โศกนาฏกรรมกับความทรงจำที่บันทึกในพิพิธภัณฑสถาน - กรณี 11 กันยายน

Yahrzeit: September 11 Observed
Museum of Jewish Heritage – A Living Memorial to the Holocaust, New York.
August 29, 2002 – January 5, 2003
A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01
National Memorial Center Museum, Oklahoma City.
April 19,2002 – September 1, 2003
A Day of Reflection and Remembrance
United States Holocaust Memorial Museum, Washington, D.C.
September 11, 2002
 

          ในวันที่ 11 กันยายน 2002 รายการโทรทัศน์ “ช่องประวัติศาสตร์” (History Channel) ออกอากาศสารคดีเรื่อง “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” (Relics from the rubble) ซึ่งเป็นครั้งแรกในการนำเรื่องราวกราวด์ ซีโร (Ground Zero – กรณีการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 - ผู้แปล) เข้าไปบอกเล่าในบริบทพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์สารคดีลำดับการทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในการสำรวจรถพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ และเศษซากเครื่องเรือนที่มาจากการโจมตีตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ จากที่ภัณฑารักษ์และผู้จัดการงานสะสมบันทึกรายละเอียดต่างๆ พวกเขาพูดคุยกันว่า วัตถุเหล่านี้เหมาะสมกับการจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องของอดีตในอนาคต สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” ที่ใช้การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองในความตื่นตระหนกต่อวิกฤตระดับชาติ ได้เปล่งเสียงแห่งความรำลึกถึงหนึ่งในเสียงที่เซ็งแซ่อยู่ทั่วสหรัฐอเมริกาตั้งแต่มีการโจมตีจากเครื่องบินพาณิชย์ที่ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ร่วมรำลึกถึงโศกนาฏกรรมด้วยการเก็บและจัดแสดงซากเหล่านั้น

          ในความเรียงฉบับนี้ ข้าพเจ้าจะพิจารณาพื้นที่ของกิจกรรมการไว้อาลัยที่สนับสนุนโดยพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 ข้าพเจ้ามิเพียงพิจารณาพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นสถานเก็บกักวัตถุแห่ง ความทรงจำ หากแต่เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ข้อเท็จจริงทางสังคมเนื่องด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน สร้างความหมายสำคัญยิ่งขึ้น ดังที่ เจมส์ ยัง (James Young) ได้กล่าวไปแล้วว่า “การระลึกถึงอาจจะเป็นการกำหนดวันสำคัญการจัดประชุมหรือการจัดสรรพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างอนุสาวรีย์” ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพิจารณากิจกรรมการรำลึกถึง 3 เหตุการณ์ ซึ่งจัดขึ้นในพิพิธภัณฑสถานในช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการโจมตี อันได้แก่ นิทรรศการร่วม รำลึก 2 แห่ง และพิธีกรรมความทรงจำ แต่ละที่แต่ละเหตุการณ์เชื่อมโยงกับการครบรอบ 1 ปีการโจมตีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย และเวอร์จิเนีย กรณีศึกษาเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นทางทฤษฎีและภาพกว้างในแง่ข้อมูลทั่วไป

          เมื่อย้อนกลับไปมองหลักทฤษฎีภาษาของเอดเวิร์ด ซาเพีย (Edward Sapir) ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การนำเสนอ ประเด็นเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑ์แสดง “การบิดพลิ้วของการใช้” (tyranny of usage) (Sapir 1921: 98) การรำลึกถึงโศกนาฏกรรม เพราะเนื้อหาแสดงผ่านโครงสร้างและหลักการจากเหตุการณ์ความทรงจำ/การรำลึกถึงที่มีมาก่อนหน้านั้น (Halbwachs 1980; Zelier 1998) การวิพากษ์ต่อรูปแบบ (form) และเนื้อหา (content) ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานว่ามีความแตกต่าง อย่างไร และความเชื่อมโยงของการรำลึกอดีตกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์เป็นไปในลักษณะใด นักมานุษยวิทยาต้องวิจารณ์ตรรกะเศรษฐกิจของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในภาพกว้าง เพื่อปูทางการอภิปรายต่อภาพที่นำเสนอ

