จารึกถ้ำฤๅษีเขางูเมืองราชบุรี

จารึก

จารึกถ้ำฤๅษีเขางูเมืองราชบุรี

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 10:53:51 )

ชื่อจารึก

จารึกถ้ำฤๅษีเขางูเมืองราชบุรี

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 22 จารึกถ้ำฤๅษีเขางูเมืองราชบุรี, จารึกที่ 22 จารึกในถ้ำฤษี เขางู จังหวัดราชบุรี, รบ. 1

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

ฐานพระพุทธรูป

ขนาดวัตถุ

กว้าง 47 ซม. สูง 26 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “รบ. 1”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 22 จารึกถ้ำฤๅษีเขางูเมืองราชบุรี”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “จารึกที่ 22 จารึกในถ้ำฤษี เขางู จังหวัดราชบุรี”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกถ้ำฤๅษีเขางูเมืองราชบุรี”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ถ้ำฤๅษีเขางู วัดเขางู ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ถ้ำฤๅษีเขางู วัดเขางู ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472), 35.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504), 20.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 68-71.

ประวัติ

เขางู ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดราชบุรีห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร เมื่อขึ้นเขาไปได้ครึ่งทางก็จะพบถ้ำซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำฤๅษี” บริเวณปากถ้ำมีพระพุทธรูปใหญ่จำหลักอยู่บนหน้าผาเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท มีความสูงราว 2.50 เมตร พระหัตถ์ขวาแสดงปางปฐมเทศนา พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลา ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกอักษร 12 ตัว ลักษณะรูปอักษรเหมือนรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 เขางูนี้ พันตรี เดอ ลาช็องกีแอร์ ได้เคยสำรวจและพรรณนารายละเอียดตีพิมพ์ลงในวารสาร Bulletin de la Commission Archéologique de l’Indochine (BCAI) เมื่อ ค.ศ. 1912 หน้า 117 แต่ท่านไม่ได้สังเกตเห็นว่า ใต้ฐานของพระพุทธรูปมีตัวอักษรปัลลวะจารึกอยู่ ต่อมาในคราวที่มีการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ แลเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย” ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านจารึกหลักนี้ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 แต่ท่านไม่ได้แปลและอธิบาย มีแต่เพียงคำอ่านเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 จึงมีการชำระ โดยเพิ่มเติมคำแปลและคำอธิบายเพื่อตีพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 ใน “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้” ต่อมา กองหอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์หนังสือชุด จารึกในประเทศไทย ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ในครั้งนี้ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้ทำการอ่านและอธิบายคำในจารึกหลักนี้ใหม่อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการอ่านของนายชะเอม แก้วคล้าย ประมาณ 10 ปี คือในปีพุทธศักราช 2519 ได้มีคนมาลักลอบจารึกข้อความต่อเติมคำจารึกเดิมนั้นด้วยอักษรไทยปัจจุบัน แต่ประดิษฐ์ให้พิสดาร แปลงเส้นและตัวอักษรให้ดูแปลกเหมือนเป็นจารึกโบราณ คือเพิ่มคำว่า “ชื่อ” ที่หน้าอักษรจารึกของเก่าและเพิ่มคำว่า “พุทธพัสสา 44” เป็นบรรทัดที่ 2 ต่อจากอักษรจารึกของเดิม ทำให้จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี เปลี่ยนสภาพไป

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นจารึกที่อาจเป็นการบอกชื่อของผู้สร้างพระพุทธรูป ในที่นี้คือ ฤษีสมาธิคุปตะ หรือ พระศรีสมาธิคุปตะ ว่าเป็น ผู้บริสุทธิ์ ด้วยการทำบุญ

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ คือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “วิสามัญนามข้างปลายว่า “คุปฺตะ” เช่น “สมาธิคุปฺตะ” นี้ เคยใช้กันในสมัยราชวงศ์คุปตะรุ่งเรืองในประเทศอินเดียเป็นอันมาก ภายหลังในสมัยตรงกับสมัยขอมมีอำนาจในประเทศนี้ นามเหล่านั้นไม่ใคร่ได้ใช้เลย ถ้าฉะนั้นแล้วพระพุทธรูปที่สลักบนฝาผนังถ้ำฤๅษี คงจะเป็นฝีมือครั้งกรุงทวารวดี คือตรงกับสมัยราชวงศ์คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-13) ในประเทศอินเดีย หรือ ภายหลังราชวงศ์คุปตะไม่สู้นานนัก”

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 68-71.
2) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 22 จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี,” ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย ([กรุงเทพฯ] : โรงพิมพ์พิพรรฒนากร, 2472), 35.
3) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกที่ 22 จารึกในถ้ำฤษี เขางู,” ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 20.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-19, ไฟล์; RB_001)