จารึกแม่หินบดเวียงมะโน

จารึก

จารึกแม่หินบดเวียงมะโน

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 13:40:27 )

ชื่อจารึก

จารึกแม่หินบดเวียงมะโน

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ชม. 45, ชม. 45 จารึกแม่หินบดเวียงมะโน, An Inscription in Old Mòn from Wieng Manó in Chieng Mai Province

อักษรที่มีในจารึก

มอญโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 17

ภาษา

มอญโบราณ, พม่าโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 9 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินชนวน

ลักษณะวัตถุ

แม่หินบด

ขนาดวัตถุ

กว้าง 21 ซม. สูง 37 ซม. หนา 3 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ชม. 45 จารึกแม่หินบดเวียงมะโน”
2) ในวารสาร The Journal of the Siam Society vol. LIX part 1 (1971) กำหนดเป็น “An Inscription in Old Mòn from Wieng Manó in Chieng Mai Province”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 กำหนดเป็น “จารึกแม่หินบดเวียงมะโน”

ปีที่พบจารึก

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519

สถานที่พบ

เวียงมะโน ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้พบ

นายเรือง คันธวัง

ปัจจุบันอยู่ที่

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พิมพ์เผยแพร่

1) The Journal of the Siam Society vol. LIX part 1 (1971) : 153-156.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 104-111.
3) Epigraphic and Historical Studies (Thailand : Historical Society, 1992), 185-188.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 142-147.

ประวัติ

จารึกแม่หินบดเวียงมะโนได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน วารสารสยามสมาคม (JSS) ปีที่ 59 part 1 ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) โดยระบุว่าจารึกดังกล่าวถูกพบบริเวณคันดิน ด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณเวียงมะโน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ต่อมาได้มอบให้คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเจ้าหน้าที่สำรวจเอกสารโบราณและจารึก งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ออกสำรวจ และทำสำเนา รวมถึงถ่ายภาพไว้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2519 โดยข้อมูลหอสมุดแห่งชาติระบุว่าผู้พบคือ นาย เรือง คันธวัง อเล็กซานเดอร์ บราวน์ กริสโวลด์ (Alexander Brown Griswold) และประเสริฐ ณ นคร ได้ร่วมกันอ่าน-แปลและเขียนลงในบทความเรื่อง “An Inscription in Old Mòn from Wieng Manó in Chieng Mai Province” โดยตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน วารสารสยามสมาคม ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมีการกล่าวถึงประวัติการพบ การอ่าน-แปล และการกำหนดอายุจารึกดังกล่าวโดยบุคคลหลายท่าน เช่นศาสตราจารย์ กอร์ดอน แฮนนิงตัน ลูซ (Gordon Hannington Luce) และ ศาสตราจารย์ แฮรี่ เลียวนาร์ด ชอร์ตโ (Harry Leonard Shorto) ทั้ง 2 ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า จารึกหลักนี้มีการใช้ภาษา ตัวอักษร และอักขรวิธีคล้ายคลึงกับจารึกหลักอื่นๆ ของลำพูน (สมัยหริภุญไชย) อย่างมาก โดยศาสตราจารย์ แฮรี่ เลียวนาร์ด ชอร์ตโต เชื่อว่าน่าจะร่วมสมัยกับพระเจ้าจันสิตถา คือ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 แต่ศาสตราจารย์กอร์ดอน แฮนนิงตัน ลูซ เชื่อว่าน่าจะเก่ากว่าจารึกสมัยหริภุญไชยหลักอื่นๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน โดยมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 อเล็กซานเดอร์ บราวน์ กริสโวลด์ และประเสริฐ ณ นคร จึงได้กล่าวไว้ในบทความดังกล่าวว่า จารึกหลักนี้อาจเป็นจารึกที่เก่าที่สุดที่เคยพบในภาคเหนือ ต่อมาได้มีการอ่าน-แปลจารึกหลักนี้อีกครั้ง โดยเทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ ตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 โดย หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ใน พ.ศ. 2529 โดยมีความแตกต่างกับคำอ่าน-แปลของอเล็กซานเดอร์ บราวน์ กริสโวลด์ และประเสริฐ ณ นคร เล็กน้อยในเรื่องของรายละเอียด เช่น ชื่อบุคคล แต่เนื้อหาสาระเป็นไปในทางเดียวกัน คือกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูป อนึ่ง เมืองโบราณเวียงมะโน ซึ่งเป็นสถานที่พบจารึกดังกล่าวนั้น ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองโบราณสมัยหริภุญชัย ตั้งอยู่เหนือสุดห่างจากเวียงหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 8 กิโลเมตรแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 750 เมตร ยาวประมาณ 900 เมตร มีร่องรอยคูน้ำและคันดิน ด้านตะวันออกติดกับลำน้ำปิงเก่าซึ่งตื้นเขินแล้ว ภายในมีวัดอยู่บริเวณใจกลางเมือง มีการพบโบราณวัตถุประเภทต่างๆ เช่นชิ้นส่วนพระพุทธรูป สถูปจำลองและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น เมืองโบราณแห่งนี้ มีร่องรอยการอยู่อาศัยสืบเนื่องมาจนถึงสมัยล้านนา โดยมีหลักฐานคือการพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ 20-22)

