จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกบ้านตาดทอง

จารึก

จารึกบ้านตาดทอง

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2567 22:01:01 )

ชื่อจารึก

จารึกบ้านตาดทอง

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ยส. 1, Stèle de Ban Tat Tong (K. 697), K.697, กพช 10 มี.ค.23

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 15

ภาษา

สันสกฤต, เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 47 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 20 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 27 บรรทัด (ด้านที่ 2 ยังไม่ได้อ่าน-แปล)

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทรายสีแดง

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 44.5 ซม. สูง 55 ซม. หนา 6 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ยส. 1”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VII กำหนดเป็น “Stèle de Ban Tat Tong (K. 697)”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 และ วารสาร ศิลปากร ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2545) กำหนดเป็น “จารึกบ้านตาดทอง”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

หมู่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดอัมพวันเหนือ หมู่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร (สำรวจเมื่อ 2 กันยายน 2563)

พิมพ์เผยแพร่

1) Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'extrême-orient, 1964), 94-98.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 84-89.
3) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2545) : 66-75.

ประวัติ

ตามประวัติทะเบียนจารึก ยส. 1 ของกองหอสมุดแห่งชาติ ได้บันทึกไว้ว่า ได้ขุดพบจารึกหลักนี้ ที่หมู่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ต่อมาปี พ.ศ. 2503 ได้ย้ายมาไว้ที่วัดอัมพวัน ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านตาดทองนั้นเอง ต่อมาเป็น พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิศรีมงคล จังหวัดยโสธร ปัจจุบันมีพระอธิการสอน วิมโล เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้เก็บรักษาจารึกบ้านตาดทองนี้ไว้เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ ได้ออกสำรวจจารึกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2523 และได้ทำการอัดสำเนาถ่ายภาพจารึกบ้านตาดทองไว้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2523 จารึกหลักนี้ ใช้ศัพท์โบราณ อันผิดจากศัพท์ที่ใช้ในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น ตนฺทุลํ (ข้าวสาร) ปัจจุบันใช้ ตณฺฑุลํ เป็นต้น ส่วนหลักภาษาก็คลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย เช่น ททาตฺ น่าจะเป็น อททาตฺ ฉะนั้น การอ่าน-แปลครั้งนี้ จึงต้องอาศัยความหมายเป็นสำคัญ การพิมพ์ครั้งนี้อ่าน-แปลเฉพาะด้านที่ 1 เท่านั้น ส่วนด้านที่ 2 ยังไม่ได้อ่าน-แปล

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความในจารึก เริ่มด้วยการกล่าวนอบน้อมพระศิวะ และกล่าวถึงพระเจ้ารุทรโลกว่า เป็นผู้มีความสามารถมาก ปกครองประเทศโดยธรรม ได้พระราชทานสิ่งของต่างๆ จำนวนมากแก่เจ้าชายที่เข้าพิธีมงคลสมรสกับพระราชธิดา ช่วงสุดท้ายของจารึกบอกให้ทราบว่า เจ้าชายเป็นเชื้อพระวงศ์ชาวเมืองภวปุระ และพราหมณ์ได้ทำพิธีบูชาพระศิวลึงค์ทุกวัน

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกบรรทัดที่ 4 ได้ระบุชื่อกษัตริย์พระองค์หนึ่ง คือ “รุทฺรโลก” หรือ “พระเจ้ารุทรโลก” อันเป็นพระนามของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ซึ่งครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1454-1464 และพระนามนี้ได้รับเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ฉะนั้นจารึกหลักนี้คงสร้างภายหลังจากที่พระเจ้าหรรษวรมันสวรรคตแล้ว

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) George Cœdès, “Stèle de Ban Tat Tong (K. 697),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 94-98.
2) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกบ้านตาดทอง,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 84-89.
3) ชะเอม แก้วคล้าย และนันทนา ตันติเวสส, “จารึกบ้านตาดทอง,” ศิลปากร 45, 2 (มีนาคม-เมษายน 2545), 66-75.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-01, ไฟล์; YS_002p1)