อายุ-จารึก พ.ศ. 1904, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 20, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย-พระมหาธรรมราชาที่ 1, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินทราย, ลักษณะ-จารึกบนหลักสี่เหลี่ยม, ที่อยู่ปัจจุบัน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ปทุมธานี, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-ประวัติศาสตร์สุโขทัย, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-ปลูกมะม่วง,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 17:39:40 )
ชื่อจารึก |
จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ 1 |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
หลักที่ 5 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย ภาษาไทย อักษรไทย, ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย หลักที่ 1, อย. 1 |
อักษรที่มีในจารึก |
ไทยสุโขทัย |
ศักราช |
พุทธศักราช 1904 |
ภาษา |
ไทย |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 4 ด้าน มี 105 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 38 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 42 บรรทัด ด้านที่ 4 ชำรุด |
วัตถุจารึก |
หินทราย |
ลักษณะวัตถุ |
หลักสี่เหลี่ยม |
ขนาดวัตถุ |
กว้างด้านละ 28 ซม. 2 ด้าน ด้านละ 29 ซม. 2 ด้าน สูง 115 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “อย. 1 (อย./1)” |
ปีที่พบจารึก |
พุทธศักราช 2448 |
สถานที่พบ |
วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ผู้พบ |
พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565) |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 91-99. |
ประวัติ |
ศิลาจารึกหลักนี้ มีขนาดและลักษณะคล้ายคลึงกันกับศิลาที่จารึกด้วยอักษรเขมร แต่สั้นกว่า สูง 1 เมตร 15 ซม. กว้าง 28 ซม. หนา 29 ซม. ส่วนอักษรที่จารึกตัวอักษรไทยโบราณ ซึ่งใช้เมื่อครั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และความที่จารึกเป็นภาษาไทย เป็นเรื่องเดียวกันกับที่จารึกเป็นภาษาเขมร เชื่อได้ว่าหลักภาษาไทยนี้ จารึกพร้อมกับหลักศิลาที่จารึกเป็นภาษาเขมร หลักศิลานี้พระยาโบราณธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้ไปพบอยู่ที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สืบถามว่าใครได้มา แต่เมื่อใด ก็ไม่ได้ความ พระยาโบราณฯ จึงให้ย้ายมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร ทรงพยายามอ่านหนังสือซึ่งยังหลงเหลืออยู่ ได้ความว่าเป็นศิลาจารึกของพระธรรมราชฦาไทย คู่กับหลักภาษาเขมร ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ จารึกความอย่างเดียวกัน เป็นภาษาเขมรหลัก 1 เป็นภาษาไทยหลัก 1 เดิมคงตั้งไว้เป็นคู่กัน จึงตรัสสั่งให้ส่งศิลาจารึกนั้นลงมาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยกันกับหลักภาษาเขมร ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้มาจากเมืองสุโขทัย ศิลาจารึกหลักนี้อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนเมื่อ พ.ศ. 2467 จึงย้ายมาไว้ที่หอพระสมุดฯ |
เนื้อหาโดยสังเขป |
คำจารึกภาษาเขมร กับคำจารึกภาษาไทยผิดกันบ้างเล็กน้อย ยกเป็นตัวอย่าง คำจารึกภาษาไทยไม่กล่าวถึง เรื่องพรญาฦาไทยเสด็จไปปราบจลาจลในเมืองสุโขทัย เมื่อ ม.ศ. 1269 และไม่กล่าวถึงเรื่องประดิษฐานรูปพระอิศวร พระนารายณ์ ในหอเทวาลัยป่ามะม่วง ส่วนเรื่องพระยารามราช คือ พ่อขุนรามคำแหง ได้ปลูกต้นมะม่วงมีแต่ในจารึกภาษาไทย ในคำเขมรไม่มี นอกจากนั้นคำจารึกทั้งสอง มีเนื้อความอย่างเดียวกันทุกๆ ประการ |
ผู้สร้าง |
พระมหาธรรมราชาที่ 1 |
การกำหนดอายุ |
ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ได้แก่มหาศักราช 1283 ถ้านับเป็นปีพุทธศักราชตามคติลังกา (1283 + 622) จะตรงกับปีพุทธศักราช 1905 แต่ถ้านับปีพุทธศักราชตามแบบอย่างของไทย (1283 + 621) จะตรงกับปีพุทธศักราช 1904 ในที่นี้ได้ใช้วิธีเทียบนับปีตามแบบอย่างของไทย จึงเป็นปีพุทธศักราช 1904 |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก : |
ภาพประกอบ |
1) ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526) |