จารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว

จารึก

จารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 09:50:50 )

ชื่อจารึก

จารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2333

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 8 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินชนวนสีดำ

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 51 ซม. สูง 18 ซม. หนา 1 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ธบ. 10 จารึกศาลด้านหน้าพระอุโบสถวัดอรุณ"
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 133 ศิลาจารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดอรุณราชวราราม แขวงวัดอรุณ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ศาลาเล็ก บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แขวงวัดอรุณ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517), 11-12.

ประวัติ

ศิลาจารึกนี้อยู่บริเวณฐานรูปนายเรือง ซึ่งเป็นประติมากรรมสลักจากหิน ตั้งอยู่ในศาลาเล็ก บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม นายประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่าน โดยมีการตีพิมพ์ลงใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 ใน พ.ศ. 2517 โดยเรียกว่า “หลักที่ 133 ศิลาจารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว” ข้อความในจารึกนี้นอกจากจะปรากฏบนฐานดังกล่าว แล้ว ก็ยังมีอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เช่น จดหมายเหตุรัชกาลที่ 1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีเนื้อความเดียวกัน แตกต่างกันเพียงรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ระบุชื่อว่า “นายบุญเรือง” อนึ่ง ในที่นี้ได้นำข้อความในฉบับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมาลงไว้ด้วย เนื่องจากมีการกล่าวถึงความเชื่อเรื่องการสละชีวิตเป็นทาน ในสมัยดังกล่าว โดยกล่าวถึงนายนกซึ่งเผาตัวตายในสมัย ร. 2 และกล่าวย้อนถึงนายเรืองในสมัย ร. 1 ดังนี้ “นายนกเผาตัวตายที่วัดอรุณ เป็นการเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัย การที่คนมีความเลื่อมใสในศาสนาแก่กล้า จนถึงสละชีวิตตน ด้วยเข้าใจว่าจะแลกเอามรรคผลในทางศาสนานั้น มีทุกลัทธิศาสนา แม้มีสิกขาบทห้ามในพระวินัย ก็ยังมีหนังสืออื่นที่โบราณาจารย์แต่งยกย่องการสละชีวิตให้เป็นทาน เพื่อแลกเอาประโยชน์พระโพธิญาณ จึงทำให้คนแต่ก่อนโดยมากมีความนิยมว่า การสละชีวิตเช่นนั้น เป็นความประพฤติชอบ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อในรัชกาลที่ 1 มีนายเรืองคน 1 ได้เผาตัวเองเช่นนายนก ได้ทำรูปไว้ที่วัดอรุณทั้งนายเรืองแลนายนก แลมีศิลาจารึก ไว้ดังนี้….”

เนื้อหาโดยสังเขป

พ.ศ. 2333 นายเรืองเผาตัวตายที่วัดอรุณราชธาราม เพราะเชื่อว่าตนจะสำเร็จโพธิญาณ โดยก่อนหน้านั้นนายเรืองกับเพื่อน 2 คน ได้เสี่ยงทายโดยใช้ดอกบัวอ่อน หากของใครบานแสดงว่าจะสำเร็จโพธิญาณ ปรากฏว่ารุ่งเช้าดอกบัวของนายเรืองบาน ตั้งแต่นั้นจึงมาถือศีล ฟังธรรมอยู่ที่ศาลาการเปรียญเก่า โดยจุดไฟที่แขนทั้ง 2 ข้างทุกวัน จนถึงวันเกิดเหตุ นายเรืองฟังเทศนาจบก็นุ่งผ้าชุบน้ำมันแล้วเผาตัวตาย ชาวบ้านช่วยกันยกศพไปเผา แล้วเก็บอัฐิไว้ที่ศาลาการเปรียญเก่า วัดอรุณราชธาราม

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดจากศักราชที่ปรากฏในบรรทัดแรกของจารึกว่า "..จุลศักราช 1152 ปีจอโทศก… " ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2333 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร. 1) แห่งราชวงศ์จักรี (ครองราชย์ พ.ศ. 2325-2352)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
1) ประสาร บุญประคอง, “หลักที่ 133 ศิลาจารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 : ประมวลจารึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517), 11-12.
2) สมคิด จิระทัศนะกุล, วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537), 184-189.
3) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2533), 212-213.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517)