บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

โรงเรียนภาคสนาม: แบบฝึกหัดการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

06 มีนาคม 2558

การกำลังเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของประเทศไทย พร้อมๆ กับร่างพระราชบัญญติว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ...... ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ได้รับความสนใจจากแวดวงผู้เกี่ยวข้อง หลักใหญ่ใจความของร่างพรบ.ฉบับนี้ คือ ส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และกำหนดให้มีการให้เงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงมีบทลงโทษหากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ในลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ทันทีที่ร่างกฎหมายดังกล่าวออกมา  ก็ถูกวิพากษ์ในหลากหลายแง่มุม หลายคนมองว่าเป็นการ “ควบคุม” มากกว่า “คุ้มครอง” อาทิ การมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  ขาดการพูดถึงเรื่องสิทธิ หน้าที่ หรือการมีส่วนร่วมของชุมชน  หรือพูดง่ายๆ ว่ามองไม่เห็นหรือไม่เคารพสิทธิของเจ้าของวัฒนธรรมในการใช้และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกเขาเอง  รวมถึงการนำวัฒนธรรมไปผูกโยงกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งในการตีความ  การให้อำนาจบุคคลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสินคุณค่าทางวัฒนธรรม  และปัญหาหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการขึ้นทะเบียนในการวัดความหมายและคุณค่าของวัฒนธรรม ฯลฯ ผู้เขียนมีโอกาสช่วยงานโครงการโรงเรียนภาคสนาม  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ที่นำทีมโดยดร.อเล็กซานดรา เดเนส(Alexandra Denes)  โครงการนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำความรู้จัก เรียนรู้  วิพากษ์ ต่ออนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก รวมถึงการฝึกลงภาคสนามจริงๆ เพื่อจะได้เข้าใจกระบวนการปกป้องและรักษาและมรกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เน้นเคารพบทบาทและสร้างการมีส่วนร่วมเจ้าของวัฒนธรรม ด้วยรูปแบบและวิธีการทางมานุษยวิทยา แม้โครงการนี้จะยุติไปแล้ว ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้จากบทเรียนออนไลน์ และarchivesต่างๆ ของโครงการได้ที่ http://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/index.php/home ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีประโยชน์ทั้งในแง่ด้านการศึกษาทำความเข้าใจ และการนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ผู้เขียน เคยเรียบเรียงช้อเขียนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนภาคสนาม  จึงขอนำส่วนหนึ่งของข้อเขียนดังกล่าวกลับมาเผยแพร่ใหม่  เพื่อให้เห็นตัวอย่างหรือแบบฝึกหัดการเรียนรู้ขั้นตอนบางขั้นของการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยใช้วิธีทางมานุษยวิทยา  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนนอก(เจ้าหน้าที่รัฐ, ภัณฑารักษ์, นักวิชาการ, องค์การพัฒนาเอกชน) กับคนใน คือเจ้าของวัฒนธรรม  บนพื้นฐานการ “เคารพ” ในสิทธิเจ้าของวัฒนธรรม โรงเรียนภาคสนามที่เมืองลำพูน[1] “ตอนนั้นยายเป็นละอ่อน อายุ 11 ขวบ... ครูบามาถึงทีแรกพักอยู่ได้ไม่กี่วันก็เริ่มสร้างวัด แปงกำแพง ยายยังช่วยหาบน้ำไปตานกลุ่มที่มากับครูบา” เรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยสมัยที่มาสร้างวิหารและบูรณะวัดจามเทวี เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน  ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของยายน้อย  วิโรรส แม่เฒ่าอายุ 86 ปี แห่งชุมชนวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในชุมชนวัดจามเทวีที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของชุมชนจามเทวี ที่กำลังถูกบันทึกและเก็บข้อมูลผ่านกล้องวิดีโอของคณะผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมจากกว่า 10 ประเทศในอาเซียน รวมทั้งภูฎานและจีนที่เข้ามาอบรมเชิงปฏิบัติการ “โรงเรียนภาคสนาม: พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage and Museums Field School)  ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ระหว่างวันที่ 8-20 สิงหาคม 2554 ณ จังหวัดลำพูน โครงการโรงเรียนภาคสนาม ยึดเอาพื้นที่เมืองเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ผู้คนหลากชาติพันธุ์ อย่างเมืองลำพูน เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการอบรม และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ นักวิชาการ และคนในชุมชนเมืองลำพูน คำว่ามรดกโลกอาจจะฮิตติดลมบนไปแล้วในประเทศไทย แต่ “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) หรือICH อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู  โรงเรียนภาคสนามเป็นเวทีหนึ่งที่มาช่วยไขข้อข้องใจให้ทราบว่า ที่จริงแล้วแนวคิดเรื่องการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีที่มาที่ไปจากองค์กรยูเนสโกเช่นเดียวกับมรดกโลก  โดยในปี ค.ศ. 2003 ยูเนสโกได้เสนออนุสัญญาว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  เพราะเห็นว่าการที่จะรักษามรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติไว้ได้ไม่สามารถทำได้แค่การอนุรักษ์สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม หรือสถานที่ หากต้องรวมถึงการปกป้องชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ในตัวผู้คน อาทิ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่า  บทกวี นิทาน วรรณกรรม การแสดง  การเล่นดนตรี การร้องเพลง การเต้นรำ การเชิดหุ่น การละคร พิธีกรรม งานเฉลิมฉลอง งานช่าง งานฝีมือ ระบบความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยารักษาโรค ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ฯลฯ ที่รวมแล้วเรียกว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”  ซึ่งเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับมรดกวัฒนธรรมที่จับต้อง   จนถึงตอนนี้มี 136 ประเทศ ที่เป็นภาคีในอนุสัญญานี้ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี โรงเรียนภาคสนามหรือเรียกสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า Field School เป็นการอบรมที่ผสมผสานระหว่างการให้ความรู้ด้านแนวคิดทฤษฎีและเครื่องมือด้านมานุษยวิทยา แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมและภัณฑารักษ์ เพื่อทำความรู้จัก เรียนรู้ วิพากษ์ โครงสร้างและกระบวนการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Safeguarding  Intangible Cultural Heritage)  พร้อมไปกับการลงมือฝึกการทำงานในสถานการณ์จริงในชุมชน เพื่อฝึกฝนการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีจากในห้องเรียน ภายใต้การแนะนำของนักวิชาการจากนานาประเทศที่มีประสบการณ์ด้านงานพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม อาทิ  อาจารย์ปีเตอร์ เดวิส (Peter Davis) จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแนวคิด New Museology และ Ecomuseum   ดร.เคท เฮนเนสซี (Kate Hennessy)จากมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา อาจารย์ที่มีประสบการณ์การใช้สื่อสมัย(New Media) กับงานวัฒนธรรม ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดร.ทิม เคอทิส (Tim Curtis) หัวหน้าหน่วยวัฒนธรรม ของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ(ณ ขณะนั้น) เป็นต้น ดร.อเล็กซานดรา เดเนส  หัวหน้าโครงการโรงเรียนภาคสนาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากเรียนภาคทฤษฎีแล้ว นักเรียนจะถูกแบ่งเป็น 4 ทีม เพื่อลงทำงานเก็บข้อมูลภาคสนามใน 4 ชุมชน ปี ค.ศ.2011 นี้จะต่างกับการอบรมปีที่ผ่านมา  โดยจะใช้วิดีโอเป็นเครื่องมือในการวิจัยและเก็บข้อมูล (research and documentation) แน่นอนว่าทุกๆ คนจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันถึงข้อดีและข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้สื่อสมัยใหม่อย่างวิดีโอในการบันทึกและเก็บข้อมูลด้านมรดกวัฒนธรรม สุดท้ายแต่ละทีมต้องตัดต่อสารคดีสั้น ที่ว่าด้วยเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของแต่ละชุมชน ความยาว 5 นาที นำเสนอต่อชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม ทั้งนี้ในแต่ขั้นตอนการทำงาน  ตัวแทนของชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การบอกเล่าถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่างๆ ที่มีในชุมชน, การประชุมร่วมกันเลือกมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 1 อย่างเพื่อจะทำหนังสั้น, การร่วมกำหนดเนื้อหา การเล่าเรื่อง และบุคคลให้สัมภาษณ์ จนถึงขั้นตอนการตัดต่อ ข้อจำกัดหรือข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ควรนำเสนอ เป็นต้น  วิสวานี เมลิสสา นักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์  Asian Civilization Museum ประเทศสิงคโปร์ นักเรียนหน้าใหม่หากแต่มากประสบการณ์ด้านการคิดโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ เธอตื่นเต้นมากที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ในครั้งนี้ “ฉันกำลังจะจัดเวิร์คชอปให้ความรู้กับเด็กๆ เรื่องงิ้ว ที่พิพิธภัณฑ์ของฉัน มาอบรมครั้งนี้ ฉันหวังจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับชุมชนโดยใช้วิธีทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการใช้สื่ออย่างกล้องวิดีโอในการบันทึกข้อมูล มีอะไรบ้างที่เราต้องตระหนัก และเรียนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร   ฉันว่ามันสำคัญมากที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์หรือช่างกล้องวิดีโอ ที่ไปเก็บข้อมูลและบันทึกภาพงานประเพณี พิธีกรรมในชุมชน ควรจะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก่อนลงภาคสนาม” ทำความรู้จักมรดกวัฒนธรรมของชุมชน หากจะบอกว่าโรงเรียนภาคสนามมีห้องเรียนที่กว้างกว่าโรงเรียนใดในโลกนี้ก็คงไม่ผิด ห้องเรียนสำคัญของนักเรียนกว่า 40 ชีวิต จากกว่า 10 ประเทศ  คือ ชุมชนเก่าแก่ 4 แห่งในจังหวัดลำพูน ได้แก่ ชุมชนวัดจามเทวี ชุมชนกลางเมืองลำพูนที่ผู้คนยังคงสืบทอดความเชื่อและความศรัทธาในครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา ชุมชนเวียงยองวัดต้นแก้ว ริมฝั่งแม่น้ำกวง ที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าแบบยองและผ้ายกดอกเมืองลำพูน  ชุมชนบ้านหลุก หมู่บ้านคนไทยเชื้อสายยองที่ใช้พิธีสืบชะตา เป็นกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาของตนเอง  และชุมชนประตูป่า ชุมชนคนไทยเชื้อสายยองที่พยายามรักษาและรื้อฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นยองผ่านภาษาและประเพณีทางศาสนา  “แผนที่เดินดิน” เป็นเครื่องมือแรกๆ ที่นักเรียนแต่ละกลุ่มถูกคุณครูสอนและสั่งให้ทำเป็นการบ้าน ท่ามกลางอากาศร้อนระอุกลางเดือนสิงหาคม ในบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง กลุ่มนักเรียนทั้งไทยและเทศ 5-6 คน เดินสำรวจชุมชนวัดจามเทวีร่วมกับตัวแทนชุมชน ที่พาเดินเข้าวัด ผ่านโรงเรียน เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ และชี้ชวนให้ดูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชน เช่น กู่ครูบาที่เก็บอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัยในวัดจามเทวี  บ่อน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้ตักน้ำเพื่อไปถวายครูบาศรีวิชัย  บ้านยายน้อยผู้ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมในยุคสมัยเดียวกับครูบาฯ บ้านยายจันทร์ภรรยาหมอเมืองที่เคยรักษาครูบาศรีวิชัย ฯลฯ แผนที่ที่วาดด้วยมือของนักเรียนโรงเรียนภาคสนาม แม้สัดส่วนจะไม่ถูกต้องเป๊ะ แต่ก็ทำให้นักเรียนกลุ่มชุมชนวัดจามเทวี เริ่มเข้าใจลักษณะกายภาพและบริบทของสังคมชุมชนจามเทวีมากขึ้น ขณะเดียวกันความทรงจำจากผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับพื้นที่ในอดีตของชุมชน เป็นอีกปริมณฑลที่ช่วยทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนทั้งเชิงกายภาพและวิถีวัฒนธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น  นักเรียนหน้าใหม่เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของมิติอดีตและปัจจุบันของชุมชนมากขึ้น “แต่ก่อนแถวนี้มีบ้านไม่กี่หลัง  เวลาไปทำบุญไปบวชนาคก็ไปที่วัดมหาวัน เพราะตอนนั้นวัดจามเทวียังร้าง ไม่มีโบสถ์ ไม่มีพระ”  ยายน้อยเล่าถึงความเป็นอยู่ในอดีตของชุมชน “อาตมามาจำพรรษาอยู่วัดนี้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นชุมชนไม่แออัดเท่านี้ ด้านใต้มีทุ่งนา มีบ้านไม่กี่หลัง ในวัดก็ยังไม่ค่อยมีสิ่งปลูกสร้างมาก   เมื่อก่อนแถวนี้เรียกบ้านสันมหาพน ที่แปลว่าเนินป่าใหญ่ วัดจามเทวีมีมาก่อนวัดพระธาตุหริภุญไชย แต่ว่าร้างไป ชาวบ้านเรียกว่าวัดกู่กุด เพราะชาวบ้านเห็นว่าเจดีย์ยอดด้วน” พระครูนิวิฐธรรมโชติ  ให้ความรู้แก่บรรดานักเรียนหน้าใหม่ นอกจากความกว้างของห้องเรียนจะมีทั้งมิติพื้นที่และเวลาแล้ว  ความกว้างอีกแบบหนึ่งของห้องเรียนที่ไม่ธรรมดานี้คือ “ใจ” ของคนที่ทำงานร่วมกับชุมชนที่ต้องเปิดกว้าง อาจารย์ปีเตอร์ เดวิส จากประเทศอังกฤษ มอบคาถาสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกับคนชุมชนและเจ้าของวัฒนธรรมตั้งแต่แรกเริ่มว่า ว่า “respect  respect  respect ” การเคารพเจ้าของวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ บันทึกและเรียนรู้การสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชุมชน หลังจากได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีและการลงภาคสนามสั้นๆ แล้ว นักเรียนกลุ่มวัดจามเทวีเริ่มวางพล็อตเรื่อง เขียนสตอรีบอร์ด(story board)เพื่อจะใช้เป็นแนวทางสำหรับการใช้วิดีโอบันทึกเก็บเกี่ยวข้อมูลชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ผลงานวิจัยเล็กๆ ของนักเรียนโรงเรียนภาคสนามกลุ่มชุมชนจามเทวี เผยให้เห็นว่า การสืบทอดและส่งผ่านมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทำได้หลายทางและหลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้จากชั้นเรียน ที่โรงเรียนวัดจามเทวีบรรจุเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยลงในหลักสูตรท้องถิ่น  คุณครูกฤษณา ครูสอนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนวัดจามเทวีเล่าว่า นอกจากจะสอนเด็กๆ เกี่ยวกับประวัติครูบาฯแล้ว ครูยังนำคติและหลักคำสอนจากครูบาฯ เช่น การลงมือทำงานมากกว่าพูด การอยู่อย่างสมถะ  มาบูรณาการกับหลายๆ วิชา เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ลุงคำอ้าย ชัยสิทธิ์ คนเก่าแก่ของชุมชนที่อาศัยอยู่ข้างวัดจามเทวี  ที่ในบ้านเต็มไปด้วยภาพถ่ายและหิ้งบูชาครูบาศรีวิชัย ไม่ต้องบอกก็ทราบว่าท่านเป็นคนที่มีความเชื่อและศรัทธาในครูบา และลุงก็เป็นคนหนึ่งที่บอกเล่าอย่างภาคภูมิว่าท่านเคารพและศรัทธาในวัตรปฎิบัติของครูบา จนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนลูกสอนหลานให้อยู่ในศีลในธรรม  ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในวิธีการของการส่งผ่านและสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เกี่ยวกับความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย “ครูบาท่านเกิดที่บ้านปาง อำเภอลี้ ครับ ในวันเกิดของท่านเป็นวันที่มีฟ้าร้อง พ่อแม่ของท่านก็เลยตั้งชื่อว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง...เกศาครูบานี้ ตอนเด็กๆ ตาให้ผมมาครับ ผมคิดว่า มันช่วยปกป้องผมได้ครับ...ถ้าต่อไปนี้ผมมีลูกผมก็อยากเล่าให้ลูกฟัง เพราะว่ามันก็เหมือนเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของที่นี่ไปแล้ว ผมก็อยากจะเล่าฟัง”  คำบอกเล่าของ ด.ช.ภัทรพงษ์ หลานชายลุงคำอ้าย เกี่ยวกับความศรัทธาต่อครูบา แสดงถึงการส่งผ่านและสืบทอดมรดกในระดับปัจเจกของคนในชุมชน ประตูและหน้าต่างวิหารวัดจามเทวี ถูกปิดชั่วคราวราวครึ่งชั่วโมง เพื่อใช้เป็นสถานที่ฉายสารคดีสั้นเรื่อง “Remembering Khruba Srivichai”ผลงานของทีมนักเรียนโรงเรียนภาคสนามที่ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากชุมชนจามเทวี  และด้วยความเมตตาของท่านพระครูนิวิฐธรรมโชติ ท่านเจ้าอาวาสวัดจามเทวี  พ่ออุ้ยแม่อุ้ย นักเรียน และคนในชุมชนที่มาร่วมวิจารณ์เนื้อหาสารคดีชุดนี้  ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า “ทำไมหนังสั้นจัง กำลังดูสนุกอยู่ทีเดียว จบซะแล้ว...น่าจะเล่าผลงานครูบาให้มากกว่านี้หน่อย... ชอบฉากนักเรียนที่แย่งกันบอกว่ารู้จักครูบา” สารคดีสั้นเรื่องนี้แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เป็นเพียงงานทดลองหรือฝึกปฏิบัติทำวิจัยและเก็บข้อมูลชุมชนของนักเรียนโรงเรียนภาคสนาม แต่ก็เป็นเครื่องมือเล็กๆ หนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญมรดกวัฒนธรรมที่ตนเองภาคภูมิใจ และนำไปสู่การร่วมมือกันปกป้องมรดกความทรงจำดังกล่าวต่อไป ปีนี้โรงเรียนภาคสนามปิดภาคเรียนไปแล้ว แต่ภาพวิถีการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของคนในชุมชนวัดจามเทวี ถูกบันทึกไว้แล้วในหนังสารคดี และประทับอยู่ในใจของคนในชุมชนและคนนอกชุมชน จาง เซี่ยวหยาง  นักเรียนจากประเทศจีน  ที่มาคลุกคลีและทำงานอยู่ในชุมชนจามเทวี ทิ้งท้ายความรู้สึกของเธอที่มีต่อมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชนจามเทวี “ตอนแรกที่ฉันมาที่นี่ ฉันเห็นรูปปั้นและกู่ครูบาและรู้สึกว่าท่านอยู่ห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน แต่หลังจากที่ฉันมาทำวิจัยและเก็บข้อมูลกับคนในชุมชน ฉันรู้สึกว่าฉันได้เข้าใกล้และเข้าใจความศรัทธาของคนในชุมชนที่มีต่อครูบามากขึ้นเรื่อยๆ รูปปั้นครูบาไม่ใช่แค่เพื่อให้คนมาเคารพกราบไหว้ แต่ความศรัทธาที่อยู่ในใจผู้คน ทำให้ผู้คนปฏิบัติตนเป็นคนดี ครูบาเป็นแบบอย่างให้คนทำสิ่งดีๆ”   หมายเหตุ: ชมสารคดีสั้นจากโรงเรียนภาคสนาม ทั้ง 4 เรื่อง  Remembering Khruba Srivichai, Weaving Together, Because We Are Yong, Cherishing Our Tradition: The Seup Chata Ceremonyin the Banluk Community ได้ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร http://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/index.php/video     [1] เนื้อหาบางส่วนดัดแปลงจาก ปณิตา สระวาสี.“พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้.” ใน สกุลไทยรายสัปดาห์. ฉบับที่ 2974(18 ต.ค. 2554), 32-35.  

