทยาสิทธิ ผู้ตรวจราชการ พบที่วัดสระบาป จากนั้น ผู้ว่าราชการมณฑลจันทบูรจึงได้ส่งจารึกหลักนี้พร้อมกับจารึกขลุง มาเก็บรักษาไว้ยังหอพระสมุดวชิรญาณ นอกจากบทความของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ดังกล่าวแล้ว ต่อมาปี พ.ศ. 2485 ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้เขียนถึง “จารึกวัดจองแอก (K. 426)” ลงในหนังสือ “Inscriptions du Cambodge” เล่ม 2 และได้กล่าวอ้างถึงจารึกวัดสระบาปด้วยเช่นกัน โดยเรียกรวมไปว่า “จารึกจันทบูร (K. 502)” เนื้อหาของบทความนี้ที่เกี่ยวข้องกับจารึกจันทบูรคือ จารึกวัดจองแอกได้กล่าวถึงชื่อ “สิทธายตน” ซึ่งชื่อนี้นอกจากจะมีปรากฏอยู่ในจารึกวัดจองแอก (K. 426) แล้ว ก็ยังมีปรากฏในจารึกจันทบูร (K. 502) และ จารึกสด๊กก๊อกธม 2 (K. 235) ด้วยเช่นกัน ต่อมา ปี พ.ศ. 2496 ศ. มาจุมดาร์ ได้นำคำอ่านและแปลของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ มาตีพิมพ์ในหนังสือ “Inscriptions of Kambuja” โดยท่านได้เรียกจารึกหลักนี้ว่า “จารึกวัดสระบาปของพระเจ้าอีศานวรมัน” และในปี พ.ศ. 2509 ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้ตีพิมพ์หนังสือ “Inscriptions du Cambodge” เล่มที่ 8 ซึ่งเป็นฉบับดัชนีค้นหาขึ้น โดยรวมเอาจารึกหลักนี้เข้าไว้ในบัญชีค้นหาด้วย โดยกำหนดให้จารึกหลักนี้มีรหัสว่า “K. 502” พบที่วัดสระบาป-วัดทองทั่ว (มีหลายชิ้น) จังหวัดปราจีนบุรี (ขณะนั้น) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต่อมา อ. ชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านและแปลจารึกหลักนี้ใหม่อีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า “จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล” เพื่อตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ฉบับปี พ.ศ. 2541 แต่เนื่องจาก ช่วงระยะเวลาเกือบ 80 ปี ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติจารึกที่หอสมุดแห่งชาตินั้นไม่สามารถสืบค้นได้ จึงมิได้ลงประวัติความเป็นมาของจารึกทั้ง 2 ชิ้นนี้ไว้ จากที่อยู่ซึ่งกระจัดกระจายนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า จารึกจันทบูรนั้น เดิมอาจเป็นส่วนประกอบอาคารของเทวสถานที่เมืองเพนียด เนื่องจากในเขตตำบลเดียวกันกับวัดทั้ง 2 ต่อมา เทวสถานอาจถูกทำลายลง ทำให้จารึกถูกทำลายแตกหักไปด้วย นานวันเข้าก็อาจจะมีราษฎรหรือพระภิกษุสงฆ์ไปเก็บชิ้นส่วนเหล่านั้นมาจากเมืองเพนียด มารักษาไว้ที่วัดทองทั่ว และวัดสระบาป

เนื้อหาโดยสังเขป

จารึกหลักนี้ น่าจะสั่งให้ทำโดยพระเจ้าศรีอีศานวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1158-1178) และทรงรับสั่งให้นำมาประดิษฐาน ณ เทวสถานใดเทวสถานหนึ่งในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากปรากฏข้อความที่กล่าวว่า “ศิลาที่สกัดด้วยเหล็ก ที่พระเจ้าศรีอีศานวรมันได้พระราชทานไว้” เนื้อความโดยส่วนใหญ่ เป็นรายชื่อของทาสจำนวนมาก และ โค-กระบือ ที่พระองค์ทรงอุทิศถวายไว้ให้แก่เทวสถานนั้น

ผู้สร้าง

พระเจ้าอิศานวรมันที่ 1

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 และมีการกล่าวอ้างถึงพระเจ้าศรีอีศานวรมันที่ 1 จึงทำให้ทราบว่าจารึกหลักนี้มีอายุในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 อันเป็นระยะเวลาที่พระเจ้าศรีอีศานวรมันครองราชย์

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) George Cœdès, “Etudes Cambodgiennes,” Bulletin de l'École Française d’Éxtrême-Orient XXIV (1924) : 345-358.
2) George Cœdès, “Stèle de Văt Čon Èk (K. 426 = Corpus, LVII),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 121.
3) R. C. Majumdar, “No. 23 Vat Sabab Inscription of Īśāna-Varman,” in Inscriptions of Kambuja (Calcutta : The Asiatic Society, 1953), 28-29.
4) George Cœdès, “Liste Générale des Inscriptions du Cambodge,” in Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 158-159.
5) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล,” ศิลปากร 41, 2 (มีนาคม-เมษายน, 2541) : 41-54.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-21, ไฟล์; CB_001)
2) ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ พฤษภาคม 2565
3) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566