จารึกหุบเขาช่องคอย

จารึก

จารึกหุบเขาช่องคอย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 23:14:35 )

ชื่อจารึก

จารึกหุบเขาช่องคอย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 7 บรรทัด คือ มี 3 ตอน ตอนที่ 1 มี 1 บรรทัด, ตอนที่ 2 มี 4 บรรทัด, ตอนที่ 3 มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

แผ่นศิลาธรรมชาติในพื้นที่บริเวณหุบเขาช่องคอย

ขนาดวัตถุ

กว้าง 1.60 ม. ยาว 6.83 ม. หนา 1.20 ม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นศ. 12”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกหุบเขาช่องคอย”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 (กันยายน 2523) และ หนังสือ นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช กำหนดเป็น “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย”

ปีที่พบจารึก

วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2522

สถานที่พบ

ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้พบ

นายจรง ชูกลิ่น และนายถวิล ช่วยเกิด

ปัจจุบันอยู่ที่

หุบเขาช่องคอย ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 (กันยายน 2523) : 89-93.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 48-55.
3) นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 99-100.

ประวัติ

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2522 นายจรง ชูกลิ่น และนายถวิล ช่วยเกิด อาศัยอยู่ใน หมู่บ้านคลองท้อนหมู่ที่ 9 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เดินทางไปในป่าแถบหุบเขาช่องคอย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโคกสะท้อน ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร บุคคลทั้งสองได้พบแผ่นหินกว้างใหญ่อยู่ใกล้กับร่องน้ำระหว่างหุบเขา แผ่นหินดังกล่าวมีความกว้าง 1.60 เมตร ยาว 6.83 เมตร หนา 1.20 เมตร บนแผ่นหินนั้นมีเส้นเป็นรอยลึกขีดไปมาเป็นรูปอักษร นั่นคือศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2523 นายอำไพ ขันทาโรจน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ได้ทราบเรื่องการพบศิลาจารึกหลักนี้ จากพระภิกษุเพิ่ม เจ้าอาวาส วัดหนองหม้อ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้รายงานให้นางกัลยา จุลนวล หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ทราบ และได้ออกสำรวจจารึกดังกล่าว 2 ครั้ง คือวันที่ 17 มกราคม 2522 และวันที่ 19 มกราคม 2523 พร้อมทั้งได้ทำสำเนา และถ่ายภาพศิลาจารึกนั้น และได้ส่งสำเนาจารึกพร้อมภาพถ่ายมายังกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2523 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2523 กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ส่งสำเนาศิลาจารึกพร้อมภาพถ่ายมายังกองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือโบราณอ่าน-แปล เมื่อเจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเสร็จแล้วได้ส่งคำอ่าน-แปลไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2523 นางจิรา จงกล ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้นำคำอ่า-แปล ศิลาจารึกหลักนี้ เสนอนายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อทราบเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2523 เมื่อนายเดโช สวนานนท์ ได้รับทราบแล้ว จึงได้ให้ใช้ชื่อศิลาจารึกหลักนี้ว่า “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย” จากนั้น ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร กับชะเอม แก้วคล้ายจึงได้อ่านและแปลจารึกนี้ เพื่อพิมพ์เผยแพร่ในวารสารศิลปากร ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 (กันยายน 2523) ลักษณะของศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยบ่งชัดว่า เป็นการสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีง่ายๆ ไม่ปราณีตบรรจง ใช้แผ่นศิลาธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณหุบเขานั้น เป็นที่จารึกรูปอักษรขึ้น 3 ตอน มีความหมายต่อเนื่องกัน แต่ขนาดของรูปอักษรไม่เท่ากัน ตอนที่ 1 มีขนาดของตัวอักษรสูง 25 เซนติเมตร มีอักษรข้อความ 1 บรรทัด ตอนที่ 2 ขนาดของตัวอักษรสูง 7 เซนติเมตร มีอักษรข้อความ 4 บรรทัด ตอนที่ 3 ขนาดของตัวอักษรเท่ากับตอนที่ 2 แต่มีอักษรข้อความเพียง 2 บรรทัด

เนื้อหาโดยสังเขป

ตอนที่ 1 ประกาศให้ทราบว่า ศิลาจารึกหลักนี้ เป็นจารึกอุทิศบูชาพระศิวะ ตอนที่ 2 กล่าวนอบน้อมพระศิวะแล้วเสริมว่า ผู้เคารพในพระศิวะมา (ในที่นี้) เพราะจะได้ ประโยชน์ที่พระศิวะประทานให้ ตอนที่ 3 กล่าวสรรเสริญคนดี ไม่ว่าเขาจะอยู่ในที่ไหน ก็จะทำให้เจ้าถิ่นได้รับความสุข ดังนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงเนื้อหาทั้งหมดแล้วอาจกล่าวได้ว่า จารึกหลักนี้กล่าวถึงการเคารพบูชาพระศิวะ พระสวามีแห่งนางวิทยาเทวี พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด บุคคลใดสรรเสริญองค์พระศิวะเทพอย่างเทิดทูนบูชา บุคคลนั้นจะได้รับพรจากพระองค์ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ ที่ใดย่อมได้รับการต้อนรับด้วยดีทุกสถาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กลุ่มชนผู้สร้างศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นนี้ จะต้องเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาสันสกฤตนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวะนิกาย และคงจะได้เดินทางเข้ามาพำนักอาศัยในบริเวณนั้น เป็นการชั่วคราว ไม่ใช่กลุ่มชนที่อยู่ประจำถิ่น อีกทั้งยังได้กำหนดสถานที่บริเวณจารึกหุบเขาช่องคอยนั้น เป็นศิวะสถาน เพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามจารีตของตน พร้อมๆ กันนั้นก็อบรมสั่งสอนให้ผู้อยู่ในสันนิบาตนั้น สำนึกในความเป็นคนต่างถิ่น พลัดบ้านเมืองมา ซึ่งสมควรประพฤติตนเป็นคนดี จะได้พำนักอาศัยอยู่ร่วมในสังคมที่มีขนบธรรมเนียมแตกต่างกัน ได้อย่างสุขสงบ ดังที่ปรากฏข้อความในจารึก

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุเบื้องต้นจากรูปแบบอักษรได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และชะเอม แก้วคล้าย อธิบายว่า จากการศึกษารูปแบบของตัวอักษรพบว่า มีลักษณะเหมือนกับอักษรใน จารึกพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ (Magdur and Pikira grants ในหนังสือ Indian Palaeography โดย Dr. A. H. Dani) ของพระเจ้าสิงหวรมันแห่งอินเดียตอนใต้ สมัยกลางพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นอย่างมาก ดังนั้น อายุของอักษรในจารึกหลักนี้ควรจะตกอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับจารึกวัดมเหยงค์ จารึกวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจารึกเขาพระนารายณ์ จังหวัดพังงา

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) กรมศิลปากร, นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช (กรุงเทพฯ : กรม., 2529), 99-100.
2) ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกหุบเขาช่องคอย,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 48-55.
3) ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย,” ศิลปากร 24, 4 (กันยายน 2523) : 89-93.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-21, ไฟล์; Ns_1201_c, Ns_1202_c และ Ns_1203_c)