พัฒนาการงานอนุรักษ์

30 มีนาคม 2558

การอนุรักษ์เริ่มต้นพัฒนาในศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการให้ความสำคัญกับส่วนงานที่ในปัจจุบันเรียกว่า “การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวน” (interventive conservation) การอนุรักษ์วัตถุเป็นการป้องกันสภาพความเสื่อมโทรม ด้วยการทำความสะอาด และการพยายามคงสภาพในปัจจุบันของวัตถุนั้น บ่อยครั้งที่ปฏิบัติการต่อวัตถุจำเป็นต้องสงวนวัตถุจากเงื่อนไขที่จะทำให้วัตถุเสื่อมลง เช่น การขึ้นสนิมบนวัสดุเหล็ก การตกผลึกเกลือ หรือการกัดกินของแมลง การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวนขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของวิชาการสาขาเคมี ทั้งในด้านการนิยามปัญหาและพัฒนาการแก้ปัญหา งานวิชาการที่เสมือนหลักหมายของการพัฒนาดังกล่าวได้แก่ งานเขียนของ Rathgen, Die Konservierung von Altertumsfunden (เขียนขึ้นในปี 1898 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1905 โดย G. A. and H. A. Auden ในชื่อว่า Preservation of Antiquities : A Handook for Curators (การสงวนวัตถุโบราณ : คู่มือสำหรับภัณฑารักษ์) และงานเขียนของ Plenderleith และ Werner เรื่อง Conservation of Antiquities and Works of Art (ปี 1971 ในการพิมพ์ครั้งที่ 2) ในช่วงศตวรรษที่ 20 คือภายหลังจากงานตีพิมพ์ของ Garry Thompson เรื่อง The Museum Environment (สภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑสถาน) บทบาทของการสงวนรักษาวัตถุด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อมและ การเน้นย้ำการดูแลรักษา กลายเป็นแนวทางในการทำงานอนุรักษ์ แนวทางการอนุรักษ์นี้เป็นที่สนใจอย่างสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 และนิยามการทำงานดังกล่าวว่า “การอนุรักษ์แบบสงวนรักษา” (preventive conservation) สาขาวิชาพัฒนาไป พร้อมกับการจัดการด้านเทคนิคที่สามารถประยุกต์ใช้กับ งานสะสมพิพิธภัณฑ์ อาคาร และสภาพแวดล้อม รวมทั้งลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลากรและงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ การอนุรักษ์แบบสงวนรักษาเกิดขึ้นจากบัญญัติเกี่ยวจรรยาบรรณสำหรับภัณฑารักษ์ที่พัฒนาขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 (AIC 1994; UKIC 1996) งานวิชาการที่เป็นหลักสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวคือ สภาพแวดล้อมพิพิธภัณฑ์ (1978) แนวทางปฏิบัติ ทฤษฎี และการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ซึ่งบรรณาธิการโดย A. Roy และ P. Smith เป็นเอกสารประกอบการประชุม IIC ที่เมืองออตตาวา และงานล่าสุดของ Suzanne Keene ใน การจัดการการอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ (ในปี 1996) กิจกรรมการอนุรักษ์เกือบทั้งหมดจัดแบ่งในลักษณะที่ไม่เป็นการอนุรักษ์แบบซ่อมสงวน ก็เป็นการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ในขณะเดียวกันงานการวิจัย การศึกษา และการอบรม กลับไม่มีการจัดแบ่งประเภท “ยุคข่าวสาร” ซึ่งเน้นการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับความรู้และการถ่ายทอดความรู้ในทุกๆ กิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ การสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่กลายเป็นหัวใจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวนและสงวนรักษา สำหรับเป็นวิถีที่นำไปสู่อนาคตด้วยตัวมันเอง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การสร้างองค์ความรู้และข้อมูล (งานวิจัย) การสื่อสารความรู้นั้นๆ (การศึกษา การอบรม และการเผยแพร่ข้อมูล) พร้อมไปกับความพยายามรักษาทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์ (การให้การสนับสนุน) เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการอนุรักษ์ในอนาคต และสิ่งนี้เองที่เรียกว่า “formative information” (การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล)  นิยามและขอบเขต แนวทางการอนุรักษ์มีพื้นฐานหลักที่การพัฒนาและการสร้างสรรค์สำหรับอนาคตงานอนุรักษ์ การสร้างข้อมูล – หรืองานวิจัย – ดำเนินการในหลายระดับจากงานวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การวิเคราะห์ และการทำงานที่ซับซ้อนของวัตถุบางประเภท เพื่อการอนุรักษ์วัตถุประเภทนั้นๆ (ประเภทของงานวิจัยดูได้ใน The Conservator – ภัณฑารักษ์) จากนั้นเป็นงานวิจัยในแง่วัสดุและเสื่อมถอย (ประเภทของงานวิจัยดูได้ใน Studies in Conservation – การศึกษาวิจัยในงานอนุรักษ์) และท้ายที่สุด งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบที่มีนักวิจัยชำนาญเฉพาะ พร้อมด้วยงบประมาณและเครื่องมือเต็มรูปแบบ       การศึกษาเกี่ยวกับอนุรักษ์และการอบรมทุกรูปแบบ การอบรมสามารถดำเนินการได้ในระยะหลายปี ซึ่งนำไปสู่การสร้างคุณภาพในงานอนุรักษ์ หรือเป็นการอบรมในระยะสั้นที่ต่อเนื่อง และถือเป็นการพัฒนาการปฏิบัติการของภัณฑารักษ์งานวิชาการของ ICOM – CC Working Group on Training in Conservation and Restoration เป็นสิ่งที่แสดงการพัฒนา “งานอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” ในการสร้างภัณฑารักษ์รุ่นต่อไปอย่างไรก็ดี ยังมีความคลุมเครือระหว่างการศึกษา ซึ่งหมายถึง “การได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจเป็นหลัก” และการอบรม อันหมายถึง “การพัฒนาความชำนาญการในการประยุกต์ความรู้และความเข้าใจเป็นหลัก” แม้ว่าทั้งสองกิจกรรมจะมีความทับซ้อนกันอยู่ แต่เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าวิชาเรียนมากมายในการอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สอนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในทางกลับกัน การฝึกงานและวิชาปฏิบัติการอื่นๆ เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอบรม การดำเนินงานทั้งสองประการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาการตัดสินใจที่ดี (การให้น้ำหนักอย่างชาญฉลาดในการจัดการความรู้) ให้กับภัณฑารักษ์ การประชุมและงานวิชาการเสริมให้การพัฒนาวิชาชีพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างหนทางในการเผยแพร่ผลการวิจัยและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดด้วยการดำเนินงานดังกล่าว จึงเป็นก่อร่างทิศทางงานอนุรักษ์ในอนาคต ตัวอย่างงานของ Michalski เกี่ยวกับค่า RH (relative humidity – ผู้ แปล) ที่ถูกต้องและผิดพลาด (Michalski 1993) เป็นจุดสำคัญในการทบทวนเกี่ยวกับการสร้างสภาพ ที่คงที่ของสภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเผยแพร่ผ่านแหล่งสื่อหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และอินเตอร์เนต เช่นเดียวกับหนังสือ จดหมายข่าว และสิ่งพิมพ์อื่นๆ การเข้าถึงและความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ภัณฑารักษ์คำนึงถึงมากขึ้น อนาคตของงานอนุรักษ์จึงไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับเพียงประการเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลเช่นกัน อนาคตของงานอนุรักษ์เชื่อมโยงอย่างมากกับทรัพยากรที่เอื้อต่องานอนุรักษ์ และการสนับสนุนจาก ผู้คนทั่วไปเพื่อกิจกรรมงานอนุรักษ์ อนึ่ง คำว่า “การสนับสนุน” สามารถใช้อธิบายกระบวนการ หลากหลายของความสนับสนุนและทรัพยากร ตั้งแต่อาศัยการพูดจากับกลุ่มคนเล็กๆ จนถึงการขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากนักการเมือง เพื่อสร้างช่องทางประชาสัมพันธ์และการตอบข้อซักถามต่อสาธารณชนด้วยวิธีการเหล่านี้ เราจึงสามารถสร้างความสนใจให้กับคนทั่วไปในการตระหนักถึงความสำคัญและเป้าหมายของการอนุรักษ์ ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าการสงวนรักษา จึงนำไปสู่การสร้างและปฏิบัติตามมาตรการในการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ที่แต่ละคนสามารถปฏิบัติต่อสิ่งที่ตน    ครอบครอง ทั้งที่เป็นของส่วนบุคคลและส่วนรวม เพื่อการคำนึงถึงมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะเป็นสมบัติร่วม เพราะก่อนที่ปัจเจกบุคคลจะใฝ่หาการศึกษาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พวกเขาต้องเห็นว่าสิ่งนั้นๆ มีความสำคัญ เราต้องเข้าไปถึงใจก่อนจะเข้าถึงความคิดของเขา การสนับสนุนจึงเป็นกระบวนการ “จับใจ” สร้างความต้องการอยากรู้อยากเห็น และนำผู้คนไปสู่ความปรารถนาในทางปฏิบัติ อนาคตของการอนุรักษ์มาจากกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายเช่นนี้ เมื่อระลึกถึงวัตถุประสงค์ร่วมในการสร้างอนาคตงานอนุรักษ์นำไปสู่ข้อสรุปนิยาม “การอนุรักษ์แบบข้อมูล” และคำอธิบายที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้ การอนุรักษ์แบบข้อมูล คือ ขบวนการสร้างความรู้และพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ความรู้นั้นๆ ในการอนุรักษ์ชิ้นงานประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้  ระยะห่าง หากจะกล่าวไปแล้ว ระดับของการปฏิบัติการอนุรักษ์มีลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับคือ การอนุรักษ์ “แบบซ่อมสงวน” เป็นการดำเนินการต่อวัตถุชิ้นเดียว การอนุรักษ์ “สงวนรักษา” ปฏิบัติต่องานสะสมชิ้นต่างๆ ในขณะที่ การอนุรักษ์ “แบบงานข้อมูล” เป็นการสร้าง/พัฒนางานอนุรักษ์ในอนาคต เหตุที่งานอนุรักษ์ดำเนินไปในทิศทางดังกล่าว เนื่องมาจากการตระหนักถึงระยะห่างที่ทรงพลังระหว่างวัตถุและนักอนุรักษ์ ยิ่งการเผชิญหน้าต่อวัตถุมีระยะห่างเท่าใดยิ่งทำให้วัตถุได้รับการดูแลมากขึ้น ระยะห่างเช่นนี้ก่อให้เกิดการวิจัยหรือการศึกษาบางแง่มุม เรียกได้ว่าพลังการดำเนินการอนุรักษ์จะส่งผลต่อวัตถุในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น  ประโยชน์ที่ได้รับ       ขอบข่ายของงานอนุรักษ์ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เช่น สิ่งพิมพ์เผยแพร่ การศึกษา การวิจัย และการสนับสนุนภายใต้คำเรียก “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” นำไปสู่แง่มุมบางประการและทุกๆ ประการของงานอนุรักษ์ที่ได้รับการอธิบายภายใต้นิยาม “การซ่อมสงวน” “การสงวนรักษา” หรือ “งานข้อมูล” สาขาย่อยของงานอนุรักษ์นี้และโดยเฉพาะการสร้างนิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” อาจจะปรากฏเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในจำนวนที่หลากหลายของ “การสร้างแบบสำเร็จและให้ชื่อ” สาขาวิชาของงานอนุรักษ์ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอรูปแบบ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” ดังนี้       - อธิบายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา - สร้างความตระหนักแก่ผู้ปฏิบัติการการวิจัย การศึกษา การอบรม และการสนับสนุนอื่น ๆ ในสิ่งที่พวก เขาดำเนินการ ว่าเป็นสิ่งที่สร้าง (ก่อร่าง) ความสามารถเพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอด       - เน้นย้ำว่า ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากงานวิจัยมิได้มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ประการเดียว หากแต่ว่าความรู้นั้น ๆ มีบทบาทที่มากกว่า ในฐานะ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักอนุรักษ์คนอื่นๆ เพื่อความเข้าใจและการอนุรักษ์วัตถุที่ดีมากขึ้น ความรู้โดยปราศจากการเผยแพร่เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม เช่นเดียวกับความมั่งคั่งและอำนาจที่ไม่ได้ใช้ไปในทางที่ถูกที่ควรของมุนษยชาติ       - เก็บบันทึกการยอมรับที่กว้างขวางในบทบาทการสนับสนุน และการตระหนักถึงบทบาท เพื่อปูทางสู่อนาคตของงานอนุรักษ์       - เอื้อให้กระบวนการของการศึกษาและอบรมที่มีความทับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการควบคู่กัน สามารถดำเนินเคียงคู่กันไปภายใต้นิยามที่มีวัตถุประสงค์และแง่มุมร่วมกันของ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” การสร้างกรอบของกระบวนการและ การดำเนินงานมากมายภายใต้นิยาม “การอนุรักษ์แบบสงวนรักษา” ทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นความสำคัญและลักษณะ ที่แตกต่างของกิจกรรมเหล่านั้น เมื่อคนเห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งเงินทุนสนับสนุน และกิจกรรมที่เป็นที่สนใจมากขึ้น งานวิชาการที่เกี่ยวข้องเผยแพร่อย่างแพร่หลาย สิ่งนี้ย่อมเป็นหนทางให้วิชาชีพกว้างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ การจัดอบรมเฉพาะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักอนุรักษ์มากมายสนใจในแขนงงานอนุรักษ์ดังกล่าว จากที่แต่เดิมที่เห็นว่าการอนุรักษ์แบบสงวนรักษาเป็นสิ่งที่ “โง่เง้าและซ้ำซาก” การตระหนักในความสำคัญของแขนงวิชาเช่นนี้ นำไปสู่การสร้างมาตรฐานบางประการ ในสหราชอาณาจักร ปรากฏการจัดตั้งแนวมาตรฐานที่เป็นรูปธรรม โดยงานพิมพ์เผยแพร่ของคณะกรรมการ พิพิธภัณฑสถานและหอศิลป์เรื่อง “มาตรฐานในการดูแลงานสะสม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานทะเบียนในพิพิธภัณฑ์ ในอนาคตการให้ความสำคัญกับกระบวนการ ด้วยการเสนอใช้นิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” มีลักษณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป และจะเป็นการนำทางไปสู่อนาคตของงานอนุรักษ์  บทสรุป การเสนอบทความโดยสังเขปนี้ เป็นการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับคำนิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” เพื่ออธิบายกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์พื้นฐานในการพัฒนางานอนุรักษ์ในอนาคต จุดประสงค์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการสร้างข้อมูลและการเผยแพร่ผ่านทางการศึกษา การอบรม และฐานข้อมูลของนักอนุรักษ์ ท้ายที่สุด นำไปสู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านั้น เอกสาร/หนังสืออ้างอิงAIC (American Institute for Conservation). 1994. Code of ethics and guides for practice. AIC News, May 1994: 17 – 20.Keene S. 1996. Managing conservation in museums, London: Butterworth Heinemann.Michalski S. 1993. Relative humidity: A discussion of correct/incorrect values. In: ICOM-CC 10th Triennial Meeting, Washington, DC, USA. Paris: International Council of Museums: 624 – 629.Plenderleith H and Werner AEA. 1971. Conservation of antiquities and works of art. Oxford: Oxford University Press.Rathgen F. 1898. Die Konservierung von Altertumsfunden. Berlin: W. Spemann.หมายเหตุผู้แปลขอขอบคุณ Lawrence Chin ที่แนะนำบทความให้อ่านเพิ่มเติม หลังจากการร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์Chris Caple ผู้เขียนบทความเป็นอาจารย์ ณ Department of Archaeology, University of Durham, South Road, Durham DH1 3LE, UKภาพประกอบบทความมาจากสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ –ประเทศสิงคโปร์ โปรแกรมการศึกษาประจำปี 2003 “บรรจงสร้างมรดกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกผู้คน” แปลและเรียบเรียงจากChris Caple, “Formative Conservation”, In book 12th triennial meeting, Lyon, 29 August - 3 September 1999: preprint (ICOM Committee for Conservation). James & James (Science Publishers) Ltd., Bridgland, Janet (Editor) (1999), pp. 135 - 138.

โศกนาฏกรรมกับความทรงจำที่บันทึกในพิพิธภัณฑสถาน - กรณี 11 กันยายน

30 มีนาคม 2558

Yahrzeit: September 11 ObservedMuseum of Jewish Heritage – A Living Memorial to the Holocaust, New York.August 29, 2002 – January 5, 2003A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01National Memorial Center Museum, Oklahoma City.April 19,2002 – September 1, 2003A Day of Reflection and RemembranceUnited States Holocaust Memorial Museum, Washington, D.C.September 11, 2002           ในวันที่ 11 กันยายน 2002 รายการโทรทัศน์ “ช่องประวัติศาสตร์” (History Channel) ออกอากาศสารคดีเรื่อง “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” (Relics from the rubble) ซึ่งเป็นครั้งแรกในการนำเรื่องราวกราวด์ ซีโร (Ground Zero – กรณีการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 - ผู้แปล) เข้าไปบอกเล่าในบริบทพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์สารคดีลำดับการทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในการสำรวจรถพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ และเศษซากเครื่องเรือนที่มาจากการโจมตีตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ จากที่ภัณฑารักษ์และผู้จัดการงานสะสมบันทึกรายละเอียดต่างๆ พวกเขาพูดคุยกันว่า วัตถุเหล่านี้เหมาะสมกับการจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องของอดีตในอนาคต สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” ที่ใช้การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองในความตื่นตระหนกต่อวิกฤตระดับชาติ ได้เปล่งเสียงแห่งความรำลึกถึงหนึ่งในเสียงที่เซ็งแซ่อยู่ทั่วสหรัฐอเมริกาตั้งแต่มีการโจมตีจากเครื่องบินพาณิชย์ที่ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ร่วมรำลึกถึงโศกนาฏกรรมด้วยการเก็บและจัดแสดงซากเหล่านั้น          ในความเรียงฉบับนี้ ข้าพเจ้าจะพิจารณาพื้นที่ของกิจกรรมการไว้อาลัยที่สนับสนุนโดยพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 ข้าพเจ้ามิเพียงพิจารณาพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นสถานเก็บกักวัตถุแห่ง ความทรงจำ หากแต่เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ข้อเท็จจริงทางสังคมเนื่องด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน สร้างความหมายสำคัญยิ่งขึ้น ดังที่ เจมส์ ยัง (James Young) ได้กล่าวไปแล้วว่า “การระลึกถึงอาจจะเป็นการกำหนดวันสำคัญการจัดประชุมหรือการจัดสรรพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างอนุสาวรีย์” ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพิจารณากิจกรรมการรำลึกถึง 3 เหตุการณ์ ซึ่งจัดขึ้นในพิพิธภัณฑสถานในช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการโจมตี อันได้แก่ นิทรรศการร่วม รำลึก 2 แห่ง และพิธีกรรมความทรงจำ แต่ละที่แต่ละเหตุการณ์เชื่อมโยงกับการครบรอบ 1 ปีการโจมตีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย และเวอร์จิเนีย กรณีศึกษาเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นทางทฤษฎีและภาพกว้างในแง่ข้อมูลทั่วไป          เมื่อย้อนกลับไปมองหลักทฤษฎีภาษาของเอดเวิร์ด ซาเพีย (Edward Sapir) ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การนำเสนอ ประเด็นเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑ์แสดง “การบิดพลิ้วของการใช้” (tyranny of usage) (Sapir 1921: 98) การรำลึกถึงโศกนาฏกรรม เพราะเนื้อหาแสดงผ่านโครงสร้างและหลักการจากเหตุการณ์ความทรงจำ/การรำลึกถึงที่มีมาก่อนหน้านั้น (Halbwachs 1980; Zelier 1998) การวิพากษ์ต่อรูปแบบ (form) และเนื้อหา (content) ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานว่ามีความแตกต่าง อย่างไร และความเชื่อมโยงของการรำลึกอดีตกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์เป็นไปในลักษณะใด นักมานุษยวิทยาต้องวิจารณ์ตรรกะเศรษฐกิจของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในภาพกว้าง เพื่อปูทางการอภิปรายต่อภาพที่นำเสนอ          คลื่นแรกของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในบริบทพิพิธภัณฑสถานมีรูปโฉมจากการหล่อมรวมระหว่างตรรกะ พิธีกรรม และหน้าที่ในการระลึกถึงที่มีอยู่ เข้ากับเศษส่วนเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจำนวนมากมายจากความหายนะในครั้งใหม่ กิจกรรมเฉพาะกาลในพิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าใช้พิจารณาเชื่อมต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน เพื่อสร้างความหลากหลายที่อยู่บนชุดความคิดการรำลึกถึง หรือจะให้พูดอีกที กราวด์ ซีโร่ สร้างความหมายผ่านเหตุการณ์ ที่เป็นการฆ่าหมู่และการวางระเบิดที่โอกลาโฮมา ซิตี้ (Oklahoma City) ความหมายของเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่ตรึงติดกับสถานที่ที่เกิดเหตุ หากแต่พัฒนาผ่านแนวคิดซึ่งมีโครงสร้างจากกิจกรรมที่ทำมาก่อนหน้าในแต่ละพิพิธภัณฑ์YAHRZEIT ณ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว (the Museum of Jewish Heritage)           นิทรรศการ “Yahrzeit: September 11 Observed” หรือ “ครบรอบวันตาย: พินิจ 11กันยายน” เปิดฉากด้วยภาพถ่าย  2 ภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพขาวดำที่แสดงให้เห็นส่วนยอดของอาคารแฝด เวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์ ปรากฏอยู่บนพื้นหลังของภาพรูปทรงลักษณะเดียวกับหลังคาพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และอีกภาพหนึ่ง ภาพเล็กแสดงเหตุการณ์การไว้อาลัยของผู้คนที่จุดเทียนในท้องถนน เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์ 11กันยายน (ภาพที่ 1)ภาพที่ 1  ภาพโดย Jake Price          จริง ๆ แล้ว Yahrzeit คำภาษายิวหมายถึง “ช่วงปี” Yahrzeit เป็นคำสามัญที่ใช้ในกลุ่มยิวอาชกินาซี (Ashkenazi Jews) เพื่อบ่งถึงวาระครบรอบ 12 เดือนของการจากไป ตามประเพณีจะมีการสวดและการจุดเทียนซึ่งเรียกว่า “Yahrzeit Candle” (Heilman 2001:183) นอกเหนือจากการไว้อาลัย ประเด็นที่โดดเด่นของนิทรรศการ Yahrzeit คือ สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวที่ใกล้กับอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ภาพถ่าย ข้อความ และสิ่งจัดแสดงในนิทรรศการล้วนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารและเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาสะท้อนให้เห็นภาพโดยรวมของประสบการณ์ที่ชาวพิพิธภัณฑ์ประสบทั้งการสูญเสีย การให้ความช่วยเหลือ และการฟื้นสภาพภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน           ด้วยการออกแบบของ เอมี่ ฟอร์แมน (Amy Forman) ซึ่งใช้ผนังดำเป็นพื้นของข้อความที่ปรากฏในนิทรรศการ และจัดแสดงคู่ไปกับภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงนิทรรศการ Yahrzeit ร่ำรายกลิ่นอายของห้องจัดแสดงเช่นเดียวกับ เทียนที่ส่องสว่าง เนื้อหาเล่าถ้อยความตามเหตุการณ์ลำดับเวลา นิทรรศการจึงเป็นดั่งการผจญภัยของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อย่างที่พวกเขาได้เห็นควันไฟและเศษวัตถุที่มาจากตึกแฝด ได้จ้องมองโศกนาฏกรรมที่มิอาจยับยั้งได้          ภาพร่างชาวนิวยอร์กที่ฉาบเคลือบด้วยเถ้าผง เรื่องราวจึงกลายเป็นจุดเชื่อมในนิทรรศการระหว่างพิพิธภัณฑ์กับความเจ็บปวดของนครแห่งนี้ ตัวอย่างฉากแสดง อีกชุดหนึ่ง เป็นการแสดงหน้ากากอนามัยของแพทย์ที่ผู้ช่วยของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งใช้ในระหว่างให้ความช่วยเหลืออยู่ในฝุ่นผงและเศษซาก อีกฉากหนึ่งแสดงประสบการณ์เฉพาะบุคคล ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในระหว่างเหตุการณ์ 11 กันยายน ภาพถ่ายหนึ่งบอกเล่าถึงคนครัวชาวอิสราเอล ผู้เดินทางมานิวยอร์กเพื่อปรุงอาหารให้คณะทำงานช่วยเหลือ และหมวกหน่วยกู้ภัยจัดแสดง ณ กลางตู้ พร้อมทั้งรายละเอียดส่วนบุคคลที่กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าหน้าที่กู้ภัยชาวยิวที่ตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (ภาพที่ 2)ภาพที่ 2 นิทรรศการ Yahrzeit สมุดบันทึกและหมวกหน่วยกู้ภัยให้ยืมจาก Michael Weiss and Alissa Weiss บุตรและธิดาของนักผจญเพลิง David Weiss หนึ่งในบรรดานักผจญเพลิง 343 คน และ เสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายน 2001 (ภาพโดย Jake Price)หากพิจารณาแนวคิดการวางแบบนิทรรศการ Yahrzeit นักมานุษยวิทยาหลายท่าน และภัณฑารักษ์รับเชิญ จิล เวกซ์เลอร์ (Jill Vexler) ได้บันทึกไว้ว่า          นิทรรศการไม่ใช่เพียงการนับย้อนเรื่องราวในฐานะประวัติศาสตร์สังคม ด้วยการจัดแสดงวัตถุต่างๆไม่ใช่เช่นนั้น… นิทรรศการ Yahrzeit กอปรด้วยแนวคิดรวบยอดและปรัชญา นอกจากนี้ ในบริบทของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยิว สิ่งที่บอกเล่าสัมพันธ์กับพื้นฐานของชีวิต การสูญเสีย การพินิจซ้ำ การตอบโต้ การกระทำ และการสร้างใหม่ (หรือตามรูปศัพท์ที่พิพิธภัณฑ์เรียกว่า “การฟื้นคืนชีวิต”) [2002:4-5]                  ฉะนั้น ตรรกะของความทรงจำจึงปรากฏในบริบทของการสอดประสานกับกุศโลบายของนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำลายยิวในยุโรป แล้วนำมาสู่ความสนใจวัฒนธรรมยิวในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สะท้อนในนิทรรศการ Yahrzeit จึงวางแนวคิดเหตุการณ์ 11กันยายน ในฐานะที่มีเนื้อหาใกล้กับวาทกรรมการระลึกถึงของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวในสามระดับ ได้แก่ สิ่งปรากฏ ต่อสายตา ประสบการณ์ และ วิญญาณ                 แนวคิดการรำลึกถึงในนิทรรศการนำเสนอบางสิ่งที่พ้องกับทัศน์ส่วนน้อยหรือทัศน์ทางเลือกของโศกนาฏกรรม แต่มิได้หมายความว่านิทรรศการสร้างเหตุการณ์ 11 กันยายน “แบบยิว“ และไม่ใช่การนำไปเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการไม่ได้นำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน ภายใต้มุมมองของ ทอม สตอปปาร์ด (Tom Stoppard) ) ของเฮมเลตในเรื่อง Rosencrantz and Guidenstern Are Dead? เรื่องราวที่คุ้นเคยจากมุมมองของคนเล็กๆ นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติโอกลาโฮมา (the Oklahoma National Memorial Center)          เช่นเดียวกับนิทรรศการ Yahrzeit นิทรรศการเคลื่อนที่เรื่อง “ประสบการณ์ร่วม จาก 04.19.95 ถึง 09.11.01” (A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01) ใช้แนวคิดของความใกล้ชิดกับเหตุการณ์ 11 กันยายน แม้จะมีวิธีในการถ่ายทอดเนื้อหาแตกต่างออกไป นิทรรศการมุมมองร่วม (A Shared Perspective) เปิดในวาระครบ 7 ปีของการพังทลายของตึก อัลเฟรด พี. มูรราห์ (Alfred M. Murrah Building)  ในโอกลาโฮมา ซิตี้ นิทรรศการเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขสภาพพื้นฐานที่เหมือนกันของวันแห่งความวินาศทั้ง 2 วัน แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองมีความแตกต่างในเรื่องของเวลา ที่ตั้ง และเหตุผลทางการเมือง นิทรรศการนำไปสู่สิ่งที่เหมือนกัน ในการจัดแสดงระหว่างภาพและสิ่งของจากเหตุการณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมของโศกนาฏกรรมทั้ง 2 เหตุการณ์ และเป้าหมายในการรำลึกถึงที่มีอยู่ร่วมกัน แนวคิดหลักโดยกว้างที่มีจุดร่วมปรากฏใน 5 ลักษณะ  คือ การก่อการร้ายเช่นเดียวกัน ความกล้าหาญที่เหมือนกัน การตอบสนองในทิศทางเดียวกัน ประสบการณ์และบทเรียนร่วมกัน จากที่กล่าวมา นิทรรศการพยายามนิยามเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้ภาษาและสัญลักษณ์ร่วมของความเจ็บปวดที่คนอเมริกันมีร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการโจมตี บนแผ่นดินใหญ่ เฉกเช่นเรื่องราวของวีรบุรุษในการกู้ภัย และการฟื้นฟูภายหลังการโจมตี วัตถุเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบบทเรียนทางศีลธรรมและจิตวิญญาณในการฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของประชาชนอเมริกัน          ด้วยจุดสำคัญของลักษณะร่วมระหว่างอาคารมูรราห์ (The Murrah Building) และตึกแฝด (the Twin Towers) นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ดึงเหตุการณ์ 11 กันยายนสู่การฟื้นคืน เมื่ออาคารพังถล่มลงจากระเบิด ชุมชนหลายชุมชนรวมตัวขึ้น ดังนั้น การออกแบบนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เน้นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนจากการพังทลายของ สถาปัตยกรรมไปสู่การฟื้นคืนของชุมชน ดังเช่นฉากเปิดของนิทรรศการแสดงภาพถ่ายจากสถานที่เกิดเหตุ 4 แห่ง และการกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ฉากและสิ่งจัดแสดงแสดงภาพซ้ำๆ ของกองซากใกล้กับภาพของนักดับเพลิงกู้ภัยจากที่เกิดเหตุในโอกลาโฮมา และนิวยอร์ก ซิตี้ จุดแสดงนี้ ปรากฏหมวกของหน่วยกู้ภัย อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยในลักษณะที่ใส่ระหว่างปฏิบัติงานจริง (ภาพที่ 3)ภาพที่ 3 นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม : 04.19.95 - 09.11.01” ฉากเปิดของนิทรรศการและส่วนการจัดแสดงกลางห้องนิทรรศการที่จัดแสดงหมวกกู้ภัยจากเมืองต่างๆ และลงนามผู้ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ (G. Jill Evans)           จากนั้นมีฉากแสดงที่น่าหดหู่คือ พาหนะของหน่วยกู้ภัยที่บุบพัง ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ที่ถูกทำลายอยู่หน้าฉากผืนธงอเมริกันขนาดใหญ่ การไว้อาลัยขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นฉากรับวีดิทัศน์กล่าวถึงการไว้อาลัยในโอกลาโฮมา ซิตี้ และนิวยอร์ก          ซึ่งจูงให้ผู้ชมเห็นความคล้ายคลึงของการแสดงออกหวน ให้ต่อเหตุการณ์ทั้งสองแห่งสื่อเพื่อการศึกษา “หนังสือพิมพ์เล็ก” แจกให้กับเยาวชนที่เข้ามาชมได้ตั้งคำถามต่อพวกเขา “อะไรคือความคล้ายคลึงที่เราพบเห็นได้อนุสรณ์ทั้งสองแห่งนี้… สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างไร” โศกนาฏกรรมนำไปสู่การกู้ภัยที่ไปสู่ร่วมบางประการ          ถ้าหากพูดอีกนัยหนึ่ง ข้าวของที่มาจากเหตุการณ์ 11 กันยายนมิได้มีความหมายเฉพาะในนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ที่เชื่อมโยงกับสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ความคล้ายคลึงยังเป็นคุณค่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในโอกลาโอมา เหตุการณ์ 11  กันยายน มีความหมายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการสร้างชุมชนร่วมชาติ ซึ่งไม่ได้ย้ำเน้นเฉพาะความเจ็บปวด แต่ยังย้ำกระบวรการสร้างอารมณ์ร่วมของความเจ็บปวดร่วม          เอดเวิร์ด ลิเนนธอล (Edward Linenthal) อธิบาย “กระบวนการตีคลุม” ในคำบรรยายของเขาเกี่ยวกับโอกลาโฮมา ซิตี้ (2001) การปลดปล่อยจากความเจ็บปวดของบุคคล ด้วยการสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างเหยื่อและผู้รอดชีวิต ภายใต้ความสัมพันธ์กับสถาบันอนุสรณ์สถานและพิธีการ สาธารณะ ดังนั้น การสร้างนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนทั้ง  3 แห่ง