อายุ-จารึก พ.ศ. 2019, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 21, วัตถุ-จารึกบนวัตถุสัมฤทธิ์, ลักษณะ-จารึกที่ฐานพระพุทธรูป, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ยุคสมัย-จารึกสมัยล้านนา, ยุคสมัย-จารึกสมัยล้านนา-พระเจ้าติโลกราช, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-สร้างพระพุทธรูป, บุคคล-เจ้าเมืองพะเยา, บุคคล-พระยายุธิษฐิระ, บุคคล-พระยายุทธิษฐิระ,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 18:08:36 )
ชื่อจารึก |
จารึกฐานพระพุทธรูปราชายุธิษฐิระ |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
Notes on the Art of Siam, No. 6 : Prince Yudhisthira, จารึกฐานพระพุทธรูปพระเจ้ายุธิษฐิระ อักษรธรรมล้านนา, กท. 93, เลขที่ ก. 7, กท. 93 จารึกฐานพระพุทธรูปพระเจ้ายุธิษฐิระ, หลักที่ 303 จารึกที่ฐานพระพุทธรูปราชายุธิษฐิระ |
อักษรที่มีในจารึก |
ธรรมล้านนา |
ศักราช |
พุทธศักราช 2019 |
ภาษา |
สันสกฤต, บาลี |
ด้าน/บรรทัด |
มีอักษรจารึก 1 บรรทัด รอบฐานพระพุทธรูป |
วัตถุจารึก |
สำริด |
ลักษณะวัตถุ |
ฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ |
ขนาดวัตถุ |
ฐานกว้าง 38 ซม. สูง 1.5 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กท. 93” |
ปีที่พบจารึก |
27 สิงหาคม พ.ศ. 2460 |
สถานที่พบ |
วัดบุนนาค (วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค) ตำบลดงเจน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) Artibus Asiae vol. 26 no. 4 (1963). |
ประวัติ |
จากบันทึกของพระครูศรีลาสวชิรปัญญา อดีตเจ้าคณะแขวงของบริเวณเมืองพะเยาซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ระบุว่า พระพุทธรูปองค์นี้ ถูกพบเมื่อมีการลักลอบขุดเจดีย์วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าหน้าที่สามารถตามจับผู้ลักลอบขุด พร้อมทั้งของกลางได้ที่ บ้านร้อง อำเภอ งาว จังหวัดลำปาง แต่จำเลยหลุดพ้นคดี ส่วนโบราณวัตถุรวมถึงพระพุทธรูปองค์นี้ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้ร่วมกันต่อสู้ให้ได้เก็บรักษาไว้ที่จังหวัดเชียงราย (ขณะนั้นพะเยาขึ้นกับจังหวัดดังกล่าว) ต่อมาหลวงอดุลยธารณ์ปรีชาไวย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ประพาสมณฑลฝ่ายเหนือใน พ.ศ. 2469 จึงพระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พระพุทธรูปพระเจ้ายุธิษฐิระ หรือที่เรียกกันว่า หลวงพ่อนากนี้ เป็นพระพุทธรูปสำริด ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร รัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง 36.5 ซม. ความสูงเฉพาะองค์พระ 48 ซม. ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่งคาดว่าทำขึ้นในภายหลัง เนื่องจากส่วนผสมของเนื้อสำริดต่างกับพระพุทธรูปอย่างชัดเจน และสามารถถอดแยกจากกันได้ แต่ส่วนฐานที่มีจารึกนั้นทำขึ้นพร้อมกันกับองค์พระ ซึ่งเดิมไม่ทราบกันว่า มีจารึกอยู่ในส่วนฐานที่หล่อขึ้นเป็นส่วนเดียวกับพระพุทธรูป เพราะมีฐานบัวคว่ำบัวหงายบังอยู่ แต่พระธรรมวิมลโมลี (ปวง วงศ์เรือง) วัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ผู้เก็บรักษาบันทึกของพระครูวิลาสวชิรปัญญา ทราบถึงเรื่องนี้ เพราะมีระบุไว้ในบันทึกดังกล่าว จึงบอกข้อมูลนี้กับ ดร. ฮันส์ เพนธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีการขอคัดลอกจารึก ทำให้ข้าราชการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทราบเรื่องและเกิดความสนใจ จึงได้แจ้งให้คุณ เทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญของหอสมุดแห่งชาติมาปริวรรตเป็นอักษรไทยปัจจุบัน โดยมี คุณ บุญเลิศ เสนานนท์ เป็นผู้แปลภาษาบาลี อย่างไรก็ตาม ข้อความในจารึกดังกล่าวได้รับการแปลและตีความที่แตกต่างกันออกไป เอ.บี.กริสโวลด์ (A.B. Griswold) แปลข้อความในจารึกเป็นภาษาอังกฤษลงในบทความชื่อ “Notes on the Art of Siam, No. 6 : Prince Yudhisthira” ตีพิมพ์ในวารสาร Artibus Asiae ปีที่ 26 ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 1963/พ.ศ. 2506) ต่อมานายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้นำคำแปลของพระราชวรญาณมุนี (เปลี่ยน ปุณฺโณ ปธ. 9) มาตีพิมพ์ในหนังสือ ยวนพ่ายโคลงดั้นใน พ.ศ. 2513 ต่อมา ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติได้มอบหมายให้ นายเทิม มีเต็ม อ่านและจำลองอักษร นายบุญเลิศ เสนานนท์ แปลและอธิบายศัพท์ ซึ่งมีการพิมพ์เผยแพร่ใน วารสารศิลปากร ปีที่ 31 ฉบับที่ 4 (ก.ย.-ต.ค. 2530) เมื่อมีการประชุมกลุ่มสุโขทัยศึกษา-อยุธยาคดี นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณของกรมศิลปากร ได้อธิบายถึงปัญหาของจารึกหลักนี้ว่า “ทั้งลักษณะของการใช้รูปศัพท์ และการไม่ยึดหลักบาลีไวยากรณ์อย่างเคร่งครัด ทำให้น่าสันนิษฐานว่า ได้มีการจารึกโดยใช้ภาษาพูดหรือใช้ภาษาบาลีปนสันสกฤต ซึ่งเป็นแนวนิยมและไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสมัยนั้น” ตัวอย่างภาษาบาลีที่ปรากฏในจารึกนี้ ได้แก่ เอก, นว, กปิวสฺสมาฆมาส, ปกฺข, ปญฺจมิ, อุตตรภทฺร, อภินว-โภชราช, ราชิสฺสรฯ ตัวอย่างภาษาสันสกฤต ได้แก่ ตฺริ, อษฺฏ, ศุกฺก, อาทิตฺย, นกฺษตฺร, ยุธิษฐิรฯ สำหรับ พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี และ วินัย พงศรีเพียร มีความคิดเห็นว่าคำแปลที่มีอยู่ ยังมีความคลาดเคลื่อนจากบริบททางประวัติศาสตร์ นายวินัย พงศ์ศรีเพียรจึงทำการแปลใหม่อีกครั้ง โดยใช้คำอ่านเดิมจาก นายเทิม มีเต็ม โดยมีการแบ่งวรรคตอนใหม่ เพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้อง ตีพิมพ์ใน ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 7 ต่อมามีการตีพิมพ์ในหนังสือ ประชุมจารึกเมืองพะเยา เนื่องในโอกาสเปิดหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ จังหวัด พะเยา เมื่อ พ.ศ. 2538 โดยใช้คำอ่าน-แปลของ นายเทิม มีเต็ม และนายบุญเลิศ เสนานนท์ |
เนื้อหาโดยสังเขป |
จุลศักราช 1398 (พ.ศ. 2019) พระยายุธิษฐิระ ได้สร้างพระพุทธรูปสำริดองค์นี้ขึ้น มีน้ำหนัก 14,000 เพื่อดำรงพระพุทธศาสนา |
ผู้สร้าง |
พระยายุธิษฐิระ |
การกำหนดอายุ |
กำหนดอายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึก คือ มหาศักราช 1398 (พ.ศ. 2019) ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ พ.ศ. 1984-2030) |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายจารึกจาก : ประชุมจารึกเมืองพะเยา (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2538) |