จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 2

จารึก

จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 2

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2566 15:14:50 )

ชื่อจารึก

จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 2

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกเมืองทัพชุมพล 2, ลบ. 26

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 14-15

ภาษา

บาลี, มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผา

ลักษณะวัตถุ

รูปสถูป

ขนาดวัตถุ

สูง 26 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 26”
2) ในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง กำหนดเป็น “จารึกเมืองทัพชุมพล 2”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 2”

ปีที่พบจารึก

มีนาคม พ.ศ. 2524

สถานที่พบ

เมืองทัพชุมพล บ้านทัพชุมพล ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ผู้พบ

นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 38-40.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 244-246.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 74-77.

ประวัติ

เมืองทัพชุมพล เป็นเมืองโบราณที่อยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี ราวปี พ.ศ. 2504 ได้มีการขุดพบพระพิมพ์และสถูปจำลองเป็นจำนวนมาก พระพิมพ์ที่พบโดยมากทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับตรงกลาง และมีพระโพธิสัตว์ประทับยืนด้านข้าง ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะทวารวดี ส่วนสถูปดินเผานั้น พบมากกว่า 100 องค์ ต่อมาราว พ.ศ. 2524 ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สำรวจพื้นที่จึงทราบว่ามีสถูปดินเผา 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละองค์มีจารึกปรากฏอยู่ ได้ตกมาเป็นสมบัติของนายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย จึงขอทำสำเนาจารึกเพื่อส่งไปให้นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติอ่าน-แปล และเรียกจารึกทั้ง 2 หลักนี้ว่า “จารึกเมืองทัพชุมพล 1 (นว. 7)” และ “จารึกเมืองทัพชุมพล 2 (ลบ. 26)” จากนั้น จึงนำคำอ่าน-แปลไปตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง ในปีเดียวกันนั้น ต่อมา ปี พ.ศ. 2529 หอสมุดแห่งชาติได้ตีพิมพ์ “จารึกเมืองทัพชุมพล 1 (นว. 7)” ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 ส่วน “จารึกเมืองทัพชุมพล 2 (ลบ. 26)” ก็นำไปตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 โดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 1 และ 2 ตามลำดับ

เนื้อหาโดยสังเขป

จารึกชิ้นนี้ เป็นจารึกบนสถูป อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายวัด โดยมีการจารึกคาถาเยธมฺมาฯ และ คำอุทิศการทำบุญครั้งนี้ด้วยภาษามอญโบราณ ลงบนตัวสถูปดินเผาเพื่อให้ได้บุญ (โปรดดูเนื้อหาของคาถาเยธมฺมาฯ ใน “จารึกเยธมฺมาฯ 1 (นครปฐม)” หรือ “จารึกเสาแปดเหลี่ยม 1 (ซับจำปา)”) ส่วนคำจารึกภาษามอญโบราณนั้น ไม่ชัดเจนลบเลือนไปมาก อ่านได้เพียงคำว่า “ปุณ” และ “วิหาร” เท่านั้น แต่เนื่องจากมีสถูปดินเผาอีกองค์ คือจารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 1 (นว. 1) ซึ่งพบที่เดียวกัน มีข้อความสมบูรณ์ จึงทราบได้ว่า สถูปดินเผาทั้ง 2 องค์นี้ มีข้อความเหมือนกันทุกประการ

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

รูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) เทิม มีเต็ม และแย้ม ประพัฒน์ทอง, “จารึกเมืองทัพชุมพล 2,” ใน จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 38-40.
2) เทิม มีเต็ม และแย้ม ประพัฒน์ทอง, “จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 2,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 244-246.
3) เทิม มีเต็ม จำปา เยื้องเจริญ และแย้ม ประพัฒน์ทอง, “จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล 2,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรมอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559), 74-77.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)