ที่เคลื่อนที่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์นำสารัตถะ ของ ศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา และการระเบิดในโอกลาโฮมา ซิตี้ไปสู่โศกนาฏกรรมระดับชาติ จุดเชื่อมที่ร่วมกันด้วยการ นำเสนอเอกสารเหตุการณ์ 11 กันยายน กับ “4/19” (หรือ เป็นวันที่เกิดระเบิดในโอกลาโอมา วันที่ 19 เมษายน 1995) ที่เชื่อมต่อกันหนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้ (A Day of Reflection and remembrance) ณ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา (The United States Holocaust Memorial Museum)          เริ่มต้นจากแนวคิดที่ใช้นิทรรศการเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกาลงเอย ด้วยการจัดทำรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ 11กันยายน  จำนวน  3,000 รายนาม และผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ได้อ่านด้วยการยืน หลังแท่น ประกาศไม้ใน “กำแพงแห่งพยาน” ของพิพิธภัณฑ์ ผู้คนจะเวียนมาเอ่ยนาม อายุ เมือง และสถานที่ของเหยื่อแต่ละคนอย่างเงียบเฉียบและต่อเนื่อง (ภาพที่ 4)ภาพที่ 4 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ภาพแสดงพิธีเอ่ยนามผู้เสียชีวิตโดยผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาสาสมัคร Charlene Schiff (ภาพโดย Andy Hollinger)          หลังจากที่อ่านซักระยะหนึ่ง คนอ่านถัดไปจะเวียนกันขึ้นมาที่แท่นประกาศไม้และอ่านต่อไป กิจกรรมดำเนินไปตลอด 4 ชั่วโมงและดึงดูดผู้ชมที่หลากหลาย ผู้คนที่ยืนห่างจากแท่นประกาศในระยะไกลใกล้ต่างกัน หรืออยู่บนม้านั่งใน บริเวณใกล้เคียง          กิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้รูปแบบพิธีกรรม ของความทรงจำ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวแพร่หลายอย่างมากในธรรมเนียมการรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและการหวนให้” ต่างไปจากรูปแบบพิธีการอ่านรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั่วไป เพราะการลำดับนามไม่ได้เป็นไปตามโครงสร้างแต่เป็นเนื้อหา นั่นคือ จากเหตุการณ์ 11 กันยายน ชื่อของเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกแทนที่ด้วยเหยื่อจากนิยอร์ก เวอร์จิเนีย และเพนซิลเวเนีย หากปราศจากความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการไว้อาลัยเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว คงเป็นการยากที่จะแยกวาระเฉพาะนี้จากพิธีการไว้อาลัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์           นวตกรรมสำคัญใน “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” เป็นการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ด้วยการเลือก ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และไม่ใช่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายน กรอบความทรงจำของเหยื่อ 11 กันยายนสร้างผ่านแนวคิดหลัก 2 ประการคือ “ผู้รอดชีวิต” และ “ความทรงจำ” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้อีกต่อไป ส่วนผู้รอดชีวิตการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ได้รับบทเรียนศีลธรรมที่มากกว่าเกี่ยวกับเหยื่อสภาพจากสถาบันต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา         เลขาธิการสภาบริหารพิพิธภัณฑ์ เฟรด ไซด์แมน (Fred Zeidman) ให้ความเห็นต่อความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไหวระหว่างเหยื่อและผู้เหลือรอดที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์          “ความยอกย้อนในการพินิจมองผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมยิ่งใหญ่ของศตวรรษนี้ ด้วยการเอ่ยรายนามของพวกเขาเหล่านั้น ผู้ที่มิอาจรอดพ้นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้… ของศตวรรษที่กำลังมาถึง… ทำให้ข้าพเจ้าย้อนนึกถึงสิ่งที่พวกเราทำที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เหตุใดพวกเราจึงรวมตัว ณ ที่นี้ และสิ่งใดเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเรา พวกเราทั้งหมดคือผู้ที่เหลือรอด และภารกิจหนึ่งที่พวกเราต้องปฏิบัติประจำ คือต้องพึงระลึกว่าสิ่งชั่วร้ายใดที่สามารถเกิดกับเราได้บ้างในทุกเมื่อเชื่อวัน [พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2002]”          ในกระบวนพิธี ผู้ที่รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่สร้างความเข้าอกเข้าใจและความเป็นจริงต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน นั่นคือการอาศัยเงื่อนไขสภาพ (habitus) ของการระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ การกล่าวถึงเหยื่อจากโศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้เหตุการณ์ 11 กันยายนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จัดอยู่ในโศกนาฏกรรมโลกประเภทเดียวกัน แม้จะเป็นสัญลักษณ์ต่างศตวรรษกัน          ขบวนการการสร้างความชอบธรรมของการระลึกถึงที่เกิดในพิธี “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ด้วยการเปล่งถ้อยนามของเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผลักให้เหตุการณ์ 11 กันยายนเข้าอยู่ในกระบวนการจัดแบ่งประเภทการทำลายล้างชาวยิวในยุโรป ว่าเป็นโศกนาฏกรรมหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งที่ร่วมในพิธี “วันแห่งการหวนให้” กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความภูมิใจที่เป็นพลเมืองอเมริกา” พวกเราสามารถ มั่นใจได้ว่า ในอนาคตจะไม่มีการข่มเหงทรมานใดเกิดขึ้นในโลกและในประเทศที่สวยงามของเรา ขอพระเจ้าอำนวยพรให้อเมริกา” (พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา 2002) ความเป็นไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ในงานวัฒนธรรม          ในเวลา 2 ปีจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 สภาพประสบการณ์เปลี่ยนจากสถานะแห่งความหายนะสู่สื่อโทรทัศน์ และส่งผลต่อเหตุการณ์การรำลึกถึงที่จัดในพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันทิศทางในอนาคตของกิจกรรมการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวไม่มีแผนงานสร้างนิทรรศการเช่น Yahrzeit แม้ว่าพิพิธภัณฑ์มองการจัดแสดงป้ายสลักพร้อมจุดเทียนเป็นกิจกรรมการรำลึกในแต่ละปี เมื่อพิจารณากรณีนิทรรศการเคลื่อนที่ “ประสบการณ์ร่วม” พิพิธภัณฑ์ไม่มีแนวโน้มที่จะจัดแสดงในศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา ซิตี้ อีกครั้ง นอกจากว่าพิพิธภัณฑ์ใดสนใจสามารถยืมนิทรรศการดังกล่าวไปจัดแสดง เช่นเดียวกับการ จัดกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ก็ไม่ได้มีแผนอย่างเป็นทางการที่จะกำหนดเหตุการณ์ 11 กันยายน บนปฏิทินการรำลึกของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา          อย่างที่ได้เห็นกันในกรณีโศกนาฏกรรมอื่นและจุดเปลี่ยนในความเป็นไปในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ 11 กันยายน ยังถูกทำให้เป็นสินค้าในตลาดในฐานะของชิ้นงานมรดกและสินค้าวัฒนธรรม (Kirshenblatt-Gimblett 1998:177) มานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นการวิพากษ์วัฒนธรรมสามารถปรับใช้มุมมองทั้งวิชาการทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ตอบต่อ ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้ในการปรับเปลี่ยนโศกนาฏกรรมสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง (Marcus and Fisher 1986) แม้ว่านักมานุษยวิทยามุ่งประเด็นไปที่เศรษฐศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับโศกนาฏกรรม 11 กันยายน แต่ควรให้ความสนใจวิพากษ์เชิงชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางสังคมของเหตุการณ์ 11 กันยายนในลักษณะที่เกิดขึ้นมาเช่นกัน มานุษยวิทยาของเหตุการณ์ 11 กันยายนจะเป็นชาติพันธุ์วรรณนาของพิพิธภัณฑ์ ด้วยระยะเวลาที่ห่างจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์มากขึ้น ชั้นการวิเคราะห์ของทฤษฎีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประเด็นการวิพากษ์เริ่มต้นจากความกดดันระหว่างตรรกะเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเหตุการณ์  11 กันยายน เช่นที่เกิดในภาพยนตร์สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” และขยายออกสู่ตรรกะของการจัดแสดง ซึ่งพินิจความทรงจำเป็นเช่นละครสังคมที่เกิดขึ้นในบริบทของสถาบันและวัฒนธรรม อย่างที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างงานวัฒนธรรมมาทั้งหมดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน งานสะสมและการอนุรักษ์สร้างชุดความทรงจำด้วยความบังเอิญและแนวคิดที่ก่อร่างจากเรื่องราวที่อาศัยความใกล้ชิด การเอ่ยนาม และการช่วยชีวิต          สิ่งที่ตรงข้ามกับการนำเสนอที่ตีตราของทฤษฎีวิจารณ์ ซึ่ง “อดีตในฐานะที่ก่อร่างพิพิธภัณฑสถาน… ย่อมเป็นผลิตผลของปัจจุบันที่สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (Bennett 1995:129) ชาติพันธุ์วรรณนาของเหตุการณ์ 11 กันยายนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่คลุมเครือระหว่างอดีต ปัจจุบัน และภาพแทนของอดีต ในกรณี Yahrzeit การปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์และทางการสร้างประวัติศาสตร์ของการสร้างความหมายแสงเทียนในพิธีกรรมชาวยิว ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของเหตุการณ์ 11 กันยายน อันถือเป็นการนำเสนอภาพของกราวด์ ซีโร่ เสมือนเป็นการจัดที่ทางของพิธีกรรมชาวยิวในวัฒนธรรมอเมริกาหันมาพิจารณานิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งภาพและเศษซากจากเหตุการณ์ 11 กันยายนย้ำเน้นบทเรียนหัวใจของการช่วยเหลือและการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันทางสังคมอีกครั้งในโอกลาโฮมา และอีกเช่นกันในกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการ ทบทวนและหวนให้” ที่เป็นการเอ่ยนามผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นพิธีการที่แสดงออกด้วยผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ละกรณีมีสิ่งที่ร่วมกันคือ การไม่สามารถแบ่งแยกการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมหนึ่งจากการอ้างอิงถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง และการใช้ความชอบธรรมชุดภาพแทนหนึ่งส่งอิทธิพลต่ออีกชุดหนึ่ง (the hegemony of one set of representational practices over another)          สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ กิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่ใช่เพียงการรำลึกถึง โศกนาฏกรรม หากเป็นการจัดตั้งชุด “กฎ” การรำลึกถึงอย่างเป็นพื้นฐานและอย่างเป็นหลักใหญ่ (Bourdieu 1972:22) ความหลากหลายของแนวทางการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนยังเป็นเพียงลักษณะชาติพันธุ์วรรณนาขั้นต้น ของเหตุการณ์ 11 กันยายนในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม นอกจากนี้ ขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยายนสร้างพันธะหน้าที่การรำลึกทั้งเก่าและใหม่ แต่ทำให้เกิดการสั่นคลอนของภูมิทัศน์ความทรงจำ กิจกรรมการระลึกทั้งหมดในขณะนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 11 กันยายน และพลวัตทั้งหมดนี้เริ่มสร้างความหมาย ความหลากหลายในการรำลึกถึงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นไปในลักษณะใดและอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด นี่เองที่เป็นคำถามของงานชาติพันธุ์วิทยาในอนาคต ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ในฐานะสิ่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ยังคงมีบทบาทจัดกิจกรรมการรำลึกถึงในบริบททางสังคม และเป็นพื้นที่ที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทฤษฎีทางมานุษยวิทยาบันทึก                 กิตติกรรมประกาศ – ผู้เขียนขอขอบคุณพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว อนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา และศูนย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โอกลาโฮมา ซิตี้ สำหรับความร่วมมือในการวิจัย และการเขียนบทความ ข้าพเจ้าขอขอบคุณบุคคลต่างๆ ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ Ivy Barsky, Andy Hollingger, Julie Joseph, Debora Hoehne, Joanne Riley, Abby Spilka, Jeremy Thorn และ Jill Vexler ข้าพเจ้าขอขอบคุณ Richard Handler สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับทฤษฎี Sapir และการทบทวนร่างบทความ ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออ้างถึงนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการสัมมนาของข้าพเจ้า “มรดกและความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” (New York University, fall 2002) ที่วิเคราะห์มองสัมพันธภาพระหว่างพิพิธภัณฑ์และเหตุการณ์ 11 กันยายนที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ใน การเขียนบทความชิ้นนี้เอกสาร/หนังสืออ้างอิงBennett, Tony1995 The Birth of the Museum: History, Theory, Politics. London: Routledge.Bourdieu, Pierre1977 Outline of a Theory of Practice. Cambridge: Cambridge University Press.Halbwachs, Maurice1980 The Collective Memory. New York: Harper and Row.Heilman, Samuel C.2001 When a Jew Dies. Berkeley: University of California Press.Kirshenblatt-Gimblett, Barbara1998 Destination Culture: Tourism, Museums and Heritage. Berkeley: University of California Press.Linenthal, Edward T.2001 The Unfinished Bombing: Oklahoma City in America Memory. New York: Oxford University Press.Relic from the Rubble2002 Narrated by Josh Binswanger. This Week in History. 50 min. The History Channel, September 3 (video recording).United States Holocaust Memorial Museum2002 Holocaust Survivors Read the Names of Those Who Died in the Terrorist Attacks on September 11, 2001. Electronic document, http:/www.ushmm.gov/museum/exhibit/focus/911_02, accessed May 1, 2003.Marcus, George E. and Michael M. J. Fisher1986 Anthropology as Cultural Critique: an Experimental Moment in the Human Sciences. Chicago: University of Chicago Press.Sapir, Edward1921 Language: An Introduction to the Study of Speech. San Diego: Harcourt Brace and Company.Vexler, Jill2002 Guest Curator’s Essay. 18 First Place: Museum of Jewish Heritage Quarterly Magazine. Fall: 4 – 5.Young, James E.1993 The Texture of Memory. New Haven, CT: Yale University Press.Zelier, Barbie1998 Remembering to Forget: Holocaust Memory through the Camera’s Eye. Chicago: University of Chicago Press. แปลและเรียบเรียงจากFeldman, Jeffrey D. (New York University), “One tragedy in Reference to Another: September 11 and the Obligations of Museum Commemoration”, American Anthropologist 105 (4): 839 - 843.

