จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

จารึกบ้านพังพวย

จารึก

จารึกบ้านพังพวย ด้านที่ 1

QR-code edit Share on Facebook

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 15:58:57

ชื่อจารึก

จารึกบ้านพังพวย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Stèle de Nông P’ang P’uey (K. 957), K.957, ปจ. 3

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศักราช 1484

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 35 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 22 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 13 บรรทัด

ผู้อ่าน

1) ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ. 2507)
2) อำไพ คำโท (พ.ศ. 2515), (พ.ศ. 2529)

ผู้แปล

1) ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ. 2507)
2) อำไพ คำโท (พ.ศ. 2515), (พ.ศ. 2529)

ผู้ตรวจ

1) ประสาร บุญประคอง (พ.ศ. 2515), (พ.ศ. 2529)
2) กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร (พ.ศ. 2529)

เชิงอรรถอธิบาย

1. อำไพ คำโท : “โอม” ได้แก่นามของพระเจ้าทั้ง 3 องค์ คือ พระวิษณุ พระศิวะ และพระพรหม โดยเอาคำสุดท้ายชื่อของพระเจ้าทั้ง 3 องค์เหล่านี้ มาย่อเป็น อุ อะ มะ
2. อำไพ คำโท : 863 เป็นมหาศักราช ตรงกับ พุทธศักราช 1484
3. อำไพ คำโท : “ศราวณะ” คือ เดือน 9
4. ตรงใจ หุตางกูร : คำนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ อ่านว่า “ธูลิ” แต่ อ. อำไพ คำโท อ่านว่า “ธูลี”
5. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : ในคำอ่านของจารึกหลักนี้ ที่เผยแพร่ใน ศิลปากร (ปีที่ 16 ฉบับที่ 1) และ ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 ตัวพยัญชนะ “ป” บางตัว ถูกอ่าน เป็น “บ” ทั้งที่เมื่อพิจารณารูปอักษรจากสำเนาจารึกแล้ว อักษรที่ถูกอ่านเป็น “ป” และ “บ” ไม่มีความแตกต่างกันแต่ประการใด ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสน คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) จึงแก้ไขคำอ่าน จากที่อ่านเป็น “บ” ให้อ่านเป็น “ป” ทั้งหมด
6. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : “บัลลังก์ทองหนึ่งคู่” นี้ ผู้แปลแปลมาจาก “ปรฺยฺยงฺ มาสฺ 2“ ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 9 โดยคำว่า “ปรฺยฺยงฺ” แปลว่า บัลลังก์ (บรรยงก์) และ “มาสฺ” แปลว่า ทอง ซึ่งความหมายที่ใช้ในที่นี้ ขัดกับความหมายที่ให้ไว้ในคำแปลของจารึกสด๊กก๊อกธม 1 (ผู้แปลคนเดียวกัน) ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 10 ที่ว่า “ปรฺยฺยงฺ มาสฺ 3“ แปลว่า “น้ำมัน 3 มาส” และได้อธิบายไว้ในเชิงอรรถว่า “ปรฺยฺยงฺ หรือ เปรียง แปลว่าน้ำมัน” คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) เห็นว่า “ปรฺยฺยงฺ” ที่หมายถึง น้ำมัน ดูเหมาะสมกว่า เพราะความหมายเข้ากับบริบท และในส่วนของคำว่า “มาสฺ” นั้น นอกจากจะแปลว่า ทอง แล้ว ยังหมายถึง มาตราวัดอย่างหนึ่งใช้วัดหรือตวงของเหลว โดยในเชิงอรรถท้ายคำแปลของจารึกสด๊กก๊อกธม 1 ได้อธิบายไว้ว่า “มาสฺ คงจะหมายถึงขวด หรือภาชนะที่ใส่น้ำ” ดังนั้น “ปรฺยฺยงฺ มาสฺ” 2 ในที่นี้ น่าจะหมายถึง น้ำมันจำนวน 2 ขวด
7. อำไพ คำโท : คำว่า “ระเงียง” นี้ เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง เขมรเรียกว่า ระเงียง หรือ ละเงียง ตรงใจ หุตางกูร : “ไม้ระเงียง” เป็นไม้วงศ์ Guttiferae ในหนังสือพรรณไม้แห่งประเทศไทยของ เต็ม สมิตินันทน์ ไม่ปรากฏคำว่า “ระเงียง” แต่มีชื่อ “ราเง้ง” ซึ่งได้ระบุว่าเป็นไม้สกุล Cratoxylum formosum pruniflorum คำว่า “ราเง้ง” นี้ เป็นคำถิ่นที่เรียกกันแถบสุรินทร์-เขมร ถ้าเป็นภาษากลางจะเป็น “ติ้วขน” หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ไม้ระเงียง ดังกล่าวก็คือไม้ติ้ว
8. อำไพ คำโท : “ชีศรี” เข้าใจว่าเป็นชื่อไม้ไผ่ โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “ฤสฺสี” เป็น “ชีศรี”
9. อำไพ คำโท : “กทัมพะ” แปลว่า ต้นตะกู หรือต้นกระทุ่ม แต่ต้นกทัมพะในที่นี้ ศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร ได้แนะให้ข้าพเจ้าแปลว่า ตะกู ต้นกทัมพะหรือตะกูนี้ มีดอกสีเหลืองคล้ายดอกกระทุ่ม และมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ด้วย
10. อำไพ คำโท : “เมกํตาญ” หมายถึง ไร่หรือสวนผลไม้ ที่ปลูกต้นไม้ต่างๆ มีต้นมะพร้าว ต้นขนุน และต้นมะม่วง เป็นต้น
11. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : “ขโลญบรรยงก์(บัลลังก์)” แปลมาจาก “โขฺลญฺปรฺยฺยงฺ” ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 17 โดยคำว่า “ปรฺยฺยงฺ” แปลว่า บัลลังก์ (บรรยงก์) ซึ่งความหมายที่ใช้ในที่นี้ ขัดกับความหมายที่ให้ไว้ในคำแปลของจารึกสด๊กก๊อกธม 1 (ดูคำอธิบายข้อ 4) นอกจากนั้น ในจารึกสด๊กก๊อกธม ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 15 มีข้อความว่า “วฺวํชาปิ ปฺรตฺยฺย ปรฺยฺยงฺ ทารฺ ปรฺยฺยง” และผู้แปลแปลว่า “ไม่ควรที่ปรัตยยะเปรียงริบเอาน้ำมัน” คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) เห็นว่า “ปรฺยฺยงฺ” ที่แปลว่า น้ำมัน นั้นดูเหมาะสมดีแล้ว เพราะมีความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับบริบท