จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปกาไหล่ทอง วัดนิเวศธรรมประวัติ

จารึก

จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปกาไหล่ทอง วัดนิเวศธรรมประวัติ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 22:03:33 )

ชื่อจารึก

จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปกาไหล่ทอง วัดนิเวศธรรมประวัติ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

อย. 71, หลักที่ 182 จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปปางสมาธิ กาไหล่ทอง

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2430

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 11 บรรทัด

วัตถุจารึก

ทองคำ

ลักษณะวัตถุ

ฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ (บนผ้าทิพย์ = ผ้าห้อยหน้าตักพระพุทธรูป)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 12 ซม. สูง 10 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “อย. 71”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 182 จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปปางสมาธิ กาไหล่ทอง”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑ์วัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สำรวจ 22-24 กุมภาพันธ์ 2565)

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517), 97.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ นายประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่าน โดยมีการตีพิมพ์ลงใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 ในพ.ศ. 2517 โดยเรียกว่า “หลักที่ 182 จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปปางสมาธิ กาไหล่ทอง” ปัจจุบันอยู่ในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน ร. 5 โปรดให้สร้างพระอุโบสถตามแบบโบสถ์คริสต์ ในศิลปะโกธิค (Gothic) ยุคกลางของยุโรป ประตู,หน้าต่างประดับด้วยกระจกสี เหนือประตูพระอุโบสถมีพระบรมรูป ร. 5 ทรงเครื่องต้นทำจากกระจกสีเช่นเดียวกัน ส่วนพระประธานเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” วัดแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2421 ร.5 โปรดให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย การสถาปนาพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระราชโอรส - ธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดแห่งนี้ เคยมีมาก่อนนี้แล้ว คือ ใน พ.ศ. 2422 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ได้สวรรคตลงเมื่อพระชนมายุเพียง 21 วัน ร. 5 และพระราชเทวีจึงโปรดให้สถาปนาพระพุทธรูปขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้จาก “จารึกที่ฐานพระพุทธรูป วัดนิเวศธรรมประวัติ”)

เนื้อหาโดยสังเขป

พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) และพระราชเทวี ทรงสถาปนาพระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระราชธิดา

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) แห่งราชวงศ์จักรี

การกำหนดอายุ

กำหนดจากศักราชที่ปรากฏในบรรทัดแรกของจารึกว่า “ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล ล่วงแล้ว 2430 พรรษา?” คือ พ.ศ. 2430 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) แห่งราชวงศ์จักรี (ครองราชย์ พ.ศ. 2411-2453)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
1) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ, อยุธยา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2546).
2) ประสาร บุญประคอง, "หลักที่ 182 จารึกบนผ้าทิพย์พระพุทธรูปปางสมาธิ กาไหล่ทอง," ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 : ประมวลจารึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517), 97.
3) สมคิด จิระทัศนกุล, วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537).
4) สมบัติ จำปาเงิน, รัชกาลที่ 5 : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช (กรุงเทพฯ : 2020 เวิลด์ มีเดีย จำกัด, [2541]).

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 26-28 มิถุนายน 2550