จารึกวัดสมุหนิมิต

จารึก

จารึกวัดสมุหนิมิต

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 16:55:48 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดสมุหนิมิต

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

สฎ. 16 จารึกวัดสมุหนิมิต, ศิลาจารึก อักษรขอม ภาษาไทย สมัยกรุงธนบุรี

อักษรที่มีในจารึก

ขอมธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2319

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 42 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 24 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 18 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทรายสีแดง

ลักษณะวัตถุ

แผ่นหินรูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 36 ซม. สูง 79 ซม. หนา 11 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สฎ. 16 จารึกวัดสมุหนิมิต”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2514) กำหนดเป็น “ศิลาจารึก อักษรขอม ภาษาไทย สมัยกรุงธนบุรี”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดจำปา ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดสมุหนิมิต ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พิมพ์เผยแพร่

วารสารศิลปากร ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2514) : 86-92.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ เดิมอยู่ที่วัดจำปา ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเอื้อน สุรทิน ปลัดอำเภอไชยา ได้นำศิลาจารึกนี้ไปเก็บรักษาไว้ที่วัดสมุหนิมิต นายวิคเตอร์ เคเนดี้ ได้ถ่ายภาพและทำสำเนาจารึกมอบให้แก่กองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ต่อมา ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ พระนคร พร้อมทั้งคณะได้เดินทางไปราชการที่ภาคใต้จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปทำสำเนาจารึกอีกครั้ง จึงมีการอ่านและตีพิมพ์ลงใน วารสารศิลปากร ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2514) โดยเรียกว่า “ศิลาจารึกอักษรขอม ภาษาไทย สมัยกรุงธนบุรี” และ “ศิลาจารึกวัดจำปา” (ในที่นี้ใช้ชื่อตามกองหอสมุดแห่งชาติ คือ “จารึกวัดสมุหนิมิต” ซึ่งเรียกตามที่อยู่ปัจจุบันของจารึก และหลีกเลี่ยงการซ้ำกับ จารึกวัดจำปา สมัยอยุธยา) การกำหนดอายุ กำหนดอายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึก ว่า “พระพุทธศักราชได้ 2319 พระวัสสา“

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 : พ.ศ. 2319 อาจารย์วัดจำปา ภิกษุ สามเณร และสีกาบุญรอด ซึ่งเป็นผู้อุปการะ ไปนำหินจากเขาโพมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ 21 องค์ พระอรหันต์ 9 องค์ มีการบอกรายนามผู้สร้างและปิดทอง จากนั้นกล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธรูปปางสมาธิ 9 องค์ และพระอรหันต์ 8 องค์ ไปประดิษฐาน ณ ถ้ำศิลาเตียบ ต่อมาเจ้าพระยาไชยาและทายกทั้งปวงแห่พระพุทธรูปไปประดิษฐาน ณ ถ้ำวิหารพระโค 23 องค์ ตอนท้ายกล่าวว่าหากผู้ใดนมัสการให้ทำการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ทั้งหลายด้วย ด้านที่ 2 : (ข้อความต่อเนื่องจากด้านที่ 1) เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงการถวายที่นาให้แก่วัด โดยระบุชื่อและจำนวนที่ถวาย มีการสาปแช่งผู้ที่จะเบียดบังที่นาและจังหันของพระสงฆ์ให้พบกับอันตราย 16 ประการ ตอนท้ายระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 2319 โดยเทียบไว้ทั้งพุทธศักราช, จุลศักราชและมหาศักราช

ผู้สร้าง

เจ้าพระยาไชยา

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึก ว่า “พระพุทธศักราชได้ 2319 พระวัสสา”

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านศิลาจารึก อักษรขอม ภาษาไทย สมัยกรุงธนบุรี,” ศิลปากร 15, 1 (พฤษภาคม 2514), 86-92.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-10, Sdh_0601_c และ Sdh_0602_c)