จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ

จารึก

จารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 17:26:33 )

ชื่อจารึก

จารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หลักที่ 41 จารึกลานเงินภาษาไทยวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, อย. 9

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศตวรรษ 20

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 7 บรรทัด

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะเดียวกับใบลาน

ขนาดวัตถุ

กว้าง 6 ซม. ยาว 40 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น "อย. 9"
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2501) กำหนดเป็น "จารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา"
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น "หลักที่ 41 จารึกลานเงินภาษาไทยวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา"

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2500

สถานที่พบ

กรุฐานพระปรางค์วัดมหาธาตุ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้พบ

กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สำรวจเมื่อ 22-24 กุมภาพันธ์ 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2501) : 53-55.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 47-50.

ประวัติ

จารึกลานเงินแผ่นนี้ถูกพบเมื่อ พ.ศ. 2500 จากการขุดค้นกรุฐานพระปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพร้อมกับโบราณวัตถุอีกหลายอย่าง ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบแก้วผลึกสีม่วงซึ่งมีทองคำหุ้มประกอบ พระพุทธรูป พระพิมพ์ และของมีค่าจำนวนมาก รวมไปถึงจารึกแผ่นดีบุก (อย. 2) และจารึกลานเงินอีกแผ่นหนึ่งซึ่งเป็นอักษรขอมภาษาบาลี รวมแล้วในกรุพระปรางค์แห่งนี้มีการพบจารึกจำนวน 3 แผ่น ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ การขุดค้นครั้งดังกล่าวมีนาย กฤษณ์ อิทโกสัย รองอธิบดี กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมทั้งการขุดค้น ขุดแต่งและบูรณะ คำอ่านจารึกลานเงินแผ่นนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ 2 เล่มที่ 3 (กันยายน, 2501) โดยเรียกว่า “จารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ต่อมาใน พ.ศ. 2508 ตีพิมพ์ลงในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 ซึ่งให้ชื่อว่า “หลักที่ 41 จารึกลานเงินภาษาไทยวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยทั้ง 2 ครั้ง มีฉ่ำ ทองวรรณเป็นผู้อ่านและอธิบาย อนึ่ง วัดมหาธาตุซึ่งเป็นสถานที่พบจารึกนั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเมื่อ พ.ศ. 1917 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครองราชย์ พ.ศ. 1913-1931) แต่คาดว่าการก่อสร้างคงสำเร็จในสมัยพระราเมศวร (ในการครองราชย์ครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 1931-1938) ถือเป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งเพราะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จสังฆราชฝ่ายคามวาสี วัดดังกล่าวได้รับการบูรณะหลายครั้ง เช่นในสมัยเจ้าสามพระยา(ครองราชย์ พ.ศ. 1967-1991) และสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2172-2199) ซึ่งได้บูรณะปรางค์ประธานที่ทลายลงมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ. 2153-2171) วัดมหาธาตุร้างไปภายหลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 จนกระทั่งปรางค์ประธานพังลงมาอีกครั้งในสมัย รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เนื้อหาโดยสังเขป

ขุนศรีรัตนากรและครอบครัวได้ร่วมกันสร้างพระพิมพ์ขึ้นจำนวน 76,152 องค์ โดยถวายอานิสงส์แด่พระรามาธิบดี พระศรีราชาธิราช ญาติพี่น้อง โยมอุปัฏฐาก พระสงฆ์และนักธรรมทั้งหลายให้ไปสู่นิพพาน ส่วนตน (ขุนศรีรัตนากร) ขอไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต และได้เฝ้าพระศรีอารย์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงความปรารถนาอีกหลายอย่าง เช่น ขอให้ฉลาดเหมือนพระมโหสถ กล้าหาญเหมือนพระราม สามารถให้ทานได้เหมือนพระเวสสันดร สามารถระลึกชาติได้ เป็นต้น และสุดท้ายขอให้ตนถึงแก่นิพพาน อนึ่ง แนวความคิดดั้งเดิมในการสร้างพระพิมพ์นั้น เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการไปบูชาสังเวชนียสถานทางพุทธศาสนา 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) ต่อมากลายเป็นวัตถุที่คนยากจนนิยมสร้างไว้เพื่อบูชา หลังจากนั้นได้เกิดความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมลงในพุทธศักราช 5000 ตามคัมภีร์ของลังกา จึงได้มีการสร้างพระพิมพ์และจารึกคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการฝังพระพิมพ์ไว้ตามเจดีย์ต่างๆ หากพุทธศาสนาเสื่อมไป ไม่มีใครรู้จักหลักธรรมต่างๆ อีก เมื่อมาพบพระพิมพ์เหล่านี้ ก็อาจมีการฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ แต่ในปัจจุบันพระพิมพ์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมีไว้เป็นเครื่องราง ของขลัง เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆซึ่งต่างไปจากแนวคิดเดิม

ผู้สร้าง

ขุนศรีรัตนากร

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากประวัติของวัดมหาธาตุซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1917 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครองราชย์ พ.ศ. 1913-1931) ดังนั้นจารึกแผ่นนี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ไม่สามารถระบุเลขศักราชได้ เนื่องจากไม่ปรากฏในจารึก

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “คำจารึกลานเงินภาษาไทย วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,” ศิลปากร 2, 3 (กันยายน 2501) : 53-55.
2) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “หลักที่ 41 จารึกลานเงินภาษาไทยวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 47-50.
3) ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ทวารวดี : ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543), 103-104.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2501)