จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images
  • images
  • images

ชุดคำค้น 17 คำ

อายุ-จารึก พ.ศ. 1912, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย-พระยาลิไทย, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินทราย, วัตถุ-จารึกบนหินทรายแปร, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ที่อยู่ปัจจุบัน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ปทุมธานี, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-ความเป็นอยู่และประเพณี, เรื่อง-ความเป็นอยู่และประเพณี-สร้างศิลาจารึก, เรื่อง-ประวัติและตำนาน-รอยพระพุทธบาท, เรื่อง-ประวัติศาสตร์สุโขทัย, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-พระมหาธรรมราชาที่ 1, บุคคล-พระยาลิไทย,

จารึกวัดเขาสุมนกูฏ

จารึก

จารึกวัดเขาสุมนกูฏ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 09:56:54 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดเขาสุมนกูฏ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 8 ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ จังหวัดสุโขทัย, ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ พุทธศักราช 1912, สท. 9, 99/298/2550

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1912

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 4 ด้าน มี 107 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 31 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 29 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 26 บรรทัด ด้านที่ 4 มี 21 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทรายแปร

ลักษณะวัตถุ

หลักรูปใบเสมา (ชำรุด)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 31 ซม. สูง 83 ซม. หนา 15.5 ซม

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 9”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 8 ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ จังหวัดสุโขทัย”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ พุทธศักราช 1912”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/298/2550”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2451

สถานที่พบ

เขาพระบาทใหญ่ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 6 กันยายน 2566)

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 111-118.
2) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 80-91.

ประวัติ

จารึกหลักนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงนำมาแต่เขาพระบาทใหญ่ อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 2451 แต่ชำรุดแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และศิลากะเทาะลบเลือนเห็นอักษรไม่ชัดโดยมาก ได้ให้ช่างซ่อมติดต่อเข้าเป็นแผ่นเดียวกัน รูปศิลาหลักนี้คล้ายรูปใบเสมาแผ่นบางๆ มีอักษรจารึกทั้ง 4 ด้าน แต่ด้านใหญ่คือด้านที่ 1 กับด้านที่ 3 อ่านได้ความน้อย ศิลากะเทาะตัวอักษรหลุดหายไปมาก ยังพออ่านได้อยู่แต่ด้านเล็ก 2 ข้าง คือ ด้านที่ 2 กับด้านที่ 4 ศิลาจารึกหลักนี้เดิมอยู่เขาสุมนกูฏ (คือเขาพระบาทใหญ่) ซึ่งพระยาลือไทยธรรมราชา(ที่ 1) ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เมื่อ ม.ศ. 1281 (พ.ศ. 1902) เขาสุมนกูฏหรือสมนตกูฏ เป็นชื่อเขาสำคัญที่มีรอยพระพุทธบาทในลังกา คือที่อังกฤษเรียกว่า “อาดัมสปีก” นั้นเขาสุมนกูฏในกรุงสุโขทัยคงเอาชื่อลังกามาสมมติเรียก สันนิษฐานว่าจารึกขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1902-1915

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 เป็นคำสรรเสริญรอยพระพุทธบาท ที่พระยาลือไทยธรรมราชาที่ 1 ได้ประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ ด้านที่ 2 เป็นเรื่องทำการสักการะบูชา ในเวลาที่ได้แห่รอยพระพุทธบาทขึ้นบนเขาสุมนกูฏ ด้านที่ 3 ชำรุดเสียหายมาก แต่ยังอ่านได้พระนาม พระยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช พระธรรมราชาองค์นั้น เป็นพระโอรสของพระยาลือไทยธรรมราชาที่ 1 ตามที่กล่าว ในตอนปลายคำจารึกนี้คือ ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 15 มีความปรากฏว่า “พระองค์ได้ขึ้นมานบพระบาทลักษณ อันตนหาก (เดิมศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ อ่านว่า “อันตนชนก” แต่ภายหลังศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบใหม่พบว่า คำที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ อ่านว่า “อันตนชนก” นั้น ที่ถูกควรอ่านว่า “อันตนหาก” เพราะตัวอักษรในจารึกเขียนเช่นนั้น ฉะนั้นที่ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าเป็นจารึกของพระโอรสของพระยาลือไทยธรรมราชาที่ 1 นั้นจึงคลาดเคลื่อนควรเป็นจารึกของพระยาลือไทยเอง) ประดิษฐานแต่ก่อนเหนือจอมเขาสุมนกูฏ” ในคำจารึกด้านที่ 3 ยังมีเรื่องราวที่พอจะอ่านได้ คือพระยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ได้เสด็จไปปราบปรามหัวเมืองข้างทิศตะวันออกถึงแม่น้ำสัก แล้วเสด็จขึ้นมาประทับอยู่สองแคว (เมืองพิษณุโลก) 7 ปี ข้างปลายด้านที่ 3 นี้กล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกในแผ่นดินนั้น คำจารึกด้านที่ 4 เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ 1 เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏพร้อมกับชาวเมืองต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกรุงสุโขทัยครั้งนั้น ได้นมัสการพระพุทธบาทและโปรดให้จารึกศิลาหลักนี้ขึ้น

ผู้สร้าง

พระยาลิไทย (ธรรมราชาที่ 1)

การกำหนดอายุ

ศักราชเท่าไรไม่ปรากฏในคำจารึก แต่สันนิษฐานโดยคาดคะเนเอาได้โดยง่าย เพราะเหตุดังกล่าวต่อไปนี้ คือในด้านที่ 3 บรรทัดที่ 20 มีความว่า “เบื้องเหนือน้ำน่าน ถือแดนเจ้าพระยาผากอง เจ้าเมืองน่านเมืองพลัว” และบรรทัดที่ 22 ว่า “เบื้องตะวันออก … ถึงของพระยาท้าวฟางอม” เจ้าพระยาผากองนั้น ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ เรียก “ท้าวผ่า คอง” มีความว่า “ศักราช 738 (พ.ศ. 1919) มะโรงศก (สมเด็จพระบรมราชาธิราช) เสด็จไปเอาเมืองซากังราวเล่าครั้งนั้น พระยาคำแหงและท้าวผ่าคองคิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง และจะทำมิได้ และท้าวผ่าคองเลิกหนีทัพแล้ว จึงเสด็จยกทัพหลวงตามแลท้าวผ่าคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพระยาแลเสนาขุนหมื่น ครั้งนั้นมากแลทัพหลวงเสด็จกลับคืน” ส่วนพระยาฟางอม ในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางเรียกว่า “ฟ้างุ่ม” ได้เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 1896 จนถึง พ.ศ. 1917 เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้ว ศิลาจารึกหลักนี้ คงได้จารึกในเวลาที่พระยาผากองและพระยาฟางอม ยังครองเมืองน่าน และเมืองหลวงพระบางทั้งสองสองพระองค์ คือในราว พ.ศ. 1915 แต่ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่าข้อความตอนท้ายของจารึกหลักนี้ จารึกขึ้นในราว พ.ศ. 1912 เพราะหลังจากพระยาลือไทยผนวช (พ.ศ. 1904) และปราบได้เมืองทางลุ่มแม่น้ำป่าสักแล้ว ได้ไปประทับที่พิษณุโลก 6-7 ปี ประจวบกับพระเจ้าอู่ทองเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. 1912 จึงเป็นโอกาสให้พระยาลือไทยนำไพร่พลมาสักการะพระพุทธบาทที่เมืองสุโขทัยได้

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ พุทธศักราช 1912,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 80-91.
2) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 8 ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 111-118.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566