จารึกป้านางเมาะ

จารึก

จารึกป้านางเมาะ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566 19:09:26 )

ชื่อจารึก

จารึกป้านางเมาะ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 288 จารึกป้านางเมาะ, สท. 56

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1935-1947

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวน 3 ด้าน มี 79 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 28 บรรทัด, ด้านที่ 2 มี 28 บรรทัด และด้านที่ 3 มี 23 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย

ลักษณะวัตถุ

ทรงใบเสมา

ขนาดวัตถุ

สูง 60 ซม. กว้าง 26.5 ซม. หนา 13 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 56”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 กำหนดเป็น “หลักที่ 288 จารึกป้านางเมาะ”
3) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/300/2550”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 6 กันยายน 2566)

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 27-36.

ประวัติ

ศิลาจารึกป้านางเมาะ พบที่จังหวัดสุโขทัย พันตรี ไพโรจน์ เจียรวัฒนะ มอบให้เป็นสมบัติของส่วนราชการ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 ศิลาจารึกหลักนี้เป็นแผ่นหินทราย ลักษณะเป็นรูปใบเสมา สูง 60 เซนติเมตร กว้าง 26.5 เซนติเมตร หนา 13 เซนติเมตร ส่วนล่างของศิลาชำรุดหายไป ข้อความจารึกยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน

เนื้อหาโดยสังเขป

ศิลาจารึกหลักนี้ กล่าวถึง การทำบุญให้แก่ป้านางเมาะและคำปรารถนาต่างๆ เช่น ขอให้รูปงามเหมือนนางวิสาขา ขอให้มีใจตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ขอให้ได้บำเพ็ญเบญสาธารณะ ดั่งเมณฑกเศรษฐี เนื่องจากข้อความบางตอนชำรุดหายไปจึงไม่อาจทราบได้ว่า ผู้ใดเป็นผู้จารึก

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

การอ่านปีศักราชที่ลงไว้ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ตรงกับปีเม็ด (มะแม) เลขตัวหน้าแม้ลางเลือนแต่ก็ยังเห็นได้ว่า เป็นเลข 1 ตัวถัดไปเป็นเลข 2 ชัดเจน ส่วนเลข 2 ตัวท้าย อาจเป็น 17 หรือ 77 อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็น 17 ก็คือมหาศักราช 1217 ตรงกับพุทธศักราช 1839 แต่ดูจะขัดกับรูปตัวอักษรซึ่งใหม่กว่านั้นประมาณร้อยปี หากเป็นเลข 77 ก็จะเป็นมหาศักราช 1277 หรือตรงกับพุทธศักราช 1898 ซึ่งดูแล้วไม่ขัดกับรูปตัวอักษร แต่น่าสังเกตว่า เลข 7 ตัวหน้ากับตัวหลังเป็นเลข 7 คนละสมัยกัน ในกรณีที่น่าสงสัยนี้ ถ้าดูรูปตัวอักษร ณ ที่ใช้รูปต่างกันของสองสมัยมาเขียนเรียงติดกันได้ เราก็ควรอนุโลมว่าตัวเลข 7 ของสองสมัยก็อาจจะเขียนติดกันได้ด้วย สำหรับตัวอักษรอื่นๆ นั้น ฃ เป็นรูปอักษรที่เริ่มปรากฏครั้งแรกใน พ.ศ. 1935 และมีอักษรอื่นอีก 8 ตัว ซึ่งมีรูปที่ปรากฏอยู่ถึง พ.ศ. 1947 ดังนั้นตัวอักษรในจารึกป้านางเมาะจึงน่าจะเป็นตัวอักษรระหว่าง พ.ศ. 1935 ถึง 1947 อย่างไรก็ดี อักษร ป และ ร มีรูปที่ปรากฏใช้อยู่ถึง พ.ศ. 1940 เท่านั้น นอกจากนี้ รูปสระ อี ลอย ปรากฏอยู่ในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 7 และด้านที่ 3 บรรทัดที่ 12 สระ อี ลอย นี้ มีใช้อยู่ในจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) จารึกหลักที่ 62 (จารึกวัดพระยืน ลำพูน) จารึกหลักที่ 2, 3, 8 และ 11 ของสุโขทัย

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
เทิม มีเต็ม, “หลักที่ 288 จารึกป้านางเมาะ,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 27-36.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566