พัฒนาการงานอนุรักษ์


การอนุรักษ์เริ่มต้นพัฒนาในศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการให้ความสำคัญกับส่วนงานที่ในปัจจุบันเรียกว่า “การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวน” (interventive conservation) การอนุรักษ์วัตถุเป็นการป้องกันสภาพความเสื่อมโทรม ด้วยการทำความสะอาด และการพยายามคงสภาพในปัจจุบันของวัตถุนั้น บ่อยครั้งที่ปฏิบัติการต่อวัตถุจำเป็นต้องสงวนวัตถุจากเงื่อนไขที่จะทำให้วัตถุเสื่อมลง เช่น การขึ้นสนิมบนวัสดุเหล็ก การตกผลึกเกลือ หรือการกัดกินของแมลง การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวนขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของวิชาการสาขาเคมี ทั้งในด้านการนิยามปัญหาและพัฒนาการแก้ปัญหา งานวิชาการที่เสมือนหลักหมายของการพัฒนาดังกล่าวได้แก่ งานเขียนของ Rathgen, Die Konservierung von Altertumsfunden (เขียนขึ้นในปี 1898 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1905 โดย G. A. and H. A. Auden ในชื่อว่า Preservation of Antiquities : A Handook for Curators (การสงวนวัตถุโบราณ : คู่มือสำหรับภัณฑารักษ์) และงานเขียนของ Plenderleith และ Werner เรื่อง Conservation of Antiquities and Works of Art (ปี 1971 ในการพิมพ์ครั้งที่ 2)
 


ในช่วงศตวรรษที่ 20 คือภายหลังจากงานตีพิมพ์ของ Garry Thompson เรื่อง The Museum Environment (สภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑสถาน) บทบาทของการสงวนรักษาวัตถุด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อมและ การเน้นย้ำการดูแลรักษา กลายเป็นแนวทางในการทำงานอนุรักษ์ แนวทางการอนุรักษ์นี้เป็นที่สนใจอย่างสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 และนิยามการทำงานดังกล่าวว่า “การอนุรักษ์แบบสงวนรักษา” (preventive conservation) สาขาวิชาพัฒนาไป พร้อมกับการจัดการด้านเทคนิคที่สามารถประยุกต์ใช้กับ งานสะสมพิพิธภัณฑ์ อาคาร และสภาพแวดล้อม รวมทั้งลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลากรและงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ การอนุรักษ์แบบสงวนรักษาเกิดขึ้นจากบัญญัติเกี่ยวจรรยาบรรณสำหรับภัณฑารักษ์ที่พัฒนาขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 (AIC 1994; UKIC 1996) งานวิชาการที่เป็นหลักสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวคือ สภาพแวดล้อมพิพิธภัณฑ์ (1978) แนวทางปฏิบัติ ทฤษฎี และการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ซึ่งบรรณาธิการโดย A. Roy และ P. Smith เป็นเอกสารประกอบการประชุม IIC ที่เมืองออตตาวา และงานล่าสุดของ Suzanne Keene ใน การจัดการการอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ (ในปี 1996)

 
กิจกรรมการอนุรักษ์เกือบทั้งหมดจัดแบ่งในลักษณะที่ไม่เป็นการอนุรักษ์แบบซ่อมสงวน ก็เป็นการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ในขณะเดียวกันงานการวิจัย การศึกษา และการอบรม กลับไม่มีการจัดแบ่งประเภท
 
“ยุคข่าวสาร” ซึ่งเน้นการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับความรู้และการถ่ายทอดความรู้ในทุกๆ กิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ การสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่กลายเป็นหัวใจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวนและสงวนรักษา สำหรับเป็นวิถีที่นำไปสู่อนาคตด้วยตัวมันเอง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การสร้างองค์ความรู้และข้อมูล (งานวิจัย) การสื่อสารความรู้นั้นๆ (การศึกษา การอบรม และการเผยแพร่ข้อมูล) พร้อมไปกับความพยายามรักษาทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์ (การให้การสนับสนุน) เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการอนุรักษ์ในอนาคต และสิ่งนี้เองที่เรียกว่า “formative information” (การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล)
 
 
นิยามและขอบเขต
 
แนวทางการอนุรักษ์มีพื้นฐานหลักที่การพัฒนาและการสร้างสรรค์สำหรับอนาคตงานอนุรักษ์
 
การสร้างข้อมูล – หรืองานวิจัย – ดำเนินการในหลายระดับจากงานวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การวิเคราะห์ และการทำงานที่ซับซ้อนของวัตถุบางประเภท เพื่อการอนุรักษ์วัตถุประเภทนั้นๆ (ประเภทของงานวิจัยดูได้ใน The Conservator – ภัณฑารักษ์) จากนั้นเป็นงานวิจัยในแง่วัสดุและเสื่อมถอย (ประเภทของงานวิจัยดูได้ใน Studies in Conservation – การศึกษาวิจัยในงานอนุรักษ์) และท้ายที่สุด งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบที่มีนักวิจัยชำนาญเฉพาะ พร้อมด้วยงบประมาณและเครื่องมือเต็มรูปแบบ
       
การศึกษาเกี่ยวกับอนุรักษ์และการอบรมทุกรูปแบบ การอบรมสามารถดำเนินการได้ในระยะหลายปี ซึ่งนำไปสู่การสร้างคุณภาพในงานอนุรักษ์ หรือเป็นการอบรมในระยะสั้นที่ต่อเนื่อง และถือเป็นการพัฒนาการปฏิบัติการของภัณฑารักษ์งานวิชาการของ ICOM – CC Working Group on Training in Conservation and Restoration เป็นสิ่งที่แสดงการพัฒนา “งานอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” ในการสร้างภัณฑารักษ์รุ่นต่อไป

อย่างไรก็ดี ยังมีความคลุมเครือระหว่างการศึกษา ซึ่งหมายถึง “การได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจเป็นหลัก” และการอบรม อันหมายถึง “การพัฒนาความชำนาญการในการประยุกต์ความรู้และความเข้าใจเป็นหลัก” แม้ว่าทั้งสองกิจกรรมจะมีความทับซ้อนกันอยู่ แต่เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าวิชาเรียนมากมายในการอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สอนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในทางกลับกัน การฝึกงานและวิชาปฏิบัติการอื่นๆ เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอบรม การดำเนินงานทั้งสองประการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาการตัดสินใจที่ดี (การให้น้ำหนักอย่างชาญฉลาดในการจัดการความรู้) ให้กับภัณฑารักษ์
 
การประชุมและงานวิชาการเสริมให้การพัฒนาวิชาชีพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างหนทางในการเผยแพร่ผลการวิจัยและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดด้วยการดำเนินงานดังกล่าว จึงเป็นก่อร่างทิศทางงานอนุรักษ์ในอนาคต ตัวอย่างงานของ Michalski เกี่ยวกับค่า RH (relative humidity – ผู้ แปล) ที่ถูกต้องและผิดพลาด (Michalski 1993) เป็นจุดสำคัญในการทบทวนเกี่ยวกับการสร้างสภาพ ที่คงที่ของสภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑ์
 
ข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเผยแพร่ผ่านแหล่งสื่อหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และอินเตอร์เนต เช่นเดียวกับหนังสือ จดหมายข่าว และสิ่งพิมพ์อื่นๆ การเข้าถึงและความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ภัณฑารักษ์คำนึงถึงมากขึ้น อนาคตของงานอนุรักษ์จึงไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับเพียงประการเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลเช่นกัน
 
อนาคตของงานอนุรักษ์เชื่อมโยงอย่างมากกับทรัพยากรที่เอื้อต่องานอนุรักษ์ และการสนับสนุนจาก ผู้คนทั่วไปเพื่อกิจกรรมงานอนุรักษ์ อนึ่ง คำว่า “การสนับสนุน” สามารถใช้อธิบายกระบวนการ หลากหลายของความสนับสนุนและทรัพยากร ตั้งแต่อาศัยการพูดจากับกลุ่มคนเล็กๆ จนถึงการขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากนักการเมือง เพื่อสร้างช่องทางประชาสัมพันธ์และการตอบข้อซักถามต่อสาธารณชนด้วยวิธีการเหล่านี้ เราจึงสามารถสร้างความสนใจให้กับคนทั่วไปในการตระหนักถึงความสำคัญและเป้าหมายของการอนุรักษ์ ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าการสงวนรักษา จึงนำไปสู่การสร้างและปฏิบัติตามมาตรการในการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ที่แต่ละคนสามารถปฏิบัติต่อสิ่งที่ตน    ครอบครอง ทั้งที่เป็นของส่วนบุคคลและส่วนรวม เพื่อการคำนึงถึงมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะเป็นสมบัติร่วม เพราะก่อนที่ปัจเจกบุคคลจะใฝ่หาการศึกษาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พวกเขาต้องเห็นว่าสิ่งนั้นๆ มีความสำคัญ เราต้องเข้าไปถึงใจก่อนจะเข้าถึงความคิดของเขา การสนับสนุนจึงเป็นกระบวนการ “จับใจ” สร้างความต้องการอยากรู้อยากเห็น และนำผู้คนไปสู่ความปรารถนาในทางปฏิบัติ
 
