จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

ชุดคำค้น 30 คำ

อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 20, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19-20, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินดินดาน, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-การสรรเสริญบุคคล, เรื่อง-การสรรเสริญบุคคล-สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุณี ศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า, เรื่อง-ประวัติศาสตร์-เมืองสุโขทัย, เรื่อง-กษัตริย์และผู้ครองนคร-ขุนผาเมือง, เรื่อง-กษัตริย์และผู้ครองนคร-พ่อขุนศรีนาวนำถม, เรื่อง-กษัตริย์และผู้ครองนคร-พระยาคำแหง, เรื่อง-การสรรเสริญ-สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี, เรื่อง-ประวัติศาสตร์สุโขทัย, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-สร้างวัดหรือศาสนสถาน, เรื่อง-ประวัติและตำนาน-วัดมหาธาตุ สุโขทัย, เรื่อง-การบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-ขุนผาเมือง, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-พ่อขุนศรีนาวนำถม, บุคคล-สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุณี ศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า, บุคคล-พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, บุคคล-ขุนจัง, บุคคล-พ่อขุนผาเมือง, บุคคล-พ่อขุนศรีนาวนำถม,

จารึกวัดศรีชุม

จารึก

จารึกวัดศรีชุม

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 09:33:05 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดศรีชุม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม, ศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910, ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม), สท. 2

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศตวรรษ 19-20

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 212 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 107 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 95 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินดินดาน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา ด้านที่ 1 ส่วนบนแถบซ้ายแตกชำรุด

ขนาดวัตถุ

กว้าง 67 ซม. สูง 275 ซม. หนา 8 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 2 (สท./ 2)”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910”
4) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2526), ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2526) และ ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2526) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม)”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2430

สถานที่พบ

ในอุโมงค์วัดศรีชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

พลโท หลวงสโมสรพลการ (ทัด สิริสัมพันธ์)

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (สำรวจเมื่อ 31 ตุลาคม 2564)

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2467), 13.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 33-58.
3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 58-79.
4) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2526) : 108-119.
5) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2526) : 93-114.
6) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2526) : 60-86.
7) ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) : ฉบับผลการสัมมนา พุทธศักราช 2523 (กรุงเทพฯ : กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2527), 1-49

ประวัติ

พลโท พระยาสโมสรสรรพการ เมื่อครั้งเป็นหลวงสโมสรพลการเป็นผู้พบศิลาจารึกหลักนี้ในอุโมงค์วัดศรีชุม เมื่อขึ้นไปตรวจค้นศิลาจารึกเมืองสุโขทัย พ.ศ. 2430 แล้วได้ส่งมาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน กรุงเทพฯ พ.ศ. 2451 พิพิธภัณฑสถานจึงได้ส่งมาให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร

เนื้อหาโดยสังเขป

จารึกหลักนี้ เป็นคำสรรเสริญสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุณี ศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นบุตรของพระยาคำแหง (พระราม) เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง แต่ผู้แต่งจารึกหลักนี้ เห็นจะไม่ใช่พระมหาเถรนั้น เป็นผู้อื่น ผู้ใช้คำว่า “กู” ในด้านที่ 2 ตั้งแต่บรรทัดที่ 45 ไป แต่ผู้แต่งนั้นจะชื่ออะไรไม่ปรากฏ บางทีจะได้ออกชื่อไว้ในตอนต้นของจารึกหลักนี้แล้ว แต่ตอนต้นชำรุดเสียหมดอ่านไม่ได้ คำจารึกหลักนี้แบ่งออกเป็นหลายตอน คือ ตอนที่ 1 (ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 7) ชำรุดมาก แต่เข้าใจว่าเป็นคำนำมีชื่อพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ตอนที่ 2 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 8 ถึง 20) เป็นประวัติของพ่อขุนศรีนาวนำถม ตอนที่ 3 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 21 ถึง 41) เป็นเรื่องพ่อขุนผาเมืองตั้งราชวงศ์สุโขทัยและเรื่องราชวงศ์สุโขทัย ตอนที่ 4 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 41 ถึง 52) เป็นคำสรรเสริญพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ตอนที่ 5 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 53 ถึง 61) เป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ในการเสี่ยงพระบารมี โดยวิธีอธิษฐานต่างๆของพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ตอนที่ 6 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 61 ถึง ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 5) ในตอนนี้เป็นประวัติของสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เมื่อยังอยู่ในคิหิเพศ แบ่งออกเป็นสามพลความคือ ก.(ตั้งแต่บรรทัดที่ 61 ถึง 75) เป็นเรื่องเจ้าศรีศรัทธาฯ ทรงทำยุทธหัตถี (ชนช้าง) กับขุนจัง ข. (ตั้งแต่บรรทัดที่ 76 ถึง 79) เป็นเรื่องประวัติเมื่อเจ้าศรีศรัทธาฯ ทรงเจริญวัยเป็นหนุ่ม ค. (ตั้งแต่บรรทัดที่ 79 ถึงด้านที่ 2 บรรทัดที่ 5) เป็นเรื่องเจ้าศรีศรัทธาฯ ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ แล้ว และทรงเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย แลมีศรัทธาเลื่อมใสออกผนวชในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 7 (ตั้งแต่ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 6 ถึง 19) เล่าเรื่องมหาเถรศรีศรัทธาฯ ได้บำเพ็ญการกุศลแลสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ตอนที่ 8 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 20 ถึง 48) เป็นเรื่องพระมหาเถรได้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย ตอนที่ 9 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 49 ถึงบรรทัดสุดท้าย) เป็นเรื่องแสดงปาฏิหาริย์ของพระธาตุต่างๆ ในเมืองสุโขทัย

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ศักราชเมื่อจารึกไม่ปรากฏ แต่อย่างไรคงไม่ได้จารึกก่อนรัชกาลพระธรรมราชาที่ 1 เพราะมีออกพระนามพระธรรมราชาที่ 1 อยู่ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 38 และ 72 เข้าใจว่า จะได้จารึกในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 1 นั้นเอง เพราะอักษร สระ พยัญชนะ และภาษาเหมือนกับจารึกอื่นๆในแผ่นดินนั้น

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศมส., 2546, จาก:
1) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 33-58.
2) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 58-79.
3) ยอร์ช เซเดส์, ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) : ฉบับผลการสัมมนา พุทธศักราช 2523 (กรุงเทพฯ : กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2527), 1-49.
4) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม),” ศิลปากร 26, 6 (มกราคม 2526), 108-119.
5) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม),” ศิลปากร 27, 1 (มีนาคม 2526), 93-114.
6) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม),” ศิลปากร 27, 2 (พฤษภาคม 2526), 60-86.

ภาพประกอบ

1) ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 31 ตุลาคม 2564
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566