จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

จารึกบ้านพังพวย

จารึก

จารึกบ้านพังพวย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 14:23:09 )

ชื่อจารึก

จารึกบ้านพังพวย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Stèle de Nông P’ang P’uey (K. 957), K.957, ปจ. 3

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศักราช 1484

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 35 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 22 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 13 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทรายสีแดง

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 45 ซม. สูง 152 ซม. หนา 12.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ปจ. 3”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VII กำหนดเป็น “Stèle de Nông P’ang P’uey (K. 957)”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 กำหนดเป็น “จารึกบ้านพังพวย”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/22/2560”

ปีที่พบจารึก

พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)

สถานที่พบ

บ้านพังพวย ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

ผู้พบ

ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายาในพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 22 กุมภาพันธ์ 2564)

พิมพ์เผยแพร่

1) Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 137-140.
2) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2515) : 61-66.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 50-56.

ประวัติ

ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้รายงานไว้ในหนังสือชุด Inscriptions du Cambodge vol. VII ว่า จารึกหลักนี้พบเมื่อปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ในเขตอำเภออรัญประเทศ โดย ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายาในพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ ซึ่งต่อมาได้นำมามอบให้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนในหนังสือ จารึกในประเทศไทย กล่าวว่าศิลาจารึกหลักนี้ได้มาจากบ้านพังพวย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (จากการตรวจสอบของคณะทำงานพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย พบว่าพื้นที่ที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันคือ บ้านหนองพังพวย ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา) เมื่อแรกนำมาเก็บรักษาไว้ที่แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 หอสมุดแห่งชาติได้ย้ายมาอยู่อาคารใหม่ที่ท่าวาสุกรี อาคารเก่าที่หอพระสมุดวชิราวุธจึงว่าง ประกอบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องการใช้สถานที่บริเวณพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2510 จึงได้ย้ายจารึก ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ไปเก็บรักษาไว้ที่อาคารหอพระสมุดวชิราวุธ คือตึกถาวรวัตถุ ข้างวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 กรมศิลปากรมีความประสงค์จะให้ศิลาจารึก ซึ่งจัดไว้เป็นโบราณวัตถุ ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามกฎหมาย จึงได้ย้ายหลักจารึกส่วนใหญ่ไปเก็บรักษา และตั้งแสดงในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลาจารึกบ้านพังพวยนี้ จึงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 กล่าวถึงพระเจ้าราเชนทรวรมัน ว่าได้มีบัญชาให้บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในเมืองวนปุระ ให้ร่วมกันดูแลเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเทวสถาน โดยถวายน้ำมัน และลูกสกา เป็นเวลา 1 ปี ส่วนในเรื่องของที่นาและพืชผลที่มีขึ้นในนานั้น ให้สิทธิแก่บรรดาข้าทาส และลูกทาส ส่วนวัวควายไม่ควรขึ้นกับโขลญวิษัย (ผู้ดูแลสถานที่) โขลญข้าว และโขลญเปรียง (ผู้ดูแลน้ำมัน) และอย่าปล่อยให้เข้าไปในที่ดินของเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเทวสถาน หากชาวบ้านไม่ทำตามคำสั่งให้จับส่งเจ้าหน้าที่ ส่วนด้านที่ 2 กล่าวถึงการมีบัญชาให้ร่วมกันดูแลเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง โดยถวายข้าวสาร น้ำมัน ผลไม้ หอก ผ้า ห้ามไม่ให้โขลญวิษัยและโขลญเปรียงเข้าไปในป่า ให้อยู่คอยรับใช้บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงการตั้งที่ประชุมหรือศาล

ผู้สร้าง

พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2

การกำหนดอายุ

จารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 2 บอกมหาศักราช 863 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1484

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) George Cœdès, “Stèle de Nông P’ang P’uey (K. 957),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 137-140.
2) อำไพ คำโท, “คำอ่านศิลาจารึกอักษรขอมภาษาขอม ได้มาจากบ้านพังพวย อ. อรัญประเทศ จ. ปราจีนบุรี,” ศิลปากร 16, 1 (พฤษภาคม 2515) : 61-66.
3) อำไพ คำโท, “จารึกบ้านพังพวย,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 50-56.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-02, ไฟล์; PJ_004f1 และ PJ_004f2)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 22 ธันวาคม 2565