จารึกบ้านวังไผ่

จารึก

จารึกบ้านวังไผ่

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2567 18:12:47 )

ชื่อจารึก

จารึกบ้านวังไผ่

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Si T’ep (K. 978), ศิลาจารึกศรีเทพ พช./2, K.978, พช. 2, 99/274/2550

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 12 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินภูเขาไฟบะซอลต์

ลักษณะวัตถุ

เสาเหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 28 ซม. สูง 132 ซม. หนา 17 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “พช. 2”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VIII กำหนดเป็น “Si T’ep (K. 978)”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 27 เล่มที่ 3 (กรกฎาคม 2526) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกศรีเทพ พช./2”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1, หนังสือ จารึกที่เมืองศรีเทพ และหนังสือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กำหนดเป็น “จารึกบ้านวังไผ่”
5) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/274/2550”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ในป่าใกล้บ้านวังไผ่ ตำบลบ่อรัง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 156-158.
2) Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 222-223.
3) วารสารศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม 2526) : 86-91.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 139-143.
5) จารึกที่เมืองศรีเทพ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534), 93-100.
5) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2550), 134.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ พบในป่าใกล้บ้านวังไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร และได้ถูกย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยสภาพที่พบนั้น เป็นเสาเหลี่ยมมีรอยแตกเนื้อศิลาบางส่วนหายไป จึงได้มีการการซ่อมหลักจารึกนี้ครั้งหนึ่ง แต่เนื้อศิลาส่วนที่มีตัวอักษรหลุดหายไปจึงทำให้การอ่าน-แปลจารึกไม่ได้ข้อความสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม คู่กับบัญชีบันทึกประวัติของจารึกนี้ มีคำอ่านอยู่ด้วย 1 ฉบับ แต่ไม่มีคำแปล และไม่ระบุว่าใครเป็นผู้อ่าน สำหรับการพิมพ์เผยแพร่นั้น ในปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านและแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกกัมพูชา (Inscriptions du Cambodge vol. VII) โดยเรื่องจารึกนี้ว่า จารึกจากเมืองศรีเทพ (Inscription de Si T’ep K. 978) ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านและแปลจารึกหลักนี้เป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากรโดยใช้ชื่อว่า “ศิลาจารึกศรีเทพ พช. 2“ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจารึกหลักนี้เป็น “จารึกบ้านวังไผ่” เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย เนื่องจากในการรวบรวมอักษรปัลลวะเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือจารึกในประเทศไทยในครั้งนั้น เห็นว่าชื่อเดิมของจารึกหลักนี้ ไปซ้ำกับศิลาจารึกศรีเทพ พช. 1 จึงเปลี่ยนชื่อใหม่โดยใช้ชื่อสถานที่มาประกอบด้วยโดยกำหนดให้ชื่อว่า “จารึกบ้านวังไผ่”

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นจารึกที่สร้างขึ้นในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ โดยพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระจักรพรรดิ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าภววรมันที่ 1 แต่ในจารึกไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ที่กล่าวถึงในจารึกนี้คือผู้ใด

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ชะเอม แก้วคล้าย ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการกำหนดอายุไว้ดังนี้คือ ลักษณะการจารึกอักษรเกือบทุกตัว เหมือนกับศิลาจารึกจากจังกาล (Inscription from Canggal) สำเนาอักษรจารึกที่ 6 หน้า Plate XXI B เช่น ตัว “ย” “รา” และ “ล” เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร (2547); นวพรรณ ภัทรมูล, แก้ไขเพิ่มเติม (2557)โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., จาก :
1) George Cœdès, “Liste générale des inscriptions du Cambodge : K. 979,” in Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 222-223.
2) George Cœdès, “Nouvelles inscriptions de Si T’ep (K. 978, K. 979),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 156-158.
3) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, “จารึกเมืองศรีเทพ,” ใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2550), 129-143.
4) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกบ้านวังไผ่,” ใน จารึกที่เมืองศรีเทพ (กรุงเทพฯ : โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534), 93-100.
5) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกบ้านวังไผ่,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 139-143.
6) ชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกศรีเทพ พช./2,” ศิลปากร 27, 3 (กรกฎาคม 2526) : 86-91.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-07, PCH_001)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566