จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

จารึกหริปุญชปุรี

จารึก

จารึกหริปุญชปุรี

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 10:02:19 )

ชื่อจารึก

จารึกหริปุญชปุรี

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลพ. 15, ลพ./15, พช. 21, 327, หลักที่ 71 ศิลาจารึกวัดพระธาตุ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำพูน

อักษรที่มีในจารึก

ฝักขาม

ศักราช

พุทธศักราช 2043

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 51 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 32 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 19 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทรายสีแดง

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 47.5 ซม. สูง 142 ซม. หนา 11.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลพ. 15”
2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน กำหนดเป็น “ลพ./15, พช. 21, 327”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น “หลักที่ 71 ศิลาจารึกวัดพระธาตุ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำพูน”
4) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กำหนดเป็น “จารึกหริปุญชปุรี”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 185-194.
2) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533), 45-46.

เนื้อหาโดยสังเขป

ในด้านที่ 1 บรรทัดแรกใช้คำว่า “ศุภมัศตุ” เป็นคำขึ้นต้นเรื่อง กล่าวถึงสมเด็จบพิตรมหาราชเจ้าตนเป็นอธิบดีในศรีพิงคราษฎร์เชียงใหม่ ได้ฐาปนาเหิงธรรมกับพระกรรโลงรักอัครราชมาดา มีศรัทธาในพระศาสนามากนัก มักให้มั่นคงลงเป็นเค้าเป็นมูงใน “หริบุญชบุรี” อวยไอสวรรย์สมบัติพัศดุฯ ทั้งหลาย มีต้นว่า “สัปตรัตนะ” นำมาบูชาพระมหาธาตุเจดีย์อันเป็นเหง้าเป็นเค้าแก่พสุธา จากนั้นได้พรรณนาสืบไปว่า สมเด็จพระองค์มหาราชเจ้าทั้งสองให้สร้างพระธรรมมณเฑียร อันอาเกียรณ์ไปด้วยคำมาสฯ ให้สร้างพระธรรม 8 หมื่น 4 พันพระธรรมขันธ์ และคันถสัตตปกรณ์ สาตถกถา ฎีกา อนุฎีกา คณนาได้ 420 คัมภีร์ ให้สร้างสุพรรณพุทธรูปเจ้า แล้วให้นำมาถาปนาไว้ ณ พระธรรมมณเฑียร พ.ศ. 2043 นี้ยังอยู่ในรัชกาลพระเมืองแก้ว จารึกหลักนี้ควรประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยนี้เอง แสดงว่า พระเมืองแก้วกับพระราชมารดาของพระองค์ได้ร่วมกันบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ สถาปนาหอพระไตรปิฎก ซึ่งท่านเรียกของท่านในสมัยนั้นว่า “พระธรรมมณเฑียร” เป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก ครบทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ อันพร้อมทั้ง อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา รวมทั้งสิ้นเป็นคัมภีร์ 420 พระคัมภีร์ บรรดาพระคัมภีร์ทั้งนี้ต้องเป็นใบลานทั้งหมด นอกจากนั้นยังทรงสร้างพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานประจำอยู่ที่ “พระธรรมมณเฑียร” จารึกหลักนี้ ถ้อยคำที่จารึกมีลักษณะเป็นร้อยกรองทำนองร่าย เป็นที่น่าสังเกตที่เรียกชื่อเมืองลำพูนโบราณว่า “หริบุญชบุรี” ซึ่งคงจะสืบมาแต่คำว่า “หริภุญชัย” โดยลำดับ

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ข้อความจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 2 ระบุ จ.ศ. 862 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2043 อันเป็นรัชสมัยของพระเมืองแก้วหรือพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช (พ.ศ. 2038-2068)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2549, จาก :
1) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “จารึกหริปุญชปุรี,” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2533), 45-46.
2) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “หลักที่ 71 ศิลาจารึกวัดพระธาตุ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำพูน,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษร และ ภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 185-194.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508)