“ผู้หญิง” ในห้วงเวลาแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (WOMEN DURING THE HOLOCAUST)

10 เมษายน 2558

ชาวยิวทั้งหญิงและชายล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายในการทำลายล้างของระบอบลัทธินาซี แต่กลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีเพียงผู้หญิงชาวยิวเท่านั้น หากยังรวมไปถึงกลุ่มผู้หญิงยิปซี หญิงชาวโปแลนด์ และกลุ่มผู้หญิงที่มีความพิการที่อาศัยอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในค่ายกักกันบางแห่งและในบางพื้นที่ของค่ายนั้นถูกกำหนดให้เป็นเขตเฉพาะสำหรับนักโทษหญิง ในเดือนพฤษภาคมปี 1939 หน่วย SS (Schutzstaffel) หรือหน่วยทหารเอสเอส ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่มีความจงรักภักดีอย่างสูงต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือผู้นำรัฐบาลนาซีในขณะนั้น ได้เปิดค่ายกักกันที่เมือง Ravensbrück ซึ่งถือเป็นค่ายกักกันสำหรับผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุด และในช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยชาวยิวในปี 1945 พบว่ามีผู้หญิงนับแสนคนได้ถูกคุมขังในสถานกักกันแห่งนี้ในปี 1942 เจ้าหน้าที่ของหน่วยเอสเอสได้รวบรวมชาวยิวจากค่ายต่างๆ มายังค่าย Auschwitz-Birkenau หรือที่รู้จักในชื่อ Auschwitz IIเพื่อกักขังนักโทษหญิง ในบรรดานักโทษกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่ย้ายมาจากค่ายกักกันที่ Ravensbrückและค่ายกักกันที่ Bergen-Belsen ผู้คุมค่ายได้สร้างค่ายเพื่อกักขังนักโทษหญิงขึ้นอีกครั้งในปี 1944 ซึ่งหน่วยเอสเอสได้ย้ายนักโทษหญิงชาวยิวจาก Ravensbrückและ Auschwitz ไปยังค่ายกักกันที่ Belsen-Belsen ในช่วงปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารที่พักของผู้หญิงในค่าย Auschwitz-Birkenau ปี 1944ภาพจาก National Museum of Auschwitz-Birkenau ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ กลุ่มนาซีและกลุ่มผู้สนับสนุนได้ยกระดับการทำลายล้างอย่างสมบูรณ์ด้วยการฆ่าโดยไม่คำนึงถึงอายุหรือเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือแม้กระทั่งเด็ก ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือไม่ใช่ยิว โดยหน่วยเอสเอสและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามนโยบายภายใต้ชื่อ “Final Solution” ซึ่งเป็นการปลิดชีวิตชาวยิวทั้งหญิงและชายด้วยการยิงปืนในหลายพื้นที่ทั่วอาณาจักรโซเวียต ทั้งนี้ ในระหว่างปฏิบัติการเคลื่อนย้ายนักโทษชาวยิว กลุ่มหญิงมีครรภ์และกลุ่มผู้หญิงที่มีเด็กเล็กจะถูกจัดให้เป็นพวก “ไม่สามารถทำงานได้” โดยคนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังศูนย์ปฏิบัติการสังหารชาวยิวซึ่งเจ้าหน้าที่นาซีมักจัดให้ผู้หญิงเหล่านี้อยู่ในกลุ่มแรกที่ถูกส่งไปยังห้องรมแก๊สพิษผู้หญิงชาวยิวนิกายออร์โธดอกซ์ที่มีลูกเล็กๆติดสอยห้อยตามมาด้วยก็มักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถูกค้นพบหรือทรมานจากกลุ่มนาซีเนื่องจากการแต่งกายนั้นคงรูปแบบของชาวยิวในยุคดั้งเดิม อีกทั้งครอบครัวชาวยิวนิกายออร์โธดอกซ์มักมีบุตรจำนวนมาก ทำให้ผู้หญิงในครอบครัวตกเป็นเป้าของพวกนาซีได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงกลุ่มอื่นๆที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้ เช่นกลุ่มผู้หญิงยิปซีที่ถูกฆาตกรรมหมู่โดยรัฐบาลนาซีในค่ายกักกันที่ Auschwitz นอกจากนี้ หญิงที่มีความพิการทางกายและทางจิตใจก็ถูกเข่นฆ่าไปเป็นจำนวนมากในระหว่างการปฏิบัติการ T-4 ของพวกนาซี (โครงการการุณยฆาตแก่ผู้ที่บกพร่องทางจิตและกายอย่างร้ายแรง) และในปฏิบัติการการุณยฆาตอื่น ๆในระหว่างปี 1943-1944 รัฐบาลนาซียังฆ่าหญิงและชายชาวโซเวียตตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่นาซีถือว่าเป็น“Partisans” หรือเป็นกลุ่มผู้เข้าข้างหรือเป็นพรรคพวกกับชาวยิว อีกทั้งเจ้าหน้าที่นาซียังบังคับให้นักโทษหญิงใช้แรงงานอย่างหนักในสลัมและค่ายกักกันซึ่งมักจะลงเอยด้วยการเสียชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นแพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์ชาวเยอรมันยังนำผู้หญิงชาวยิวและยิปซีมาเป็นหนูทดลองในการศึกษาการฆ่าเชื้อและในการทดลองทางการแพทย์อื่นๆที่ปราศจากศีลธรรม Emmi G.สาวน้อยวัย 16 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภทเธอได้ถูกทำการฆ่าเชื้อและส่งไปยังศูนย์การุณยฆาต Meseritz-Obrawaldeเพื่อฆ่าเธอด้วยการให้ยาระงับประสาทในปริมาณเกินขนาด ในวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1942 วันและปีที่บันทึกภาพไม่ปรากฏ  (ภาพจาก Karl-Bonhoeffer-NervenklinikFachkrankenhausfuerNeurologie)ในค่ายกักกันและสลัม กลุ่มผู้หญิงมักจะมีความเสี่ยงที่จะถูกทุบตีและข่มขืนมากเป็นพิเศษ หญิงชาวยิวที่มีครรภ์มักพยายามที่จะปกปิดว่าตนเองนั้นกำลังตั้งครรภ์ หรือหากถูกจับได้มักจะถูกส่งไปทำแท้ง ดังเช่นกลุ่มนักโทษหญิงที่ถูกพวกนาซีเคลื่อนย้ายออกจากโปแลนด์และสหภาพโซเวียตมายังอาณาจักรเยอรมนีเพื่อใช้แรงงานมักถูกทุบตี ข่มขืน หรือถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยเพื่อแลกกับอาหารหรือสิ่งจำเป็นในการยังชีพอื่นๆ การตั้งครรภ์ของหญิงชาวโปแลนด์และโซเวียตที่เป็นผลมาจากการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ชายนาซีก็เช่นกัน กลุ่มคนที่นาซีเรียกว่า "Race experts" หรือ “ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติ” กำหนดว่าเด็กที่เกิดมานั้นจะไม่นับว่าเป็นคนเยอรมัน ดังนั้นผู้หญิงเหล่านี้จึงถูกบังคับให้ทำแท้งหรือถูกส่งไปคลอดที่สถานรับเลี้ยงเด็กชั่วคราวซึ่งมักจบลงด้วยความตายของเด็กทารก บางครั้งหญิงผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้ถูกส่งกลับไปยังถิ่นที่เคยอยู่อาศัยโดยปราศจากอาหารและการรักษาพยาบาลระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้พวกนาซียังสร้างซ่องขึ้นในค่ายกักกัน ค่ายทหาร และพื้นที่ใช้แรงงานบางแห่ง ซึ่งกลุ่มนักโทษหญิงถูกบังคับให้ทำงานในซ่องเหล่านี้ นักโทษหญิงหลายคนในสถานกักกันได้สร้างกลุ่มในการ “ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ขึ้นแบบลับๆ ด้วยการแบ่งปันข้อมูล อาหาร และเสื้อผ้าแก่กัน บ่อยครั้งที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกันทางครอบครัวหรือสายเลือดหรือมาจากเมืองหรือจังหวัดเดียวกันทำให้มีระดับการศึกษาและรูปแบบการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงอีกบางส่วนสามารถอยู่รอดในสถานกักกันได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ค่ายได้แยกให้ไปทำงานในส่วนงานซ่อมแซมเสื้อผ้า ทำอาหาร ซักรีด หรืองานทำความสะอาดทั่วไปหญิงชาวยิวที่ถูกกักขังเพื่อเป็นแรงงานในการแยกประเภทเสื้อผ้าที่ริบมาจากเชลยชาวยิวภาพถูกบันทึก ณ สลัมเมือง Lodz โปแลนด์วันเวลาถ่ายไม่ปรากฏ (ภาพจาก Beit LohameiHaghettaot หรือ Ghetto Fighters' House Museum)นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านนาซีในหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หรือขบวนการเยาวชนไซออนนิสต์ ในโปแลนด์ ผู้หญิงหลายคนทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลไปยังสลัมที่กักกันเขตที่อยู่ชาวยิว ผู้หญิงหลายคนที่หนีไปอยู่ในบริเวณป่าทางตะวันออกของโปแลนด์และสหภาพโซเวียตได้ทำหน้าที่ในหน่วยพลเรือนติดอาวุธที่สนับสนุนชาวยิว ผู้หญิงในฝรั่งเศสยังมีบทบาทสำคัญในขบวนการต่อต้านนาซี นอกจากนี้ โซฟีชอลนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มกุหลาบสีขาวได้ถูกจับกุมและฆ่าในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1943 โทษฐานที่แจกใบปลิวต่อต้านกลุ่มนาซีในสลัมที่ชาวยิวถูกกักกันเขตให้อาศัยอยู่นั้น มีผู้หญิงบางคนเป็นผู้นำหรือเป็นสมาชิกของขบวนการต่อต้านนาซี ในเมืองเบียลีสต็อก (Bialystok)  HaikaGrosman เป็นหนึ่งในผู้นำหญิงในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงหลายคนที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อต้านนาซีภายในค่ายกักกัน เช่นในค่ายกักกันที่ Auschwitz ผู้หญิงชาวยิวจำนวนห้าคนถูกสั่งแยกให้ไปทำงานใน Vistula-Union-Metal Works detachmentซึ่งทั้งห้าท่านนั้นประกอบไปด้วย Ala Gertner, Regina Safirsztajn (aka Safir), EsterWajcblum, RozaRobota และหญิงนิรนามอีกคนหนึ่ง (สันนิษฐานกันว่าหญิงผู้นั้นคือ Fejga Segal) ผู้หญิงทั้งห้าคนนี้เป็นผู้ลักลอบนำดินปืนส่งให้แก่สมาชิกของ Jewish Sonderkommando (Special Detachment) เพื่อใช้ในขบวนการต่อต้านนาซี ซึ่งดินปืนนี้ถูกนำมาใช้ในการระเบิดห้องรมแก๊สและโรงเผาศพที่ 4 ที่ค่าย Auschwitz-Birkenau ในช่วงการจลาจลเดือนตุลาคมปี 1944 และการระเบิดครั้งนี้ยังส่งผลให้ทหารในหน่วยเอสเอสเสียชีวิตไปหลายรายอีกด้วย Haika Grosman หนึ่งในผู้ร่วมปฏิบัติการปฏิวัติสลัมในเมือง Bialystok ภาพถูกบันทึกเมื่อปี 1945 ประเทศโปแลนด์ (ภาพจาก Moreshet Mordechai Anilevich Memorial)  ภาพของ Ala Gartner ที่ถ่ายไว้ก่อนเกิดสงคราม ผู้ซึ่งถูกกักขังในค่ายกักกันที่ Auschwitz เธอได้ร่วมขบวนการต่อต้านนาซีภายในค่ายดังกล่าว และภายหลังถูกแขวนคอเนื่องจากลักลอบนำดินปืนที่ถูกนำมาใช้ในการระเบิดโรงเผาศพที่ 4หรือ Crematorium 4 แห่งค่ายกักกัน Auschwitzภาพถูกบันทึกราวปี 1930 ณ เมือง Bedzin ประเทศโปแลนด์(ภาพจาก US Holocaust Memorial Museum) นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่มีส่วนช่วยในปฏิบัติการของชาวยิวในพื้นที่ต่างๆที่อยู่ใต้อิทธิพลของนาซีในขณะนั้น หนึ่งในนั้นคือ Hannah Szenes นักโดดร่มชาวยิว และ Gisi Fleischmann  นักเคลื่อนไหวในขบวนการไซออนนิสต์  ซึ่งในปี 1944 Szènes ได้โดดร่มลงไปในเขตพื้นที่ของฮังการีเพื่อช่วยในปฏิบัติการการหยุดการเคลื่อนย้ายชาวยิวออกจากสโลวาเกีย โดยมี Fleischmann เป็นหัวหน้าคณะทำงาน (PracovnaSkupina) ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบของสภาชาวยิวในเมืองบราติสลาวา (Bratislava) Hannah Szenes นักโดดร่มชาวยิวและพี่ชายของเธอภาพถูกบันทึก ณ กรุงปาเลสไตน์ ในเดือนเมษายนปี 1944ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการช่วยเหลือชาวยิวในฮังการี(ภาพจาก Beit Hannah Szenes) ถึงแม้ว่าในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้จะมีผู้หญิงถูกทำร้ายและสังหารเป็นจำนวนหลายล้านคน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การคร่าชีวิตผู้หญิงครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเพศสภาพของพวกเธอแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพราะแนวคิดและจุดยืนในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา และการเมืองของพวกนาซีต่างหากยาไพร สาธุธรรม / แปลและเรียบเรียงอ้างอิงUnited States Holocaust Memorial Museum.“Women during the Holocaust.” Holocaust Encyclopedia. http://www.ushmm.org/wlc/en/article.php?ModuleId=10005176. Accessed on March 20, 2015.*ภาพถ่ายในบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ United States Holocaust Memorial Museum, Washington, DC

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

22 กันยายน 2558

        ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน   - ปฐมบทของการเดินทาง -         แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง         ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล         วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม  ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน         รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย           เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง   - หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต -            ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย                  ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ  ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี                   ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ           ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์          ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา”ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว (น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย)          ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย            นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา           วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น         ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!     - เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง -         คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995            กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย             ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน           การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด          การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง             การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ          เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”  ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด         กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 –19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม         กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร            ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี         ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”         “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง         ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน    - ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา -         ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 –18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง              อาข่า         ความหลากหลายของชาติพันธุ์              ม้ง             ปีใหม่ม้ง              ไทลื้อ         จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า              เมี่ยนเย้า     ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย              มุนเย้า         พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า              ไทดำ         การทำเตียงนอน              ขมุ            การจักสานและทอผ้ากี่เอว                  การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน           เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน         การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย   ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี         หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Taraเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น           ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARAบอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์          ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์          ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว         ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Taraบอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก    - นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า -         ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว          “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง ภาพโดยปณิตา  สระวาสี           พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี         “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง            นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-onและเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว              มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป            ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”.          

ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

02 ตุลาคม 2558

วัตถุหรือข้าวของ เป็นหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต และเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความทรงจำ ให้ย้อนระลึกถึงเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกับมัน ไม่เพียงเล่าถึงชีวิตของคนที่เคยใช้หรือวิถีชุมชนในอดีต แต่วัตถุยังสามารถบอกเล่าปรากฏการณ์บางอย่างของสังคม  กิจกรรมร้อยของร้อยเรื่องร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดขึ้นในพ.ศ. 2558  จึงเป็นการชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ค้นหาเรื่องราวและความหมายของวัตถุในมุมมองที่หลากหลาย นอกจากจะเป็นการเพิ่มเรื่องเล่าให้กับวัตถุในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเชื่อมโยงคนกับคน คนกับข้าวของ คนกับชุมชน ทั้งในท้องถิ่นเดียวกันและท้องถิ่นอื่นๆ  ที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้เคียง แต่มีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกัน ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จึงไม่ใช่การแสดงจำนวนแต่เป็นการเชื่อมโยงร้อยเรียงระหว่างคน เรื่องราว และวัตถุ  ที่ทำให้เห็นชีวิตคนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกระบวนการที่ศูนย์ฯ นำมาใช้ในการ ร้อยของ ร้อยเรื่อง และร้อยคน  หรือที่เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์ หนึ่งในทีมงานเรียกว่า recollection คือการสร้างพื้นที่ให้คน ของ และเรื่องมาเจอกัน เพื่อร่วมกันทบทวนความรู้ แชร์เรื่องเล่าและประสบการณ์  รวมถึงการร่วมกันสร้างเรื่องเล่าใหม่ ทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ ความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่  ความรู้ที่ได้จากการสืบค้น แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการบันทึกเรื่องราว  และกระบวนการการร่วมกันสร้างความรู้ดังกล่าว ปลายทางคือต้นฉบับหนังสือ “ร้อยของ ร้อยเรื่อง เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น”  เพื่อเป็นพื้นที่หนึ่งในการบันทึกและถ่ายทอดความรู้ท้องถิ่น - เวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์รวมภาค:ชี้แจงโครงการและหาผู้ร่วมก่อการ -กระบวนการเริ่มจากการชักชวนชาวพิพิธภัณฑ์ให้เลือกวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในชุมชน โดยแบ่งหมวดหมู่วัตถุเพื่อเป็นกรอบกว้างๆ ในการคัดเลือกวัตถุมาเล่าเรื่องใน 6 หมวดหมู่  คือ การทำมาหากิน การแต่งกาย  การรักษาโรค ของใช้ในบ้าน  การละเล่น/บันเทิงเริงรมย์ และศาสนาและความเชื่อ  แล้วให้ชาวพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของวัตถุชิ้นนั้น โดยมีแบบบันทึกข้อมูลวัตถุ เพื่อช่วยให้ผู้สืบค้นข้อมูลนึกออกว่ามีวัตถุแต่ละชิ้นจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง  และนำข้อมูลนั้นมานำเสนอในการประชุมเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั้งประเทศที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2557  เวทีนี้มีพิพิธภัณฑ์ส่งวัตถุและเรื่องเล่ามามากว่า 180 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ 70 แห่ง โดยแบ่งกลุ่มนำเสนอแบบคละภาค  และพยายามจัดให้พิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุในหมวดหมู่เดียวกันมาอยู่เวทีนำเสนอกลุ่มเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัตถุคล้ายกันแต่อาจใช้งานต่างกัน คำเรียกชื่อวัตถุต่างกัน  การให้ความหมายหรือคุณค่าแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ภูมิภาค นอกจากนี้การแลกเปลี้ยนในเวทียังทำให้ขอบเขตหรือนิยามความหมายของหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น เพราะชาวพิพิธภัณฑ์ได้ช่วยกันกำหนดนิยามของแต่ละหมวดหมู่ เช่น “ของใช้ในบ้าน” จะหมายถึงอะไรได้บ้าง ใช้นอกบ้านถือเป็นของใช้ในบ้านหรือไม่ อย่างไร การทำมาหากินจะหมายถึงอะไรบ้าง  ข้อท้าทายประการหนึ่ง ที่ทีมงานมักจะถูกถามว่าทำไมต้องเป็นของที่ยังใช้งานอยู่  เพราะของในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่ใช้แล้ว และมักจะกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์มีของเก่าแก่ทรงคุณค่ามากมายน่าจะหยิบมานำเสนอ ดีกว่าวัตถุที่ยังมีการใช้งานอยู่ซึ่งดูเป็นวัตถุธรรมดาสามัญ  ซึ่งก็เป็นความจริงที่แต่ละพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุศิลปวัตถุที่มีความเก่าแก่ หาดูได้ยาก บางชิ้นมีความลวดลายวิจิตร งดงาม เป็นที่ภาคภูมิใจเป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่เหตุที่ทีมงานเสนอว่าให้เป็นวัตถุที่ยังใช้งานอยู่เพราะเรา(ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ทีมงานศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และผู้สนใจ) สามารถหาที่มาที่ไปได้ของวัตถุได้  ไปพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องได้ เห็นบริบทของวัตถุ ความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ  ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิตชีวา  และเห็นความหมาย หน้าที่ ความสำคัญของวัตถุที่ยังคงใช้สืบมาถึงปัจจุบันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง   แบ่งกลุ่มนำเสนอข้อมูลวัตถุ ในเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เดือนธันวาคม - แบบบันทึกข้อมูลวัตถุ : เครื่องมือช่วยคิดว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง -หลังจากการประชุมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนธันวาคม ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากวงแลกเปลี่ยนและข้อมูลวัตถุเบื้องต้นที่ชาวพิพิธภัณฑ์นำเสนอ มาพัฒนาแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลเพื่อเพิ่มมุมมองและครอบคลุมเรื่องเล่าบางอย่าง  และเชื่อว่าแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่จะช่วยให้ผู้เล่าเรื่องหรือผู้สืบค้นข้อมูลมีมุมมองในการเล่าเรื่องมากขึ้น  เห็นเรื่องเล่าเฉพาะวัตถุแต่ละชิ้นมากขึ้น และที่สำคัญคือมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ ในช่วงเวลาต่างๆแบบบันทึกข้อมูลวัตถุที่ทีมพัฒนาขึ้น พยามนำเสนอมุมมองให้ผู้ที่ไปสืบค้นข้อมูลมีมุมมองวัตถุในมิติต่างๆ ทั้งที่เห็นเป็นรูปธรรมและนามธรรม ความเป็นรูปธรรมเช่นลักษณะวัตถุอันประกอบด้วยวัสดุ รูปทรง สีสัน ลวดลาย บางชิ้นอาจมีคำจารึก ร่องรอยการใช้งาน และสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่จะรู้ได้จากประสบการณ์ และคำบอกเล่าจากความทรงจำ เช่น ชื่อเรียกท้องถิ่น วิธีผลิต ผู้สร้าง ผู้ผลิต   วิธีการใช้งาน  ประวัติความเป็นมา ความเชื่อ การได้มาของวัตุ ความสำคัญ  เป็นต้น  ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกและเล่าเรื่องของชาวพิพิธภัณฑ์ที่ได้นำเสนอในครั้งแรก กรอกในแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่ แล้วส่งกลับให้ชาวพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ชาวพิพิธภัณฑ์ค้นคว้าข้อมูลที่ยังไม่ได้เล่า  หรือมุมมองที่ยังสามารถค้นคว้าเรื่องราวของวัตถุนั้นได้อีก เพื่อให้ค้นคว้าต่อ แล้วนำมาคุยแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนาระดับภูมิภาค ในการประชุมเครือข่าย 4 ภูมิภาค- เวทีเครือข่าย 4 ภูมิภาค : กระชับพื้นที่วงสนทนา -เวทีเครือข่ายระดับภูมิภาค ที่จัดขึ้น อีก 4 ครั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ เป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลที่ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีแนวคำถามให้ชาวพิพิธภัณฑ์ไปค้นคว้าต่อจากแบบบันทึกข้อมูลที่ส่งกลับไปให้ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลที่วัตถุ  นอกจากนำเสนอข้อมูลเพิ่มแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกันในระดับภูมิภาค ซึ่งมีจุดร่วมกันบางอย่างที่จะช่วยกันเพิ่มมุมมองในการเล่าเรื่องให้กับวัตถุในระดับลึกขึ้น ในเวทีนี้เราเห็นการนำเสนอของเรื่องจากผู้เล่าหลายกลุ่ม บางเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของคนที่เคยใช้  บางคนเป็นช่างทำวัตถุนั้นๆ เรื่องเล่าบางเรื่องมาจากการเคยเห็นเคยพบหรือมีผู้ถ่ายทอดให้ฟัง ข้อมูลวัตถุในเวทีนี้จึงมีจุดร่วมบางอย่างและความแตกต่างกันในรายละเอียด  เช่น ชื่อเรียก วัสดุ วิธีผลิต วิธีใช้ ผู้ใช้ ผู้ผลิต ความต่อเนื่องในการใช้งานในแต่ละท้องถิ่น  ความต่างกันมีปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิประเทศ ทรัพยากร  เศรษฐกิจ ความเชื่อ  ฯลฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่า การเปรียบเทียบ เชื่อมโยงเรื่องเล่าและข้าวของของพิพิธภัณฑ์ตนเองกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง หลากหลาย เช่นกวัก อุปกรณ์หนึ่งในการปั่นด้ายสำหรับทอผ้า มีการใช้งานในหลายพื้นที่ทั้งในภาคเหนือ และภาคกลาง นอกจากใช้ในการปั่นฝ้ายแล้ว กวักยังถูกนำมาใช้ในการละเล่นเช่นการเล่นผีบ่ากวัก คุณยงยุทธ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านมณีทอง จังหวัดลำพูน เล่าว่า ช่วงปีใหม่เมือง(สงกรานต์) เขาจะเล่นผีบ่ากวัก เป็นผีอะไรก็ได้ อุปกรณ์ที่ใช้เล่นมีกวัก (บางแห่งแต่งตัวให้เป็นคน โดยส่วนหัวทำจากน้ำเต้า) ใช้ไม้ฮวกทำเป็นแขน เอาเสื้อใส่ และมีไม้ส้าวยาวๆ มีสวยดอกไม้ ดอกไม้จะใช้ดอกซอมพอหรือหางนกยูง มีน้ำขมิ้นส้มป่อย เวลาเล่นจะเล่นตามลานบ้าน เล่นตอนกลางคืนส่วนใหญ่ผู้เล่นเป็นหญิงสูงอายุ(เป็นแม่เฮือน) มีคำร้องเช่น  “.. เอาไม้ส้าวตีไปที่ดาวสุกใส..” การถามจะมีคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”  ถ้าใช่ก็แกว่ง ไม่ใช่ก็นิ่ง  ถามไม่ดี พิเรนทร์ ก็จะไปโขกหัว สนุกสนาน เป็นผีที่สนุกสนาน  ก่อนผีจะออกจะเอาน้ำขมิ้นส้มป่อย รดที่ตัวบ่ากวัก และจะออกไป  คนที่มาดูเมื่อก่อนจะเป็นหนุ่มสาวทั้งในหมู่บ้านเดียวกัน และหมู่บ้านใกล้เคียง  หนุ่มสาวถามเรื่องแฟน ส่วนการสานกวักที่ใช้ทอผ้าเชื่อว่าเวลาสาน ต้องไปสานนอกบ้าน ถ้าสานในบ้านเขาบอกว่ามันขึด ต้องไปสานในวัดในห้วย  คุณนเรนทร์จากมิกกี้เฮ้าส์ จังหวัดลำพูนกล่าวว่าที่ทาขุมเงิน จังหวัดลำพูน มีผีหม้อนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง คุณสุทัศน์ จากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จังหวัดเชียงรายช่วยเสริมว่าการห้ามสานกวักในบ้าน ต้องใช้ไม้ผิว ซึ่งมีความคม ซึ่งในบ้านอาจมีเด็กเล็กซุกซน คมไม้ไผ่อาจบาดได้   คุณวินัย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนา จ.พะเยาเล่าว่าเคยเห็นการเล่นผีหม้อนึ่ง  เป็นหม้อที่นึ่งข้าวเหนียว  เป็นต้นนอกจาก ”ผีบ่ากวัก” ในภาคเหนือที่นำเสนอโดยบ้านมณีทองยังมีการเล่น “นางกวัก” ที่นำเสนอโดยศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะเล่นกันในช่วงสงกรานต์ และช่วงประเพณีกำฟ้าของชาวพวน โดยกวักและข้าวของที่ใช้ทำนางกวักต้องเป็นของแม่หม้าย ส่วนคนจับกวัก(คนอัญเชิญ) ต้องเป็นแม่หม้าย เดิมมักเล่นตามทางสามแพร่ง เชิญผีทางหลวง ผีทั่วไป คนที่เพิ่งตาย  ปัจจุบันเชิญเจ้าพ่อสนั่นเพราะเชิญผีอื่นอาจเป็นผีที่ไม่ดีมาเข้ากวัก จึงเชิญเฉพาะเจ้าพ่อสนั่นซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชน เมื่อเชิญวิญญาณมาแล้วก็จะถามคำถาม มีทั้งเวลาเรื่องธรรมชาติ การเล่าเรียน เรื่องลูกหลาน เรื่องทั่วไป เมื่อก่อนเขียนคำตอบบนดิน ต่อมาเขียนในกระด้งใส่ทรายเพราะต้องไปแสดงที่อื่น ถาม-ตอบ ใช่ -ไม่ใช่ เมื่อก่อนจะเล่นตอนกลางคืน ปัจจุบันเล่นได้ทั้งกลางวันและการคืน ส่วนมากเป็นการเล่นสาธิตในงานประเพณีข้อมูลเรื่องนางกวักหรือผีบ่ากวักจากการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์สองแห่ง การนำเสนอในเวทีภูมิภาคทำให้เห็นจุดร่วมถึงความเชื่อบางอย่าง เช่น การละเล่นเกี่ยวกับผีเรื่องผีที่มีหลากหลาย การใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวมาสื่อถึงผี บางแห่งอาจใช้วัสดุอุปกรณ์การเล่นต่างกัน ความเชื่อในเรื่องขึด หากเปรียบเทียบข้ามภาค(ภาคเหนือกับภาคกลาง) การเล่นนางกวักของมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง โดยที่ใช้กวักเป็นอุปกรณ์การเล่นเหมือนกันคือกวักทอผ้า  แต่ต่างกันที่รายละเอียด เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาทำนางกวัก ของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทรายต้องเป็นกวักของแม่หม้าย (ของบ้านมณีทองไม่ต้องแต่งตัวให้กวักก็ได้หรือแต่งตัวก็ได้แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของแม่หม้าย)  ผู้เล่นของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ต้องเป็นแม่หม้าย แต่ของบ้านมณีทองเป็นผู้หญิงใครก็ได้ และผีที่เชิญพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากผีทั่วไป มาเป็นผีดี “เจ้าพ่อสนั่น” ที่เป็นที่นับถือของชุมชน  ส่วนเรื่องที่ถามในกรณี ของบ้านทรายมักจะเป็นเรื่องทั่วไป เรื่องลูกหลาน ส่วนของบ้านมณีทองการเล่นผีบ่ากวักเป็นพื้นที่หนึ่งของการพบปะกันของคนหนุ่มสาว เป็นต้น   ร้อยเรื่อง และร้อยของ : หลังจากพิพิธภัณฑ์นำเสนอข้อมูลแล้ว ทีมงานได้ชักชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ลองดูว่า จากวัตถุจากเรื่องที่แต่ละแห่งนำเสนอ  ถ้าจะลองเล่าเรื่องที่แสดงวิถีชีวิตของคนในแต่ละภูมิภาค จากวัตถุที่มี จะเล่าเรื่องอะไรบ้าง ที่แสดงถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น (กระบวนการนี้ทำในภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ) การเล่าเรื่องของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ นำมาผูกโยงกับงานประเพณี เช่นงานพระธาตุ งานลากพระ โดยสมมุติให้มีตัวละครดำเนินเรื่อง และพบเจอวัตถุต่างๆ อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เช่น ชายหนุ่มหญิงสาวควงคู่ไปดูการแสดงชายหนุ่มแต่งตัวด้วยผ้าจวนตานี เหน็บกริช พกกล้องยาสูบ หญิงสาว แต่งตัวด้วยชุดยะหยา ก่อนสวมใส่ชุดต้องรีดผ้าให้เรียบ ด้วยเตารีด ไปดูการแสดงหนังตะลุงแก้บนทวด ใช้รูปแสดงยักษ์ผู้ ฤาษี  ข้างโรงหนังตะลุง ขายขนมครก  ขนมก้อ ดูเสร็จกลับบ้าน จุดไต้ หุงข้าว แล้วไปอาบน้ำที่บ้อน้ำใช้ติมาตักน้ำ เป็นต้น บางแห่งเล่าเรื่องขนม โดยใช้วัตถุที่เป็นอุปกรณ์ทำขนม เช่น เบ้าหนมก้อ รางหนมครก ป้อยตวงสาร   ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคอีสานเชื่อมโยงวัตถุ 1 ชิ้นกับบริบทต่างๆ ในชุมชน ซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้อง เช่น แหเปิดจอม เป็นเครื่องมือจับปลาของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่สามารถทำแหที่ใช้ได้แม้ในสภาพแหล่งน้ำที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น สวะ หนาม ใช้กับแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง และตื้น จับปลาตัวใหญ่ได้  คนหว่านแหต้องแข็งแรง ต้องไปกันเป็นทีม ปลาที่ได้ ทั้งเอาไปทำปลาร้า ขาย เป็นต้น ทำให้เห็นว่าวัตถุไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวหรือเล่าเฉพาะเรื่องของตัวเองแต่ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนลักษณะพื้นที่ สภาพแหล่งน้ำ การดำรงชีพ ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคเหนือ เช่น พิพิธภัณฑ์ไหล่หินเล่าวิถีชีวิตของเกษตรกรบ้านไหล่หินที่ทำนาโดยใช้แรงงานจากวัวควาย ก๊างป๋อเป็นเครื่องมือ ที่ใช้ในการถักเชือกสำหรับร้อยจมูกวัวควาย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาจะร่วมกันเกี่ยวข้าวและนวดข้าว การนวดข้าวจะใช้ไม้ม้าวข้าว คีบข้าวแล้วตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง และหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีงานบุญคือการตานข้าวใหม่ซึ่งจะมีการประดับตุงที่วัดที่เป็นสถานที่จัดงาน  เป็นต้นกระบวนการร้อยของและร้อยเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นวิธีการเล่าเรื่อง ตามความถนัด ธรรมชาติและชีวิตประจำวันของคนแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งอาจแตกต่างกับการเล่าเรื่องของนักวิชาการหรือคนในอาชีพอื่นๆ  อย่างไรก็ตามการเล่าเรื่องของแต่ละแห่งสะท้อนให้เห็นสีสัน และลักษณะของผู้คนในแต่ละถิ่นได้อย่างน่าสนใจ  และอาจสื่อสารกับคนในท้องถิ่นเดียวกันได้เข้าใจมากกว่า เพราะมีวัฒนธรรมร่วมกัน ติดตั้งเครื่องมือบางอย่าง: เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ต่อ กระบวนการสำคัญที่ทีมงานคำนึงถึงคือการเพิ่มทักษะหรือการให้เครื่องมือบางอย่างกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ ขั้นต่อไปของการพัฒนาต้นฉบับคือชาวพิพิธภัณฑ์จะต้องกลับไปเขียนบทความและถ่ายภาพวัตถุแล้วส่งมาให้กับทีมงานเพื่อใช้ทำต้นฉบับหนังสือ การเรียนรู้วิธีการเขียนและการถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความรู้และความมั่นใจในการสร้างเรื่องเล่าที่มาจากคนท้องถิ่นเอง เครื่องมือดังกล่าวนอกจากจะนำมาใช้ในการเขียนบทความในครั้งนี้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้สื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ เช่น ใบความรู้ แผ่นพับ ป้ายนิทรรศการ ฯลฯสร้างภาพ    จะถ่ายภาพอย่างไรให้สวยและสื่อ ทีมงานจัดให้มีการพูดคุยเพื่อแนะนำวิธีการถ่ายภาพอย่างง่ายเพื่อถ่ายภาพให้สวย และสื่อความหมาย โดยช่างภาพมือสมัครเล่นแต่ชอบการถ่ายภาพ มาแนะนำวิธีการถ่ายรูปเพื่อนำมาใช้ในสิ่งพิมพ์ โดยใช้กล้องธรรมดาๆ แบบที่ใครก็มี   โดยใช้แสง มุมมอง ฉากถ่ายภาพ  ทั้งการถ่ายเฉพาะวัตถุ และการถ่ายวัตถุกับบริบทการใช้งานเพื่อสื่อหน้าที่การใช้งานของวัตถุ โดยให้ชาวพิพิธภัณฑ์เห็นตัวอย่างภาพถ่ายวัตถุที่มีการใช้แสง มุมกล้องแบบต่างๆ  เพื่อให้เห็นตัวอย่าง และ รู้วิธี เพื่อนำไปใช้ได้ สร้างเรื่อง : เรื่องเล่าที่เขียนและเล่าโดยชาวพิพิธภัณฑ์  การบันทึก/การเขียนเป็นอุปสรรคของหลายคน รวมถึงชาวพิพิธภัณฑ์บางคน  บางคนถนัดที่จะเล่าเรื่อง เวลาเล่าจะเล่าได้อย่างออกรส และมีลีลาการเล่าที่น่าสนใจ แต่เวลาที่จะลงมือเขียนอาจไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะเขียนอะไร หรือกังวลว่าเขียนแล้วจะไม่เป็นวิชาการ ข้อจำกัดนี้หลายคนอาจบอกว่าปัจจุบันมีวิธีการบันทึกเรื่องราวได้หลายรูปแบบทั้งการบันทึกเสียง ภาพเคลื่อนไหว  อย่างไรก็ตามการเขียนก็ยังคงมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการบันทึกเรื่องเล่า และความรู้สึกของผู้คน นิทรรศการบางนิทรรศการ หนังสือบางเล่ม ใช้คำบรรยายและภาพมาช่วยสื่อเรื่องเล่าได้อย่างมีพลังและน่าสนใจโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอื่นๆ  เราจึงอยากให้ชาวพิพิธภัณฑ์ทดลองเขียน ไม่ต้องมากมายหรือจะต้องคำนึงเรื่องความเป็นวิชาการ แต่เขียนโดยใช้คำพูดของตนเองเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ในการเขียนมาช่วยแนะนำและชักชวนให้เขียนแบบง่ายๆ แต่ได้ใจความ และแสดงถึงหัวใจของสิ่งที่เราอยากสื่อได้จริงๆ แล้วเราก็พบว่า ทุกคนกำลังจะก้าวข้ามพ้นอุปสรรค หลายคนพบว่าการเขียนไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป - เก็บข้อมูลภาคสนาม ล้อมวงสนทนากลุ่มย่อย -หลังการประชุมเครือข่ายภูมิภาคเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม  ชาวพิพิธภัณฑ์กลับไปทำงานต่อโดยเลือกเรื่องที่จะเล่าของวัตถุชิ้นนั้น เขียนเป็นบทความหรือข้อมูลกลับมาให้กับทีมงาน ซึ่งทีมงานได้นำมาร่วมกันอ่าน  รวบรวมเนื้อหาและวางเค้าโครงหนังสือคร่าวๆ หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมบางเรื่อง การลงพื้นที่ ทำให้ทีมงานซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีความรู้อะไรเกี่ยวกับวัตถุเลย ได้เห็นและเข้าใจวัตถุและบริบทวัตถุมากขึ้น ขณะเดียวกันการเก็บข้อมูลก็ทำให้เกิดวงสนทนาเล็กๆ โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือนักวิชาการศูนย์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ คนในชุมชนที่มีมีประสบการณ์โดยตรงกับวัตถุชิ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างวงสนทนาเรื่องชุดเซิ้งหรือชุดเจยที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ที่นี่ทั้งชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่ในอาคารใดอาคารหนึ่ง วัตถุจึงเก็บรักษาไว้ที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของ  แม่นันทาซึ่งเป็นเจ้าของชุดเซิ้งและเป็นนางเซิ้ง เล่าว่าพ่อของแม่นันทาเป็นคนริเริ่มการทำชุดเซิ้งและขบวนเซิ้งบั้งไฟขึ้นในชุมชนเพื่อใช้เซิ้งบั้งไฟในงานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล ซึ่งเมื่อก่อนขบวนเซิ้งเป็นผู้ชายทั้งหมดแต่แต่งตัวเป็นผู้หญิง สวมเสื้อและนุ่งผ้าซิ่นสีดำ สวมกวยหัวและกวยนิ้วที่สานจากไม้ไผ่  ซึ่งทางผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าเพิ่งได้รู้ว่าเมื่อก่อนเซิ้งเป็นผู้ชายเพราะรุ่นของตัวเองก็เห็นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  แต่เคยเห็นภาพถ่ายเก่าที่ผู้ชายสวมชุดผู้หญิง แต่ยังไม่เคยหาข้อมูลว่าคืออะไร  วงสนทนาดังกล่าวจึงเป็นการเติมและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการเซิ้ง นอกจากนี้ มีข้อแลกเปลี่ยนกันในการเรียกชื่อ ว่า “เซิ้ง “ หรือ “เจย” แม่นันทา และคณะไม่เคยได้ยินคำว่าเจย แต่ได้ยินคำว่า เซิ้ง และในบทกลอนที่ร้อง ก็มีคำว้าเซิ้ง ส่วนเจยเคยได้ยินแต่เจยป๊กล๊ก ซึ่งไม่มีขบวนมีแต่การเต้น ส่วนทางพ่อสุทธิและพี่นันทวรรณซึ่งเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ เชื่อว่าเป็น เจย เพราะมีบทเจยและเป็นคำเรียกที่มีเฉพาะพื้นที่ที่อยู่รอบเมืองหามหอกซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเดิมของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ การเจยมีหลายแบบ แต่ส่วนมากจะเป็นคำสอน ส่วนนักวิชาการศูนย์ฯ ในฐานะผู้ร่วมวงสนทนาได้ เสริมว่าเคยได้ยิน “เจี้ย” ซึ่งมีทางภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคำสอน  ซึ่งดูคล้ายกับเจยซึ่งเป็นคำสอนเช่นกัน  ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ แม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แต่สร้างความอยากรู้ที่ทำให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านขี้เหล็กใหญ่ สนใจที่จะค้นคว้าหาความหมายต่อ เป็นต้น วงสนทนากลุ่มย่อย พื้นที่การแลกเปลี่ยน และสร้างความรู้เราได้อะไรจากกระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์หรือ  recollection   1. เกิดพื้นที่ในการร่วมกันสร้างความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีผู้ร่วมสนทนาจากหลายกลุ่ม และขยับจากผู้มีความรู้(ความรู้ที่อยู่ในตัวคน) มาเป็นผู้สร้าง(ลงมือเขียน บันทึก)ความรู้ ด้วยตนเอง2. ความรู้ (ที่อยู่ในของ+คน และความรู้จากการแลกเปลี่ยน) ความรู้ดังกล่าว เช่น ความรู้เกี่ยวกับนิเวศ พืชพรรณ กระบวนการผลิต วิธีการใช้งาน การหาอยู่หากิน ภูมิปัญญา ความเชื่อ ความศรัทธา ฯลฯ  การค้นหาเรื่องราววัตถุในแง่ต่างๆ ทำให้เกิดการทบทวนความรู้ ข้อมูลใหม่ มุมมองใหม่ เรื่องเล่าใหม่ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชุมชน  วัฒนธรรม   การร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราว เติมเต็มข้อมูล และเชื่อมโยงเรื่องราววัตถุกับผู้อื่น รวมถึงการเล่าเรื่องร่วมกัน เกิดเรื่องราวใหม่ ความรู้ใหม่ และแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน  3. กระบวนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันพัฒนาต้นฉบับหนังสือ ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การเลือวัตถุ การเล่าเรื่อง การเขียน การตรวจสอบข้อมูล  ต้นฉบบับหรือหนังสืออาจเป็นปลายทางที่บันทึกความสำเร็จและความรู้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้สร้างพื้นที่การทำงานของเครือข่าย พัฒนาความสัมพันธ์ และการสร้างความรู้ร่วมกันของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ กระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากนี้ทีมและเครือข่ายจะร่วมกันวางเค้าโครงเรื่องราวที่ได้ รวบรวมและเรียบเรียง ให้อ่านเข้าใจง่าย น่าสนใจ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ฯลฯ พิพิธภัณฑ์แห่งไหนหยิบวัตถุอะไรมาเล่า  วัตถุแต่ละชิ้นจะมีความน่าสนใจอย่างไร แต่ละขั้นตอนจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