          คลื่นแรกของการำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในบริบทพิพิธภัณฑสถานมีรูปโฉมจากการหล่อมรวมระหว่างตรรกะ พิธีกรรม และหน้าที่ในการระลึกถึงที่มีอยู่ เข้ากับเศษส่วนเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจำนวนมากมายจากความหายนะในครั้งใหม่ กิจกรรมเฉพาะกาลในพิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าใช้พิจารณาเชื่อมต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน เพื่อสร้างความหลากหลายที่อยู่บนชุดความคิดการรำลึกถึง หรือจะให้พูดอีกที กราวด์ ซีโร่ สร้างความหมายผ่านเหตุการณ์ ที่เป็นการฆ่าหมู่และการวางระเบิดที่โอกลาโฮมา ซิตี้ (Oklahoma City) ความหมายของเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่ตรึงติดกับสถานที่ที่เกิดเหตุ หากแต่พัฒนาผ่านแนวคิดซึ่งมีโครงสร้างจากกิจกรรมที่ทำมาก่อนหน้าในแต่ละพิพิธภัณฑ์


YAHRZEIT ณ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว (the Museum of Jewish Heritage)

           นิทรรศการ “Yahrzeit: September 11 Observed” หรือ “ครบรอบวันตาย: พินิจ 11กันยายน” เปิดฉากด้วยภาพถ่าย  2 ภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพขาวดำที่แสดงให้เห็นส่วนยอดของอาคารแฝด เวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์ ปรากฏอยู่บนพื้นหลังของภาพรูปทรงลักษณะเดียวกับหลังคาพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และอีกภาพหนึ่ง ภาพเล็กแสดงเหตุการณ์การไว้อาลัยของผู้คนที่จุดเทียนในท้องถนน เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์ 11กันยายน (ภาพที่ 1)



ภาพที่ 1  ภาพโดย Jake Price


          จริง ๆ แล้ว Yahrzeit คำภาษายิวหมายถึง “ช่วงปี” Yahrzeit เป็นคำสามัญที่ใช้ในกลุ่มยิวอาชกินาซี (Ashkenazi Jews) เพื่อบ่งถึงวาระครบรอบ 12 เดือนของการจากไป ตามประเพณีจะมีการสวดและการจุดเทียนซึ่งเรียกว่า “Yahrzeit Candle” (Heilman 2001:183) นอกเหนือจากการไว้อาลัย ประเด็นที่โดดเด่นของนิทรรศการ Yahrzeit คือ สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวที่ใกล้กับอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ภาพถ่าย ข้อความ และสิ่งจัดแสดงในนิทรรศการล้วนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารและเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาสะท้อนให้เห็นภาพโดยรวมของประสบการณ์ที่ชาวพิพิธภัณฑ์ประสบทั้งการสูญเสีย การให้ความช่วยเหลือ และการฟื้นสภาพภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน
 
          ด้วยการออกแบบของ เอมี่ ฟอร์แมน (Amy Forman) ซึ่งใช้ผนังดำเป็นพื้นของข้อความที่ปรากฏในนิทรรศการ และจัดแสดงคู่ไปกับภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงนิทรรศการ Yahrzeit ร่ำรายกลิ่นอายของห้องจัดแสดงเช่นเดียวกับ เทียนที่ส่องสว่าง เนื้อหาเล่าถ้อยความตามเหตุการณ์ลำดับเวลา นิทรรศการจึงเป็นดั่งการผจญภัยของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อย่างที่พวกเขาได้เห็นควันไฟและเศษวัตถุที่มาจากตึกแฝด ได้จ้องมองโศกนาฏกรรมที่มิอาจยับยั้งได้

