จารึกเมืองศรีเทพ

จารึก

จารึกเมืองศรีเทพ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 15:05:12 )

ชื่อจารึก

จารึกเมืองศรีเทพ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึกศรีเทพ พช./1, Si T’ep (K. 499), K.499, พช. 1, 99/273/550

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทรายเนื้อละเอียดสีเทา

ลักษณะวัตถุ

เสากลมรูปสัณฐานคล้ายดอกบัวตูม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 36 ซม. สูง 128 ซม. หนา 56 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “พช. 1”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VIII กำหนดเป็น “Si T’ep (K. 499)”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2526) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกศรีเทพ พช./1”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย และหนังสือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกเมืองศรีเทพ”
5) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น "99/273/2550"

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2450

สถานที่พบ

เมืองโบราณศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

ผู้พบ

สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2501), 20.
2) Bulletin de la Commission archéologique de l’Indochine (1909) : 228.
3) Bulletin de la Commission archéologique de l’Indochine (1910) : 149.
4) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXXV (1936) : 384.
5) Études d’orientalisme I (1932) : 162.
6) Arts Asiatica XII (1928) : 24.
7) Journal of the Asiatic Society of Bengal (1935) : 54.
8) Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 158-159.
9) วารสารศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2526) : 55-59.
10) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 135-138.
11) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2550), 132-133

ประวัติ

จากบัญชีบันทึกประวัติของศิลาจารึกหลักนี้ ไม่ได้บอกให้ทราบว่าพบเมื่อใด ใครเป็นผู้พบ และนำมาไว้ที่กองหอสมุดแห่งชาติเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม คู่กับบัญชีบันทึกประวัตินี้ มีคำอ่าน-แปลอยู่ด้วย 1 ชุด แต่ไม่ปรากฏนามผู้อ่าน-แปล แต่เมื่อได้ไปสอบทานกับหนังสือเรื่อง เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทำให้ทราบว่า จารึกที่ทรงกล่าวถึงในคราวที่พระองค์ไปเยือนเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 125) นั้น เป็นจารึกหลักเดียวกันกับจารึกเมืองศรีเทพนี้เอง นอกจากนี้ทรงอธิบายว่า “... ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เป็นของแปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลน สำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยงแต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้น เป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้ ลงมากรุงเทพฯ ให้อ่านดู เป็นภาษาสังสกฤตมีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ แบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง ...” จากพระนิพนธ์ของพระองค์ นอกจากทำให้ทราบว่า จารึกที่ทรงกล่าวถึงนี้ เป็นจารึกหลักเดียวกันกับ “จารึกเมืองศรีเทพ (พช. 1)” แล้ว ยังทำให้ทราบต่อไปอีกว่า สำเนาจารึกเดิมของหอสมุดแห่งชาติ ที่อยู่คู่กับบัญชีประวัติของจารึกนั้น น่าจะเป็นสำเนาเดียวกันกับสำเนาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อาจทรงให้เจ้าหน้าที่ของหอสมุดพระวชิรญาณ อ่านและแปลโดยสังเขป เนื่องจากมีคำว่า “ขีลัง” ตรงกัน ซึ่งในฉบับอ่านชำระใหม่โดย ชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านใหม่ว่า “ขิลํ” ศิลาจารึกหลักนี้ เป็นส่วนบนของเสากลมรูปสัณฐานคล้ายดอกบัวตูม มีอักษรจารึกโดยรอบ แต่เนื่องจากด้านหนึ่งของเสานั้น เนื้อศิลาแตกหายไป ข้อความในจารึกแต่ละบรรทัด จึงมีอยู่เฉพาะตอนกลาง ไม่มีส่วนต้นและส่วนปลายบรรทัด ทำให้เนื้อความในจารึกขาดตอนไปเป็นช่วงๆ ฉะนั้น การอ่าน-แปลจึงจับใจความสมบูรณ์ไม่ได้ เมื่อพิมพ์เผยแพร่ใน วารสารศิลปากร ใช้ชื่อเรื่องว่า ศิลาจารึกศรีเทพ พช./1 อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 12

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อความไม่สมบูรณ์แต่พอจับใจความได้ว่า เป็นจารึกที่กล่าวสรรเสริญบุคคล ซึ่งอาจเป็นพระราชา หรือ เชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ชะเอม แก้วคล้าย ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการกำหนดอายุไว้ดังนี้คือ (1) อักษร “น” ไม่ม้วนตอนล่างเหมือนอักษร “ต” ซึ่งบางหลักทำให้สังเกตยากว่าเป็นอักษร “ต” หรือ “น” กันแน่ อักษร “น” ในจารึกศรีเทพนี้เหมือนกับอักษร “น” ของจารึกโกตกปุระ และตลังตุโว (Kotakapura and Talang Tuwo Inscriptions) ซึ่งอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12 (2) อักษร “ล” รูปที่มีใช้ในจารึกหลักนี้ มีใช้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ในจารึกไมย์ซอนของพระเจ้าภัทรวรมัน (Myson Inscription of Bhadravarman) ต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ในจารึกทัพมวยของพระเจ้าคุณวรมัน (Thap-Muoi Inscription of Gunavarman) ดังนั้นจารึกนี้จึงจัดอยู่ในต้นพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร (2547) ; นวพรรณ ภัทรมูล, แก้ไขเพิ่มเติม (2557), โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., จาก :
1) George Cœdès, “Liste générale des inscriptions du Cambodge : K. 499,” in Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 158-159.
2) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, “จารึกเมืองศรีเทพ,” ใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2550), 129-143.
3) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกเมืองศรีเทพ,” ใน จารึกที่เมืองศรีเทพ (กรุงเทพฯ : โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534), 84-91.
4) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกเมืองศรีเทพ,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 135-138.
5) ชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกศรีเทพ พช./1,” ศิลปากร 27, 2 (พฤษภาคม 2526) : 55-59.
6) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2501), 20.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-07, PCH_004)
2) ภาพจำลองอักษร : พงศธร บัวคำปัน
3) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566