อนาคตของการอนุรักษ์มาจากกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายเช่นนี้ เมื่อระลึกถึงวัตถุประสงค์ร่วมในการสร้างอนาคตงานอนุรักษ์นำไปสู่ข้อสรุปนิยาม “การอนุรักษ์แบบข้อมูล” และคำอธิบายที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้

 
การอนุรักษ์แบบข้อมูล คือ ขบวนการสร้างความรู้และพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ความรู้นั้นๆ ในการอนุรักษ์ชิ้นงานประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
 
 
ระยะห่าง
 
หากจะกล่าวไปแล้ว ระดับของการปฏิบัติการอนุรักษ์มีลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับคือ การอนุรักษ์ “แบบซ่อมสงวน” เป็นการดำเนินการต่อวัตถุชิ้นเดียว การอนุรักษ์ “สงวนรักษา” ปฏิบัติต่องานสะสมชิ้นต่างๆ ในขณะที่ การอนุรักษ์ “แบบงานข้อมูล” เป็นการสร้าง/พัฒนางานอนุรักษ์ในอนาคต เหตุที่งานอนุรักษ์ดำเนินไปในทิศทางดังกล่าว เนื่องมาจากการตระหนักถึงระยะห่างที่ทรงพลังระหว่างวัตถุและนักอนุรักษ์ ยิ่งการเผชิญหน้าต่อวัตถุมีระยะห่างเท่าใดยิ่งทำให้วัตถุได้รับการดูแลมากขึ้น ระยะห่างเช่นนี้ก่อให้เกิดการวิจัยหรือการศึกษาบางแง่มุม เรียกได้ว่าพลังการดำเนินการอนุรักษ์จะส่งผลต่อวัตถุในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น
 
 
ประโยชน์ที่ได้รับ
       
ขอบข่ายของงานอนุรักษ์ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เช่น สิ่งพิมพ์เผยแพร่ การศึกษา การวิจัย และการสนับสนุนภายใต้คำเรียก “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” นำไปสู่แง่มุมบางประการและทุกๆ ประการของงานอนุรักษ์ที่ได้รับการอธิบายภายใต้นิยาม “การซ่อมสงวน” “การสงวนรักษา” หรือ “งานข้อมูล”
 


สาขาย่อยของงานอนุรักษ์นี้และโดยเฉพาะการสร้างนิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” อาจจะปรากฏเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในจำนวนที่หลากหลายของ “การสร้างแบบสำเร็จและให้ชื่อ” สาขาวิชาของงานอนุรักษ์ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอรูปแบบ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” ดังนี้
       


- อธิบายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
 
- สร้างความตระหนักแก่ผู้ปฏิบัติการการวิจัย การศึกษา การอบรม และการสนับสนุนอื่น ๆ ในสิ่งที่พวก เขาดำเนินการ ว่าเป็นสิ่งที่สร้าง (ก่อร่าง) ความสามารถเพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอด

       
- เน้นย้ำว่า ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากงานวิจัยมิได้มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ประการเดียว หากแต่ว่าความรู้นั้น ๆ มีบทบาทที่มากกว่า ในฐานะ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักอนุรักษ์คนอื่นๆ เพื่อความเข้าใจและการอนุรักษ์วัตถุที่ดีมากขึ้น ความรู้โดยปราศจากการเผยแพร่เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม เช่นเดียวกับความมั่งคั่งและอำนาจที่ไม่ได้ใช้ไปในทางที่ถูกที่ควรของมุนษยชาติ
       


- เก็บบันทึกการยอมรับที่กว้างขวางในบทบาทการสนับสนุน และการตระหนักถึงบทบาท เพื่อปูทางสู่อนาคตของงานอนุรักษ์
       
- เอื้อให้กระบวนการของการศึกษาและอบรมที่มีความทับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการควบคู่กัน สามารถดำเนินเคียงคู่กันไปภายใต้นิยามที่มีวัตถุประสงค์และแง่มุมร่วมกันของ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล”
 
การสร้างกรอบของกระบวนการและ การดำเนินงานมากมายภายใต้นิยาม “การอนุรักษ์แบบสงวนรักษา” ทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นความสำคัญและลักษณะ ที่แตกต่างของกิจกรรมเหล่านั้น เมื่อคนเห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งเงินทุนสนับสนุน และกิจกรรมที่เป็นที่สนใจมากขึ้น งานวิชาการที่เกี่ยวข้องเผยแพร่อย่างแพร่หลาย สิ่งนี้ย่อมเป็นหนทางให้วิชาชีพกว้างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ การจัดอบรมเฉพาะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักอนุรักษ์มากมายสนใจในแขนงงานอนุรักษ์ดังกล่าว จากที่แต่เดิมที่เห็นว่าการอนุรักษ์แบบสงวนรักษาเป็นสิ่งที่ “โง่เง้าและซ้ำซาก” การตระหนักในความสำคัญของแขนงวิชาเช่นนี้ นำไปสู่การสร้างมาตรฐานบางประการ ในสหราชอาณาจักร ปรากฏการจัดตั้งแนวมาตรฐานที่เป็นรูปธรรม โดยงานพิมพ์เผยแพร่ของคณะกรรมการ พิพิธภัณฑสถานและหอศิลป์เรื่อง “มาตรฐานในการดูแลงานสะสม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานทะเบียนในพิพิธภัณฑ์ ในอนาคตการให้ความสำคัญกับกระบวนการ ด้วยการเสนอใช้นิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” มีลักษณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป และจะเป็นการนำทางไปสู่อนาคตของงานอนุรักษ์
 
 
บทสรุป
 
การเสนอบทความโดยสังเขปนี้ เป็นการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับคำนิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” เพื่ออธิบายกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์พื้นฐานในการพัฒนางานอนุรักษ์ในอนาคต จุดประสงค์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการสร้างข้อมูลและการเผยแพร่ผ่านทางการศึกษา การอบรม และฐานข้อมูลของนักอนุรักษ์ ท้ายที่สุด นำไปสู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านั้น
 

เอกสาร/หนังสืออ้างอิง

AIC (American Institute for Conservation). 1994. Code of ethics and guides for practice. AIC News, May 1994: 17 – 20.

Keene S. 1996. Managing conservation in museums, London: Butterworth Heinemann.
Michalski S. 1993. Relative humidity: A discussion of correct/incorrect values. In: ICOM-CC 10th Triennial Meeting, Washington, DC, USA. Paris: International Council of Museums: 624 – 629.

Plenderleith H and Werner AEA. 1971. Conservation of antiquities and works of art. Oxford: Oxford University Press.

Rathgen F. 1898. Die Konservierung von Altertumsfunden. Berlin: W. Spemann.


หมายเหตุ

ผู้แปลขอขอบคุณ Lawrence Chin ที่แนะนำบทความให้อ่านเพิ่มเติม หลังจากการร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์

Chris Caple ผู้เขียนบทความเป็นอาจารย์ ณ Department of Archaeology, University of Durham, South Road, Durham DH1 3LE, UK

ภาพประกอบบทความมาจากสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ –ประเทศสิงคโปร์ โปรแกรมการศึกษาประจำปี 2003 “บรรจงสร้างมรดกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกผู้คน”
 

แปลและเรียบเรียงจาก

Chris Caple, “Formative Conservation”, In book 12th triennial meeting, Lyon, 29 August - 3 September 1999: preprint (ICOM Committee for Conservation). James & James (Science Publishers) Ltd., Bridgland, Janet (Editor) (1999), pp. 135 - 138.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 30 มีนาคม 2558
วันที่แก้ไข: 30 มีนาคม 2558