          ภาพร่างชาวนิวยอร์กที่ฉาบเคลือบด้วยเถ้าผง เรื่องราวจึงกลายเป็นจุดเชื่อมในนิทรรศการระหว่างพิพิธภัณฑ์กับความเจ็บปวดของนครแห่งนี้ ตัวอย่างฉากแสดง อีกชุดหนึ่ง เป็นการแสดงหน้ากากอนามัยของแพทย์ที่ผู้ช่วยของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งใช้ในระหว่างให้ความช่วยเหลืออยู่ในฝุ่นผงและเศษซาก อีกฉากหนึ่งแสดงประสบการณ์เฉพาะบุคคล ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในระหว่างเหตุการณ์ 11 กันยายน ภาพถ่ายหนึ่งบอกเล่าถึงคนครัวชาวอิสราเอล ผู้เดินทางมานิวยอร์กเพื่อปรุงอาหารให้คณะทำงานช่วยเหลือ และหมวกหน่วยกู้ภัยจัดแสดง ณ กลางตู้ พร้อมทั้งรายละเอียดส่วนบุคคลที่กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าหน้าที่กู้ภัยชาวยิวที่ตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (ภาพที่ 2)



ภาพที่ 2 นิทรรศการ Yahrzeit สมุดบันทึกและหมวกหน่วยกู้ภัยให้ยืมจาก Michael Weiss and Alissa Weiss บุตรและธิดาของนักผจญเพลิง David Weiss หนึ่งในบรรดานักผจญเพลิง 343 คน และ เสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายน 2001 (ภาพโดย Jake Price)


หากพิจารณาแนวคิดการวางแบบนิทรรศการ Yahrzeit นักมานุษยวิทยาหลายท่าน และภัณฑารักษ์รับเชิญ จิล เวกซ์เลอร์ (Jill Vexler) ได้บันทึกไว้ว่า

          นิทรรศการไม่ใช่เพียงการนับย้อนเรื่องราวในฐานะประวัติศาสตร์สังคม ด้วยการจัดแสดงวัตถุต่างๆไม่ใช่เช่นนั้น… นิทรรศการ Yahrzeit กอปรด้วยแนวคิดรวบยอดและปรัชญา นอกจากนี้ ในบริบทของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยิว สิ่งที่บอกเล่าสัมพันธ์กับพื้นฐานของชีวิต การสูญเสีย การพินิจซ้ำ การตอบโต้ การกระทำ และการสร้างใหม่ (หรือตามรูปศัพท์ที่พิพิธภัณฑ์เรียกว่า “การฟื้นคืนชีวิต”) [2002:4-5]
         
         ฉะนั้น ตรรกะของความทรงจำจึงปรากฏในบริบทของการสอดประสานกับกุศโลบายของนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำลายยิวในยุโรป แล้วนำมาสู่ความสนใจวัฒนธรรมยิวในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สะท้อนในนิทรรศการ Yahrzeit จึงวางแนวคิดเหตุการณ์ 11กันยายน ในฐานะที่มีเนื้อหาใกล้กับวาทกรรมการระลึกถึงของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวในสามระดับ ได้แก่ สิ่งปรากฏ ต่อสายตา ประสบการณ์ และ วิญญาณ
         
        แนวคิดการรำลึกถึงในนิทรรศการนำเสนอบางสิ่งที่พ้องกับทัศน์ส่วนน้อยหรือทัศน์ทางเลือกของโศกนาฏกรรม แต่มิได้หมายความว่านิทรรศการสร้างเหตุการณ์ 11 กันยายน “แบบยิว“ และไม่ใช่การนำไปเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการไม่ได้นำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน ภายใต้มุมมองของ ทอม สตอปปาร์ด (Tom Stoppard) ) ของเฮมเลตในเรื่อง Rosencrantz and Guidenstern Are Dead? เรื่องราวที่คุ้นเคยจากมุมมองของคนเล็กๆ

 
นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติโอกลาโฮมา (the Oklahoma National Memorial Center)

