จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images
  • images
  • images

จารึกหินขอน 1

จารึก

จารึกหินขอน 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2566 14:21:29 )

ชื่อจารึก

จารึกหินขอน 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นม.28, K.388, de Hĭn K‘ôn (K. 388), หลักที่ 121 จารึก 2 หลักบนเสาที่หินขอน อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 13-14

ภาษา

สันสกฤต, เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 4 ด้าน มี 69 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 13 บรรทัด, ด้านที่ 2 มี 19 บรรทัด, ด้านที่ 3 มี 19 บรรทัด, และด้านที่ 4 มี 18 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

เสาสี่เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 40 ซม. สูง 100 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นม. 28”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VI กำหนดเป็น “Piliers de Hĭn K‘ôn (K. 388)”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดเป็น “หลักที่ 121 จารึก 2 หลักบนเสาที่หินขอน อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกหินขอน 1”

ปีที่พบจารึก

มีนาคม พ.ศ. 2480

สถานที่พบ

บ้านหินขอน (ไม่ทราบว่าหมายถึงที่ไหนในปัจจุบัน) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ผู้พบ

ยอร์ช เซเดส์

ปัจจุบันอยู่ที่

บ้านหินขอน (ไม่ทราบว่าหมายถึงที่ไหนในปัจจุบัน) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ไม่ปรากฏหลักฐาน (วันที่ 11 มีนาคม 2563)

พิมพ์เผยแพร่

1) Inscriptions du Cambodge vol. VI (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1954), 73-79.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 241-252.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 251-262.

ประวัติ

ศิลาจารึกหินขอนเป็นจารึกบนเสาสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ในบริเวณโบราณสถานบ้านหินขอน อำเภอปักธงชัย (ไม่ทราบว่าหมายถึงที่ไหนในปัจจุบัน) จังหวัดนครราชสีมา โบราณสถานแห่งนี้น่าจะเป็นพุทธสถาน มีเสาศิลาตั้งคู่กันเป็นใบเสมา บางเสามีภาพจำหลักรูปเจดีย์ บางเสามีจารึก โดยเฉพาะจารึกที่เสานั้น มีอยู่ 2 หลักที่อ่านและแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส โดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ตีพิมพ์ในหนังสือชุด Inscriptions du Cambodge vol. VI โดยกำหนดจารึกทั้ง 2 หลักเป็น “Piliers de Hĭn K‘ôn (K. 388 และ K. 389)” ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทูลเชิญ ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปลเอกสารชิ้นดังกล่าวเป็นภาษาไทย และนำไปตีพิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 ต่อมา ปี พ.ศ. 2529 หอสมุดแห่งชาติ ได้นำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในหนังสือชุด จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 โดย ใช้ชื่อว่า “จารึกหินขอน 1 (นม. 28)” และ “จารึกหินขอน 2 (นม. 31)”

เนื้อหาโดยสังเขป

ศ. ยอร์ช เซเดส์ อธิบายไว้ว่า จารึกภาษาสันสกฤตด้านที่ 1 และ 2 นั้น เป็นของนักพรต ซึ่งมีตำแหน่งเป็นราชภิกษุ ท่านได้สร้างใบเสมาศิลาขึ้น 4 แผ่น ซึ่งคงรวมเสาหินที่มีจารึกและภาพสลักเหล่านี้ไว้ด้วย และยังได้สร้างวิหาร ซึ่งท่านได้บริจาคสิ่งของเป็นอันมาก เราจะเห็นได้ว่า ท่านราชภิกษุ ผู้นี้คือ เจ้าชายซึ่งได้ออกผนวช จารึกบทอื่นๆ คงมีแต่การสาปแช่ง ส่วนข้อความภาษาเขมรนั้น ชำรุดไปมาก ท่านราชภิกษุผู้นี้ มีสมญาว่า “อุปธยายะ” และสถานที่ตั้งศาสนสถานของท่านซึ่งคงเป็นหินขอนนี้เอง ก็มีนามว่า “เสฺราพฺรา” หรือ “สฺโรพฺรา” ซึ่งในอีกจารึกหนึ่ง เรียกว่า “สฺโรพฺราอะ” จารึกด้านที่ 2 จบลงด้วยการเริ่มต้นบัญชีสิ่งที่บริจาค ซึ่งมีต่อไปในด้านที่ 3 ส่วนจารึกด้านที่ 4 นั้นแจ้งให้เราทราบว่า ท่านราชภิกษุนี้เป็นเจ้า (หรือพระเจ้า) นฤเปนทราธิปติวรมัน โอรสของผู้สูงศักดิ์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระนามคล้ายคลึงกัน ทั้งสององค์คงเป็นเจ้านายในราชวงศ์พื้นเมือง ต่อจากนั้น จารึกก็กล่าวถึง กำหนดเขตของพื้นที่ ซึ่งอาจมีชื่อว่า “สฺตุกสฺวาย” และการบริจาคที่ดินแห่งนี้ ก็คงจะจารึกอยู่ในบทก่อนหน้านั้น

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

รูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) G. Cœdès, “Piliers de Hĭn K‘ôn (K. 388, 389),” in Inscriptions du Cambodge vol. VI (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1954), 73-79.
2) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกหินขอน 1,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 251-262.
3) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 121-122 จารึก 2 หลักบนเสาที่หินขอน อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และฉ่ำ ทองคำวรรณ, จาก Piliers de Hĭn K‘ôn (K. 388, 389), ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 241-252.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)