บทเรียนจากอีโนลา เกย์

23 กุมภาพันธ์ 2565

“คุณต้องการทำนิทรรศการเพื่ออยากให้เหล่าทหารผ่านศึกรู้สึกดี   หรือคุณต้องการที่จะทำนิทรรศการที่นำพาผู้ชมให้ได้ย้อนคิดถึงผลพวงจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น?  ...ตอบอย่างจริงใจเลยนะ ผมไม่คิดว่าเราจะทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้” ทอม เคราช์ (Tom Crouch) ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน             การจัดแสดงเครื่องบิน B -29  อีโนลา เกย์(Enola Gay) ในวาระครบรอบ 50 ปี การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน ก่อให้เกิดข้อโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนถึงวิธีการนำเสนอประวัติศาสตร์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น  การจัดแสดงในครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญโดยเฉพาะให้กับวงการพิพิธภัณฑ์ นักประวัติศาสตร์   และผู้เกี่ยวข้องในสังคมอเมริกัน  ในประเด็นเกี่ยวกับการรักษาอิสระทางความคิดและความซื่อสัตย์ทางวิชาการ  แรงกดดันและการแทรกแซงทางการเมืองต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  การต่อรองเกี่ยวกับการจัดแสดง  รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่นำเสนอในนิทรรศการให้กับสาธารณะ  บทความนี้พยายามแสดงให้เห็นลำดับเหตุการณ์โดยสังเขปของข้อโต้เถียงกรณีนิทรรศการอีโนลา เกย์ และรีวิวความคิดความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับคนทำงานพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ เมื่อเสรีภาพทางวิชาการถูกสั่นคลอน           อีโนลา เกย์ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29  ตั้งชื่อโดยนักบินผู้ขับเครื่องบินลำนี้ คือ พอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ จูเนียร์ (Paul W. Tibbetts,Jr) ตามชื่อมารดาของเขา  เป็นเครื่องบินที่ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1945  และถูกนำออกมาจัดแสดงในปี ค.ศ. 1995 โดยพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน  โดยเป็นนิทรรศการที่กระพือแรงปฏิกิริยาจากสาธารณะหลายฝ่ายทั้ง ทหารผ่านศึก สื่อมวลชน นักการเมือง นักวิชาการ และภัณฑารักษ์  เกี่ยวกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์สาธารณะในสังคมอเมริกัน           นิทรรศการนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 50 ปี ของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าด้วยเรื่องบริบทของการทิ้งระเบิดปรมาณู และผลพวงของการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกในโลกที่ฮิโรชิมา โดยเนื้อเรื่องนำไปสู่การตั้งคำถามว่า การใช้ระเบิดปรมาณูเป็นความจำเป็นทางการทหารหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าญี่ปุ่นกำลังยอมแพ้อยู่แล้ว  การนำเสนอทำนองนี้นำมาซึ่งความไม่พอใจของเหล่าทหารผ่านศึก ที่เห็นว่าวิธีการนำเสนอดังกล่าวบิดเบือน  ไม่ถูกต้อง ไม่รักชาติ เหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามไปสู่การเมือง เมื่อสมาชิกรัฐสภากว่า 40 คน ลงนามในจดหมายให้ไล่ผู้อำนวยพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวออก           การโต้เถียงในเรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์  วารสารวิชาการ  และเวทีเสวนาวิชาการ แต่การโหมกระพือข่าวจากฝ่ายสื่อมวลชนยิ่งสร้างความไม่พอใจกระจายออกไปเป็นวงกว้าง  บางคนส่งจดหมายแสดงความไม่พอใจส่งมาถึงพิพิธภัณฑ์สัปดาห์ละเป็นร้อยฉบับ ขณะที่ก็มีผู้ประท้วงฝั่งตรงกันข้ามขว้างปาของเหลวสีแดงใส่วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ชูป้าย “อย่างทำแบบนี้อีก” “อย่าทำแบบฮิโรชิมาอีก” (Dubin, 1999, pp. 200,222)           จำนวนข้อโต้เถียงที่เกิดจากนิทรรศการชุดนี้มีมากเป็นประวัติการณ์ อาทิ วารสาร Journal of American History อุทิศเนื้อที่ 3 ใน 4 ของวารสารฉบับหนึ่งว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง ทั้งในประเด็นข้อกังวลของนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนิทรรศการนี้ รวมถึงการตีความต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ และการสนทนา(dialogue)สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการทำงานของนักประวัติศาสตร์  มีหนังสือรวมบทความต่างๆเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ออกมาจำนวนมาก  มีงานตีพิมพ์มากมายออกมา ทั้งรวมบทความต่างๆ   มีการพิมพ์ซ้ำบทนิทรรศการฉบับแรกพร้อมกับคำอธิบายโดยสังเขปและข้อวิพากษ์  รวมถึงคำอธิบายที่มาที่ไปอย่างละเอียดถี่ถ้วนของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ   นอกจากนี้สมาคมกองทัพอากาศ(The Air Force Association: AFA) องค์กรอิสระไม่แสวงกำไร ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกองกำลังทางอากาศ  เป็นแนวหน้าในการวิพากษ์พิพิธภัณฑ์ยังได้รวบรวมเอกสารมากมายได้แก่ สำเนาการให้ข่าว จดหมาย บันทึก รายงาน และบทความข่าวจากทั่วประเทศ บทวิเคราะห์ บทนิทรรศการชุดแรก  ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด และบันทึกสำคัญต่างๆ จำนวนมหาศาล (Dubin, 1999, pp. 191-192) วารสาร The Journal of American History (Dec 1995) มีเนื้อหาข้อโต้เถียงอีโนลา เกย์ กว่าค่อนเล่ม (ภาพจาก http://jah.oxfordjournals.org/)             อย่างไรก็ดีเหตุการณ์การแทรกแซงการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ของเหล่าบรรดานักการเมือง สร้างความสั่นสะเทือนในแวดวงภัณฑารักษ์ในประเด็นอิสระทางความคิด  นักวิชาการในมหาวิทยาลัยไม่พอใจในระบบการเซ็นเซอร์เนื้อหา ที่สั่นคลอนความซื่อสัตย์ทางวิชาการ และการหวังผลทางการเมืองเพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์             แม้สถาบันสมิธโซเนียนจะเคยเผชิญกับปัญหาการพยายามแทรกแซงและแรงกดดันทางการเมืองและสังคม เช่นในปี ค.ศ. 1989 เมื่อสหรัฐอเมริกาฉลอง 200 ปีของรัฐธรรมนูญ สถาบันสมิธโซเนียนตัดสินใจที่จะเน้นเหตุการณ์การกักขังชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในค่ายกักกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณชนบางส่วนรวมทั้งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนพยายามกดดันให้สถาบันสมิธโซเนียนเปลี่ยนใจ แต่เลขาธิการสถาบันในตอนนั้นยืนหยัดต่อความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (แฟรงค์ โพรแชน, 2547, หน้า 23)           แต่สำหรับเหตุการณ์อีโนลา เกย์ ในตอนแรกสถาบันสมิธโซเนียนพยายามเจรจาต่อรอง โดยยืนยันความถูกต้องทางความคิดในเรื่องที่เป็นประเด็นขัดแย้ง แต่ด้วยกระแสกดดันจากนักการเมือง องค์กรทางทหารผ่านศึก  นักรณรงค์ ทำให้ในที่สุดเลขาธิการสถาบันสมิธโซเนียนตัดสินใจหั่นนิทรรศการเวอร์ชั่นสุดท้ายกลายเป็นนิทรรศการตัวใหม่ที่มีเนื้อหาที่เบาลง ในชื่อ “อีโนลา เกย์: บางสิ่งที่เป็นมากกว่าเครื่องบิน” (Enola Gay: Something More Than an Airplane)  ส่วนหนึ่งของบทนำของนิทรรศการความว่า “มันเป็นเครื่องบินเหมือนกับลำอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ตามสายพานของการทำสงครามมากเป็นพันๆ ครั้ง  เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดแนวหน้าในตอนนั้น แต่มีเพียงหนึ่งเดียวที่ 50 ปีต่อมา ดูเหมือนจะเป็นที่น่าประทับใจมากกว่าเครื่องบินลำอื่น ในฐานะเครื่องบินที่มีชื่อเสียง”             อย่างไรก็ดียังปรากฏร่องรอยของข้อโต้แย้งในนิทรรศการนี้อยู่บ้าง เช่น วีดิโอส่วนสรุปที่จัดแสดงข้างๆ ภาพถ่ายเก่าของลูกเรือ B-29 ใจกล้าที่เต็มไปด้วยสีหน้ายังเยาว์วัยพร้อมๆ กับความทรงจำของพวกเขา  นักบินพอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ จูเนียร์ (Paul W. Tibbetts, Jr) กล่าวว่า คุณไม่สามารถเล่นบท “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า” ได้ เมื่อย้อนมองกลับไปตอนสงครามโลกครั้งที่สองหรือตอนสิ้นสุดสงคราม  เขาเน้นย้ำว่าวีรบุรุษและผู้ที่รักชาตินั้น “ประสบความสำเร็จในการยุติการนองเลือด หลังจากนั้นทุกคนก็กลับบ้าน” (Dubin, 1999, p. 224)           ต่อมา มาร์ติน ฮาร์วิต (Martin Harwit) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ  ตัดสินใจลาออก  ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้ประท้วงในงานวันเปิดนิทรรศการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1995 ว่านิทรรศการเวอร์ชั่นนี้ เป็นการ “อำพรางข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์  ปัจจุบันอีโนลา เกย์ จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์สตีเวนส์ เอฟ อัดวาร์-เฮซี่ (Steven F. Udvar-Hazy Center) ศูนย์แห่งใหม่ของพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ โดยปราศจากบริบทประวัติศาสตร์ (Kurin, 1997, p. 71) นิทรรศการอีโนลา เกย์ ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1995 (ภาพจาก http://collections.si.edu/)   ตัวบท: ต้นทางของการโต้แย้ง           ข้อเสนอแรกเริ่มของการจัดทำนิทรรศการนี้เริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 ภายใต้ชื่อชุดนิทรรศการ  “บนทางแพร่ง: การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ระเบิดปรมาณูและต้นกำเนิดสงครามเย็น”  (The Crossroads: The End of World War II,the Atomic Bomb and the Origins of the Cold War) โดยมาร์ติน ฮาร์วิต ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ  ได้หารือกับองค์การทหารผ่านศึก นักประวัติศาสตร์ของกองทัพ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง  เขาวางแผนว่าส่วนหนึ่งของนิทรรศการจะนำเสนอทั้งเรื่องบนฟ้าและบนดิน หมายถึงนำเสนอเครื่องบินอีโนลา เกย์ควบคู่ไปกับภาพซากปรักหักพังของเมืองฮิโรชิมาที่ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิด วัตถุพยานต่างๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว  รวมถึงเอกสารและความเป็นมาของโครงการให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องอันนำไปสู่การตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูลูกแรกของ (Dubin, 1999, p. 186)           ตัวบทดั้งเดิมของนิทรรศการประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1. “การต่อสู้ไปสู่การจุดสิ้นสุด” ซึ่งจะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง  2. “การตัดสินใจทิ้งระเบิด” ที่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น  3. “การใช้ระเบิดปรมาณูครั้งแรกของโลกในการโจมตีทางอากาศ” นำเสนอประสบการณ์ของนักบินที่ทิ้งระเบิด  4. “นคร ณ เวลาสงคราม” อธิบายตำแหน่งบนผิวดินที่ถูกทิ้งระเบิด และ 5. “มรดกแห่งฮิโรชิมาและนางาซากิ” ที่อธิบายจุดเริ่มต้นของแข่งขันในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์และสงครามเย็น (Smithsonian Institution Archives, 1994)           แต่บทนิทรรศการที่ถูกพูดถึงและเผยแพร่ส่งต่อกันมาก ทั้งในสื่อและนักรณรงค์ ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการนำเสนอของนิทรรศการ  แม้ว่าตัวบทนี้ไม่ได้ถูกจัดแสดงและแก้ไขไปแล้วก็ตามคือ           “ในปี ค.ศ. 1931 กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดแมนจูเรีย หกปีต่อมายึดส่วนที่เหลือของจีน จากปี ค.ศ. 1937 ถึง 1945 จักรวรรดิญี่ปุ่นทำสงครามอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นกระทำอย่างก้าวร้าวและโหดร้ายทารุณ  การสังหารหมู่ชาวจีนหลายหมื่นคนที่นานกิงในปี ค.ศ. 1937 เป็นการกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพญี่ปุ่นที่ช็อกคนทั่วโลก มีการทำทารุณอย่างโหดร้ายต่อประชาชนทั่วไป แรงงานที่ถูกเกณฑ์มา นักโทษสงคราม รวมถึงการใช้มนุษย์เป็นเหยื่อในการทดลองอาวุธชีวภาพ        ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นบุกฐานทัพอเมริกันที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ ฮาวาย และบุกโจมตีดินแดนฝ่ายสัมพันธมิตรในแถบแปซิฟิกอย่างกะทันหัน  ความโกรธแค้นต่อญี่ปุ่นขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ สงครามครั้งนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างจากการต่อสู้กับเยอรมนีและอิตาลี มันเป็นสงครามการแก้แค้น สำหรับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มันเป็นสงครามเพื่อปกป้องวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวของพวกเขาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก  เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เป็นที่ปรากฏแก่ทั้งสองฝ่ายว่านี่คือการต่อสู้เพื่อจะยุติ” (ข้อความเน้นโดยผู้เขียน)                     บทนิทรรศการดั้งเดิมเจ้าปัญหาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะข้อความที่เน้น ถูกฝ่ายทหารผ่านศึกและผู้สนับสนุนมองว่าทำให้คนอเมริกันกลายเป็นผู้ร้าย เป็นคนเหยียดเชื้อชาติและอาฆาตพยาบาท ในขณะที่ญี่ปุ่นได้รับการยกย่องว่าปกป้องตัวเอง แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ได้นำข้อเขียนเหล่านั้นออกไปและแก้ไขใหม่  แต่ข้อความเดิมๆ ดังกล่าวก็ถูกอ้างอิงกันไปกันมาโดยไม่มีบริบท เป็นผลให้บิดเบือนสารที่ภัณฑารักษ์ตั้งใจจะสื่อ (Dubin, 1999, p. 198)           หากพิจารณาจากตัวบทนี้ ชัดเจนว่าภัณฑารักษ์ไม่ได้กล่าวบิดเบือนการกระทำผิดของญี่ปุ่น และไม่ได้ให้อภัยการกระทำของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าภัณฑารักษ์พยายามทำความเข้าใจทัศคติของทั้งสองฝ่าย เป็นการสร้างความ “สมดุล”  ในความหมายของทอม เคราช์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ “มีคนคิดว่ามันยุติธรรมแล้วที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ที่มาจากความสูง 30,000 ฟุต  ผมคิดว่ามันก็ดี แต่ผมไม่คิดว่าเป็นการบอกเล่าได้อย่างยุติธรรม  คุณควรจะต้องนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนพื้นดินด้วย” (Dubin, 1999, p. 198)           ประเด็นเรื่อง “ความสมดุล” ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในการโต้เถียงครั้งนี้ ประโยคที่ว่า “สงครามการแก้แค้น” และ “การปกป้องวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว” เป็นวลีที่ได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งในสื่อและท่ามกลางฝ่ายที่ต่อต้านนิทรรศการ  อย่างไรก็ดีผู้อำนวยพิพิธภัณฑ์ก็ให้เหตุผลเรื่องความสมดุลนี้ว่า เขาต้องการชดเชยความตระการตาและขนาดอันมโหฬารของการจัดแสดงเครื่องบินอีโนลา เกย์ ด้วยการจัดแสดงวัตถุพยานจากการทิ้งระเบิดที่เป็นต้นทุนราคาแพงของมนุษยชาติ (Dubin, 1999, p. 199)           ของชิ้นเล็กๆ บางชิ้นที่ถูกหยิบยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ในฮิโรชิมาและนางาซากิ แม้จะเป็นวัตถุชิ้นเล็กๆ แต่มีพลังอธิบายมหาศาล เช่น เสื้อผ้าที่ย่างเกรียม นาฬิกาข้อมือที่ถูกหลอมไปกับข้อมือในวินาทีที่ถูกระเบิด กล่องใส่อาหารของเด็กนักเรียนหญิง(ข้าวและถั่วเกรียมเป็นคาร์บอน แต่ร่างของเธอสูญสลาย) ฝ่ายผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่าวัตถุเหล่านี้กระตุกหัวใจของผู้ชม และอาจหันเหความสนใจของผู้ชมจากเรื่องวีรกรรมและความจำเป็นของปฏิบัติการของทหาร (Dubin, 1999, p. 199) นาฬิกาที่หยุดเดินในวินาทีที่โดนแรงระเบิด จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Hiroshima Peace Memorial Museum (ภาพจาก  Takasunrise0921, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1180462)           สุดท้ายชุดนิทรรศการถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ปฏิบัติการครั้งสุดท้าย: ระเบิดปรมาณูกับการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง” (The Last Act: The Atomic Bomband The End of World War II)  และจากที่เคยมีพื้นที่จัดแสดงราว 5,500 ตารางฟุต นำเสนอเครื่องบิน ภาพถ่าย เอกสารต่างๆเกี่ยวกับสงครามแปซิฟิก การทิ้งระเบิด และผลพวงหลังสงครามสิ้นสุด รวมถึงการอภิปรายในเรื่องวิทยาศาสตร์ การทูต และมิติทางมนุษย์ของวิกฤตการณ์ครั้งนี้  ถูกลดลงเหลือแค่การจัดแสดงชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องบินอีโนลา เกย์ ได้แก่ ลำตัว ส่วนหาง เครื่องยนต์สองเครื่อง และใบพัด พร้อมกับวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับลูกเรือและนักบินพอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ จูเนียร์ (Paul W. Tibbetts,Jr) และเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องบิน ภาพถ่ายการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 และภาพข่าวหนังสือพิมพ์หนึ่งวันหลังจากที่ระเบิดถูกทิ้งที่ญี่ปุ่น (Dubin, 1999, p. 201) อีโนลา