          เช่นเดียวกับนิทรรศการ Yahrzeit นิทรรศการเคลื่อนที่เรื่อง “ประสบการณ์ร่วม จาก 04.19.95 ถึง 09.11.01” (A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01) ใช้แนวคิดของความใกล้ชิดกับเหตุการณ์ 11 กันยายน แม้จะมีวิธีในการถ่ายทอดเนื้อหาแตกต่างออกไป นิทรรศการมุมมองร่วม (A Shared Perspective) เปิดในวาระครบ 7 ปีของการพังทลายของตึก อัลเฟรด พี. มูรราห์ (Alfred M. Murrah Building)  ในโอกลาโฮมา ซิตี้ นิทรรศการเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขสภาพพื้นฐานที่เหมือนกันของวันแห่งความวินาศทั้ง 2 วัน แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองมีความแตกต่างในเรื่องของเวลา ที่ตั้ง และเหตุผลทางการเมือง นิทรรศการนำไปสู่สิ่งที่เหมือนกัน ในการจัดแสดงระหว่างภาพและสิ่งของจากเหตุการณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมของโศกนาฏกรรมทั้ง 2 เหตุการณ์ และเป้าหมายในการรำลึกถึงที่มีอยู่ร่วมกัน แนวคิดหลักโดยกว้างที่มีจุดร่วมปรากฏใน 5 ลักษณะ  คือ การก่อการร้ายเช่นเดียวกัน ความกล้าหาญที่เหมือนกัน การตอบสนองในทิศทางเดียวกัน ประสบการณ์และบทเรียนร่วมกัน จากที่กล่าวมา นิทรรศการพยายามนิยามเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้ภาษาและสัญลักษณ์ร่วมของความเจ็บปวดที่คนอเมริกันมีร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการโจมตี บนแผ่นดินใหญ่ เฉกเช่นเรื่องราวของวีรบุรุษในการกู้ภัย และการฟื้นฟูภายหลังการโจมตี วัตถุเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบบทเรียนทางศีลธรรมและจิตวิญญาณในการฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของประชาชนอเมริกัน

          ด้วยจุดสำคัญของลักษณะร่วมระหว่างอาคารมูรราห์ (The Murrah Building) และตึกแฝด (the Twin Towers) นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ดึงเหตุการณ์ 11 กันยายนสู่การฟื้นคืน เมื่ออาคารพังถล่มลงจากระเบิด ชุมชนหลายชุมชนรวมตัวขึ้น ดังนั้น การออกแบบนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เน้นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนจากการพังทลายของ สถาปัตยกรรมไปสู่การฟื้นคืนของชุมชน ดังเช่นฉากเปิดของนิทรรศการแสดงภาพถ่ายจากสถานที่เกิดเหตุ 4 แห่ง และการกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ฉากและสิ่งจัดแสดงแสดงภาพซ้ำๆ ของกองซากใกล้กับภาพของนักดับเพลิงกู้ภัยจากที่เกิดเหตุในโอกลาโฮมา และนิวยอร์ก ซิตี้ จุดแสดงนี้ ปรากฏหมวกของหน่วยกู้ภัย อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยในลักษณะที่ใส่ระหว่างปฏิบัติงานจริง (ภาพที่ 3)



ภาพที่ 3 นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม : 04.19.95 - 09.11.01” ฉากเปิดของนิทรรศการและส่วนการจัดแสดงกลางห้องนิทรรศการที่จัดแสดงหมวกกู้ภัยจากเมืองต่างๆ และลงนามผู้ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ (G. Jill Evans)
 

          จากนั้นมีฉากแสดงที่น่าหดหู่คือ พาหนะของหน่วยกู้ภัยที่บุบพัง ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ที่ถูกทำลายอยู่หน้าฉากผืนธงอเมริกันขนาดใหญ่ การไว้อาลัยขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นฉากรับวีดิทัศน์กล่าวถึงการไว้อาลัยในโอกลาโฮมา ซิตี้ และนิวยอร์ก

          ซึ่งจูงให้ผู้ชมเห็นความคล้ายคลึงของการแสดงออกหวน ให้ต่อเหตุการณ์ทั้งสองแห่งสื่อเพื่อการศึกษา “หนังสือพิมพ์เล็ก” แจกให้กับเยาวชนที่เข้ามาชมได้ตั้งคำถามต่อพวกเขา “อะไรคือความคล้ายคลึงที่เราพบเห็นได้อนุสรณ์ทั้งสองแห่งนี้… สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างไร” โศกนาฏกรรมนำไปสู่การกู้ภัยที่ไปสู่ร่วมบางประการ

