บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์


        ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน
 
- ปฐมบทของการเดินทาง -

        แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง

        ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล

        วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม  ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน

        รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย
 
        เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง
 

- หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต -
 

         ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย
       
         ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ 



ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี
        
         ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ
 
        ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

         ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา”ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว (น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย) 

        ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย 
 
        นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา

          วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น

        ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!  
 
- เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง -

        คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995
 
         กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย
  
         ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน 

         การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด

         การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง
  
         การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ 

        เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”  ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด

        กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 –19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม

        กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร
 
         ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ



ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี

        ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”

        “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง

        ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน 
 
- ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา -

        ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 –18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง

             อาข่า         ความหลากหลายของชาติพันธุ์
             ม้ง             ปีใหม่ม้ง
             ไทลื้อ         จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า
             เมี่ยนเย้า     ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย
             มุนเย้า         พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า
             ไทดำ         การทำเตียงนอน
             ขมุ            การจักสานและทอผ้ากี่เอว
       
         การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน
 
        เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน

        การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย  



ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี

        หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Taraเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น
 
        ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARAบอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์

         ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์ 

        ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว

        ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Taraบอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก 
 
- นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า -

        ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว

         “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง



ภาพโดยปณิตา  สระวาสี

          พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี

        “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง
 
         นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-onและเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว
   
         มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป
 
         ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”. 

        
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 22 กันยายน 2558
วันที่แก้ไข: 22 กันยายน 2558