เกย์และเหล่าลูกเรือ นักบินพอล ทิบเบตส์(คนกลาง) (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:B-29_Enola_Gay_w_Crews.jpg) ข้อท้าทายและบทเรียนกรณีอิโนลา เกย์ จากสมิธโซเนียน           สถาบันสมิธโซเนียน ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1846 หรือเมื่อกว่า 170 ปีที่แล้ว มีหน้าที่เพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ด้วยการวิจัย การจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมอื่นๆ แม้จะตั้งขึ้นในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากรัฐบาลกลาง แต่ก็มิใช่หน่วยงานราชการ มีฐานะเป็นมูลนิธิของรัฐบาล มีคณะกรรมการกำกับดูแลประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการนี้เป็นผู้คัดเลือกและกำกับการทำงานของเลขาธิการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน (แฟรงค์ โพรแชน, 2547, หน้า 5,21) นั่นหมายถึงว่านักวิชาการและภัณฑารักษ์ไม่ใช่เป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลหรือมีอิสระในการทำงานตามความสนใจส่วนตัว แต่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสาธารณะและต้องตรวจสอบได้           กำเนิดและภารกิจของสถาบันสมิธโซเนียนมีความหมายต่อความเชื่อถือและความไว้วางใจของสาธารณชน  ริชาร์ด คูริน(Richard Kurin) ผู้ช่วยเลขาธิการด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม สถาบันสมิธโซเนียน ได้ทบทวนและย้อนมอง(สถาบัน)ตนเอง และมีทัศนะเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ที่อีโนลา เกย์ กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง นอกจากเพราะเป็นการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกแล้ว  ยิ่งกว่านั้นด้วยเพราะเป็นเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อน เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อถกเถียงโดยสถาบันสมิธโซเนียนในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ถ้าประชาชนไม่ชอบประวัติศาสตร์ที่อยู่ในหนังสือ พวกเขาก็ไม่ซื้อหนังสือเล่มนั้น ถ้าพวกเขาไม่ชอบรายการสารคดีทางประวัติศาสตร์ทางโทรทัศน์ พวกเขาก็เปลี่ยนช่อง แต่ถ้าประวัติศาสตร์ถูกนำเสนอในนิทรรศการที่ทำโดยสถาบันสมิธโซเนียนในฐานะสถาบันที่สาธารณชนเป็นเจ้าของ มันไม่ง่ายที่จะเพิกเฉย (Kurin, 1997, p. 73)           ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่สถาบันสมิธโซเนียนทำเป็นสิ่งที่ไว้วางใจของสาธารณชน  ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อตั้งมาตั้งแต่แรกเริ่ม คนอเมริกันหรือแม้กระทั่งคนทั่วโลกคาดหวังว่าสถาบันสมิธโซเนียนต้องยุติธรรมและซื่อตรงในการสรรหาหรือนำเสนอความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ เมื่อสถาบันสมิธโซเนียนละเมิดความไว้วางใจนั้น จึงเข้าใจได้ว่าจะสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คน สถาบันสมิธโซเนียนมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งต่อคนอเมริกัน ต่อรัฐสภา ต่อนักวิชาการ ต่อผู้สนับสนุนทุน ต่อคู่ค้า และต่อเจ้าหน้าที่  ซึ่งยากมากในการรับผิดชอบต่อคนทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน บางครั้งเกิดข้อขัดแย้ง ผู้คนต่างคาดหวังว่าสถาบันสมิธโซเนียนจะนำทางสังคมด้วยความน่าเชื่อถือ พลังทางปัญญา ไม่ใช่มาเทศนาศีลธรรม หรือมีเรื่องทางการเมืองและผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง (Kurin, 1997, pp. 73-74)           ในฐานะสถาบันทางวิชาการและมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ผ่านการทำนิทรรศการ ข้อท้าทายหนึ่งที่ต้องเผชิญคือ ไม่ง่ายที่จะสร้างหนทางจากความรู้(knowledge) ไปสู่ความจริง (truth) นิยามของสิ่งที่เรียกว่าความจริงในปัจจุบันดูจะบอกได้ยาก การศึกษาในปัจจุบันเรารับมือกับความเป็นพหุกระบวนทัศน์ กรอบคิดการรื้อสร้างที่ทำให้เห็นความเป็นจริงในหลายเวอร์ชั่น  พิพิธภัณฑ์ควรตะหนักให้มากขึ้นต่อบทบาทของตนในการผสมผสานและเรียงร้อยข้อเท็จจริงต่างๆ ไปสู่การเล่าเรื่องอย่างสอดคล้องต่อผู้ชม  และจำเป็นจะต้องทำความชัดเจนให้มากยิ่งขึ้นต่อวิธีการที่เติมช่องว่างของความรู้ด้วยการตีความและคาดเดาของเราเอง   (Kurin, 1997, pp. 74-75)           คูรินจึงแนะนำสามแนวทางที่ควรจะพิจารณาในการทำนิทรรศการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประการแรกคือ เคร่งครัดให้มากในการประเมินข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอ  ประการที่สองทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในการหาทางเลือกที่หลากหลายต่างๆ ในการเล่าเรื่อง  และประการที่สามสร้างความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ชมถึงกระบวนการจัดทำนิทรรศการ  ผ่านป้ายคำอธิบายของพิพิธภัณฑ์และบทความในแคตตาล็อก  จะเห็นว่าบทนิทรรศการอีโนลา เกย์ มีความแตกต่างกันน้อยมากระหว่างข้อเท็จจริง(fact) กรอบการเล่าเรื่อง และการตีความ ยกตัวอย่างบทนิทรรศการดั้งเดิมที่ถูกพูดถึงกันมาก “สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่สงครามครั้งนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างจากการต่อสู้กับเยอรมนีและอิตาลี มันเป็นสงครามการแก้แค้น สำหรับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มันเป็นสงครามเพื่อปกป้องวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวของพวกเขาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก”  คำบรรยายที่ไม่ได้จัดแสดงนี้ เต็มไปด้วยความรู้สึกของอำนาจที่จับต้องไม่ได้ เหมือนเป็น “คำพูดของพระเจ้า” ซึ่งฟังดูแล้วไม่ค่อยเหมาะสม  สุดท้ายพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องคิดมากขึ้นเกี่ยวกับการสื่อความหมายของถ้อยคำและบริบทของการนำเสนอทั้งวัตถุที่วางแสดงข้างๆ ภาพถ่าย คำอธิบาย และสิ่งประกอบนิทรรศการ รวมถึงผู้ชมที่เป็นคนที่เรื่องของนิทรรศการกำลังพูดถึง (Kurin, 1997, pp. 75-76)           ข้อท้าทายอีกประการคือ ไม่เพียงแต่ความรู้จะกลายเป็นปัญหามากขึ้นในการนำเสนอแล้ว ยังดูเหมือนว่ามันถูกแพร่กระจายมากขึ้นและทำได้ง่ายขึ้นกว่าศตวรรษที่ 19 ความรู้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกง่ายขึ้นผ่านหลายช่องทางทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ความรู้มาจากหลายวงหลายระดับ นักวิชาการและภัณฑารักษ์จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ถือครองความรู้แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป (Kurin, 1997, p. 76)           ในแง่ข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์  จริงๆ แล้วข้อมูลดิบเกือบทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าปฐมภูมิมากกว่าความเรียง เป็นมุมมองเชิงประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่าการรวบรวมและเรียบเรียง ผู้คนในฐานะตัวละครในประวัติศาสตร์จึงสำคัญมาก ทหารผ่านศึก นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่และคนอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการอีโนลา เกย์ เป็นเจ้าของความรู้ในสิ่งที่พวกเขาทำและมีความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำ เสียงของพวกเขาจำเป็นต้องถูกพิจารณาทั้งในฐานะข้อเท็จจริง  แนวทางการสร้างเรื่องเล่า ไปจนถึงการพัฒนาเป็นนิทรรศการ ในความเห็นของคูรินเขาคิดว่า แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกพยายามทำแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ ส่วนฮาร์วิต ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติเห็นว่านิทรรศการได้มีเสียงของพวกทหารผ่านศึกแล้ว แต่ทหารผ่านศึกกลับเห็นว่าพวกเขายังไม่ได้ยินเสียงนั้น สิ่งที่พวกเขาพูดไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง (Kurin, 1997, p. 76)           สำหรับคูรินแล้วเห็นว่า ในมุมมองของฮาร์วิต เขากำลังมองหาความจริงและคนอื่นพยายามปิดบังการค้นหานั้นและการนำเสนอของเขา  ฮาร์วิตใช้ความคิดเห็นของนักฟิสิกส์เข้ามาในการตีความ  เขาเชื่ออย่างซื่อๆว่ามีความจริงทางประวัติศาสตร์และมุ่งมั่นเพื่อค้นหามัน เขาล้มเหลวในการอธิบายอคติความเชื่อ แรงจูงใจ และเป้าหมายของเขาในการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นไปว่าติเตียนทหารผ่านศึก นักการเมือง หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่สถาบันสมิธโซเนียนว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัว  ฮาร์วิตต้องการข้อเท็จจริงแต่สอบตกต่อการแสดงคำขอบคุณต่อการถักร้อยข้อเท็จจริงที่มาจากเสียงของทหารผ่านศึกเหล่านั้น เขาเห็นการเป็นตัวแทนทางประวัติศาสตร์ของอีโนลา เกย์ในเชิงทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นอื่นๆ ที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงและตีความจากข้อเท็จจริงนั้นตามหลักเหตุผล (Kurin, 1997, pp. 76-77)           ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ไม่ควรแค่ฟังเสียงของผู้คนที่นำเสนอ เพียงเพราะความเหมาะสมทางการเมืองและค่านิยมที่ทำตามๆ กันมาเท่านั้น แต่ควรพยายามอย่างจริงจังเพื่อฟังเสียงเหล่านั้น เพราะอาจมีความเห็นที่แหลมคมและมีคุณค่าอยู่ในสาระที่พวกเขาพูด  มิเช่นนั้นแล้วมิได้หมายความว่าภัณฑารักษ์และนักวิชาการจะเพียงแค่ละเลยความรับผิดชอบของตนเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความซื่อตรงในทางปัญญาต่อผู้คนที่พวกเขากำลังนำเสนอ  การมีอยู่ของเสียงเหล่านั้นจะไม่นำไปสู่ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายมากไปกว่าประวัติศาสตร์เลวร้ายที่ถูกให้ซ่อนเร้นเสียงของพวกเขาเหล่านั้น ดังที่มีคนเคยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ที่มีความทรงจำใส่เข้าไปเท่ากับเป็นประวัติศาสตร์ที่ดี (Kurin, 1997, p. 77)           กรณีอีโนลา เกย์ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางทางสาธารณะ มีการสะท้อนความคิดความเห็นในแง่มุมต่างๆ เห็นการแสดงความรับผิดชอบเกิดขึ้น มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนที่หลากหลายของเหล่านักวิชาการและคนทำงานพิพิธภัณฑ์ และในวงการต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการวิเคราะห์และตีความอย่างต่อเนื่องในกรณีนี้ (Kurin, 1997, p. 82) มีการศึกษาย้อนหลังอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องในข้อโต้เถียงเกี่ยวกับอีโนลา เกย์ อาจเรียกได้ว่าเรื่องดังกล่าวค่อยๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง  จนแม้ในปี ค.ศ. 2003 เมื่อเครื่องบินเจ้าปัญหาลำนี้ย้ายไปจัดแสดงอย่างถาวรที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติแห่งใหม่ ก็ยังมีการโต้เถียงเกิดขึ้นอีก (Gallagher, 2000)           ลำดับเหตุการณ์ข้อโต้เถียงเรื่องอีโนลา เกย์  มีผู้รวบรวม และแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลา ได้แก่ (Gallagher, 2000) ช่วงเวลา คำอธิบาย 1. การต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย (ค.ศ. 1981 – 15 เม.ย. 1994) ข้อเสนอการจัดนิทรรศการครบรอบ 50 ปี สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองของสถาบันสมิธโซเนียนนำโดยโรเบิร์ต แมคคอมิกส์ อดัมส์ เลขาธิการสถาบัน และมาร์ติน ฮาร์วิต ผอ.พิพิธภัณฑ์ ถูกตั้งคำถามเป็นการเฉพาะจากสมาคมกองทัพอากาศ 2. ขบวนการต่อต้าน (16 เม.ย. 1994 – 26 ต.ค. 1994) ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้รับการจัดตั้งขึ้นจาก สมาคมทหารผ่านศึก  สมาชิกรัฐสภา และบรรดาทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพุ่งเป้าไปที่นิทรรศการของสมิธโซเนียน มีความพยายามแทรกแซงให้แก้บทนิทรรศการ ไม่มีบทนิทรรศการใดเป็นที่พอใจของเหล่านักวิพากษ์วิจารณ์ 3. นิทรรศการถูกระงับ (26 ต.ค. 1994 – 1 มี.ค. 1995) กลุ่มนักประวัติศาสตร์ปกป้องพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มกำลัง แต่ข้อโต้เถียงกันเรื่องจำนวนชีวิตที่รักษาไว้ได้จากการทิ้งระเบิดที่ต่อรองให้มีในนิทรรศการสามารถได้รับการยอมรับจากผู้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม และเลขาธิการสถาบันสมิธโซเนียนคนใหม่ ไมเคิล เฮย์แมน ยอมรับว่าพิพิธภัณฑ์ทำผิดพลาด  มีการระงับนิทรรศการ และมีแผนจะทำนิทรรศการตัวใหม่ที่จะไม่เป็นที่โต้แย้ง 4. นิทรรศการได้รับการอนุญาต (1 มี.ค. 1994 – 30 มิ.ย. 1995) ในช่วงเวลาก่อนเปิดตัวนิทรรศการ กลุ่มนักประวัติศาสตร์ถามหาเวทีสัมมนาสาธารณะระดับชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้  สถาบันสมิธโซเนียนพยายามควบคุมสถานการณ์โดยจัดสัมมนาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เรื่องสังคมประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน และมาร์ติน ฮาร์วิต ผอ.พิพิธภัณฑ์ยื่นหนังสือลาออกเพียงสองวันก่อนมีการเริ่มไต่สวนในวุฒิสภา 5. การปะทุขึ้นมาอีกของข้อโต้แย้ง (28 มิ.ย. 1995 – 1996 และ 2003) ข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการนำเสนออีโนลา เกย์ในประวัติศาสตร์ว่าควรเป็นอย่างไร ค่อยๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง และข้อโต้เถียงเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2003 เมื่อเครื่องบินดังกล่าวถูกย้ายไปจัดแสดงเป็นการถาวร ณ พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งใหม่ที่เวอร์จิเนีย  อีโนลา เกย์ จัดแสดง ณ ศูนย์สตีเวนส์ เอฟ อัดวาร์-เฮซี่ (Steven F. Udvar-Hazy Center) เวอร์จิเนีย (ภาพจาก elliottwolf - Own work, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=28966342)           แม้การโต้เถียงเรื่องอีโนลา เกย์ จะเป็นมรดกอันขมขื่นของสถาบันสมิธโซเนียน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้สถาบันสมิธโซเนียนจัดทำและประกาศใช้แนวปฏิบัติสำหรับการจัดการกับการโต้เถียง(guidelines) แนวปฏิบัตินี้เรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์แสดงจุดมุ่งหมายหรือแนวคิดของการจัดแสดงที่ผ่านการแนะนำของกลุ่มที่ปรึกษา สำหรับผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ต้องรับผิดชอบต่อนิทรรศการภายใต้ขอบเขตอำนาจของตัวเอง และต้องหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสมิธโซเนียนในกรณีที่เกิดความไม่ลงรอยในทางสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ แต่แนวปฏิบัติจะไม่ใช่การนำทางพิพิธภัณฑ์ในการจัดการกับปัญหา เพียงเป็นการตั้งคำถามอย่างมีทักษะ มีเหตุผล และแหลมคม  แนวปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่ต้องการให้มีการประเมิน  การเทียบมาตรฐาน และการใช้ปัญญาของคนทำงาน โดยไม่มีข้อยกเว้นให้กับนักวิชาการสถาบันสมิธโซเนียนและภัณฑารักษ์จากงานส่วนกลางที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ (Kurin, 1997, p. 82)           คูรินทิ้งท้ายว่า สำหรับภัณฑารักษ์แล้ว การนำเสนอข้อเท็จจริง มรดกวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการเฉลิมฉลองความสำเร็จของมนุษยชาติ แต่ควรที่จะสร้างความเข้าใจและเผยให้เห็นถึงชะตากรรม ความทุกข์ยาก ความชั่วร้ายของมนุษย์ได้ในขณะเดียวกัน ดังนั้นศิลปะงานภัณฑารักษ์คือการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ตีความและความทรงจำ ระหว่างการเฉลิมฉลองความสำเร็จและการเผยด้านมืด  และระหว่างมรดกและประวัติศาสตร์ โดยผ่านการพยายามแปลความหมายทางวัฒนธรรมและสื่อสารสัญญะบางอย่างไปสู่สำหรับผู้ชมที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่นำเสนอ (Kurin, 1997, p. 82). บรรณานุกรม แฟรงค์ โพรแชน. (2547). เรียนรู้จากสถาบันสมิธโซเนียน: บทเรียน(ที่ดีและไม่ดี)จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา. Learning from the Smithsonian: Lessons(Good and Bad) from the United States National Museum (หน้า 23). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. Edward J. Gallagher. (2000). The Enola Gay Controversy. เรียกใช้เมื่อ 29 Febuary 2016 จาก Lehigh University Digital Library: http://digital.lib.lehigh.edu/trial/enola/ Richard Kurin. (1997). Reflections of a Culture broker: a View fron the Smithsonian. Washington: Smithsonian Institution Press. Smithsonian Institution Archives. (14 Jauary 1994). First Script of the Enola Gay Exhibit Completed. เรียกใช้เมื่อ 01 03 2016 จาก Smithsonian Institution Archives: http://siarchives.si.edu/collections/siris_sic_2315 Steven C. Dubin. (1999). Display of Power: Controversy in the American Museum from the Enola Gay ti Sensation. New York: New York University Press.