          ถ้าหากพูดอีกนัยหนึ่ง ข้าวของที่มาจากเหตุการณ์ 11 กันยายนมิได้มีความหมายเฉพาะในนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ที่เชื่อมโยงกับสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ความคล้ายคลึงยังเป็นคุณค่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในโอกลาโอมา เหตุการณ์ 11  กันยายน มีความหมายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการสร้างชุมชนร่วมชาติ ซึ่งไม่ได้ย้ำเน้นเฉพาะความเจ็บปวด แต่ยังย้ำกระบวรการสร้างอารมณ์ร่วมของความเจ็บปวดร่วม

          เอดเวิร์ด ลิเนนธอล (Edward Linenthal) อธิบาย “กระบวนการตีคลุม” ในคำบรรยายของเขาเกี่ยวกับโอกลาโฮมา ซิตี้ (2001) การปลดปล่อยจากความเจ็บปวดของบุคคล ด้วยการสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างเหยื่อและผู้รอดชีวิต ภายใต้ความสัมพันธ์กับสถาบันอนุสรณ์สถานและพิธีการ สาธารณะ ดังนั้น การสร้างนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนทั้ง  3 แห่ง ที่เคลื่อนที่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์นำสารัตถะ ของ ศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา และการระเบิดในโอกลาโฮมา ซิตี้ไปสู่โศกนาฏกรรมระดับชาติ จุดเชื่อมที่ร่วมกันด้วยการ นำเสนอเอกสารเหตุการณ์ 11 กันยายน กับ “4/19” (หรือ เป็นวันที่เกิดระเบิดในโอกลาโอมา วันที่ 19 เมษายน 1995) ที่เชื่อมต่อกัน


หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้ (A Day of Reflection and remembrance) ณ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา (The United States Holocaust Memorial Museum)

          เริ่มต้นจากแนวคิดที่ใช้นิทรรศการเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกาลงเอย ด้วยการจัดทำรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ 11กันยายน  จำนวน  3,000 รายนาม และผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ได้อ่านด้วยการยืน หลังแท่น ประกาศไม้ใน “กำแพงแห่งพยาน” ของพิพิธภัณฑ์ ผู้คนจะเวียนมาเอ่ยนาม อายุ เมือง และสถานที่ของเหยื่อแต่ละคนอย่างเงียบเฉียบและต่อเนื่อง (ภาพที่ 4)



ภาพที่ 4 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ภาพแสดงพิธีเอ่ยนามผู้เสียชีวิตโดยผู้รอดชีวิต
จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาสาสมัคร Charlene Schiff (ภาพโดย Andy Hollinger)


          หลังจากที่อ่านซักระยะหนึ่ง คนอ่านถัดไปจะเวียนกันขึ้นมาที่แท่นประกาศไม้และอ่านต่อไป กิจกรรมดำเนินไปตลอด 4 ชั่วโมงและดึงดูดผู้ชมที่หลากหลาย ผู้คนที่ยืนห่างจากแท่นประกาศในระยะไกลใกล้ต่างกัน หรืออยู่บนม้านั่งใน บริเวณใกล้เคียง

          กิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้รูปแบบพิธีกรรม ของความทรงจำ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวแพร่หลายอย่างมากในธรรมเนียมการรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและการหวนให้” ต่างไปจากรูปแบบพิธีการอ่านรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั่วไป เพราะการลำดับนามไม่ได้เป็นไปตามโครงสร้างแต่เป็นเนื้อหา นั่นคือ จากเหตุการณ์ 11 กันยายน ชื่อของเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกแทนที่ด้วยเหยื่อจากนิยอร์ก เวอร์จิเนีย และเพนซิลเวเนีย หากปราศจากความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการไว้อาลัยเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว คงเป็นการยากที่จะแยกวาระเฉพาะนี้จากพิธีการไว้อาลัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
 
