จารึกวัดบางสนุก

จารึก

จารึกวัดบางสนุก

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 17:58:35 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดบางสนุก

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

พร. 1, ศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย วัดบางสนุก อ. กิ่งวังชิ้น จ. แพร่, หลักที่ 107 ศิลาจารึก วัดบางสนุก, ศิลาจารึกวัดบางสนุก, พร. 1 จารึกวัดบางสนุก (ปีกัดเหม้าสันนิษฐานว่า พ.ศ. 1882)

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1882 (โดยประมาณ)

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 29 บรรทัด

วัตถุจารึก

แผ่นหินดินดาน หรือ หินชนวนสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา (ชำรุด)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 28 ซม. สูง 52 ซม. หนา 6 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “พร. 1”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2509) กำหนดเป็น “ศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย วัดบางสนุก อ. กิ่งวังชิ้น จ. แพร่”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดเป็น “หลักที่ 107 ศิลาจารึก วัดบางสนุก”
4) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดบางสนุก”
5) ในหนังสือ จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1 กำหนดเป็น “พร. 1 จารึกวัดบางสนุก (ปีกัดเหม้าสันนิษฐานว่า พ.ศ. 1882)”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2489

สถานที่พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ผู้พบ

พระครูอดุลรัตนญาณ เจ้าอาวาสวัดบางสนุก ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

ปัจจุบันอยู่ที่

หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2509) : 66-69.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 133-136.
3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 21-25.
4) จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, 2534), 246-247.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ พระครูอดุลรัตนญาณ เจ้าอาวาสวัดบางสนุก และเจ้าคณะอำเภอวังชิ้น (ขณะนั้นเป็นกิ่งอำเภอ) จังหวัดแพร่ นำมามอบให้กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2489

เนื้อหาโดยสังเขป

คำขึ้นต้นของจารึกเป็นภาษาบาลี และภาษาไทย เป็นคำกล่าวนมัสการพระรัตนตรัย ต่อจากนั้นได้กล่าวถึงเมืองตรอกสลอบ ได้ชักชวนบรรดาลูกเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ไทย ตลอดทั้งชาวแม่ชาวเจ้าทั้งหลาย สร้างพระพุทธรูปด้วยดีบุกด้วยดิน และได้กล่าวถึงการบำเพ็ญกุศลอื่นๆ อีก

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ศิลาจารึกวัดบางสนุก นับว่าเป็นเอกสารอันสำคัญ ที่บ่งบอกหลักฐานเกี่ยวกับอักษรสุโขทัย รูปลักษณะอักษรที่ปรากฎในศิลาจารึก ส่วนใหญ่มีรูปลักษณะเดียวกัน กับรูปอักษรในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แต่อย่างไรก็ตาม รูปอักษรในจารึกหลักนี้ ไม่น่าจะมีอายุเก่ากว่า หรือร่วมสมัยกับอักษรของพ่อขุนรามคำแหง นอกจากนี้รูปอักษรก็น่าจะมีอายุเก่ากว่า พ.ศ. 1900 คือ น่าจะอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง พ.ศ. 1850-1900 อย่างไรก็ตาม ร่องรอยที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการกำหนดอายุคือในจารึกหลักนี้ ในจารึกหลักนี้ได้กล่าวถึง “ปีกัดเหม้า” ซึ่งเป็นปีของไทยฝ่ายเหนือ หมายถึงปีเถาะฉศก ตรงกับปีเถาะเอกศกของไทยฝ่ายใต้ ดังนั้นเมื่อเทียบมาเป็นพุทธศักราชแล้ว จึงตรงกับพุทธศักราช 1882 ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า จารึกหลักนี้ มีอายุประมาณ พ.ศ. 1882

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา, “พร. 1 จารึกวัดบางสนุก (ปีกัดเหม้าสันนิษฐานว่า พ.ศ. 1882),” ใน จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1 : จารึกจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, 2534), 246-247.
2) ประสาร บุญประคอง และประเสริฐ ณ นคร, “คำอ่านศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย วัดบางสนุก อ. กิ่งวังชิ้น จ. แพร่,” ศิลปากร 10, 2 (กรกฎาคม 2509) : 66-69.
3) ประสาร บุญประคอง และประเสริฐ ณ นคร, “ศิลาจารึกวัดบางสนุก,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 21-25.
4) ประสาร บุญประคอง และประเสริฐ ณ นคร, “หลักที่ 107 ศิลาจารึก วัดบางสนุก,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 133-136.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-30, ไฟล์; พร.1.สำเนา2)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 8 กันยายน 2566