เนื้อหาโดยสังเขป

การสร้างพระพุทธรูปอุทิศแด่บุคคลต่างๆ โดยมีการระบุพระนามเช่น ปุกกะ? (เทิม มีเต็ม พ.ศ. 2529) หรือ สุกกมาล? (A.B. Griswold และประเสริฐ ณ นคร พ.ศ. 2514) พระเจ้าอัทธราช, มังธนราชนรทร (มังธนราชนรธร) เป็นต้น

ผู้สร้าง

โม่นญะอิมุ่น?

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรในจารึกซึ่งมีรูปพยัญชนะ คำ และอักขรวิธีบางแห่งเหมือนที่ใช้ในจารึกวัดแสนข้าวห่อ (ตะจุ๊มหาเถร, ลพ. 7) ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มจารึกที่มีอายุพุทธศตวรรษที่ 17 ร่วมกับจารึกวัดดอนแก้ว (ลพ. 4) จารึกอาณาจักรปุนไชย (ลพ. 5) และจารึกวัดบ้านหลวย (ลพ. 6) ดังนั้นจารึกหลักนี้จึงน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นเดียวกัน อนึ่งจารึกของอาณาจักรหริภุญไชยนั้น ถูกกำหนดอายุจากรูปอักษรมอญโบราณ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรที่ปรากฏบนศิลาจารึก”มยเจดีย์” (Mayazedi) ของพระเจ้าจันสิตถา (Kyanzittha) (อักษรโรมัน Ky ในภาษาพม่าแทนเสียง /c/ ซึ่งเท่ากับ จ ในภาษาไทย) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 1628 และ 1630 อาณาจักรพุกามนั้น ได้การรับอิทธิพลด้านตัวอักษรไปจากมอญเมื่อพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ทรงยกทัพไปตีเมืองสะเทิม (ถะทนหรือสุธรรมวดี) ซึ่งเป็นราชธานีของหัวเมืองมอญฝ่ายใต้สำเร็จ จึงได้มีการกวาดต้อนผู้คน ช่างฝีมือ ตลอดจนภิกษุสงฆ์และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในดินแดนดังกล่าว ไปสู่พุกาม ทำให้วัฒนธรรมมอญแพร่หลายในพุกาม รวมไปถึงการใช้ตัวอักษร โดยศาสตราจารย์ เรอชินาล์ด เลอเมย์ (Reginald Le May) กล่าวว่า พม่ารับวัฒนธรรมการเขียนหนังสือไปจากมอญ เมื่อราว พ.ศ. 1606 ซึ่งพระเจ้าจันสิตถา (Kyanzittha) นั้น ก็คือกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) นั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส. 2547, จาก :
1) Alexander Brown Griswold and Prasert na Nagara, “An Inscription in Old Mòn from Wieng Manó in Chieng Mai Province,” The Journal of the Siam Society LIX, part 1 (1971), 153-156.
2) Okell John, A reference grammar of colloquial Burmese (Oxford : Oxford University Press, 1969), 16.
3) เทิม มีเต็ม, “จารึกแม่หินบดเวียงมะโน,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 104-111.
4) สรัสวดี อ๋องสกุล, ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน = Ancient communities in the Chiang Mai-Lamphun Basin (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543), 168-176.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)