          นวตกรรมสำคัญใน “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” เป็นการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ด้วยการเลือก ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และไม่ใช่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายน กรอบความทรงจำของเหยื่อ 11 กันยายนสร้างผ่านแนวคิดหลัก 2 ประการคือ “ผู้รอดชีวิต” และ “ความทรงจำ” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้อีกต่อไป ส่วนผู้รอดชีวิตการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ได้รับบทเรียนศีลธรรมที่มากกว่าเกี่ยวกับเหยื่อสภาพจากสถาบันต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา

         เลขาธิการสภาบริหารพิพิธภัณฑ์ เฟรด ไซด์แมน (Fred Zeidman) ให้ความเห็นต่อความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไหวระหว่างเหยื่อและผู้เหลือรอดที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์

          “ความยอกย้อนในการพินิจมองผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมยิ่งใหญ่ของศตวรรษนี้ ด้วยการเอ่ยรายนามของพวกเขาเหล่านั้น ผู้ที่มิอาจรอดพ้นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้… ของศตวรรษที่กำลังมาถึง… ทำให้ข้าพเจ้าย้อนนึกถึงสิ่งที่พวกเราทำที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เหตุใดพวกเราจึงรวมตัว ณ ที่นี้ และสิ่งใดเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเรา พวกเราทั้งหมดคือผู้ที่เหลือรอด และภารกิจหนึ่งที่พวกเราต้องปฏิบัติประจำ คือต้องพึงระลึกว่าสิ่งชั่วร้ายใดที่สามารถเกิดกับเราได้บ้างในทุกเมื่อเชื่อวัน [พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2002]”

          ในกระบวนพิธี ผู้ที่รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่สร้างความเข้าอกเข้าใจและความเป็นจริงต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน นั่นคือการอาศัยเงื่อนไขสภาพ (habitus) ของการระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ การกล่าวถึงเหยื่อจากโศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้เหตุการณ์ 11 กันยายนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จัดอยู่ในโศกนาฏกรรมโลกประเภทเดียวกัน แม้จะเป็นสัญลักษณ์ต่างศตวรรษกัน

          ขบวนการการสร้างความชอบธรรมของการระลึกถึงที่เกิดในพิธี “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ด้วยการเปล่งถ้อยนามของเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผลักให้เหตุการณ์ 11 กันยายนเข้าอยู่ในกระบวนการจัดแบ่งประเภทการทำลายล้างชาวยิวในยุโรป ว่าเป็นโศกนาฏกรรมหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งที่ร่วมในพิธี “วันแห่งการหวนให้” กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความภูมิใจที่เป็นพลเมืองอเมริกา” พวกเราสามารถ มั่นใจได้ว่า ในอนาคตจะไม่มีการข่มเหงทรมานใดเกิดขึ้นในโลกและในประเทศที่สวยงามของเรา ขอพระเจ้าอำนวยพรให้อเมริกา” (พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา 2002)
 

ความเป็นไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ในงานวัฒนธรรม

          ในเวลา 2 ปีจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 สภาพประสบการณ์เปลี่ยนจากสถานะแห่งความหายนะสู่สื่อโทรทัศน์ และส่งผลต่อเหตุการณ์การรำลึกถึงที่จัดในพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันทิศทางในอนาคตของกิจกรรมการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวไม่มีแผนงานสร้างนิทรรศการเช่น Yahrzeit แม้ว่าพิพิธภัณฑ์มองการจัดแสดงป้ายสลักพร้อมจุดเทียนเป็นกิจกรรมการรำลึกในแต่ละปี เมื่อพิจารณากรณีนิทรรศการเคลื่อนที่ “ประสบการณ์ร่วม” พิพิธภัณฑ์ไม่มีแนวโน้มที่จะจัดแสดงในศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา ซิตี้ อีกครั้ง นอกจากว่าพิพิธภัณฑ์ใดสนใจสามารถยืมนิทรรศการดังกล่าวไปจัดแสดง เช่นเดียวกับการ จัดกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ก็ไม่ได้มีแผนอย่างเป็นทางการที่จะกำหนดเหตุการณ์ 11 กันยายน บนปฏิทินการรำลึกของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา

          อย่างที่ได้เห็นกันในกรณีโศกนาฏกรรมอื่นและจุดเปลี่ยนในความเป็นไปในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ 11 กันยายน ยังถูกทำให้เป็นสินค้าในตลาดในฐานะของชิ้นงานมรดกและสินค้าวัฒนธรรม (Kirshenblatt-Gimblett 1998:177) มานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นการวิพากษ์วัฒนธรรมสามารถปรับใช้มุมมองทั้งวิชาการทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ตอบต่อ ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้ในการปรับเปลี่ยนโศกนาฏกรรมสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง (Marcus and Fisher 1986) แม้ว่านักมานุษยวิทยามุ่งประเด็นไปที่เศรษฐศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับโศกนาฏกรรม 11 กันยายน แต่ควรให้ความสนใจวิพากษ์เชิงชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางสังคมของเหตุการณ์ 11 กันยายนในลักษณะที่เกิดขึ้นมาเช่นกัน มานุษยวิทยาของเหตุการณ์ 11 กันยายนจะเป็นชาติพันธุ์วรรณนาของพิพิธภัณฑ์ ด้วยระยะเวลาที่ห่างจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์มากขึ้น ชั้นการวิเคราะห์ของทฤษฎีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประเด็นการวิพากษ์เริ่มต้นจากความกดดันระหว่างตรรกะเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเหตุการณ์  11 กันยายน เช่นที่เกิดในภาพยนตร์สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” และขยายออกสู่ตรรกะของการจัดแสดง ซึ่งพินิจความทรงจำเป็นเช่นละครสังคมที่เกิดขึ้นในบริบทของสถาบันและวัฒนธรรม อย่างที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างงานวัฒนธรรมมาทั้งหมดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน งานสะสมและการอนุรักษ์สร้างชุดความทรงจำด้วยความบังเอิญและแนวคิดที่ก่อร่างจากเรื่องราวที่อาศัยความใกล้ชิด การเอ่ยนาม และการช่วยชีวิต

          สิ่งที่ตรงข้ามกับการนำเสนอที่ตีตราของทฤษฎีวิจารณ์ ซึ่ง “อดีตในฐานะที่ก่อร่างพิพิธภัณฑสถาน… ย่อมเป็นผลิตผลของปัจจุบันที่สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (Bennett 1995:129) ชาติพันธุ์วรรณนาของเหตุการณ์ 11 กันยายนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่คลุมเครือระหว่างอดีต ปัจจุบัน และภาพแทนของอดีต ในกรณี Yahrzeit การปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์และทางการสร้างประวัติศาสตร์ของการสร้างความหมายแสงเทียนในพิธีกรรมชาวยิว ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของเหตุการณ์ 11 กันยายน อันถือเป็นการนำเสนอภาพของกราวด์ ซีโร่ เสมือนเป็นการจัดที่ทางของพิธีกรรมชาวยิวในวัฒนธรรมอเมริกาหันมาพิจารณานิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งภาพและเศษซากจากเหตุการณ์ 11 กันยายนย้ำเน้นบทเรียนหัวใจของการช่วยเหลือและการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันทางสังคมอีกครั้งในโอกลาโฮมา และอีกเช่นกันในกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการ ทบทวนและหวนให้” ที่เป็นการเอ่ยนามผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นพิธีการที่แสดงออกด้วยผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ละกรณีมีสิ่งที่ร่วมกันคือ การไม่สามารถแบ่งแยกการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมหนึ่งจากการอ้างอิงถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง และการใช้ความชอบธรรมชุดภาพแทนหนึ่งส่งอิทธิพลต่ออีกชุดหนึ่ง (the hegemony of one set of representational practices over another)

          สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ กิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่ใช่เพียงการรำลึกถึง โศกนาฏกรรม หากเป็นการจัดตั้งชุด “กฎ” การรำลึกถึงอย่างเป็นพื้นฐานและอย่างเป็นหลักใหญ่ (Bourdieu 1972:22) ความหลากหลายของแนวทางการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนยังเป็นเพียงลักษณะชาติพันธุ์วรรณนาขั้นต้น ของเหตุการณ์ 11 กันยายนในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม นอกจากนี้ ขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยายนสร้างพันธะหน้าที่การรำลึกทั้งเก่าและใหม่ แต่ทำให้เกิดการสั่นคลอนของภูมิทัศน์ความทรงจำ กิจกรรมการระลึกทั้งหมดในขณะนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 11 กันยายน และพลวัตทั้งหมดนี้เริ่มสร้างความหมาย ความหลากหลายในการรำลึกถึงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นไปในลักษณะใดและอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด นี่เองที่เป็นคำถามของงานชาติพันธุ์วิทยาในอนาคต ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ในฐานะสิ่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ยังคงมีบทบาทจัดกิจกรรมการรำลึกถึงในบริบททางสังคม และเป็นพื้นที่ที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทฤษฎีทางมานุษยวิทยา


บันทึก
         
        กิตติกรรมประกาศ – ผู้เขียนขอขอบคุณพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว อนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา และศูนย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โอกลาโฮมา ซิตี้ สำหรับความร่วมมือในการวิจัย และการเขียนบทความ ข้าพเจ้าขอขอบคุณบุคคลต่างๆ ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ Ivy Barsky, Andy Hollingger, Julie Joseph, Debora Hoehne, Joanne Riley, Abby Spilka, Jeremy Thorn และ Jill Vexler ข้าพเจ้าขอขอบคุณ Richard Handler สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับทฤษฎี Sapir และการทบทวนร่างบทความ ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออ้างถึงนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการสัมมนาของข้าพเจ้า “มรดกและความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” (New York University, fall 2002) ที่วิเคราะห์มองสัมพันธภาพระหว่างพิพิธภัณฑ์และเหตุการณ์ 11 กันยายนที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ใน การเขียนบทความชิ้นนี้


เอกสาร/หนังสืออ้างอิง

Bennett, Tony
1995 The Birth of the Museum: History, Theory, Politics. London: Routledge.

Bourdieu, Pierre
1977 Outline of a Theory of Practice. Cambridge: Cambridge University Press.

Halbwachs, Maurice
1980 The Collective Memory. New York: Harper and Row.

Heilman, Samuel C.
2001 When a Jew Dies. Berkeley: University of California Press.

Kirshenblatt-Gimblett, Barbara
1998 Destination Culture: Tourism, Museums and Heritage. Berkeley: University of California Press.
Linenthal, Edward T.

2001 The Unfinished Bombing: Oklahoma City in America Memory. New York: Oxford University Press.

Relic from the Rubble
2002 Narrated by Josh Binswanger. This Week in History. 50 min. The History Channel, September 3 (video recording).

United States Holocaust Memorial Museum
2002 Holocaust Survivors Read the Names of Those Who Died in the Terrorist Attacks on September 11, 2001. Electronic document, http:/www.ushmm.gov/museum/exhibit/focus/911_02, accessed May 1, 2003.

Marcus, George E. and Michael M. J. Fisher
1986 Anthropology as Cultural Critique: an Experimental Moment in the Human Sciences. Chicago: University of Chicago Press.

Sapir, Edward
1921 Language: An Introduction to the Study of Speech. San Diego: Harcourt Brace and Company.

Vexler, Jill
2002 Guest Curator’s Essay. 18 First Place: Museum of Jewish Heritage Quarterly Magazine. Fall: 4 – 5.

Young, James E.
1993 The Texture of Memory. New Haven, CT: Yale University Press.

Zelier, Barbie
1998 Remembering to Forget: Holocaust Memory through the Camera’s Eye. Chicago: University of Chicago Press.
 

แปลและเรียบเรียงจาก

Feldman, Jeffrey D. (New York University), “One tragedy in Reference to Another: September 11 and the Obligations of Museum Commemoration”, American Anthropologist 105 (4): 839 - 843.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 30 มีนาคม 2558
วันที่แก้ไข: 30 มีนาคม 2558